ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป055

สัมมาทิฏฐิ ๓๔ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 สังขาร ๓ ๓

ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ ๔

ชีวิตย่อมมีความตายเป็นที่สุด ๕

ทางเจริญปัญญา ๗

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๐/๑ ( File Tape 55 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๔ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงอธิบายข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ

พระเถราธิบายของท่านนั้น (เริ่ม ๗๐/๑) ก็ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิ จับตั้งแต่เบื้องต้น

และเลื่อนขึ้นสู่ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท

นับแต่ชรามรณะมีเพราะชาติ สืบไปจนถึงอวิชชาอาสวะ

แต่ละข้อก็แจกออกเป็น ๔ ตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และในการอธิบายก็ได้อธิบายในข้อที่ ๑ ของแต่ละหมวด

เมื่อจบแล้วก็ได้จับอธิบายในข้อที่ ๒ ของแต่ละหมวด คือเป็นปัจจัยให้บังเกิดกันขึ้นได้อย่างไร

จับแต่เพราะอาสวะบังเกิดขึ้น อวิชชาจึงเกิดอย่างไร

เพราะอวิชชาบังเกิดขึ้น อาสวะจึงเกิดอย่างไร

อันนับว่าเป็นการแสดงอริยสัจจ์สายสมุทัยที่สุดยอด

จับอาสวะและอวิชชา หรืออวิชชาและอาสวะ เป็นสุดยอดของสายสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

และก็แสดงถอยลงมา ว่าเพราะอวิชชาเกิด สังขารเกิดขึ้นอย่างไร

จึงมาถึงในข้อว่าเพราะสังขารเกิดวิญญาณจึงเกิด

 

สังขาร ๓

สังขารนั้นก็ได้แสดงอธิบายแล้ว

กล่าวรวมๆก็ได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง

ซึ่งตามพระเถราธิบายก็ได้ยกเอา กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกาย

อันได้แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งวาจา ก็ได้แก่วิตกวิจารความตรึกความตรอง

จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต ก็ได้แก่สัญญาเวทนา

อาศัยสังขารทั้ง ๓ นี้ จึงมีการทำบุญทำบาป

มีการปฏิบัติสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิได้ ทำบุญก็เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ

ทำบาปก็เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบาปที่มิใช่บุญ

ทำสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ ก็เรียกว่า อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว

และก็ได้แสดงแล้วว่ากายและใจนี้ของทุกคน ก็รวมเรียกว่าอัตตภาพนี้

เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ ชีวิตจึงดำรงอยู่

และการที่จะเข้าใจในข้อว่า เพราะสังขารเกิดขึ้นวิญญาณจึงเกิด

หรือเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิดขึ้น ดังที่ได้มีแสดงถึงชาติกำเนิดของสัตว์บุคคล

ซึ่งมีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุธาตุดิน

อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม อากาสธาตุธาตุอากาศ

และวิญญาณธาตุธาตุวิญญาณ ซึ่งแปลกันว่าธาตุรู้

ธาตุ ๕ ข้างต้นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาสคือช่องว่าง

เป็น รูปธาตุ ธาตุที่เป็นส่วนรูป ไม่มีความรู้อยู่ในตัว หรือเรียกว่าเป็นส่วนที่เป็นวัตถุ

 

ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ

เมื่อธาตุทั้ง ๕นี้ มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกันขึ้น

ดังที่มีพระบาลีแสดงไว้ถึงความเกิดขึ้นของบุคคลในครรภ์ของมารดา ว่าเริ่มตั้งต้นแต่เป็นกลละ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นหยดน้ำที่ละเอียดที่สุดติดอยู่ที่ปลายขนทราย ซึ่งในกลละนี้

ก็กล่าวได้ว่าธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมธาตุอากาสได้รวมกันอยู่ วิญญาณจึงลงปฏิสนธิ

อันเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็คือธาตุรู้ วิญญาณธาตุธาตุรู้เข้ามาประกอบ เริ่มเป็นสัตว์บุคคล

เพราะว่าจะเป็นบุคคลชายหญิงก็ต้องประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖ คือต้องมีวิญญาณธาตุ

ธาตุรู้เข้ามาประกอบด้วย และวิญญาณธาตุธาตุรู้นี้ก็เข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา

ในเมื่อธาตุทั้ง ๕ ประกอบกันพร้อมเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่ง วิญญาณจึงเข้าปฏิสนธิ

ซึ่งมีพระบาลีเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะบังเกิด

ก็เข้าสู่ครรภ์ ก็คือปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง

 เพราะฉะนั้น เพราะสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนี้เกิด วิญญาณจึงเกิดมาตั้งแต่เบื้องต้นดั่งนี้

และแม้เมื่อก่อเกิดเป็นบุคคลชายหญิง มีธาตุ ๖ ดังกล่าวสมบูรณ์โดยลำดับ

ตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเมื่อคลอดออกมาแล้ว กายใจอันนี้ก็ต้องผสมปรุงแต่งกันอยู่

เป็น กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร วิญญาณจึงบังเกิดขึ้น

วิญญาณที่บังเกิดขึ้นถัดมาจากปฏิสนธิวิญญาณ ก็เป็นวิถีวิญญาณ ก็คือวิญญาณ ๖

รู้ทางตาคือเห็นรูปเรียกว่าจักขุวิญญาณ รู้ทางหูคือได้ยินเสียงก็เรียกว่าโสตวิญญาณ

รู้ทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็เรียกว่าฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

รู้ทางมโนคือใจซึ่งเรื่องราวทั้งหลายที่ใจคิดใจรู้ ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ

แม้วิถีวิญญาณดังกล่าวนี้จะบังเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร

ปรุงแต่งกันอยู่ วิญญาณจึงเกิดได้

ดังจะพึงเห็นได้ว่ากายสังขารเครื่องปรุงกาย ได้แก่ลมหายใจเข้าออก

ซึ่งต้องหายใจเข้าออกกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้

เมื่อเป็นดั่งนี้วิญญาณจึงเกิดขึ้นได้ตามวิถี คือทางตาทางหูเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าหากว่าดับลมหายใจเข้าออก กายนี้แตกสลาย วิญญาณก็ดับ

 

ชีวิตย่อมมีความตายเป็นที่สุด

ชีวิตนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด

ก็คือว่าจะต้องถึงเวลาหนึ่งซึ่งจะต้องหยุดหายใจ ที่เรียกว่าตายหรือสิ้นชีวิต

ก็แปลว่าดับกายสังขาร ดับลมหายใจเข้าออก วิญญาณก็ดับ ไม่เกิด

ดังที่มีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ว่า

อจิรัง วตยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสสติ ไม่นานหนอกายนี้จักนอนทับแผ่นดิน

ฉุฑโฑ อเปต วิญญาโณ มีวิญญาณไปปราศแล้ว คือปราศจากวิญญาณต้องถูกทอดทิ้ง

นิรัตถัง วะ กลิงคะรัง เหมือนอย่างท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์

และแม้ วจีสังขาร เครื่องปรุงกายวิตกวิจารไม่เกิดขึ้น

คือเมื่อไม่ ไม่คิดไม่นึกไม่ตรึกไม่ตรองถึงเรื่องอะไร วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น

ต่อเมื่อตรึกตรองคิดนึกถึงเรื่องอันใด วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อความตรึกความตรองความคิดความนึกดับ วิญญาณก็ดับ

เมื่อความตรึกความตรองคิดนึกบังเกิดขึ้น วิญญาณก็เกิดขึ้นในเรื่องที่ตรึกตรองคิดนึกนั้น

 แม้ จิตสังขาร คือสัญญาเวทนาก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีสัญญามีเวทนา

จิตจึงจะคิดนึกตรึกตรอง วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องที่จิตคิดนึกตรึกตรองนั้น

เพราะว่าจิตจะคิดนึกตรึกตรองได้ก็เพราะมีเวทนา มีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์

เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข มีสัญญาจำได้หมายรู้อยู่ในเรื่องอันนั้น จิตจึงคิดถึงเรื่องอันนั้นได้

ถ้าไม่มีเวทนา ยกตัวอย่างเช่นฉีดยาชาที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง

หมดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ที่ร่างกายส่วนนั้น

แม้จะเอามีดมาผ่าตัดอย่างหมอผ่าตัดคนไข้ ความรู้สึกเจ็บก็ไม่มี

เมื่อความรู้สึกเจ็บไม่มี ก็ไม่ทำให้เกิดความคิดถึงส่วนนั้น วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น

ต่อเมื่อมีความรู้สึกเจ็บขึ้นในส่วนนั้น วิญญาณจึงจะเกิดขึ้นในส่วนนั้น

คือเป็นความรู้ รู้ทางกายที่เรียกว่า กายวิญญาณ

แต่เมื่อกายส่วนนั้นไม่มีความรู้สึกเจ็บ กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น

มาถึง สัญญา ความจำก็เช่นเดียวกัน

จิตจะคิดจะนึกถึงเรื่องอันใดก็เพราะจำเรื่องอันนั้นได้

ถ้าลืมเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะคิดนึกได้ จะคิดนึกได้ ก็คิดนึกได้ในเรื่องที่จำได้เท่านั้น

ถ้าจำไม่ได้ หรือไม่จำ ก็คิดนึกไม่ได้ วิญญาณก็บังเกิดขึ้นในเรื่องนั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีสัญญามีเวทนา จิตคิดถึงเรื่องอันใดอาศัยสัญญาเวทนา

ก็เกิดวิญญาณขึ้นในเรื่องนั้นตามวิถี ถ้าดับสัญญาเวทนาเสีย วิญญาณก็ดับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ดังเช่น โสตะวิญญาณ วิญญาณทางหูคือได้ยินเสียง

ในขณะนี้กำลังแสดงธรรมบรรยายเป็นเสียง เป็นเสียงที่ไปกระทบโสตะประสาทคือกระทบหู

จิตตั้งใจฟัง ก็หมายความว่ามีสัญญามีเวทนาอยู่ในเสียงที่ไปกระทบโสตะประสาท

โสตะวิญญาณความรู้เสียงทางหูจึงบังเกิดขึ้นคือได้ยิน ได้ยินถ้อยคำที่แสดงนี้

แต่ถ้าจิตไม่ตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ ส่งจิตไปคิดถึงเรื่องอื่น

ก็ไปมีสัญญาเวทนาในเรื่องอื่นที่ส่งจิตไปนั้น วิญญาณก็ไปบังเกิดขึ้นในเรื่องอื่นนั้น

แต่ว่าวิญญาณไม่บังเกิดขึ้นในเสียงที่กำลังแสดงอยู่นี้ แปลว่าหูดับ

แม้ว่าเสียงที่แสดงนี้จะไปกระทบโสตะประสาทอยู่เป็นปรกตินั่นแหละ โสตะประสาทก็ดีอยู่

แต่ว่าจิตไม่ตั้งใจฟัง คิดไป คิดถึงเรื่องอื่น หูก็ดับจากเสียงที่กำลังแสดงนี้ ไม่ได้ยิน

ไม่เกิดโสตะวิญญาณในเสียง แต่ว่าไปเกิดมโนวิญญาณในเรื่องต่างๆที่ส่งจิตไปคิดถึงนั้น

โสตะวิญญาณทางหูนี้ก็ดับ ไปเปิดมโนวิญญาณในเรื่องที่คิดไป

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยสังขาร เมื่อมีสังขารจึงมีวิญญาณดังกล่าวนี้

ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาดังกล่าว คือตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณ

และมาถึงวิถีวิญญาณคือวิญญาณที่บังเกิดขึ้น

ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจก็เช่นเดียวกัน

ต้องอาศัยสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร จิตสังขาร ดังกล่าวนี้เป็นปัจจัย

จึงได้เกิดวิญญาณขึ้นเป็นวิถีวิญญาณทางตาทางหูเป็นต้นตามประเภท

เพราะฉะนั้น เพราะสังขารบังเกิดขึ้น วิญญาณจึงเกิด

 

ทางเจริญปัญญา

ข้อที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงมาโดยลำดับ เป็นธรรมะที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกัน

เมื่อได้ตั้งใจฟัง และตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ ย่อมจะได้ความเข้าใจในธรรมะ

ที่เป็นสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล จะทำให้จับเหตุจับผล

ตั้งต้นแต่จับทุกข์ จับสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ และทำให้จับเงื่อนต้นเงื่อนปลายได้

เพราะทุกๆข้อที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกันนั้น ต่างเป็นเงื่อนต้นเงื่อนปลายของกันและกันไป

ทุกๆข้อ และเมื่อจับได้ถูกต้อง ก็ย่อมจะมีความเข้าใจถึงเหตุและผลอันถูกต้อง

( เริ่ม ๗๐/๒ ) การพิจารณาตามทางที่ท่านแสดงดั่งนี้ ย่อมเป็นทางเจริญปัญญา

หรือโดยเฉพาะเรียกว่าเป็นทางวิปัสสนา ทางที่ให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

อันจะทำให้จับสัจจะความจริงที่เป็นตัวเป็นเหตุ และเป็นผลได้

แม้การที่ปฏิบัติทำสติ หรือว่าตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นตัวสติปัฏฐานทุกข้อ

ก็เป็นการพิจารณาจับเหตุจับผลแต่ละข้อเช่นเดียวกัน

ทำให้ได้สมาธิ และทำให้ได้ปัญญา เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสไปได้โดยลำดับ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๓๕ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ ๔

นามรูป ๕

ภวังคจิต ๗

ธรรมชาติของจิต ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๑/๑ ( File Tape 55 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๕ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ

จนถึงได้แสดงอธิบายในข้อที่แสดงถึงเหตุปัจจัย เมื่ออวิชชาเกิดอาสวะเกิด

เมื่ออาสวะเกิดอวิชชาเกิด เมื่ออวิชชาเกิดสังขารเกิด เมื่อสังขารเกิดวิญญาณเกิด

และในวันนี้จะได้แสดงอธิบายต่อไป เมื่อวิญญาณเกิดนามรูปก็เกิด

ในข้อวิญญาณนี้ที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว ในพระเถราธิบายก็ยกเอาวิญญาณ ๖

ซึ่งเป็นวิถีวิญญาณ คือวิญญาณในวิถี คือในทางของอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖

 ส่วนในพระสูตรบางพระสูตร โดยเฉพาะ มหานิทานสูตร

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงปฏิสนธิวิญญาณรวมเข้าด้วย

และก็ได้มีพระพุทธาธิบายในพระสูตรนั้น ว่าเมื่อวิญญาณเกิดนามรูปก็เกิดอย่างไร

โดยที่ได้ตรัสแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยทรงตั้งเป็นพระพุทธปุจฉา

คือเป็นคำถามภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อวิญญาณไม่หยั่งลง คือไม่เป็นไป

ไม่ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา นามรูปจักก่อตัวขึ้นในครรภ์ของมารดาได้หรือไม่

ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบทูลว่าไม่ได้

และก็ได้มีอธิบายในคำที่ว่า จักก่อตัวขึ้นได้หรือไม่

ก็หมายถึงว่า จักก่อตัวขึ้นโดยเป็นกลละเป็นต้นนั้นเอง

เมื่อรวมพระพุทธปุจฉา และคำกราบทูลตอบของภิกษุทั้งหลายเข้าด้วยกัน

ก็รวมความเข้าว่าในการถือกำเนิดเกิดก่อของเด็กชายหญิง ตั้งต้นขึ้นในครรภ์ของมารดานั้น

ถ้าหากว่าวิญญาณไม่ก้าวลง คือไม่เป็นไป ดังที่เรียกว่าไม่ถือปฏิสนธิ

หรือปฏิสนธิวิญญาณไม่เข้ามา นามรูปก็จะก่อตัวขึ้นโดยเป็นกลละเป็นต้นหาได้ไม่

ได้มีพระพุทธปุจฉาต่อไปอีกว่า เมื่อวิญญาณหยั่งลง

ดังที่เรียกว่าถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาแล้ว หากว่าดับไป เคลื่อนไป

นามรูปจักบังเกิดเจริญขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าไม่ได้

รวมพระพุทธปุจฉา และคำกราบทูลตอบเข้าก็ได้ความว่า

แม้วิญญาณจะปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อตัวเป็นนามรูปขึ้นแล้ว

แต่ถ้าหากว่าวิญญาณที่เข้าถือปฏิสนธินั้น จุติคือเคลื่อนออกไป ดับไป

นามรูปแม้จะก่อตัวขึ้น ก็จะไม่บังเกิดเจริญเติบโตขึ้นต่อไป

ได้มีพระพุทธปุจฉาต่อไปอีกว่า

แม้เมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว เป็นเด็กหญิงเป็นเด็กชาย

ที่เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นแล้ว หากวิญญาณดับไปขาดไป นามรูปจักดำรงต่อไปได้หรือไม่

ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่านามรูปก็จักดำรงต่อไปไม่ได้ ก็จะต้องดับต้องแตกสลาย

รวมความเข้าแล้วก็ได้ว่า แม้เมื่อคลอดออกมาเป็นเด็กชายหญิง แม้เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว

หากวิญญาณขาดไปดับไปเสียเมื่อใด นามรูปก็แตกสลายเมื่อนั้น

หากวิญญาณยังอยู่ นามรูปก็ดำรงอยู่

ก็ได้มีพระพุทธาธิบายโดยทรงตั้งเป็นพุทธปุจฉาขึ้นเพียงเท่านี้

แม้เพียงเท่านี้ก็ย่อมทำให้เข้าใจต่อไปได้ทั้งหมดว่า แม้เมื่อเด็กชายหญิง ที่เป็นหนุ่มเป็นสาว

เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ เมื่อวิญญาณยังเป็นไปอยู่ นามรูปนี้ก็เป็นไปอยู่

เมื่อวิญญาณนี้ดับ หรือเคลื่อนไปที่เรียกว่าจุติ นามรูปนี้ก็จักขาดจักดับ

ก็เป็นไปตามพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นแล้วว่า

กายนี้ไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน มีวิญญาณไปปราศคือปราศจากวิญญาณ

ถูกทอดทิ้งเหมือนอย่างท่อนฟืนท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์

 

ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ

เพราะฉะนั้น วิญญาณตามพระพุทธาธิบายนี้

จึงเป็นวิญญาณที่มักจะเรียกกันว่า ปฏิสนธิวิญญาณ

แต่ว่ามักจะเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็เฉพาะเมื่อแรกปฏิสนธิ

ต่อจากปฏิสนธิคือทีแรกนั้นแล้ว วิญญาณนั้นก็ยังดำรงอยู่

และท่านยังมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า ภวังค์จิต

พระอาจารย์ผู้แสดงอธิบายพระสูตรท่านใช้คำเรียกอย่างนั้น

และก็ได้อธิบายถึงนามรูป เช่นอธิบายรูปเป็น กัมมัชชรูป รูปที่เกิดจากกรรมเป็นต้น

ตามนัยยะในอภิธรรม เมื่อรวมความเข้าแล้วก็คือว่า นามรูปนี้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่

จะต้องมีวิญญาณ หรือมีจิต หรือมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ตั้งอยู่

เมื่อวิญญาณธาตุ หรือจิต หรือวิญญาณดังกล่าวจุติ คือว่าเคลื่อนไปดับไป

นามรูปนี้ก็แตกสลาย เพราะฉะนั้น เมื่อวิญญาณเกิดขึ้นนามรูปจึงเกิด

หรือเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงบังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ตามพระพุทธาธิบาย

อนึ่ง อธิบายได้โดยทางวิถีวิญญาณ คือวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถี

คือตามทางของอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ที่มาประจวบกัน

เป็นจักขุวิญญาณรู้รูปทางจักษุก็คือเห็นรูป โสตะวิญญาณรู้เสียงทางหูก็คือได้ยินเสียง

ฆานะวิญญาณรู้กลิ่นทางจมูกคือทราบกลิ่น ชิวหาวิญญาณรู้รสทางลิ้นคือทราบรส

กายวิญญาณรู้โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องทางกายคือทราบสิ่งถูกต้อง และมโนวิญญาณ

คือรู้เรื่องราวทางมโนคือใจ ก็ต้องมีวิญญาณนี้บังเกิดขึ้นก่อน นามรูปจึงบังเกิดขึ้น

อันหมายความว่าส่วนที่เป็นรูปก็ปฏิบัติหน้าที่ของรูป ส่วนที่เป็นนามคือเวทนาสัญญาสังขาร

ก็บังเกิดขึ้นสืบต่อจากวิญญาณ เป็นไปตามพระเถราธิบายนั้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิญญาณบังเกิดขึ้นก่อน นามรูปจึงบังเกิดขึ้น

ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจง่ายๆว่า

ในเบื้องต้นนั้นทุกคนจะต้องเกิดวิญญาณขึ้นก่อนตามวิถี เช่นจะต้องเห็นรูป

ต้องได้ยินเสียง ต้องได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ และได้คิดได้รู้เรื่องทางมโนคือใจ

และเมื่อเป็นดั่งนี้นามคือเวทนาสัญญาสังขารทั้งหลายจึงบังเกิดสืบต่อกันไป

และรูปจึงปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามนาม เวทนาสัญญาสังขารนั้นสืบต่อไป

ถ้าหากว่าไม่มีวิญญาณ คือไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง เป็นต้น

นามรูปก็ไม่ปฏิบัติหน้าที่ คือไม่บังเกิดเป็นนามรูปขึ้น

และข้อที่พึงหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เห็นชัดขึ้นไปอีก

ก็คือตัวจิตกับอารมณ์ จิตที่คิดไปในอารมณ์ต่างๆ ดำริไปในอารมณ์ต่างๆ

ครุ่นคิดไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ต้องมีอาศัยวิญญาณบังเกิดขึ้นก่อน

และการที่จะทำความเข้าใจในข้อนี้ ก็จะต้องทำความเข้าใจในข้อนามรูปอีกสักหน่อยหนึ่ง

 

นามรูป

คำว่านามนั้นเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือมิใช่รูป

สักแต่ว่าเป็นชื่อเรียกขึ้นในสิ่งที่ไม่มีรูป คือมีแต่นามไม่มีรูป

ส่วนที่เป็นรูปนั้นก็คือที่เป็นวัตถุ อันเป็นรูปอย่างหยาบ

และที่เป็นตัวที่ตั้งของจิตแม้ไม่ใช่รูป ที่กำหนดของจิตแม้มิใช่รูป

ก็ขอยืมคำว่ารูปมาเรียกด้วย เช่นคำว่าปิยะรูปสาตะรูป รูปที่เป็นที่รักรูปที่เป็นที่พอใจสำราญใจ

อันหมายถึงทุกๆสิ่งที่จิตกำหนดถึง ก็คือตัวอารมณ์นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนรูป

หรือเป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนธรรม คือเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่รูป

แต่ว่าเป็นสิ่งที่จิตกำหนดถึง จิตคิดถึง อันเป็นส่วนที่รักใคร่ เป็นส่วนที่ชอบใจ สำราญใจ

ก็เรียกว่าปิยะรูปสาตะรูปได้ ขอยืมคำว่ารูปมาใช้เรียกครอบไปได้ทั้งหมด

และโดยเฉพาะส่วนที่เป็นอารมณ์ของจิตนั้น คือเป็นตัวเรื่อง ไม่ใช่เป็นตัววัตถุโดยตรง

เป็นตัวเรื่อง เป็นเรื่องของวัตถุก็ได้ เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุก็ได้

คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นคิดถึงหรือหมกมุ่นถึง อันเรียกว่าอารมณ์

อารมณ์นี่แหละ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ที่พอใจสำราญใจ ก็เรียกว่าปิยะรูปสาตะรูปได้

คือเป็นสิ่ง รูปก็คือเป็นสิ่ง สิ่งที่จิตคิดดำริหมกมุ่นถึง อันเป็นที่ชอบใจสำราญใจพอใจ

ก็เป็นปิยะรูปสาตะรูป คำว่ารูปจึงมีความหมายที่เป็นวัตถุโดยตรง

หรือหมายถึงสิ่งที่จิตกำหนดคิดถึงหมกมุ่นถึง อันเรียกว่าอารมณ์ดังกล่าว นี้เป็นตัวอารมณ์

และเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน

จิตก็ออกจากภวังค์ น้อมออกไปรับอารมณ์ คือไปรับเรื่องของรูปของเสียง

ของกลิ่นของรสของโผฏฐัพพะ ของธรรมะคือเรื่องราวนั้นเข้ามา

ตัวรูปจริงๆ เสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะจริงๆ เป็นวัตถุย่อมเข้ามาสู่จิต ซึ่งมิใช่วัตถุ

เพราะจิตไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า

อสรีรัง ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน แต่มีกายนี้เป็นที่อาศัย

วัตถุเข้ามาสู่จิตไม่ได้ สิ่งที่เข้ามาสู่จิตได้ก็คือตัวอารมณ์ คือเป็นเรื่อง เรื่องของสิ่งเหล่านั้น

ธรรมารมณ์อารมณ์คือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วเป็นต้น

ก็เหมือนกัน ไม่ใช่วัตถุ ก็เข้าสู่จิตได้ เข้าสู่จิตในฐานะเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเช่นเดียวกัน

อารมณ์คือเรื่องที่จะเข้าสู่จิตได้นี้ ก็จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วิญญาณเช่นเดียวกัน

คือจะต้องเกิดวิญญาณขึ้นก่อน อารมณ์ทั้งหลายจึงจะเข้าสู่จิตได้

ภวังคจิต

( เริ่ม ๗๑/๑ ) และจิตนี้ท่านได้มีแสดงอธิบายไว้ในอภิธรรม

ว่าจิตที่เป็นตัวจิตซึ่งยังไม่มีอารมณ์เรียกว่า ภวังคจิต

คำว่าภวังค์นั้นแปลว่าองค์ของภวะ คือองค์ของภพ คือความเป็น

พิจารณาดูในทางหนึ่งก็น่าเข้าใจว่า นามรูปนี้เมื่อมีจิตที่เริ่มแต่ปฏิสนธิจิต

หรือปฏิสนธิวิญญาณ ดั่งที่กล่าวมาแล้วตามพระพุทธาธิบายที่อ้างมาข้างต้นนั้น

จึงมีตัวภพคือความเป็น ในที่นี้มุ่งถึงความมีชีวิต นามรูปนี้ยัง..ก็ดำรงอยู่

และเมื่อมีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณตั้งแต่เบื้องต้น ก็ก่อตั้งนามรูปนี้มาในเบื้องต้น

เติบใหญ่ขึ้นเจริญขึ้นมาโดยลำดับ ดังที่ปรากฏอยู่แก่ทุกๆคนในบัดนี้

เพราะยังมีตัวจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณในเบื้องต้น

และดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระอาจารย์ท่านเรียกว่าภวังคจิตอีกคำหนึ่งด้วย

คือจิตที่เป็นองค์ของภพ คือเป็นองคสมบัติ หรือองคคุณแห่งภพคือความเป็น

ในที่นี้คือชีวิตความดำรงอยู่ ความเป็นอยู่ ความมีชีวิตอยู่ ชีวิตก็คือความเป็นไม่ตาย ยังเป็นอยู่

เพราะฉะนั้น ตัวจิตที่ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ ทำให้นามรูปนี้ดำรงอยู่ จึงเรียกอีกคำหนึ่งว่า ภวังคะ

องค์ของภพ องค์ของความเป็น เป็นอยู่ดำรงอยู่ ไม่ตาย ยังมีจิตนี้อยู่ก็แปลว่ายังไม่ตาย

ยังดำรงอยู่ ยังเป็นอยู่ พิจารณาดูความก็เป็นดั่งนี้ได้ จึงเรียกว่าภวังคจิต

ท่านอาจารย์ท่านก็เรียกดั่งนั้นว่าภวังคจิต อันทำให้ยังดำรงอยู่ ยังเป็นอยู่ ไม่ตาย

และความหมายของภวังคจิตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า

ตัวภวังคจิตที่แท้ๆนั้นไม่รับ ยังไม่มีอารมณ์ คือจิตที่ยังไม่มีอารมณ์เรียกว่าภวังคจิต

ต่อเมื่อมีอารมณ์จึงเป็น วิถีจิต วิถีวิญญาณ จิตที่บังเกิดขึ้นเป็นไปตามทาง

ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกันเป็นต้น จิตที่เป็นไปตามนี้ก็คือว่าจิตเดินทาง

จิตเคลื่อนไหว จิตที่น้อมไป ไม่ใช่จิตที่อยู่ตัว คือนิ่งอยู่เฉยๆ

เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีคำเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนอย่างคนที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง

เมื่อมะม่วง ผลมะม่วงหล่นลงมา เสียงผลมะม่วงหล่นลงมากระทบแผ่นดิน

เสียงนั้นก็มากระทบโสตะประสาทของคนที่นอนหลับ ก็ตื่นขึ้นมา

ตื่นขึ้นมาก็เอื้อมมือไปหยิบเอาผลมะม่วงมาบริโภค เสร็จแล้วก็หลับไปใหม่

นี้เป็นอุปมา มีข้ออุปมัยว่าจิตที่อยู่ในภวังค์นั้น ก็เหมือนอย่างคนนอนหลับ

และจิตที่ออกรับอารมณ์นั้น ก็เหมือนอย่างคนนอนหลับที่ตื่นขึ้น

เอื้อมมือออกไปหยิบผลมะม่วงบริโภค แล้วก็หลับไปใหม่

 

ธรรมชาติของจิต

ก็คือเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน

ก็เหมือนอย่างเป็นสิ่งที่มากระทบเข้ากับภวังคจิต ภวังคจิตก็ตื่นขึ้นมาน้อมออกรับอารมณ์

เมื่อรับอารมณ์แล้วก็กลับเข้าภวังค์ใหม่ คือเหมือนอย่างหลับไปใหม่

เมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกันใหม่ จิตก็ออกจากภวังค์ ออกรับอารมณ์

น้อมออกรับอารมณ์ เสร็จแล้วก็หลับไปใหม่ คือเข้าภวังค์ใหม่

ท่านแสดงธรรมชาติของจิตไว้ดั่งนี้

จิตที่ไม่รับอารมณ์นั้นเรียกว่าภวังคจิต และจิตที่ออกรับอารมณ์นั้นเรียกว่าวิถีจิต

วิถีก็คือทาง ก็หมายความว่าจิตน้อมออกไป เหมือนอย่างเดินทาง

และในการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์นี้ เมื่อแสดงตามขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ก็เป็นวิญญาณขึ้นก่อน คือว่าเริ่มแต่จักขุวิญญาณ คือเมื่อตากับรูปมาประจวบกัน

กระทบถึงจิต จิตก็ออกจากภวังค์ มาเป็นวิถีจิต ทีแรกก็เป็นจักขุวิญญาณ

รู้รูปทางจักษุคือเห็นรูป ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน

และเมื่อเป็นจักขุวิญญาณเห็นรูปขึ้นแล้ว ก็เกิดสัมผัส เกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร

ก็โดยอาศัยรูปนั้นเอง เป็นนามรูป คือจะต้องมีรูปเป็นที่อาศัยอยู่ด้วย

จึงจะเกิดเป็นสัมผัสเป็นเวทนาทางกายทางใจ หรือว่าทางรูปกาย และทางใจ

เกิดสัญญาเกิดสังขาร คือคิดปรุงหรือปรุงคิด เสร็จแล้วก็เข้าสู่ภวังค์ใหม่ในอารมณ์นั้น

ครั้นเมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกันใหม่อีก

จิตก็ออกจากภวังค์ น้อมออกรับอารมณ์ใหม่ ก็เป็นวิญญาณขึ้นก่อน

แล้วก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา สังขาร โดยมีรูปเป็นที่อาศัยไปด้วยกัน

เสร็จแล้วก็กลับสู่ภวังค์ใหม่ เป็นไปดั่งนี้ทุกอารมณ์ แต่ว่าเป็นไปรวดเร็วมาก

และจิตนี้ก็มีปรกติรับอารมณ์ได้คราวละ ๑ เท่านั้น จะรับพร้อมกัน ๒ ไม่ได้

คราวละ ๑ และเมื่อที่ ๑ เกิดดับไปแล้ว จึงรับอารมณ์ที่ ๒ ได้

อารมณ์ที่ ๒ เกิดดับไปแล้ว จึงรับอารมณ์ที่ ๓ ได้ ต่อๆไปดั่งนี้

ที่ว่าเกิดนั้นก็คือว่าออกจากภวังค์ ดับนั้นก็คือว่าเข้าสู่ภวังค์ตามเดิม

เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของจิตดั่งนี้

เพราะฉะนั้น อารมณ์ทุกอารมณ์นั้น ก็เป็นนามรูปนั่นเองรวมกันอยู่ ซึ่งตั้งต้นแต่วิญญาณ

เมื่อมีวิญญาณขึ้นก่อนแล้ว จึงจะออกรับอารมณ์ บังเกิดเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร

คือเป็นความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นความจำได้หมายรู้

เป็นความคิดปรุงเป็นความปรุงคิด ในเรื่องนั้น ไปทีละอารมณ์ดั่งนี้

แต่ว่าเพราะรวดเร็วมาก จึ่งได้ไม่รู้สึกว่า หรือไม่รู้ว่า เป็นทีละอารมณ์

เป็นทีละอารมณ์ เกิดดับอยู่ทีละอารมณ์ ทีละอารมณ์

และจิตก็ออกจากภวังค์ เข้าสู่ภวังค์ อยู่ทีละอารมณ์ ทีละอารมณ์ ดั่งนี้

เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของจิตเป็นไปอยู่ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ภวังคจิต ซึ่งเป็นตัวจิตต้นเดิม รับอารมณ์ก็ออกจากภวังค์มาเป็นวิถีจิต

วิถีจิตนั้นทีแรกก็เป็นวิญญาณ แล้วจึงจะเป็นนามเป็นรูป เป็นตัวอารมณ์

ดังที่ปรากฏอยู่ในจิตใจของทุกๆคนอย่างเต็มที่ ทุกคนก็มีสุขมีทุกข์ มีเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

มีความจำได้หมายรู้ มีความคิดปรุง มีความปรุงคิด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นนามรูปนี่แหละรวมกันอยู่ เป็นตัวอารมณ์ซึ่งจะต้องมีวิญญาณเป็นเบื้องต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด นี้เป็นอธิบายตามวิถีวิญญาณ หรือวิถีจิต

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats