ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:06
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป021
การสร้างธรรมจักษุให้บังเกิดขึ้นในตน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สีลัพพตปรามาส ๓
สีลัพพตปรามาสอย่างละเอียด ๔
สีลวิสุทธิ วัตรวิสุทธิ ๕
ศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๖
วิจิกิจฉาในศีลวัตรรัตนตรัย ๗
เพราะไม่เห็นทุกข์ตามเป็นจริง ๘
ธรรมจักษุในเบื้องต้น ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๕/๑ ( File Tape 21 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การสร้างธรรมจักษุให้บังเกิดขึ้นในตน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
อันปัญญาในธรรมนั้นเรียกอีกคำหนึ่งว่าธรรมจักขุ
หรือธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ซึ่งพระบรมศาสดาเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบลงแล้ว
ก็ได้มีการแสดงต่อไปอีกว่า ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้
ซึ่งท่านแสดงว่า ท่านพระโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
เพราะได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมดังกล่าวนั้น
ดวงตาเห็นธรรมนี้เมื่อพิจารณาดูถ้อยคำตามที่แสดงไว้
ก็กล่าวได้ว่าเป็นการเห็น ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นเองแจ่มชัดขึ้น
อันทำให้ตัดสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ได้ในบางส่วน
ดังที่เรียกว่าตัดสัญโญชน์กิเลสเป็นเครื่องผูกใจได้ ๓ ข้อ
คือ สักกายะทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่ากายของตน
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัยเป็นต้น
และ สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำยึดถือในศีลและวัตรปฏิบัติ
ด้วยอำนาจตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก
สีลัพพตปรามาส
ข้อ ๓ นี้ก็มีอธิบายทั่วไปว่าสีลัพพตปรามาสนั้น
ก็คือการยึดถือปฏิบัติในศีลและวัตรไปในทางถือขลังต่างๆ
ซึ่งคำนี้ก็บ่งถึงว่าถือขลังว่าจะบันดาลให้บังเกิดผลที่ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้
อันการถือขลังดั่งนี้ก็บ่งว่ามิได้เป็นการที่ได้ถือตรงเข้ามา
ว่าศีลและวัตรเป็นข้อปฏิบัติสำหรับที่จะละกิเลสต่างๆ
ซึ่งเมื่อปฏิบัติในศีลและในข้อวัตรปฏิบัตินั้นๆ ก็เพื่อละราคะโลภะโทสะโมหะ
ไม่ได้มุ่งผลอย่างนั้นอย่างนี้แบบถือขลัง
ฉะนั้น เมื่อยังมีการถือขลังอยู่ก็แสดงว่ายังมีตัณหาคือความอยาก
เช่นอยากจะได้ผลอย่างนั้นอยากจะได้ผลอย่างนี้ เป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
เมื่อเป็นดั่งนี้ ปฏิบัติในศีลและวัตรปฏิบัตินั้นๆ ก็ยังไม่เป็นทางตรงไปสู่การละกิเลส
คือมิใช่เพื่อละกิเลส แต่เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กิเลสต้องการ
เช่นกิเลสต้องการลาภต้องการยศ ก็ปฏิบัติในศีลและวัตรปฏิบัตินั้นๆเพื่อให้ได้ลาภได้ยศ
ไม่ใช่เพื่อให้ได้มรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นการละกิเลสและกองทุกข์
การปฏิบัติในศีลและในวัตรปฏิบัตินั้นๆ แม้ว่าจะเป็นศีลและวัตรปฏิบัติที่ถูกต้อง
แต่เมื่อยังถือขลังอยู่ดั่งนั้น ก็ยังเป็นสีลัพพตปรามาส
อีกอย่างหนึ่งอธิบายที่หยาบไปกว่านั้น
ก็คือถือศีลและวัตรปฏิบัติภายนอกพุทธศาสนา ก็เพื่อผลต่างๆตามที่ต้องการ
ส่วนการปฏิบัติศีลและวัตรในพุทธศาสนานั้น เมื่อยังมีการถือขลังอยู่
ก็เป็นสีลัพพตปรามาสเช่นเดียวกัน และเมื่อยังมีสีลัพพตปรามาสอยู่ดั่งนี้
การรักษาศีลและวัตรก็เป็นไปเพื่อผลที่กิเลสต้องการ
สีลัพพตปรามาสอย่างละเอียด
อนึ่ง เมื่อแสดงโดยละเอียด การรักษาศีลและประพฤติปฏิบัติแม้ในพุทธศาสนา
ที่เป็นไปเพื่อละกิเลสโดยตรง มิได้มุ่งลาภผลเป็นต้น แบบถือขลังดังที่กล่าวมาแล้ว
แต่ว่าในการปฏิบัติจำต้องมีการรักษา ศีลก็ต้องรักษา วัตรปฏิบัติก็ต้องรักษา
เพราะว่ายังมีกิเลสที่อาจบังเกิดขึ้น ทำให้ปฏิบัติผิดศีลผิดวัตรปฏิบัติต่างๆ
จึงต้องรักษาด้วยอาศัยสติรักษา อาศัยวิรัติเจตนาความตั้งใจงดเว้นรักษา ศีลจึงจะดำรงอยู่
และวัตรปฏิบัติต่างๆจึงจะเป็นไปได้ แม้ศีลที่ยังต้องรักษา วัตรปฏิบัติที่ยังต้องรักษาอยู่ดั่งนี้
ก็เป็นสีลัพพตปรามาสอย่างละเอียดเหมือนกัน
และบางทีรักษาไม่ถึงใจ รักษาแค่กายแค่วาจา
แต่ว่าจิตใจนั้นยังดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายวุ่นวาย ต้องการที่จะละเมิดศีล
คือว่าศีลยังไม่ถึงจิตใจ จิตใจยังวุ่นวายกลุ้มกลัด แม้ดั่งนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสอีกเหมือนกัน
แต่ว่าในการรักษาศีลปฏิบัติในวัตรปฏิบัติต่างๆ แม้มุ่งที่จะละกิเลส
ในเบื้องต้น ก็ต้องรักษาศีล รักษาวัตรปฏิบัติไว้ดังที่กล่าวมานี้ ...
( เริ่ม ๒๕/๑ ) คือให้จิตใจเป็นศีลเป็นวัตร ให้กายวาจาเป็นศีลเป็นวัตรถึงกัน
ดั่งนี้ ศีลก็จะไม่ขาดเป็นท่อน ไม่ขาดเป็นช่อง ไม่ด่างไม่พร้อย เป็นไทไม่เป็นทาสของตัณหา
วิญญูชนสรรเสริญ วิญญูชนก็คือผู้รู้ ตนเองเป็นผู้รู้ก็ชื่อว่าวิญญูชน
ผู้อื่นเป็นผู้รู้ก็ชื่อว่าวิญญูชน วิญญูชนย่อมไม่ติเตียน
อันหมายถึงว่าทั้งตนเองและทั้งผู้อื่นที่เป็นวิญญูชนก็ไม่ติเตียนโดยศีลได้
สีลวิสุทธิ วัตรวิสุทธิ
และเป็นไปเพื่อสมาธิ คือศีลและวัตรนั้นยิ่งปฏิบัติ จิตก็ยิ่งสงบ ทำสมาธิได้สะดวก
ดั่งนี้ จึงมีคำเรียกศีลเช่นนี้ว่า อริยกันตศีล ศีลที่พระอริยะเจ้าใคร่ ศีลที่พระอริยะเจ้าปรารถนา
ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส แต่ว่าเป็นศีลและวัตรที่บริสุทธิ์
อันจะเรียกได้ว่าเป็น สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล วัตรวิสุทธิ ความหมดจดแห่งวัตรปฏิบัติ
ทางกายทางวาจาทางใจ ไม่เป็นศีลปรามาส ไม่เป็นวัตรปรามาส
การปฏิบัติในศีลและวัตรปฏิบัติต่างๆ
จึงสมควรที่จะปฏิบัติให้เป็นไปในลักษณะดังกล่าวมานี้
ตั้งแต่เบื้องต้นก็ต้องไม่ปฏิบัติในศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนาต่างๆ
อันเป็นการถือขลังโดยตรง เหมือนอย่างปฏิบัติตามที่บุคคลภายนอกพุทธศาสนาแนะนำ
หรือบุคคลภายในพุทศาสนานี้เอง แต่ว่าแนะนำข้อปฏิบัติที่เป็นภายนอกพุทธศาสนา
ดังที่ปรากฏกันอยู่โดยมาก ก็ให้ละสีลัพพตปรามาสอย่างหยาบเช่นนี้ก่อน
มาปฏิบัติในศีลและวัตรที่เป็นภายในพุทธศาสนาโดยตรง
ฟังคำแนะนำของผู้อื่นได้
เมื่อเขาแนะนำให้ปฏิบัติในศีลและวัตรที่เป็นภายในพุทธศาสนา ก็รับมาปฏิบัติได้
แต่ว่าแม้ปฏิบัติในศีลและวัตรที่เป็นภายในพุทธศาสนานี้ ก็ยังมีการถือขลังประกอบอยู่
ด้วยถือว่าศีลและวัตรเป็นของขลังที่จะบำบัดทุกข์ภัยต่างๆอย่างนั้นอย่างนี้
ที่จะอำนวยให้เกิดโชคลาภอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น
แต่แม้เช่นนี้ การปฏิบัติที่เป็นศีลและวัตรนั้นถูกต้องก็ใช้ได้
แต่ว่าก็ยังหยาบอยู่นั่นเอง ก็ต้องให้พยายามที่จะละการถือขลังดั่งนี้
มาเป็นการถือว่าศีลก็เป็นศีล วัตรก็เป็นวัตร เพื่อละกิเลสโดยตรงไปโดยลำดับ
ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติในศีลและวัตรที่ใกล้ต่อมรรคผลนิพพานเข้าอีก
ศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ
และในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องคอยรักษาศีลและวัตร
เพราะว่ายังมีศัตรูคือกิเลสบังเกิดขึ้น คอยที่จะชักจูงให้ละศีลและวัตรอยู่เนืองๆ
จำเป็นที่จะต้องมีสติ ต้องมีวิรัติเจตนาอันเข้มแข็ง
สำหรับที่จะต่อสู้กับบรรดากิเลสทั้งหลาย อันเป็นเครื่องชักนำเหล่านั้น
เพราะฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าในขณะที่สติอ่อน วิรัติเจตนาอ่อน ตลอดจนถึงปัญญาอ่อน
กิเลสมีกำลังแรง ผู้ปฏิบัติในศีลและวัตรก็ยังขืนปฏิบัติ ก็ต้องต่อสู้กับกิเลส
ฉะนั้น จึงปรากฏว่าไม่ได้ความสุขในการปฏิบัติศีลและวัตร จิตใจกลุ้มกลัด
จิตเองก็ไม่เป็นศีลเป็นวัตร สมาธิเองก็ไม่ได้ จะทำใจให้สงบไม่ได้
ดังจะพึงเห็นได้จากบรรดาผู้ที่บวชอยู่ หรือถือศีลอยู่ แต่ต้องการที่จะละศีล ต้องการที่จะสึก
แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะละศีล หรือที่จะสึก จิตก็ไม่ได้ความสงบ คือไม่ได้สมาธิ
แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งศีลในขณะนั้น แต่ว่าศีลที่รักษาอยู่ในขณะนั้นต้องเป็นไปโดยที่ฝืนใจ
คำว่าฝืนใจนั้นก็คือว่าฝืนใจที่มีกิเลสนั้นเอง ก็ไม่ได้สุขจากศีล ไม่ได้สมาธิจากศีล
จิตก็กลุ้มกลัดวุ่นวาย ส่วนสึกเสียได้ หรือว่าละศีลเสียได้ ก็ดูเหมือนสบายไป
แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่สบายไป แต่ว่าเป็นทุกข์ไปด้วยความที่ไม่รู้
ว่าการปฏิบัติไปตามกิเลสนั้นเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่เป็นตัวสุขที่แท้จริง
รักษาศีลแบบนี้แหละเรียกว่าไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ศีลยังไม่เป็นศีลถึงจิตใจ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องหัดที่จะรักษาศีลให้ถึงจิตใจ ให้ได้สุขจากศีล ให้ได้สมาธิจากศีล
ดั่งนี้จึงจะเป็นศีลที่ไปเพื่อสมาธิ
แต่จะเป็นศีลดั่งนี้ได้ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติข่มกิเลสให้ได้ ไม่ให้เป็นทาสของกิเลส
ที่เรียกว่ารักษาศีลให้ศีลเป็นไทไม่เป็นทาสของกิเลส
การปฏิบัติที่ให้ศีลเป็นไทไม่เป็นทาสของกิเลส ที่จะให้เป็นสมาธิได้
ได้สุขจากศีล ได้สมาธิจากศีลดั่งนี้แหละเรียกว่าเป็นการที่ปฏิบัติในศีลและวัตรต่างๆ
ซึ่งจะละกิเลสได้ คือละสัญโยชน์ได้ ๓ ดังที่กล่าวมานั้น
วิจิกิจฉาในศีลวัตรรัตนตรัย
และการที่ยังรักษาศีลให้มีลักษณะที่เป็นไปดังกล่าวมิได้
คือให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ ก็เพราะว่ายังมีวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยอยู่
ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในศีลและวัตรที่ปฏิบัติเอง
คือว่ายังไม่มีความเชื่อตั้งมั่นลงไปว่าศีลและวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัตินั้นละทุกข์ได้
เพราะยังไม่รู้จักว่าอะไรคือทุกข์อันแท้จริง
และยังเข้าใจว่าความได้สมปรารถนา คือสมตัณหาต้องการ นั่นเป็นตัวสุข
เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ คราวนี้เมื่อมารักษาศีลและวัตรปฏิบัติในพุทธศาสนาอยู่
ศีลและวัตรทั้งปวงนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องขัดคอตัณหาทั้งนั้น ขัดคอกิเลสทั้งนั้น
กิเลสตัณหาต้องการให้ทำอย่างนี้ แต่ว่าศีลและวัตรนั้นให้เว้น
ไม่ทำดังที่กิเลสตัณหาต้องการ แปลว่าขัดคอกิเลส ขัดคอตัณหา
และเมื่อบุคคลนั้นยังยึดถือกิเลสตัณหาอยู่ว่าเป็นตัวเราของเรา
จึงเห็นว่าศีลและวัตรนั้นกลายเป็นเครื่องขัดคอความสุข
ขัดขวางมิให้ได้ความสุขตามที่ต้องการ
จึงเป็นอันว่ามิได้มีความเชื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลและวัตรตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
และเมื่อไม่มีความเชื่อตั้งมั่นอยู่ในข้อที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน
ก็เป็นอันว่าไม่มีความเชื่อตั้งมั่นอยู่ในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริง พระธรรมเป็นพระธรรมจริง
พระสงฆ์เป็นพระสงฆ์จริง ยังมีความเชื่ออยู่แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น ยังไม่เชื่อจริงจัง
เมื่อเชื่อจริงจังแล้วต้องรับปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน
เพราะไม่เห็นทุกข์ตามเป็นจริง
เมื่อไม่รับปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน
ก็เป็นอันว่าไม่เชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์จริงจัง
ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีความเห็นยึดถือกายของตน คือเห็นยึดถือตัวเราของเราอยู่
ในกายและใจอันนี้ ในชีวิตนี้ และในทุกๆอย่าง ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
รวมเรียกว่าเห็นยึดถืออยู่ในกายของตน เมื่อเป็นดั่งนี้จึงยังมีความเคลือบแคลงสงสัย
และยังมีการปฏิบัติในวัตรและศีลทั้งหลาย เป็นการถือขลังดังที่กล่าวมานั้น
ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังไม่มีความเห็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์จริง ยังเห็นว่าทุกข์เป็นสุข
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ให้ได้ถึงปัญญาที่เป็นตัวสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
ตั้งแต่เห็นในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ อันโยงถึงสมุทัย นิโรธ มรรค จึงเป็นข้อสำคัญ
ธรรมจักษุในเบื้องต้น
และเมื่อใดได้ปฏิบัติจนมองเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง ว่าอันตัวทุกข์ที่แท้จริงนั้น
หมายถึงตัวสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทุกอย่าง จะเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าสุขทุกอย่างในโลก
จะเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าทุกข์ทุกอย่างในโลก คือจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นสุข
เป็นอลาภ อยศ เป็นนินทา เป็นทุกข์ ก็เป็นอะไรทั้งสิ้นซึ่งเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
ตลอดจนถึงกายใจอันนี้ หรือนามรูปอันนี้ หรือขันธ์ ๕ อันนี้ อันเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
ล้วนเป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งสิ้น
เห็นเกิดและดับของสังขารทั้งหลายคู่กันไปทันที
มิใช่เห็นแต่เกิดเท่านั้น แต่เห็นดับด้วยคู่กันไปทันทีทุกอย่าง
เมื่อยกตัวอย่างทางอายตนะ ก็เช่นว่าเห็นรูปอะไร ก็เห็นเกิดเห็นดับของรูปนั้นทันที
ได้ยินเสียงอะไรก็เห็นเกิดเห็นดับของเสียงนั้นทันที ดั่งนี้เป็นต้น
จะเป็นรูปที่สวยงามไม่สวยงามอะไรก็ตาม เมื่อเป็นรูปแล้วก็เกิดดับ เห็นเกิดเห็นดับทันที
ได้ยินเสียงอะไร จะเป็นเสียงสรรเสริญเสียงนินทาอะไรก็เกิดดับทันที
ดั่งนี้เป็นการเห็นทุกข์ ซึ่งเป็นตัวธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม
เมื่อปฏิบัติให้เห็นทุกข์ดั่งนี้อยู่เนืองๆ ก็จะทำให้ได้สติได้ปัญญามองเห็นถนัดชัดเจนขึ้น
จะเป็นการสร้างธรรมจักษุให้บังเกิดขึ้นในตนตั้งแต่เบื้องต้น
จนถึงสามารถเป็นมรรคเป็นผล ละสัญโยชน์ได้ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไ
*
วิธีหัดพิจารณาให้ได้ปัญญาในทุกขสัจจะ
วิญญาณ สัมผัส เวทนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นอริยะ ๓
วิบากขันธ์ วิบากอายตนะ ๔
ข้อพิจารณาให้รู้จักทุกข์ ๔
เบื้องต้นของปัญญาในอริยสัจจ์ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยแต่สมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๕/๒ ( File Tape 21 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
วิธีหัดพิจารณาให้ได้ปัญญาในทุกขสัจจะ
วิญญาณ สัมผัส เวทนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
อันปัญญาในธรรมนั้นโดยตรงก็คือในสัจจะ อันได้แก่ความจริง
ซึ่งเรียกว่าสัจจะธรรรม ธรรมะคือสัจจะความจริง
และอันความจริงนั้นซึ่งเกี่ยวแก่ กรรม การงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ
ซึ่งบางอย่างก็เป็นอกุศลมีโทษ บางอย่างก็เป็นกุศลมีคุณ ก็ให้ใช้สติกำหนดพิจารณาวิจัย
คือแจกจำแนกให้รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ของกรรมที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ
ก็เป็นสติ เป็นธัมวิจยะ อันนับเข้าในสัมโพชฌงค์
สติและธัมวิจยะนี้เป็นหลักสำคัญของความประพฤติปฏิบัติทั้งปวง
อันจะนำให้ละอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาทางใจต่างๆได้
ให้ปฏิบัติในกุศลสุจริตต่างๆทางกายทางวาจาทางใจได้
จึงเป็นหลักปฏิบัติที่ทุกๆคนสมควรจะมี และก็จำเป็นที่จะต้องมี
เพื่อที่จะได้ละความชั่ว กระทำความดี
ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นอริยะ
อนึ่ง สัจจะคือความจริงนี้ยังจะต้องพิจารณาให้รู้จักสืบขึ้นไปอีก
อันจะพึงกล่าวได้ว่าเป็นความจริงที่นับเข้าในอริยสัจจ์
คือ ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นอริยะ คือบุคคลผู้ที่ละกิเลสได้ตั้งแต่บางส่วนขึ้นไป
จนถึงละได้หมด แต่แม้ยังละไม่ได้ ก็ทำให้มีความรู้เท่าทันจิตและอารมณ์
ละกิเลสได้แม้ชั่วคราวในขณะที่ได้มีความรู้ดังกล่าวนี้
ฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงฝึกหัดปฏิบัติ ฝึกให้เกิดปัญญาอันนับเนื่องในอริยสัจจ์
ก็คือในทุกข์ ในทุกข์สมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ในทุกขนิโรธความดับทุกข์
และในมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อันวิธีหัดพิจารณาให้ได้ปัญญาในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์นี้ อันเป็นข้อแรกในอริยสัจจ์
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้เป็นอันมากจนกล่าวได้ว่าเป็น พหุลานุสาสนี
คือเป็นคำสั่งสอนที่มีเป็นอันมากของพระพุทธเจ้า นอกจากที่ทรงแสดงอธิบายไว้โดยตรง
ในหมวดทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์แล้ว ยังได้ทรงจับแสดงไว้อีกมากในที่ต่างๆ
และในเบื้องต้นก็ทรงยกเอาขันธ์ หรืออายตนะ หรือธาตุ ขึ้นเป็นที่ตั้งให้จับพิจารณา
ขันธ์นั้นก็คือขันธ์ ๕ ที่ได้ตรัสสรุปไว้ในข้อที่ทรงอธิบายทุกขสัจจะ
ว่าโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา
สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ
บางแห่งก็ทรงยกเอานามรูป ก็ขันธ์ทั้ง ๕ นี้แหละ ที่ย่อลงก็เป็นนาม ๑ รูป ๑
เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม รูปก็คงเป็นรูป ยกขึ้นสำหรับที่จะให้จับพิจารณา
และบางแห่งก็ทรงยกเอาอายตนะ ...
วิบากขันธ์ วิบากอายตนะ
( เริ่ม ๒๕/๒ ) ข้อที่ตรัสให้พิจารณาเหล่านี้ นับเข้าในวิบากขันธ์ วิบากอายตนะ
คือเป็นขันธ์เป็นอายตนะที่เป็นวิบากคือเป็นผลของกิเลสกรรมในอดีต
ซึ่งได้เป็นเหตุโดยเป็นชนกกรรม ชนกกิเลส ที่ให้เกิดก่อเป็นขันธ์เป็นอายตนะ
อยู่ในปัจจุบันของทุกๆคน ส่วนที่เป็นวิบากนี้เป็นอัพยากตาธรรมา
คือเป็นธรรมะที่ไม่พยากรณ์ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นกลางๆ
บุคคลอาจอาศัยขันธ์อายตนะนี้ทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้ ทำดีก็เป็นกุศลกรรม ทำชั่วก็เป็นอกุศลกรรม
ส่วนตัวขันธ์ตัวธาตุ ส่วนตัวขันธ์ตัวอายตนะเหล่านี้ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล เป็นกลางๆ
เป็นเครื่องมือสำหรับที่บุคคลจะทำดีหรือทำชั่วเท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณา ให้รู้จักดั่งนี้เป็นประการแรกที่นับเข้าในข้อธรรมวิจัย
เพื่อที่จะได้ไม่ใช้ขันธ์ใช้อายตนะทำชั่วต่างๆ แต่ใช้ขันธ์ใช้อายตนะทำดีต่างๆ
ข้อพิจารณาให้รู้จักทุกข์
และก็ให้พิจารณาขันธ์อายตนะเหล่านี้นั้นเองให้รู้จักทุกข์
จะได้กล่าวในข้อที่ตรัสสอนให้ยกกายและใจที่สัมพันธ์กันอยู่นี้ขึ้นพิจารณา
โดยเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา ซึ่งเป็นไปอยู่
โดยที่ตั้งใจกำหนดให้รู้จักตากับรูปที่ประจวบกันอยู่ ก็เกิดจักขุวิญญาณ รู้ทางตาก็คือเห็นรูป
และเมื่ออายตนะทั้ง ๒ กับวิญญาณรวมกันเข้าอีกก็เป็นสัมผัส อันเรียกว่าจักขุสัมผัส
ก็สัมผัสถึงใจแรงขึ้นทางตา จึงได้เกิดเวทนาอันเรียกว่า จักขุสัมผัสชาเวทนา
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
หัดกำหนดให้รู้จักหูกับเสียงที่ประจวบกัน ก็เกิดโสตะวิญญาณรู้ทางหูคือได้ยินเสียง
เมื่อทั้ง ๓ นี้รวมกันเข้าก็เป็นโสตะสัมผัส สัมผัสทางหู
ก็คือจิตสังผัสจิตกระทบอารมณ์คือเสียงทางหู ก็เกิดเวทนาอันเรียกว่า โสตสัมผัสชาเวทนา
เวทนาที่เกิดจากโสตะสัมผัส สัมผัสทางหู เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
กำหนดให้รู้จักจมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ก็เกิดฆานะวิญญาณทราบกลิ่นทางจมูก
และเมื่อรวมกันก็เป็นฆานะสัมผัสกระทบถึงจิต หรือจิตกระทบอารมณ์คือกลิ่นทางจมูก
ก็เกิดเวทนาอันเรียกว่า ฆานะสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากฆานะสัมผัส สัมผัสทางจมูก
ก็เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
กำหนดให้รู้จักลิ้นกับรสที่ประจวบกัน ก็เกิดชิวหาวิญญาณทราบรสทางลิ้น
เมื่อรวมกันเข้าก็เกิดสัมผัสคือจิตกระทบหรือกระทบจิตด้วยอารมณ์คือรสทางลิ้น
ก็เกิดเวทนาอันเรียกว่า ชิวหาสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น
เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
กำหนดให้รู้จักกายและโผฏฐัพพะที่ประจวบกัน
ก็เกิดกายวิญญาณทราบสิ่งกระทบทางกาย เมื่อรวมกันเข้าก็เกิดกายสัมผัส
สัมผัสแห่งจิต หรือจิตสัมผัสอารมณ์คือสิ่งถูกต้องทางกาย
ก็เกิดเวทนาอันเรียกว่า กายสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย
เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
หัดกำหนดให้รู้จักมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกัน
ก็เกิดมโนวิญญาณความรู้หรือความคิดเรื่องทางมโนคือใจ เมื่อรวมกันเข้าก็เกิดมโนสัมผัส
สัมผัสทางใจ คือสัมผัสแห่งจิตซึ่งอารมณ์คือเรื่องราวที่คิดหรือรู้ทางใจ
ก็เกิดเวทนาอันเรียกว่า มโนสัมผัสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ
เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
กำหนดให้รู้จักอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน
เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส และเป็นเวทนาดั่งนี้
นี้เป็นสิ่งทั้งหมดของกายและใจอันนี้ที่เป็นไปอยู่ อันพึงกำหนดพิจารณาให้รู้จัก
ก็สตินั้นเองเป็นเครื่องกำหนดให้รู้จัก ให้รู้จักอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน
เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา ที่เป็นไปอยู่
ที่ว่าทั้งหมดนั้นก็คือว่าทุกๆคนก็มีอยู่เท่านี้ ไม่นอกไปจากนี้ เหมือนกันหมด
แตกต่างกันแต่เรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้นที่เป็นไปต่างๆกันเท่านั้น
แต่ว่ารวมเข้าแล้ว ก็คงรวมเข้าในอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา
ทุกคนก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
เบื้องต้นของปัญญาในอริยสัจจ์
ในการที่จะปฏิบัติให้ได้ปัญญารู้อริยสัจจ์นั้น
เบื้องต้นจะต้องหัดกำหนดให้รู้จักสิ่งทั้งปวงของตนดั่งนี้ก่อน
และเมื่อได้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักสิ่งทั้งปวงของตนดั่งนี้แล้ว
ก็กำหนดพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้มีชาติคือความเกิดเป็นธรรมดา
มีชราคือความแก่เป็นธรรมดา มีพยาธิคือความป่วยไข้เป็นธรรมดา
มีมรณะคือความตายเป็นธรรมดา
มีโสกะความแห้งใจไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆเป็นธรรมดา
มีความเศร้าหมองไม่ผ่องใสเป็นธรรมดา มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา
มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
ตั้งใจกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้เห็นธรรมดา ดั่งนี้
และเมื่อเห็นธรรมดาดั่งนี้ ก็จะทำให้ได้ปัญญาเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ขึ้นโดยลำดับ
อีกนัยหนึ่ง ตรัสสอนให้พิจารณาสิ่งทั้งปวงเหล่านี้
ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ
เป็นทุกขะคือเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ตั้งอยู่คงที่ได้
เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้
เป็นข้อที่พึงรู้ยิ่ง ก็คือให้รู้จักความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์ความเป็นอนัตตาดังกล่าว
เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้ คือกำหนดให้รู้จักความจริงดั่งนี้
เป็นข้อที่พึงละ คือละความติดความยึดถือ ความดิ้นรนทะยานอยาก
เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้เพราะความรู้ยิ่ง
เป็นข้อที่พึงกำหนดให้รู้จักว่าเป็นตัวความวุ่นวาย เป็นตัวความขัดข้องต่างๆ
และเมื่อหัดกำหนดไปดั่งนี้ ก็จะทำให้ได้ปัญญาเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ขึ้นโดยลำดับ
และก็จะทำให้ได้ความรู้ก้าวขึ้นไปสู่ทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ต่อไปด้วย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*