ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป056

สัมมาทิฏฐิ ๓๖ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

ความเพียรไม่ย่อหย่อน ๓

นามรูป ๔

ทางพิจารณาว่าเนื่องกันไปอย่างไร ๖

ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ๘

อายตนะ ๖ ๘

มโนทวาร ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๑/๒ ( File Tape 56 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๖ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ความเห็นชอบคือเห็นถูกต้องในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ให้เถราธิบายไว้ ฟังดูก็เป็นเรื่องยาก หรือเข้าใจยาก

แต่เมื่อได้ตั้งใจฟัง ทราบอธิบายของข้อธรรมะนั้นๆ

และตั้งใจฟังว่าธรรมะนั้นๆ เป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันไว้อย่างลูกโซ่อย่างไร

แม้ตามที่ได้อธิบาย ก็ย่อมจะพอเข้าใจไปโดยลำดับ

ความเข้าใจนี้แม้ว่าจะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย

หรือเฉพาะบางข้อบางประการ ก็ย่อมเป็นการดี เป็นอันว่าได้เริ่มเข้าใจบ้าง

และความเข้าใจบ้างนี้ เมื่อได้ตั้งใจฟังตั้งใจพิจารณาซ้ำๆไปบ่อยๆ

และเมื่อได้มีการปฏิบัติทางศีลทางสมาธิ ประกอบกับปัญญาที่พิจารณา

ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้นๆ

เปรียบเหมือนอย่างว่า น้ำฝนที่ตกทีละหยาดๆจากชายคาลงตุ่มน้ำ

ก็ทำตุ่มน้ำให้เต็มได้ จากน้ำฝนที่ตกทีละหยาดๆเท่านั้น

ความเพียรไม่ย่อหย่อน

แต่ท่านก็สอนอยู่เสมอว่าให้ทำบ่อยๆ

ใช้คำว่าส้องเสพให้มาก ปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติบ่อยๆ

จึงจะได้ผลที่สืบต่อ และเพิ่มพูน เหมือนอย่างน้ำที่ตกทีละหยาดๆนั้นลงตุ่ม

เมื่อตกลงไปได้สัก ๑๐ หยด ๒๐ หยด ๑๐ หยาด ๒๐ หยาด ก็หยุด

ทิ้งไว้สักวันสองวัน น้ำในตุ่มนั้นก็จะแห้งไป ก็เป็นอันว่าต้องรองน้ำฝนกันใหม่

อีกทีละ ๑๐ หยาด ๒๐ หยาด แล้วก็หยุดไปอีกวันสองวัน น้ำฝนนั้นก็หมดไปอีก แห้งไปอีก

เพราะฉะนั้น จะต้องรองติดต่อ ทีละหยาดๆนั้นต้องหมายความว่าต้องติดต่อด้วย

ไม่ทันที่จะแห้ง น้ำจึงจะเพิ่มเติมขึ้นมาจนถึงเต็มตุ่มได้

เพราะฉะนั้น การทำบ่อยๆ ที่เรียกว่ามีความเพียรไม่ย่อหย่อน

แต่ว่ามีความเพียรที่มั่นคง คือติดต่อสืบต่อกันไปอยู่เสมอ แม้ทีละน้อย

ที่เหมือนอย่างน้ำทีละหยาดๆนั้น ก็ทำให้เต็มได้ แต่ให้ติดต่อกันไปอยู่เสมอเท่านั้น

ความเข้าใจในธรรมะก็เช่นเดียวกัน ก็ย่อมได้มาทีละน้อยๆ

แต่ว่าไม่ติดต่อที่จะฟัง ที่จะพิจารณา ก็จะไม่ได้ความเข้าใจมากขึ้น

จะได้แสดงอธิบายต่อถึงข้อที่ว่า เพราะนามรูปบังเกิดขึ้น อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิดขึ้น

หรือว่าเพราะนามรูปเป็นปัจจัย อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิดขึ้น ซึ่งสืบต่อมาจากเบื้องต้น

ว่าเพราะอาสวะเป็นปัจจัย อวิชชาเกิด หรืออวิชาเป็นปัจจัย อาสวะเกิด

อาสวะเป็นปัจจัย อวิชชาเกิด และเพราะอวิชชาเกิด สังขารความปรุงแต่งก็เกิด

เพราะสังขารเกิด วิญญาณก็เกิด เพราะวิญญาณเกิด นามรูปก็เกิด

เพราะนามรูปเกิด อายตนะก็เกิด

 

นามรูป

จะได้กล่าวถึงนามรูปเพิ่มเติมจากที่ได้อธิบายไปแล้ว

คำว่านามรูปนี้ ประกอบขึ้นด้วยนามและรูป หรือว่ารูปและนาม

แต่ว่าเมื่อเรียกคู่กัน ย้ายเอานามไว้ข้างหน้าเป็นนามรูป

มักจะฟังอธิบายหรือฟังเทศน์กันบ่อยๆ ว่าขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ย่อลงเป็น ๒ รูปก็เป็น รูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็น นาม

โดยมากก็เทศน์กัน หรืออธิบายกันดั่งนี้

แต่พึงเข้าใจว่าไม่จำเป็นที่จะต้องจัดอย่างนี้ไปทั้งหมด

คือเมื่อเป็นนามแล้ว ก็จะต้องเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕

อะไรจะเป็นนาม ก็สุดแต่พุทธาธิบายในหมวดธรรมที่แสดงถึงนามรูปนั้นๆ

ในเมื่อแสดงขันธ์ ๕ ก็ย่อขันธ์ ๕ เข้านามรูปดังกล่าว

แต่ว่าเมื่อแสดงในหมวดธรรมอื่น การจะจัดอะไรเข้าเป็นรูปเป็นนามนั้น

ก็สุดแต่ปริยายแห่งธรรม คือทางแสดงแห่งธรรมนั้นๆ

ดังเช่นในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้

ก็ได้มีพระเถราธิบายถึงรูปและนามไว้แล้ว ซึ่งก็ได้แสดงอธิบายไว้ในที่นี้แล้ว

แต่จะขอกล่าวซ้ำเพื่อไม่ต้องนึกอีกครั้งอีกครั้งหนึ่งว่า รูปนั้นก็ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป

รูปใหญ่ รูปอาศัย การอธิบายรูปก็ตรงกันในปริยายแห่งธรรมทั้งปวง

ส่วนนามนั้นท่านพระสารีบุตรได้ให้อธิบายไว้ว่า

ได้แก่เวทนาความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญาความจำได้หมายรู้ เจตนาความจงใจ

ผัสสะก็คือความกระทบแห่งอายตนะภายในภายนอกและวิญญาณรวมกัน

คือเป็นความกระทบแห่งอารมณ์ถึงจิตที่มีความแรง ให้เกิดเวทนาขึ้นได้

( เริ่ม ๗๑/๒ ) และมนะสิการความทำไว้ในใจ คือใส่ใจในอารมณ์นั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ

นามจึงได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ และมนสิการ ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าไม่มีสังขารไม่มีวิญญาณแสดงโดยชื่อไว้ในข้อนามในที่นี้

ทำไมจึงไม่แสดงไว้ ก็น่าจะเห็นว่าเพื่อที่จะให้ไม่เข้าใจสับสน ในลำดับของธรรมะ

ที่เกิดเนื่องกันเป็นสาย เหมือนอย่างลูกโซ่ที่คล้องเนื่องกันไปเป็นสาย

เพราะว่าสังขารและวิญญาณได้กล่าวไว้ในลำดับข้างต้นมาแล้ว

อวิชชาเกิดสังขารเกิด หรืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขารเกิดวิญญาณเกิด หรือว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

วิญญาณเกิดนามรูปเกิด หรือวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

ก็ได้กล่าวหรือยกเอาคำว่าสังขาร และคำว่าวิญญาณไปใช้ในลำดับข้างต้นนั้นแล้ว

มาถึงนามรูปเมื่ออธิบายถึงข้อนาม จึงไม่ใช้คำว่าสังขารไม่ใช้คำว่าวิญญาณในข้อนามนี้

แม้ว่าความหมายของคำว่าสังขารกับคำว่าวิญญาณในลำดับที่กล่าวมาข้างต้น

ในหมวดปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้ จะมีความหมายที่แตกต่าง

ไปจากความหมายของคำว่าสังขารและวิญญาณในขันธ์ ๕ ก็ตาม

แต่หากว่าเอามาใช้ในข้อนามนี้ สำหรับในหมวดธรรมนี้ ก็จะเป็นคำที่ซ้ำกัน

แม้เนื้อความจะต่างกันก็ตาม ก็จะทำให้เข้าใจสับสน จึงเอาเจตนาผัสสะมนสิการมาใช้แทน

แต่ก็ยังมีข้อซ้ำอีกเหมือนกัน คือคำว่าเวทนากับผัสสะที่จะกล่าวในอันดับต่อไป

แต่แม้เช่นนั้นก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องให้มี ๒ ข้อนี้อยู่ในที่นี้ด้วย

เพราะว่า ๒ ข้อนี้ ย่อมเป็นนามในขันธ์ ๕ หรือในข้อว่านามรูปนี้ด้วยจริงๆ

และแม้คำว่าสังขารคำว่าวิญญาณจะไม่ได้กล่าวถึง แต่คำว่า เจตนา ผัสสะ มนสิการ

เจตนานั้นก็เป็นความจงใจ ก็จัดเป็นสังขารในขันธ์ ๕ นั้นเอง

เพราะสังขารในขันธ์ ๕ นั้นได้แก่ความคิดปรุงหรือปรุงคิด ตามสัญญาคือความจำหมาย

เจตนา คือความจงใจ ก็มีลักษณะเป็นความคิดปรุง หรือความปรุงคิดนั้นเอง

ซึ่งเป็นไปตามสัญญา

ผัสสะ นั้นเล่าก็เนื่องด้วยวิญญาณในขันธ์ ๕

และ มนสิการ นั้นเล่า ทำไว้ในใจ ก็เท่ากับเป็นวิญญาณเหมือนกัน

เพราะวิญญาณนั้นที่เป็นความรู้คือเห็นรูป รู้คือได้ยินเสียงเป็นต้นนั้น

ก็ต้องเอาเรื่องรูปเรื่องเสียงนั้นเข้ามาใส่ไว้ในใจ

จึงจะเกิดการรู้รูปที่เรียกว่าเห็นรูป รู้เสียงที่เรียกว่าได้ยินเสียงขึ้นมา

เพราะฉะนั้นผัสสะมนสิการนั้นก็เนื่องกับวิญญาณ หรือจัดเข้าเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ได้

แต่ใช้คำให้แตกต่างกันไปเสีย

ทางพิจารณาว่าเนื่องกันไปอย่างไร

และก็พึงเข้าใจว่า ทุกๆข้อในปฏิจจสมุปบาทนี้

มีอยู่ด้วยกันแล้วทั้งนั้นในจิตนี้ หรือในกายและจิตนี้ของทุกๆคน

สำหรับในธรรมะที่แสดงถึงข้อที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นดังกล่าวมานั้น

ก็แสดงเป็นทางพิจารณาถึงว่าทุกๆอย่างที่มีอยู่ในทุกๆคนนี้เนื่องกันไปอย่างไร

เหมือนอย่างว่า เรือนหลังหนึ่งย่อมมีอยู่พร้อมตั้งแต่ ฐานราก เสา

และเครื่องทัพพะสัมภาระทั้งหลายของเรือน จนถึงหลังคา มีอยู่พร้อมทุกๆอย่าง

คราวนี้เมื่อต้องการที่จะแสดงว่า ความประกอบเข้าเป็นเรือนทั้งหลังนี้

ตัวทัพพะสัมภาระมีเครื่องไม้เป็นต้น ที่ประกอบเข้าเป็นเรือนนั้น ต่อเนื่องกันขึ้นไปอย่างไร

ตั้งแต่รากฐานจนถึงหลังคา หรือว่าตั้งแต่หลังคาลงมาจนถึงรากฐาน

เหมือนดังจะกล่าวว่า รากฐานมีก็มีเสาตั้งขึ้น เมื่อมีเสาตั้งขึ้นก็มีตัวพื้นเรือนตั้งขึ้น

อันประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆของพื้นเรือน และเมื่อมีพื้นเรือนตั้งขึ้นก็มีฝาตั้งขึ้น

เมื่อมีฝาตั้งขึ้นก็ย่อมมีประตูมีหน้าต่างตั้งขึ้น และเมื่อมีประตูหน้าต่างตั้งขึ้นก็มีที่สุดของฝา

เมื่อมีที่สุดของฝาก็ต้องมีหลังคา หลังคามีอะไรบ้างตั้งขึ้น ก็ต่อกันขึ้นไปจนถึงอกไก่

จนถึงกระเบื้องมุงหลังคา

เพราะฉะนั้นเรือนหลังหนึ่งที่ตั้งขึ้นมานั้น ก็ต่างเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกันขึ้นไปดั่งนี้

ตั้งแต่รากฐานขึ้นไปจนถึงยอด หรือว่ายอดลงมาจนถึงรากฐานข้างล่าง

นี่เปรียบเหมือนว่าเป็นเรือนไม้ ใต้ถุนโปร่ง เหมือนอย่างเรือนของชาวบ้านในชนบททั่วไป

แม้วัตถุอื่นก็เช่นเดียวกัน และในการอธิบายของทัพพะสัมภาระแต่ละชิ้นนั้น

เช่นว่าเพราะมีรากฐาน จึงมีเสาตั้งขึ้นมาบนรากฐาน รากฐานนั้นได้แก่อะไร

รากฐานก็เช่นว่าเป็นไม้เสาเข็ม เป็นคอนกรีตผสมด้วยปูนทรายหิน

แล้วคราวนี้เมื่อมีรากฐาน ก็มีเสาตั้งขึ้นมาบนรากฐาน เสานั้นก็ได้แก่อะไร

ก็จะต้องถ้าเป็นเสาปูนก็ต้องเป็นคอนกรีต ก็จะต้องว่ากันถึงว่า

ต้องประกอบด้วยเหล็กด้วยหินด้วยทรายด้วยปูน ก็ซ้ำกันกับรากฐานนั่นแหละ

แต่ว่าสิ่งที่ซ้ำกันนั้นมีหน้าที่ต่างกัน สำหรับที่เป็นเสาเข็มเป็นปูนเป็นทรายเป็นเหล็กเป็นหิน

ที่ทำเป็นรากฐานนั้นมีหน้าที่เป็นรากฐาน แต่ว่าเมื่อมาถึงเสา เป็นปัจจัยให้เสาตั้งขึ้นบนรากฐาน

พวกเหล็กปูนทรายหินเหล่านี้ก็มาทำหน้าที่เป็นเสา

แม้เครื่องใช้ทัพพะสัมภาระสูงขึ้นๆ ถ้าเป็นเครื่องปูนก็จะต้องใช้วัตถุที่ซ้ำกันอยู่นี่แหละ

ถ้าเป็นเครื่องไม้เช่นว่าเป็นฝาไม้ ก็ต้องประกอบด้วยไม้เป็นประตูหน้าต่าง

ถ้าเป็นไม้ก็ต้องประกอบด้วยไม้ แต่ว่าทำหน้าที่ต่างกันว่านั่นเป็นฝา นั่นเป็นประตูเป็นหน้าต่าง

ครั้นมาถึงเครื่องหลังคา ถ้าหากว่าเป็นปูน ก็ต้องใช้วัตถุที่เป็นเหล็กเป็นปูน

เป็นทรายเป็นหิน นั่นแหละ แต่ว่ามาใช้เป็นเครื่องบนของหลังคา

ถ้าเป็นไม้ก็ใช้ไม้นั่นแหละ แต่มาใช้เป็นเครื่องบนของหลังคา จนถึงยอด

ก็แปลว่า วัตถุที่มาประกอบเป็นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ใช้เหล็กใช้อิฐใช้ปูนใช้ทราย

ก็ตั้งแต่รากฐานขึ้นไปจนถึงหลังคา ถ้าใช้ไม้ก็ต้องใช้ไม้เรื่อยขึ้นไปจนถึงหลังคานั่นแหละ

เพราะฉะนั้น แม้ว่าวัตถุเหล่านี้จะซ้ำกัน แต่ว่าก็ใช้ทำหน้าที่ต่างกัน

เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นไป ดังที่กล่าวมาแล้ว

ฉันใดก็ดี เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้

ก็มีข้อที่ซ้ำๆกันอยู่ ในข้อที่เป็นเหตุปัจจัยของกันนั้น

แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องซ้ำกันดังที่กล่าวมา ในเมื่อเทียบกับบ้านเรือนที่กล่าวมานั้น

แต่ว่าแม้ว่าจะซ้ำกัน แต่ก็ทำหน้าที่ต่างกัน อวิชชาก็ทำหน้าที่เป็นอวิชชาให้เกิดสังขาร

สังขารก็ทำหน้าที่เป็นสังขารที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

วิญญาณก็ทำหน้าที่เป็นวิญญาณคือเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

และนามรูปก็ทำหน้าที่เป็นนามรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะทั้ง ๖ ซึ่งแสดงในวันนี้

ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงให้ทำความเข้าใจดั่งนี้

คือเข้าใจว่าธรรมะทุกข้อในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้ มีอยู่พร้อมแล้วในทุกๆคน

และในทุกๆข้อก็มีผสมกันอยู่ ดังเมื่อแสดงถึงอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

ในตัวสังขารนั้นเองก็มีอวิชชาปนอยู่ด้วย สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

ในวิญญาณนั้นเองก็มีตัวอวิชชามีตัวสังขารปนอยู่ด้วย วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

ในนามรูปนี้เองก็มีอวิชชามีสังขารมีวิญญาณปนอยู่ด้วย และนามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

ในนามรูปนี้เองก็มีข้างต้นนั้นปนอยู่ด้วย คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ

จึงจะเป็นนามรูปที่เป็นสายบังเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากอวิชชา

ซึ่งเป็นสายสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

อายตนะ ๖

และนามรูปดังกล่าวนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

คือหมายความว่าเมื่อนามรูป เป็นนามรูปขึ้นมา รูปก็เป็นมหาภูตรูป อุปาทายรูป

นามก็เป็นนามดังที่ท่านแสดงไว้ว่า เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ

และดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ก็มีข้างต้นมารวมอยู่ด้วยทั้งหมด ก็เป็นนามรูป

และเมื่อนามรูปเกิดขึ้นมาเป็นขึ้นมา ดังที่ทุกๆคนในบัดนี้ก็มีนามรูปของตน

บังเกิดขึ้นอยู่พร้อมอยู่ และในนามรูปนี้ก็มีอวิชชามีสังขารมีวิญญาณรวมอยู่ด้วย

และเมื่อเป็นดั่งนี้ อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิดขึ้น

อันหมายความว่าอายตนะทั้ง ๖ จึงปฏิบัติหน้าที่ของอายตนะได้

คือตาก็รับรูปได้ หูก็รับเสียงได้ จมูกก็รับกลิ่นได้ ลิ้นก็รับรสได้

กายก็รับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องได้ ตลอดจนถึงมโนคือใจก็รับธรรมะคือเรื่องราวทางใจได้

ตลอดจนถึงปฏิบัติหน้าที่คู่กันไปกับ ๕ ข้อข้างต้นนั้นได้

คือข้อมโนคือใจนี้อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ นั้น

ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรับอารมณ์ คือเรื่องที่ใจคิดใจรู้เพียงอย่างเดียว

แต่ว่ามีหน้าที่ประกอบไปกับตาด้วย

ตาจึงจะรับรูปให้เกิดจักขุวิญญาณคือเห็นรูปได้

มโนคือใจต้องประกอบไปกับหู หูจึงจะรับเสียงให้เกิดโสตะวิญญาณคือได้ยินเสียงได้

มโนคือใจจะต้องประกอบไปกับฆานะคือจมูก

จมูกจึงจะรับกลิ่นให้เกิดฆานะวิญญาณคือรู้กลิ่นได้

มโนคือใจจะต้องประกอบไปกับลิ้น ลิ้นจึงจะรับรสให้เกิดชิวหาวิญญาณคือรู้รสได้

มโนคือใจจะต้องประกอบไปด้วยกาย กายจึงจะรับสิ่งถูกต้อง

ให้เกิดกายวิญญาณคือรู้สิ่งถูกต้องทางกายได้

และมโนคือใจนี้ก็ยังรับธรรมะคือเรื่องราว เช่นเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นที่ได้พบได้เห็นมาแล้ว

เช่นว่าได้พบได้เห็นมาแล้วเมื่อเช้านี้ เย็นวันนี้มโนคือใจก็ยังเอามาคิดได้ มานึกถึงได้

ก็เป็นเรื่องเป็นราวที่บังเกิดขึ้นทางมโนคือใจซึ่งเป็นอายตนะข้อที่ ๖

เพราะฉะนั้น มโนคือใจนี้จึงต้องประกอบไปกับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นนั้น

และต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ด้วย จึงเป็นอายตนะข้อพิเศษ

ในข้อนี้ได้กล่าวมาหลายหนแล้วว่า เช่นกำลังฟังอยู่นี้ มโนคือใจต้องฟังด้วยจึงจะได้ยิน

ถ้ามโนคือใจไม่ฟัง เช่นว่าจิตไปคิดถึงเรื่องอื่น หูก็ดับทันที เสียงที่พูดนี้ก็จะไม่ได้ยิน

ต่อเมื่อจิตตั้งที่จะฟัง ดังที่ได้เตือนตั้งแต่ข้างต้นแล้วว่าให้มีสมาธิในการฟัง

มโนก็มาพร้อมกับจิต มาฟังเสียง เมื่อเป็นดั่งนี้หูจึงไม่ดับ หูก็ได้ยิน

จึงได้เกิดโสตะวิญญาณ คือได้ยินเสียง รู้เสียงขึ้นมาได้

มโนทวาร

เพราะฉะนั้น มโนคือใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งเท่ากับเป็นทวารในของจิต สำหรับตาหูจมูกลิ้นกายนั้นเป็นทวารนอก

ถ้าจะเปรียบก็เหมือนอย่างว่าเป็นบ้านที่มีประตูนอกอยู่ ๕ ประตู

และยังมีประตูในอีก ๑ ประตูของห้องชั้นใน ตัวจิตเองนั้นอยู่ในห้องชั้นใน

เหมือนอย่างว่านั่งอยู่ในห้องชั้นใน ทุกๆอย่างที่ผ่านเข้ามาจะต้องผ่านประตูนอก ๕ ประตูนั้น

และจะต้องผ่านประตูในคือมโน ซึ่งเป็นตัว มโนทวาร จึงจะถึงจิต จิตก็รับอารมณ์ทางมโนทวาร

และก็ทางทวารตาทวารหูเป็นต้น ตามประเภทของรูปของเสียงเป็นต้น

ฉะนั้น มโนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่รวมความว่าอายตนะทั้ง ๖ นี้ ในเมื่อนามรูปบังเกิดขึ้น อายตนะทั้ง ๖ นี้จึงปฏิบัติหน้าที่ได้

ถ้าหากว่านามรูปไม่บังเกิดขึ้น อายตนะทั้ง ๖ นี้ก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

แม้ว่าตาหูจมูกลิ้นกายที่เป็นส่วนเนื้อ ที่เป็นส่วนประสาทจะมีอยู่ก็ตาม แต่ก็เหมือนไม่มี

ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อนามรูปต้องสลบไสลไปคือในเวลาที่สลบ หรือว่าแม้ในเวลาที่หลับสนิท

อายตนะทั้ง ๖ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ก็ไม่บังเกิดขึ้น คือไม่ปฏิบัติหน้าที่

แต่ว่าถึงการหลับนั้นโดยมากหลับไม่สนิท จึงมีฝัน

ซึ่งก็มีอธิบายว่า กายส่วนที่เกี่ยวแก่ประสาททั้ง ๕ ข้างต้น จักขุประสาท โสตะประสาท

ฆานะประสาท ชิวหาประสาท กายประสาทหลับ แต่ว่าข้อที่ ๖ คือตัวมโนทวารนี้ไม่หลับ

เพราะฉะนั้นจึงฝัน ฝันถึงเรื่องนั้นถึงเรื่องนี้ โดยมากก็เป็นสิ่งที่ได้เคยเห็นมาแล้ว

เคยได้ยินมาแล้ว หรือเคยคิดเคยนึกมาแล้ว เก็บมาฝัน ก็คือมโนนี่เองไม่หลับ

แต่ถ้ามโนหลับก็แปลว่าหลับสนิท ไม่ฝัน ในปัจจุบันนี้ท่านก็ยังแสดงกันว่า

คนเรานั้นหลับสนิทน้อย ฝันมาก แต่ว่าฝันที่จำไว้ได้ในเมื่อตื่นนั้นมีน้อย

โดยมากจำไม่ได้ อันแสดงว่าหลับไม่สนิทจริงๆ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๓๗ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 * 

ผัสสะ ๖ ๓

ภวังค์จิต วิถีจิต ๔

อาการที่จิตน้อมรับอารมณ์ ๕

ไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ๗

วิปัสสนาภูมิ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๒/๑ เริ่มต้น ต่อ ๗๒/๒ ( File Tape 56 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๗ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ

จับแต่ชาติชรามรณะ ขึ้นไปจนถึงอวิชชาอาสวะ

และกำลังอธิบายในข้อที่ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยของกันอย่างไร

คือเป็นเหมือนอย่างลูกโซ่ที่โยงกันไปเป็นสายโซ่อย่างไร จับแต่อวิชชาอาสวะ

อาสวะอวิชชาซึ่งเป็นปัจจัยของกันและกัน และเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

นามรูปก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

และต่อจากนี้ก็ถึงเงื่อนหรือข้อต่อของลูกโซ่

ว่าอายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะหรือสัมผัส ผัสสะหรือสัมผัสเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

ตามลำดับในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

ผัสสะ ๖

จึงจะจับอธิบายในเงื่อนหรือข้อต่ออันนี้

ว่าเพราะอายตนะทั้ง ๖ เกิดขึ้น จึงเกิดสัมผัสหรือผัสสะ

สำหรับอายตนะทั้ง ๖ นั้นก็ได้อธิบายแล้ว ว่าได้แก่อายตนะภายในทั้ง ๖

คือตาที่เป็นเครื่องต่อรูป หูเป็นเครื่องต่อเสียง จมูกเป็นเครื่องต่อกลิ่น ลิ้นเป็นเครื่องต่อรส

กายเป็นเครื่องต่อโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจเป็นเครื่องต่อธรรมะคือเรื่องราว

และเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ต่อกันดั่งนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสัมผัสหรือผัสสะ อันแปลว่าความกระทบ

ผัสสะหรือสัมผัสนี้ก็มี ๖ อันได้แก่จักขุสัมผัสสัมผัสทางตา โสตะสัมผัสสัมผัสทางหู

ฆานะสัมผัสสัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัสสัมผัสทางลิ้น กายสัมผัสสัมผัสทางกาย

และมโนสัมผัสสัมผัสทางใจ

ในพระสูตรทั่วไปได้อธิบายสัมผัสไว้ว่า คือความประชุมกันขององค์ ๓

อันได้แก่อายตนะภายใน ๑ อายตนะภายนอก ๑ และวิญญาณอีก ๑

โดยที่ได้ตรัสแสดงอธิบายไว้ ดั่งเช่นในพระพุทธาธิบายอริยสัจจ์ข้อสมุทัยและข้อนิโรธ

ในสัจจะปัพพะข้อที่ว่าด้วยสัจจะ ว่าเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอก

ประจวบกันหรือต่อกัน ก็เกิดวิญญาณ

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตาต่อกับรูป

ก็เกิดจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตา ที่เรียกว่าเห็นรูป

และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันก็เรียกว่าสัมผัส ที่แปลว่าความกระทบกัน

ก็คือความประชุมกันของตา ของรูป และของจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตาคือเห็นรูป

และในอายตนะข้อต่อไปแต่ละข้อก็เช่นเดียวกัน

นี้เป็นการแสดงวิถีจิต คือทางดำเนินของจิตอย่างละเอียด

และเมื่อเกิดสัมผัสดังกล่าวแล้ว จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร

และวิถีจิตดังที่กล่าวมานี้ก็พึงเข้าใจว่า ตัวจิตคือตัวธาตุรู้

หรือที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ โดยปรกติย่อมอยู่ในภวังค์ อันเรียกว่า ภวังคจิต

คำว่าภวังค์นั้นดังที่ได้เคยอธิบายแล้วว่า แปลว่าองค์ของภพคือความเป็น

ซึ่งกล่าวง่ายๆว่าเป็นตัวชีวิตหรือเป็นตัวความดำรงอยู่ของชีวิต

เพราะว่าทุกๆคนนี้ดำรงชีวิตอยู่ ก็เพราะกายและจิตประกอบกันอยู่

เมื่อไม่มีจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปราศจากวิญญาณ ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ

กลายเป็นเหมือนอย่างท่อนไม้ ก้อนหินก้อนดิน

แต่ความดำรงชีวิตอยู่นี้ก็เพราะกายและจิตนี้ประกอบกันอยู่

ภวังค์จิต วิถีจิต

จิตหรือธาตุรู้นี้ เมื่อยังอยู่เป็นปรกติเฉยๆยังไม่แสดงอาการอะไร

ก็เรียกว่าภวังค์หรือภวังคะ เป็นองค์ คือเป็นองคคุณองคสมบัติของภพคือความเป็น

คือความที่ยังดำรงความเป็นภพเป็นชาติ ความดำรงชีวิตอยู่ดังกล่าวจึงเรียกว่าภวังค์

ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่าง บุรุษคนหนึ่งที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง

เพราะฉะนั้น จิตที่ยังอยู่เป็นปรกติเฉยๆ ก็เป็นเหมือนอย่างบุรุษที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง

คราวนี้เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็กระทบทางอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทางทวารทั้ง ๖

มีตาหูเป็นต้นนั่นแหละ เช่นว่ามีรูปมาประจวบกับตา มีเสียงมาประจวบกับหู

รูปเสียงที่มาประจวบนั้น ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าผลมะม่วงหล่นจากต้น

หล่นตูมลงมาใกล้บุรุษที่นอนหลับ ก็เป็นเครื่องปลุกบุรุษที่นอนหลับนั้นให้ตื่นขึ้น

ฉันใดก็ดี จิตหรือธาตุรู้นี้เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวาร หรืออายตนะภายในดังกล่าวนั้น

ก็ออกจากภวังค์ เปรียบเหมือนอย่างว่าตื่นขึ้นมา และก็น้อมออกไปรับอารมณ์

ก็เหมือนอย่างบุรุษที่เมื่อมะม่วงหล่นลงมา เสียงมะม่วงกระทบหู ก็ตื่นขึ้น

ก็เอื้อมมือไปหยิบมะม่วง จิตก็น้อมออกไปจับอารมณ์

กิริยาที่จิตน้อมออกไปนี้แหละเรียกว่านาม

คำว่านามนั้นก็มีต้นศัพท์อย่างเดียวกับคำว่า นะโม ที่แปลว่าความนอบน้อม

นามก็คือความน้อม หมายถึงอาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์

เช่นเดียวกับกิริยาที่บุรุษนอนหลับ ตื่นขึ้นเพราะเสียงมะม่วงหล่น

ก็เอื้อมมือออกไป ยื่นมือออกไปจับผลมะม่วง

อาการที่เอื้อมแขนออกไป นั่นก็คืออาการที่จิตน้อมออกไปรับอารมณ์นั้นเอง

ละการรับอารมณ์ครั้งแรกของจิตนั้นเรียกว่า วิญญาณ

ที่เราเรียกกันว่าเห็น ได้ยิน ทราบ หรือว่าคิดรู้ เห็นนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับรูปเห็นรูป

ได้ยินนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับเสียงได้ยินเสียง ทราบนั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับกลิ่นรส

และโผฏฐัพพะ คือทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

คิดหรือรู้นั้นใช้ในอาการที่เกี่ยวกับมโนคือใจ ซึ่งเป็นอาตนะข้อที่ ๖ รู้หรือคิดธรรมะคือเรื่องราว

มโนอันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ นี้ ก็ได้เคยกล่าวอธิบายไว้แล้ว

ว่าสัมพันธ์กับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นอย่างไร และสัมพันธ์กับจิตอย่างไร

จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในที่นี้

อาการที่จิตน้อมรับอารมณ์

ก็เป็นอันว่า อาการที่จิตออกจากภวังค์ ออกรับอารมณ์ น้อมออกรับอารมณ์

กิริยาอันนี้เองเรียกว่านาม แปลว่าน้อม จิตน้อมออกรับอารมณ์

อาการที่รับอารมณ์แรกก็คือวิญญาณ มีจักขุวิญญาณโสตะวิญญาณเป็นต้น

และถ้าเป็นอารมณ์ที่เบามาก จิตก็อาจจะปล่อยอารมณ์ไว้แค่นั้น แค่วิญญาณเท่านั้น

แล้วก็กลับเข้าภวังค์ไปใหม่ ถ้าจะเทียบก็เหมือนอย่าง บุรุษที่ตื่นขึ้นมา

เอื้อมมือไปหยิบมะม่วง พอหยิบถูกมะม่วงก็ไม่สนใจต่อไป ก็ปล่อย แล้วก็หลับไปใหม่

ก็เป็นอันว่าอารมณ์ที่เข้ามาก็ยุติแค่นั้น

แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่แรงจิตก็ไม่ปล่อยแค่นั้น

คือเมื่อเริ่มน้อมออกรับอารมณ์เป็นวิญญาณดังกล่าวแล้ว ก็ยึดอารมณ์นั้นแรงเข้าอีก

อาการที่ยึดอารมณ์นั้นแรงเข้าอีกนั้น นี้เองที่ท่านแสดงว่าองค์ ๓ มาประชุมกัน

คืออายตนะภายใน ๑ อายตนะภายนอก ๑ วิญญาณ ๑ มาประชุมกันเป็นสัมผัส

หรือเป็นผัสสะ ก็เหมือนอย่างบุรุษที่นอนหลับเอื้อมมือออกไปถูกผลมะม่วง

ก็ไม่ปล่อยแค่นั้น จับมะม่วงนั้น นี้คือสัมผัสหรือผัสสะแปลว่ากระทบมะม่วงนั้น

ถูกต้องมะม่วงนั้น ไม่เพียงแต่ถูกต้องในขั้นแรกแต่เพียงเบาๆเท่านั้น

แต่ว่าจับหรือถูกต้องที่แรงขึ้นจึงเป็นสัมผัส และเมื่อเป็นสังผัสดั่งนี้แล้ว ก็เกิดเวทนา

และเมื่อเกิดเวทนาก็เกิดสัญญา เมื่อเกิดสัญญาก็เกิดสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด

เหมือนอย่างบุรุษนั้นเอื้อมมือไปจับมะม่วงแล้วก็นำมาเคี้ยวในปาก แล้วก็กลืนผลมะม่วงลงไป

อาการเหล่านี้เมื่อเทียบกับจิตที่น้อมออกไปรับอารมณ์

เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารปรุงคิดหรือคิดปรุง

ก็คือว่าเคี้ยวมะม่วง กลืนมะม่วงเข้าไป เสร็จแล้วก็หลับไปใหม่

จิตนั้นเมื่อคิดปรุงหรือปรุงคิดแล้ว ก็เป็นอันว่าตกสู่ภวัง์ใหม่ เหมือนอย่างหลับไปใหม่

และเมื่อมีอารมณ์อื่นมากระทบเข้าอีกก็ออกจากภวังค์ น้อมออกไปรับอารมณ์ดังกล่าวนั้น

แล้วก็กลับตกสู่ภวังค์ใหม่ เป็นดั่งนี้อยู่ทุกอารมณ์ที่มากระทบ

ท่านอธิบายดั่งนี้ เป็นการอธิบายอย่างละเอียด ถึงวิถีจิตที่เป็นไปของสัตว์บุคคลทั้งปวง

แม้วิถีจิตของพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านก็แสดงว่าก็เป็นไปอย่างนี้

อาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์ดั่งนี้แหละคือนาม

และรูปก็คือกายส่วนที่เป็นรูป รวมทั้งอายตนะภายในที่เป็นส่วนรูปทั้ง ๕ ข้างต้น

หรือประสาททั้ง ๕ ก็รวมเรียกว่าเป็นรูปทั้งหมด

ส่วนที่เป็นนามก็คืออาการที่จิตน้อมออกไปรับอารมณ์ดังที่กล่าวมานั้น

แต่ว่าในการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

มิได้ทรงแสดงโดยละเอียดดั่งนี้ไปทุกแห่ง

ทรงแสดงเพื่ออะไร เพื่อให้จับพิจารณาทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา

ก็ตรัสแสดงโดยเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารและเป็นวิญญาณ

แม้ว่าวิญญาณนั้นจะเกิดขึ้นก่อนตามวิถีจิตดังแสดงมาข้างต้น แต่ก็ตรัสไว้เป็นขันธ์ที่ ๕

และก็ยังมีแสดงไว้ในบางพระสูตรถึงความเกิดขึ้นของวิถีจิต เป็นวิญญาณ

เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณต่อไปอีก

โดยที่มิได้แจกแจงถึงวิถีจิตอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องออกจากภวังค์

แล้วก็ตกภวังค์ไปทุกขณะจิต คือทุกอารมณ์ที่ประสบ 

ไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕

แต่แสดงในทางที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาทางปัญญา หรือทางวิปัสสนาได้

เพราะต้องการที่จะให้พิจารณาโดยไตรลักษณ์ ให้เห็นอนิจจะไม่เที่ยง

ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

จึงแสดงจากหยาบไปหาละเอียด

แสดงรูปซึ่งเป็นส่วนหยาบ เวทนาซึ่งเป็นนามธรรมอันนับว่าหยาบ

เพราะเวทนานั้นเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ

( เริ่ม ๗๒/๒ )

คือทั้งทางรูป และทั้งทางใจ

แล้วจึงมาสัญญาสังขาร แล้วจึงมาวิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรมที่ละเอียด

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเห็นไตรลักษณ์ในรูปในเวทนาในสัญญาในสังขารในวิญญาณได้โดยง่าย

แม้ในการแสดงอริยสัจจ์อย่างละเอียด

คือปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ดั่งที่กำลังกล่าวอยู่นี้

ในบางพระสูตรก็ตรัสรวบรัด เช่น ทรงแสดงจับแต่ชรามรณะชาติขึ้นมาจนถึงวิญญาณ

ไม่ต่อขึ้นไปถึงสังขารถึงอวิชชาอาสวะ แค่วิญญาณ

และบางแห่งก็ตัดอายตนะ กล่าวคือตรัสแสดงว่า เพราะวิญญาณเกิด นามรูปก็เกิด

เพราะนามรูปเกิด สัมผัสก็เกิด ไปสัมผัสทีเดียว ไม่แสดงอายตนะไว้ตรงนี้

คือไม่แสดงว่า เพราะนามรูปเกิด อายตนะทั้ง ๖ ก็เกิด

เพราะอายตนะทั้ง ๖ เกิด สัมผัสก็เกิด แต่ว่าตัดอายตนะเสีย ไม่แสดง

ตรัสว่า เพราะนามรูปเกิด สัมผัสก็เกิด

วิปัสสนาภูมิ

และในการที่ตรัสแสดงนี้ ก็ตรัสแสดงในทางที่เป็นประโยชน์

สำหรับผู้ต้องการจะพิจารณาโดยไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นวิปัสสนาธุระทางปัญญา

สามารถที่จะพิจารณาจับนามรูป และสัมผัส ให้เป็นวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาได้

คือได้ตรัสแสดงไว้มีใจความว่า เมื่อนามรูปเกิดขึ้น สัมผัสจึงเกิดขึ้น

ถ้านามรูปไม่มี สัมผัสก็ไม่มี

และการจับพิจารณานามรูป ก็ตรัสสอนให้จับพิจารณาโดยอาการ โดยเพศ

โดยนิมิตคือเครื่องกำหนด และโดยอุเทศก็คือการแสดง หรือการที่จะตั้งชื่อสำหรับเรียกแสดง

จับนามขึ้นก่อน เวทนาก็ให้จับพิจารณาว่า เวทนาที่บังเกิดขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์

หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข มีอาการเป็นอย่างไร ดูเวทนาที่บังเกิดขึ้นที่ตัวเองในปัจจุบัน

ถ้าเป็นสุขมีอาการเป็นอย่างไร ทุกข์มีอาการเป็นอย่างไร ไม่ทุกข์ไม่สุขมีอาการเป็นอย่างไร

มีเพศเป็นอย่างไร ก็คือมีลักษณะที่ละเอียดหรือที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างใดของเวทนา

มีนิมิตคือว่ามีเครื่องกำหนด มีที่ๆจะกำหนดอย่างไร

มีอุเทศคือมีการแสดง อันหมายความว่ายกชื่อเรียกขึ้นว่าเวทนา อย่างนี้ๆ

สัญญาก็เหมือนกัน ดูอาการของสัญญา

คือความจำหมายของจิตในอารมณ์นั้นๆ ว่ามีอาการเป็นอย่างไร

มีเพศคือมีลักษณะที่เร้นลับปกปิด อยู่ตรงไหน อย่างไร

มีนิมิตคือเครื่องกำหนดอย่างไร มีอุเทศคือว่า ยกชื่อขึ้นเรียกว่านี่คือสัญญา

สังขารคือความปรุงคิดหรือคิดปรุงก็เหมือนกัน

ดูจิตของตัวเองที่คิดปรุงหรือปรุงคิด ว่ามีอาการเป็นอย่างไร

มีเพศดังกล่าวเป็นอย่างไร มีนิมิตเครื่องกำหนดเป็นอย่างไร

มีอุเทศคือว่าตั้งชื่อเรียกว่าเป็นสังขาร อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้

ไม่ให้ปนกัน นั่นเป็นเวทนา นี่เป็นสัญญา นี่เป็นสังขาร

และวิญญาณก็เหมือนกัน ก็ดูตัวที่เมื่ออายตนะต่อกัน

ก็เกิดความรู้ขึ้น เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นทราบ เป็นคิดหรือรู้

มีอาการเป็นอย่างไร มีเพศเป็นอย่างไร มีนิมิตเครื่องกำหนดเป็นอย่างไร

และมีอุเทศคือว่าตั้งชื่อเรียกว่า นี่เป็นจักขุวิญญาณ นี่เป็นโสตะวิญญาณ ดั่งนี้เป็นต้น

กำหนดดูจิตของตนเองที่น้อมออกรับอารมณ์ ซึ่งเป็นตัวนามดังกล่าว

ให้รู้จักอาการ ให้รู้จักเพศ ให้รู้จักนิมิต ให้รู้จักอุเทศ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันฝึกให้รู้จักวิปัสสนาภูมิ

และเมื่อกำหนดให้รู้จักดั่งนี้

จึงจะเกิดสัมผัสคือความกระทบดังที่กล่าว โดยชื่อในรูป คือในส่วนที่เป็นรูป

เพราะว่าก็จะได้กำหนดชื่อ หรือรู้ชื่อของตาของหูจมูกลิ้นกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นต้น

อันเป็นส่วนรูปนั้นด้วย และก็ให้กำหนดรูปโดยอาการ โดยเพศ โดยนิมิต

และโดยอุเทศคือการที่จะตั้งชื่อเรียก ดังที่กล่าวมานั้นด้วย

และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะมีสัมผัสคือความกระทบในนาม

คือกระทบในเวทนาในสัญญาในสังขารในวิญญาณดังที่กล่าวมานั้นด้วย

และเมื่อได้พิจารณาทั้งนามทั้งรูปให้รู้จักดังกล่าวมานั้น

สัมผัสคือความกระทบ ทั้งโดยชื่อ ทั้งโดยการกระทบ กันและกัน ก็ย่อมบังเกิดขึ้น

และเมื่อจับพิจารณาดู สัมผัสคือความกระทบ ทั้งโดยชื่อ ทั้งโดยความกระทบ

ก็จะรู้จักตัวสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ อันเป็นส่วนนาม

และทั้งในกายอันเป็นส่วนรูป คือทั้งในนามรูป

ตามที่ตรัสแสดงไว้นี้ เป็นตรัสแสดงมุ่งทางวิปัสสนาภูมิ

โดยที่ตัดเอาข้ออายตนะตรงกลางออกเสีย จากนามรูปก็มาสัมผัสทีเดียว

แต่เมื่อแสดงโดยปรกติ ก็ตรัสแสดงนามรูปอายตนะแล้วจึงมาสัมผัส

เพราะฉะนั้น ในการฟังความที่ข้อเหล่านี้เป็นปัจจัยของกัน

จึงอาจใช้วิธีนี้พิจารณาทางวิปัสสนาภูมิได้ คือพิจารณาจับให้รู้จักนามรูปโดยอาการเป็นต้น

นำให้รู้จักสัมผัสซึ่งเกิดสืบเนื่อง ก็จะเห็นนามรูปเห็นสัมผัสเป็นวิปัสนาภูมิ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats