ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 09:52
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป064
เสขะปฏิปทา ๑๕
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
เสขะบุคคล เสขะปฏิปทา ๑๕ ๓
โภชเนมัตตัญญุตา ๔
ชาคริยานุโยค ๕
ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ๖
ศรัทธา ๓ ๗
หิริ โอตตัปปะ ๗
พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก ๘
เพียรละ เพียรภาวนา สติ ปัญญา ๘
ข้อปฏิบัติดำเนินถึงวิชชา ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๒/๑ ( File Tape 64 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
เสขะปฏิปทา ๑๕
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณนำในบทว่าวิชชาจรณสัมปันโน
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ได้แสดงวิชชาและจรณะมาตอนหนึ่งแล้ว จะได้แสดงในข้อว่าจรณะ
ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในเสขะพลสูตร
ซึ่งมีความโดยย่อว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญเสด็จไปประทับเป็นครั้งแรก
ในสัณฐาคารคืออาคารอันเป็นที่ประชุมของเจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์
ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่ยังมิได้ใช้สอย
พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหมู่สงฆ์ก็ได้เสด็จไปประทับที่สัณฐาคาร
ได้ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าศากยะทั้งหลายเป็นอันมาก
แล้วได้โปรดให้ท่านพระอานนท์แสดงเสขะปฏิปทาแก่เจ้าศากยะทั้งหลายต่อไป
๒
พระองค์ก็ได้ทรงประทับพักผ่อนพระอิริยาบถโดยสีหไสยา
ท่านพระอานนท์จึงได้แสดงเสขะปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นเสขะบุคคล
หรือข้อปฏิบัติของเสขะบุคคล
เสขะบุคคล
อันเสขะบุคคลนั้นก็หมายถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปฏิมรรค
จนถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ตามศัพท์ว่าเสขะก็แปลว่าผู้ศึกษา
แต่เสขะคือผู้ศึกษาในพุทธศาสนานั้น มีความหมายสูงดังที่กล่าว
ส่วนที่ต่ำลงมาคือยังไม่เป็นโสดาบันบุคคล ยังเป็นบุถุชน เรียกว่าเสขะก็มิใช่ อเสขะก็มิใช่
และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่าอเสขะที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา
คือเป็นผู้จบการศึกษาแล้ว
ท่านพระอานนท์ก็ได้รับพระพุทธบัญชา
แสดงเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย
และในตอนท้ายก็ได้กล่าวว่าเสขะปฏิปทาทั้ง ๑๕ ประการนี้
ก็เป็นจรณะคือข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา
เพราะฉะนั้น ในการแสดงอธิบายจรณะในพระพุทธคุณบทนี้
จึงมักจะยกเอาจรณะ ๑๕ ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงดังที่เล่ามากันโดยมาก
เสขะปฏิปทา ๑๕
จรณะหรือเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการนี้
ก็คือสีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์
โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร
ชาคริยานุโยคความประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ นี้ ๔ ประการ
๓
และสัทธรรมอีก ๗ ประการอันได้แก่ สัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ และปัญญา
รวมเป็น ๗ ประการกับ รูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อีก ๔ ประการ ก็รวมเป็น ๑๕ ประการ
และโดยที่ได้แสดงจรณะ ๑๐ ประการมาแล้วตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอง
เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงอธิบายไปแล้วหลายข้อ จึงจะไม่แสดงอธิบายข้อที่ซ้ำกัน
สีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล กับอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ ได้แสดงอธิบายแล้ว
โภชเนมัตตัญญุตา
โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร ท่านสอนให้พิจารณาอาหารที่บริโภค
ในขณะที่กำลังบริโภค ตามบทปฏิสังขาโยที่พระสวดกันอยู่ซึ่งมีความโดยย่อว่า
บริโภคภัตตาหารก็มิใช่ว่าเพื่อเล่น มิใช่ว่าเพื่อมัวเมา มิใช่ว่าเพื่อเปล่งปลั่งประเทืองผิว
แต่ว่าบริโภคภัตตาหารก็เพื่อที่จะบำบัดความหิวระหาย และป้องกันมิให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์
และเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อดำรงกายให้เป็นไป
นี้เป็นใจความโดยย่อ ซึ่งรวมความเข้าแล้วก็เป็นการพิจารณาว่า
บริโภคเพื่อที่จะทะนุบำรุงร่างกาย เพราะร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้
และดำรงร่างกายอยู่ก็เพื่อว่าที่จะประพฤติพรหมจรรย์
คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่เพื่อตัณหากิเลสต่างๆ
และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดหรือไม่ส่งเสริม รสะตัณหา ตัณหาในรส
บริโภคเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ คือเพื่อดำรงร่างกายดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่
เป็นไปอยู่ทำไม ก็เพื่อที่จะประพฤติพรหมจรรย์ กระทำกิจตามพระธรรมวินัย
ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้การบริโภคนั้น เป็นไปพอเหมาะพอควร
ไม่น้อยไม่มากเกินไป เท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ถือเอารสอร่อยเป็นที่ตั้ง คือไม่ตามใจลิ้น
และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ แม้ว่าอาหารที่บริโภคจะมีรสไม่ถูกปากไม่ถูกลิ้น ก็จะสามารถบริโภคได้
๔
เพราะเมื่อไม่ติดอยู่ในรส ไม่ติดอยู่ในรสะตัณหาแล้ว
การบริโภคก็เป็นไปเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ
ไม่ใช่ว่าจะต้องเที่ยวแสวงหาอาหารที่มีรสตามที่ชอบ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ยอมที่จะบริโภค
หรือบริโภคแต่น้อย ถ้าได้อาหารที่มีรสถูกปากที่เอร็ดอร่อยก็บริโภคเสียใหญ่
และไม่เป็นเวล่ำเวลาอันสมควร ดั่งนี้เรียกว่าไม่รู้ประมาณในภัตตาหาร
แต่เมื่อรู้ประมาณในภัตตาหาร ด้วยการพิจารณาดังกล่าว
ก็จะทำให้การบริโภคอาหารเป็นไปโดยถูกต้อง พอเหมาะพอควร
เพื่อทะนุบำรุงกายให้ดำรงอยู่ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ดั่งนี้
ชาคริยานุโยค
ชาคริยานุโยคประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ที่ท่านแสดงอธิบายไว้
ก็คือว่าในเวลากลางวัน ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง ที่เรียกว่าเดินจงกรม
ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจากกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นใจทั้งหลาย
คือเป็นเครื่องกั้นไว้มิให้บรรลุสมาธิและปัญญา
ในเวลากลางคืนในปฐมยาม ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง เปลื้องจิตให้บริสุทธิ์
ให้พ้นจากกิเลสเป็นเครื่องกั้นทั้งหลาย
ในมัชฌิมยามของราตรี ก็พักด้วยการนอนโดยสีหไสยาคือนอนตะแคงเบื้องขวา
และทำสติที่จะลุกขึ้น ที่จะตื่นขึ้น และก็ตื่นขึ้นในปัจจฉิมยามของราตรี
ก็นั่งบ้างเดินบ้าง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย
นี้ท่านแสดงถึงวิธีปฏิบัติเป็นเครื่องตื่นอยู่อย่างเต็มที่
แม้ว่าจะไม่ปฏิบัติอย่างเต็มที่ดั่งนี้ เอาเพียงปฏิบัติตามที่ท่านแปลคำนี้ไว้ว่า
ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก
และเวลาที่ตื่นอยู่ก็ต้องคอยทำการเปลื้องจิต ปฏิบัติเปลื้องจิตจากกิเลสเป็นเครื่องกั้น
มิให้จิตได้สมาธิได้ปัญญา โดยตรงก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง
๕
คอยชำระจิตอยู่เสมอจากนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม
พยาบาทความหงุดหงิดขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ
ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ
ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็นชาคริยานุโยค ก็รวมเป็น ๔ ข้อ
ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา
ส่วนสัทธรรม ๗ นั้น สัทธรรมก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษ คือผู้สงบรำงับ
หรือธรรมะของคนดี ธรรมะที่ดี อันได้แก่ศรัทธาคือความเชื่อ
และความเชื่อในพุทธศาสนานี้ ต้องการความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา
ที่เป็นญาณสัมปยุต ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้
ซึ่งเรียกว่าเป็นความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือว่าเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ควรเชื่อ
และจะมีศรัทธาดั่งนี้ได้ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ญาณพิจารณา
ให้รู้ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ
และสำหรับพุทธศาสนิกชน
ศรัทธาที่ต้องการเป็นข้อสำคัญในฐานะเป็นพุทธสาวก
ก็คือตถาคตะโพธิสัทธา ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า
ซึ่งความเชื่อดั่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย การที่มาเจริญพุทธานุสสติ
ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และให้รู้จักพระพุทธคุณดังที่สวดกันอยู่ว่า
อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ดั่งที่กำลังแสดงอยู่นี้
ระลึกถึงพระพุทธคุณให้มีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธคุณ แม้บทใดบทหนึ่ง
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ได้ตถาคตะโพธิสัทธามากขึ้นๆ
และก็จะทำให้ได้ศรัทธาในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
๖
ศรัทธา ๓
เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แนะนำศรัทธาอีก ๓ ข้อไว้
ก็คือ กรรมสัทธา ความเชื่อในกรรม วิปากสัทธา ความเชื่อในผลของกรรม
กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตน
เมื่อมีศรัทธาอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปลูกศรัทธาให้มีขึ้น
ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมาพิจารณา
ดูที่ศรัทธาคือความเชื่อของตน ว่าเป็นไปถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้เชื่อหรือไม่
ถ้าหากว่ายังไม่เข้าในหลักของศรัทธาตามที่กล่าวมานี้ ก็ชื่อว่ายังไม่เข้าหลักของศรัทธา
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ ยังเป็นศรัทธาอาจจะเป็นของตนเองที่มีมาตามสันดาน
หรือว่าจากคำแนะนำของผู้อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า
ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็ต้องเป็นข้อที่ทุกๆคนจะต้องปรับปรุง
แก้ไขปฏิบัติศรัทธาของตนให้ถูกให้ตรง อันนับว่าเป็นอันดับแรก
และเมื่อมีศรัทธาตรงแล้วก็จะทำให้เป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายอื่นๆต่อไป
หิริ โอตตัปปะ
จึงถึงสัปปุริสธรรม หรือว่าสัทธรรม อันเป็นข้อที่ ๒ ที่ ๓
ก็คือหิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว
ก็คือต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะนี้ท่านแสดงว่าเป็นเหตุใกล้ของศีล
เมื่อมีหิริโอตตัปปะอยู่ ก็ย่อมจะทำให้มีศีลได้ ศีลก็จะมีสืบจากหิริโอตตัปปะ
เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญ
จนถึงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่าเป็นโลกบาล คือเป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก
๗
พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก
และต่อไปก็คือพาหุสัจจะที่แปลว่าความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก
ในทางพุทธศาสนาก็คือความที่ได้สดับตรับฟัง ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
ได้ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมะที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ
เป็นธรรมะที่กล่าวประกาศพรหมจรรย์พระศาสนา บริบูรณ์คือครบถ้วนไม่มีบกพร่อง
บริสุทธิ์ก็คือถูกต้องไม่มีผิดพลาด สิ้นเชิงก็คือทั้งหมด
ก็ตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจเรียนธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเหล่านี้
ท่องบ่นจำทรง สั่งสมด้วยวาจาก็คือว่าให้คล่องปาก จำได้ด้วยใจด้วย แล้วให้คล่องปากด้วย
( เริ่ม ๘๒/๑ ) และขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันได้แก่ทำความเข้าใจ
ดั่งนี้ เรียกว่าพาหุสัจจะความเป็นผู้ที่ได้สดับตรับฟังมาก
เพียรละ เพียรภาวนา สติ ปัญญา
ข้อต่อไปก็คือเพียร เพียรปฏิบัติในการละส่วนที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย
เพียรภาวนาอันหมายถึงว่าอบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น ในส่วนที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย
ข้อต่อไปก็คือสติและปัญญา ก็คือปฏิบัติทำสติความระลึกได้ หรือความกำหนดลงไปให้ได้
ให้เป็นตัวสติ และปฏิบัติทำปัญญา คือความรู้รอบคอบตามเหตุตามผล
ตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงตามเหตุและผล
ก็รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่าสัทธรรม ๗
หรือสัปปุริสธรรม ๗ ก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษเหมือนกัน
และรูปฌานอีก ๔ ข้อ คือรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อันหมายถึงเป็นสมาธิอย่างสูง
เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จัดเป็นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โดยลำดับ
ก็รวมเป็นจรณะ ๑๕ หรือว่าเสขะปฏิปทา ๑๕
๘
ข้อปฏิบัติดำเนินถึงวิชชา
พระพุทธเจ้าเองก็ทรงประกอบด้วยจรณะ เป็นจรณะสัมปันโนถึงพร้อมด้วยจรณะ
และเมื่อถึงพร้อมด้วยจรณะ จรณะนี้เองเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา
จึงทรงได้วิชชา ๓ วิชชา ๘ ตามที่ได้แสดงแล้ว เป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา
แต่ในบทพระพุทธคุณนี้เรียงวิชชาไว้หน้า คู่กันไปกับจรณะ
ว่าวิชชาจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
อีกอย่างหนึ่งทำความเข้าใจกันง่ายๆ ดังที่มีบางท่านแสดงว่าถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ก็คือถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ถึงพร้อมด้วยรู้และความประพฤติที่คู่กันนี้
ก็หมายถึงว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย มิใช่ว่ารู้แล้วก็ไม่ประพฤติ แต่ว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย
มีความประพฤติสมควรแก่ความรู้ แม้ว่าจะมีความเข้าใจดั่งนี้ก็ได้
และก็อาจอธิบายคำว่าจรณะ ถึงอรรถะจริยาของพระพุทธเจ้า
คือพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนถึงพร้อมด้วยวิชชาแล้ว
ก็ทรงเสด็จจาริกไปทรงประกอบอรรถะจริยา คือประพฤติประโยชน์
ที่ท่านแสดงเอาไว้ ๓ ประการ คือ โลกัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลก
ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาติ
พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า
ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลกนั้น ก็คือทรงแสดงธรรมสั่งสอน
ชี้ให้ทราบ และให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึง ประโยชน์ปัจจุบันบ้าง
ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง แก่โลก
ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาตินั้น ก็คือทรงเสด็จไปโปรดพระญาติ
ดังเช่นเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และที่มีแสดงไว้อีกว่าได้เสด็จไปโปรด
ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาซึ่งได้เสด็จทิวงคตไปแล้ว และได้โปรดแก่พระญาติอื่นๆ
๙
พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้านั้น
ก็เช่นได้ทรงปฏิบัติพระองค์ดังที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงปฏิบัติมาครบถ้วนทุกประการ
โดยเฉพาะก็คือทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย
ทรงตั้งพุทธบริษัทก็คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุปาสกบริษัท อุปาสิกาบริษัท
ขึ้นในโลก ก็ชื่อว่าได้ทรงปฏิบัติโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประกอบอรรถะจริยา
คือทรงประพฤติประโยชน์ต่างๆสมบูรณ์ ก็โดยที่เมื่อได้ตรัสรู้ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา
ก็ทรงใช้วิชชา ทรงประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆตามที่แสดงมา
ซึ่งข้อที่ประพฤติประโยชน์ต่างๆนี้ก็ชื่อว่าจรณะเหมือนกัน
แม้นัยยะนี้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงชื่อว่าวิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
พระพุทธคุณบทว่าสุคโต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
นิพพานย่อมดำรงอยู่ ๓
เมื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๒/๒ ( File Tape 64 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าสุคโต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทสุคโตผู้เสด็จไปดีแล้ว นำเป็นพุทธานุสสติ
ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่าสุคโต พระสุคต
พระผู้เสด็จไปดีแล้ว พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายว่าได้เสด็จไปดีงาม
การเสด็จไปของพระองค์นั้นเป็นโสภณะงาม เป็นสุนทระดี
และได้เสด็จไปสู่ที่ๆดีงาม ทั้งได้มีพระวาจาที่ดีงาม
ข้อว่าเสด็จไปดีงามก็ด้วยอริยมรรค มรรคที่ดีงามที่ประเสริฐ
อันมีองค์ ๘ ประการ คือเสด็จไปด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ อันเป็นส่วนพระปัญญา
ด้วยสัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ
สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ อันเป็นส่วนศีล
๒
ด้วยสัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ
อันเป็นส่วนจิตหรือสมาธิ
ข้อว่าทรงเสด็จไปสู่ฐานะที่ดีงาม ก็คือเสด็จไปสู่อมตะนิพพาน สู่วิชชาวิมุติ
สู่อมตะนิพพานคือสู่ธรรมะเป็นที่ออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด
ธรรมะเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น สู่ความเป็นอมตะคือผู้ไม่ตาย
เสด็จสู่วิชชาวิมุติก็คือความรู้และความพ้น จากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น
ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเสด็จไปด้วยอริยมรรค ด้วยอมตะนิพพาน ด้วยวิชชาวิมุติ
ทรงมีพระกายพระวาจาและพระหทัยคือใจ เสด็จไปดีด้วยประการทั้งปวง
และเพราะทรงเสด็จไปด้วยมรรคดังกล่าว กายวาจาใจของพระองค์จึงมีศีลมีสมาธิ
มีปัญญาสมบูรณ์ เสด็จไปด้วยอมตะนิพพาน จึงทรงเสด็จไปด้วยบรมสุข
ปราศจากความทุกข์ทั้งสิ้น ปราศจากกิเลสทั้งสิ้น
นิพพานย่อมดำรงอยู่
และพระองค์ทรงเป็นอมตะคือเป็นผู้ไม่ตาย
เพราะว่าทรงพ้นจากขันธ์อายตนะธาตุ ซึ่งเป็นของตาย ของแตกสลาย
พุทธภาวะของพระองค์นั้นจึงดำรงอยู่เป็นอมตะคือไม่ตาย แต่ว่าจะชี้ว่าตั้งอยู่ที่ไหนนั้น
ก็มิอาจจะชี้ได้ด้วยภาษาที่พูด เพราะภาษาที่พูดเป็นสมมติบัญญัติ
แต่พุทธภาวะนั้นพ้นจากสมมติบัญญัติ พ้นจากภาษาที่จะพูดถึง จะชี้ว่าอยู่ที่พระจิต
คืออยู่ที่จิต ก็สมมติขึ้นพูดว่าจิตเท่านั้น หรือจะพูดว่าที่ธาตุรู้ ก็สมมติบัญญัติว่าธาตุรู้เท่านั้น
พุทธภาวะหรืออมตะนิพพานเป็นสิ่งที่เป็นอมตะคือไม่ตาย ซึ่งอยู่พ้นจากสมมติบัญญัติทุกอย่าง
แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ดำรงอยู่ไม่สูญ พระกายของพระองค์จะดำรงอยู่ หรือว่าจะแตกสลาย
แต่ว่าพุทธภาวะอมตะนิพพานย่อมดำรงอยู่
ฉะนั้น จึงได้ตรัสเอาไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม
๓
ซึ่งเป็นอันว่าพุทธภาวะอมตะนิพพานนั้นย่อมรวมเข้าในธรรม หรือธรรมธาตุซึ่งเป็นธาตุแท้
ดังที่ตรัสไว้ในธรรมนิยามสูตรว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม
ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม พระตถาคตทั้งหลายจะทรงอุบัติขึ้นก็ตาม
ไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นก็คงตั้งอยู่ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ในเมื่อพระกายยังทรงดำรงอยู่
พุทธภาวะก็ตั้งอยู่อาศัยพระกายคือขันธ์ ๕ นี้ และก็ทรงเห็นอะไรทางตา
ได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่นอะไร รสอะไร สิ่งถูกต้องอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ได้ทรงรู้อะไรทางมโนคือใจ แต่ว่าทรงมีวิชชาคือความรู้จริงไม่ยึดถือ จึงทรงมีวิมุติ
คือความหลุดพ้น พรากออกจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวนั้นๆ
ไม่เกิดเป็นอารมณ์ที่จะก่อให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิตได้
จิตจึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง จิตจึงดำเนินไปดี ในเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบพาน
เมื่อจิตดำเนินไปดี กายวาจาก็ดำเนินไปดี ด้วยอำนาจของวิชชาวิมุติซึ่งเป็นวิหารธรรม
ธรรมเครื่องอยู่แห่งจิตของพระองค์ ดังที่ตรัสเอาไว้เองว่าทรงอยู่ด้วยวิชชาวิมุติดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสุคโตคือเสด็จไปดี และเสด็จไปสู่อมตะนิพพาน ประกอบด้วยวิชชาวิมุติ
อนึ่ง ข้อว่าทรงมีพระวาจาดี ก็ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า
วาจาของพระองค์ที่ตรัสนั้นย่อมมีลักษณะดั่งนี้ คือสิ่งใดที่ไม่จริงไม่แท้
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จะเป็นที่รักที่ชอบใจ หรือไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของใครก็ตาม
พระองค์ไม่ตรัสสิ่งนั้น หรือไม่ตรัสวาจานั้น สิ่งใดที่แม้เป็นของจริงเป็นของแท้
แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็ไม่ตรัสสิ่งนั้น ไม่ตรัสวาจานั้น
ส่วนสิ่งใดที่จริงที่แท้และประกอบด้วยประโยชน์
พระองค์ทรงรู้กาละคือกาลเวลาที่จะตรัสสิ่งนั้น ที่จะตรัสวาจานั้น ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น วาจาที่พระพุทธเจ้าตรัสทุกถ้อยคำ
จึงเป็นวาจาที่จริงที่แท้ ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และถูกต้องด้วยกาละ
พระพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระองค์จึงเป็นคำสั่งสอนที่จริงที่แท้
และที่ประกอบด้วยประโยชน์ และต้องด้วยกาลเวลา
เมื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์
ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อเสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์
ซึ่งท่านทั้ง ๕ ยังเป็นฤาษี พักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เวลานั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ได้ทรงเลือกผู้ที่จะรับปฐมเทศนา
ก็ได้ทรงเห็นว่าท่านทั้ง ๕ นั้น เป็นผู้ที่ควรจะรับปฐมเทศนาได้
จึงได้เสด็จจากโพธิบัลลังก์อันเป็นที่ตรัสรู้ เสด็จไปด้วยพระบาทสู่ป่าที่ท่านทั้ง ๕ พักอยู่นั้น
เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้เห็นเสด็จมาแต่ไกล ทีแรกก็นัดหมายกันว่าไม่ต้อนรับ
แต่เมื่อเสด็จถึงต่างก็ต้อนรับ และก็ได้ตรัสว่าพระองค์จะทรงแสดงธรรมะที่เป็นอมตะธรรมโปรด
แต่ท่านทั้ง ๕ นั้นก็ยังไม่น้อมใจเชื่อว่าจะได้ตรัสรู้ เพราะได้ทรงเลิกทุกรกิริยา
มาเสวยพระกระยาหาร ที่ท่านทั้ง ๕ เห็นว่าได้ทรงเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
เพราะฉะนั้น ท่านจึงเห็นว่าจะไม่สามารถจะตรัสรู้ได้
พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงแสดงธรรมะจักรปฐมเทศนาทันที เพราะยังมิใช่กาลเวลาที่จะพึงแสดง
( เริ่ม ๘๒/๒ ) จิตของท่านทั้ง ๕ นั้นยังมีทิฏฐิมานะที่ผิด ยังไม่ยอมรับฟัง
จึงได้ตรัสชี้แจงด้วยเหตุผลให้ท่านทั้ง ๕ คลายทิฏฐิมานะยอมรับฟังก่อน
และวิธีที่ทรงชี้แจงนั้นก็ได้ทรงเลือกพระวาจาที่เหมาะสม อันเป็นของจริงที่เป็นประโยชน์
ดังเช่นที่ได้ตรัสให้ท่านทั้ง ๕ ระลึกว่า ก่อนแต่นี้ได้เคยมีพระวาจาดังที่ได้ตรัส
แก่ท่านทั้ง ๕ นี้หรือไม่ ว่าพระองค์ได้ทรงบรรลุธรรม จะเสด็จมาโปรด
ท่านทั้ง ๕ นั้นก็ระลึกได้ว่าไม่เคยตรัสอย่างนี้ จึงได้มีจิตน้อมเพื่อจะฟังธรรม
เมื่อทรงทราบว่าจิตของท่านทั้ง ๕ อ่อนโยนลง น้อมเพื่อที่จะรับธรรม
จึงได้ตรัสแสดงปฐมเทศนาโปรด
พระวาจาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส ตั้งแต่พระวาจาแรกเมื่อพบท่านทั้ง ๕
ก็ล้วนเป็นสัจจะคือความจริงทั้งนั้น และก็ต้องด้วยกาลเวลา
พระวาจาแรกที่ตรัส ก็ตรัสว่าจะเสด็จมาโปรด ได้ทรงบรรลุธรรม
ก็เป็นความจริง และต้องด้วยกาลเวลาที่ควรจะตรัสบอก
เมื่อท่านทั้ง ๕ ยังไม่ยอมน้อมใจฟัง คือยังไม่เชื่อว่าจะได้ทรงบรรลุธรรม ได้ตรัสรู้
พระองค์ก็ได้ตรัสพระวาจา ชี้เหตุผลอันเป็นความจริงอีกเช่นเดียวกัน
ว่าก่อนแต่นี้ได้เคยตรัสอย่างนี้หรือไม่ ท่านทั้ง ๕ ระลึกได้ว่าไม่เคยตรัส
จึงได้น้อมใจเพื่อจะฟัง จึงได้ตรัสแสดงปฐมเทศนา
เพราะฉะนั้น พระวาจาที่ตรัสออกตั้งแต่พระวาจาแรกมาโดยลำดับ จึงเป็นคำจริงคำแท้
ที่ประกอบด้วยประโยชน์ จะเป็นที่ชอบใจ หรือไม่เป็นที่ชอบใจของใครก็ตาม
เมื่อถึงกาละเวลาที่จะตรัส ก็ตรัสพระวาจานั้น ตรัสสิ่งนั้น ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงว่าพระวาจาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสทรงสั่งสอนทุกครั้ง
จะต้องมีผู้ได้รับประโยชน์ ไม่มีเลยที่จะเปล่าประโยชน์ จะต้องมีผู้ฟังได้ดวงตาเห็นธรรม
ได้ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นอย่างน้อย
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าสุคโตเป็นผู้ที่เสด็จไปดี
อนึ่ง แม้ในด้านที่ทรงเสด็จไปด้วยอริยมรรคดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น
ซึ่งได้ทรงบรรลุอมตะนิพพานวิชชาวิมุติ ก็คือเมื่อทรงเสด็จไปด้วยอริยมรรค
ก็เสด็จไปด้วยอริยผล นิพพาน รวมเป็นโลกุตรธรรมคือมรรคผลนิพาน
ซึ่งผลก็คือความดับกิเลส ตัดกิเลสได้เด็ดขาด นิพพานก็ออกจากกิเลส กิเลสไม่กลับมาอีก
เพราะฉะนั้น กิเลสที่ทรงละแล้วด้วยมรรคผลนั้นๆ จึงไม่กลับมาสู่พระองค์อีก
หรือไม่กลับมาสู่จิตอีกตลอดไป จึงชื่อว่าเสด็จไปดี
และนอกจากนี้การเสด็จไปดีของพระองค์นั้น
ยังมีความหมายถึงเสด็จไปโปรดเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงฝึกได้พึงแนะนำได้
ด้วยสุขประโยชน์ทั้งปวง เสด็จไปที่ไหนก็โปรดเวไนยนิกรในที่นั้น ให้บรรลุสุขประโยชน์ทั้งนั้น
เพราะว่าได้ทรงเสด็จไปด้วยทรงประพฤติประโยชน์เป็นอรรถะจริยา
คือประพฤติประโยชน์แก่โลก แก่พระญาติ และประพฤติประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า
ไม่มีที่จะเสด็จไปโดยมิได้ทรงประพฤติประโยชน์
เสด็จไปในที่ใด ก็ได้ประทานประโยชน์สุขในที่นั้นทุกแห่งไป
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงเป็นปูชนียบุคคลอย่างสูงสุด คือเป็นบุคคลที่พึงบูชาอย่างสูงสุด
ทั้งด้วยเครื่องสักการะวรามิสทั้งหลาย ทั้งด้วยการปฏิบัติตาม
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงเสด็จไปดี แม้ในด้านเครื่องสักการะวรามิส
ก็พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไม่ขาดแคลน ไม่เป็นทุคตะคือผู้ขัดสนจนยาก
แต่ทรงเป็นสุคตะคือเป็นผู้ที่เสด็จไปดี เป็นผู้ที่มั่งมี มั่งมีด้วยโลกุตรธรรมทั้งหลาย
ด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยธรรมะทั้งปวง และมั่งมีด้วยสักการะวรามิสที่มีผู้นำมาบูชา
พระพุทธคุณบทนี้ยังให้ผลสืบเนื่องมาถึงพุทธศาสนาที่ได้ทรงประดิษฐานตั้งขึ้น
และสืบเนื่องมาถึงพระสงฆ์สาวกทั้งปวง สืบเนื่องมาถึงพุทธบริษัททั้งปวง
เป็นต้นว่าภิกษุบริษัทซึ่งได้ปฏิบัติดีตามพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้วทรงบัญญัติแล้ว
ก็ได้รับการบูชาทั้งด้วยเครื่องสักการะวรามิส และทั้งด้วยการปฏิบัติตาม
ตลอดมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงพระนามว่าสุคโตคือเป็นผู้ที่เสด็จไปดีแล้ว ไม่เสด็จไปร้าย
แม้ด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่เสด็จไปดีด้วยประทานสุขประโยชน์ทั้งสิ้น และก็เป็นที่ต้อนรับของประชาชนในที่ๆเสด็จไป
ว่าเป็นสวากขตะเป็นผู้เสด็จมาดีแล้ว สำหรับพวกเขาทั้งหลาย พวกประชาชนทั้งหลาย
เมื่อพระองค์เสด็จไปดีเป็น สุคโต สุคตะ ประชาชนทุกแห่งก็ต้อนรับพระองค์
ด้วยคำว่า สวากขตะ เสด็จมาดี และพากันสักการะบูชา ทั้งด้วยวัตถุ ทั้งด้วยการปฏิบัติตาม
พระพุทธศาสนาจึงได้ตั้งขึ้น และดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน และต่อไป
เพราะฉะนั้น พระพุทธคุณบทนี้ จึงเป็นบทที่ควรจะระลึกถึงให้เห็นชัด
ก็จะบังเกิดศรัทธาปสาทะปีติโสมนัส จิตใจก็จะปลอดโปร่งแจ่มใส
จากนิวรณ์และอกุศลธรรมทั้งหลาย สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
และเป็นทางนำปัญญาให้เห็นธรรม อันตั้งอยู่ในพระคุณ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*