ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 09:46
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป059
สัมมาทิฏฐิ ๔๒ อริยสัจจ์โดยพิสดาร (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อริยสัจจ์โดยพิสดาร ๓
เหตุและผลที่สัมพันธ์กัน ๔
เกิด แก่ ตาย ๕
มาร ๗
มาร ๕ ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๗๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๕/๒ ( File Tape 59 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๔๒ อริยสัจจ์โดยพิสดาร (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเรื่องพระพุทธเจ้า
เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น
โดยสมุทัยวาร คือโดยวาระเกิด ก่อทุกข์
ทรงเปล่งอุทานในปฐมยามแห่งราตรีที่แปลความว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมว่ามีเหตุ หรือเกิดแต่เหตุ
ต่อจากนั้นทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยนิโรธวาร คือโดยวาระดับ คือดับทุกข์
ทรงเปล่งอุทานในมัชฌิมยามแห่งราตรีแปลความว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ต่อจากนั้นทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยสมุทัยวาร ทั้งโดยนิโรธวาร
ทรงเปล่งอุทานในปัจฉิมยามแห่งราตรีแปลความว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนา
สถิตย์อยู่เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ สถิตย์ส่องสว่างอยู่ในนภากาศ ดั่งนี้
อริยสัจจ์โดยพิสดาร
ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
ได้แสดงแล้วตามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตร
และก็ได้เคยกล่าวแล้วว่า ก็เป็นการพิจารณาอริยสัจจ์โดยพิสดาร
อริยสัจจ์นั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา
ว่าคือทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และได้ทรงอธิบายทุกข์ว่ามี ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติเป็นต้น
สรุปเข้าก็ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ
ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทรงอธิบายยกเอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทรงอธิบายยกเอาความดับตัณหา
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงยกเอามรรคมีองค์ ๘
ก็เป็นการทรงแสดงโดยทั่วไป เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้โดยง่าย
เพราะว่าอริยสัจจ์ที่ทรงอธิบายดั่งนี้ ผู้ฟังทั่วไปเมื่อตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาไปตาม
ก็อาจเข้าใจได้ และสามารถที่จะปฏิบัติได้ คือปฏิบัติกำหนดรู้ทุกข์
ละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ทำให้แจ้งทุกขนิโรธความดับทุกข์คือดับตัณหา
และอบรมปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้บังเกิดขึ้น
ส่วนในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น
ก็ได้เคยกล่าวว่า เป็นการที่ทรงแสดงอริยสัจจ์โดยละเอียด หรือพิสดาร
และพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ก็ทำให้มองเห็นชัดว่าแต่ละข้อนั้น
ก็เป็นอริยสัจจ์ ๔ ทั้งนั้น ทุกข้อไป จึงเป็นอริยสัจจ์ ๔ อย่างละเอียด
อย่างประณีต ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย
ฉะนั้น จึงได้ตรัสห้ามท่านพระอานนท์ที่กราบทูลว่า
ปฏิจจสมุปบาทนั้นปรากฏว่าง่ายแก่ท่าน พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามว่าอย่ากล่าวอย่างนั้น
เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ละเอียดสุขุมลุ่มลึก
แต่ว่าเมื่อไม่รู้ หรือตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็จะต้องยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร
ต่อเมื่อรู้ในอริยสัจจ์ที่เป็นปฏิจจสมุปบาท จึงจะทำทุกข์ให้สิ้นได้โดยสิ้นเชิง
ได้ตรัสไว้ด้วยพยัญชนะคือถ้อยคำที่ท่านแสดงไว้ รวมเข้าก็มีความดังที่กล่าวมานี้
เหตุและผลที่สัมพันธ์กัน
ในข้อนี้หากจะพิจารณาดูในสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลก
ทั้งโดยธรรมชาติ ทั้งโดยที่มนุษย์คิดขึ้นประดิษฐ์ขึ้น
ก็ย่อมจะเห็นว่ามีเหตุผลที่สัมพันธ์กัน ซึ่งเมื่อแสดงอย่างหยาบๆทั่วไป ก็เป็นอย่างหนึ่ง
แต่เมื่อจะแสดงอย่างละเอียด ก็ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น น้ำประปาที่ใช้กันอยู่ทุกวัน ทำไมจึงจะได้น้ำไหลออกมา ซึ่งเป็นตัวผล
ก็จะเห็นกันทั่วไปว่าต้องเปิดก๊อกน้ำ และเมื่อเปิดก๊อกน้ำ น้ำก็ไหลออกมา
เพราะฉะนั้นเมื่อดูเพียงเท่านี้ก็จะต้องว่า การเปิดก๊อกน้ำเป็นเหตุ น้ำไหลออกมาเป็นผล
แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด ก็ย่อมจะเห็นว่าเหตุผลที่มีน้ำประปาใช้นั้นมิใช่เพียงเท่านั้น
จะต้องมีเหตุผลอื่นๆสัมพันธ์กันอีกมากมายจึงจะมีน้ำประปาไหล เปิดก๊อกเข้าน้ำก็ไหลออกมา
ดังจะพึงเห็นได้ว่าจะต้องมีการวางท่อประปา จะต้องมีที่ทำน้ำประปา
และจะต้องมีเครื่องทำน้ำประปา เครื่องน้ำประปานั้นก็จะต้องมีสิ่งต่างๆมาประกอบ
เป็นเหตุเป็นผลที่สัมพันธ์กันอีกมากมาย และจะต้องมีน้ำมาเพื่อทำน้ำประปา
และน้ำที่จะมีมานั้น ก็จะต้องมีที่มาว่ามาจากไหน และจะเป็นน้ำขึ้นมาได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น หากจะคิดค้นหาเหตุผล ก็จะพบเหตุผลที่โยงกันมามากมาย
จนถึงเป็นน้ำประปาที่เมื่อเปิดก๊อกเข้าก็ไหลออกมา ดังที่ใช้กันอยู่
ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน
ก็จะเห็นว่าเมื่อเปิดสวิทช์ขึ้นไฟก็สว่าง เมื่อปิดสวิทช์ไฟก็ดับ
เห็นเพียงเท่านี้ก็ต้องว่าการเปิดสวิทช์นั้นเป็นเหตุ ไฟสว่างก็เป็นผล
ดับสวิทช์เป็นเหตุ ไฟดับก็เป็นผล ว่าเพียงเท่านี้
แต่เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่ายังมีเหตุผลอีกมากมาย กว่าจะเป็นไฟฟ้าขึ้นมาใช้ได้
เช่นจะต้องมีการวางสายไฟฟ้า จะต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีสิ่งที่มาประกอบเข้าต่างๆ
เป็นเหตุเป็นผลที่สัมพันธ์กันอีกมาก จนถึงเมื่อเปิดสวิทช์ไฟก็สว่าง ดับสวิทช์ไฟก็ดับ
ปิดสวิทช์ไฟก็ดับ ดังที่กล่าวมาแล้ว
เกิด แก่ ตาย
เพราะฉะนั้นในทางจิตใจที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อดูเพียงง่ายๆ ก็จะเห็นว่าเมื่อมีเกิด ก็มีแก่ มีตาย มีทุกข์มีโศกต่างๆ
ดังที่เห็นกันอยู่ ว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องแก่ต้องตาย
และในระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็ต้องมีทุกข์ต่างๆ มีโสกะปริเทวะเป็นต้น
และคนโดยมากนั้น ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงเกิด คำนึงแต่แค่แก่ พร้อมทั้งเจ็บและตาย
และพยายามที่จะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย โดยไม่ได้นึกถึงว่าจะต้องมีเกิดเป็นเหตุ
ทั้งที่ปราฏอยู่อย่างชัดเจน ว่ามาจากเกิดเป็นเบื้องต้น
แต่ว่าโดยมากก็ไม่นึกถึงว่าตัวชาติคือความเกิดนั้นเป็นเหตุ
จับเอาแค่จะแก้แก่ แก้เจ็บ แก้ตาย และแก้ทุกข์โศกต่างๆ
ต้องการที่จะไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆ คือหมายความว่าให้เกิดมานี่แหละ
ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์เห็นว่าจะไม่สามารถจะแก้ ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆได้
ก็คิดเอาว่าจะต้องมีภพหน้าชาติหน้า ต้องไปเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมเป็นต้น
ซึ่งจะดำรงอยู่ตลอดไปไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกเทวดาว่าอมร
ที่แปลว่าผู้ไม่ตาย คนโดยมากก็คิดแก้กันอยู่เพียงเท่านี้ แต่ก็ไม่สามารถจะแก้ให้สำเร็จได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ยังมิได้ทรงคิดจะเสด็จออกทรงผนวช
ในพุทธประวัติก็แสดงว่าพระราชกุมารพระโพธิสัตว์ ได้เสด็จประภาสทอดพระเนตรเห็นเทวทูต
คือคนแก่คนเจ็บคนตายและสมณะ ก็ทรงน้อมเข้ามาว่าพระองค์ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น
จึงทำให้ทรงหน่ายในทุกข์คือความแก่ความเจ็บความตาย ก็ยังไม่ไปถึงชาติ
และได้ทรงพอพระทัยในความเป็นสมณะ ทรงเห็นว่าความเป็นสมณะนั้นมีโอกาสมีช่องว่าง
ที่จะปฏิบัติเพื่อไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆได้
จึงมีพระหฤทัยน้อมไปในการบวช จนถึงได้เสด็จออกทรงผนวช
และทรงเข้าศึกษาในสำนักของคณาจารย์เจ้าลัทธิทั้งสอง
แม้ท่านคณาจารย์นั้นก็คิดแก้ในแค่นั้นอีกเหมือนกัน คือไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย
โดยที่จะต้องปฏิบัติทางฌานสมาบัติให้ไปเกิดเป็นพรหม
ก็จะอยู่เป็นพรหมตลอดไป ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ซึ่งพระโพธิสัตว์เมื่อทรงพิจารณาแล้ว
โดยที่ทรงปฏิบัติในฌานสมาบัติ เพื่อที่จะไปเกิดเป็นพรหมนั้น
ได้เหมือนอย่างท่านอาจารย์ทั้งสองแล้ว ก็ได้ทรงเห็นว่ายังไม่พ้นทุกข์
ในตอนนี้ก็แสดงว่า ได้ทรงพิจารณาเห็นเข้าไปถึงชาติคือความเกิด
ว่าเมื่อยังมีชาติคือความเกิดอยู่ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร
ไม่ว่าจะเกิดเป็นพรหม ก็จะต้องมีจุติคือความเคลื่อน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นความตาย
เพราะฉะนั้น จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง
จนได้ตรัสรู้ในปฏิจจสมุปบาทนี้ ที่ทรงแสดงสั่งสอน
คือทรงพิจารณาจับทุกข์ต่างๆ มีโสกะปริเทวะเป็นต้นสืบขึ้นไป
ก็ทรงจับมรณะคือความตาย จับชรา จับชาติคือความเกิด จับภพคือความเป็น
จับอุปาทาน จับตัณหา จับเวทนา จับผัสสะ จับอายตนะ จับนามรูป
จับวิญญาณ จับสังขาร จนถึงจับอวิชชาได้ จับอาสวะได้
วิชชาคือความรู้จึงบังเกิดแจ่มแจ้งขึ้น เป็นความตรัสรู้
เมื่อวิชชาบังเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับ เหมือนอย่างเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นความมืดก็ดับ
เมื่ออวิชชาดับ ก็ดับไปโดยลำดับ คือ สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ
เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะเป็นต้น ทุกข์ทั้งสิ้นก็ดับไป
เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่ได้ตรัสรู้
คือสัจจะความจริงที่ได้ตรัสรู้ สายเกิด สายดับ และทั้งสายเกิดสายดับ
จึงได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นในราตรี ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ดังที่ได้ยกมาแปลไว้แล้ว
ซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนา
สถิตย์อยู่เหมือนอย่างดวงอาทิตย์สถิตย์ส่องสว่างอยู่ในนภากาศ ดั่งนี้
มาร
( เริ่ม ๗๕/๒ ) มารนั้นแปลว่าผู้ฆ่าผู้ทำลาย
ในพุทธประวัติได้มีแสดงถึงมารที่แสดงว่าเป็นเทพชั้นหนึ่ง
อันเรียกว่าเทวบุตร และเมื่อเป็นมารก็เรียกว่าเทวบุตรมาร
เป็นเทพชั้นหนึ่งที่มาขัดขวางพระพุทธเจ้าตั้งแต่ในเบื้องต้น ตั้งแต่ป้องกันมิให้ทรงผนวช
และเมื่อทรงผนวชแล้วก็ยังมาตามป้องกันต่างๆ มิให้ตรัสรู้
จนถึงในราตรีที่ตรัสรู้นั้นมารก็ได้มาป้องกัน ในขั้นสุดท้ายก็ยังมาป้องกันอย่างเต็มที่
แต่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงชนะมารได้ จึงได้ตรัสรู้
นักธรรมะได้วิจารณ์กันว่า อาจจะถอดความได้เป็นธรรมะ
มารที่มาผจญพระพุทธเจ้านั้น ก็คือกิเลสมาร มารคือกิเลส ซึ่งมีอวิชชาเป็นหัวหน้า
และเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น
ทรงพิจารณาจับผลจับเหตุขึ้นไปจนถึงอวิชชาอาสวะ
วิชชาบังเกิดขึ้นแก่พระองค์อย่างเต็มที่ อวิชชาจึงดับ
ที่ได้กล่าวแล้วว่า เหมือนอย่างเมื่อแสงสว่างบังเกิดขึ้น
หรือความสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็ดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อวิชชาบังเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับ
ก็เป็นอันว่าได้ทรงกำจัดมารเสียได้ พร้อมทั้งเสนาก็คือบรรดากิเลสทั้งหลาย
ที่สืบเนื่องจากอวิชชา เช่นตัณหาอุปาทาน หรือกิเลสตัณหาทั้งหลาย
อย่างที่พูดกันว่ากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเป็นต้น คือบรรดากิเลสทั้งปวง
ซึ่งบังเกิดสืบเนื่องมาจากอวิชชา กิเลสทั้งปวงเหล่านั้นเรียกว่าเป็นเสนาของมาร
มารก็คืออวิชชา กิเลสที่เกิดสืบเนื่องจากอวิชชาก็คือเสนาของมารทั้งหมด
เพราะฉะนั้น เมื่อดับอวิชชาซึ่งเป็นตัวมารเสียได้ บรรดาเสนาก็พลอยดับไปหมด
มาร ๕
แต่ก็ได้มีแสดงมารไว้ว่ามี ๕ อย่าง คือ
ขันธ์มาร มารคือขันธ์ อันได้แก่นามรูปหรือสกนธกายอันนี้ กิเลสมาร มารคือกิเลส
อภิสังขารมาร มารคือความปรุงแต่งอันได้แก่กรรมที่ประกอบกระทำ
มัจจุมาร มารคือความตาย เทวบุตรมาร มารคือเทพบุตร
ขันธ์มารนั้นก็หมายถึงขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
ย่อเป็นนามรูปหรือกายใจอันนี้ ได้ชื่อว่าเป็นมารแก่ผู้ที่ยึดถือ
เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ และเมื่อมีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ขันธ์ก็เป็นมาร
คือเป็นเครื่องทำลายล้างมิให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความสิ้นทุกข์ได้ เพื่อดับกิเลสและกองทุกข์ได้
กิเลสมารมารคือกิเลส เป็นมารก็เพราะกิเลสเป็นผู้ฆ่าเป็นผู้ทำลายล้างต่างๆ
อภิสังขารมารมารคืออภิสังขารอันได้แก่กรรม ก็เพราะกรรมที่ประกอบกระทำนั้น
ย่อมสืบเนื่องมาจากกิเลส เพราะฉะนั้นจึงพลอยเป็นมารไปด้วย
เพราะกรรมนั้นเองก็เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องทำลายต่างๆได้
มัจจุมารมารคือความตาย ก็เพราะว่าความตายนั้นเป็นเครื่องทำลายชีวิต
ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติสืบต่อไปได้
เทวบุตรมารมารคือเทพบุตร ก็หมายถึงเทวดาที่เป็นมาร ดั่งที่กล่าวมาแล้ว
พระพุทธเจ้าได้ทรงกำจัดมารและเสนาได้หมดสิ้น
ทรงสถิตย์อยู่เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ สถิตย์ส่องสว่างอยู่ในนภากาศ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๔๓ สรุปสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
วิธีปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม ๔
ภาวนา การปฏิบัติ ๔ ประการ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๗๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๖/๑ ( File Tape 59 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๔๓ สรุปสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติใช้หลักปฏิบัติในสติปัฏฐานเป็นส่วนใหญ่
และพระสูตรที่แสดงสติปัฏฐานซึ่งเป็นพระสูตรใหญ่ ที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร
ก็ได้ประมวลข้อกรรมฐานไว้เป็นอันมาก ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการอบรมกรรมฐานในสำนักนี้
และสำหรับในพรรษกาลที่แล้วมาจนถึงบัดนี้ ก็ได้ถือหลักสติปัฏฐานดั่งกล่าว
แต่ว่าได้แสดงแทรกธรรมะจากพระสูตรต่างๆ ได้อธิบายธรรมะจากพระสูตรต่างๆนั้น
มิได้แสดงอธิบายสติปัฏฐาน ๔ โดยตรง โดยพิสดาร เพราะว่าได้เคยอธิบายไว้โดยพิสดาร
และได้พิมพ์เป็นเล่มไว้ ผู้ต้องการทราบอธิบายในสติปัฏฐานโดยตรง ก็อาจที่จะหาอ่านได้
และแม้ว่าธรรมะที่แสดงอธิบายแทรกเข้ามานั้น จะเป็นธรรมะจากพระสูตรอื่น
แต่ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้น ดังเช่นที่ได้ยกเอาข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
จากสัมมาทิฏฐิสูตรที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดง มาอธิบายติดต่อกันมากครั้ง
จนจบกระแสความในสัมมาทิฏฐิสูตรนั้น ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเช่นเดียวกัน
เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ก็ได้แสดงมรรคมีองค์ ๘ ในหมวดอริยสัจจ์ ๔
มรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อแรก
เพราะฉะนั้น เมื่อจับแสดงสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นอันว่าได้แสดงข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในวันนี้จะได้แสดงสรุปสติปัฏฐาน ๔ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในพระสูตรหนึ่ง
แต่ก่อนที่จะแสดง ก็ขอกล่าวให้ทราบว่า ข้อที่แสดงจากพระสูตรที่กล่าวนี้
มิได้ยกข้อต่างๆตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งหมด แต่เลือกหยิบยกมาทรงแสดง
และทรงแสดงในทางปัญญา แต่ก็พึงทราบว่าแม้ในทางสมาธิก็ย่อมรวมอยู่ในแนวเดียวกัน
สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ที่จะแสดงในวันนี้ จึงอาจจะยากไปสำหรับผู้ที่มาอยู่ใหม่ ผู้ที่เข้ามาใหม่
แต่ว่าให้ถือว่าเป็นการแสดงสรุปในคราวสุดท้ายของพรรษกาลที่แล้ว
เมื่อเริ่มแสดงใหม่เมื่อเข้าพรรษานี้แล้ว จึงจะได้แสดงตั้งต้น ซึ่งเป็นข้อที่จะฟังได้ง่ายขึ้น
สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือตั้งสติ
คือความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้รวบรวมข้อที่พึงพิจารณาในกายไว้ ก็คือ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก
ข้อว่าด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัว
ในความเยื้องกรายอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ และอิริยาบถประกอบทั้งหลาย
ข้อว่าด้วยกายนี้จำแนกออกเป็นอาการทั้งหลายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
ข้อว่าด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ข้อว่าด้วยป่าช้า ๙ คือพิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
แยกออกเป็น ๙ ข้อ ตั้งต้นแต่ศพที่ตายแล้ววันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นไป
จนถึงเป็นกระดูกผุป่น
ตั้งสติพิจารณาเวทนา ก็คือตั้งสติกำหนดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์
หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่เป็นสามิสคือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อให้เกิดขึ้น
ทั้งที่เป็นนิรามิสคือไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ หรือเป็นเครื่องนำให้เกิดขึ้น
ตั้งพิจารณาจิต ก็คือตั้งสติกำหนดดูจิตใจนี้
ที่มีราคะความติดใจยินดี หรือปราศจากราคะความติดใจยินดี
ที่มีโทสะหรือปราศจากโมสะ ที่มีโมหะความหลงหรือปราศจากโมหะความหลง เป็นต้น
ตั้งสติพิจารณาธรรม ก็คือตั้งจิตกำหนดดู ธรรมะทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิต
ตั้งต้นแต่กำหนดดูนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิต บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต
มีกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม พยาบาทความมุ่งร้ายปองร้ายเป็นต้น
กำหนดดูขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
กำหนดดูความเกิดของขันธ์ ๕ ความดับของขันธ์ ๕
ตั้งสติกำหนดดูอายตนะภายในทั้ง ๖ ที่รับอายตนะภายนอกทั้ง ๖
อายตนะภายในภายนอกที่รับกัน ก็คือตากับรูปที่ประจวบกัน
หูกับเสียงที่ประจวบกัน จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ลิ้นกับรสที่ประจวบกัน
กายและสิ่งถูกต้องกายที่ประจวบกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกัน
เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ และก็ให้รู้จักความเกิดของสัญโญชน์ ความดับของสัญโญชน์
และสัญโญชน์ที่ดับแล้วจะไม่เกิดขึ้น
ตั้งสติกำหนดดูโพชฌงค์ทั้ง ๗ มีสติโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสติ
ธัมวิจยโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ คือธรรมวิจัยความเลือกเฟ้นธรรมเป็นต้น
ตั้งสติกำหนดดูอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ก็รวมเป็นตั้งสติในกายในเวทนาในจิตในธรรม ที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
วิธีปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม
และได้ตรัสสรุปไว้ในพระสูตรอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งได้ตรัสอธิบายวิธีปฏิบัติตั้งสติ ในกายในเวทนาในจิตในธรรม
รวมความเข้ามาว่า ให้ปฏิบัติตั้งสติ คือความระลึกได้ ความกำหนดได้
ในกายก็คือใน ปฐวีกาย กายที่เป็นส่วนดิน อาโปกาย กายที่เป็นส่วนน้ำ
เตโชกาย กายที่เป็นส่วนไฟ วาโยกาย กายที่เป็นส่วนลม
เกสากาย กายที่เป็นส่วนผม โลมากาย กายที่เป็นขน ฉวิกาย กายที่เป็นส่วนผิว
จัมมะกาย กายที่เป็นส่วนหนัง มังสะกาย ที่เป็นส่วนเนื้อ นหารูกาย กายที่เป็นส่วนเส้นเอ็น
อัฏฐิกาย ที่เป็นส่วนกระดูก อัฏฐิมิญชะ กายกายที่เป็นส่วนเยื่อในกระดูก
ตั้งสติกำหนดเวทนาก็คือในสุขเวทนาเวทนาความรู้ที่เป็นสุข
ทุกขเวทนาความรู้ที่เป็นทุกข์ อทุกขมสุขเวทนาเวทนาที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์
ตั้งสติกำหนดเวทนาที่เกิดทางสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู
เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น
เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางมโนคือใจ
( เริ่ม ๗๖/๑ ) ตั้งสติกำหนดจิตใจ ก็คือกำหนดดูจิตที่มีราคะคือความติดใจยินดี
หรือที่ปราศจากราคะคือความติดใจยินดี จิตที่มีโทสะหรือจิตที่ปราศจากโทสะ
จิตที่มีโมหะหรือจิตที่ปราศจากโมหะ จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่
จิตที่ถึงความใหญ่ด้วยเมตตาภาวนาสมาธิเป็นต้น หรือจิตที่ไม่ถึงความใหญ่
จิตที่ยิ่งคือยิ่งด้วยสมาธิปัญญาวิมุติหลุดพ้น หรือจิตที่ไม่ยิ่ง
จิตที่มีสมาธิหรือจิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่หลุดพ้นหรือจิตที่ไม่หลุดพ้น
ตั้งสติกำหนดดูธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือที่เป็นกลางๆต่างๆ
อันนอกไปจากข้อที่กล่าวแล้วในกายในเวทนาและในจิตทั้ง ๓ ข้างต้น
และได้ตรัสทางปฏิบัติเพื่ออะไร หรือโดยวิธีอย่างไรไว้ว่า
ในการปฏิบัติตั้งสติดั่งกล่าวนั้น ก็ให้ปฏิบัติพิจารณากายเวทนาจิตธรรมทั้งหมด
โดยเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ มิใช่โดยนิจจะคือเป็นของเที่ยง
โดยเป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่ตั้งอยู่คงที่ มิใช่โดยเป็นสุข
โดยเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน มิใช่เป็นเรา มิใช่เป็นของเรา
ไม่ใช่โดยอัตตาคือโดยเป็นตัวตน เป็นตัวเราเป็นของเรา
มีความหน่ายมิใช่มีความเพลิดเพลิน มีความคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ
มีความดับคือดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ มิใช่ก่อตัณหา
มีความสละวางมิใช่มีความยึดถือ
การปฏิบัติตั้งสติก็โดยวิธีดังที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นว่าไม่เที่ยงต้องเกิดดับ
เป็นทุกข์ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่ตัวเราของเรา
และเพื่อหน่ายไม่เพลิดเพลิน เพื่อคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ
เพื่อดับตัณหาดับทุกขิ์ มิใช่ก่อให้เกิดตัณหาก่อทุกข์ เพื่อปล่อยวางมิใช่เพื่อยึดถือ
ภาวนา การปฏิบัติ ๔ ประการ
และได้ตรัสสอนถึงวิธีปฏิบัติ
ว่าการปฏิบัตินั้นเรียกว่าภาวนา ที่แปลว่าทำให้เกิดขึ้นทำให้มีขึ้น
และภาวนานั้นจะทำอย่างไร ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้อีกว่า
ภาวนาอันหมายถึงปฏิบัตินั้น ก็คือปฏิบัติทำสติความระลึกได้ หรือความกำหนด
ทำญาณความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญาให้บังเกิดขึ้น ให้มีขึ้น ทันในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
โดยไม่ให้พลาด ไม่ให้ล่วงเลยเผลอเรอในธรรมะที่บังเกิดขึ้นในเวลานั้น
ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อตั้งจิตกำหนดดูกาย เช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็หมายถึงว่ากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่บังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
ดั่งเช่นกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่บังเกิดยู่ในบัดนี้
หายใจเข้าในบัดนี้ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ หายใจออกในบัดนี้ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้
มิใช่ว่าเผลอ หายใจเข้าหายใจออกอยู่ในบัดนี้ แต่ว่าจิตมิได้กำหนด หรือกำหนดไม่ทัน
จึงไม่มีสติไม่มีญาณอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้น เพราะว่าเผลอสติ
หรือว่าจิตไม่ตั้งกำหนด ไม่ตั้งเพื่อที่จะรู้
ฉะนั้น หน้าที่ของภาวนาคือการปฏิบัติประการแรก ก็คือกำหนดให้มีสติให้มีปัญญาหรือญาณ
กำหนดทันต่อธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๑
และให้รวมอินทรีย์ทั้งหลายมาปฏิบัติกิจคือหน้าที่พร้อมกัน ได้แก่รวมตาหูจมูกลิ้นกาย
และมนะคือใจ ให้มาปฏิบัติหน้าที่กำหนด อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
สุดแต่ว่าจะยกเอาข้อไหน กายข้อไหน เวทนาข้อไหน จิตข้อไหน ธรรมะข้อไหน ขึ้นมา
ก็ให้ทั้งตาทั้งหูทั้งจมูกทั้งลิ้นทั้งกายทั้งมนะคือใจ มาปฏิบัติหน้าที่กำหนดรู้พร้อมกัน
ไม่ใช่ว่าทั้ง ๖ นี้จะแยกย้ายกันไปทำงานทำหน้าที่ต่างๆกัน
ตาไปดูเสียทางหนึ่ง หูไปฟังเสียทางหนึ่ง จมูกลิ้นกายมนะคือใจไปเสียทางหนึ่งๆ
ต้องรวมกัน กล่าวย่อก็คือว่าต้องรวมกายใจนี้ทั้งหมดเข้ามาเป็นอันเดียวกัน
นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๒
และนำความเพียรพยายามปฏิบัติ โดยเริ่มดำเนินและก้าวหน้าไป จนบรรลุถึงเป้าหมาย
บรรลุถึงความสำเร็จ เป็นสติเป็นญาณ กำหนดรู้อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่กำหนดนั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาเป็นประการที่ ๓
และใช้ความเพียรปฏิบัติส้องเสพอยู่ในข้อที่ปฏิบัตินี้เนืองๆเสมอๆ ให้สม่ำเสมอไม่ทอดทิ้ง
และความส้องเสพนี้ก็หมายความว่า ให้รับเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ
เหมือนอย่างบริโภคอาหาร ส้องเสพอาหารบริโภคอาหาร ก็ให้นำเข้าปาก
เคี้ยวกลืนเข้าไปให้เข้าถึงในท้อง เพื่อย่อยไปเลี้ยงร่างกาย
ในการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องรับเอาข้อที่ปฏิบัติ กรรมฐานที่ปฏิบัติให้เข้าไปถึงใจ
ให้ตั้งอยู่ในใจ ให้แผ่สร้านไปในใจ ดังเช่นที่ให้ปรากฏเป็นปีติเป็นสุขขึ้นในใจ
เหมือนอย่างบริโภคอาหารเข้าไปย่อยเลี้ยงร่างกาย ให้ร่างกายอิ่มเอิบ
ก็ส้องเสพเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ใจอิ่มเอิบ เป็นปีติเป็นสุขขึ้น เป็นผลที่ได้รับ
ดั่งนี้เป็นหน้าของภาวนาเป็นประการที่ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้
ก็เป็นอันว่าจบสรุปในสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*