ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 10:35
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป082
พระธรรมคุณ ๗ เอหิปัสสิโก
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องธาตุ ๓
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องภาวนา ๔
ทุกอย่างเกิดดับอยู่ทุกขณะ ๖
ข้อที่ตรัสสอนพรหมวิหารธรรม ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๐๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๖/๑ ( File Tape 82 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระธรรมคุณ ๗ เอหิปัสสิโก
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เป็นธรรมอันพึงเรียกให้มาดูได้ จะอธิบายบทนี้ที่เราทั้งหลายสวดกันว่า เอหิปัสสิโก
พึงเรียกให้มาดูได้ต่อไป ได้แสดงแล้วว่าเรียกให้มาดูนั้น เรียกใครให้มาดู
สำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ก็พึงเรียกตนเองนี่แหละให้มาดู ให้มาดูธรรม หรือพระธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
เพราะว่าธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั้น
ก็ตรัสแสดงที่ตนเองของบุคคลทุกๆคน ไม่ได้ทรงแสดงที่อื่น
เพราะฉะนั้นผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ จึงอาจนำธรรมะที่ทรงสั่งสอน
เหมือนอย่างแว่นมาส่องดูเงาหน้าของตนเอง คือมาดูตนเองได้
๒
ดังที่ได้ยกพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระราหุลให้ใช้แว่นพิจารณาตนเอง คือปัญญานี้เอง
เหมือนอย่างแว่นส่องดูตนเอง พิจารณากายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตนเอง
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องธาตุ
อนึ่ง ยังได้ตรัสสอนพระราหุลในสมัยต่อมาอีก ซึ่งจะได้หยิบยกมาแสดงในบางตอน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระราหุลให้พิจารณากายนี้อันแยกออกเป็นธาตุ
คือพิจารณาแยกธาตุกายนี้ออกเป็น ๕ คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุคือช่องว่าง
พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบว่า ธาตุทั้งปวงนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่ธาตุทั้งปวงนี้
ธาตุทั้งปวงนี้มิใช่อัตตาตัวตนของเรา
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนนี้ แม้จะตรัสสอนแก่พระราหุล
แต่ก็เป็นคำอนที่ชื่อว่าสอนแก่บุคคลทั่วไป จึงพึงใช้เป็นเหมือนอย่างแว่นส่อง
ส่องเข้ามาดูธาตุทั้งปวงนี้ที่กายนี้ของทุกๆคน ให้เป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนเองนี้แหละมาดู
ดูธาตุที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนที่กายอันนี้ และเมื่อเรียกตนเองให้มาดู ด้วยใช้สติความกำหนด
ใช้ญาณหรือปัญญาพิจารณาตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมจะเห็นธาตุเหล่านี้ได้ที่ตนเอง
ตามที่ทรงสั่งสอน ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นปฐวีธาตุธาตุดิน ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นอาโปธาตุธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นเตโชธาตุธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุธาตุลม
ส่วนที่เป็นช่องว่างก็เป็นอากาสธาตุธาตุอากาศ
เพราะฉะนั้น กายนี้จึงเป็นสักแต่ว่าเป็นธาตุที่มาประชุมกันอยู่
มารวมกันอยู่เป็นก้อนกายอันนี้ จึงมิใช่เป็นอัตตาตัวตน
ตามที่มีสมมติบัญญัติว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
( เริ่ม ๑๐๖/๑ ) ความเป็นของเรา ความที่เราเป็นธาตุเหล่านี้
หรือธาตุเหล่านี้เป็นอัตตาตัวตนของเรานั้น เป็นอุปาทานคือความยึดถือ
๓
ด้วยอำนาจของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเป็นสมมติบัญญัติสำหรับเรียกร้องกัน
แต่ความจริงนั้นเป็นสักแต่ว่าธาตุมาประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เป็นของเรา
เราก็ไม่ใช่เป็นนั้น นั่นก็ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เมื่อเรียกตนเองให้เข้ามาดู
โดยใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ มาส่องดู ดูด้วยสติ ดูด้วยปัญญา
ที่ตนเอง ก็ย่อมจะเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทุกประการ
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องภาวนา
อนึ่ง ยังได้ตรัสสอนพระราหุลไว้ต่อไปอีกว่า
ให้ทำภาวนาคืออบรมใจเสมอกับปฐวีคือดิน เมื่ออบรมใจให้เสมอกับปฐวีคือดินได้
ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย ทั้งที่น่ายินดี ทั้งที่ไม่น่ายินดี
ซึ่งบังเกิดขึ้น ก็จักไม่ครอบงำจิตได้
คนทั้งหลายย่อมทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง
ทิ้งก้อนเขฬะบ้าง ทิ้งน้ำหนองน้ำเหลืองบ้าง น้ำเลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน
แผ่นดินย่อมไม่สะอิดสะเอียน ไม่รังเกียจไม่อึดอัด รับของที่คนทิ้งลงไป
ทั้งที่สะอาด ทั้งที่ไม่สะอาด ดังกล่าวได้ทั้งนั้น ฉันใด
เมื่อทำภาวนาอบรมใจให้เสมอกับแผ่นดินได้ ก็ฉันนั้น
ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย ทั้งที่น่าพอใจ ทั้งที่ไม่น่าพอใจ
ย่อมไม่ครอบงำใจได้ ฉันนั้น
อนึ่ง พึงอบรม พึงทำภาวนาอบรมใจ
ให้เสมอกับอาโปคือน้ำเช่นเดียวกัน ให้เสมอกับเตโชคือไฟเช่นเดียวกัน
ให้เสมอกับวาโยคือลมเช่นเดียวกัน ให้เสมอกับอากาสคือช่องว่างเช่นเดียวกัน
ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย
ทั้งที่น่ายินดี ทั้งที่ไม่น่ายินดี ที่บังเกิดขึ้น ย่อมไม่ครอบงำใจได้
คนทั้งหลายทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างดังกล่าวลงในน้ำ ลงในไฟ
๔
น้ำก็ไม่อึดอัดไม่รังเกียจรับได้ทั้งนั้น ไฟก็ไม่อึดอัดไม่รังเกียจไหม้ได้ทั้งนั้น
แม้ทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างดังกล่าวในลม ลมก็พัดไปได้ทั้งนั้น ไม่รังเกียจไม่อึดอัด
และแม้เมื่อโยนของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างไปในอากาส
ก็ไม่มีที่จะตั้งอยู่ในอากาสได้ อากาสก็คงเป็นช่องว่างอยู่นั่นแหละ ฉันใด
เมื่อทำภาวนาอบรมใจให้เสมอกับอาโปคือน้ำ เตโชคือไฟ วาโยคือลม อากาสคือช่องว่าง
ก็ฉันนั้นเช่นเดียวกัน ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจ มาสัมผัสกับใจทั้งหลาย
ทั้งที่น่าชอบใจ ทั้งที่ไม่น่าชอบใจ ก็ตั้งครอบงำจิตใจไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเรียกตนเองว่าจงมาดู
โดยใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้านี้มาส่องดูที่ตน ใช้สติใช้ปัญญาพิจารณา
ที่เรียกว่าทำภาวนาอบรมใจนี้ ให้เสมอด้วยธาตุทั้ง ๕ ดังกล่าว
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าคนทั้งหลายทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างลงไป
ธาตุทั้ง ๕ ทั้งปวงเหล่านี้ก็ไม่อึดอัด ไม่เดือดร้อน ไม่ระอา ไม่รำคาญ
ดินก็รับได้ น้ำก็รับได้ ลมก็พัดไปได้ ไฟก็ไหม้ได้ ลมก็พัดได้
อากาสเล่าก็ไม่มีที่จะรับติดเอาไว้ในอากาส คงต้องล่วงหล่นลงหมด
ก็ไม่อึดอัดไม่รำคาญ คงเป็นอากาสคือช่องว่างอยู่นั่นแหละ
ทำภาวนาคืออบรมใจให้เป็นเสมอด้วยธาตุทั้ง ๕ ดังกล่าวนี้
เมื่อเวลาที่มีอารมณ์เข้ามากระทบมาสัมผัสใจ ก็ย่อมจะสงบใจได้
ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี
คือถ้าเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี ก็จะไม่ทำใจให้กำเริบฟุ้งซ่านขึ้นด้วยอำนาจความยินดี
เมื่อเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีก็ไม่ทำใจให้ฟุบแฟบเสียใจหรือโกรธแค้น
ไม่ให้เกิดความยินดีความยินร้าย รักษาจิตนี้ให้เป็นอุเบกขาคือเข้าไปเพ่งเฉยสงบอยู่ได้
ว่าสิ่งทั้งปวงที่มากระทบใจมาสัมผัสใจ ไม่ว่าจะน่ายินดี ไม่ว่าจะไม่น่ายินดี
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรยินดีไม่ควรยินร้าย
ไม่ควรที่จะยึดถือมาก่อให้เกิดความยินดีความยินร้ายขึ้น
๕
เหมือนอย่างของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างตกลงไปในดิน
ก็ไม่ทำให้ดินเดือดร้อนอะไร ก็ย่อยละลายกลายเป็นดินไปในที่สุด
ตกลงไปในน้ำ น้ำก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็ไหลละลายไปในน้ำหมด
ใส่เข้าไปในไฟ ไฟก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไฟก็ไหม้หมด
หรือว่าโยนไปที่ลม หรือว่าลมพัดมา ลมก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็พัดไปได้ทั้งหมด
หรือจะโยนขึ้นไปในอากาส ก็ไม่มีที่จะติดขัดอยู่ในอากาส ก็ตกลงมาหมด
อากาสก็ไม่เดือดร้อนอะไร
เพราะฉะนั้น จิตใจก็เหมือนกัน ให้ทำใจให้ได้เหมือนอย่างดิน อย่างน้ำ
อย่างไฟ อย่างลม อย่างอากาส ยกตัวอย่างอากาสขึ้นมาเพิ่มเติมอีกสักหน่อยหนึ่ง
ว่าใจนี้เมื่อไม่ยึดก็เหมือนอากาส แต่ถ้ายึดก็ไม่เหมือนอากาส
คือเมื่อไม่ยึดอารมณ์ทุกอย่างที่ผ่านมา ก็สักแต่ว่าผ่านมา แล้วก็ผ่านไป คือตกไปหมด
ไม่มีที่จะเก็บเข้ามาปรุง ให้เกิดเป็นความยินดีความยินร้าย
ความหลงติด นอนจมเป็นอาสวะอนุสัยอยู่ในจิต
ก็เพราะเหตุที่มีความยึดถือจึงได้เกิดความยินดีความยินร้าย
แต่ถ้าทำจิตให้เหมือนอย่างอากาสแล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติดอะไร
อะไรผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป หรือเรียกว่าเกิดแล้วก็ดับไป
ทุกอย่างเกิดดับอยู่ทุกขณะ
ซึ่งความจริงนั้น ทุกอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไปอยู่ทุกขณะ
แต่เพราะไปยึดเอาไว้ คือไปยึดเอาสิ่งที่ดับแล้วนั่นแหละ มาไว้เหมือนอย่างไม่ดับ
คล้ายๆกับไปยึดเงาเอาว่าเป็นตัวตน จึงได้เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย
พร้อมทั้งหลงงมงายติดอยู่ พร้อมทั้งความทุกข์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องปฏิบัติให้เป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนให้มาดู
ใช้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแว่นส่องดูที่ตนเอง
๖
และก็ปฏิบัติทำจิตตภาวนา ให้เสมอกับธาตุทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมานั้น
ก็จะทำให้รักษาจิตนี้ให้เป็นอุเบกขาอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายได้
ข้อที่ตรัสสอนพรหมวิหารธรรม
อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระราหุลต่อไปอีกว่า
ให้เจริญเมตตา ก็จะดับโทสะพยาบาทได้ จะละโทสะพยาบาทได้
ให้เจริญกรุณา ก็จะละจะดับวิหิงสาความคิดเบียดเบียนได้
ให้เจริญมุทิตา ก็จะละจะดับอรติความไม่ยินดีด้วย คือความริษยาได้
ให้เจริญอุเบกขา ก็จะดับปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งได้
ให้เจริญอสุภสัญญา ความกำหนดหมายกายนี้ว่าไม่งาม ก็จะดับราคะคือความติดใจยินดีได้
ให้เจริญอนิจจสัญญา ความสำคัญหมายขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูป
หรือรวมว่าสังขารทั้งหมด ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง
ก็จะดับอัสมิมานะความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็นได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ให้ปฏิบัติธรรมให้เป็นเอหิปัสสิโกอีกเช่นเดียวกัน
เรียกตนเองนี้แหละให้มาดู อาศัยแว่นที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้มาส่องดู
แล้วก็ปฏิบัติอบรมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา
ให้บังเกิดขึ้น ก็จะดับกิเลสทั้งปวงดังที่ตรัสไว้นั้นได้
จะดับโทสะพยาบาทได้ จะดับวิหิงสาความคิดเบียดเบียนได้
จะดับอรติความไม่ยินดีด้วย คือความริษยาได้
จะดับปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจได้ จะดับราคะความติดใจยินดีได้
ตลอดถึงจะดับอัสมิมานะความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็นต่างๆได้ ดั่งนี้
ฉะนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งปวงนั้น
ล้วนเป็นแว่นส่องสำหรับทุกๆคนจะได้ส่องดูตนเองทั้งนั้น
๗
แต่จะต้องเรียกตนให้มาดู โดยใช้แว่นที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนี้ส่องดู
เพราะไม่อาศัยแว่นของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ ตนเองก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้
ที่จะดูได้ ที่จะเห็นได้ เหมือนอย่างที่ไม่สามารถจะเห็นหน้าของตัวเองได้
ตาของตัวเองนั้นได้แต่ดูไปข้างนอก แต่จะดูหน้าของตัวเองนั้นไม่ได้
จิตใจที่มีกิเลสอยู่โดยมากก็เช่นนั้น มุ่งออกไปข้างนอก ไปเพ่งข้างนอก
แต่ว่ายากที่จะเพ่งเข้ามาข้างใน ดูข้างในได้
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
ส่วนบัณฑิตทั้งหลายมีการเพ่งตนเอง หรือเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง
คนพาลเพ่งผู้อื่นเป็นกำลัง บัณฑิตเพ่งตนเองเป็นกำลัง ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแว่นส่อง
แต่ก็ต้องเรียกตนเองให้จับแว่นส่องของพระพุทธเจ้านี้มาส่องดูตน จึงจะเห็นตน
และก็ปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
และเมื่อปฏิบัติได้อย่างไร ก็ย่อมจะรู้ตนเห็นตนว่าปฏิบัติได้อย่างไรตามเป็นจริง
นี้ต้องอาศัยข้อนี้แหละ เอหิปัสสิโก จงเรียกให้มาดู คือเรียกตนเองให้มาดู ให้มาปฏิบัติ
และเมื่อเรียกตนเองให้มาดูให้ปฏิบัติได้ ก็สามารถที่จะเรียกผู้อื่นให้มาดูได้
ด้วยการที่แสดงธรรมะสั่งสอนอบรมกันต่อไป
การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบทก็เช่นเดียวกัน
ต้องเป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนให้มาดู
ใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ มาส่องมาดูตามที่ทรงสั่งสอน
อาศัยสติปัญญา หรือญาณของตนนี่แหละพิจารณา
ก็จะปฏิบัติตั้งสติ ให้สติตั้งเป็นสติปัฏฐานได้ในข้อนั้นๆ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
๘
พระธรรมคุณ ๘ เอหิปัสสิโก
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ๓
สูตรปฏิบัติในอานาปานสติ ๔
สติสัมปชัญญะในอิริยาบถ ๔
กายคตาสติ ๕
ธาตุกรรมฐาน ป่าช้า ๙ ๖
กายานุปัสนาสติปัฏฐาน ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๐๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๖/๒ - ๑๐๗/๑ ( File Tape 82 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระธรรมคุณ ๘ เอหิปัสสิโก
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
เป็นธรรมอันบุคคลผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง
เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาล เป็นธรรมที่ควรเรียกให้มาดู
และบุคคลแรกที่ควรเรียกให้มาดูก็คือตนเอง
การปฏิบัติในสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าตรัสสอน
ว่าสติปัฏฐานที่ตั้งแห่งสติ หรือความที่มีสติตั้งในกายเวทนาจิตธรรม
เป็น เอกายโนมรรคโค ทางไปอันเดียว สัตตานังวิสุทธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย
โสกะปริเทวานัง สมติกมายะ เพื่อก้าวล่วงโสกะความโศกความแห้งใจ
ความรัญจวนคร่ำครวญใจ
๒
ทุกขโทมนัสสานัง อัทธังกมายะ เพื่อดับทุกข์โทมนัสความไม่สะบายกายไม่สบายใจ
ญัตตะ อธิกมายะ เพื่อบรรลุญายธรรมคือธรรมะที่พึงบรรลุ ธรรมะที่ถูกที่ชอบ
นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
( เริ่ม ๑๐๖/๒ ) ก็คือการปฏิบัติด้วยมี อาตาปี ความเพียร
ที่ตามศัพท์แปลว่าความเพียรเผา คือเผากิเลส
สัมปชาโน มีสัมปชานะ หรือสัมปชัญญะความรู้ รู้ตัว
สติมา มีสติกำหนด พิจารณากำหนดรู้
วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลก ดั่งนี้
กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก
และได้ตรัสสอนเริ่มตั้งแต่ข้อสติที่กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
โดยที่ตรัสสอนให้เข้าป่า หรืออยู่โคนไม้ หรือเรือนว่าง อันหมายถึงที่ซึ่งเป็น กายวิเวก สงัดกาย
แม้อยู่ในวัดอยู่ในบ้าน อยู่ในที่ประชุมปฏิบัติเช่นในที่นี้ ก็ชื่อว่ามีที่อยู่เป็นกายวิเวกสงัดกายได้
เพราะมิได้คลุกคลีพัวพันในกันและกัน ต่างรักษาความสงบกายวาจาใจของตน
จึงเหมือนอย่างอยู่ผู้เดียว เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในกันและกัน ก็นับว่าเป็นที่ๆเป็นกายวิเวก
คือสงัดกายได้ และเมื่อสงัดกายได้ ก็ทำให้เกิด จิตวิเวก สงัดจิตใจได้
เมื่อสงัดจิตใจได้ก็ทำให้เกิด อุปธิวิเวก สงัดกิเลสได้
ได้ตรัสสอนว่าเมื่อได้ที่อันสงบสงัด ก็นั่งกายตรง ดำรงสติรอบคอบ
เหมือนอย่างมีหน้าอยู่รอบด้าน ก็คือรอบคอบ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้าหายใจออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าหายใจออกสั้นก็ให้รู้
ศึกษาคือตั้งใจสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย
หายใจเข้าหายใจออก เหมือนอย่างช่างกลึงหรือลูกมือของช่างกลึง
เมื่อกลึงยาวก็รู้ กลึงสั้นก็รู้ ดั่งนี้
๓
สูตรปฏิบัติในอานาปานสติ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ เป็นสูตรปฏิบัติที่ได้ตรัสสอนไว้เองโดยตรง
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องเรียกตนเข้ามาดูให้เป็นเอหิปัสสิโก
ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตนเองดั่งที่ตรัสสอนไว้
และเมื่อได้เรียกตนเองให้มาดูด้วยสติที่กำหนด พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือรู้
พร้อมทั้งญาณปัญญา คือความที่หยั่งรู้ ก็ย่อมจะได้เห็นได้รู้ ด้วยสติด้วยญาณ
ในลมหายใจเข้าออกของตนตามที่ตรัสสอนไว้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้
และเมื่อจิตรวมอยู่ก็จะรู้กายทั้งหมด ทั้งรูปกายที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่
ทั้งนามกายคืออาการของใจที่กำหนดรวมกันอยู่
และเมื่อมีความเพียรอยู่ดั่งนี้
มีความรู้ตัวอยู่ดั่งนี้ มีสติอยู่ดั่งนี้ ไม่ยึดมั่นยินดียินร้ายอะไรๆในโลก
กำหนดให้รู้สงบอยู่ในภายใน ก็ชื่อว่าเป็นการสงบกายสังขารเครื่องปรุงกาย
ทั้งรูปกายทั้งนามกาย รูปกายก็สงบ ลมหายใจก็สงบ
นามกายคืออาการทางจิตใจก็สงบ สงบอยู่ในภายในไม่ไปข้างไหน
และก็รู้อยู่ตลอดเวลาที่สงบอยู่นี้ว่าลมหายใจมีอยู่ มีอยู่อย่างหยาบ มีอยู่อย่างละเอียด
จนมีอยู่อย่างละเอียดอย่างยิ่งเหมือนอย่างไม่หายใจ
ดั่งนี้ก็เป็นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
จะได้ข้อนี้ก็ต้องเป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนให้มาดู ตามที่ตรัสสอน
ดูด้วยสติดูด้วยญาณปัญญา ก็จะเห็นจะรู้ลมหายใจเป็นอานาปานสติ
สติสัมปชัญญะในอิริยาบถ
อนึ่งก็ได้ตรัสสอนให้มีสติรู้ในอิริยาบถ พร้อมทั้งสัมปชัญญะความรู้ตัวในอิริยาบถ
เมื่อเดินก็รู้ว่าเดิน ยืนก็รู้ว่ายืน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน
๔
และให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวพร้อมทั้งสติในอิริยาบถประกอบทั้งหลาย
ก้าวไปข้างหน้าก็รู้ ถอยไปข้างหลังก็รู้ แลดูก็ เหลียวดูก็รู้
เหยียดกายออกไปคู้กายเข้ามาก็รู้ นุ่งห่มครองผ้า บาตรสำหรับภิกษุก็รู้
กินดื่มเคี้ยวลิ้มก็รู้ ถ่ายก็รู้ เดินยืนนั่งนอนตื่นพูดนิ่งก็รู้
ก็เป็นอันได้ปฏิบัติทำสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้งปวง
ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนเองให้มาดู ด้วยสติด้วยญาณปัญญา
จึงจะรู้จะเห็นในอิริยาบถดังกล่าว
กายคตาสติ
อนึ่งได้ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้
เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
คือ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น
อัฏฐิกระดูก อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด
ปิหังกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตะคุณังสายรัดไส้ หรือใส้เล็ก
อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า ปิตตังน้ำดี เสมหังน้ำเสลด
ปุพโพน้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตังน้ำเลือด เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น
อัสสุน้ำตา วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย สิงฆาณิกาน้ำมูก ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร
รวมเป็น ๓๑ ในบางพระสูตรท่านเติมอีกอาการหนึ่ง
คือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ ก็เป็นอาการ ๓๒
ที่ซึ่งเราทั้งหลายมักจะพูดกันว่าอาการ ๓๒ ก็โดยมีขมองในขมองศรีษะเพิ่มเข้าอีกหนึ่ง
ตรัสสอนให้พิจารณาอาการเหล่านี้ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด เป็นของปฏิกูล
ตรัสสอนให้พิจารณาเป็นอย่างๆ เหมือนอย่างถุงที่บรรจุธัญชาติต่างๆ
มีข้าวสาลีข้าวเปลือกเป็นต้น บุรุษผู้มีจักษุก็เปิดถุงที่บรรจุธัญชาติต่างๆเหล่านี้
๕
และก็พิจารณาดูว่าเหล่านี้เป็นข้าวสาลี เหล่านี้เป็นข้าวเปลือก
เหล่านี้เป็นถั่ว เหล่านี้เป็นงาเป็นต้น
การพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ก็ตรัสสอนให้จับพิจารณาเหมือนอย่างนั้น
เมื่อได้ปฏิกูลสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่สะอาด ว่าปฏิกูลน่าเกลียด
ก็เป็นอันได้ปฏิบัติใน กายคตาสติ สติที่ไปในกายนี้
ก็ต้องเป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนให้มาดูตามที่ตรัสสอนไว้นี้
ที่กายนี้ของตนเอง ด้วยสติด้วยญาณปัญญา ซึ่งจะได้กายคตาสติกรรมฐานข้อนี้
ธาตุกรรมฐาน
อนึ่งก็ได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่ากายนี้ ตามที่ตั้งอยู่ที่ดำรงอยู่นี้
ประกอบด้วยธาตุทั้งหลาย ๔ คือปฐวีธาตุได้แก่ส่วนที่แข้นแข็ง
อาโปธาตุได้แก่ส่วนที่เหลวไหลเอิบอาบ เตโชธาตุได้แก่ส่วนที่อบอุ่นร้อน
วาโยธาตุได้แก่ส่วนที่พัดไหว ที่เรียกกันง่ายๆว่าธาตุดินน้ำไฟลม
พิจารณาว่ากายนี้ก็สักแต่ว่าเป็นธาตุทั้ง ๔ นี้ประกอบกัน
ก็ต้องเป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนเองให้มาดูกายนี้ ว่าประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ตามที่ตรัสสอนไว้
ด้วยสติด้วยญาณปัญญา จึงจะรู้ จึงจะเห็นว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุ
ก็จะทำให้อัตตสัญญาความสำคัญหมายว่าเป็นตัวเราของเราสงบลง
จะเห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ
ป่าช้า ๙
อนึ่งก็ได้ตรัสสอนให้พิจารณาซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ในครั้งพุทธกาลหรือในครั้งโบราณนั้น เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งตายก็นำศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า
ให้เป็นหน้าที่ของสัปเหร่อจะเป็นผู้เผาผู้ฝัง ในบัดนี้แม้ไม่มีแล้ว
๖
ก็ให้พิจารณาได้โดยสมมติเอาว่า ได้มีศพที่เขาไปทิ้งไว้ในป่าช้าดังกล่าว
และเมื่อไปดูศพที่เข้าทิ้งไว้ในป่าช้าดังกล่าว ก็จะเห็นตั้งแต่ศพที่เขาทิ้งไว้นั้น
ซึ่งตายไปแล้วหนึ่งวันบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด
จะได้เห็นว่ามีสัตว์ทั้งหลายมากัดมาจิกกิน เช่นมีกา แร้ง นก สุนัขต่างๆ
ตลอดจนถึงพวกสัตว์เล็กๆต่างๆ พวกหนอนต่างๆมากัดกินมาจิกกินมาดูดกินศพเหล่านี้
และก็จะได้เห็นศพเหล่านี้
ซึ่งเป็นโครงร่างกระดูกรวมกันอยู่ มีเนื้อโลหิตเอ็นรึงรัด
ก็จะได้เห็นศพเหล่านี้ เป็นศพที่เป็นโครงกระดูก
ซึ่งเนื้อหมดไปแล้ว แต่ยังเปื้อนเลือดยังมีเส้นเอ็นรึงรัด
ก็จะเห็นศพเหล่านี้ยังเป็นโครงร่างกระดูก ไม่มีเนื้อไม่มีเลือดแล้ว
แต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัดเป็นโครงกระดูกอยู่
ก็จะเห็นศพเหล่านี้ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัดเสียแล้ว กระดูกที่เรียงกันอยู่เป็นโครงร่าง
ก็หลุดกระจัดกระจาย กระดูกมือก็ไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าก็ไปทางหนึ่ง
กระดูกแข้งก็ไปทางหนึ่ง เข่าก็ไปทางหนึ่ง ขาก็ไปทางหนึ่ง สะเอวก็ไปทางหนึ่ง
กระดูกหลังก็ไปทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงก็ไปทางหนึ่ง กระดูกอกก็ไปทางหนึ่ง
กระดูกแขนก็ไปทางหนึ่ง กระดูกหัวไหล่ก็ไปทางหนึ่ง กระดูกคอก็ไปทางหนึ่ง คางก็ไปทางหนึ่ง
ฟันก็ไปทางหนึ่ง ศรีษะก็ไปทางหนึ่ง แตกแยกกระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ
และก็จะเห็นกระดูกเหล่านี้มีสีขาวเพียงดังสังข์ ก็จะเห็นกระดูกเหล่านี้ยังกองกันอยู่บ้าง
ล่วงผ่านปีไป และก็จะเห็นกระดูกเหล่านี้ผุป่นละเอียดปนไปกับดินทรายในที่สุด
( เริ่ม ๑๐๗/๑ ) ก็ต้องเป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนเองให้มาดู ด้วยสติด้วยญาณปัญญา
จึงจะเห็นจึงจะรู้ว่ากายนี้ ซึ่งก่อนแต่เกิดมา เริ่มต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา ก็ไม่มีอะไร
และเมื่อเริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่กลละในครรภ์ของมารดา
ค่อยๆเติบใหญ่ขึ้นเป็นปัญจสาขา มีตามีหูเป็นต้น ครบกำหนดคลอดออกมา
อาศัยอาหารบำรุงเลี้ยงเติบใหญ่ขึ้นมา จนถึงบัดนี้
๗
ทุกๆคนที่นั่งอยู่ในบัดนี้ทั้งหมดก็เริ่มต้นมาอย่างนี้
เป็นร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ในบัดนี้ หายใจเข้าหายใจออกกันอยู่ทุกขณะในบัดนี้
และก็อยู่ในอิริยาบถ ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ดังในบัดนี้ก็อยู่ในอิริยาบถนั่ง
และก็มีอิริยาบถประกอบ เช่นในบัดนี้กำลังนั่งคู้ขาเข้ามาเป็นแบบนั่งพับเพียบ วางมือเข้ามา
และผู้ที่แสดงนี้ก็กำลังพูด ท่านทั้งหลายผู้ฟังก็อยู่ในอาการนิ่ง
และก็ประกอบด้วยอาการ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น
ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ไปตามหน้าที่ของตน มีอาการคือการกระทำงานของตน
ผมก็มีอาการที่ทำงานเป็นหน้าที่ของผม ขนเล็บฟันหนังเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน
มีอาการคือการทำงานตามหน้าที่ของตนไป
กายานุปัสนาสติปัฏฐาน
และเมื่อสรุปเข้ามาแล้ว อาการเหล่านี้ก็เป็นธาตุทั้ง ๔ ธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม
อาการสามสิบเอ็ดสามสิบสองดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ
ตั้งแต่เกสาผมจนถึงกรีสังอาหารเก่า เติมมัตถเกมัตถลุงคังขมองในขมองศรีษะ
รวมเป็น ๒๐ ถ้าไม่เติมก็ ๑๙ รวมเข้าก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ตั้งแต่ปิตตังน้ำดี จนถึงมุตตังมูตรรวมเข้า ๑๒ ก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
เตโชธาตุธาตุไฟนั้นมีตรัสแสดงไว้ในที่อื่น ก็ได้แก่ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น หรือว่าร้อน
ไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อนมาก
และไฟที่ช่วยในการย่อยอาหาร ที่กิน ที่ดื่ม ที่ขบเคี้ยว ที่ลิ้ม รวมเข้าก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ
วาโยธาตุธาตุลมนั้นก็ได้แก่ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ
ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่พัดไปในอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง
ลมหายใจเข้าลมหายใจออก รวมเข้าก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม
รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้ เมื่อธาตุ ๔ เหล่านี้ยังดำรงอยู่
ยังรวมกันอยู่ ปฏิบัติหน้าที่ของธาตุทั้ง ๔ นี้อยู่ ชีวิตก็ยังดำรงอยู่
๘
อาการสามสิบเอ็ดสามสิบสองก็ทำหน้าที่ของตนอยู่
ยังผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้อยู่ หายใจเข้าหายใจออกอยู่
แต่เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ดับลมหายใจ ธาตุลมดับไปก่อน ธาตุอื่นๆก็แตกสลายตาม
ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ ไม่มีการหายใจเข้า ไม่มีการหายใจออก ไม่มีการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
อาการสามสิบเอ็ดสามสิบสองก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ หยุดทำงาน
และศพนี้ก็ตั้งต้นเป็นศพที่ตายแล้ววันหนึ่ง สองวัน สามวันเป็นต้นไป
จนถึงในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่นตามที่ตรัสสอนไว้นั้น
ฉะนั้น ก่อนจะถือกำเนิดมาทีแรกก็ไม่มี ในที่สุดก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม
นี้เป็นการที่พิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติที่กำหนดพิจารณากาย สติที่กำหนดกาย
ก็ต้องเป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนเองให้มาดู ด้วยสติด้วยญาณปัญญา ให้รู้ให้เห็น
จึงจะเป็นสติปัฏฐานตั้งสติ จนถึงสติตั้งเป็นไปในกายตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*