ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:21
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป035
สัพพาสวสังวรสูตร ๕
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
เรื่องที่ควรงดเว้น ๒
กัลยาณมิตร ๔
วิธีบันเทาอกุศลวิตก ๕
กิเลสกามเกิดขึ้นจากสังกัปปะ ๖
ความคิดปรุง กามคุณ ๗
อาลัยของจิตที่เป็นกามาพจร ๘
มหรสพต้องเจือด้วยกิเลส ๙
ฟังเทศน์แล้วหลับก็เพราะเหตุนี้ ๙
ความปรุงคิดในโทสะพยาบาทเบียดเบียน ๑๐
อธิบายกิเลสดีเยี่ยม
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๒/๑ ( File Tape 35 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
สัพพาสวสังวรสูตร ๕
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสังวรสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมระมัดระวังป้องกัน
ละอาสวะทั้งหลายทั้งหมด
นำสติปัฏฐาน
ในพระสูตรนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอน
ให้ปฏิบัติละอาสวะ
กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ด้วยวิธีทัศนะ
คือใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ให้เห็น
ใช้วิธีสังวรสำรวมระวังป้องกันอินทรีย์ ๖
อันเรียกว่าอินทรียสังวร
ใช้วิธีบริโภคเสพปัจจัยทั้ง ๔
ใช้วิธียับยั้งไว้อยู่ รับไว้อยู่
คือใช้ขันติความอดทน อดกลั้น
ซึ่งได้แสดงแล้วเรื่องที่ควรงดเว้น
ต่อจากนี้ได้ตรัสสอนให้ใช้วิธีงดเว้น
ในวิธีนี้ได้ตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมะเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ละเว้นช้างร้าย ม้าร้าย โคร้ายโคดุ สุนัขร้ายสุนัขดุ งดเว้นงู
งดเว้นที่ๆมีตอเป็นอันตราย ที่ๆมีขวากหนามเป็นอันตราย
เว้นบ่อ เว้นเหวลึกอันตราย
เว้นที่น้ำครำ เว้นที่สกปรกทั้งหลาย
และสพรหมจารีคือผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน
ซึ่งเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ กำหนดลงในที่อันใดว่าเป็นที่ ...
( เริ่ม ๔๒/๑ )
และกำหนดว่าผู้ที่นั่งในที่ไม่ควรนั่งเช่นใด
ไปในที่ๆไม่ควรไปเช่นใด
คบคนเช่นใดอันเรียกว่าปาปมิตรคือมิตรชั่ว
ก็ให้งดเว้นอาสนะที่ไม่ควรนั่งเช่นนั้น ที่ๆไม่ควรไปเช่นนั้น
งดเว้นมิตรชั่วที่ไม่ควรคบเช่นนั้นเสีย
พิจารณาดูในข้อนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า
สัตว์บุคคลสถานที่ทั้งปวงที่ตรัสสอนให้งดเว้นเช่นนั้นควรงดเว้นจริงๆ
เพราะเมื่อไปสู่สถานที่เช่นนั้น คบกับบุคคลที่เป็นปาปมิตรเช่นนั้น
หรือแม้ว่านั่งในที่ๆไม่ควรนั่ง เป็นต้นดังที่ตรัสสอนให้งดเว้นนั้น
ย่อมจะเกิดอันตรายได้ ย่อมจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่างๆได้
ย่อมจะถูกชักนำไปในทางที่ผิดได้
และจะทำให้เกิดความกังวลห่วงใยในอันที่จะป้องกันรักษา
หรือถ้าต้องต่อสู้ก็จะต้องล่วงศีลเป็นต้น
หรือต้องกระทำการที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ปฏิบัติธรรมะอีกด้วย
และการไปในที่เช่นนั้น
ที่มีสัตว์ร้ายต่างๆ หรือแม้ว่าไปในสถานที่ๆมีหลักตอขวากหนามบ่อเหว ที่ๆสกปรก
ย่อมไม่เป็นสัปปายะในการที่จะปฏิบัติธรรมแต่อย่างไร จะเกิดอันตราย
และเมื่อไปนั่งในที่ๆมีคนนั่ง ก็เป็นความไม่เหมาะสม และจะเกิดความยุ่งยาก
ไปในที่ไม่ควรไปก็เช่นเดียวกัน
ยิ่งไปคบปาปมิตร มิตรที่ชั่วที่ผิด ก็ยิ่งจะถูกชักนำไปในทางที่ชั่วที่ผิด
หรือถูกกล่าวหาว่าคบคนชั่วเป็นมิตร ต้องถูกระแวงสงสัย
เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นสัปปายะแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อละอาสวะทั้งหลาย
เมื่อมุ่งปฏิบัติเพื่อละอาสวะ
หรือกล่าวรวมๆว่ามุ่งปฏิบัติธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องละสัตว์บุคคลสถานที่เป็นต้น
อันไม่เหมาะสมเช่นนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ยินดีในเสนาสนะป่า
ให้เสพที่นั่งที่นอนอันสงบสงัด ให้พอใจในวิเวกคือที่อันสงบสงัด
ก็จะต้องหมายความว่าสงบสงัดปราศจากสัตว์ร้ายต่างๆที่จะทำอันตรายได้
และต้องเป็นที่ๆไม่มีขวากหนาม หลักตอ ที่จะเป็นอันตราย
ไม่มีบ่อมีเหวที่จะเป็นอันตรายได้ง่าย
และไม่เป็นที่ประกอบด้วยน้ำครำเหม็นคลุ้งไป หรือไม่เป็นสถานที่สกปรก
ต้องเป็นสถานที่ๆสะอาด ประกอบด้วยอากาศที่บริสุทธิ์
ปราศจากกลิ่นที่สกปรกทั้งหลาย
ทั้งต้องเป็นที่นั่งที่นอนอันควรนั่งควรนอน
ไม่ใช่ว่าไม่ควรนั่งควรนอน และต้องเป็นที่ๆควรจะไปได้
ไม่ใช่เป็นที่ๆไม่ควรจะไป
ซึ่งเมื่อไปเข้าแล้วก็ย่อมจะไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ทั้งจะเกิดอันตราย
เช่นดังที่ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรผู้ปฏิบัติธรรม
มุ่งแต่จะไปปฏิบัติในเสนาสนะป่า
เมื่อเดินเข้าไปในเสนาสนะป่ามีชาวบ้านห้ามว่าเป็นถิ่นอันตราย
ก็ยังเข้าไป
และก็ปรากฏว่าต้องเป็นอันตรายจริงๆ ก็มีเป็นตัวอย่างอยู่
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นที่ๆปราศจากอันตรายด้วย
กัลยาณมิตร
และนอกจากนี้ก็ต้องเป็นที่ๆมีกัลยาณมิตร คือเพื่อนมิตรที่ดีงาม
เมื่อมุ่งไปปฏิบัติธรรมในที่ไหน ในที่นั้นก็ต้องมีอาจารย์
ซึ่งเป็นผู้ประพฤติธรรม สั่งสอนธรรมได้
และมีเพื่อนมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะมีสัปปายะ คือมีความผาสุขสบาย
ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง
ซึ่งเมื่อมุ่งที่จะปฏิบัติธรรมะ
หรือกล่าวในที่นี้ว่าปฏิบัติเพื่อละอาสวะ
ก็จะต้องปฏิบัติงดเว้นในสัตว์บุคคลสถานที่ๆพึงงดเว้น
ดังที่ตรัสสอนเอาไว้ วิธีบันเทาอกุศลวิตก
และต่อจากนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ละอาสวะ
ด้วยวิธีที่เรียกว่าบันเทา ก็คือต้องปฏิบัติบันเทาอกุศลวิตก
คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นในจิตใจ
โดยที่ไม่รับเอาไว้ในจิตใจ
หากอกุศลวิตกทั้งหลายบังเกิดขึ้น ก็ต้องปฏิบัติบันเทา
ระงับดับให้หายไป ให้สิ้นไปให้หมดไป ไม่รับรักษาเอาไว้ในจิต
อันอกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายนั้น
ก็ได้แก่กามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม
พยาบาทวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน
กามวิตกนั้น คำว่ากามเป็นชื่อของกิเลสแปลว่าความใคร่
หมายรวมถึงกิเลสที่เป็นไปในทางเดียวกันนี้
เป็นต้นว่าราคะความติดใจรักใคร่ยินดี
ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปในทางกาม
ที่เป็นชื่อของกิเลสดั่งนี้เรียกว่ากิเลสกาม
กิเลสอันเป็นเหตุให้ใคร่
เป็นชื่อของวัตถุก็ได้แก่วัตถุคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
ก็รวมเข้าในรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ
สิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้อง
ตลอดจนถึงเรื่องของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
คือสิ่งที่กายถูกต้องเหล่านี้
ที่บังเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นในจิตใจ ก็รวมเรียกว่าวัตถุกาม
พัสดุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหมด พัสดุกามนี้
เป็นพัสดุกามขึ้นก็ด้วยอำนาจของกิเลสกาม
กิเลสกามนั้นเมื่อบังเกิดขึ้นในวัตถุอันใด
จะเป็นรูปก็ตาม เสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ตาม
วัตถุอันนั้นก็เป็นวัตถุกามขึ้นมา
เมื่อกิเลสกามไม่บังเกิดขึ้น วัตถุทั้งปวงก็เป็นวัตถุอยู่เฉยๆ
เป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะอยู่เฉยๆ
ไม่เป็นวัตถุกาม ยกตัวอย่างดังเช่น
สามัญชนหรือบุถุชนทั้งหลาย
เมื่อได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส ได้ทราบโผฏฐัพพะ
อันใดอันหนึ่ง ก็เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวัตถุกามขึ้นมา
ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ละอาสวะกิเลสได้สิ้นแล้ว
ท่านเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะอะไร
ก็ไม่เกิดความรักใคร่ยินดีปรารถนาต้องการ
คือไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นวัตถุกามของท่าน แต่เป็นวัตถุเฉยๆ
คือเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ
ที่ท่านได้เห็น ท่านได้ยิน ท่านได้ทราบ ทางอายตนะ
ผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติก็ระงับจิตใจของตนได้ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา
เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ทางอายตนะ
ก็ไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านั้น
สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เป็นวัตถุกามของผู้ปฏิบัติธรรมะนั้น
กิเลสกามเกิดขึ้นจากสังกัปปะ
เพราะฉะนั้น วัตถุที่จะเป็นวัตถุกามขึ้น ก็ด้วยอำนาจของกิเลสกาม
และกิเลสกามที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลเป็นกิเลสกองราคะ
กิเลสกองกามตัณหา ก็ตาม
การรวมเข้าในกิเลสกองกามนี้บังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของความดำริ ความตรึกนึกคิดนี้เอง
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า
สังกัปปะราโค ปุริสสัสสะกาโม
ที่แปลว่าราคะคือความติดใจยินดี ที่เกิดขึ้นจากสังกัปปะความดำริ เป็นกามของบุคคล ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น สังกัปปะคือความดำริ หรือวิตกคือความตรึกนึกคิด ซึ่งในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ นำให้บังเกิดกามขึ้นได้ และเมื่อบังเกิดเป็นกามขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่ากามวิตก แปลว่าความตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของกิเลสกาม ก็ได้ ความตรึกนึกคิดไปในวัตถุกาม คือในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ก็ได้ เพราะฉะนั้น ความดำรินี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคนเรานี้เองเป็นผู้ปรุงขึ้น เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้าในขันธ์ ๕ ข้อ ๔ ที่เรียกว่าสังขาร ที่แปลว่าความปรุงคิด หรือความคิดปรุง ก็คือจิตนี้เองนำเอาสิ่งที่จำได้ อันเรียกว่าสัญญา อันเป็นขันธ์ข้อที่ ๓ มาปรุงคิด หรือมาคิดปรุง ความคิดปรุง เพราะฉะนั้น ในคำว่าสังขารที่แปลว่าความปรุงคิดหรือความคิดปรุงนี้ จึงประกอบขึ้นด้วยจิต ประกอบขึ้นด้วยอารมณ์หรือเรื่องที่จำได้ ซึ่งความจำนั้นก็คือสัญญา เพราะถ้าจำไม่ได้คือไม่มีสัญญาแล้ว ก็เอามาปรุงคิดไม่ได้ จะต้องจำได้ คือจะต้องมีสัญญา ก็เอาสิ่งที่มีสัญญาคือจำได้นั้นมาปรุงคิด เป็นเรื่องนั้น เป็นเรื่องนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้ มาปรุงกันเข้า เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสังขารในขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นขันธ์ข้อที่ ๔ ความปรุงคิดหรือความคิดปรุง อันนี้แหละคือวิตกความตรึกนึกคิด หรือสังกัปปะความดำริ ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้เอง เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นได้ เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นกาม กามก็บังเกิดขึ้น คือตัวราคะความติดใจยินดี ซึ่งเป็นลักษณะของกาม ที่แปลว่าความใคร่ความปรารถนา และยังเจือด้วยความเพลิดเพลินยินดีชุ่มชื่นอยู่ในราคะหรือในกามเหล่านี้ อันชวนให้จิตใจคิดปรุงหรือปรุงคิดไป และความคิดปรุงหรือปรุงคิดไปนี้ก็บังเกิดขึ้นซับซ้อนกันอยู่เป็นอันมาก กามคุณ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากามคุณ คำว่า คุณ นั้นก็เขียนอย่างเดียวกับคุณงามความดี แต่ว่าคุณในที่นี้หมายถึงลักษณะอาการที่ซับซ้อนกันอยู่เหมือนอย่างกลุ่มด้าย เพราะกลุ่มด้ายนี้ที่ม้วนซับซ้อนกันเป็นกลุ่ม ก็เรียกว่า คุณะ เหมือนกัน กามคุณก็เช่นเดียวกัน กามที่ซับซ้อนกันอยู่เป็นกลุ่มเรียกว่ากามคุณ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตปรุงคิดหรือคิดปรุงไปในกาม และมีความเพลิดเพลิน มีความยินดีติดใจ ก็คิดเรื่อยไปไม่จบ เหมือนอย่างกลุ่มด้ายที่เป็นกลุ่ม เมื่อคลี่ด้ายออกไปก็ยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป สุดแต่ว่าด้ายที่มาม้วนเป็นกลุ่มนั้นจะมีขนาดยาวสักเท่าไหร่ กามคุณก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าซับซ้อนกันอยู่นาน หรือมากเท่าไรในจิตใจของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อลงปรุงคิดๆไปในกามแล้ว และแถมมีความยินดีเพลิดเพลิน ก็ไปกันใหญ่ เพลิดเพลินกันไป คิดไปไม่รู้จักจบจักสิ้น อาลัยของจิตที่เป็นกามาพจร เพราะฉะนั้น กามคุณคือกลุ่มของกาม เหมือนอย่างกลุ่มด้าย คือกามที่ผูกมัดจิตใจของสัตวโลกอยู่นี้ จึงมีกำลังมากยิ่งนักหนา จนถึงกับพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทียบเอาไว้ว่าเป็น อาลัย คือเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นกามาพจร คือหยั่งลงในกาม ท่องเที่ยวไปในกามทั้งหลาย เหมือนอย่างน้ำเป็นที่อาศัยของปลา ปลาอยู่ในน้ำ จิตที่เป็นกามาพจรของสัตว์บุคคลทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างอาศัยอยู่ในกาม คือกามคุณอันนี้ และก็เรียกให้เต็มที่ว่า เบ็ญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕ ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พื้นของจิตที่เป็นกามาพจร จึงปรุงคิดหรือคิดปรุงไปในทางกาม ยืดยาว มากมาย อยู่เป็นปรกติ และเมื่อพูดออกมา ก็พูดออกมาในทางกามกันอยู่เป็นอันมาก เพราะว่าวาจาที่พูดออกมานั้น ก็วิตกวิจารความตรึกนึกคิดนี้เอง เป็นเครื่องปรุงให้พูด เพราะฉะนั้น วิตกวิจารพระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงว่าเป็น วจีสังขาร คือเป็นเครื่องปรุงวาจา เพราะวาจาที่พูดออกมานั้นจะต้องคิดก่อน แล้วจึงพูด เมื่อคิดอย่างใดก็ย่อมพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การพูดจาของบุคคลจึงเป็นไปในทางกามเป็นอันมาก ตลอดจนถึงการแสดงต่างๆก็เป็นไปในทางกามเป็นอันมาก เจือไปด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กิเลสทั้ง ๓ กองนี้ มหรสพต้องเจือด้วยกิเลส ดังจะพึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่ามหรสพทั้งหลาย ก็จะต้องเจือด้วยกิเลส ๓ กองนี้ จึงจะเป็นที่สนุกสนาน เป็นที่ชอบดู เมื่อการแสดงสามารถยั่วเย้าใจของบุคคลดูให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ได้มากเท่าใด ก็เป็นที่ติดของคนดูมากเท่านั้น ทำให้ตาตื่นใจตื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ดูกันได้เป็นเวลานานๆ เพราะว่ามีเชื้อล่อให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง คอยทำใจให้เพลิดเพลินยินดี ให้ติดกันอยู่ เป็นอยู่ดั่งนี้ ฟังเทศน์แล้วหลับก็เพราะเหตุนี้ เพราะฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าเมื่อมาฟังเทศน์ ฟังอบรมธรรมะซึ่งเป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตใจของผู้ฟังจึงไม่ได้เชื้อที่จะก่อให้เกิดตาสว่าง ทำให้เกิดความสงบ และเมื่อมีความสงบอยู่เฉยๆ ปราศจากปีติสุขในความสงบนั้น ก็เลยง่วงเหงาหาวนอน หลับ การที่ฟังเทศน์หลับ หรือฟังธรรมบรรยายหลับก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุว่าในเทศน์หรือในธรรมบรรยายทั้งปวงนั้น เป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อก่อ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน และเมื่อสงบเข้า ความง่วงซึ่งอยู่ใกล้กับความสงบก็เข้ามาทันที ( เริ่ม ๔๒/๒ ) เพราะฉะนั้น เรื่องของกามนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นข้อแรก ว่าให้คอยระงับสังกัปปะคือความดำริหรือวิตก คือความตรึกนึกคิดไปในทางกาม ซึ่งสัตวโลกทั้งหลายซึ่งมีจิตอยู่ในชั้นที่เป็นกามาวจรจิต ย่อมท่องเที่ยว ย่อมตกอยู่เป็นประจำแล้ว จึงมักจะคิดปรุงหรือปรุงคิดในเรื่องนี้ขึ้นเนืองๆ เมื่อเป็นดั่งนี้หากปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน ก็ต้องปฏิบัติระงับเสียไม่รับเอาไว้ ปฏิบัติบันเทาดับเสีย และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะ และจะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา ความปรุงคิดในโทสะพยาบาทเบียดเบียน อนึ่ง ความดำริ หรือความปรุงคิดคิดปรุง หรือความตรึกนึกคิดดังกล่าวมานี้ มิใช่ในทางกามเท่านั้น ยังเป็นไปในทางพยาบาทอีกด้วย อันความพยาบาทนั้นคือความถึงผิด อันหมายถึงอาการที่จิตคิดร้ายหมายล้างผลาญ นี่เป็นความหมายของพยาบาทอย่างเต็มตัว แต่ว่าก็คลุมจนถึงปฏิฆะ คือความที่จิตกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่พอใจ อันแสดงอาการเป็นความหงุดหงิด แรงขึ้นมาก็เป็นโกธะความโกรธ เป็นความขึ้งเคียด แรงขึ้นมาอีกก็เป็นโทสะ คือเป็นความขึ้งเคียดที่แรงขึ้น จนถึงกับเป็นความปทุษร้าย แต่ก็ยังปทุษร้ายใจของตัวเอง คือยังไม่คิดหมายล้างผลาญออกไปข้างนอก แต่เมื่อโทสะนี้แรงขึ้น จนถึงคิดล้างผลาญออกไปข้างนอก คิดที่จะตีเขา จะทำร้ายชีวิตร่างกายเขาเป็นต้น ให้เขาฉิบหายวายวอดไป ให้เจ็บช้ำลำบากไป ให้สิ้นชีวิตไป ดั่งนี้จึงจะเป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว แม้ไม่เป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว เป็นแค่ปฏิฆะหงุดหงิด หรือว่าโกธะขึ้งเคียดขึ้นมา หรือเป็นโทสะที่เป็นปทุษร้ายใจของตัวเอง โกรธอยู่ในใจตัวเองก็ตาม ก็รวมเข้าในข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นก็ต้องปฏิบัติบันเทาดับระงับให้สิ้นไป ไม่รักษาไว้ในจิต วิหิงสาวิตกก็เหมือนกัน ก็เกิดจากความดำริ ความตรึกนึกคิด ปรุงไปเพื่อวิหิงสาคือความเบียดเบียน วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ มีอธิบายต่างจากพยาบาท ว่าเกิดจากโมหะคือความหลง มีความหลงเป็นมูล เช่นว่าเบียดเบียนเพื่อมุ่งสนุก เช่นการทำร้ายสัตว์ถือว่าเป็นการกีฬา เป็นการเบียดเบียนเพื่อความสนุก หรือว่าเบียดเบียนด้วยอำนาจโลภะ เช่นว่าจ้างคนงานมา และบังคับใช้คนงานเกินไปทั้งกลางวันกลางคืนเป็นต้น ดังที่ปรากฏอยู่ในที่บางแห่ง ในบางครั้งบางคราว เป็นการทรมาณผู้อื่น ด้วยอำนาจของโลภะ มุ่งที่จะให้ทำงานให้มากๆ ได้ทรัพย์มาก ปราศจากความเมตตากรุณา ก็เป็นการเบียดเบียน หรือว่าการที่จะกระทำอันใดอันหนึ่งก็ตาม แม้ว่ามุ่งดี แต่ว่าเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นการกระทำไปแม้ด้วยอำนาจความเขลา หรือมุ่งดีดังกล่าวนั้น ก็เป็นวิหิงสาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ จึงเกิดจากโมหะคือความหลง ฉะนั้น การที่จะคิดปรุงหรือปรุงคิดอะไร ก็ต้องไม่ให้เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน จะเป็นบุตรหลานของตนเองก็ตาม จะเป็นบริวารของตนเองก็ตาม จะเป็นผู้รับใช้ของตนเองก็ตาม ให้คิดปฏิบัติให้พอเหมาะพอสม ให้มีเมตตากรุณา แม้ในการใช้งานต่างๆ ดั่งนี้จึงจะชื่อว่าถูกต้อง แต่ถ้าได้คิดไปให้เขาทำอย่างนั้นเขาทำอย่างนี้ หรือเบียดเบียนตรงๆ อย่างไปทำร้ายสัตว์เป็นการเล่นกีฬา หรือเป็นการสนุก รวมเข้าในวิหิงสาวิตกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องระมัดระวังวิตกข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้น ก็ต้องปฏิบัติบันเทา ระงับดับให้หายไป อย่ารับเอาไว้ในใจ อกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของสัตว์บุคคล จะว่าเป็นประจำก็ได้ น้อยหรือมาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติคอยระวังรักษาจิตของตน คอยบันเทาระงับดับ จึงเป็นข้อที่ต้องกระทำอยู่เสมอ และทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันทั้ง ๓ ข้อ บางทีก็มีกามเป็นเหตุ ก็ทำให้มีพยาบาท มีวิหิงสา หรือมีโมหะเป็นเหตุ ก็ทำให้ได้ ให้บังเกิดขึ้นในข้อวิหิงสาด้วย ในข้ออื่นอีกด้วย ในข้อโทสะก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระงับจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ ไม่รับเอาความดำริหรือความตรึกนึกคิดเช่นนี้ไว้ สุมไว้ในใจของตัวเอง ต้องระบายออกไป บันเทาออกไป ระงับดับให้หายไป เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัพพาสวสังวรสูตร ๖
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ภาวนา ๒
องค์แห่งความตรัสรู้ ๓
การฟังธรรมโพชฌงค์ ๗ ๔
การใช้โพชฌงค์ในการปฏิบัติกรรมฐานต่างๆ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๓/๑ ( File Tape 35 )
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
สัพพาสวสังวรสูตร ๖
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสวสังวรสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมคือป้องกันระวัง ตลอดถึงละอาสวะทั้งปวง นำสติปัฏฐาน พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยวิธีต่างๆ คือด้วยวิธีทัศนะคือปัญญาที่รู้เห็น ด้วยวิธีสำรวมอินทรีย์อันเรียกว่าอินทรียสังวร ด้วยวิธีเสพบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยการพิจารณา ด้วยวิธีรับไว้อยู่ ยับยั้งไว้อยู่ คือใช้ขันติอดทนอดกลั้น ด้วยวิธีเว้นด้วยวิธีบันเทา ภาวนา ตามที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับนับได้ ๖ วิธี และได้ตรัสอีกวิธีหนึ่ง อันวิธีที่เคารพ ๗ และเป็นวิธีที่สุดในพระสูตรนี้ ก็คือด้วยวิธีปฏิบัติอบรมอันเรียกว่าภาวนา คำว่าภาวนานี้มาใช้ในภาษาไทย คล้ายกับนึกอยู่ในใจ บริกรรมอยู่ในใจ กำหนดอยู่ในใจ แต่อันที่จริงความหมายของคำนี้ คือการปฏิบัติอบรมนั้นเอง ตามพยัญชนะก็แปลว่าการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ซึ่งมีความหมายว่าปฏิบัติได้ทำได้ องค์แห่งความตรัสรู้ และในพระสูตรนี้ได้ตรัสยกเอาโพชฌงค์ ๗ ขึ้นมาว่า ให้ปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์นั้นแปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้ เรียกว่าสัมโพชฌงค์ก็ได้ ก็แปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้พร้อม องค์ก็คือ องคคุณ หรือ องคสมบัติ แห่งความตรัสรู้ คือนำให้บังเกิดความตรัสรู้ มี ๗ องค์ คือสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือสติ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือความเลือกเฟ้นธรรม วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือความเพียร ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปีติ ความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อง์แห่งความรู้คือปัสสัทธิความสงบ สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือสมาธิ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือความเข้าไปเพ่ง รวมเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ หรือว่า ๗ องค์ โพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นหมวดธรรมะสำคัญทางปฏิบัติหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ตรัสแสดงรวมไว้ในหมวดธรรมสำคัญหลายหมวด เช่นในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็มีโพชฌงค์ ๗ นี้รวมอยู่ด้วยหมวดหนึ่ง ในมหาสติปัญฐานสูตรซึ่งแสดงเป็นหลักปฏิบัติในที่นี้เป็นประจำมาทุกปี ก็มีโพชฌงค์รวมอยู่ด้วยหมวดหนึ่ง และที่ตรัสแสดงเนื่องเป็นสายเดียวกับสติปัฏฐานก็มี คือตรัสแสดงสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ สืบไปถึงวิชชาวิมุติในที่สุด และที่ตรัสแสดงไว้จำเพาะโพชฌงค์ ๗ นี้เพียงหมวดเดียว ก็มีเป็นอันมาก เมื่อตรัสแสดงรวมอยู่ในหมวดใหญ่ ก็มักจะต่อสืบเนื่องมาจากสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบ่งความว่าปฏิบัติในสติปัฏฐานมาก่อน จึงมาถึงโพชฌงค์ แต่แม้ว่าจะตรัสแสดงไว้หมวดเดียว คือจำเพาะโพชฌงค์เท่านั้น โพชฌงค์ข้อแรกก็นำด้วยสติ คือสติสัมโพชฌงค์ ฉะนั้น แม้ในหมวดโพชฌงค์นี้เองก็เริ่มด้วยสติ ในที่ๆตรัสรวมไว้ในธรรมะหลายหมวดสืบเนื่องจากสติปัฏฐาน ๔ นี้ ก็บ่งว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานย่อมมาก่อน จึงถึงโพชฌงค์ และที่ตรัสแสดงไว้จำเพาะหมวดโพชฌงค์เท่านั้น ก็เริ่มด้วยสติ แต่ใช้คำว่าสติเป็นคำกลางๆ ก็อาจรวมสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เข้าด้วยได้ ว่าเริ่มด้วยสติปัฏฐาน ๔ หรือแม้ว่าจะเริ่มด้วยสติที่ไม่นับเป็น ๔ ข้ออย่างสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในการที่ทรงอธิบายโพชฌงค์ ๗ ที่ยกขึ้นมาเพียงหมวดเดียว ใช้ในการฟังธรรม การฟังธรรมโพชฌงค์ ๗ กล่าวคือในการฟังธรรมนั้น ก็ใช้วิธีปฏิบัติทางโพชฌงค์นี้ได้ด้วย คือตรัสแสดงไว้โดยความว่า ผู้ฟังธรรม เมื่อฟังธรรมก็ระลึกถึงธรรมะที่ฟัง ความที่ระลึกถึงธรรมะที่ฟังนี้ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้พร้อม คือสติความระลึกได้ ความกำหนดได้ และก็วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรมที่สติระลึกได้นั้น จำแนกธรรมะออกเป็นกองเป็นส่วน ว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่เป็นธรรมดำ นี่เป็นธรรมขาว วิจัยจำแนกธรรมที่ระลึกได้ด้วยสติออกเป็นกองๆดั่งนี้ ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม และเมื่อได้วิจัย คือเลือกเฟ้นรู้จักธรรมะดังกล่าว ก็เพียรละอกุศล ละธรรมะที่มีโทษ ธรรมะที่ดำ เพียรปฏิบัติอบรมกุศล ธรรมะที่ไม่มีโทษ ที่ขาวสะอาด ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือวิริยะความเพียร และเมื่อเพียรละอกุศล เพียรปฏิบัติอบรมกุศลให้บังเกิดขึ้นดั่งนี้ ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ ความเอิบอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ในกุศล ในธรรมะที่ไม่มีโทษ ในธรรมที่ขาวสะอาด ที่ได้อบรมปฏิบัติให้มีขึ้น ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปีติ เมื่อได้ปีติก็ย่อมจะได้ความสงบกายความสงบใจ ก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปัสสัทธิความสงบกาย ความสงบใจ และเมื่อกายและใจสงบ มีสุข ก็ย่อมจะตั้งจิตเป็นสมาธิได้ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ รวมอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียว สงัดสงบจิตจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ความเพ่งดูสมาธิจิตสงบอยู่ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คืออุเบกขา ความเพ่งจิตที่เป็นสมาธินี้สงบอยู่ จึงเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ อันปฏิบัติเริ่มมาจากการฟังธรรม ฉะนั้นแม้ในการฟังธรรมะที่เป็นเทศนาก็ดี ที่เป็นบรรยายอบรมก็ดี หรือแม้อ่านหนังสือธรรมะ ก็ใช้โพชฌงค์นี้มาฟังมาอ่านได้ คือว่าฟังหรืออ่านด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้เริ่มด้วยการฟังธรรม ก็ฟังด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดั่งนี้ การใช้โพชฌงค์ในการปฏิบัติกรรมฐานต่างๆ และนอกจากนี้พระบรมศาสดายังได้ทรงแสดง การใช้โพชฌงค์ปฏิบัติในกรรมฐานต่างๆ
( เริ่ม ๔๓/๑ ) ดังเช่นเมื่อตั้งจิตแผ่เมตตาออกไปในสัตว์ทั้งหลาย ว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สขิตาโหนตุ จงบรรลุถึงความสุขเถิด ดั่งนี้ ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน ในทิศภายล่าง และในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ก็ปฏิบัติทำสติแผ่เมตตา คือสติที่ระลึกไปดั่งนี้ ระลึกถึงสัตว์ทั้งปวง และระลึกแผ่จิตออกไปด้วยเมตตาว่าให้มีความสุข ระลึกไปถึงทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น คือแผ่ออกไปในทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้เป็นสติทั้งนั้น ก็ต้องใช้สติในการปฏิบัติแผ่เมตตาจิต และก็ใช้วิจัยคือจำแนกธรรมะ กล่าวคือเมื่อจิตแผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ ก็รู้ว่านี่แผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ และเมื่อแผ่ไปในทิศใดทิศหนึ่ง ก็รู้ว่าแผ่ไปในทิศนั้นทิศนี้ จำแนกทิศได้ถูกต้องว่าเบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ จำแนกทิศได้ถูก ถ้าไม่มีวิจัยคือจำแนกดั่งนี้ ก็แจกทิศไม่ถูก สับสนหมด แต่ที่แจกได้ดั่งนี้ก็เพราะว่าจำแนกทิศได้ถูกต้อง อันหนึ่ง และเมื่อจิตมีเมตตา ก็รู้ว่าจิตมีเมตตา หากมีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในขณะที่แผ่เมตตาก็รู้ ว่ามีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในจิต หรือเมื่อราคะผุดขึ้นมาก็รู้ว่า ราคะผุดขึ้นในจิต หรือเมื่อความฟุ้งซ่านไปอย่างอื่นถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา ก็รู้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา หรือเมื่อง่วงก็กำหนดให้รู้จักว่า นี่ง่วงแทรกเข้ามา สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นก็รู้ว่า นี่สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นมา ก็กำหนดให้รู้จักว่านี่เป็นนิวรณ์เครื่องกั้นไม่ให้ได้สมาธิ ก็สงบไปเสีย เมื่อเมตตาจิตโผล่ขึ้นมา เป็นความเมตตาเป็นความเย็น เป็นความสงบ ก็รู้ว่านี่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ต้องการ ก็รักษาเอาไว้ และรักษาเมตตานี้ให้มากขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นธัมมวิจัย แล้วก็เป็นวิริยะคือความเพียร ประกอบกันไป คือเมื่อวิจัยออกมาว่าเป็นอกุศลหรือโทษ ก็ละเสีย วิจัยออกมาว่าเป็นกุศลมีคุณไม่มีโทษ ก็รักษาไว้ และปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้น ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะตั้งมั่นอยู่ในเมตตามากขึ้น บรรดาอกุศลจิตที่โผล่ขึ้นมาต่างๆอันประกอบด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็จะสงบลงไป เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น เต็มไปด้วยกุศลมากขึ้น ปีติก็บังเกิดขึ้น บังเกิดขึ้นเองเป็นความอิ่มใจเป็นความอิ่มเอิบในธรรมในกุศล ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ และเมื่อเป็นปีติสัมโพชฌงค์ กายใจก็สงบเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิมากขึ้นในเมตตาที่แผ่ออกไปนั้น เป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียดๆ จนถึงเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และก็เข้าไปเพ่งดูจิตที่เป็นสมาธินี้ ให้รู้จักจิตที่เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ ความสงบอยู่นี้ก็คือความวางได้ และความเฉยได้ อันเป็นลักษณะที่มักจะแปลอุเบกขาว่าความวางเฉย วางได้ก็คือว่าวางความวุ่นวายต่างๆ เฉยได้ก็คือว่าสงบไม่ทุรนทุราย เป็นความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสมาธิและอุเบกขานี้มักจะแสดงรวมกัน ในสมาธิที่เป็นอัปปนาคือแนบแน่น ดังที่แสดงว่ามีองค์ก็คือเอกัคคตา ความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว กับอุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ดั่งนี้ และเมื่อมีทั้งตัวเอกัคคตาที่เป็นสมาธิโดยตรง กับอุเบกขาดังกล่าวประกอบกันอยู่ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิที่แนบแน่นอันเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าหากว่าขาดอุเบกขาเสียแล้ว สมาธิก็ตั้งมั่นอยู่นานไม่ได้ มักจะได้แค่อุปจาร ซึ่งมีอุเบกขาอยู่น้อย และเมื่อมีอุเบกขาอยู่มากพอเพียงที่รักษาเอกัคคตาจิต คือจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวไว้ได้มาก ก็เป็นอัปปนาที่แนบแน่นอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงมักแสดงรวมอยู่ในข้อสมาธิ แต่ในที่นี้แยกออกมาเพื่อชี้ให้ชัด ว่าเมื่อได้สมาธิจิตรวมเข้ามาแล้ว จะต้องได้อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ คือรู้จิตที่เป็นสมาธินี้ ดูจิตที่เป็นสมาธินี้ เห็นจิตที่เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ด้วย สมาธิจึงจะเป็นอัปปนาคือแนบแน่น แน่วแน่ และแนบแน่นแน่วแน่อยู่ได้นาน ดังนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นแม้ในการปฏิบัติธรรม เมตตาภาวนา อบรมเมตตาจิต ก็จะต้องใช้โพชฌงค์ ๗ มาประกอบ มาช่วย จึงจะได้ผลในการอบรมเมตตา ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอน เรียกว่าให้ปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อก็ได้ ให้ประกอบด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือว่า กล่าวอีกอย่างหนึ่งตรัสยกเอาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้เป็นที่ตั้ง ว่าปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้ประกอบด้วยกรรมฐานได้ทุกข้อ ดังเช่นหมวดพรหมวิหาร ๔ ดังที่กล่าวมา และในหมวดอื่นเช่นในกสิณ ๑๐ ในอสุภะ ๑๐ ในอนุสสติ ๑๐ เหล่านี้ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้ ให้อบรมปฏิบัติโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้ประกอบด้วยกรรมฐานเหล่านี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การปฏิบัติกรรมฐานเหล่านี้ทุกข้อ ก็ให้ปฏิบัติในทางของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังที่กล่าวมา และแม้ในหมวดสติปัฏฐานที่ได้แสดงมาแล้ว ตามหลักธรรมะที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร การที่จะปฏิบัติทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก การทำสติในอิริยาบถ หรือสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔ ในอิริยาบถที่ปลีกย่อยออกไป จำแนกละเอียดออกไป ในการพิจารณากายนี้ว่าประกอบด้วยอาการทั้งหลาย ๓๑ หรือ ๓๒ ล้วนไม่สะอาด ล้วนเป็นของปฏิกูล การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ และการกำหนดพิจารณาป่าช้าทั้ง ๙ คือซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ที่ตายวันหนึ่ง ตายสองวัน ตายสามวัน ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด ซากศพที่ถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน เป็นต้นว่าถูกกา ถูกนกตะกรุม ถูกสุนัขบ้าน ถูกสุนัขจิ้งจอก ถูกสัตว์เล็กน้อยทั้งหลายกัดกิน ซากศพที่เป็นโครงร่างกระดูกยังเปื้อนเลือดเปื้อนเนื้อ ประกอบด้วยเนื้อเส้นเอ็นรึงรัด และซากศพที่ไม่มีเนื้อแต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด และซากศพที่ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด เป็นโครงร่างกระดูกจึงกระจุยกระจายไปในทิศทั้งหลาย กระดูกศรีษะก็ไปทางหนึ่ง กระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกขา ก็ไปทางหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น ซากศพที่เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนดังสังข์ ซากศพที่เกินปีหนึ่งแยกกันอยู่เป็นกองๆ ตลอดจนถึงซากศพที่ผุเป็นผุยผง อันแสดงถึงว่ากายอันนี้นั้น เมื่อยังดำรงชีวิตอยู่ ก็เป็นกายที่หายใจเข้าหายใจออก ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ได้ ผลัดเผลี่ยนอิริยาบถเล็กน้อยทั้งหลาย ที่จำแนกออกไปอย่างละเอียดได้ ประกอบด้วยอาการ ๓๑, ๓๒ ซึ่งต่างก็มีอาการ คือการปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเติมอากาสธาตุเป็นธาตุ ๕ กายที่มีชีวิตอยู่ย่อมเป็นดั่งนี้ แต่ว่าเมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย กายนี้ก็กลายเป็นศพ และเมื่อเป็นศพแล้วก็เป็นอันว่าหยุดหายใจ การที่จะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้งปวงก็เป็นไม่ได้ และอาการ ๓๑,๓๒ ก็หยุดการทำงาน การทำหน้าที่ ธาตุทั้ง ๔ นั้นก็กระจัดกระจายไป ในทีแรกก็ยังรวมกันอยู่เป็นศพ เหมือนอย่างศพที่ตายใหม่ๆ และเมื่อทิ้งเอาไว้ไม่จัดไม่ทำ ในป่าช้า ก็จะถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน หรือว่าเน่าเปื่อยไปเอง ก็จะเหลือแต่โครงร่างกระดูก ที่ทีแรกก็ยังมีเลือดมีเนื้อมีเส้นเอ็นรึงรัด ต่อไปเลือดเนื้อก็จะหมดไปไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด ร่างกระดูกก็ยังรวมกันอยู่ แต่ครั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดนั้นไม่มีเสียอีกแล้ว กระดูกที่รวมเป็นร่างอยู่ ก็จะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง ก็เป็นกระดูกที่เป็นสีขาวเกลื่อนกล่นอยู่ แล้วก็จะเป็นกองเล็กกองน้อย จนถึงผุป่นไปในที่สุด เหล่านี้ก็เป็นอันว่ากายของทุกๆคนนี้ทีแรกก็ไม่มี แต่เมื่อขึ้นมาด้วยชาติคือความเกิด ก็ต้องประกอบด้วยชราความแก่ มรณะความตาย ในที่สุดแล้วก็กลับไม่มี เหมือนอย่างที่เคยไม่มีมาก่อน ดั่งนี้ก็เป็นการตรัสสอนให้พิจารณา เป็นสติที่เป็นไปในกาย อันเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ก็ปฏิบัติทางโพชฌงค์ได้ ด้วยสติที่ระลึกไปดังกล่าวมานี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แล้วก็มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิจัยกายนี้เองตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ และตามที่เป็นไปจริง เพราะก็ตรัสสั่งสอนไว้ชี้เข้ามาถึงสัจจะคือความจริงอันมีอยู่ที่ร่างกายของทุกๆคนนี้เอง แล้วก็ตรวจดูจิตใจเมื่อจิตใจอันนี้มีสติที่ตั้งมั่น ที่ระลึกอยู่ และมีความรู้รวมอยู่เป็นจิตใจที่สงบ ประกอบด้วยสติด้วยปัญญา สติปัญญานี้ก็เป็นกุศลธรรม หากมีนิวรณ์ข้อใดโผล่ขึ้นมาก็รู้ว่าเป็นอกุศลธรรม ต้องวิจัยจิตของตัวเองให้รู้ดั่งนี้ แล้วก็ใช้วิริยะคือความเพียร ละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้น อันใดที่เป็นกุศลธรรม เป็นตัวสติเป็นตัวปัญญาก็รักษาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้มากขึ้นๆโดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน อาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ประกอบด้วยสติปัฏฐานข้อกาย ได้ทุกๆข้อดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้คือการปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นวิธีละอาสวะอีกข้อหนึ่ง อันเป็นข้อสุดท้าย และก็เป็นข้อคลุมทั้งหมด ซึ่งปฏิบัติทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ใช้วิธีโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ปฏิบัติได้ ดังที่ตรัสสอนไว้ เพราะฉะนั้น วิธีละอาสวะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้นี้จึงเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทั้งปวงซึ่งจะพึงใช้ได้ ตั้งแต่ในขั้นปฏิบัติเบื้องต้น จนถึงที่สุด ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็จะประสบความสำเร็จในการสังวรคือป้องกัน กำจัดละอาสวะทั้งปวงได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*