ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:14
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป027
ปิยะรูป สาตะรูป
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๓๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๓/๑ ( File Tape 27 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ปิยะรูป สาตะรูป
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้รู้ พระผู้เห็นธรรมได้ทรงแสดงสั่งสอน
เพื่อให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติ ทรงชี้ทางปฏิบัติไว้ต่างๆ ตามควรแก่ภูมิชั้นของผู้ปฏิบัติ
แต่ว่าแม้จะมีทางที่แสดงต่างๆ แต่ก็รวมอยู่ในทางอันเดียวคือทางที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด
ความล่วงทุกข์โทมนัส บรรลุถึงธรรมะดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นอันเดียวกันทั้งหมด
และเมื่อมีความเข้าใจแม้ในทางใดทางหนึ่งที่ทรงแสดง
เมื่อได้ฟังทางอื่นที่ทรงแสดงอีกปริยายคือทางอันหนึ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจได้
และปฏิบัติได้ถูกต้อง
ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ได้ทรงแสดงอธิบายให้รู้จักทุกข์เป็นต้น ก็ได้ทรงแสดงทางปฏิบัติอันหนึ่ง
สำหรับในข้อทุกขสัจจะนั้น ก็ได้ทรงแสดงเหมือนกันกับที่ทรงแสดงในพระสูตรทั้งปวง
เริ่มต้นด้วยทรงแสดงชาติทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์
และย่นย่อลงก็คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์
ส่วนในข้อสมุทัยสัจจะ ก็ทรงแสดงชี้เอาตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ
ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็เหมือนกันกับที่ทรงแสดงในที่อื่น
แต่ว่าได้ทรงแสดงชี้แจงรายละเอียดออกไป ในข้อที่ทรงตั้งเป็นปัญหาว่า
ตัณหาเกิดขึ้นในที่ไหน และก็ได้ทรงแสดงเฉลยว่า เกิดขึ้นที่ สาตะรูป รูปอันเป็นที่รัก
เกิดขึ้นที่ ปิยะรูป รูปอันเป็นที่รัก ที่ สาตะรูป รูปอันเป็นที่สำราญ
และก็ได้ทรงชี้แจงแสดงต่อไปว่าอะไรเป็น ปิยะรูป อะไรเป็น สาตะรูป
ในข้อนิโรธสัจจะ สัจจะคือความดับทุกข์
ก็ได้ทรงแสดงชี้เอาว่าคือความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ก็เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงในที่อื่น
แต่ก็ได้ทรงแสดงโดยพิสดารออกไปอีกว่า ตัณหาดับในที่ไหน
และก็ได้ตรัสเฉลยว่า ตัณหาก็ดับไปที่ปิยะรูปสาตะรูป รูปเป็นที่รัก รูปเป็นที่สำราญ
และก็ได้ทรงแสดงต่อไปว่าอะไรเป็นปิยะรูปสาตะรูป เช่นเดียวกับข้อสมุทัยสัจจะ
ในข้อมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ได้ทรงแสดงชี้แจงว่ามรรคที่มีองค์ ๘
มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ก็เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงในที่อื่น
เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาทางปฏิบัติจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องของปิยะรูปสาตะรูปตามสมควร
และโดยที่ได้ใช้คำว่ารูป ก็น่าจะทำให้คิดว่า
จะมีความหมาย สิ่งที่เป็นรูป ที่ใช้ในคำว่ารูปที่คู่กับนาม คือนามรูป
คือหมายรูปกายส่วนที่เป็นวัตถุประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเท่านั้น
แต่เมื่อได้ฟังรายละเอียดที่ทรงชี้แจงแสดงว่าอะไรคือปิยะรูปสาตะรูป
ก็ย่อมจะได้ความเข้าใจว่า คำว่ารูปในที่นี้มิได้หมายถึงจำเพาะรูปกายที่เป็นวัตถุเท่านั้น
แต่ว่าหมายถึง นาม ในคำว่านามรูป คือทั้งรูปทั้งนาม คือทั้งกายทั้งใจ
หรือว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมด อันเป็นที่รักเป็นที่สำราญ ก็เรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นคำว่ารูปในที่นี้ จึงมีความหมายเหมือนอย่างคำว่า สิ่ง
คือสิ่งที่เป็นที่รักสิ่งที่เป็นที่สำราญ คือเป็นที่ชอบใจพอใจ
แม้ว่าจะเป็นนามธรรมก็เรียกว่า สิ่ง ได้เหมือนกัน
และปิยะรูปสาตะรูปนี้หากจะพิจารณาโดยแนวธรรมะที่อนุสนธิคือเชื่อมต่อกัน
ก็จะเห็นได้ว่าเป็นอรรถาธิบายที่สืบเนื่องมาจากอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ
ที่ตรัสว่ากล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์
ก็คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา
สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ
ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ อันเรียกอุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์
โดยย่นย่อ คือทุกข์ทั้งหมดนั้นก็รวมอยู่ที่ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้
แต่ว่าในข้อที่ทรงอธิบายโดยเรียกเป็นปิยะรูปสาตะรูป
ก็จำแนกออกไปโดยพิสดาร ก็จำแนกขันธ์ ๕ นี้เองออกไปโดยพิสดาร
และก็ได้ทรงจำแนกออกไปโดยลำดับแห่งความเกิดขึ้นก่อนและหลัง
และทรงแสดงเป็นปัจจุบันธรรม คือธรรมะที่เป็นปัจจุบัน คือสิ่งที่เป็นไปอยู่เป็นปัจจุบันนี้เอง
โดยจับให้พิจารณาถึงความเป็นไปของกระบวนแห่งกายและใจที่ประกอบกันอยู่โดยปรกติ
และก็แสดงกิเลสแทรกเข้ามาที่กายและใจอันนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ากิเลสก็เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ที่กายและใจอันนี้ ในข้อที่เป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์
และในข้อนิโรธคือดับทุกข์ก็ทรงจำแนกเช่นเดียวกัน ว่าเมื่อกิเลสดับก็ดับที่กายที่ใจอันนี้นั่นเอง
ในข้อนี้อาจจะเทียบได้กับสิ่งที่เป็นเชื้อไฟ และตัวไฟ
สิ่งที่เป็นเชื้อไฟนั้น เช่นท่อนไม้แห้ง หรือกองหญ้า ก็เป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของไฟ
ไฟที่ติดขึ้นก็ติดขึ้นที่เชื้อของไฟเหล่านี้ ก็ตั้งอยู่ที่เชื้อของไฟเหล่านี้
และเมื่อไฟดับก็ดับที่เชื้อของไฟเหล่านี้นั้นเอง ไม่ใช่ดับที่ไหน
ฉันใดก็ดี กิเลสคือตัณหาที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่กายและใจอันนี้
และเมื่อดับก็ดับที่กายและใจอันนี้ หรือกล่าวยกเอาอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ
ก็กล่าวได้ว่ากิเลสคือตัณหาก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือ ดับไปก็ดับไปที่ขันธ์ ๕ นี้เอง
และโดยที่เมื่อมีกิเลสเข้าจับ คือกิเลสขึ้นตั้งอยู่ ขันธ์ก็เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ
และขันธ์นี้เองก็กลายเป็นอุปาทิ คือเป็นที่ทรงไว้ของใจ และก็เป็นตัวทุกข์ขึ้นมา
เพราะว่าทุกข์นั้นก็มีอุปาทานอุปาทินี้เองเป็นแดนเกิด
และเมื่อขันธ์เป็นที่ยึดถือเป็นอุปาทิ เป็นที่เข้าไปทรงไว้ในจิตใจ
ก็แปลว่าเป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหา และก็เป็นทุกข์ขึ้นมา
ต่อเมื่อตัณหาดับ ขันธ์ก็ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ แต่ว่าเป็นขันธ์เฉยๆ
เหมือนดั่งขันธ์ของพระพุทธเจ้า และของพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่แตกดับ
ก็เป็นขันธ์เฉยๆ ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ ไม่เป็นอุปาทิ
( เริ่ม ๓๒/๑ ) ไม่เป็นแดนเกิดของทุกข์
ทุกข์จึงดับไปแก่พระพุทธเจ้า และแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย
ส่วนความแก่ความเจ็บความตายนั้นก็เป็นธรรมดาของขันธ์นั้นเอง
เพราะเมื่อเป็นสังขารก็ต้องมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา เหมือนอย่างสังขารทั้งปวง
แต่ผู้ยึดถือสังขารนี้ไม่มี ผู้ที่ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ จึงพ้นทุกข์
แต่เมื่อยังมีผู้ยึดถือสังขารอยู่ เมื่อสังขารแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ผู้ยึดถือก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่พ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์
คือรู้จักที่ตั้งของทุกข์ พร้อมกับตัวความยึดถือ
อันสืบเนื่องมาจากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะตัณหาเป็นเหตุให้ยึดถือ
ว่าเพราะมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากเป็นเหตุอยู่ ขันธ์จึงเป็นที่ยึดถือ
และเป็นอุปาทิเป็นที่เข้าไปทรงไว้แห่งจิตใจ จึงเป็นแดนเกิดของทุกข์
และตัณหานี้ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ขันธ์นี้เอง เหมือนอย่างไฟที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่เชื้อของไฟ
ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ไหน
และเพราะตัณหาที่บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ขันธ์ จึงทำให้ขันธ์เป็นที่ยึดถือขึ้นมา
และเป็นอุปาทิเข้าไปทรงไว้แห่งจิตใจ ก็คือเข้าไปทรงทุกข์ไว้
ประกอบทุกข์ไว้ในจิตใจ เป็นตัวทุกข์ขึ้นมา
จึงตรัสสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือซึ่งเป็นอุปาทินี่แหละ
คือที่เป็นปิยะรูปสาตะรูป คือเป็นสิ่งที่รักใคร่ เป็นสิ่งที่สำราญบานใจ
เมื่อเป็นสิ่งที่รักใคร่ เป็นสิ่งที่สำราญบานใจ
ตัณหาจึงบังเกิดขึ้นตั้งอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ เป็นที่สำราญเบิกบานใจนี้
อันลักษณะดั่งนี้ก็เป็นลักษณะของคำที่เรียกว่า ราคะความติดใจยินดี นันทิความเพลิดเพลิน
ราคะความติดใจยินดีนั้นก็ทำให้เป็นสิ่งที่เป็นที่รักขึ้นมา
ความเพลิดเพลินยินดีนั้นก็ทำให้เป็นสิ่งที่สำราญขึ้นมา
คือว่ามีความรักติดใจยินดี และมีความสำราญ คือมีความสุขโสมนัสอยู่ในสิ่งนั้น
อันราคะความติดใจยินดี หรือ ปิยะตา ความเป็นที่รัก
และนันทิคือความเพลิดเพลิน หรือว่าความเป็นสิ่งสำราญ หรือว่าความสุขโสมนัสนี้
มีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญบุถุชนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป
เป็นบัญญัติธรรมะขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า ปิยะรูป สาตะรูป คือเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่รักประกอบด้วยราคะ
สิ่งที่เป็นที่สำราญประกอบด้วยนันทิความเพลิดเพลิน หรือสุขโสมนัส
สิ่งนี้แหละมีอยู่ในบุคคลทุกๆคนที่เป็นสามัญบุถุชน และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งอื่น
แต่ก็เป็นกายและใจนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกออกโดยเป็นปัจจุบันธรรม
สำหรับให้พิจารณาได้ จับตั้งแต่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก
และเมื่ออายตนะทั้งสองนี้มาประจวบกันก็เป็นวิญญาณขึ้นมา เริ่มเป็นนามธรรม
คือสำเร็จเป็นการเห็น การได้ยิน เป็นการได้ทราบ เป็นการได้รู้ทางมโนคือใจ นี่คือวิญญาณ
และเมื่อเป็นวิญญาณขึ้นมา ก็เป็นสัมผัส คือความกระทบ
อันหมายความว่าอายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณทั้งสามนี้มารวมกันมาประจวบกัน
เรียกว่าสัมผัส ความกระทบ โดยตรงก็คือว่าสัมผัสถึงจิตใจ
เมื่อกระทบถึงจิตใจก็เป็นเวทนาขึ้นมา
คือกระทบดีก็เป็นสุข กระทบไม่ดีก็เป็นทุกข์ กระทบเป็นกลางๆก็เป็นกลางๆ
ก็เป็นเวทนาขึ้นมา และเมื่อเป็นเวทนาขึ้นมา ก็ย่อมเป็นสัญญาคือความจำหมาย
เมื่อเป็นความจำหมายซึ่งเรียกว่าสัญญา ก็เป็นสัญเจตนาคือความจงใจปรุงคิด
ก็จงใจปรุงคิดสิ่งที่จำหมายได้นั่นแหละ จะไปปรุงคิดสิ่งที่จำไม่ได้นั้นหาได้ไม่
จะปรุงคิดได้ก็ในสิ่งที่จำหมายไว้ได้ และเมื่อปรุงคิดไปตัณหาจึงเกิดขึ้นในตอนนี้
และเมื่อตัณหาเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็ย่อมจะมีวิตกคือความตรึก วิจารคือความตรองไปต่างๆ
ตามอำนาจของตัณหา
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสชี้ลงไปว่าตัณหานั้น ที่เป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
จึงเกิดขึ้นที่อายตนะภายในอันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว
ที่วิญญาณ ที่สัมผัส ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สัญเจตนานี้เอง
และเมื่อเป็นตัณหาขึ้นมา ตัณหาก็เกิดขึ้นที่ตัณหานี้เองด้วย
และบังเกิดขึ้นที่วิตกวิจารความตรึกความตรอง
เพราะฉะนั้น ก็ให้จับพิจารณาให้รู้จักว่า
อันกายและใจที่ตรัสจำแนกออกไปเป็นปัจจุบันธรรมดังกล่าวนั้น
เป็นกระบวนของกายและใจที่เป็นไปอยู่
แต่เมื่อเป็นกายและใจของสามัญบุถุชนซึ่งยังมีปิยะรูปสาตะรูปฝังอยู่ในจิตใจ
เป็นอาสวะอนุสัย อาสวะอนุสัยนี้จึ่งได้กำเริบขึ้นมา
ทำให้กระบวนของกายและใจทั้งหมดนี่เป็นปิยะรูปสาตะรูป
อันเป็นที่บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหา เป็นปัจจัยของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก
และทั้งตัณหาเองก็เป็นปัจจัยของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากที่ยิ่งๆขึ้นไปด้วย
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหมือนอย่างไฟบังเกิดขึ้นที่เชื้อของไฟดังกล่าวนั้น
คราวนี้ในด้านดับก็เช่นเดียวกัน
เมื่อได้มากำหนดพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
รวมเข้าก็คือว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือ เป็นตัวทุกข์
ขันธ์นั้นก็เป็นขันธ์ แต่เมื่อมีความยึดถือเพราะอำนาจของตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยากอันสืบมาจากอวิชชาคือความไม่รู้ ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
ขันธ์ก็เป็นอุปาทิขึ้นมา เป็นที่เข้าไปทรงทุกข์เอาไว้ เป็นแดนเกิดของทุกข์ จึงเป็นทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์ต่างๆตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้เอาไว้ก็เพราะเหตุนี้
และเมื่อมากำหนดดูให้รู้จักที่ตั้งของทุกข์เหล่านี้ คือขันธ์ที่ตรัสสอนไว้เนืองๆ
ที่ตรัสสอนให้พิจารณาให้เห็นเกิดเห็นดับ
ดังแนวสติปัฏฐานที่ตั้งสติกำหนดฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็น ๒ ชั้น
ชั้นแรกก็คือว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่ มีอยู่ในสติไม่ได้มีอยู่ในที่ไหน
เพราะอันที่จริงนั้น กายเวทนาจิตธรรมนั้น ก็มีอยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดา
แต่ว่าสำหรับที่มีอยู่ในทางปฏิบัตินั้น หมายความว่ามีอยู่ในสติ
คือสติกำหนดให้ ..ให้เห็นให้รู้ว่ามีอยู่ กายมีอยู่ เวทนาจิตธรรมมีอยู่
ให้เห็นว่ามีอยู่ดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐานขั้นสมถะ
และเมื่อมองเห็นความเกิดความดับของกายเวทนาจิตธรรม
สติปัฏฐานก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์เป็นวิปัสสนา และเป็นมรรคต่อไป
เมื่อเห็นเกิดเห็นดับดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐานเต็มขั้น
ตัณหาจึงไม่เกิดขึ้นไม่ตั้งอยู่ในสิ่งที่ดับ เพราะไม่มีอะไรจะตั้ง
ตัณหาจะเกิดขึ้นตั้งอยู่นั้น ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ในสิ่งที่เกิด และตั้งอยู่ดำรงอยู่
แต่เมื่อเห็นเกิดดับ หรือเห็นดับ ตัณหาก็ไม่มีที่ตั้ง
ตัณหาก็ต้องดับ จึงดับไปที่ปิยะรูปสาตะรูปนี้เอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาสมาธิในพุทธศาสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย
ม้วนที่ ๓๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๓/๒ ( File Tape 27 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาสมาธิในพุทธศาสนา
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สมาธิเป็นข้อปฏิบัติที่ตรัสแสดงไว้ต่อจากศีล และสืบไปปัญญา
ดังที่เราทั้งหลายได้ฟังและได้พูดกันอยู่เสมอว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
และศีลสมาธิปัญญานี้ก็อาจขยายออกไปเป็นมรรคมีองค์ ๘
และมรรคมีองค์ ๘ นั้นก็เป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
ซึ่งเป็นคำสั่งสอนหลักแห่งพระพุทธศาสนา
อันได้ (แก่) อริยสัจจ์คือทุกข์ คือทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์
คือทุกขนิโรธความดับทุกข์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
หรือเรียกสั้นว่ามรรค มรรคคือทางที่มีองค์ ๘
อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ครั้งแรกในปฐมเทศนา
คือในเทศน์ครั้งแรกของพระองค์ที่ทรงแสดงแก่ฤษี ๕ ท่าน ซึ่งเรียกกันว่าพระเบญจวัคคีย์
โดยที่ได้ตรัสประกาศทางปฏิบัติของพระองค์ตั้งแต่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ คือยังมิได้ตรัสรู้
ว่าได้ทรงละทางที่เป็นสุดโต่งทั้งสอง
คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนพัวพันไว้ในทางกาม สดชื่นอยู่ในกาม
และ อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบตนทรมาณตนให้ลำบาก
ทรงปฏิบัติในทางอันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางกลาง
คือไม่ข้องแวะเกี่ยวข้องกับทางทั้งสองที่ทรงละนั้น
และก็ได้ตรัสแสดงต่อไปว่าก็คือมรรคมีองค์ ๘
และเมื่อได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว
ก็ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ผุดขึ้นในธรรมะที่มิได้เคยทรงสะดับมาแต่ก่อน
ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์
นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้อีกด้วยว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้
สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ควรละ นิโรธความดับทุกข์ควรกระทำให้แจ้ง
และมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ควรปฏิบัติทำให้มีขึ้น ให้บริบูรณ์
และทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้อีกด้วยว่า
ทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ทรงละได้แล้ว
นิโรธคือความดับทุกข์ทรงกระทำให้แจ้งได้แล้ว
มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทรงปฏิบัติให้มีบริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงปฏิณญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
คือความตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พูดสั้นๆว่าได้ตรัสรู้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้วดั่งนี้
เพราะฉะนั้น อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นธรรมะหลักในพุทธศาสนา
ได้ตรัสแสดงประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
และความตรัสรู้ของพระองค์นี้จึงจำแนกออกได้ ในทางที่จะต้องพูดอธิบายกัน
ว่าประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ทั้ง ๓
คือ ๑ สัจญาณ ความรู้ในสัจจะคือของจริงหรือความจริง
๒ กิจญาณ ความรู้ในกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงกระทำในสัจจะคือของจริงนั้น
๓ กตญาณ ความรู้ว่าได้ทำกิจที่พึงทำนั้นเสร็จแล้ว ดั่งนี้
สัจญาณความรู้ในสัจจะคือจริงของแท้นั้น ก็คือรู้ว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
นี้นิโรธความดับทุกข์ นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือได้ตรัสรู้ว่านี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง
นี้คือเป็นนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง
คือรู้สัจจะความจริงในทั้ง ๔ ข้อนี้ ว่าแต่ละข้อเป็นดั่งนั้นจริง
และคำว่า นี้ ก็หมายถึงภายใน ก็คือตรัสรู้ภายในที่กายและจิตนี้เอง
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงไว้ในที่อื่นในภายหลัง ว่าทรงบัญญัติทั้ง ๔ ข้อนี้
ในกายที่ยาววามีสัญญามีใจครองนี้ ดั่งนี้ นี้เป็นสัจญาณ
กิจญาณรู้ในกิจคือหน้าที่ที่พึงกระทำในทั้ง ๔ ข้อนั้นก็คือ
ข้อทุกข์มีหน้าที่ซึ่งจะพึงปฏิบัติกำหนดรู้ คือให้รู้ว่าเป็นทุกข์จริง สมุทัย
( เริ่ม ๓๒/๒ ) มีหน้าที่พึงปฏิบัติก็คือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
คือปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ไม่ใช่ละ แต่ว่าทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้เป็นกิจญาณ
กตญาณนั้นก็คือว่ารู้ว่าได้ทำกิจทั้งปวงเหล่านี้เสร็จแล้ว
ทุกข์ก็ได้กำหนดรู้แล้ว คือเห็นทุกข์แล้ว ว่านี้เป็นทุกข์จริง
สมุทัยคือตัณหากิเลสอกุศลทุจริตบาปทั้งหลาย ละได้แล้ว ละได้หมดสิ้นเชิงแล้ว
ตลอดจนถึงอาสวะอนุสัยที่นอนจมอยู่ในจิตเป็นตัวจิตสันดาน ละได้หมดเป็น ขีณาสวะ
เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่ใช่ละได้แต่ชั้นหยาบ หรือในภายนอก
แต่ละได้หมดตลอดจนถึงในก้นบึ้งของจิตใจ มีจิตที่บริสุทธิ์ตลอดหมด
ไม่มีอาสวะกิเลสหลงเหลืออยู่
ฉะนั้นนิโรธคือความดับทุกข์จึงกระทำให้แจ้ง ให้แจ้งได้
รู้ตนเอง รู้พระองค์เองว่าดับกิเลสดับทุกข์ได้หมดแล้ว
มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็ปฏิบัติได้สมบูรณ์แล้ว
ไม่มีบกพร่อง เต็มที่ ก็เป็นกตญาณ
เพราะฉะนั้น ในธรรมจักรซึ่งเป็นปฐมเทศนาของพระองค์
จึงได้ใช้คำว่ามีวนรอบสาม มีอาการสิบสอง
คือพระญาณความหยั่งรู้นี้วนไปสามรอบในอริยสัจจ์ทั้งสี่
และเมื่อนับจำนวนทั้งหมดสามสี่ก็เป็นสิบสอง
ที่ว่าวนไปสามรอบนั้น รอบที่ ๑ ก็คือรู้โดยสัจญาณ
คือรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
รอบที่ ๒ ก็คือโดยกิจญาณ รู้ว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ
นิโรธควรกระทำให้แจ้ง มรรคควรปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
รอบที่ ๓ รู้โดยกตญาณ คือรู้ว่าได้กำหนดรู้ทุกข์แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว
กระทำให้แจ้งนิโรธได้แล้ว ปฏิบัติในมรรคสมบูรณ์แล้ว ดั่งนี้
เรียกว่าวนไปสามรอบในอริยสัจจ์ทั้งสี่
โดยสัจญาณรอบ ๑ โดยกิจญาณรอบ ๑ โดยกตญาณรอบ ๑
สามสี่ก็เป็นสิบสอง มีอาการ ๑๒
และการที่ตรัสแสดงไว้ดั่งนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น
ในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้ทรงจำแนกแจกธรรม
เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจ ก็ต้องแยกต้องจำแนกออกไปดั่งนี้
แต่ว่าก็มิได้หมายความว่าจะรู้ ๑๒ หน และญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็มี ๑๒ ญาณ
แต่หมายความว่ามีญาณคือความหยั่งรู้เดียว ๑ เท่านั้นไม่ใช่ ๑๒ ญาณ
มีญาณอันเดียวญาณอันหนึ่งเท่านั้น ที่รู้โดยสัจจะ โดยกิจจะ และโดยกัตตะ
คือทำสำเร็จรวมอยู่ในญาณอันเดียวกันทั้งหมด และรู้พร้อมในขณะเดียวกัน
ไม่ใช่ ๑๒ ขณะ ไม่ใช่ ๑๒ ญาณ แต่เป็นญาณคือความหยั่งรู้อันเดียว
หากว่าจะเทียบทางวัตถุที่พอจะทำให้ได้คิดว่ารู้หลายลักษณะ ขณะเดียวกันนี้เป็นไปได้หรือ
ก็ลองนึกดูถึงความรู้บางอย่างที่ได้จากลูกตา เช่นลูกตาที่ดูนาฬิกา
ก็เห็นหน้าปัทม์นาฬิกานั้นขณะเดียว เห็นขีดหรือเลขที่บอกชั่วโมงบอกนาที
เห็นเข็มชี้บอกชั่วโมง เข็มชี้บอกนาที เข็มชี้บอกวินาทีพร้อมกัน แล้วก็รู้เวลา
ว่าเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ ที่เป็นตัวความรู้
แต่ว่าตาที่มองเห็นนั้นต้องเห็นทั้งหมดในขณะเดียวกัน จึงรู้เวลาอันถูกต้อง
ไม่ใช่รู้ทีละอย่าง แต่รู้ในขณะเดียวกัน เห็นทั้งหมดในขณะเดียวกัน
อยู่ในสายตาที่เห็นทีเดียว จึงรู้เวลาได้
เพราะฉะนั้น ญาณคือความหยั่งรู้ที่เป็นอันเดียวนี้ เป็นความรู้ที่มีได้
แต่เมื่อจะจำแนกตัวความรู้นี้ว่ารู้ยังไง ก็จะต้องพูดใช้ภาษา
จำแนกแจกแจงออกไปเป็นยังโง้นเป็นยังงี้มากมาย
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่มีมากมาย
จนถึงที่ตรัสหรือที่เรียกกันว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็เพราะเหตุนี้
แต่ว่าในความตรัสรู้จริงๆนั้น รวมอยู่เป็นอันเดียวกัน แว๊บเดียวกัน
คือขณะจิตเดียว ญาณอันเดียวเท่านั้น แต่ว่ารวมอยู่หมด
ผุดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า จึงได้ทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
และก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ในปฐมเทศนา
เพราะฉะนั้นปฐมเทศนาจึงเป็นหลักสำคัญในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ตรัสแสดงอริยสัจจ์เป็นหลักของพุทธศาสนา
และก็ได้มีตรัสแสดงไว้ในที่ต่างๆ ในคราวต่างๆ แก่บุคคลต่างๆ
โดยปริยายคือทางแสดงที่เป็นอย่างนั้นบ้าง ที่เป็นอย่างนี้บ้าง อย่างโน้นบ้าง
แต่ว่าก็สรุปลงอยู่ในอริยสัจจ์ ๔ นี้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าเปรียบเหมือนอย่างรอยเท้าช้าง
ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งปวง รอยเท้าสัตว์ทั้งปวงรวมลงในรอยเท้าช้างได้
ธรรมะที่ทรงสั่งสอนทั้งหมดก็รวมลงในอริสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ได้
อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นธรรมะหมวดใหญ่ เป็นที่รวมของธรรมะที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้งหมด ดั่งนี้
ฉะนั้นแม้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จบลงด้วยอริยสัจจ์ทั้ง ๔
และในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็มีมรรคเป็นข้อสุดท้าย คือมรรคมีองค์ ๘
และมรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นที่ ๑ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบเป็นที่ ๒
ทั้งสองนี้ก็นับว่าเป็นปัญญาสิกขา
สัมมาวาจาเจรจาชอบเป็นที่ ๓ สัมมากัมมันตะการงานชอบเป็นที่ ๔
สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบเป็นที่ ๕ สามข้อนี้ก็เป็นสีลสิกขา
สัมมาวายามะเพียรชอบเป็นข้อที่ ๖ สัมมาสติ สติระลึกชอบเป็นข้อที่ ๗
สัมมาสมาธิตั้งใจชอบเป็นข้อที่ ๘ ทั้งสามข้อนี้เป็นจิตตสิกขาหรือสมาธิ
เพราะฉะนั้นก็รวมเข้าเป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง
แต่ในมรรคมีองค์ ๘ นี้ แสดงปัญญาเป็นที่หนึ่ง ศีลเป็นที่สอง สมาธิเป็นที่สาม
ซึ่งมีสัมมาสมาธิสมาธิชอบเป็นข้อสุดท้าย
เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิจึงเป็นข้อสำคัญ
เพราะจิตที่เป็นสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในทางที่ถูกที่ชอบ
ย่อมเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ด้วย
พึงพิจารณาเทียบกันดูว่าเหมือนอย่างมือแบของบุคคล
เมื่อบุคคลแบมือ และวางของอะไรลงไปในมือ
ถ้ามือสะบัดแกว่ง ของที่มีอยู่ในมือนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ก็จะต้องตกหล่นไป
แต่ถ้ามือสงบนิ่ง ของที่ตั้งอยู่ในมือนั้นก็ตั้งอยู่ได้
ฉันใดก็ดี จิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย กุศลธรรมทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในจิตไม่ได้
แต่ว่าจิตที่สงบแน่วแน่กุศลธรรมทั้งหลายจึงตั้งอยู่ในจิตได้ นี้ว่าในฝ่ายดี
แม้ในฝ่ายชั่วก็เหมือนกัน ถ้าจิตไม่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำ แม้ความชั่วเองก็ไม่ตั้งอยู่ในจิต
ต่อเมื่อจิตตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำ ความชั่วเองจึงตั้งอยู่ในจิตได้
เพราะฉะนั้นแม้ในการกระทำความชั่วทั้งหลาย ก็ต้องมีสมาธิในการทำ
แต่ว่านั่นท่านแสดงว่าเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่ผิด
ส่วนสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องนั้น ต้องตั้งอยู่ในทางดี กระทำความดี
เพราะฉะนั้น จึงมีพระสูตรที่แสดงว่า สัมมาสมาธินั้นเป็นตัวหลักซึ่งประกอบด้วยบริขาร
คือข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องประกอบเข้ามาอีก ๗ ข้อ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เจ็ดข้อข้างต้นนั้นเอง
ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ จนถึงสัมมาสติ สติตั้งระลึกชอบ
ทั้ง ๗ ข้อนี้ตรัสเรียกว่าเป็นบริขาร คือเครื่องประกอบ เครื่องที่จะต้องใช้สอยของสมาธิ
ก็เหมือนอย่างบริขารเครื่องใช้สอยสำหรับพระภิกษุสามเณรเช่นบาตรจีวรเป็นต้น
เรียกกันว่าบริขาร หรือสมณบริขาร
แม้สัมมาสมาธิก็ต้องมีบริขาร ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เจ็ดข้อข้างต้นนี้เอง
ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นความว่า สัมมาสมาธิในพุทธศาสนานั้น
จะต้องประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อเข้ามาด้วย
พูดง่ายๆก็คือว่าจะต้องเป็นความตั้งจิตมั่นอยู่ในทางที่ชอบ
ที่จะกระทำความดีความชอบต่างๆ ที่จะให้เกิดปัญญาที่ชอบ ให้เกิดความประพฤติที่ชอบ
จึงจะต้องมีปัญญาที่ชอบ ต้องมีความประพฤติที่ชอบ จะต้องมีสติที่ชอบ
ความเพียรที่ชอบประกอบเข้ามา จึงจะเป็นสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา คือเป็นสมาธิอันถูกต้อง
ถ้าหากว่าไม่มีองค์ประกอบอีก ๗ ข้อเข้ามาประกอบด้วยแล้ว ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ
สมาธิในทางที่ผิดได้ เหมือนอย่างสมาธิของผู้ที่กระทำความชั่วทั้งหลาย ของโจรทั้งหลาย
ซึ่งผู้กระทำความชั่วทั้งปวงนั้นต้องมีสมาธิ แต่ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ
และแม้ว่าจะเป็นความดี ไม่ใช่ความชั่ว ความดีก็ยังเป็นชั้นๆ เป็นชั้นกามาพจรหยั่งลงในกาม
ชั้นรูปาพจรหยั่งลงในรูปคือขั้นที่ได้สมาธิมีรูปเป็นอารมณ์
ชั้นอรูปาพจรคือสมาธิที่มีอรูปเป็นอารมณ์ ก็ยังเป็นขั้นๆขึ้นไปอีกเหมือนกัน
รวมความก็คือว่าสมาธิในขั้นทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็ยังเป็นโลกิยะสมาธิ
ต่อเมื่อพ้นจาก กามาพจร รูปาพจร อรูปาวจร จึงจะเป็น โลกุตรสมาธิ
เป็นสมาธิอันประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อ เป็น ๘
กำจัดกิเลสอันเป็นเครื่องผูกพันใจ อันเรียกว่าสัญโยชน์ได้ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป
ดั่งนี้ จึงจะก้าวขึ้นเป็นโลกุตรสมาธิซึ่งเป็นสมาธิขั้นสูง
แต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นเมื่อปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล ที่เป็นสัมมาสมาธิไปโดยลำดับ
ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๗ อีกๆ ๗ ข้อ รวมเป็น ๘ ด้วยกันไปโดยลำดับ ก็ใช้ได้
และในทางของการปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นขั้นๆขึ้นไป
คือหยาบไปหาละเอียดไปโดยลำดับ แล้วก็เป็นไปเอง
เหมือนอย่างขึ้นบันไดไปทีละขั้น ก็ถึงขั้นสูงสุดขึ้นเอง ในทีแรกก็ต้องก้าวขึ้นขั้นต่ำก่อน
จะไม่ก้าวขึ้นขั้นต่ำไปให้ขึ้นขั้นสูงสุดทีเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า
แม้ในการปฏิบัติเบื้องต้นที่เป็นสมาธิในพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นสัมมาสมาธิ
และจะเป็นสัมมาสมาธิได้ ก็ต้องประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อข้างต้น
คือต้องมีทั้งปัญญา ต้องมีทั้งศีล และต้องมีทั้งสมาธิมาประกอบกัน ตามควรแก่ทางปฏิบัติ
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิอันถูกต้องในพุทธศาสนา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดทำความสงบสืบต่อไป
*