ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป008

ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ธรรมานุธรรมะปฏิบัติ ๓

ศรัทธาที่เป็นญาณสัมปยุต ๔

อธิโมกข์ ๕

ศรัทธา ปัญญา ๖

ภาวะของจิตสามัญ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย

ม้วนที่ ๙/๒ ต่อ ๑๐/๑/๒ ( File Tape 08 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะนั้นแบ่งเป็นสอง คือ ๑ สัจจธรรม ธรรมะที่เป็นความสัจจ์ความจริง

และ ๒ ศาสนธรรม ธรรมะที่เป็นคำสั่งสอน พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจธรรม

ธรรมะที่เป็นความสัจจ์ความจริง ดังที่ได้แสดงไว้ในปฐมเทศนาก็คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔

อันได้แก่อริยสัจจ์ ความสัจจ์ความจริงที่พระอริยะพึงรู้ หรือที่ทำผู้รู้ให้เป็นพระอริยะ

หรือที่พูดกันง่ายๆว่าสัจจะที่เป็นอริยะคือประเสริฐเจริญ อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์

ทุกขนิโรธความดับทุกข์ และมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

แล้วก็ทรงแสดงสั่งสอน

คำสั่งสอนของพระองค์ก็สั่งสอนในสัจจธรรมที่ตรัสรู้นั้นเองเรียกว่าศาสนะ

หรือศาสนาที่แปลกันว่าคำสั่งสอน เพราะคำสั่งสอนแสดงสัจจธรรม

ฉะนั้น จึงเป็นธรรมะขึ้นอีกเรียกว่าศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอน ศาสนธรรม

(เริ่ม ๑๐/๑) ได้ตรัสเอาไว้ว่า พระองค์ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น

ทรงแสดงธรรมมีเหตุอันผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ อันหมายถึงว่ากำจัดข้าศึกคือกิเลสได้จริง

สมจริงตามที่ทรงสั่งสอน เป็นข้อที่ใครๆจะเปลี่ยนแปลงมิได้

เป็นข้อที่งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด

แสดงพรหมจรรย์คือศาสนาอันหมายถึงทั้งที่เป็นคำสั่งสอนทั้งที่เป็นการปฏิบัติ

ทั้งที่เป็นผลของการปฏิบัติที่บริสุทธิ์คือไม่มีผิดพลาดถูกต้องทั้งหมด ที่บริบูรณ์คือไม่มีบกพร่อง

สมบูรณ์ทั้งหมด พร้อมทั้งอรรถคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ

ดังรวมเข้าในคำว่างดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุดนั้น

อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นความสัจจ์ความจริง แต่เมื่อไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ตรัสแสดง

ทั้งเมื่อไม่ถึงกาลที่จะควรแสดง ก็ไม่ตรัสแสดง

ต้องเป็นความสัจความจริงด้วย เป็นประโยชน์ด้วย และต้องด้วยกาลคือกาลเวลา

หรือเรียกรวมว่าต้องด้วยกาละเทศะจึงจะตรัสแสดง

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ธรรมะที่ทรงสั่งสอนเป็นสัจจะ คือเป็นความสัจจ์ความจริง

ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม คือเป็นความจริงด้วยเป็นความถูกต้องด้วย

ธรรมานุธรรมะปฏิบัติ

ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นข้อที่สมควรที่จะสดับตรับฟัง

สมควรที่จะได้พิจารณาไตร่ตรองให้มีความเข้าใจ และสมควรที่จะรับมาปฏิบัติ

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะบรรลุถึงประโยชน์ที่เป็น ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบันบ้าง

สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ปรมัตถะประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง

ซึ่งเป็นส่วนผล และทั้งได้ชื่อว่าประพฤติธรรมที่ควรประพฤติเพราะเป็นความสัจจ์ความจริง

เป็นความถูกต้อง อันจะเป็นเหตุให้ประสบประโยชน์ดั่งที่ตั้งใจจะได้จะถึง

นี้แหละคือตัวปาฏิหาริย์ของธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

แต่ในการที่จะรับมาปฏิบัติ ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยความเป็นผู้มีศรัทธา

ในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และปัญญาคือความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง

ในธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้การปฏิบัติจึงจะเรียกว่าเป็น ธรรมานุธรรมะปฏิบัติ

คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เพราะการปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม

แต่ไปปฏิบัติให้ผิดไปตามโลก อันหมายถึงบุคคลทั้งหลายส่วนใหญ่ในโลก

หรือว่าให้ผิดไปตามความเห็นผิดของตนเอง

การปฏิบัติธรรมะนั้นก็ไม่สมควรแก่ธรรม ก็ไม่สำเร็จประโยชน์

ต่อเมื่อไม่ปฏิบัติให้ผิดไปตามโลก ไม่ปฏิบัติให้ผิดไปตามความเห็นผิดของตน

แต่ว่าใช้ศรัทธาคือความเชื่ออันถูกต้อง คือเป็นความเชื่อที่เป็น ญาณสัมปยุต

ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ ทั้งประกอบด้วยปัญญาคือความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง

ดั่งนี้แล้ว การปฏิบัตินั้นจึงจะชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ศรัทธาที่เป็นญาณสัมปยุต

ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญของผู้ปฏิบัติพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นจึงจำที่จะต้องปลูกศรัทธา คือความเชื่ออันถูกต้องในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

อันเรียกว่าศรัทธาคือความเชื่อในความตรัสรู้ของพระองค์ เรียกว่าเชื่อปัญญาของครู

เมื่อเชื่อปัญญาของครูแล้วก็จะทำให้ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของครู

ทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าคำสั่งสอนของครูย่อมถูกต้อง เพราะครูเป็นผู้ที่รู้จริง

เมื่อรู้จริงก็ต้องถูกต้อง แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจ เพราะยังมิได้ปฏิบัติให้ได้ให้ถึง

ก็ทำศรัทธาคือความเชื่อไว้ก่อน

เหมือนอย่างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนถึงเรื่องกรรม และผลของกรรม

ทรงสั่งสอนถึงโลกุตรธรรม ธรรมะที่เหนือโลก คือมรรคผลนิพพาน

แม้ว่าจะยังไม่ได้ญาณหรือปัญญารู้อดีต รู้อนาคต รู้ปัจจุบัน อันจะหยั่งทราบผลของกรรมได้

และยังมิได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นโลกุตรธรรม เพราะยังอยู่ในโลก

ยังอยู่กับโลกิยะ คือสิ่งทั้งหลายที่พัวพันอยู่ในโลก

ก็ทำความเชื่อเอาไว้ก่อนว่ากรรมและผลของกรรมมีจริงตามที่ทรงสั่งสอน

และโลกุตรธรรม มรรคผลนิพพานมี ดั่งนี้เป็นศรัทธา

อธิโมกข์

แต่ศรัทธาความเชื่อดั่งนี้เรียกว่าเป็น อธิโมกข์ คือน้อมใจเชื่อไปก่อน

โดยที่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง แต่ก็ต้องใช้วิจารณะญาณ

คือความพิจารณาให้เกิดความหยั่งรู้ไปโดยลำดับ ตามเหตุและผล

เพราะว่าเมื่อพิจารณาไปตามเหตุและผลโดยลำดับแล้ว

ย่อมจะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง อันเป็นตัวปัญญาไปโดยลำดับ

และเมื่อได้ปัญญาไปโดยลำดับแล้ว ก็จะทำให้ความเชื่อที่เป็นศรัทธานั้นเป็นญาณสัมปยุตประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ไปด้วย ก็เป็นอันว่าต้องอาศัยศรัทธา

และอาศัยปัญญาควบคู่กันไป

แต่ว่าถ้าหนักไปในทางใดทางหนึ่งเกินไป

คือหนักไปในทางศรัทธาคือความเชื่อเท่านั้น ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา

ก็จะกลายเป็นคน สัทธาจริต คือมีความเชื่อเป็นเจ้าเรือน อันทำให้ขาดปัญญา

หรือว่าถ้าจะหนักไปในทางปัญญาเท่านั้น จะต้องรู้ต้องเห็นจึงจะเชื่อ ไม่เช่นนั้นไม่ยอมเชื่อ

ก็จะกลายเป็น พุทธิจริต คือมีความรู้เป็นเจ้าเรือน เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นโทษเหมือนกัน

เพราะว่าจะทำให้ไม่ยอมรับปฏิบัติในสิ่งที่ถูกอันตนเองยังไม่รู้

เพราะว่าอันความรู้ของแต่ละบุคคลนั้นเมื่อยังมีอวิชชาโมหะอยู่ ย่อมประกอบด้วยความรู้ผิด

เข้าใจผิดอยู่อีกเป็นอันมาก แม้เพียงเป็นเรื่องที่จะพึงรู้ด้วยตาด้วยหูก็ตาม

สิ่งที่ตาของตนเองยังไม่ได้เห็น และที่ยังไม่ได้ยินได้ฟังก็มีอยู่อีกเป็นอันมาก

แต่อันที่จริงนั้น สิ่งที่ตนเองมิได้เห็น สิ่งที่ตนเองไม่ได้ยินเป็นต้น

มีอยู่มากมายกว่าที่ได้เห็นกว่าที่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการคิดกล้องสำหรับส่องสิ่งที่ละเอียดที่สุดที่ตามมองไม่เห็นให้เห็น

หรือว่าใช้เครื่องสำหรับที่จะทำให้ได้ยินสิ่งที่อยู่ไกลๆให้ได้ยิน ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ลำพังความรู้ของตนเองเท่านั้นไม่พอ จึงต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อ

จากคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ แต่ก็ต้องใช้วิจารณะญาณ

คือความพิจารณาไตร่ตรองไปตามเหตุผล ให้มีความรู้ความเข้าใจ

เป็นตัวปัญญาของตนเองขึ้นไปโดยลำดับ

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้เกิดการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ศรัทธา ปัญญา

ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้มีทั้งศรัทธาให้มีทั้งปัญญาดังกล่าว

และก็ทรงสั่งสอนให้ไต่ถาม สอบค้น ในสิ่งที่สงสัย ในสิ่งที่มีปัญหา

เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป

การไต่ถามการค้นคว้าจึงเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์

มิใช่ว่าจะเป็นตัววิจิกิจฉาซึ่งเป็นนิวรณ์ ซึ่งเป็นตัวกิเลสไปทั้งหมด

ส่วนที่เป็นวิจิกิจฉาซึ่งเป็นนิวรณ์นั้นเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้มี ปริปุจฉา คือไต่ถามค้นคว้าสอดส่อง

พิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจ ในเมื่อไม่ต้องด้วยเหตุผลแล้วก็ยังไม่ยอมรับเชื่อถือคือปฏิบัติ

ต่อเมื่อต้องด้วยเหตุผลจึงยอมรับนับถือปฏิบัติ

เพราะว่าพุทธศาสนาที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นว่า

ทรงสั่งสอนเพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น อันหมายความว่าเป็นข้อที่รู้ได้

และมีเหตุอันจะพิจารณาให้เห็นจริงได้ ทั้งมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติได้สมจริงตามที่ได้กล่าวแล้ว

จึงไม่พ้นวิสัยของปัญญาที่จะสอดส่องพิจารณา และเมื่อได้ปัญญา

คือความรู้ความเห็นของตนเอง เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบขึ้นแล้ว นั่นแหละ

จึงจะเข้าขั้นที่สามารถจะบรรลุถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นโลกุตรธรรมได้

เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในเบื้องต้นศรัทธาอาจจะนำ

แต่เมื่อปฏิบัติไปๆต้องให้ปัญญานำ และก็อาศัยศรัทธาตามเหมือนกัน

จึงจะบรรลุผลจนถึงที่สุด ตามที่กล่าวดั่งนี้ เป็นข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติทั่วไป

และศรัทธาปัญญาดังกล่าวนี้มิใช่เป็นศรัทธาปัญญาของบุคคลที่เป็น สัทธาจริต

หรือเป็น พุทธิจริต แต่เป็นปัญญา เป็นศรัทธาของผู้ปฏิบัติธรรมอันถูกต้อง

ภาวะของจิตสามัญ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ในการปฏิบัติธรรมนี้จิตเป็นสิ่งสำคัญ

พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ในพระธรรมบทว่า พันธนัง จะพลัง จิตตัง เป็นต้น

ที่แปลความว่า จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก

ผู้มีปัญญาย่อมกระทำให้ตรงได้ เหมือนดังช่างศรดัดลูกศร

ปลาที่บุคคลจับยกขึ้นจากที่อยู่คือน้ำโยนไปบนพื้น ย่อมดิ้นรนฉันใด

จิตนี้ที่บุคคลยกขึ้นสู่สมถะวิปัสสนาเพื่อละบ่วงแห่งมาร ก็ย่อมดิ้นรนฉันนั้น ดั่งนี้

ข้อนี้ตรัสสั่งสอนให้ทุกๆคนพึงทราบภาวะของจิตสามัญซึ่งยังมิได้อบรม

ว่าจะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก

และแม้ว่าจะยกจิตขึ้นสู่สมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ก็ยังดิ้นรนอยู่นั่นแหละ

คือดิ้นรนเพื่อจะกลับไปสู่บ่วงของมาร

เพราะว่าที่ยกจิตขึ้นสู่กรรมฐานนั้น ก็คือยกขึ้นจากบ่วงของมาร

เหมือนอย่างที่ยกปลาขึ้นจากน้ำโยนไปบนบกปลาก็ดิ้น

เมื่อยกจิตขึ้นจากบ่วงของมารจิตก็ย่อมดิ้น

ปลาดิ้นก็เพื่อที่จะลงน้ำ จิตดิ้นก็เพื่อที่จะลงไปสู่บ่วงของมารอีก

แต่ว่าผู้มีปัญญาก็ทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศร

อันช่างศรดัดลูกศรนั้นก็ตัดไม้มาจากป่า มาเอาเปลือกออก ทาน้ำมัน ย่างไฟ

ใส่เข้าไปในง่ามไม้ดัด ไม้ที่คดที่งอก็จะตรงได้ ทำเป็นลูกศรได้

จิตก็เช่นเดียวกัน อยู่ในบ่วงของมารอันหมายถึงว่าอยู่กับกามะคุณารมณ์ทั้งหลาย

โดยปรกติ เมื่อยกจิตขึ้น ...

( เริ่ม ๑๐/๒ ) ก็คือจะต้องอาศัยศรัทธาอาศัยปัญญา

จะต้องย่างไฟก็คือต้องใช้ความเพียรทางกายทางใจ จะต้องใส่เข้าไปในง่ามไม้ดัด

ก็คือจะต้องใส่เข้าไปในสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ดั่งนี้

แต่แม้เช่นนั้นในทีแรกก็ยังดิ้นอยู่เหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำโยนไปบนบกก็ยังดิ้นอยู่

ในคำอุปมาถึงปลานี้มุ่งอุปมาเฉพาะ

ให้เห็นในความดิ้นของจิต เทียบกับความดิ้นของปลาเท่านั้น

จิตที่ยกขึ้นสู่กรรมฐานก็เหมือนอย่างปลาที่ยกขึ้นจากน้ำวางลงบนบก

บกนั้นก็เหมือนอย่างกรรมฐาน ปลานั้นก็เหมือนอย่างจิต ก็ดิ้น

ต้องการจะเทียบให้มองเห็นถึงความดิ้นเท่านั้น ไม่ได้มุ่งถึงข้ออื่น

เพราะว่าถ้ามุ่งถึงข้ออื่นแล้วก็จะมองเห็นว่าปลานั้น

ถ้าปล่อยให้ดิ้นอยู่อย่างนั้นสักครู่หนึ่งก็จะต้องตาย

จิตที่ดิ้นอยู่ในเมื่อยกขึ้นสู่กรรมฐานจะต้องตายอย่างนั้นหรือไม่

ในอุปมาอุปไมยที่ตรัสนี้ไม่ได้มุ่งไปถึงในแง่นั้น เพราะว่าจิตนั้นตามความจริงก็เป็นสิ่งที่ไม่ตาย

แต่ว่าปลานั้นเป็นสิ่งที่ตายได้ จึงไม่ได้มุ่งในแง่นั้น แต่มุ่งในแง่ความดิ้น

เพื่อให้มองเห็นว่าดิ้นอย่างนั้น และเพื่อที่จะไม่ท้อใจ

เพราะว่าเป็นธรรมดาของจิตที่ยังไม่ได้อบรมก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ยังมีอุปมาอีกอันหนึ่งที่ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า

ลูกวัวที่วิ่งซุกซน เจ้าของก็จับเอาเชือกผูกไว้กับหลัก

ทีแรกลูกวัวนั้นก็วิ่งไปทางโน้นวิ่งไปทางนี้ แต่ว่าก็ไปไกลเกินเชือกไม่ได้

บางทีก็ต้องวิ่งวนหลักอยู่ แต่ในที่สุดลูกวัวนั้นเหนื่อยก็ต้องลงนอนพักอยู่ที่โคนหลักนั้นเอง

ก็เปรียบเหมือนอย่างจิต ที่ตั้งสติผูกจิตไว้กับอารมณ์ของกรรมฐานเช่นลมหายใจเข้าออก

ในทีแรกจิตก็จะวิ่งไปทางโน้นวิ่งไปทางนี้ แต่เมื่อมีสติผูกอยู่ก็จะวิ่งไปไม่ได้ไกล

เพราะสติจะคอยดึงเอาไว้ และเมื่อสติไม่ขาดในที่สุดจิตนี้เองก็จะนั่งสงบอยู่

เหมือนอย่างลูกวัวที่นอนสงบอยู่ที่โคนเสา

จิตก็จะนิ่งสงบอยู่ที่อารมณ์ของกรรมฐานที่ตั้งเอาไว้ เช่นลมหายใจเข้าออก

เหมือนอย่างว่านั่งสงบอยู่ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือที่ตัวจิตเองอันเป็นภายใน

ลูกวัวก็เหมือนกันถ้าเชือกไม่ขาดก็วิ่งไปได้ไม่ไกล เหนื่อยก็ต้องนอนพักที่โคนเสา

จิตก็ต้องหยุดพักสงบอยู่ที่อารมณ์ของกรรมฐาน

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะได้ปีติได้สุขในกรรมฐาน

เมื่อได้ปีติได้สุขในกรรมฐานจิตก็ไม่อยากจะวิ่งไปไหน เพราะสบายเสียแล้ว

เมื่อสบายเสียแล้วก็ไม่อยากจะไปไหน ก็อยู่กับอารมณ์ของกรรมฐานนั้นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ละความเพียรที่จะปฏิบัติแล้วย่อมจะได้สมาธิ และได้ปัญญา

อันจะนำให้ปฏิบัติในธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประโยชน์เป็นธรรมยิ่งๆขึ้นไป

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ธรรมานุปัสสนา ๔ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สังขตลักษณะ ๔

อนิจจลักขณะ ๕

ความเกิดดับที่เป็นปัจจุบัน ๖

วิราคะ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑/๑ ( File Tape 08 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ธรรมานุปัสสนา ๔ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การปฏิบัติอบรมจิตมีสติปัฏฐานตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรมเป็นหลัก

และในการปฏิบัตินั้นแม้จับข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก

ขั้นของการปฏิบัติก็จะดำเนินขึ้นไปเองเป็นกายานุปัสสนา เป็นเวทนานุปัสสนา

เป็นจิตตานุปัสสนา และเป็นธรรมานุปัสสนา ซึ่งได้แสดงมาโดยลำดับ

เมื่อถึงขั้นจิตตานุปัสสนาจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ หายใจเข้าหายใจออก

และปลอดนิวรณ์ เพราะมีสติเปลื้องจิตออกจากนิวรณ์ได้ จิตจึงเป็นสมาธิ

และเป็นอุเบกขาคือเข้าเพ่งอยู่กับความสงบ จับอยู่กับความสงบที่ไม่หวั่นไหว

หรือไม่เอียงไปข้างยินดี ไม่เอียงไปข้างยินร้าย เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเต็มขั้นของจิตตานุปัสสนา

ก็ตรัสสอนให้น้อมจิตพิจารณาธรรม ตามดู คือพิจารณาให้เห็นอนิจจะไม่เที่ยง

และตามดูให้เห็นวิราคะคือความสำรอกจิตจากความติดใจยินดีได้เพราะเห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

ตามดูคือพิจารณาให้เห็นนิโรธคือความดับ ดับทุกข์ ดับความก่อทุกข์

ตามดูคือพิจารณาให้เห็นความสละคืน คือความวางสิ่งที่ยึดถือไว้

เป็นผู้ปล่อยวางได้ จึงเป็นผู้ไม่มีภาระ เป็นผู้เบา

และในข้อนี้ก็จัดเข้าในข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติตามดู คือพิจารณาธรรม

ดังที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า อนิจจานุปัสสนา ตามดูให้รู้ให้เห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

วิราคานุปัสสนา ตามดูคือพิจารณาให้รู้ให้เห็นวิราคะความสำรอกจิตได้จากความติดใจยินดี

นิโรธานุปัสสนา ตามดูคือพิจารณาให้รู้ให้เห็นนิโรธคือความดับ

ปฏินิสสัคคานุปัสสนา ตามดูคือพิจารณาให้รู้ให้เห็นความสละคืน

คือปล่อยวางสิ่งที่ยึดถือ เหมือนอย่างสละคืนไปแก่ธรรมชาติธรรมดา

ทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมานุปัสสนาตามดูคือพิจารณาให้รู้ให้เห็นธรรม

และธรรมที่พิจารณาให้รู้ให้เห็นนี้ก็รวมเข้าในรูปธรรมนามธรรมคือกายใจนี้เอง

รูปธรรมนามธรรมนี้โดยตรงก็หมายถึงกายใจ อันเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ ขันธ์ที่เป็นวิบากของกรรมเก่า นับแต่ชนกกรรม

กรรมที่ให้เกิดมาเป็นรูปเป็นนาม อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคล

ตัวตนเราเขานี้ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ และก็หมายถึงปฏิบัติขันธ์ คือขันธ์ที่ใช้ปฏิบัติ

ว่าถึงการปฏิบัติธรรมะ ก็การปฏิบัติอบรมสติอบรมปัญญา หรือปฏิบัติสมถกรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน ดังที่ปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งก็เป็นตัวสติตัวปัญญาที่ปฏิบัติให้มีขึ้น

แม้สติปัญญาที่เป็นธรรมปฏิบัตินี้ก็เป็นปฏิบัติขันธ์ กองปฏิบัติ

ก็รวมเข้าเป็นรูปเป็นนามในฝ่ายปฏิบัติ

ฉะนั้น แม้สติปัญญาก็เป็นรูปเป็นนาม ตัวรูปนามนี่เป็นวิบาก ขันธ์เองก็เป็นรูปเป็นนาม

เพราะฉะนั้นก็จับพิจารณารูปธรรมนามธรรม เอารูปธรรมนามธรรมที่เป็นตัววิบากขันธ์ก่อน

สติปัญญานั้นก็รวมอยู่ในรูปธรรมนามธรรมนั้นแหละ แต่ว่าจับเอาตัววิบากขันธ์ขึ้นก่อน

สังขตลักษณะ

รูปธรรมนามธรรมนี้เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง อันหมายความว่าไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน ต้องเกิดดับ

ดังที่ได้ตรัสแสดง สังขตลักษณะ คือลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งเป็นสังขารดังกล่าวนั้น

ว่ามีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความเสื่อมไปปรากฏ

เมื่อตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ

กล่าวสั้นก็คือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ

ระหว่างเกิดดับก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปไม่มีหยุด

ลักษณะดังกล่าวมานี้เรียกว่าอนิจจะคือไม่เที่ยง

และแม้ว่าจะยกขึ้นมากล่าวเพียงข้อเดียวว่าไม่เที่ยง ก็ย่อมรวมทุกขลักษณะ

ลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักขณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตาอยู่ด้วย

เพราะว่าเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงดังกล่าวนั้นจึงไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่

ต้องเกิดดับอยู่ จึงเป็นอันว่าต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

ลักษณะที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ และต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ดั่งนี้ เรียกว่าทุกข์

จึงบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ ลักษณะที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ดั่งนี้

เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน เพราะหากว่าจะเป็นอัตตาตัวตนจริงแล้วไซร้

ก็จะต้องบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ไม่เป็นอัตตาตัวตน

และเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ความปรุงแต่งปรากฏขึ้นทีแรกก็เป็นเกิด ความปรุงแต่งนั้นต้องแตกสลายในที่สุดก็เป็นดับ

ระหว่างเกิดดับก็แปรเปลี่ยนไปโดยลำดับ ไม่มีที่จะตั้งอยู่คงที่

เช่นเดียวกับเวลาไม่มีตั้งอยู่คงที่

ต้องแปรเปลี่ยนไปอยู่ทุกขณะ ที่บุคคลแบ่งกัน ใช้พูดกันสั้นที่สุดก็เป็นวินาที

แต่อันที่จริงนั้นวินาทีก็จะแบ่งให้ละเอียดลงไปได้อีก

ก็เป็นอันว่าเวลานั้นต้องเปลี่ยนไปอยู่ทุกขณะแม้ละเอียดที่สุด ไม่มีที่จะหยุดนิ่ง

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งก็ต้องเปลี่ยนไปตามเวลาดังกล่าวนั้น

เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้อันแปลความว่า

กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวเอง ดั่งนี้

อนิจจลักขณะ

เพราะฉะนั้น รูปธรรมนามธรรมอันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราของเรา

หรือสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จึงเป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงดังกล่าวนั้น

พิจารณาให้รู้ให้เห็นความไม่เที่ยงอันเรียกว่าอนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง

เมื่ออนิจจตาปรากฏขึ้นแก่ความรู้ความเห็นก็เป็น อนิจจานุปัสสนา และเป็น อนิจจะวิปัสสนา

อนิจจานุปัสสนานั้น นับตั้งแต่สติที่ปฏิบัติจับกำหนดนามรูปที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน

อันกล่าวได้ว่าเป็นปัจจุบันธรรม และเมื่อคอยตามดูให้รู้ให้เห็นลักษณะที่ไม่เที่ยงของนามรูป

ก็ย่อมจะเห็นย่อมจะรู้แจ่มแจ้งไปโดยลำดับ มุ่งเอาลักษณะที่เห็นแจ้งรู้จริงเรียกว่าวิปัสสนา เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากอนุปัสสนา

คือทีแรกต้องตามดูก่อนเพราะว่า

อันรูปธรรมนามธรรมนั้นแสดงความไม่เที่ยงของตัวเองอยู่ทุกขณะ

ใครจะรู้หรือใครจะไม่รู้ก็ตามรูปธรรมนามธรรมก็ต้องเป็นอย่างนี้

แสดงความไม่เที่ยงของตัวเอง แต่ว่าผู้ต้องการที่จะรู้จะเห็นก็ต้องคอยตามดู

ตามดูรูปธรรมนามธรรมที่เป็นไปอยู่ของตัวเอง

ข้อสำคัญนั้นก็คือรูปธรรมนามธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม

และเมื่อตามดูอยู่ดั่งนี้ก็จะรู้จะเห็นแจ่มแจ้งขึ้นได้โดยลำดับ

เห็นแจ้งรู้จริงที่ได้ขึ้นโดยลำดับนี้เป็นวิปัสสนา ก็เป็นอันว่าเป็นวิปัสสนาในอนิจจลักขณะ

หรือในอนิจจธรรม ธรรมะที่เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

และแม้ว่าในการปฏิบัติทีแรกจะจับพิจารณาในอดีต

คือถึงรูปธรรมนามธรรมที่เป็นวิบากขันธ์ของตัวเองพิจารณา ดั่งนี้ก็ได้

(เริ่ม ๑๑/๑) แต่ว่าเมื่อได้ฝึกพิจารณาในอดีตและในอนาคต เห็นช่องทางความเป็นจริงดั่งนั้น

ก็จับพิจารณาในปัจจุบันที่จิต และอารมณ์ของจิต อันอาศัยอายตนะ

ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ รับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

และธรรมะคือเรื่องราวเป็นอารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ

ความเกิดดับที่เป็นปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง

เมื่อหูกับเสียงประจวบกันเกิดความรู้เสียง เสียงก็เข้ามาเป็นอารมณ์

เป็นสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง และเสียงที่เข้ามานี้ก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ

อย่างเสียงของถ้อยคำที่แสดงธรรม ซึ่งเป็นถ้อยคำแต่ละคำ แต่ละคำ

คำที่หนึ่งเข้ามาก็เกิด ผ่านไปก็ดับ คำที่สองก็เกิดดับ จึงถึงคำที่สาม เกิดดับ

จึงถึงคำที่สี่เป็นต้น จิตย่อมรับอารมณ์ได้คราวละหนึ่งเท่านั้น

แต่เสียงแต่ละคำนั้นก็เป็นอารมณ์อันหนึ่งๆ เสียงสิบคำก็เป็นสิบอารมณ์

เพราะฉะนั้นอารมณ์แรกๆก็ต้องดับไปๆ จึงรับอารมณ์หลังๆที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นก็คอยจับดูความผ่านเข้ามาของเสียง และความผ่านไปของเสียง

ก็เป็นเกิดดับ เป็นเกิดดับแต่ละคำของเสียงที่ได้ยินนั้น ถ้าเป็นถ้อยคำ

เพราะฉะนั้นเมื่อจับดูรูปธรรมนามธรรมที่เป็นปัจจุบันดั่งนี้

ก็จะมองเห็นความเกิดดับที่เป็นปัจจุบัน และก็พิจารณาว่าในอดีตก็เป็นเช่นเดียวกัน

ในอนาคตก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ก็เป็นอันว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ

ขณะที่เป็นอดีตก็เกิดดับ ขณะที่เป็นอนาคตก็เกิดดับ ขณะที่เป็นปัจจุบันก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้นสังขารกับกาลเวลาจึงต้องประกอบกัน

จับกาลเวลาขึ้นมาดูสังขารให้เห็นความเกิดดับ

หรือว่าจับสังขารขึ้นดูกาลเวลาให้เห็นความเกิดดับ ก็ใช้ได้

วิราคะ

เมื่อเห็นแจ้งรู้จริงขึ้นมาเป็นวิปัสสนาได้เพียงใด ก็ย่อมจะเป็นเหตุสำรอกจิต

จากความติดใจยินดี ตลอดถึงจากความยินร้าย อันเนื่องมาจากความยึดถือได้

ลักษณะที่สำรอกจิตได้จากความติดใจยินดี หรือจากความยินร้ายดั่งนี้เป็นวิราคะ

ก็ตามดูให้รู้ให้เห็นวิราคะที่ปรากฏขึ้น อันเป็นผลของความรู้แจ้งเห็นจริง

ในลักษณะหรือในธรรมะที่ไม่เที่ยงดังกล่าวนั้น

และเมื่อได้ตามดูให้รู้ให้เห็นวิราคะดังกล่าวได้

ก็จะทำให้ปรากฏเป็นความดับ ดับทุกข์ ดับเหตุก่อทุกข์คือตัณหา

คือจิตใจที่มีทุกข์เช่นความโศกเป็นต้น ความโศกนั้นก็จะหายไป ดับโศกได้

จิตใจที่เคยดิ้นรนไปต่างๆก็จะดับความดิ้นรนลงได้เป็นความสงบ

ก็ตามดูให้รู้ให้เห็นตัวความดับดังกล่าวนี้

เมื่อเห็นแจ้งรู้จริงขึ้นได้เพียงใด ก็จะปรากฏเป็นความสละคืน

คือจะมองเห็นความปล่อยวางลงได้ เคยยึดถืออะไรในสิ่งที่เป็นที่รักก็ดี

ยึดถืออะไรในสิ่งที่เป็นที่เกลียดชังก็ดี อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ต่างๆ

เช่นความโศกเป็นต้น เพราะความพลัดพรากก็ดี หรือให้เกิดความตื่นเต้นยินดีเพราะได้รับก็ดี

ก็จะปล่อยวางลงได้บรรดาสิ่งที่ยึดถือไว้นั้น เมื่อปล่อยวางลงไปได้ทุกข์ต่างๆก็ดับไปหมด

และจะมองเห็นความปล่อยวางนั้น เหมือนกำอะไรไว้ ยึดอะไรไว้ ก็ปล่อย

ก็ส่งคืนแก่เจ้าของเขาไป คือแก่ธรรมชาติธรรมดา

บุคคลเรานั้นเมื่อไม่ตามดูตามรู้ให้เห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง อันเป็นตัวธรรมดา

ย่อมจะมีความยึดถือต่างๆอยู่เป็นอันมาก จิตจะดิ้นรนไปต่างๆ

จะมีความทุกข์ร้อนไปต่างๆ จะมีความยึดถือต่างๆ น้อยหรือมาก

แต่ว่าเมื่อมาหัดปฏิบัติให้เห็นอนิจจะคือไม่เที่ยงในรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย

จะทำให้จิตใจนี้สำรอกความติดใจยินดีเพลิดเพลิน ตลอดจนถึงความยินร้ายลงได้เป็นวิราคะ

เมื่อเป็นวิราคะก็จะเป็นนิโรธะคือความดับ ดับทุกข์ร้อน ดับความดิ้นรนของจิตใจ

และจะปรากฏเป็นความปล่อยวาง เป็นความสละคืน เป็นอันว่าวางเรื่องต่างๆที่ยึดถือไว้

หมดเรื่องกันทีหนึ่ง ก็หมดทุกข์

เพราะฉะนั้นหลักปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ

อันนับเข้าในธรรมานุปัสสนา ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานแม้จะจับตั้งต้นด้วยอานาปานสติเท่านั้น

แต่เมื่อปฏิบัติให้เข้าหลักตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ภูมิปฏิบัติก็จะสูงขึ้นไปโดยลำดับ

เป็นกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาโดยลำดับ

ต้องถึงธรรมานุปัสสนานี้จึงจะพบกับความดับกิเลส

และความพ้นทุกข์ได้ ตามควรแก่ความปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats