ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:31
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป042
สัมมาทิฏฐิ ๘ ความรู้จักภพ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กามาพจร ๓
กามคุณ ๔ อหังการ มมังการ ๔
กรรมนี้เองเป็นของเรา ๕
โทษของกาม ๖
เหตุให้ต้องประกอบอกุศลกรรม ๗
ทุจริตผิดศีลเพราะกามนี่แหละ ๘
เนกขัมมะ ออกจากกาม ๙
ภพและชาติในปัจจุบัน ๑๐
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๕๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๒/๑ - ๕๒/๒ ( File Tape 41 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๘ ความรู้จักภพ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม ได้แสดงพระเถราธิบายของพระสารีบุตร ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้ร้อยกรองไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตรโดยลำดับ มาถึงข้อที่ท่านอธิบายว่าสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ก็ได้แก่รู้จักภพ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดภพ รู้จักนิโรธความดับภพ และรู้จักนิโรธคามินีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็ได้แสดงอธิบายไปแล้ว แต่วันนี้จะได้เพิ่มเติมในข้อรู้จักภพ ซึ่งได้อธิบายความหมายของภพ ในหมวดธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นโยงกันไปเหมือนดั่งลูกโซ่ อันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แปลว่าธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น และได้แสดงภพว่าในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม อุปปัติภพ ภพคืออุปบัติ และได้แสดงถึงกรรมว่าคือการที่กระทำ อันเกิดที่ใจ เกิดที่จิต จิตจงใจทำ ๒ แม้ทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม กรรมทางใจ กรรมภพในที่นี้ที่เป็นตัวต้น ก็ได้อธิบายแล้วว่าได้แก่ อัสมิ คือความเป็นเรา หรือความที่เราเป็นเรามี เป็นการสร้างความเป็นเราขึ้น ซึ่งท่านได้อธิบายในข้อต่อไป ว่าสมุทัยคือเหตุเกิดแห่งภพดังกล่าว ก็คืออุปาทานความยึดถือ แต่ยังไม่อธิบายอุปาทาน จะอธิบายภพเสียก่อน จึงสร้างตัวอัสมิ ความที่เรามี ความที่เราเป็นขึ้น เพราะภพหรือภวะแปลว่าความมีความเป็น เช่นเดียวกับภาวะที่แปลว่าความมีความเป็น มีเราเป็นเราขึ้นก่อน จึงเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียด ซึ่งมีขึ้นเป็นประการแรก ดองสันดานเป็น ภวานุสัย อนุสัยคือภพ ตลอดมาช้านาน และเมื่อมีกรรมภพ ภพคือกรรมดั่งนี้ จึงมีอุปปัติภพ ภพคืออุปบัติความเข้าถึง ก็คือความที่เข้าถึงชาติความเกิด เพราะเมื่อเป็นภพคือความมีความเป็น เป็นเราขึ้นมา เราก็มิได้อยู่เฉยๆ มีความไปความมา มีความเข้าถึง เข้าถึงนั่นเข้าถึงนี่ ก็คือเข้าถึงชาติความเกิดต่อไป นี้ได้อธิบายมาแล้ว แต่ได้ซ้ำความเพื่อทบทวน กามาพจร โดยที่วันนี้จะได้อธิบายถึงภพ ๓ ที่ได้กล่าวไว้แล้วตามพระเถราธิบาย คือพระเถราธิบายท่านว่ารู้จักภพ ก็คือรู้จักภพ ๓ อันได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ข้อแรกกามภพ ภพที่เป็นกามหรือที่ประกอบด้วยกาม ก็คือความที่มีเราเป็นเรา อันประกอบด้วยกาม จะกล่าวว่าคือจิตใจนี้เองที่เป็นที่ตั้งของตัวเราดังกล่าว ท่องเที่ยวไปในกาม ประกอบด้วยกาม หยั่งลงไปในกาม เป็นภาวะจิตใจ หรือเป็นภวะ เป็นภพแห่งจิตใจของสามัญชนทั้งปวงที่เป็นกามาพจร ประกอบด้วยกาม อันกามนั้นแปลว่าใคร่ แปลว่าปรารถนา มี ๒ อย่าง คือกิเลสกาม กามที่เป็นกิเลส อันได้แก่ตัวความใคร่ตัวความปรารถนา ... ( จบ ๕๑/๒ ) ๓ กามคุณ ( เริ่ม ๕๒/๑ ) อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กามคุณ คำนี้แม้คนไทยก็พูด รู้จักกันมาก กามคุณ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ทำไมจึงเรียกว่ากามคุณ ก็เพราะกามที่น่ารักใคร่ วัตถุกามที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ทั้งปวงเหล่านี้ ก็มีคุณอยู่ คือทำให้เกิดความสุขโสมนัสได้อยู่ เพราะว่าส่วนที่น่ารักใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจมีอยู่ เป็นที่ตั้งของสุขของโสมนัส ทำให้เกิดสุขทำให้เกิดโสมนัสมีอยู่ คือแปลว่ามีคุณอยู่ เพราะมีคุณอยู่ดั่งนี้ จึงทำให้รัก ทำให้ใคร่ ทำให้ปรารถนา ทำให้ต้องการ ถ้าไม่มีคุณก็จะไม่ทำให้รักใคร่ปรารถนาต้องการ เพราะฉะนั้น จึงเรียกส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ว่ากามคุณ ก็คือวัตถุกามทั้ง ๕ นั้นเอง อันเป็นส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เป็นกามคุณ และเพราะกามมีคุณเป็นที่ตั้งของสุขโสมนัสดังกล่าว สามัญชนทั้งปวงจึ่งได้หลงติดอยู่ ยากที่จะหลุดพ้น ยากที่จะปล่อยได้ และจึงท่องเที่ยวไปในกามคุณ แสวงหากามคุณเหล่านี้กันอยู่เป็นประจำ และโดยเฉพาะกามคุณนี้ อันเป็นที่ตั้งของกามที่เป็นกิเลส กามที่เป็นกิเลสนั้นเล่าก็ตั้งอยู่ในตัวเรา ที่เป็นตัวภพดังกล่าวแล้ว และตัวเราที่เป็นตัวภพดังกล่าวแล้วนั้น ก็ได้กล่าวแล้วว่าก็เป็นกรรมชนิดที่ละเอียด เป็นตัวมโนกรรม คือที่จิตนี้เองสร้างขึ้นมา กระทำขึ้นมา ด้วยอำนาจของอุปาทานคือความยึดถือ อหังการ มมังการ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อหังการ ก็คือกรรมนี้เองกระทำให้เป็นเราขึ้นมา การกระทำให้เป็นเราขึ้นมานี้เรียกว่า อหังการ ๔ คำนี้บางทีเราพูดถึงกัน ว่าคนนั้นมีอหังการมาก คนนี้มีอหังการมาก ที่มีความหมายถึงความที่ทะนงตัว ยกตัว ถือตัวเป็นต้น แต่ตามศัพท์นั้นแปลว่า การทำให้เป็นเรา การสร้างให้เป็นเรา ซึ่งการทำให้เป็นเราการสร้างให้เป็นเรานี้คือตัวกรรมนั้นเอง และตัวกรรมนี้เองก็เป็นกรรมภพดังกล่าวมาแล้ว มีอยู่ในจิตใจที่เป็นปัจจุบันนี้แหละ สร้างให้เป็นอหังการขึ้นมา ทำให้เป็นเราขึ้นมา และเมื่อสร้างให้เป็นอหังการให้เป็นเราขึ้นมาแล้วดั่งนี้ ก็มี มมังการ ตามมา คำว่า มมังการ นั้นแปลว่าทำให้เป็นของเรา สืบเนื่องมาจากอหังการ เมื่อมีการทำให้เป็นเราขึ้นมา ก็มีการทำให้เป็นของเราขึ้นมา เพราะเมื่อมีเราก็ต้องมีของเรา ดั่งนี้ก็เป็นกรรมภพ ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน การทำให้เป็นเรา สร้างเรา สร้างของเราขึ้นมา เรียกควบกันว่าอหังการมมังการ กรรมนี้เองเป็นของเรา อะไรเป็นของเรา ของเราที่เป็นของเรา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า กัมมัสโกมหิ เรามีกรรมเป็นของของเรา กรรมทายาโท เรามีกรรมเป็นทายาท คือต้องรับผลของกรรม เป็นต้น ก็คือกรรมนี้เองเป็นของเรา การสร้างให้เป็นเราขึ้นมาเป็นมโนกรรมอันละเอียด และเมื่อเป็นมโนกรรมคือเป็นกรรมขึ้นมา กรรมอันนี้เองก็เป็นของเรา ซึ่งจะต่ออุปปัติคือเข้าถึงชาติต่อไป และนอกจากนี้ เมื่อสร้างให้เป็นเราขึ้นมา เราก็ไปประกอบกรรมต่างๆ ทางกายทางวาจาทางใจ ดีบ้างชั่วบ้าง กรรมที่ประกอบต่างๆเหล่านี้ก็เป็นของๆเราอีกนั่นแหละ ซึ่งจะต้องไปเสวยผลต่อไป จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ยัง กัมมัง กริสสามิ กัลยาณัง วา ปาปกัง วา เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ตัสสะทายาโท ภวิสสามิ เราจะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้ ๕ โทษของกาม และเมื่อสร้างเราขึ้นมา และเราที่สร้างขึ้นมานี้ก็ท่องเที่ยวไปในกามดังกล่าว ติดอยู่ในกามดังกล่าว ก็ชื่อว่าเป็นกามภพ แต่ว่าพึงเข้าใจว่าที่กล่าวว่ากามคุณ กามก็มีคุณเป็นที่ตั้งของปีติโสมนัสดังกล่าวนั้น หาใช่มีคุณอย่างเดียวไม่ ยังมีโทษ อันเรียกว่ากามาทีนพโทษของกาม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจง อาทีนพ คือโทษของกามไว้เป็นอันมาก และตรัสไว้ด้วยว่ากามนี้ให้เกิดสุขโสมนัส อันเป็นส่วนคุณนั้นน้อย แต่ว่ามีอาทีนพคือโทษนั้นมาก พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ทุกๆคนนั้นต้องมีทั้งราคะมีทั้งโทสะมีทั้งโมหะ ถ้าว่ากามมีคุณโดยส่วนเดียวแล้ว ก็มีแต่ที่จะยินดีเพลิดเพลิน สนุกสนานกันไปโดยส่วนเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ บางทีก็สมปรารถนาได้ตามต้องการ บางทีก็ไม่สมปรารถนา และมีเหตุขัดข้องต่างๆ จึงต้องมีโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ในเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ตามที่รักใคร่ปรารถนา แต่ไปได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่รักใคร่ ไม่ปรารถนา และยังมีความหลงติดอยู่ ทั้งข้อที่ว่ามีสุขโสมนัสน้อยแต่ว่ามีทุกข์โทษมากนั้น พิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ ว่าความสุขโสมนัสที่ได้จากกามนั้น เป็นการได้อย่างผิวเผิน ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย เช่นว่ารสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เช่นรสอาหาร อันทำให้บุคคลติดในรสอาหาร ต้องการอาหารที่มีรสที่ต้องการ แต่ว่าความอร่อยที่ได้จากรสอาหารนั้น ก็อร่อยอยู่แค่ลิ้น เมื่อนำเข้าปาก ลิ้นก็ได้ทราบรส รสที่อร่อยที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่ครั้นล่วงลำคอลงไปแล้ว รสที่อร่อยนั้นก็หมดไปทันที เรียกว่าอร่อยอยู่แค่ลิ้น รสที่ว่าอร่อยนักหนาอยู่แค่ลิ้นเท่านั้น หาได้อร่อยลงไปลึกซึ้งไม่ พิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า แม้รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่เห็นทางตา ก็แค่ตา เสียงที่ว่าไพเราะเพราะพริ้งก็แค่หู กลิ่นก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ถูกต้องทางกายก็เช่นเดียวกัน ๖ เพราะฉะนั้น ความสุขโสมนัสทั้งปวงที่ได้จากกามคุณนั้นจึงได้ในขั้นผิวเผิน เช่นได้รสอร่อยแค่ลิ้น แล้วก็หายไปหมดไป ก็ได้เท่านั้น เหตุให้ต้องประกอบอกุศลกรรม แต่ว่าทุกข์โทษที่ตามมานั้นมีมาก ยิ่งมีความหลงติดอยู่ในส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถพอใจก็ต้องมีทุกข์มีโทษมาก บุคคลที่ต้องประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย ต้องละเมิดศีลทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่หลงติดอยู่ในรสของกาม หรือในสุขโสมนัสของกามในขั้นผิวเผิน ดังกล่าวมานี้ทั้งนั้น ทำให้ต้องแสวงหาต่างๆ แสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ อันปรากฏเป็นทรัพย์สินเงินทองอะไรต่างๆ เป็นสิ่งต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะหลงอยู่ในสุขโสมนัสเพียงชั่วแล่น แค่ผิวเผิน และเพราะเหตุที่สุขโสมนัสนั้นตั้งอยู่เพียงแค่ผิวเผิน ชั่วแล่น จึงต้องบริโภคสิ่งที่เรียกว่ากามกันบ่อยๆ เพราะเมื่อบริโภคแล้ว สุขโสมนัสนั้นชั่วแล่น ก็หายไป ก็ต้องบริโภคกันใหม่แล้วก็หายไป ต้องบริโภคกันใหม่ ดั่งนี้ ไม่สิ้นสุด ทั้งยังหาอาจที่จะได้สมประสงค์ไปทุกสิ่งทุกประการไม่ ทั้งจะต้องมีความพลัดพราก สิ่งที่เป็นผู้บริโภค คือตาหูจมูกลิ้นกายของตนเอง ก็ต้องเสื่อมต้องชำรุดทรุดโทรม เพราะอันที่จริงนั้นสิ่งที่เป็นผู้บริโภคนั้นก็คือ ตานี้เอง หูนี้เอง จมูกนี้เอง ลิ้นนี้เอง กายนี้เอง เช่นว่าอร่อยก็แค่ลิ้น ลิ้นนั้นเองอร่อย แต่เพราะใจไปหลง หลงรับเอาความทราบในรส ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ มาเป็นของจิตใจ จิตใจหลงติดรับเอา ไปอร่อยอยู่ในใจ ที่จริงอร่อยอยู่แค่ลิ้น ไม่ได้อร่อยที่จิตใจ แต่ว่าจิตใจไปหลงยึดเอาความอร่อยของลิ้นมาเป็นอร่อยที่จิตใจ จึงทำให้จิตใจนี้เพิ่มตัวกามที่เป็นกิเลส ความใคร่ความปรารถนาต้องการมากขึ้น ต้องการพัสดุกาม ต้องการกามคุณต่างๆมากขึ้น ๗ ท่านจึงว่าความอิ่มด้วยตัณหานั้นไม่มี หรือความอิ่มด้วยกามนั้นไม่มี เพราะว่าจิตใจนี้เองไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ ในส่วนของตาหูจมูกลิ้นกายใจเองนั้นมีอิ่มมีพอ เช่นว่าตาต้องการให้ดูรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ตาก็ดูอยู่ได้เท่าที่สามารถจะดูได้ นานเกินไปตาก็ไม่สามารถจะดูได้ แต่ใจก็ยังไม่อิ่มไม่พอ ขืนให้ดูอยู่นั่นแหละ จนถึงกับตาเองก็ต้องบอบช้ำลำบาก หูก็เหมือนกัน ฟังเสียงที่น่าไพเราะ น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หูเองฟังนานๆไป ก็ไม่ไหวเหมือนกัน จมูกต้องการกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ใช้อยู่บ่อยๆก็ไม่ไหวเหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน อร่อยลิ้นแล้วก็ให้อร่อยอยู่เรื่อยๆไป ลิ้นก็ทนไม่ไหวเหมือนกันท้องก็ทนไม่ไหว กายก็เหมือนกัน ถูกต้องสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เกินไปก็ไม่ไหวเหมือนกัน แปลว่าตัวของตาหูจมูกลิ้นกายนี้เองมีพอ อย่างอาหารที่บริโภคแล้วก็อิ่ม มีอิ่ม เรียกว่าตาๆก็มีอิ่ม หูก็มีอิ่ม จมูกก็มีอิ่ม ลิ้นก็มีอิ่ม กายก็มีอิ่ม คือมีพอ แต่ใจนี่เองที่เป็นตัวไม่พอ ไม่มีอิ่ม ไม่มีเต็ม ทุจริตผิดศีลเพราะกามนี่แหละ คนจึงต้องประพฤติทุจริตต่างๆเพราะกามนี่แหละ ผิดศีลกันได้ต่างๆเพราะกามนี่แหละ ต้องสร้างบาปสร้างอกุศลกรรมกันต่างๆ ฆ่าฟันอะไรกันเป็นต้น เบียดเบียนกันต่างๆ ก็เพราะกามนี่แหละ วุ่นวายกันไปก็เพราะกามนี่แหละ ก็เพราะใจนี่แหละ ที่เป็นตัวกรรมภพ สร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเรานี้เองก็ท่องเที่ยวไปในกาม แล้วก็ใจนี้เองไม่อิ่มไม่พอในกาม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามีคุณน้อย ให้สุขโสมนัสน้อย แต่มีโทษมาก จึงได้ทรงแสดงกามาทีนพ โทษของกาม แต่ก็ยากที่บุคคลจะเข้าใจ จะมองเห็นได้ เพราะว่ามีความติดอยู่มาก มีโมหะคือความหลงอยู่มาก นี่แหละเป็นกามภพ ซึ่งเมื่อเป็นกามภพแล้ว ก็เป็นอุบัติภพคือให้เข้าถึง ให้เข้าถึงชาติที่เป็นกามาพจรทั้งหลาย ตามกรรมที่กระทำไว้ ๘ เมื่อเป็นบาปกรรมก็เข้าถึงชาติของสัตว์เดรัจฉาน ชาติของสัตว์นรก ของเปรต ของอสุรกาย ถ้าเป็นกรรมดีก็เข้าถึงชาติของมนุษย์ของเทพที่เป็นชั้นกามาพจร ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามด้วยกัน แต่ว่าเป็นฝ่ายกุศล ถ้าฝ่ายอกุศลก็ไปในทางทุคติ ถ้าฝ่ายดีก็ไปสุคติ เพราะตัวกามภพในปัจจุบันคือใจของเรานี่แหละ ที่เป็นตัวกาม ใจของเราที่สร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเราขึ้นมาก็ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ซึ่งเป็นตัวมโนกรรม ซึ่งเป็นของเรา แล้วยังไปสร้างกรรมต่างๆทางกายทางวาจาทางใจ ถ้าดีก็ดีไป ถ้าชั่วก็ชั่วไป ตามแต่ดีหรือชั่ว ไปสุคติ ไปทุคติ คือเข้าถึงชาติที่เป็นสุคติ หรือเข้าถึงชาติที่เป็นทุคติ ตามกรรมที่ดีหรือชั่วที่ได้กระทำเอาไว้ อันเป็นชั้นกามาพจรด้วยกัน นี่แหละคือกามภพ อุปบัติภพ ที่เป็นชั้นกาม เนกขัมมะ ออกจากกาม คราวนี้ผู้ที่ได้เห็นโทษของกามดังกล่าวนี้ จึงได้บำเพ็ญเนกขัมมะคือออกจากกาม ตั้งต้นแต่การปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยการที่ตั้งจิตไว้ในรูปกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นมีรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นจิตลึกที่ๆละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และเป็นภพ คือเป็นตัวเราที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ ในรูปกรรมฐานเป็น รูปาพจร ก็เป็นกรรมภพขึ้นในจิตใจ ก็เป็นอุปัติภพให้เข้าถึงชาติที่เป็นรูปพรหม และเมื่อได้ปฏิบัติในศีลในสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปกรรมฐาน ปฏิบัติในอรูปกรรมฐาน ไม่มีรูป ภพของจิตก็เลื่อนขึ้นอีกชั้นหนึ่งเป็นอรูปภพ ก็เป็นกรรมภพเป็นอุปปัติภพที่เป็นอรูป ที่ท่องเที่ยวไปใน อรูป ก็ให้เข้าถึงชาติที่เป็นอรูปพรหม แต่ว่าก็ยังเป็นภพอยู่นั้นเอง คือยังมีตัวเรามีของเรา มีอหังการมมังการ ที่เป็นกามภพนั้นก็มีอหังการมมังการ ที่ท่องเที่ยวไปในกาม ทั้งที่เป็นฝ่ายสุคติ ทั้งที่เป็นฝ่ายทุคติ ๙ ที่เป็นรูปภพนั้นก็มีอหังการมมังการ ที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ รูปสมาบัติ ที่เป็นอรูปภพก็มีอหังการมมังการที่ท่องเที่ยวไปในอรูปกรรมฐาน อรูปสมาบัติ ก็แปลว่ายังมีตัวเราของเรา เพราะแม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นกรรม บาปหรือบุญที่กระทำในขั้นกามาพจรก็เป็นกรรม รูปสมาธิรูปสมาบัติก็เป็นกรรม อรูปสมาธิอรูปสมาบัติก็ยังเป็นกรรม จึงยังเป็นกรรมภพเป็นอุปปัติภพ เข้าถึงชาติคือความเกิด ยังไม่พ้นชาติคือความเกิด เพราะยังมีภพดังกล่าว ภพและชาติในปัจจุบัน ภพและชาติดังกล่าวมานี้ อาจพิจารณาเห็นได้ในปัจจุบัน ว่ามีภพมีชาติในปัจจุบันทันทีต่อเนื่องกันไป เมื่อสร้างตัวเราของเราขึ้น อันเป็นมโนกรรม เป็นกรรมภพ ตัวเรานี้ก็เข้าถึงชาติคือความเกิด เกิดเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาทันทีตามที่สร้าง เป็นต้นว่าเป็นมนุษย์ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนดีเป็นคนชั่ว เมื่อตัวเราที่เราสร้างขึ้น เมื่อตัวเราที่ๆสร้างขึ้นเป็นอหังการ นี่เป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัติภพเข้าถึง คือเป็นตัวเราขึ้นทันที เกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที คือสร้างตัวเรา ก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที ( เริ่ม ๕๒/๒ ) เปรียบเหมือน อย่างว่าเอาทัพพะสัมภาระต่างๆมาสร้างบ้าน นี่เป็นการที่เรียกว่าสร้างบ้าน เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัติภพ คือเกิดเป็นบ้านขึ้นเมื่อสร้างเสร็จ เกิดนั้นคือชาติ เมื่อสร้างบ้านก็เกิดเป็นบ้านขึ้น เมื่อสร้างโต๊ะเก้าอี้ ก็เกิดเป็นโต๊ะเก้าอี้ขึ้น ทีแรกเมื่อสร้างเราก็เกิดเป็นเราขึ้น สร้างนั่นเป็นตัวภพ เกิดก็เป็นชาติ และเมื่อตัวเรานี้สร้างกุศลกรรม ก็เกิดเป็นคนดีขึ้นทันที สร้างอกุศลกรรม ก็เกิดเป็นคนชั่วขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ภพกับชาติก็คู่กันอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลา ความเป็นคนดีความเป็นคนชั่วนั้น มีทันทีในเมื่อสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น คือเมื่อตัวเรานี้สร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น ๑๐ คราวนี้ถ้าไม่มีการสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น ที่จะเกิดเป็นคนดีคนชั่วก็ไม่มี และหากว่าถ้าไม่มีตัวเรา ก็ไม่มีใครจะเป็นผู้สร้างกรรมดีกรรมชั่ว จึงต้องมีตัวเรา ตัวเราจึงมีขึ้นได้ก็ต้องมีการสร้างขึ้นมา ด้วยอุปาทาน เป็นอหังการขึ้นมา ก็เป็นมมังการ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นมา และจะเห็นว่าชาติภพนั้น หรือภพชาตินั้นมีอยู่ในปัจจุบันนี้ทุกขณะ เป็นสัจจะคือความจริง ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๙ ความรู้จักอุปาทาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อุปาทาน ๔ กามุปาทาน ๓
วัตถุกาม กิเลสกาม ๔
อาการทั้ง ๓ ของอุปาทาน ๕
ทิฏฐุปาทาน ๗
นิยตะมิจฉาทิฏฐิ ๑๐
สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ ๑๐
ตายเกิด ตายสูญ ๑๑
วิภัชวาทะในพุทธศาสนา ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๕๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๓/๑ ( File Tape 42 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๙ ความรู้จักอุปาทาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระเถราธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิ ที่ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้ถามปัญหาเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งท่านก็ได้แสดงมาโดยลำดับ ตามที่ภิกษุทั้งหลายถาม คือเมื่อท่านตอบจบไปคราวหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็ถามท่านอีกว่า ยังมีอธิบายอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี และท่านก็อธิบายไป จบแล้วภิกษุทั้งหลายก็ถามท่านอีก ว่ายังมีอธิบายเป็นอย่างอื่นต่อไปอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี ท่านก็อธิบายไป จนถึงเข้าหมวดแห่งธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่ ซึ่งเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ก็ได้นำเอาพระเถราธิบายนี้มาแสดงโดยลำดับ จนถึงท่านตอบปัญหาที่ภิกษุทั้งหลายถามดังกล่าว ในข้ออุปาทาน ๒ ซึ่งสืบเนื่องมาจากภพ ซึ่งได้แสดงไปแล้ว โดยที่ภพมีขึ้นก็เพราะมีอุปาทาน ท่านจึงได้จับอธิบายสัมมาทิฏฐิในข้ออุปาทานนี้ คือท่านได้มีเถราธิบายโดยใจความว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือรู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน อุปาทาน ๔ และท่านก็ได้แสดงอธิบายในข้อแรก คือข้อที่ว่ารู้จักอุปาทาน จำแนกอุปาทานเป็น ๔ คือ กามุปาทาน ความยึดถือกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิ สีลัพพัตตุปาทาน ความยึดถือศีลและพรต อัตวาทุปาทาน ความยึดถือวาทะว่าตน รู้จักอุปาทานก็คือรู้จักอุปาทานทั้ง ๔ นี้ รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน ก็คือรู้จักว่าอุปาทานเกิดขึ้นก็เพราะตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาจึงเป็นเหตุเกิดแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน ก็คือรู้จักว่าตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน กามุปาทาน จะได้แสดงอธิบายอุปาทานทั้ง ๔ ก่อน อุปาทานนั้นแปลกันว่าความยึดถือ ได้มีพระพุทธาธิบาย ซึ่งท่านพระสารีบุตรนำมาอธิบาย ว่าอุปาทานมี ๔ ก็คือข้อ ๑ กามุปาทาน ความยึดถือกาม กามนั้นก็ได้แก่วัตถุกาม กับกิเลสกาม ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว ยึดถือกาม ก็คือยึดถือกามที่เป็นวัตถุกาม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ว่าเป็นของเรา อันอาการที่ยึดถือนี้เมื่อแสดงเป็นกลางๆ ท่านก็ได้แสดงอาการที่ยึดถือดั่งนี้ว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เอโสหะมัสมิ เราเป็นนี่ เอโสเมอัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ๓ วัตถุกาม กิเลสกาม แต่ในข้อกามุปาทานนี้ อธิบายแต่เพียงว่ายึดถือว่าเป็นของเรา จะเข้าใจได้ง่าย คือยึดถือว่ารูปเสียงเป็นต้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นของเรา แต่ก็ชื่อว่าได้ยึดถือเอาตัวกิเลสกาม คือตัวความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ นั้นไว้ด้วย ไม่ปล่อยความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจในวัตถุนั้นๆ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้ยึดถือวัตถุนั้นๆ ที่รักที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจ ถ้าไม่มีความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจอันเป็นกิเลสกาม วัตถุนั้นๆก็ไม่เป็นวัตถุกาม เป็นแต่เพียงวัตถุเฉยๆ ดั่งเช่นท่านที่สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสกาม คือความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ อันเป็นตัวกิเลสอยู่ในจิตใจ เพราะท่านละได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นรูปอะไรทางตา รูปนั้นก็ไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เพราะท่านเห็นรูปนั้นแล้ว ท่านไม่รัก ไม่ใคร่ ไม่ปรารถนา ไม่พอใจ ท่านพรากจิตออกจากรูปนั้นได้ ท่านได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ท่านคิดนึกอะไรทางใจก็เช่นเดียวกัน ทุกๆอย่างไม่เป็นวัตถุกามของท่าน ท่านพรากจิตออกจากวัตถุ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายทั้งปวงได้ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งปวงนั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจของท่าน จึงไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เป็นวัตถุเฉยๆ พระอรหันต์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ทรงเห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้คิดเรื่องอะไรทางใจ เช่นเดียวกันกับคนทั้งหลาย แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสกามอยู่ในใจ ที่จะออกไปรักใคร่ปรารถนาพอใจ ในทุกๆสิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยินเป็นต้นเหล่านั้น ๔ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นวัตถุกามของท่าน เป็นวัตถุเฉยๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านละอุปาทาน คือความยึดถือได้หมดสิ้น โดยตรงก็ไม่ยึดถือกิเลสกามนั้นแหละ ไม่ยึดถือเอาความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ เอาไว้ในใจ ละได้หมด เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือวัตถุทั้งหลาย อันเรียกว่าวัตถุกามนั้น แต่ว่าสามัญชนทั้งหลายนั้น ยังมีกิเลสกามอยู่ในใจ ยังมีความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ ยังไม่ปล่อย ยังไม่วาง ความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ ในวัตถุทั้งหลายที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าได้มีความยึดถืออยู่ในตัวกิเลสนี้ด้วย และเป็นข้อสำคัญ เมื่อมีความยึดถืออยู่ในตัวกิเลสนี้ จึงทำให้มีความยึดถืออยู่ในตัววัตถุที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้น ทำให้วัตถุนั้นๆเป็นวัตถุกามขึ้นมา และเมื่อกล่าวกันอย่างสามัญเข้าใจง่าย ก็กล่าวว่ายึดถือวัตถุกาม แต่อันที่จริงนั้นยึดถือกิเลสกามนั้นแหละ ยึดถือความรักความใคร่ความปรารถนา ความพอใจไว้ ไม่ปล่อยไม่วาง อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ และอันนี้แหละที่เป็นตัวกามุปาทานความยึดถือกาม อาการทั้ง ๓ ของอุปาทาน และเมื่ออธิบายดั่งนี้ ก็เอาเข้าในอาการทั้ง ๓ ของอุปาทานนั้นได้ คือยึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา คือยึดถือเอาเป็นของเราด้วย และเราเป็นนี่ด้วย นี่เป็นอัตตาตัวตนของเราด้วย ยึดถือว่า นี่เป็นของเรา ก็คือยึดถือว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านี้เป็นของเรา ตลอดจนถึงยึดถือว่า นี่เป็นความรักของเรา ความใคร่ของเรา ความปรารถนาของเรา ความพอใจของเรา ยึดถือว่า เราเป็นนี่ ก็คือตัวเราก็เป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ ตัวเราก็คือเป็นความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ ๕ ทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นเป็นอัตตาตัวตนของเรา เป็นอันว่าตัวตนของเรานั้น จะต้องประกอบด้วยความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ จะต้องประกอบด้วยรูปด้วยเสียงด้วยกลิ่นด้วยรสด้วยโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย รวมอยู่ในตัวเรา และเราก็เป็นสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเรา เช่นเดียวกับอวัยวะในร่างกาย เช่นแขนขาเป็นต้น อวัยวะในร่างกายทุกส่วนนี้ จะกล่าวว่าเป็นของเราก็ได้ เช่นว่า ศรีษะของเรา แขนของเรา ขาของเรา จะกล่าวว่าเราเป็นอวัยวะเหล่านี้ก็ได้ เช่นว่า ในการถ่ายรูป ก็ต้องถ่ายเอาอวัยวะเหล่านี้นั่นแหละ ที่รวมกันเข้า มีศรีษะ มีมือ มีขา มีลำตัว และเมื่อเราเห็นรูปของอวัยวะต่างๆเหล่านี้ เราก็เข้าใจว่า นี่แหละเป็นตัวเรา และเราก็เป็นอวัยวะเหล่านี้ อวัยวะเหล่านี้นี่แหละก็เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้น ตามตัวอย่างนี้จะพึงเห็นได้ว่า อุปาทานคือความยึดถือนั้น เมื่อจะกล่าวให้ครบถ้วน ก็ต้องกล่าวดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เช่นนี่เป็นขาของเรา เป็นแขนของเรา เป็นศรีษะของเรา เอโสหะมัสสมิ เราเป็นนี่ ก็คือเราก็เป็นศรีษะ เป็นแขน เป็นขา เป็นต้นนี่แหละ ดังตัวอย่างที่ว่าเมื่อเห็นรูปถ่าย ก็รูปถ่ายนั้นก็ถ่ายติดเอาอวัยวะต่างๆนี้แหละ รวมกันเข้า เราก็เป็นศรีษะ เป็นแขน เป็นขา เป็นต้นนี่แหละ และนี่แหละก็เป็นอัตตาตัวตนของเรา คือทั้งหมดก็เป็นอัตตาตัวตนของเรา เพราะฉะนั้น แม้ในข้อกามุปาทานยึดถือกาม ก็คือยึดถือด้วยอาการดังกล่าวมานี้ และก็ลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงวัตถุเท่านั้น ยึดถือตัวความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจ อันเป็นตัวกิเลสกามไว้ด้วย ไม่ปล่อยไม่วาง ถ้าหากว่าปล่อยวางตัวกิเลสนี้ได้ ตัววัตถุก็ปล่อยได้ทันที ไม่เป็นที่ติด ไม่เป็นที่ยึด ๖ ความสำคัญจึงอยู่ที่ความยึด อยู่ที่ตัวกิเลส ยึดถืออยู่ที่ตัวความรักความใคร่ความปรารถนาความพอใจดังที่กล่าวมาแล้ว นี้คือกามุปาทาน ความยึดถือกาม อันสามัญชนมีอยู่ ยังละไม่ได้ ทิฏฐุปาทาน ข้อที่ ๒ ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น อันความเห็นนี้หมายถึงความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด แต่ว่าที่ยังยึดถืออยู่ก็เพราะว่า ยังไม่รู้ว่าเห็นผิด เมื่อรู้ว่าเห็นผิดเมื่อใด ก็ย่อมจะละความเห็นผิดนั้นได้เมื่อนั้น ที่กล่าวว่าความเห็นผิดนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียก คำว่าทิฏฐินี้มีคำประกอบเพื่อให้ชัด ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ตรงกันข้ามคือเห็นถูกเห็นชอบ ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ แต่ว่ามักจะกล่าวกลางๆ คือไม่มีมิจฉาไม่มีสัมมานำ กล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ และเมื่อกล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ ก็มักจะหมายถึงความเห็นผิด และยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ อาการที่ยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ ( จบ ๕๒/๒ ) เป็นตัวอุปาทานคือความยึดถือ อันทำให้ดื้อดึงถือรั้นอยู่ในความเห็นของตนนั้นที่ผิดๆ ( เริ่ม ๕๓/๑ ) ความเห็นผิดนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชั้นหยาบขึ้นไปจนถึงชั้นละเอียด สำหรับที่เป็นระดับชั้นหยาบ คือมิจฉาทิฏฐิในอกุศลกรรมบถฝ่ายมโนกรรม อันมโนกรรมอันเป็นฝ่ายอกุศลนี้ ได้แก่อภิชฌาความโลภเพ่งเล็งสิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาทความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ และมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐินี้ท่านแสดงไว้อีก ๓ คือ อกิริยะทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกะทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ นัตถิกะทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี ข้อแรกอกิริยะทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันทำนั้น ก็คือปฏิเสธบุญปฏิเสธบาป ๗ ว่าการกระทำ ไม่มีเป็นบุญ ไม่มีเป็นบาป ส่วนที่ว่าดีหรือชั่วนั้น เกี่ยวแก่ปัจจัยภายนอก คือบุคคลอื่น เมื่อบุคคลอื่นรู้เห็น ก็ว่าดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ยกย่องบ้าง ลงโทษบ้าง แต่ถ้าไม่มีผู้อื่นรู้เห็น ก็ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีดีไม่มีชั่ว เป็นเพียงการกระทำเท่านั้น อกิริยะทิฏฐิดังกล่าวมานี้ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะหลักพุทธศาสนานั้นแสดงว่า การทำของบุคคล เมื่อเจตนาจงใจทำการที่เป็นบาปก็เป็นบาป การที่เป็นบุญก็เป็นบุญ คนอื่นจะรู้จะเห็น จะยกย่องชื่นชม จะลงโทษ หรือไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม เมื่อจงใจทำการที่เป็นบาปแล้วก็เป็นบาปอยู่นั่นเอง จงใจทำการที่เป็นบุญแล้วก็เป็นบุญอยู่นั่นเอง จึงมีบุญมีบาป มีดี มีชั่ว หรือเรียกว่ามีกรรมดีกรรมชั่ว ข้อ ๒ อเหตุกะทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือเมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คือคราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดีต่างๆ คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดีต่างๆ ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย เป็นไปตามคราว ตามเวลา ตามโชคดีโชคร้าย เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย เท่านั้น ความเห็นดั่งนี้ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะตามหลักพุทธศาสนานั้นแสดงว่า ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ผลดีก็เกิดจากเหตุที่ดี ผลไม่ดีก็เกิดจากเหตุที่ไม่ดี แม้ว่าตนเองจะยังไม่สามารถรู้ถึงเหตุของผลนั้นๆได้ ผลนั้นๆก็ต้องมีเหตุอยู่นั่นเอง หาได้เป็นไปตามคราวแห่งโชคเคราะห์ดีหรือไม่ดีดังกล่าวนั้นไม่ ดังที่ตรัสแสดงไว้ว่าผลดีก็เกิดจากกรรมดี ผลชั่วก็เกิดจากกรรมชั่ว ข้อที่ ๓ นัตถิกะทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ๘ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะนั้น ก็เป็นต้นว่า ไม่มีมารดาไม่มีบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดาเป็นมารดา แม้ที่นับถือว่าสมณะพราหมณ์ก็ไม่มี ไม่มีภิกษุไม่มีสามเณรเป็นต้น แม้ที่นับถือกันอย่างอื่นเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่มี และไม่มีเหตุผลที่เป็นคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม คือคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรมะ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จะต้องผู้รับ ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ไม่มีเหตุไม่มีผล คือไม่มีกรรมดีไม่มีผลดี ไม่มีกรรมชั่วไม่มีผลชั่ว ดั่งนั้น เป็นอันว่านัตถิกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีนี้ ปฏิเสธสมมติสัจจะทั้งหมด ปฏิเสธคลองธรรมทั้งหมด ความเห็นดั่งนี้ผิดคติทางพุทธศาสนา เพราะทางพุทธศาสนานั้น สอนให้นับถือสมมติสัจจะความจริงโดยสมมติ และสอนคลองธรรมคติธรรมดา คือสอนให้บุตรธิดาเคารพนับถือมารดาบิดา เป็นกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา สอนให้มารดาบิดาปฏิบัติตนให้เป็นบุพพการี เป็นพรหมของบุตรธิดา สอนว่ามีสมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบที่พึงนับถือ เช่นมีภิกษุมีสามเณร และมีบุคคลที่ได้รับสมมติบัญญัติแต่งตั้งในฐานะต่างๆ พระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติตามคลองธรรม ให้รับรู้ในคลองธรรมหรือคติธรรมดา ดังที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้น ว่าจักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ทำดีไว้ก็รับผลดี เป็นทายาทรับผลดี ทำชั่วก็เป็นทายาทรับผลที่ชั่ว เป็นเหตุเป็นผลตามคติธรรมดา ๙ นิยตะมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้น มิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ คืออกิริยะทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีเหตุ นัตถิกะทิฏฐิกะความเห็นว่าไม่มี จึงเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถืออยู่ในมิจฉาทิฏฐินี้มาก จนดิ่งลง อันเรียกว่า นิยตะมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดที่ดิ่งลงแล้ว ก็ให้เกิดโทษมหันต์ ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆที่ได้รับว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ไม่รับรองคลองธรรมหรือคติธรรมดา ทั้งสิ้น ซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่าผู้ที่มีความเห็นดั่งนี้แล้ว จมดิ่งลงไปสู่อบาย คือภูมิภพที่เสื่อม กล่าวได้ว่าตั้งแต่ชาตินี้ ถ้าใครมีความเห็นดั่งนี้ ยิ่งดิ่งลงไปแล้ว หรือแนบแน่นแล้ว เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงแล้ว ก็ยิ่งดิ่งลงเหวลงนรกไปทีเดียว เป็นความเห็นผิดที่ต้องละ จึงจะสามารถยกตนขึ้นสู่ภูมิชั้นของมนุษย์ ของบุคคล ที่เป็นระดับสามัญชนคนดีได้ เพราะฉะนั้น ความยึดถือความเห็นผิดในข้อนี้ จึงให้โทษอย่างมหันต์ ผู้ที่นับถือพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่า ย่อมละความเห็นผิด อันมีโทษมหันต์ อันร้ายแรงนี้ได้ด้วยกัน จึงได้เป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพุทธศาสนาได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ย่อมจะไม่นับถือพุทธศาสนา หรือย่อมจะทำลายพุทธศาสนา หรือแม้ย่อมจะทำลายศาสนาทุกอย่างทุกศาสนา ที่สอนให้ละชั่วทำดี แม้ในขั้นสามัญ สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ มาถึงมิจฉาทิฏฐิที่เป็นระดับมีโทษน้อยเข้า ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยง กับอุจเฉททิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญ ๑๐ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงนั้น ก็คือเห็นว่าในปัจจุบันนี้ก็มีอัตตาคือตัวตน เมื่อกายนี้แตกสลาย อัตตาคือตัวตนก็ไม่แตกสลาย ไปถือชาติภพใหม่ และก็เป็นไปดั่งนี้ตลอดไป มีอัตตาคือตัวตนที่ไม่ตายอยู่ดังนี้ตลอดไป ที่ตายนั้นเป็นแต่เพียงร่างกายสังขารเท่านั้น อีกข้อหนึ่ง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อร่างกายอันนี้แตกสลาย อัตตาตัวตนก็แตกสลายไปพร้อมกัน ไม่มีอัตตาตัวตนที่จะไปถือชาติภพใหม่ ตายเกิด ตายสูญ ความเห็นแรก สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าตายเกิด เกิดกันเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด ความเห็นหลัง อุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าตายสูญไม่เกิด คนโดยมากนั้นก็มักจะเห็นกันว่าตายเกิด แต่ก็มีบางคนที่เห็นว่าตายสูญไม่เกิด เพราะว่าไม่เห็นว่ามีอะไรไปเกิด เมื่อตายแล้วก็หมดลมหายใจ ก็เป็นซากศพ ไม่ปรากฏว่ามีอัตตาอะไร ไม่รู้ไม่เห็นอัตตาอะไรว่าไปเกิด คนบางคนจึงลงความเห็นว่าตายสูญ อันที่จริงก็เป็นอย่างนั้น คือว่าคนสามัญทั่วไปนั้นไม่รู้ไม่เห็นว่าอะไรไปเกิด เมื่อใครตายหมดลมหายใจ ก็นำไปเผาไปฝังกัน แต่แม้เช่นนั้นคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ก็ปรากฏว่าเชื่อกันว่าตายเกิด เพราะเชื่อต่อคำสอนของศาสดาที่สอนว่าตายเกิด หรือว่าปรากฏเหตุการณ์บางอย่าง เช่นฝันเห็นคนที่ตายไปแล้ว หรือปรากฏภาพของคนที่ตายไปแล้ว เป็นต้น วิภัชวาทะในพุทธศาสนา แต่แม้เช่นนั้น ความเห็นดั่งนี้ก็ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนานั้นไม่สอนว่าตายเกิดกันเรื่อยไป และไม่สอนว่าตายสูญ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงตายตัวไปฝ่ายเดียว แต่ว่าสอนจำแนกตามเหตุและผล ๑๑ อันเรียกว่าวิภัชวาทะกล่าวจำแนกตามเหตุและผล คือเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ดังเช่นในเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าชรามรณะมีขึ้นก็เพราะมีชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดมีขึ้นก็เพราะมีภพ ดั่งนี้ ก็แปลว่าเมื่อยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยให้เกิดก็ไม่เกิด คือเมื่อตัดตัณหาได้สิ้นเชิง สิ้นกิเลสหมดก็ไม่เกิด แต่แม้ไม่เกิดก็ไม่แสดงว่าสูญ ถ้าเห็นว่าพระอรหันต์สูญ ก็เรียกว่าเป็นความเห็นผิดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แม้ความเห็นทั้งสองนี้ก็เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด แต่เป็นความเห็นผิดที่ยังไม่ถือว่ามีโทษร้ายแรง เหมือนอย่าง ๓ ข้อข้างต้น แต่คนทั่วไปก็ยังมีความเห็นกันดังนี้อยู่เป็นอันมาก ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*