ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป058

สัมมาทิฏฐิ ๔๐ อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

ชาติคือความเกิด ๓

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับ ๕

เห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๔/๑ ( File Tape 58 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๔๐ อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ

จะได้แสดงต่อไปในข้อว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เกิดภพ

ภพนั้นก็คือความเป็นความมี อันได้แก่กามภพ รูปภพ อรูปภพ

เพราะมีความยึดถือซึ่งเป็นอุปาทาน จึงมีภพความเป็นความมี

ภพอย่างละเอียดก็คืออัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น

ยึดถือในสิ่งในสิ่งใด ก็เกิดเป็นความมีความเป็น คือเป็นเราสืบมาถึงเป็นของเราขึ้นในสิ่งนั้น

ยึดอยู่ในกาม ก็เป็นเราขึ้นในกาม ก็เป็นกามภพ ยึดในรูป ก็เป็นเราขึ้นในรูป เป็นรูปภพ

ยึดในอรูปก็เป็นเราขึ้นในอรูป เป็นอรูปภพ

เพราะฉะนั้น เมื่อมีอุปาทานคือความยึดถือจึงมีภพ และเมื่อมีภพจึงมีชาติคือความเกิด

เพราะว่าเมื่อมีเราในกามก็ดี ในรูปก็ดี ในอรูปก็ดี ก็มีชาติคือความเกิดขึ้นแห่งเรา

อันชาติคือความเกิดขึ้นนั้น เมื่อมีเป็นชาติขึ้นแล้ว ก็ต้องมีชรามีมรณะ

มีโสกะความโศก ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ เป็นต้น

เป็นอันว่าทุกข์ทั้งหมดก็เกิดขึ้น

ชาติคือความเกิด

ตรงนี้ได้มีพระพุทธาธิบาย ขยายชาติคือความเกิดออกไป

ตรงที่ทรงต้องการที่จะชี้ว่า เมื่อมีชาติคือความเกิด ก็มีชรามรณะ

หากไม่มีชาติคือความเกิด ก็ไม่มีชรามรณะ ดังที่ได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า

ชาติคือความเกิด คือความเกิดของมนุษย์ ความเกิดของเทพโดยความเป็นเทพ

ความเกิดของคนธรรพ์โดยความเป็นคนธรรพ์ ความเกิดของยักษ์โดยความเป็นยักษ์

ความเกิดของภูติโดยความเป็นภูติ ความเกิดของมนุษย์โดยความเป็นมนุษย์

ความเกิดของสัตว์สี่เท้าโดยความเป็นสัตว์สี่เท้า ความเกิดของนกโดยความเป็นนก

ความเกิดของงูสัตว์เลื้อยคลาน โดยความเป็นงูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน

หากว่าไม่มีความเกิดแห่งเทพเป็นต้นเหล่านี้ขึ้น

จะมีชรามรณะหรือไม่ ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลว่าไม่มี

ในเมื่อมีความเกิดแห่งเทพเป็นต้นดังกล่าว จึงมีชรามรณะใช่หรือไม่

พระอานนท์ก็กราบทูลว่าใช่ ดั่งนี้ 

ตามที่อธิบายมาตั้งแต่อาสวะอวิชชา จนถึงชรามรณะนี้

เป็นการแสดงอธิบายเพื่อให้เชื่อมต่อ ว่าเป็นปัจจัยของกันมาโดยลำดับอย่างไร

ในข้อสัมมาทิฏฐินี้ ท่านพระสารีบุตรจับแสดงไปทีละข้อ เป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทีละข้อ

คือให้รู้จักชรามรณะ ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งชรามรณะคือชาติ

ให้รู้จักความดับชรามรณะคือดับชาติ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ

คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักชาติคือความเกิด ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งชาติคือภพ

ให้รู้จักความดับชาติก็คือดับภพ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักภพ ให้รู้จักเหตุเกิดภพ คืออุปาทาน ให้รู้จักความดับภพก็คือดับอุปาทาน

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักอุปาทาน ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทานก็คือตัณหา

ให้รู้จักความดับอุปาทานก็คือดับตัณหา

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทานก็คือมรรคมีองค์ ๘

( เริ่ม ๗๔/๑ ) ท่านแสดงให้รู้จักตัณหา ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งตัณหาก็คือเวทนา

ให้รู้จักความดับตัณหาก็คือดับเวทนา

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหาก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักเวทนา ท่านแสดงให้รู้จักเหตุเกิดเวทนาก็คือผัสสะ

ท่านแสดงให้รู้จักความดับเวทนาก็คือดับผัสสะ

ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนาก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักผัสสะ ให้รู้จักความเกิดเหตุเกิดแห่งผัสสะก็คืออายตนะทั้ง ๖

ท่านแสดงให้รู้จักความดับผัสสะ ก็คือดับอายตนะทั้ง ๖

ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักอายตนะทั้ง ๖ ให้รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือนามรูป

ให้รู้จักความดับแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือดับนามรูป

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักนามรูป ให้รู้จักเหตุเกิดนามรูปก็คือวิญญาณ

ให้รู้จักความดับนามรูปก็คือดับวิญญาณ

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักวิญญาณ ให้รู้จักเหตุเกิดวิญญาณก็คือสังขาร

ให้รู้จักความดับวิญญาณก็คือดับสังขาร

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักสังขาร ให้รู้จักเหตุเกิดสังขารก็คืออวิชชา

ให้รู้จักความดับสังขารก็คือดับอวิชชา

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขารก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักอวิชชา ท่านแสดงให้รู้จักเหตุเกิดอวิชชาก็คืออาสวะ

ท่านแสดงให้รู้จักความดับอวิชชาก็คือดับอาสวะ

ท่านแสดงให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ท่านแสดงให้รู้จักอาสวะ ให้รู้จักเหตุเกิดอาสวะก็คืออวิชชา ก็กลับย้อนมาอวิชชาอีก

ให้รู้จักความดับอาสวะก็คือดับอวิชชา

ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ก็เป็นอันว่ายุติลงแค่อวิชชาอาสวะ หรือว่าอาสวะอวิชชา

อันนับว่าเป็นต้นเงื่อนที่ได้ทรงค้นพบได้ตรัสรู้ และได้ทรงนำมาแสดงชี้แจงจำแนก

และก็เป็นอริยสัจจ์ไปทุกข้อ ดังจะพึงเห็นได้ว่าตามที่ได้สรุปมานี้

แต่ละข้อก็เป็นสี่ๆทั้งนั้น คือเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกข้อ

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับ

และทางปฏิบัติให้ถึงความดับของทุกข้อนั้น ก็ยืนตัวคือมรรคมีองค์ ๘

อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือเห็นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ก็คือดำริในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั่นแหละ

แต่ท่านแสดงเป็นความดำริออก ดำริที่ไม่ปองร้าย ดำริที่ไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ

ได้มีพระพุทธาธิบายในมรรคมีองค์ ๘ นี้ โดยตั้งข้อสัมมาทิฏฐินำ

คือเมื่อมีความเห็นชอบนำก็ย่อมมีความดำริชอบ เมื่อมีความดำริชอบก็ย่อมมีวาจาชอบ

เมื่อมีวาจาชอบก็ย่อมมีการงานชอบ เมื่อมีการงานชอบก็ย่อมมีการเลี้ยงชีวิตชอบ

เมื่อมีการเลี้ยงชีวิตชอบก็ย่อมมีความเพียรชอบ เมื่อมีความเพียรชอบก็ย่อมมีสติชอบ

เมื่อมีสติชอบก็ย่อมมีสมาธิชอบ

และได้มีพระพุทธาธิบายต่อไปอีกว่า

เมื่อมีสมาธิชอบก็ย่อมมีสัมมาญาณะคือความหยั่งรู้ชอบ

เมื่อมีความหยั่งรู้ชอบก็ย่อมมีสัมมาวิมุติคือพ้นชอบ ดั่งนี้

มรรคมีองค์ ๘นี้ย่อมเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติเพื่อดับแห่งทุกข้อ

และเมื่อพิจารณาดูตามพระเถราธิบายที่ท่านแจกข้อธรรม

ในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จับแต่ข้อชรามรณะ

ไปจนถึงอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา ก็แยกเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกข้อดังที่กล่าว

และก็กล่าวได้ว่า ก็แบ่งออกเป็นสายเกิด และแบ่งออกเป็นสายดับ

หากจะพูดรวบรัดเข้ามาว่า เป็นสายเกิดแห่งอะไร ก็กล่าวได้ว่าเป็นสายเกิดแห่งทุกข์

เพราะว่าในสายเกิดนั้นก็มาสุดลงที่ชรามรณะ แก่ ตาย

และโสกะปริเทวะความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจเป็นต้น รวมเข้าก็คือทุกๆอย่าง

ต้นทางของสายเกิดก็เพราะอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา

ก็มาสุดลงที่กองทุกข์ทั้งหมด มีชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

เพราะฉะนั้น จึงสรุปเข้าว่าเป็นสายเกิดทุกข์

ส่วนสายดับนั้น กล่าวอย่างรวบรัดเข้ามาว่าดับอะไร ก็กล่าวได้ว่าดับทุกข์

เพราะว่าปลายทางก็คือดับทุกข์ ชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ดับไปหมด

เนื่องจากดับมาจากต้นทาง คืออวิชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชา ดับ

ทุกอย่างก็ดับมาตลอดสาย จนถึงดับกองทุกข์ทั้งหมด มีชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าบรรดาข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นทุกข้อ

คืออาสวะอวิชชา หรืออวิชชาอาสวะ อาสวะ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป

อายตนะ ๖ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งหมด

เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

คือต้องเกิดดับ คือเกิดได้ ดับได้ สิ่งที่เกิดดับได้นี้รวมเข้าในคำว่าทุกข์ทั้งหมด

เพราะว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ทุกข์จึงมิได้หมายความเฉพาะทุกขเวทนาเท่านั้น

จึงได้มีแสดงถึงคำว่าทุกข์เอาไว้ว่า ทุกขทุกขะ ทุกข์โดยความเป็นทุกข์

สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารสิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหลาย

วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่มีลักษณะเป็นทุกข์ โดยเป็นทุกข์

ดังที่เรียกกันว่าทุกขทุกข์ และสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด

และสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด รวมเข้าในคำว่าทุกข์นี้ทั้งนั้น

แม้ตัวเวทนาเอง สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะว่าต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ

ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ

อุปเบกขาเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดดับ

เพราะฉะนั้น การเห็นทุกข์นั้นจึงมิใช่หมายความว่า เห็นในขณะที่มีทุกขเวทนา

เช่นในเวลาที่เหน็ดเหนื่อย หรือในเวลาที่ต้องอยู่ในที่ร้อนไปหนาวไป

ในเวลาที่ต้องมีทุกข์เวทนาต่างๆจากอาพาธป่วยไข้

การเห็นทุกข์ดั่งนี้ ทุกๆคนเมื่อประสบทุกขเวทนาก็ต้องเห็นทั้งนั้น

คือต้องเสวยทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็ต้องเห็นทุกข์ดั่งนั้นทั้งนั้น

แต่ว่าเมื่อเห็นก็ยังจมอยู่ในกองทุกข์ ยังต้องตกอยู่ในทุกข์ พรากจิตออกมาไม่ได้

เพราะฉะนั้นทุกข์อย่างที่เห็นๆกันนี้ ผู้เห็นจึงไม่ชื่อว่าเห็นทุกข์

เห็นทุกข์นั้นจะต้องเห็นว่า แม้ทุกขเวทนาที่กำลังประสบอยู่ก็เป็นทุกข์

คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องเกิดต้องดับ

แม้ในเวลาที่ประสบสุขเวทนาต่างๆ มีความสุขสบายต่างๆ

ก็ต้องเห็นว่าสุขที่กำลังประสบอยู่นั้นเป็นตัวทุกข์

คือเป็นสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดดับ

แม้ในขณะที่กำลังประสบหรือเสวยอุเบกขาเวทนา เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็ต้องรู้จักว่านั่นเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งก็ต้องเป็นตัวทุกข์

คือเป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

เห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์

จะต้องเห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ในเวทนา เห็นทุกข์ในรูป

เห็นทุกข์ในเวทนา เห็นทุกข์ในสัญญา เห็นทุกข์ในสังขาร เห็นทุกข์ในวิญญาณ

ทั้งหมดว่าเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดต้องดับ

ชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

ชาติก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ภพก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

อุปาทานก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ตัณหาก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

เวทนาก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว ผัสสะก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

อายตนะทั้ง ๖ ก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว นามรูปก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

วิญญาณก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว สังขารก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว

แม้อวิชชาอาสวะก็ต้องเป็นตัวทุกข์ดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ คือดับได้

ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ ที่สืบเนื่องกันไปเป็นสาย เป็นทุกข์ทั้งหมด

คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับหมด ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหมด

เพราะฉะนั้น เห็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าเห็นทุกข์

และเห็นว่าบรรดาข้อธรรมะเหล่านี้ เป็นสมุทัยของกันและกัน

ดังที่ได้แสดงมาแล้ว อาสวะเป็นสมุทัยของอวิชชา อวิชชาเป็นสมุทัยของอาสวะ

อาสวะเป็นสมุทัยของอวิชชา อวิชชาเป็นสมุทัยของสังขารเป็นต้น

ลงมาจนถึงชาติเป็นสมุทัยของชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

เป็นสมุทัยของกันและกัน เป็นลูกโซ่มาโดยลำดับ ดั่งนี้ เป็นข้อสมุทัย

และเห็นความดับที่ต้องดับสืบต่อกันมาเป็นสาย จากอวิชชาอาสวะ

อาสวะอวิชชาลงมา จนถึงดับชาติดับชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

นั่นก็เป็นเห็นนิโรธคือความดับทุกข์

และเห็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือมรรคมีองค์ ๘

ว่าเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบเป็นข้อสำคัญ

โดยที่มีมรรคทั้งหมดสนับสนุน คือจะต้องมีทั้งอีก ๗ ข้อมารวมเป็นมรรคสมังคี

ความพร้อมเพรียงกันขององค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบจึงจะมีกำลังแก่กล้า

มองเห็นสัจจะคือความจริงในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เหล่านี้ ที่จำแนกไปโดยลำดับตลอดสาย

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้สัมมาญาณะความหยั่งรู้ชอบ

สัมมาวิมุติความหลุดพ้นชอบในที่สุด

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมะในปฏิจจสมุปบาทนี้

สืบต่อๆจากที่ท่านได้แสดงถึงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ คือเห็นชอบในกรรม

พร้อมทั้งเหตุของกรรม ซึ่งท่านได้แสดงว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ

ก็ได้แก่ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ

รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

รู้จักอาหารทั้ง ๔ อันได้แก่รู้จักว่าอาหารคือคำข้าว ซึ่งเป็นของหยาบเป็นอาหารของกาย

รู้จักว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา รู้จักมโนสัญเจตนาคือความจงใจ ว่าเป็นอาหารของกรรม

และรู้จักวิญญาณว่าเป็นอาหารของนามรูป ดั่งนี้

แล้วท่านจึงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือให้รู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์

รู้จักทุกข์นิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

แล้วจึงขยายออกมาเป็นข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาท โดยแยกเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกๆข้อ

แต่ว่าข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาทนี้

ท่านพระอานนท์ได้เคยกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ปรากฏแก่ท่านว่าเหมือนเป็นของง่าย

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านพระอานนท์อย่ากล่าวเช่นนั้น

ธรรมะในปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ลุ่มลึก ซึ่งเห็นได้ยากรู้ได้ยาก

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงได้แสดงโดยปริยายที่เข้าใจกันง่าย

ทรงแสดงทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ก็ทรงชี้ให้รู้จักสภาวะทุกข์ คือชาติชรามรณะ

ให้รู้จักปกิณกะทุกข์ ก็คือโสกะปริเทวะเป็นต้น ซึ่งรวบเข้าก็เป็นประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก สรุปลงเป็นหนึ่งก็คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง

และโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นตัวทุกข์ ก็คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

และทรงแสดงทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้เอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ทรงแสดงทุกขนิโรธความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหา

ทรงแสดงมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว

ซึ่งเป็นปริยายที่เข้าใจได้ง่าย

แต่ในทางพระสัพพัญญุตญาณที่ตรัสรู้นั้น ได้ตรัสแสดงไว้

ว่าได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น คือได้ตรัสรู้อย่างละเอียด

และเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ยังได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้

ทั้งโดยสมุทัยวาร วาระเกิด นิโรธวาร วาระดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๔๑ อริยสัจจ์โดยพิสดาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่ง ๒

อาลัยของจิต ๓

อานิสงส์ของสมาธิ ๔

สมาธิสุข ๕

ความรู้ที่เป็นตัวปัญญา ๖

จับเหตุให้ตรงกับผล ๗

สมาธิเพื่อปัญญา ๘

อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๔/๒ ( File Tape 58 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๔๑ อริยสัจจ์โดยพิสดาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้บุคคลปฏิบัติอบรมจิต

อันเรียกว่าจิตตภาวนา หรือเรียกว่ากรรมฐาน อันแปลว่าการงานทางจิตที่ตั้งขึ้น

คือที่ปฏิบัติ อันอาศัยข้อที่พึงถือเป็นที่ตั้งของการปฏิบัติ

และก็ได้ตรัสแสดงถึงจิตนี้ว่า ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก

แต่ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างนายช่างศร ทำลูกศรให้ตรง

หรือว่าดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น ดั่งนี้ 

จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่ง

และข้อที่จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ถ้าไม่กำหนดก็อาจจะยังไม่ปรากฏแก่ความรู้

( เริ่ม ๗๔/๒ ) เพราะเป็นปรกติของทุกคนย่อมมีจิตใจไม่อยู่ที่

คิดไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เป็นปรกติ

และก็เป็นเรื่องที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ อันทำใจให้อาลัย อันหน่วงใจไปให้คิดถึง

หรือว่าคิดไปถึงเรื่องที่ขัดใจ คิดไปถึงเรื่องที่หลงสยบติดอยู่ ย่อมไปดั่งนี้อยู่เป็นประจำ

จนถึงไม่สำนึกรู้ในจิตของตนเอง ว่ามีอาการดั่งที่ตรัสสอน

อาลัยของจิต 

แต่เมื่อได้มาจับทำกรรมฐาน เช่น ตั้งจิตกำหนดในสติปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ

คือกายเวทนาจิตและธรรม ข้อใดข้อหนึ่ง เช่น กำหนดในข้ออานาปานสติ

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้จิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ในข้อที่ตั้งใจจะให้จิตตั้งอยู่นี้

จิตจะออกไปสู่อารมณ์คือเรื่องที่เป็นที่อาลัยของจิต คือที่ผูกจิต

ทั้งเป็นเรื่องที่น่ารัก ทั้งเป็นเรื่องที่น่าชัง ต่างๆ

เมื่อมีสตินำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่

อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เช่นตั้งไว้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

เมื่อลมหายใจเข้า ลมหายใจก็ย่อมจะมากระทบที่จุดนี้

กำหนดจิตให้มีความรู้ ในลมที่เป็นตัวโผฏฐัพพะคือที่มาถูกต้องกายส่วนนี้

ทำความรู้ว่า นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ ต้องนำกลับเข้ามาบ่อยๆดั่งกล่าวนั้น

ก็เพราะจิตยังไม่ได้ความสุข ยังไม่ได้ความเพลิดเพลินในสมาธิ

ยังติดอยู่ ยังเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนาทั้งหลาย อันเป็นเหตุดึงจิตออกไป

แต่ว่าเมื่อทำบ่อยๆ ได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจ

อันเกิดจากสมาธิ คือว่าจิตรวมเข้ามาตั้งได้ และทำให้ได้ปีติได้สุข

ก็ย่อมจะทำให้จิตนี้เริ่มตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ เพราะว่าได้ความสุข

ไม่ได้ความอึดอัด เดือดร้อนรำคาญ

อานิสงส์ของสมาธิ 

ฉะนั้น สมาธินี้จึงมีอานิสงส์ผล ทำให้ได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน

สามารถที่จะถอนจิตออกจากอารมณ์ภายนอก อันทำให้วุ่นวายได้

แม้ว่าจะชั่วขณะ ที่เร็วหรือช้า สุดแต่ความเพียรที่ปฏิบัติ ถ้าไม่ทิ้งความเพียรที่ปฏิบัติแล้ว

ก็จะทำให้สามารถปฏิบัติรักษาจิต อยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้นาน

ความที่พรากจิตออกจากอารมณ์ภายนอกได้ มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิที่เป็นภายในดั่งนี้

ก็เป็นวิธีรำงับความทุกข์ต่างๆ อันเกิดจากอารมณ์ภายนอกได้ด้วย

ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะพรากจิตออกมาได้ หากมีความทุกข์เพราะอารมณ์ภายนอก

ก็ย่อมจะต้องเป็นทุกข์อยู่นาน น้อยหรือมาก สุดแต่ว่าความผูกพันของจิต

อันเรียกว่าสัญโญชน์นั้น มีน้อยหรือมากเพียงไร

ก็เพราะว่า อันอารมณ์ภายนอกต่างๆนั้น เมื่อเป็น ปิยะสัมปโยค

คือความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้ได้ความสุขความสำราญ

หากเป็น ปิยะวิปโยค ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ก็ย่อมจะทำให้เกิดความทุกข์โศกต่างๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อมิได้ปฏิบัติทางสมาธิ จึงยากที่จะพรากจิตออกได้

ทั้งจากความสุขความเพลิดเพลิน ทั้งจากความทุกข์โศก

แต่ว่าเมื่อได้ความสุขความเพลิดเพลิน ก็ย่อมจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อน

เป็นแต่เพียงว่ารักษาจิตไว้มิให้มัวเมาเพลิดเพลินเกินไปเท่านั้น

แต่ว่าจะได้ความสุขความเพลิดเพลินสมปรารถนาต้องการไปทุกเรื่องทุกราว ก็หาไม่

จะต้องพบกับความไม่สมปรารถนาควบคู่กันไปด้วย ตามธรรมดาของโลก

ซึ่งจะต้องมีทั้งส่วนที่สมปรารถนา ทั้งส่วนที่ไม่สมปรารถนา

คือทั้งส่วนที่ได้มา และทั้งส่วนที่จะต้องเสียไป เป็นไปตามคติธรรมดาของโลก

ของสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย และเป็นไปตามคติของกรรม ที่ได้กระทำไว้

เพราะฉะนั้น สุขกับทุกข์จึงมีคู่กันอยู่ในโลกเป็นธรรมดา ซึ่งทุกคนต้องประสบ

แต่ผู้ที่สามารถปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งอยู่ได้ในสมาธิ

รู้จักที่จะพรากจิตออกได้จากอารมณ์ภายนอก

ย่อมสามารถที่จะหนีทุกข์มาอยู่ในสมาธิ อันทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ

แต่คนที่ไม่สามารถทำสมาธิได้ ย่อมไม่สามารถจะหลีกหนีจากทุกข์ได้

ต้องเผชิญกับความทุกข์อยู่ร่ำไป 

สมาธิสุข

ฉะนั้น ความที่ทำสติความระลึกได้ พร้อมทั้งปัญญาคือความรู้ดั่งนี้

มาหัดทำสมาธิ พรากจิตจากอารมณ์ภายนอก

อันทำให้เกิดสุขก็ตาม ทำให้เกิดทุกข์ก็ตาม มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

และเมื่อพรากออกได้ ก็ย่อมจะทำให้ระงับทุกข์ได้ ทำให้ได้ความสุขได้

แต่ว่าเมื่อออกจากสมาธิไป ก็ย่อมจะต้องไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก เป็นทุกข์ขึ้นอีก

แต่ถึงดั่งนั้นก็ยังดี เพราะเมื่อเห็นว่าจะทุกข์มากไป ก็หลบเข้ามาสู่อารมณ์ของสมาธิเสีย

ก็จะทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ ทำให้จิตใจได้กำลัง

ได้เรี่ยวแรง ที่จะปฏิบัติกิจการทั้งหลาย

แต่ว่าเพียงสมาธิอย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้จริง

จึงต้องปฏิบัติทางปัญญาประกอบไปด้วย

กล่าวคือใช้สติความระลึกตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ให้ได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง คือใช้สติระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน

ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

เรามีความพลัดพราก คือจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้น

เรามีกรรมที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจเป็นของๆตน เป็นทายาทรับผลของกรรม

มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย

จักกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้

ความรู้ที่เป็นตัวปัญญา

เมื่อพิจารณาดั่งนี้ ด้วยสติคือระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน

ให้ความรู้ของตนบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นจริง เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาจริง

เราจะต้องพลัดพรากจริง เรามีกรรมเป็นของๆตนจริง

ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองดั่งนี้เป็นตัวปัญญา อันบังเกิดขึ้นจากสติที่พิจารณา

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้รู้จักสัจจะคือความจริงของโลก

โดยเฉพาะก็คือขันธโลก โลกคือขันธ์ คือชีวิตนี้ของตนว่าเป็นอย่างไร

ให้รู้จักคติของกรรมว่าเป็นอย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 เพราะฉะนั้น เมื่อต้องประสบกับคติธรรมดา

ของชีวิต ของโลก ที่เป็นไปอยู่ ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณานั้น

ก็จะทำให้ได้สติระลึกได้ ว่าก็ต้องเป็นไปตามคติธรรดา และตามคติของกรรม

ก็จะทำให้จิตใจนี้สามารถที่จะระงับความตื่นเต้นยินดีในความสุขต่างๆ

หรือว่าความทุกข์โศกเพราะประสบเหตุของทุกข์ต่างๆได้

ยิ่งกว่าผู้ที่มิได้หัดพิจารณาให้ได้สติให้ได้ปัญญา

 และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็หัดกำหนดดูให้รู้จัก ตามที่พระพุทเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้

ในธรรมบทว่า ความโศกเกิดจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก

ภัยคือความกลัวต่างๆ เกิดจากบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รัก ความโศก ความกลัว เกิดจากความรัก

เมื่อพ้นจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก พ้นจากความรักเสียได้ ความโศกความกลัวต่างๆ ก็ดับ

และได้ตรัสสอนไว้อีกว่า ความโศกความกลัวเกิดจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก

เมื่อพ้นจากตัณหา ก็ย่อมจะพ้นจากความโศกความกลัวได้ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ก็หัดพิจารณาจับดูที่จิตใจ

ว่าจิตใจที่มีความทุกข์โศกก็ดี มีภัยคือความกลัวต่างๆอยู่ก็ดี เกิดขึ้นจากอะไร

ซึ่งโดยปรกตินั้น ก็มักจะไปเข้าใจว่า เกิดจากเหตุภายนอกต่างๆ เช่นเกิดจากบุคคลบ้าง

สิ่งต่างๆบ้าง ซึ่งถ้าเป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้นๆก็ต้องพลัดพรากไป

ถ้าไม่เป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ก็กล้ำกรายเข้ามา

มักจะไปเพ่งดูดั่งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยิ่งทับถมทวีความโศก

ทับถมทวีภัยคือความกลัวความหวาดระแวงต่างๆยิ่งขึ้น

จับเหตุให้ตรงกับผล

เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาจับเหตุดั่งนี้ เรียกว่าเป็นการจับเหตุไม่ตรงกับผล

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จับเหตุให้ตรงกับผล คือตรัสสอนให้จับเข้ามาดูเหตุ

ที่เป็นตัวเหตุภายใน คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในใจของตนเอง

ซึ่งตรัสว่าเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะตัณหานี้เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานคือความยึดถือ

ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ยึดถือว่าเป็นของเรา ยึดถือว่านั่นเป็นที่รัก ยึดถือว่านั่นไม่เป็นที่รัก

ตัณหาอุปาทานนี้เป็นตัวเหตุที่สร้างบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้าง

สร้างตัวเราของเราขึ้นในสิ่งทั้งหลายโดยรอบ

เพราะฉะนั้น ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานคือความยึดถือนี้เอง

จึงเป็นตัวเหตุที่มีอยู่ในจิตใจนี้เอง

หมั่นพิจารณาดั่งนี้ ให้ความรู้ของตนนี่แหละบังเกิดขึ้นรับรอง

ว่าตัณหาอุปาทานในจิตใจของตนนี้ เป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง

ทุกข์ต่างๆที่ได้รับอยู่ เป็นความทุกข์โศกต่างๆก็ดี เป็นภัยคือความกลัวต่างๆก็ดี

ก็มาจากตัณหาอุปาทานนี้เอง ให้ความรู้ของตนนี่แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง

ด้วยการที่หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ให้มองเห็นว่านี่เป็นตัวเหตุ ทุกข์โศกภัยต่างๆนั้นเป็นตัวผล

เมื่อปัญญาบังเกิดขึ้น คือความรู้นี่แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นจริง ดั่งนี้

ทุกข์โศกต่างๆ ภัยคือความกลัวต่างๆ ก็จะดับไปทันที

สมาธิเพื่อปัญญา

พระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ก็ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาของพระองค์ ว่าตรัสรู้ในอริสัจจ์ทั้ง ๔

คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ทุกข์ต่างๆนั้น ก็เพราะมีทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นทุกขนิโรธความดับทุกข์ จะดับได้ก็อาศัยปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘

มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจชอบเป็นที่สุด

ซึ่งแสดงว่าต้องมีสมาธิ คือความที่กำหนดจิตเพ่งจิตอยู่ ในอารมณ์ของสมาธิ

อารมณ์ของสมาธิเพื่อสมาธิ ก็เช่นอานาปานสติเป็นต้น

อารมณ์ของสมาธิเพื่อปัญญา ก็คือนามรูปนี้ กำหนดดูให้รู้จักนามรูปนี้ ให้รู้จักกายใจนี้

ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

และเป็นอนัตตาบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จึงมิใช่ตัวเรามิใช่ของเราตามที่ยึดถือกัน

ดั่งนี้ ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองความจริงนี้ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาในมรรคมีองค์ ๘ นี้

ที่ตรัสเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางสมบูรณ์

ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ทรงละสมุทัยได้หมดแล้ว

ทรงทำให้แจ้งนิโรธได้แล้ว ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์แล้ว

จักษุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้รอบ วิชชาคือความรู้จริง

อาโลกคือความสว่างผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ กิเลสและกองทุกข์ดับไปหมดสิ้น

จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว

อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร

และความตรัสรู้ของพระองค์ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ เมื่อแสดงโดยพิสดารตามที่ตรัสไว้ก็คือ

( เริ่ม ๗๕/๑ ) ปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งมีอวิชชาอาสวะเป็นต้น

มาจนถึงชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยกันโดยลำดับ

นี้เป็นฝ่ายสมุทัยวาร คือเป็นฝ่ายเกิด หรือเป็นฝ่ายก่อทุกข์

พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาอริยสัจจ์ทางปฏิจจสมุปบาทนี้

แล้วก็ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้น ซึ่งแปลความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์

ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป

เพราะมารู้ธรรมะว่าเกิดจากเหตุ หรือรู้ธรรมะพร้อมทั้งเหตุ

หรือรู้ธรรมะว่ามีเหตุที่เป็นปัจจัยสืบต่อกันไป จึงทำให้เกิดทุกข์

แล้วได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททางนิโรธวาร ทางนิโรธวาระ หรือนิโรธวาร

คือวาระดับ คือดับทุกข์ ว่าเพราะดับอวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชาเป็นต้น

จึงได้ดับมาโดย จนถึงดับชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป

เพราะมารู้ความสิ้นไปของปัจจัยคือเหตุทั้งหลาย ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats