เหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน

วันนี้จะได้บรรยายถึงเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว เพราะว่าเหตุการณ์ปรินิพพาน รายละเอียดท่านอาจไปแสวงหาได้จากข้อความทั่วไปในพระไตรปิฎก เท่าที่บรรยายไปแล้วเพียงแต่สรุปสารัตถะสำคัญในพุทธศาสนา ให้ฟังในรูปที่ว่า พุทธศาสนานั้น แตกต่างจากศาสนาดั้งเดิมในอินเดีย โดยที่พระพุทธเจ้าท่านใช้วิธี การ 3 ประการคือ วิธีการที่เรียกว่า ปฏิรูป ปฏิวัติ และก็ทรงบัญญัติลัทธิธรรมขึ้นใหม่  เพราะฉะนั้นในวันนี้จะได้บรรยายถึงเหตุการณ์ของสังฆมณฑลหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว ก่อนที่จะเข้าถึงประเด็นในข้อนี้ก็ต้องทราบถึงความเป็นไปในปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ของพระบรมศาสดาเสียก่อน เพราะเหตุการณ์ในปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพนั้น มีผลสะท้อนอย่างใหญ่หลวงต่อประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในกาลต่อมา คือว่า เริ่มต้น ในประเด็นข้อที่ว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงตั้ง พระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่งให้เป็นศาสดาควบคุมการปกครองคณะสงฆ์แทนพระองค์ โดยที่ให้ยึดเอาพระธรรมวินัยนั้น เป็นพระศาสดาแทนพระองค์สืบต่อไป มูลเหตุที่ไม่ทรงชี้ไปที่ตัวบุคคลนั้นก็เพราะ คงมีอนาคตังคญาณเห็นว่าเรื่องของบุคคลเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงแท้ ถ้าเอาชะตากรรมไปฝากไว้กับตัวบุคคลแล้ว  ถ้าในกาลานุกาลที่ล่วงผ่านพ้นไป เมื่อพระอริยะบุคคลหมดตัวลง มีแต่สงฆ์ปุถุชนเป็นใหญ่ เรื่องการแก่งแย้งตำแหน่งอำนาจ ในการที่จะเป็นผู้บริหารกิจพระศาสนาก็จะเกิดขึ้น อันนี้กลับทำให้เราเห็นพระปัญญาคุณของพระศาสดา ที่พระองค์ไม่ฝากเอาศาสนาไว้กับตัวบุคคล  เพราะตัวบุคคลเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตัวศาสนานั้นไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไปฝากไว้กับตัวบุคคลแล้ว ก็เท่ากับว่า ถ้าตัวบุคคลเกิดเปลี่ยนแปลงลง บุคคลนั้นอาจจะหักล้างธรรมวินัยที่พระองค์บัญญัติ หรือว่าบัญญัติในสิ่งที่พระองค์มิได้บัญญัติ เป็นรุ่นธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นก็ได้  เท่ากับว่าพระองค์ไปให้อำนาจกับคน คนก็ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ แต่นี่พระศาสดาไม่ทรงกระทำอย่างนั้น อันนี่ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ศาสนาอื่นๆแล้ว ศาสนาใดที่มอบอำนาจไว้กับตัวบุคคล  ศาสนานั้นจะต้องมีเรื่องแก่งแย่งตำแหน่งอำนาจ หน้าที่  เช่นว่าในศาสนาโรมันคาทอลิค ของศาสนาคริสเตียนเขา ตำแหน่งโป๊ปหรือสันตะปาปาเขานะ ในเมื่อเซนปอลเป็นคนแรกที่เอาศาสนาคริสต์ไปตั้งมั่นในกรุงโรม ต่อมาก็บรรดาสาวกที่ต่อจากเซนปอลก็อ้างตัวว่าเป็นผู้ที่ สืบบัญชาของพระเจ้าด้วยตัวของเขาเอง แล้วตำแหน่งโปบนี่แหละต่อมาก็วิ่งเต้นคอรัปชั่นซื้อขายตำแหน่งกันโกลาหลวุ่นวาย ในคริสตจักรของโรมันคาทอลิคเขา ถึงขนาดผู้หญิงเองก็ติดสินบนวิ่งเต้นขอสมัครเป็นโปบบ้าง คิดดูเถอะผู้หญิงแท้วิ่งเต้นอยากจะเป็นสังฆราช นิกายคาทอลิดบ้าง เด็กอายุ 7 ขวบ เนื่องจากพ่อติดสินบนพวกพระราชาคณะในนิกายโรมันคาทอลิดไว้อย่างสูง เด็กอายุ 7 ควบก้ได้รับเลือกให้เป็นโปป อย่างนี้ก็มี ความเสื่อมเสียก็เกิดขึ้นมีความเลอะเทอะจนกระทั่ง มาตินลูเธอะ ต้องปฏิวัติโดยการแยกนิกายใหม่ เรียกว่านิกายโปแตสแตน อันเป็นนิกายคัดค้านนิกายโรมันคาทอลิค เพราะเห็นความเหลวแหลก เสื่อมโทรม ในวงการบริหารของคณะบาทหลวงในนิกายโรมันคาทอลิคมาแล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าพุทธศาสนาไปทำตามอย่าง เหมือนว่าพระพุทธเจ้าเกิดพระพุทธเจ้าไปมอบอำนาจศาสนาไว้กับพระสาวกองค์ใด องค์หนึ่ง แน่นอนว่า ในสมัยต้นๆที่ยังมีพระอริยะบุคคลอยู่ ไอ้ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งกัน คอรัปชั่นตำแหน่งกันก็คงจะไม่มี แต่ใครเลยจะรับประกันว่า เมื่อหมดสมัยพระอริยบุคคลว่า ปุถุชนสงฆ์เป็นใหญ่ขึ้นแล้ว เรื่องวิ่งเต้น แย่งอำนาจ แย่งตำแหน่ง ทำไมจะมีไม่ได้ มีได้แน่นอน เพราะว่ากิเลสอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้ก็มีได้ที่นั่น อันนี้แหละครับที่ทำให้เราเลื่อมใสพระปัญญาคุณ ของพระบรมศาสดาของเราว่าพระองค์ท่านเล็งการไกล เมื่อพระอานนท์เถระเจ้ามาทูลถาม ถึงผู้แทนพระองค์เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว พระองค์จึงชึ้ไปเอาที่ธรรมวินัย ที่พระองค์บัญญัติเป็นศาสดา เมื่อยึดถือเอาธรรมวินัยเป็นศาสดาแล้วก็ตกลงว่า การตัดสินข้อความทุกอย่าง หรือการบริหารทุกอย่าง ต้องอาศัยพระวินัยกับปาพจน์ทั้งหมดที่พระองค์แสดงไว้เป็นหลัก เท่ากันว่าพระองค์มีพระชนม์ชีพอยู่นั่นเอง อยู่ควบคุมสาวก โดยทรงอยู่ด้วยพระธรรมกาย ไม่ใช่อยู่ด้วยพระรูปกาย ประเด็นในปัญหาข้อนี้ทั้งๆที่ในสมัยที่พระพุทธเจ้านิพพาน มีพระอรหันตสาวกที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ยังมีชีวิตอยู่เป็นหลายท่าน อาทิเช่น พระควัมปติ พระมหากัสสปะ พระอุบาลี พระอุปวน พระมหากัจจยนะ พระอานนท์ พระอนุรุทธะ พระกุมารกัสสปะ พระมหาสาวกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธรรมเสนาที่ เป็นกำลังต่อพระศาสนา ทั้งๆที่มีอยู่ถึงขนาดนี้ พระบรมครูยังไม่มอบหมายให้พระสาวกรูปใดรูปหนึ่ง เหล่านี้เป็นผู้แทนพระองค์  อันนี้เราจะเห็นเจตนารมณ์ของพุทธศาสนาแท้ๆว่า หลักการในทางพุทธศาสนาเรานั้นถือหลักธรรมาธิปไตยเป็นใหญ่ ไม่ถือหลักอัตตาธิปไตร หรือโลกาธิปไตยเป็นใหญ่

ประเด็นปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ เรื่องที่พระอานนท์ทูกถาม พระศาสดา มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน มีอยู่เรื่องหนึ่งที่พระองค์ปรารถขึ้นเองว่า “ดูก่อน อานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ในกาลที่เราล่วงลับไป” ปาพจน์ข้อนี้สำคัญนักหนา ที่เป็นเหตุให้เกิดมหายาน หีนยานในกาลภายหลังก็เกิดจากปาพจน์ข้อนี้แหละ เมื่อมีพระดำรัสเช่นนี้แล้ว พระอานนท์เถระเจ้าก็มิได้ทูลถามต่อไปว่า สิกขาบทเล็กน้อยที่พระองค์หมายถึงนะได้แก่สิกขาบทประเภทไหน

( ถึงแม้พระอานนท์จะถาม พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ตอบ ด้วยความเป็นสัพพัญญูของพระองค์ พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อความรุ่งเรืองของศาสนา และเพื่อความรู้แจ้งของสาวก ได้เอง แต่เมื่อถึงคราวจะยกเลิก ท่านจึงไม่บอกให้ชัด ท่านไม่รู้เชียวหรือ ว่าการบอกเพียงเท่านี้ อนาคตต้องมีปัญหา ถึงแม้ท่านจะรู้ แต่เมื่อท่านบัญญัติสิกขาบทเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงท่านจึงบัญญัติ ในอนาคตเมื่อเหตุการณ์เกิดขี้นเมื่อสมควรแก่เหตุในต้องถอน ท่านก็เชื่อในความสามารถของหมู่สาวก ว่าจะถอนในสิ่งที่สมควรได้ เชื่อว่าท่านรู้ด้วยสัพพัญญูญาณว่าอนาคตต้องเกิดเรื่องขึ้น และเรื่องที่เกิดขึ้นจะนำพาให้ศาสนาดำรงอยู่ได้ และรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป ท่านจึงมีพระดำรัสเช่นนั้น ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้พุทธศาสนาต้องสูญสิ้นไป เชื่อว่าท่านคงจะไม่ดำรัสให้ถอนได้ และถ้าจะให้ถอนอะไรบ้าง ท่านกล่าวได้จะหมดสู้ไม่ให้ถอนเลยจะดีกว่า ล๊อกไว้จนแตกหักทำลายไปเองในไม่ช้า ฤทธิชัยผู้ถอดเทป)

เพราะฉะนั้นในการที่พระพุทธเจ้านิพพานลง คณะสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียในครั้งนั้น ไม่ได้ทราบกันทั่วถึง ที่ทราบกันส่วนมากก็เป็นคณะสงฆ์ในภาคตะวันออก คือ แถวภาคตะวันออกของมคธ แถวเมืองปาวา กุสินารา เวสาลี บริเวณบ้านเมืองเหล่านี้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานอย่างรวดเร็ว เพราะว่าใกล้ชิดกัน ส่วนแว่นแคว้นที่ไกลออกไป เช่นอุเชนี ท่านมหากัจจายนะ แม้แต่ปฐมสังคายนายังไม่ได้ระบุท่านเสียด้วยซ้ำ สงสัยว่าท่านจะเข้าประชุมปฐมสังคายนาหรือเปล่า หรือว่าจะมาไม่ทัน เพราะว่าการคมนาคมครั้งนั้นกว่าข่าวพุทธปรินิพพานไปถึง แคว้นอุเชนีซึ่งเป็นแคว้นชายแดนของมัธยมประเทศในภาคตะวันตก ก็คงเป็นเวลาเดือนๆ แล้วกว่าท่านมหากัจจยนะจะเดินทางมา ที่ราชคฤธ ก็อาจจะกินเวลาเป็นเดือนๆ เพราะฉะนั้น น่าสงสัยอยู่ว่าท่านผู้นี้ บางทีจะไม่ได้เข้าประชุมปฐมสังคายนากระมัง  เพราะว่าที่ประชุมปฐมสังคายนารู้สึกว่าทำกันอย่างรวบรัด ต้องการทำอย่างรวดเร็ว แล้วคิดดูซิว่า วันเพ็ญเดือน 6 พระศาสดาดับขันธ์ พอเข้าพรรษาก็เริ่มประชุมแล้ว เดือน 6 กับเข้าพรรษาห่างกันกีเดือนนักเชียว ถ้าพระที่อยู่ท้องถิ่นห่างไกลออกไป กว่าข่าวจะไปถึง กว่าจะเดินทางมา ไม่ทันเข้าประชุมแน่ เพราะฉะนันพระมหากัสสป ซึ่งโดยอายุ โดยตำแหน่งก็ถูกอุปโหลกขึ้นมาเป็นประธานสงฆ์โดยตำแหน่ง ทั้งนิตินั ทั้งพฤตินัย เพราะเหตุที่พระมหากัสสปเวลานั้นมีพรรษาสูงสุด กว่าพระมหาสาวกองค์อื่นๆประการหนึ่ง ก็เพราะว่าท่านได้รับยกย่องจากพระบรมครูว่า ถ้าแม้พระกัสสปไม่พบเราหรือเกิดในสมัยที่ไม่มีสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติแล้ว มหากัสสปะก็จะบรรลุเป็นปัจเจกโพธิพุทธเจ้า  บารมีของพระมหากัสสปะนั้นแก่รอบเหลือเกิน ถ้าไม่ได้พบพระพุทธเจ้า ท่านก็เป็นปัจเจกโพธิพุทธเจ้าแน่นอน แล้วเมื่อได้เป็นพระอรหันตสาวกแล้ว พระศาสดาก็ยกย่อง ว่าในบรรดาพระสาวกทั้งปวงของพระองค์นะ ในทางอภิญาสมาบัติแล้ว มหากัสสปะนี้เท่าเทียมทุกอย่าง พระองค์จำนงหวังในการเข้าฌานสมาบัติขั้นใดอยู่ได้นานเท่าใด มหากัสสปะก็จำนงหวังเข้าได้นานเท่านั้น อยู่ได้โดยกาลเท่านั้น สม่ำเสมอ กับพระองค์ไม่มีผิด ไม่มีแปลกเลย นี่เป็นข้อที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปมาก ว่ามีคุณสมบัติในทางจิตเสมอกับพระองค์โดยตรงที่เดียว ถึงกับพระองค์ได้แลกเปลี่ยนผ้าสังฆฏิห่มกับพระมหากัสสป นี่เป็นการให้เกียรติพระมหากัสสป อย่างใหญ่หลวง เท่ากับเป็นการประกาศตำแหน่ง พระมหากัสสปโดยปริยายว่า ถ้าพระองค์นิพพานแล้ว ท่านผู้นี้แหละจะเป็นประธานควบคุมบริหารคณะสงฆ์ต่อไป โดยพฤตินัยนะครับ โดยนิตินัยพระองคืไม่ได้แต่งตั้งใครละ  แต่โดยพฤตินัยการที่พระองค์ทรงยกย่องให้อำนาจ แล้วก็แลกเปลี่ยนสังฆฏิครองกับท่านผู้นี้อย่างนี้ ไม่เคยยกย่องแม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ยังไม่เคยได้รับการให้เกียรติ จากพระบรมครูถึงขนาดพระมหากัสสปะเลย อันนี้ก็ควรที่จะรับรู้ไว้ประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อนิพพานลง พระมหากัสสป รีบประกาศเป็นอาญาสิทธิ์ ออกมา บอกว่าให้จวนเข้าพรรษาให้คณะสงฆ์พร้อม ทั้งหมดที่รู้เห็นเหตุการณ์ ในรอบๆเมืองกุสินาราที่รู้นี่แหละ ไปชุมนุมพร้อมกันที่เมืองราชคฤห์ แล้วก็มี กฎเกณร์รูป คุณสมบัติ ผู้เข้าประชุมว่าจะต้องเป็นพระอรหันต์ด้วย จะต้องเป็นเจตวิมุตบุคคลด้วย ถ้าเป็นสุคสัตสกก็ห้ามเข้าประชุม แม้เป็นอรหันต์ก็ห้าม ต้องเป็นเจตวิมุติบุคคล เพราะฉะนั้นจำนวนพระที่ไม่ได้เข้าประชุมนะ มีเยอะ จำนวนพระที่เข้าประชุมนะมีน้อย จึงปรากฏว่าเลือกพระอรหันต์ 500 รูปที่เป็นเจตวิมุติ เฉพาะที่อยู่แถวเมืองกุสินารา ปาวา แล้วก็ราชคฤห์ เวสาลี บริเวณ 3-4 เมืองนี่แหละครับ เป็นภาคีฝ่ายสงฆ์ที่เข้าไปทำสังคายนาในถ้ำสัตตบรรณคูหา มติในที่ประชุมสงฆ์สัตตบรรณคูหานั้น มีข้อที่ควรจะรับทราบอยู่ เพราะเป็นข้อที่สำคัญมากคือเรื่องการปรับอาบัติพระอานนท์เถระเจ้า พระอานนท์เถระเจ้าเราก็ทราบดีอยู่แล้ว ว่าเป็นสัทธรรมคันธาฆาริกะ ที่พระศาสดายกย่องเหลือเกิน แปลว่า พระมหากัสสปก็ตั้งข้อแม้สำหรับพระอานนท์ห้ามไม่ให้เข้าประชุม พระอานนท์ก็ไปทำความเพียรกระทั่งได้บรรลุทันเข้าประชุม เมื่อเข้าประชุมแล้ว พระมหากัสสป ได้ตั้งอธิกรณ์ ปรับโทษพระอานนท์ หลายกระทงความด้วยกัน เพราะว่าข้อแรกที่ปรับโทษพระอานนท์คือ พระอานนท์นั้น เมื่อพระศาสดาทำนิมิตโอภาส พระอานนท์ไม่กราบทูลอารธนา คือหมายความว่าเมื่อพระศาสดาแสดงว่าดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งถ้าเจริญอิทธิบาทสี่ ให้เป็นไปโดยยิ่ง เป็นไปให้ทางถึงพร้อมถึงโดยสมบูรณ์ แม้ความจำนงหวังจะมีอายุตั้งอยู่กัปหนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปก็เป็นได้ ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆหลายแห่งก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามที่ประทับรอบๆเมืองเวสาลี ระหว่างพรรษาสุดท้ายก่อนหน้าปรินิพพาน พระอานนท์ก็ไม่ได้ทูลถาม หรือทูลอารธนาให้พระองค์ ดำรงพระชนมายุอยู่ไปหนึ่งกัปหรือยิ่งกว่ากัป นี่เป็นโทษข้อหนึ่งที่พระมหากัสสปประกาศในที่ท่ามกลางสงฆ์ ปรับอาบัติพระอานนท์ ข้อที่ 2 ข้อที่พระอานนท์ เป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเพศได้อุปสมบทในพระธรรมวินัย พระมหากัสสปถือว่าเป็นความผิดที่ขวนขวายให้ผู้หญิงเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้ เป็นความผิดพลาด เป็นการบันรอนอายุพระศาสนา ว่าอย่างนั้น ปรับอาบัติพระอานนท์เป็นข้อที่ 2

(เหตุการณ์ที่พระนางปชาบดีโคตรมี บวชเป็นภิกษุณีเกิดขึ้นในพรรษาที่ 5ของพุทธกาล การปรับอาบัติครั้งนี้ ล่วงเลยจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 40 ปี ฤทธิชัยผู้ถอดเทป)

ข้อที่ 3 ปรับอาบัติพระอานนท์ในข้อที่ว่า เย็บผ้าวัสสิกะสาฎก คืนผ้าอาบน้ำฝนของพระผู้มีพระภาค ไม่แสดงความเคารพ เอาเท้าไปเหยียบผ้าวัสสิกะสาฎกของพระผู้มีพระภาค พระมหากัสสปถือว่า เป็นการไม่แสดงความคารวะต่อพระบรมครู ปรับอาบัติ ข้อที่ 4 พระอานนท์มิได้ทูลถามว่า สิกขาบทเล็กน้อย ที่พระบรมครูมีพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนได้ ได้แก่สิกขาบทประเภทไหน ถือเป็นความผิดปรับอาบัติ

(ขอเพิ่มจากความเห็นเดิมในเรื่องนี้เล็กน้อย พระพุทธองค์หนึ่ง พระมหากัสสปอรหันต์หนึ่ง พระอานนท์ซึ่งในขณะที่เกิดเหตุยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ใครเป็นสัพพัญญู ใครมีปัญญามากกว่ากัน ฤทธิชัย)

ข้อที่ 5 พระอานนท์เถระเจ้านั้นปล่อยให้พวกสตรี ไปถวายบังคมพระพุทธสรีระ เมื่อพระองค์ดับขันธ์ไปแล้ว ใกล้ชิดเกินไป จนกระทั่งน้ำตาของเจ้าหล่อน แปดเปื้อนพุทธสรีระให้เป็ตมลทิน พระมหากัสสป เห็นเป็นความผิด ประกาศความผิดของพระอานนท์ 5 ข้อ ทุกข้อปรับอาบัติทุกกฎหมด

ให้พระอานนท์แสดงอาบัติทุกกฎแก่สงฆ์ ณ บัดนี้ พระอานนท์เถระเจ้ายินดีแสดงอาบัติทุกกฎ ทั้งๆที่ท่านเป็นพระอรหันต์ อันนี้จะเห็นสปริตของลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าของพวกเรา ทั้งๆที่พระอานนท์เป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นแล้ว ท่านเองมองไม่เห็นความผิดพลาด แต่เมื่อที่ประชุมต้องการจะลงโทษท่าน ท่านก็ยินดี แปลว่าท่านถือมติของที่ประชุมเป็นใหญ่ เมื่อที่ประชุมเห็นว่าท่านผิด ท่านก็ยอมรับผิด แต่ท่านมองไม่เห็นความผิดนั้น ท่านแก้ ข้อกล่าวหาทั้ง 5 ข้อนี้ โดยข้อแรก ท่านอ้างว่า ที่ท่าน ขวนขวายให้สตรีได้บวชในธรรมวินัย นั้น ก็เนื่องจากว่า เล็งเห็นคุณของพระนางปชาบดีโคตรมี เป็นผู้ถวายน้ำขีโรทกแก่พระศาสดา ต้องการสนองพระคุณของพระนางเธอ จึงได้เป็นผู้ขวนขวายทูลวิงวอน ในพระศาสดารับสตรีเพศอุปสมบท ในข้อที่กล่าวหาท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่ ไม่คารวะพระศาสดาโดยเหยียบล่วงเกินวัสสิกาสาฎกนั้น ท่านก็กล่าวอธิบายว่า เวลานั้นท่านเย็บชุนผ้าวัสสิกาสาฎกนั้นไม่มีผู้ช่วย ท่านเหยียบผ้าไปด้วยความพลั้งเผอล มิใช่ว่าด้วยความไร้ความคารวะ ในข้อที่กล่าวหาท่านว่าท่านไม่ทูล ขอพระองค์ให้ดำรงพระชนมายุกัปหนึ่งหรือยิ่งกว่ากัป ก็เพราะเวลานั้นท่านกำลังถูกมารดลจิต ไม่เป็นตัวของท่านเอง ในข้อที่กล่าวหาท่านว่า ท่านไม่ทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยได้แก่ประเภทไหนบ้าง เพราะในขณะนั้นความเศร้าโศกกำลังรัดรึงจิตใจอยู่ ในข้อที่พระศาสดาจะจากไป ไม่มีจิตใจจะมาทูลถามเรื่องนี้ ในข้อสุดท้ายที่ปล่อยให้ผู้หญิงเข้ามาถวายบังคม จนกระทั่งร้องไห้เปื้อนพุทธสรีระนั้น ก็เพราะเห็นว่าเวลานั้นค่ำมืดแล้ว ให้หญิงชาวมัลละ ในเมืองกุสินารา มีโอกาสเข้ามาถวายบังคมพุทธสรีระแล้วพวกเธอจะได้รีบกลับเมืองเร็วๆ เพราะอยู่ในท่ามกลางป่ากลางดง ผู้หญิงมาปนเปกับพระในกลางป่า กลางดงเวลาดึกสงัดนั้นไม่ควร ให้พวกเธอไหว้ๆกราบๆแล้วก็รีบๆกลับเสียที ท่านทำของท่านถูกแล้วที่ไม่ปล่อยให้มาตุคามมาคลุกคลีกับภิกษุสงฆ์นอกเมืองในเวลาวิกาล แต่ข้าพเจ้ามองไม่เห็นอาบัติเหล่านั้น เมื่อสงฆ์ต้องการลงอาบัติข้าพเจ้ายินดีขอแสดงอาบัติทุกกฎ เหล่านั้นแก่สงฆ์ ณ บัดนี้ นี่เป็นเรื่องพระอานนท์เถระเจ้า ที่ถูกพระมหากัสสปปรับอาบัติทุกกฎโดยเสนอญัตติในสงฆ์ ให้สงฆ์ลงโทษพระอานนท์ แล้วพระอานนท์ท่านก็ยอมรับ

            เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปเช่นนี้ เรื่องการประชุมสังคายนาก็เกิด การประชุมสังคายนาเกิดมีเรื่องสำคัญข้อหนึ่งที่ พระมหากัสสปได้ถามขึ้นเสนอญัตติในที่ประชุม บอกว่า ขอสงฆ์ทั้งปวงจงฟังข้าพเจ้า แม้มีพุทธดำรัส ในจวนปรินิพพานสมัย สงฆ์พึงถอนได้หากต้องการ แต่สิกขาบทของพวกเรานั้นที่เกี่ยวข้องกับพวกคฤหัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์เหล่านั้นนี้ควรแก่สมณะศากยบุตร นี้ไม่ควรแก่สมณะศากยบุตรอย่างนี้ ถ้าแม้ว่าพวกเรา มาถอนสิกขาบทเสียแล้ว ก็จะเป็นข้อครหาแก่พวกคฤหัสถ์ว่า พวกสมณะศากยบุตรนี้ ประพฤติธรรมวินัยชั่วกาลแห่งควันไฟ หมายความว่าพอพุทธเจ้านิพพานก็ละเลิกธรรมวินัย เลอะเทอะกันใหญ่ ประพฤติเคร่งเฉพาะเวลาพระศาสดามีพระชนม์อยู่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น พระมหากัสสปถามความเห็นที่ประชุมว่า  สิกขาบทเล็กน้อย เหล่านั้นที่ประชุมจะเห็นว่า ตีความว่า จะหมายกับประเภทไหน ที่ประชุมบางท่านก็เสนอญัตติว่า ยกปาราชิก สี่ เสีย ที่เหลือชื่อว่า สิกขาบทเล็กน้อย บางท่านก็ตึความว่ายกปาราชิกสี่ สังฆาทิเสลสิบสาม อนิยตสอง อันนี้ยกเสีย ที่เหลือชื่อว่าสิกขาบทเล็กน้อย บ้างก็ตีความว่ายกปาราชิกสี่ สังฆาทิเสส ปาจิตตีเสีย ปาฏิเทสนีย อันนี้ยก เอาความเป็นที่ตกลงกันไม่ได้ พระมหากัสสปจึงกล่าวญัตติตัดสิน ในที่ประชุม บอกให้สงฆ์ทั้งปวงจงฟัง สิกขาบทในที่เกี่ยวข้องคฤหัสถ์เขามี ถ้าเราไปถ่ายถอนเข้าพวกคฤหัสถ์จะติเตียนว่าพวกเราเคร่งเฉพาะ ช่วงกาลของควันไฟ พอควันจางเราก็เลิกเคร่ง จะเป็นข้อครหาติเตียนกับเขา เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สิกขาบทใดที่พระศาสดาทรงบัญญัติพวกเราจะไม่ถ่ายถอน อันใดที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติ เราจะไม่สูงไปเพิ่มเติมบัญญัติเข้า นี้เป็นญัตติ ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยจงเป็นผู้นิ่ง ถ้าไม่เห็นด้วยจงเป็นผู้ค้าน ท่านประกาศเป็นญัตติทุติยกรรมวาจา ในที่ประชุมของคณะสงฆ์ ที่ประชุมก็นิ่งรับโดยดุษฎีภาพ เท่ากับว่า เป็นเอกฉันท์ธรรมติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะไม่มีการถอนสิกขาบท ไม่ว่าข้อเล็กข้อน้อยใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่รู้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่พระพุทธเจ้าประสงค์นั้น จะหมายความกว้างลึกแค่ไหน แต่จะรักษาของเดิมเท่าที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดที่สุด นี้เป็นมติของถ้ำสัตตบรรณคูหา ที่คณะสงฆ์ในถ้ำนั้นประชุมทำสังคายนากัน เมื่อออกพรรษาแล้ว พระมหากัสสป ได้พาบริวารมาอยู่ที่เวฬุวันวิหาร ในเมืองราชคฤห์ เวลานั้นก็มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเป็นชั้นเจ้าคณะ ชื่อพระปุราณะ พาบริวารซึ่งเป็นสาวก 500 รูป จาริกมาแต่ตำบลทักขิณาคีรีชนบท เดินทางมาที่เวฬุวัน เมื่อมาถึง พระมหากัสสปก็ไปแสดงมติในที่ประชุม ในถ้ำสัตตบรรณให้ฟัง บอกว่าการสังคายนานั้น พวกกระผมได้ทำสังคายนาเรียบร้อยแล้ว แล้วก็มีมติอย่างนี้ อย่างนี้ แจ้งให้ท่านปุราณะทราบ ท่านปุราณะก็บอกว่า ก็ดีแล้วนี่ครับ พวกท่านได้ประชุมสังคายนาก็ดีแล้ว แต่สำหรับผมนั้น ผมถือว่าผมได้ฟังพุทธดำรัสจากพระโอษฐ์พระบรมศาสดาอย่างไรแด ผมจะทรงจำบรรดาบัญญัติพุทธพจน์ทั้งปวง อย่างนั้นไว้เทียว นั่นก็คือหมายความว่า ท่านปุราณะไม่รับรองการประชุมปฐมสังคายนา ที่ทำมาในถ้ำสัตตบรรณ ท่านไม่ยอมรับ ท่านถือว่า 1 ท่านไม่ได้รู้เห็นในที่ประชุมด้วย ท่านไม่ได้เข้าที่ประชุม ไปประชุมกันอย่างไร ไปลงมติกันอย่างไร เป็นเรื่องของท่าน สำหรับตัวของท่านเอง ท่านก็ถือว่าท่านก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน ได้ฟังได้เห็นได้รู้ เรื่องพุทธพจน์ จากพระศาสดาคนหนึ่งเหมือนกัน ท่านจะถือตามของท่าน เรื่องความในบาลีเรามีปรากฏเพียงเท่านี้ อันนี้เป็นการแยกนิกายตั้งแต่ปฐมสังคายนาแล้ว เพราะฉะนั้นการแยกนิกายมิใช่เพิ่งจะมาแยกตอนทุติยสังคายนาตามที่เราเรียนกันนั้น ไม่ใช่นะครับ ที่เราเรียนกันนะตำราเรียนต้องแก้ ไม่เพียงเพิ่งแยก แยกตั้งแต่ปฐมสังคายนาแล้ว ท่านปุราณะนี่แหละคัดค้านการประชุมปฐมสังคายนา ความไม่ปรากฏในวินัยปิฎก ฝ่ายนิกายสันสกฤตที่ถือสันสกฤตเป็นใหญ่ นิกายพุทธศาสนาที่ต่างจากนิกายเถรวาท คือในนิกายมหิศาสกะกับในนิกายสราวสติวาทะกับนิกายธรรมคุปต สามนิกายนี้เกิดหลังนิกายเถรวาท ไปให้รายละเอียดในข้อที่ท่านปุราณะ โต้แย้งกับพระมหากัสสปเรื่องวินัยเล็กน้อยนี่แหละ คือสิกขาบทว่าด้วย อันโตวุตถะ  อันโตปักกะ  สามปักกะ อุคคหิตะ ตโตนีหฎะ ปุเรภัตตะ วนัฏฐะ โปกขรัฏฐะ สิกขาบทที่ว่าด้วยการหุงต้มการเก็บของขบฉันในกุฏิ หมายความว่า พระเก็บของอาหารไว้ฉันในกุฏิได้ไหม พระหุงต้มเองฉันในกุฏิได้ไหม ถ้าไม่มีกัปปิยะการก มีผลไม้ที่ยังไม่ทำตามวินัยกรรม อยู่ๆเก็บไปฉันเป็นอาบัติไหม สิกขาบทพวกนี้ เช่นว่าเก็บเหง้าบัวในสระไปฉันอย่างนี้ หรือว่าเห็นมะม่วงตกในป่า ไม่มีใครเป็นเจ้าขอเราหิวขึ้นมา ไม่มีกัปปิยะการกทำวินัยกรรม เราก็ เอามาล่วงเข้าปากอย่างนี้ผิดหรือไม่ผิด สิกขาบทถ้าเราจะมองดูแล้ว เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับอาหาร โภชนีย เล็กๆน้อยๆไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ แยกนิกายออกมาเลย แต่ว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในครั้งนั้น ท่านปุราณะเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ พระจะหุงต้มกินเองในกุฏิก็ไม่เป็นอาบัติ จะเก็บอาหารค้างคืนไว้ฉันพรุ่งนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ รับประเคนมาจากที่นิมนต์แล้ว คล้ายว่าเขานิมนต์ไปฉันที่บ้านแล้ว เสร็จแล้วมีอาหารเหลือพระเก็บใส่ย่ามบอกอาตมาจะเก็บไว้ฉันต่อที่วัดนะโยม เก็บอาหารใส่ย่ามกลับไปวัดอีก นี่ตามพระวินัยถือเป็นอาบัตินะ หรือว่าการฉันอาหาร บ้วนปาก สีฟันว่าอิ่มแล้วละ ประเดี๋ยวทายกถวายของอีกชิ้นหนึ่งเราชอบใจ ลงมือฉันต่อเป็นอาบัติเหมือนกัน แต่ท่านปุราณะบอกไม่เป็นอาบัติ เกิดโต้แย้งกับพระมหากัสสปเข้า พระมหากัสสปบอกอาบัติสิทำไมถึงไม่เป็นอาบัติ พระปุราณะอ้างเหตุ เรื่องเกิดที่เมืองเวสาลี ในการข้าวแพง แต่เดิมก็เป็นอาบัติหรอก แต่เมื่อเกิดการข้าวยากหมากแพงแล้ว พระพุทธองค์ได้มีพุทธานุญาติให้พระสงฆ์เก็บข้าวตังข้าวตูไว้ฉันในกุฏิ ถ้าเอาอาหารไว้นอกกุฏิ ออกนอกที่มุมบังแล้วละก็ ถูกพวกหนู พวกอะไรแย่งไปกินหมด พระจะแย่อยู่แล้ว อนุญาตให้หุงต้มฉันเองในกุฏิ ไปบินฑบาตรไม่มีใครเขาใส่บาตร เขาจะไม่มีข้าวกินอยู่แล้วที่ไหนเขาจะมีข้าวมาใส่บาตร เพราะถ้าไม่มีใครใส่บาตร พระก็ต้องอดข้าวตายสิ ต้องหุงต้มกินเอง ทรงมีพุทธานุญาติ เพราะฉะนั้นท่านปุราณะเห็นว่าเมื่อมีพุทธานุญาติที่เมืองเวสาลีเช่นนี้ ท่านจะถือตามนี้ละ ว่าการประพฤติในข้อที่เป็น อันโตวุตถะ  อันโตปักกะ  สามปักกะ อุคคหิตะ ตโตนีหฎะ ปุเรภัตตะ วนัฏฐะ โปกขรัฏฐะ เหล่านี้นะไม่เป็นอาบัติ ในนั้นนะปรับอาบัติบางข้อก็เป็นทุกกฎบางข้อก็เป็นปาจิตตี ท่านปุราณะบอกประพฤติได้ทั้งนั้น พระมหากัสสปบอกไม่ได้ ท่านรู้ไม่ที่พระพุทธองค์มีพุทธานุญาติให้สงฆ์ทำได้เฉพาะในกาลข้าวแพงหรอก พอสิ้นกาลข้าวแพงแล้ว เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาถาม ว่าดูก่อนอานนท์ สิกขาบทอันเนื่องด้วย อันโตวุตถะ  อันโตปักกะ ฯลฯ เหล่านี้นะ บัดนี้สงฆ์ยังประพฤติอยู่หรือหนอแล พระอานนท์ก็กราบทูลว่าสงฆ์ทั้งปวงยังประพฤติอยู่ พระผู้มีพระภาคก็เรียกประชุมสงฆ์ ห้ามใหม่ บอกว่าที่ทรงมีอนุญาตไว้เฉพาะในการข้าวแพง บัดนี้ก็พ้นกาลข้าวแพงแล้ว ต่อไปนี้ถ้าใครทำล่วงปรับอาบัติทุกกฎบ้าง ปาจิตตีบ้าง ตามสมควรแก่สิกขาบท เพราะฉะนั้นพระมหากัสสปก็เอาเรื่องนี้มาปรับความเข้าใจกับท่านปุราณะ ท่านปุราณะบอกไม่รู้ผมไม่เข้าใจ ไอ้ตอนที่ทรงบัญญัติห้ามใหม่ผมไม่ได้อยู่ไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ผมจะถือเฉพาะตอนที่เห็นอยู่ฟัง ว่าทรงอนุญาต ไอ้ตอนที่ประกาศประชุมสงฆ์ห้ามใหม่ ผมไม่ได้ฟังกับหูเอง ผมไม่เชื่อ ผมจะถือตามของผมอย่างนี้แหละ แยกคณะออกไปเลย ท่านปุราณะก็พาพวกไปทำสังคายนาอีกแห่งหนึ่ง แข่งกับท่านมหากัสสป ว่าท่านทำได้พวกผมก็ทำได้เหมือนกัน ฉันก็เป็นหนึ่งในตองอูเหมือนกันลูกศิษย์ตั้งห้าร้อย เยอะแยะไปทำไมจะตั้งกองสังคายนาไม่ได้ ไม่ทำสังคายนาต่างหาก คณะสงฆ์จึงได้แตกเป็น 2 พรรค 2 นิกาย ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ใหม่ๆ ในปีนั้นแหละแตกเลย ท่านปุราณะก๊กหนึ่ง ท่านมหากัสสปพวกหนึ่ง การตีความพระวินัยอย่างนี้นะ ถ้าเราจะมาตัดสินว่าท่านปุราณะนี้ท่านทำสังฆเภทได้ไหม ไม่ได้ ท่านอ้างพุทธพจน์ ว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคมีพุทธานุญาติให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ท่านจะถอนของท่านละ ท่านทำตามพุทธพจน์นี่  ส่วนพวกมหากัสสปตกลงกันอย่างไร ท่านไม่รู้เห็น ท่านเป็นพวกนอกถ้ำ นอกถ้ำสัตตบรรณ ไม่ได้เข้าสังคายนาด้วย เพราะฉะนั้นจะมาอาจว่าท่านทำสังฆเภท ทำนอกรีตนอกรอย พุทธพจน์ก็ไม่ถูก ท่านย้ำพุทธพจน์เหมือนกัน พุทธพจน์อนุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ท่านเห็นว่า อันโตวุตถะ  อันโตปักกะ ฯลฯ พวกนี้ว่าเป็นประเภทสิกขาบทเล็กน้อย ท่านจะถอนถึงแม้จะไม่ฟัง เรื่องราวที่มีพุทธานุญาติในกาลข้าวแพงก็จริง ถ้าหากว่าท่านจะอ้างเอาพุทธานุญาติในข้อที่ว่าให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้นี้ ท่านตีความท่านอย่างนั้นแล้วก็ตกลงพวกของท่านถอนจะว่าอย่างไรท่านละ จะว่าท่านทำสังฆเภทได้อย่างไร บอกไม่ได้ ท่านทำของท่านถูกแล้ว พระมหากัสสปท่านจะเคร่งก็เคร่งไป แต่ของท่าน ท่านจะถอนตามพุทธานุญาติอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้น คณะสงฆ์ที่สืบจากในถ้ำสัตตบรรณนะ เราจึงเรียกกันว่า จักกัสปะวงศ์ วงศ์ของท่านกัสสป ถือตามมติของท่านกัสสป และหรือมิฉะนั้นก็เรียกว่าเป็นเถรวาที วาทีของเถระห้าร้อย ซึ่งเป็นต้นวงศ์ของพระสงฆ์เราในฝ่ายหีนยาน เถรวาทปัจจุบันนี้ ตกลงว่าวงศ์ของเราสืบมาจากท่านมหากัสสปะนะ วงศ์ของเราเคารพมติของท่านมหากัสสปะในถ้ำสัตตบรรณ เราจึงรักษาจารีตของธรรมเนียมธรรมวินัย สืบทอดมากระทั่งกาลปัจจุบันนี้ ส่วนท่านปุราณะที่ถือว่าให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ตามพุทธานุญาติ ก็เป็นต้นตอของพวกมหายานในกาลต่อมา ทั้งหมดนี่จะว่าใครผิดใครถูกไม่ได้ทั้งนั้น จะตัดสินว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูกไม่ได้ไม่มีการตัดสิน ฝ่ายหนึ่งก็อ้างพุทธานุญาติ อีกฝ่ายหนึ่งก็อ้างเรื่องไม่รู้สิกขาบทเล็กน้อยคืออะไรจะตีความอย่างไรก็ไม่รู้ ตัดบทอย่าไปถอนมันเสียเลยดีกว่า นี่เป็นเหตุการณ์เมื่อพุทธเจ้านิพพานในปีแรก มีเหตุการณ์นี้ขึ้นมา นี่เหตุการณ์ในสังฆมณฑล

            เหตุการณ์ในทางบ้านเมือง ก็ปรากฏว่าพระเจ้าอชาติศัตรู หลังจากพระพุทธเจ้านิพพานสดๆร้อนๆ พระเจ้าอชาติศัตรูก็กรีฑาทัพตีเมืองเวสาลีแตกเลย ตามโครงการวัสสการพราหมณ์ ตีเมืองเวสาลีแตก เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าอชาติศัตรูไม่กล้ายกทัพไปตีเมืองเวสาลี เกรงพระทัย พระพุทธเจ้าเองนะในปีสุดท้าย พระองค์รู้สึกว่ามีความเมตตาต่อเมืองเวสาลีเป็นพิเศษ เพราะรู้อนาคตชะตากรรมเวสาลีดี เพราะฉะนั้นจึงทรงเลือกเอาพรรษาสุดท้ายที่เมืองเวสาลี แล้วก็เสด็จประทับในหมู่บ้านตำบล รอบๆแขวงเมืองเวสาลี เท่ากับว่า ทรงป้องกันเมืองเวสาลีให้พ้นภัยด้วย ประทับอยู่รอบๆหมู่บ้านนั้น โคตมเจดีย์ พหุพุทกะเจดีย์ ปาวาเจดีย์ ประทับอยู่รอบๆเมืองเวสาลีนะ จนกระทั่งเห็นว่าจวนๆจะถึงอีกไม่กี่วันจะดับขันแล้ว จึงเสด็จสละเมืองเวสาลีไปกุสินารา นี่แปลว่าทรงแผ่พุทธอาญาช่วยคุ้มครองเมืองเวสาลี จนวินาทีสุดท้าย แต่พอพระองค์เสด็จจากไปแล้วกองทัพมคธก็เคลื่อนเข้าบุกเมืองเวสาลีทีเดียว  แล้วก็ได้เมืองเวสาลีด้วย เพราะฉะนั้นอำนาจทางการเมืองของแคว้นมคธในครั้งพุทธกาล จึงบรรลุถึงมหาอำนาจชั้นสูงสุด คือครอบงำทั้งโกศล ครอบงำทั้งกาสี และครอบงำทั้งเวสาลี มหาอำนาจชั้นหนึ่งในอินเดียครั้งนั้น  มีชะตากรรมประสบอย่างกับพระบิดาของพระองค์ คือถูกพระเจ้าอุทัยทัตกุมารซึ่งเป็นราชโอรสทำปิตุฆาต จับพ่อฆ่าเสีย แล้วพระเจ้าอุทัยทัตก็ย้ายเมืองจากเมืองราชคฤห์ มาตั้งเมืองใหม่ที่เมืองปาฏลีบุตร ปาฏลีบุตรเดิมเป็นหมู่บ้านชื่อว่าปาฏลีคาม ในบาลีมหาปรินิพพานสูตร แสดงว่าเป็นเพียงหมู่บ้านเฉยๆ คล้ายๆเป็นตลาดการค้า อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตรงข้ามกับเมืองเวสาลี เวลาสีกับแคว้นมคธ มีแม่น้ำคงคาแบ่งพรมแดน อยู่คนละฟาก ปาฏลีคามอยู่ฟากนี้ เวส่าลีอยู่ฟากโน้น วัสสการพราหมณ์กับสุมิทะอำมาตย์ มาดัดแปลงสร้างปาฏลีคามให้เป็นเมืองขึ้น เพื่อจะหวังให้เป็นเมืองหน้าศึก สำหรับเคลื่อนกองทัพโจมตีเมืองเวสาลี ในระหว่างที่สร้างเมืองใหม่นี้ก็นิมนต์พระพุทธเจ้า มาฉันฉลองเมือง แล้วก็ถือเอานิมิต พระพุทธเจ้าเสด็จไปลงเรือที่ท่าใดข้ามฟากไปเมืองเวสาลี ก็ตั้งชื่อท่าเรือนั้นว่าท่าโคตม เสด็จออกจากเมืองประตูเมืองด้านใดไปสู่เมืองเวสาลีก็เรียกประตูโคตม ตั้งไว้อย่างนั้น ปาฏลีคามนี่แหละ พระพุทธเจ้าได้มีพยากรณ์ไว้กับพระอานนท์ ว่าดูก่อนอานนท์ ปาฏลีคามนี่หลังจากเรานิพพานไปแล้ว จะเป็นเมืองที่รุ่งเรืองที่สุด จะเป็นที่แก้แห่งห่อสินค้า หมายความว่าจะเป็นเมืองเศรษฐกิจชั้นหนึ่งของอินเดีย พ่อค้าทุกประเภทมาจากสารทิศ ต้องมาแก้ห่อสินค้ากันที่นี่ แต่เมืองเวสาลีจะฉิบหายด้วยน้ำหนึ่ง ด้วยไฟหนึ่ง ด้วยความไม่สามัคคีหนึ่ง พุทธพยากรณ์เป็นจริงประวัติศาสตร์ทุกอย่าง เมืองเวสาลี ในภายหลังฉิบหายด้วยไฟ ฉิบหายด้วยน้ำ ฉิบหายด้วยความไม่สามัคคี การทั่งปัจจุบันนี้ ซากเมืองถล่มหายไปในแม่น้ำคงคาหาซากไม่ได้ นี่ฉิบหายด้วยน้ำ อันนี้พระพุทธเจ้าพยากกรณ์ไว้ถูกต้องตามการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ในสมัยต่อมาทุกข้อ ทุกกระทง พระเจ้าอุทัยทัต ย้ายเมืองจากราชคฤห์มาตั้งที่เมือง ปาฏลีคาม และเปลี่ยนชื่อว่าเมืองปาฏลีบุตร เมืองปาฏลีบุตรมีบทบาทเป็นเมืองหลวงของอินเดียตลอดระยะเวลาตั้งเกือบพันปีหลังจากนั้น อันนี้เป็นบทบาทสำคัญมาก เพราะฉะนั้นศูนย์กลางของพุทธศาสนาจึงย้ายจากราชคฤห์มาอยู่ที่ปาฏลีบุตร ตามความสำคัญของบ้านเมืองในครั้งนั้นด้วย

เราเกือบจะพูดได้ว่าในสมัยพุทธกาลนั้น ศาสนาพุทธได้แพร่หลายออกไป ด้วยพุทธพจน์เพียงสั้นๆว่า แปลความว่าท่านทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไปในทางเดียวกัน 2 รูปเลย พุทธพจน์สั้นๆข้อนี้แหละ เป็นเหตุให้ศาสนาพุทธแพร่หลายออกไป เพราะว่าพวกพราหมณ์ พวกปริพาชกหรือนักบวชนิครนห์ในครั้งนั้นก็ดี ยังไม่มีนโยบายการทำในรูปธรรมทูตกรรม ที่เรียกกันว่า มิชชั่นนารีเวิคส์ ยังไม่เกิด การงานแผ่ธรรมทูตนั้นยังไม่เกิด ธรรมทูตกัมมังนี่แหละแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ มิชชั่นนารีเวิคส์ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแรก ที่ริเริ่มงานมิชั่นนารีเวิคส์เกิดขึ้นในโลก ศาสนาอื่นๆลอกแบบพุทธศาสนาไปทำ แล้วก็ทำได้ดีกว่า เพราะว่าหลังจากนั้นมาพวกเราชาวพุทธ ก็นอนกินใบบุญของบูรพาจารย์ ตัวเองไม่ทำทำอะไรอยู่กับวัดฝากกับวา อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไอ้เรื่องที่จะไปทำงานเผยแผ่ศาสนาสัญจรจาริกไป เป็นอันเลิกทำแล้ว เรากินใบบุญของบูรพาจารย์ท่านอาบเหงื่อต่างน้ำข้ามน้ำข้ามทะเล เผยแผ่ศาสนามาถึง ชั้นเราหลังๆลงมาเราไม่ทำแล้วเรานิ่งอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นงานมิชชั่นนารีเวิคส์จึงให้พวกศาสนาอื่นเขาไปทำ ศาสนาอื่นจึงกลายเป็นศาสนาโลก ทุกหัวระแหงเขาแผ่ไปถึงหมด พุทธศาสนากลับไม่แพร่หลาย ทั้งๆที่ศาสนาพุทธ เป็นผู้ให้กำเนิดงานธรรมทูตกัมมัง หรือมิชชั่นนารีเวิคส์เกิดขึ้นในโลก มาเอเกนะ เดเว อัตถะมิถะ เป็นคำขวัญที่เร้าใจให้พระสาวกไปทำงานเพื่อ เผยแผ่พุทธศาสนา ท่านทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไปในทางเดียวกัน 2 รูปเลย ให้ทำไปเพื่อความสุข ของชนหมู่มากเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์เถอะ เป็นคำที่เล้าโลมใจสาวกเหลือเกิน นี่เป็นปราพจน์คำสั่งที่พระพุทธเจ้าสั่งพระสาวกให้ทำฉบับแรก หลังจากได้พระสาวก 60 รูป ที่แขวงราชคฤห์ในพรรษาแรกหลังจากตรัสรู้ ได้ออกคำสั่งนี้ เพราะฉะนั้นคำสั่งข้อนี้ คณะชาวพุทธในเกาะลังกา ชาวลังกา เขาถือกันว่าเป็นมหาวินัย ถามว่ามหาวินัยคืออะไร คือพุทธพจนข้อนี้แหละ เป็นคำบังคับขอร้องในที ไม่ใช่บังคับโดยตรง มีทั้งอ้อนวอนทั้งขอร้องทั้งบังคับไปในตัว เราก็เป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงที่เป็นพิษทั้งบ่วงที่เป็นของมนุษย์และพวกเธอก็เป็นผู้พ้นแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจงเที่ยวไป จงจาริกไปอย่าไปทางเดียวกัน 2 รูป เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คนทั้งหลายในโลกที่มีผ้าธุลีจักขุในดวงตาเบาบางมีอยู่ก็จะคลาดโอกาส ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังธรรม แม้ตัวเราเองก็กำลังจะไปอุฬุเวลาเสนานิคมเหมือนกัน คำนี้ชาวพุทธในลังกาเขาถือว่าเป็นมหาสิกขาบท เป็นสิกขาบทข้อแรกที่เสด็จพ่อของเราได้ประทานไว้กับพวกเรา ให้บรรดาพระสาวกทำงาน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ออกมาทำงาน เพราะฉะนั้นการที่มีข้อครหาว่า พระในพุทธศาสนาขึ้เกียจไม่ทำงานนะ ไม่จริง ใครบวชเป็นพระในพุทธศาสนาแล้วต้องทำไม ไม่ใช่อยู่อย่างขึ้เกียจ ไม่ใช่ ไม่ใช่เอาแต่จำวัดอย่างเดียวไม่ใช่ ข้อครหาของชาวบ้านเขาหาว่าพระเราทุกวันนี้นะ เป็นปางพระนอนเขาว่า พระปางอิริยาบถต่างๆใช้ปางพระนอนมากที่สุด เขาว่าเราอย่างนี้นะ เราต้องแก้ข้อปรัสวาทเขา บอกไม่จริง ถ้าเราไม่ใช่เป็นพระปางพระนอน บอกไม่ใช่ เป็นปางพระเดินลีลาต่างหาก เพราะว่าพ่อของเรา บูรพาบุรุษทางศาสนาของเรามาเดินกันทั้งนั้นแหละ เดินเผยแพร่ ไม่งั้นศาสนาพุทธจะอยู่ได้ในโลกงั้นหรือ ไม่ใช่พระปางไสยาสน์ ไม่ใช่ ปางลีลา ไม่ใช่ปางไสยาสน์ แล้วเรื่องไสยาสน์ ไม่ใช่เข้าใจผิดกันอยู่นะ ไม่ใช่ปางไสยาสน์จะมาตีความว่า เป็นปางขี้เกียจอย่างชาวบ้านบางคนเขาตั้งข้อกล่าวหาอย่างนี้ ไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ ปางไสยาสน์เป็นปางทรมานอัศวินราหูหรอก อัศวินราหูกำแหงนึกว่าตัวเองนะใหญ่โต เทวดในแสนโกฎิจักรวาลเขามาฝากพุทธเจ้าหมดแล้ว เขาชวนอัศวินราหูลงมาเฝ้า พระศาสดาเถอะ อัศวินราหูบอกว่า ฉันลงไปเฝ้าไม่ได้หรอก พระโคตมพุทธเจ้าท่านเป็นมนุษย์ ถ้าฉันลงไปเฝ้าแล้วเหมือนช้างมาเทียบกับตัวยุง ตัวฉันใหญ่โตมโหฬาร แล้วสมณะโคดมนะนิดเดียว ฉันก้มมอง ก็จะมองไม่เห็น เทวดาก็บอกว่า เอาเถอะน่าไปเฝ้าเสียก่อนเถอะจะรู้ว่าใครใหญ่ ใครเล็ก ไปเฝ้าเสียก่อนเถอะ  อัศวินราหูก็เอาลองดูเสียที ลงมาเฝ้าพระองค์ที่เชตะวันสักที พระพุทธเจ้ารู้แล้วว่าอัศวินราหูมีอัตติมานะมาก สำคัญตัวว่ารูปร่างใหญ่เท่าภูเขาเลากา ดีละ พระองค์ก็แสดงพุทธปาฎิหาริย์ เนรมิตพระองค์ รูปร่างใหญ่กว่าอัศวินราหู สิบเท่า ไม่ใช่เพียงนั่ง เพียงยืน ขนาดนอนยังหาพระเศียรไม่พบเลยอัศวินราหู ตัวใหญ่เท่าโลกแล้วนะ อัศวินราหูนะตามวิชาโหราศาสตร์ เป็นท่อนหนึ่งของโลก โลกเรานี้ถูกตัดเป็นสองท่อน ท่อนหนึ่งเป็นดาวราหู ท่อนหนึ่งเป็นโลก ฉะนั้นถ้าว่าประมาณแล้ว อัศวินราหูก็รูปร่างตัวเท่าโลก พระพุทธเจ้านิมิตพระองค์ใหญ่กว่าโลกอีกนอนอยู่ ปางไสยาสน์ ขนาดนอนยังมองไม่เห็นพระเศียร เอ๋นี่สมณะโคดมอยู่ที่ไหนเนี๊ยะ พระพุทธเจ้าบอกว่า ราหู ตถาคตนอนอยู่นี่เอง บอกแม่เจ้าโว้ยยอมแพ้แล้ว เรากำแหงว่าตัวเราใหญ่โตมโหฬารนักหนา ยังมาเจอคนที่ใหญ่กว่าเราตั้งสิบเท่า  ไอ้มานะที่มีในตัวก็หมด เพราะฉะนั้นปางพุทธไสยาสน์อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นปางนิพพานหรือปางนอน ไม่ใช่เป็นปางทรมานอัศวินราหู ไม่ได้นอนหลับ ถ้าปางนิพพานควรจะทำปางหลับพระเนตร ถ้าปางลืมพระเนตรอย่างพระนอนวัดโพธิ์ไม่ใช่ปางนิพพานแน่ ไปดูสิ แขนท่านหนุนพระเศียร หมอนสามเหลี่ยมสูงกว่าตัวเราอีก ตัวเราไปยืนเทียบยังไม่ถึงข้อศอกท่านเลย รูปหมอนสามเหลี่ยม หมอนขวานที่ท่านอิงอยู่นะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปางนิพพานหรือปางนอนหลับไม่ใช่  เป็นปางทรมานอัศวินราหู ปางนี้ให้บูชาแล้วลดทิฎฐิมานะ ไม่ใช่ไหว้พระปางนี้แล้วทำให้ขี้เกียจไม่ใช่ แล้วจะมาว่าพระสงฆ์ขี้เกียจก็ไม่ใช่

ได้ความว่า พุทธศาสนาเจริญไปด้วยพุทธพจน์ดังที่ว่ามา แต่ถึงกระนั้นก็ดี ครั้งพุทธกาลก็ไม่ใช่ว่าพระสงฆ์จะมีจำนวนแสนจำนวนหมื่น อย่างเดี๋ยวนี้นะครับ ตามที่ในบาลีปรากฏพระจำนวน 84000 นะ เป็นอเนกสังขยา จะถือเอาจริงตามตัวเลขว่า พบตัวเลข84000 เป๋งพอดี ไม่ได้ เอาความว่ามากเท่านั้นเอง คำว่าภิกษุสงฆ์ 500 อรหันต์ 500 ภิกษุสงฆ์84000แสนโกฏิ เอาความว่ามากเท่านั้นเอง อย่างพลเมืองเวสาลี อรรถกถาพรรณนาบอกตั้ง สี่โกฏิ  ท่านเชื่อไหมว่าอยู่ได้ตั้งสี่โกฏิคน คนนั้นประเทศอินเดียในครั้งพุทธกาลประมวลแล้วยังมีไม่ถึง สี่โกฏิ นับประสาอะไรพลเมืองเวสาลีจะมีถึงสี่โกฏิได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ ภิกษุสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีเป็นเพียงจำนวนพัน ไม่ถึงจำนวนหมื่น มีเพียงพันๆเท่านั้นเอง ไมใช่จำนวนหมื่นๆ หรือจำนวนแสนๆ ไม่ใช่ เรามีหลักฐานในพุทธภาษิต มีคนถามพระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจโตวิมุติบุคคลในพรหมจรรย์นี้มีจำนวนเท่าไร พระพุทธเจ้าบอกว่า มีจำนวนร้อยเป็นอเนก มีจำนวนพันเป็นอเนก ไม่ได้ปรับถึงจำนวนหมื่นเลย ไม่มีเลย เอาเกณฑ์จากพุทธพจน์ข้อนี้ แสดงว่าพระสงฆ์ในครั้งนั้น มีเป็นเรือนพันๆ ทั้งอริยะบุคคล ทั้งปุถุชนสงฆ์ มีเป็นเรือนพัน ไม่ใช่เรือนหมื่น

เพราะฉะนั้นพระเหล่านี้ต้องทำงานแผ่ศาสนา ก็แผ่ได้เฉพาะ ในเนื้อที่บริเวณจำกัด คือในแถบถิ่นลุ่มแม่น้ำคงคา กับแม่น้ำสินธุเท่านั้นเอง ที่เป็นมัธยมประเทศเดี๋ยวนี้ ทิศเหนือตั้งแต่แคว้นกัมโพชเข้ามา ทิศตะวันออกตั้งแต่แคว้น จำปาเข้ามา ทิศตะวันตกตั้งแต่แคว้นอุชเชนีเข้ามา ทิศใต้ตั้งแต่เทือกภูเขามินไทเข้ามา อาณาบริเวณเนื้อที่เหล่านี้แหละเป็นที่ที่พระสงฆ์ทำงานธรรมทูตกัน เป็นธรรมทูตเผยแผ่ศาสนาในบริเหล่านี้ ในครั้งนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น หลังพุทธปรินิพพานแล้วปรากฏว่า พุทธศาสนาได้ขยับขยายกว้างขวางออกไปทั่วชมพูทวีป เพิ่งจะเป็นศาสนาทั่วชมพูทวีปหรือทั่วอินเดีย ในแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราชเท่านั้นเอง ก่อนแผ่นดินพระเจ้าอโศก ศาสนาพุทธไม่ได้แผ่หลายไปทั่วอินเดียหรอกครับ แผ่หลายแต่เพียงอาณาเขตอินเดียตอนเหนือกับตอนกลาง ตอนใต้ยังมาไม่ถึง ก็เราดูง่ายๆก็แล้วกันว่า พาวีระพราหมณ์นะ อาจารย์ของโสรถมานพ 16 คนนะ มาตั้งอาศรมตั้งลัทธิที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารีในอินเดียใต้ ในครั้งนั้นไม่มีพระสงฆ์ลงมาถึงลุ่มแม่น้ำโคธาวารีในอินเดียใต้เลย เพราะฉะนั้น พาวีระพราหมณ์อยากจะสดับพุทธศาสนาว่ามีอย่างไร มีคติธรรมอย่างไร จึงต้องส่งลูกศิษย์ 16 คน โดยผูกผลึกเป็นปริศนาธรรม ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วลูกศิษย์ 16 คนได้บรรลุเป็นอริยะบุคคลแล้วได้นำสัจคำตอบที่พระพุทธเจ้าตอบ เฉลยปัญหาของโสรถมานพมาให้อาจารย์ฟัง ที่อินเดียภาคใต้ในลุ่มแม่น้ำโคธาวารี พาวีระพราหรณ์ถึงบรรลุเป็นอริยะบุคคลเป็นอนาคาขึ้นมาได้ อันนี้แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์เองยังลงมาไม่ถึงอินเดียฝ่ายใต้ ในครั้งพุทธกาล พุทธศาสนายังไม่ได้แผ่มาถึง เป็นเพียงแต่กิติศัพท์เล่าลือจากปากพวกพ่อค้าโคต่างม้าต่างที่ไปมาค้าขายระหว่างอินเดียภาคเหนือภาคใต้เท่านั้นเอง แต่ความคณะสงฆ์ยังมาไม่ถึง คณะสงฆ์เพิ่งจะมาถึงในสมัยพระเจ้าอโศก นี่เป็นเหตุผลในระยะเริ่มแรกของศตวรรษที่1 หลังจากพุทธเจ้าปรินิพพาน

ราชวงศ์ของพระเจ้าอชาติศัตรูได้ปกครองเมืองปาฎลีบุตรแคว้นมคธสืบเนื่องกันมา จนกระทั่งถึงรัชกาลกษัตริย์องค์สุดท้ายมีพระนามว่าพระเจ้านาคทาสกะ บรรดาราษฎรในแคว้นมคธเบื่อหน่ายว่ากษัตริย์วงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาต ลูกฆ่าพ่อกันมาเรื่อยเป็นกำกงกำเกวียน ก็เลยเบื่อทำรัฐประหาร ปลดพระเจ้านาคทาสกะ ออกจากราชสมบัติ แล้วก็ยกหัวหน้ารัฐประหารซึ่งเป็นขุนพลสุสุนาคตั้งราชวงศ์ใหม่ สุสุนาค  ราชวงศ์ในสมัยราชวงศ์สุสุนาคนี้แหละ ปฐมกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว โอรสพระองค์ชื่อกาฬาโศกก็ได้เสวยราชย์ ตอนหนึ่งจึงเกิดทุติยสังคายนาขึ้น

ทุตติยสังคายนาไม่ใช่อื่นไกล เป็นผลที่เหลือตกค้างมาจากพวกท่านปุราณะนั่นเอง คือว่าคณะสงฆ์ในศตวรรษที่ 2 แบ่งเป็น 2 ตามท้องถิ่น คือสงฆ์ภาคตะวันออกพวกหนึ่ง สงฆ์ภาคตะวันตกพวกหนึ่ง สงฆ์ภาคตะวันออกมีเมืองเวสาลีเป็นใหญ่ พวกภิกษุวัชชีบุตรเป็นพวกตะวันออกหมด สงฆ์ภาคตะวันตะมีเมือง โสเรยนคร สหชวินนคร เมืองปาเถยเป็นใหญ่ มีพวกพยศ พวกสานสัมภูต สัมภูตสานวาลี พเรวาต แบ่งเป็น 2 พวกด้วยกัน 2ก๊ก เวลานั้นกำลังวิ่งชิง ฐานะสำคัญความเป็นผู้นำบริหารกิจกรรมศาสนากันอยู่  ปัญหาก็เรื่องการตีความวินัยบัญญัติ 10 ประการ

1.สิงฺคิโสณกปฺป ภิกษุสั่งสมเกลือใส่ในกลักเขาเป็นต้น แล้วนำไปผสมกับอาหารอื่น ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ

2.ทวงฺคุลกปฺป ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้วองคุลีได้ ไม่เป็นอาบัติ

3.คามนฺตรกปฺป ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้ว เข้าไปในบ้านเขาถวายอาหารให้ฉันอีกในวันเดียวกันนั้น ภิกษุมิได้ทำวินัยกรรมมาก่อนก็ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ

4.อาวสกปฺป อาวาสใหญ่ กำหนดสีมาอันเดียวกัน จะทำอุโบสถในที่ต่างๆกัน ถือว่าไม่เป็นอาบัติ

5.อนุมติกปฺป ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมาจะทำอุโบสถกรรมเสียก่อนก็ควร

6.อาจิณฺณกปฺป ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยประพฤติตามกันมาแต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ แม้จะประพฤติผิด ก็ความประพฤติตามท่านได้

7. อมตฺถิตกปฺป ภิกษุฉันอาหารแล้วยังมิได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปรเป็นนมส้มก่อนก็ควร

8.ชโลคึ ปาตํ ภิกษุชาววัชชีเห็นว่า ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆที่ยังมิได้เป็นนำสุราได้

9.อทสกํ นิสีทนํ ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร

10.ชาตรูปรชตํ ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้

สงฆ์ฝ่ายตะวันออกคือพวกเวสาลี เห็นว่าสิกขาบทพวกนี้ควรจะผ่อนผันได้ ตามแบบท่านปุราณะเห็นว่าควรผ่อนผัน สงฆ์ภาคตะวันตกไม่ยอมบอกไม่ได้ต้องเคารพมติในถ้ำสัตตบรรณ เพราะฉะนั้นสงฆ์ 2 พวกนี้ก็แตกสามัคคีกัน อย่างโจ่งแจ้ง คราวนี้ก็มีวิ่งหาเสียงกันละ เสียงที่สำคัญคือเสียงท่านเรวัต ท่านเรวัตท่านจำพรรษาอยู่ที่อุโทตังคะบรรพต อยู่ตอนเหนือของแม่น้ำคงคา เป็นฝ่ายสงฆ์ภาคตะวันตก แต่ท่านมีพรรรษากาลสูง แล้วก็มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของสงฆ์ทั้งสองฝ่าย สงฆ์ฝ่ายตะวันออกรีบส่งลูกน้อง ไปหาเสียงกับท่าน ลูกน้องสงฆ์ฝ่ายตะวันออกไปถึงนะเข้าหน้าท่านไม่ติด ก็เข้าไปทางศิษย์ก้นกุฎิท่าน ศิษย์ก้นกุฎิท่านเป็นพระอุปฏากบีบนวดให้ท่านอยู่ ไปบอกว่าช่วยบอกกับท่านอาจารย์ทีเถอะ ให้ท่านอาจารย์เวลาพวกสงฆ์ฝ่ายพระยศมาหาอย่าไปต้อนรับเขาให้ท่านอาจารย์เป็นพวกฝ่ายตะวันออก แล้วให้ท่านอาจารย์เดินทางมาที่เมืองเวสาลีมาอยู่เป็นขวัญใจ ของสงฆ์ฝ่ายตะวันออกหน่อยเถอะ ลูกศิษย์ก้นกุฎิของท่านเรวัติก็รับคำสงฆ์ฝ่ายเวสาลี พอเข้างานนวด นวดไปก็บอกท่านอาจารย์ครับ ผมเห็นว่าเราควรจะเข้าข้างสงฆ์ฝ่ายตะวันออกดีกว่านะครับ ท่านเรวัติก็รู้ว่าไอ้หมอนี่อย่างไรกันนะนี่ ถ้าจะไปได้อะไรดีจากพวกตะวันออกละมัง บอกว่าแกลงไปได้เดี๋ยวนี้ อย่ามาปรนนิบัติข้าอีกเป็นอันขาด ต่อไปนี้ ข้าเป็นฝ่ายธรรมวาที ข้าต้องเคารพธรรม ไอ้พวกที่ย่อหย่อนพระวินัยข้าไม่เข้าร่วมด้วย ผู้ที่เคารพพระวินัยหนักในพระวินัยข้าถึงเอาเป็นพวก พอพระยศกับพวกสัมภูตสานตวาสีพวกนี้ไปถึง ก็ไปชี้แจง แถลงมูลเหตุกับท่าน ว่าพวกสงฆ์ตะวันออกนะบังอาจ ยกถอนพระวินัย 10 ข้อ ถอนสิกขาบท 10 ข้อว่าไม่เป็นอาบัติ แล้วจะว่าอย่างไร ท่านเรวัติบอกไม่ได้ผิด เราต้องเคารพมติในที่พระมหากัสสปะได้ตกลงเอาไว้ ทำอย่างนี้ก็ผิดสิ ก็เลยรวมกันว่าเราจะแก้อธิกรณ์นั้นที่ไหน ว่าอธิกรณ์นั้นเกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น เลยเดินทางมาเมืองเวสาลีเป็นขบวนใหญ่ สงฆ์ฝ่ายตะวันตกมี  สามเมืองใหญ่ ทางตะวันออกมีเมืองเวสาลี พวกนี้หาพวกได้เยอะ หาเสียงได้มาก พวกนี้หมื่นกว่ารูป บอกว่าพวกพระยศไปทำสังคายนาที่วาฬุการามก็นิมนต์สังคายนาไป พวกผมมีมากกว่าตั้งหมื่นเศษ เราไปตั้งสังคายนาแข่งกับเขา ประชันกันเลย ตั้งเป็น2กอง ตั้งสังคายนา2กอง สังคายนาของพวกภิกษุวัชชีบุตร ที่ไปตั้งสังคายนาแข่งพวกพระยศนะเรียกว่ามหาสังฆีติ สังคายนาของสงฆ์หมู่ใหญ่ พวกพระยศหมู่น้อย700รูป นี่เป็นการแตกแยกในสังฆมณฑลอย่างแจ้งชัดอีกครั้งหนึ่ง เป็นรอบสอง เรื่องการตีความพระวินัยว่าควรถอน ไม่ควรถอน หลังแต่นั้นมา คณะสงฆ์ก็แจกแตกนิกายออกไปจากเถรวาที แยกนิกายออกไป จากมหาสังฆิกะวาทีคือพวกภิกษุตั้งหมื่นกว่าเรื่องนิกายมหาสังฆิกะวาท นิกายสงฆ์หมู่ใหญ่ก็แยกนิกายออกไปมากมายเบ็ดเสร็จ หลังจากพระพุทธเจ้านิพพานกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าอโศก สามร้อยปีเศษ คณะสงฆ์แบ่งออกเป็น 18 นิกายหรือ18คณะ ในแคว้นมคธ แจกลูกแจกหลานออกจาก สองพวกนี้ออกไป ในวันนี้ก็บรรยายเพียงแค่นี้แค่ 18 นิกายก่อน ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats