ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

 

 

 

เทป006

ประมวลหลักปฏิบัติ *

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ข้อปฏิบัติข้อแรก ๒

ข้อปฏิบัติข้อ ๒ ๔

ฌานในเบื้องต้น ๕

ข้อปฏิบัติข้อ ๓ ๖

วิปัสสนาปัญญา ๗

ข้อปฏิบัติข้อสุดท้าย ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๗/๒ ครึ่งแรก ต่อ ๘/๑ ( File Tape 06 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ประมวลหลักปฏิบัติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้รู้ผู้เห็นได้ตรัสสั่งสอนไว้

ให้เราทั้งหลายพากันปฏิบัติธรรมะ ในที่แห่งหนึ่งได้ตรัสประมวลข้อที่พึงปฏิบัติไว้ทั้งหมด

โดยพระพุทธภาษิตที่แปลความว่า ท่านทั้งหลายจงมีความหลีกเร้นเป็นอาราม

คือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น ตามประกอบความสงบแห่งใจในภายใน

กระทำฌานคือความเพ่งพินิจมิให้เสื่อมไป ประกอบด้วยวิปัสสนาความเห็นแจ้ง

หรือปัญญาเห็นแจ้งพอกพูนเรือนว่างอยู่เถิด ดั่งนี้

ข้อปฏิบัติข้อแรก

พระพุทธานุสาสนี ที่แปลความมานี้เป็นอันประมวลหลักปฏิบัติไว้ทั้งหมด

ทุกๆคนผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาย่อมต้องปฏิบัติในหลักที่ทรงสั่งสอนไว้นี้

แม้ว่าจะตั้งแต่ในเบื้องต้นซึ่งดูเหมือนจะยังไม่เข้าหลักที่ทรงสั่งสอนไว้

แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องเริ่มเข้าหลักที่ทรงสั่งสอนไว้นั้นตั้งแต่ข้อแรก

คือมีความหลีกเร้นเป็นอารามคือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น

ข้อนี้ย่อมหมายถึงตั้งแต่สถานที่ ซึ่งเข้าไปปฏิบัติ

และข้อประกอบต่างๆของการที่จะเข้าไปสู่สถานที่ซึ่งปฏิบัตินั้นได้

ตลอดจนถึงความเพียรดังเช่น ต้องการจะปฏิบัติในบ้านของตนเอง ก็ต้องเข้าไปสู่ที่หลีกเร้น

อันเป็นกายวิเวกความสงัดกาย มาสู่ที่นี้ก็เป็นการมาสู่ที่หลีกเร้นเช่นเดียวกัน

หลีกก็คือว่าหลีกออกจากเครื่องพัวพัน แม้ว่าจะชั่วระยะหนึ่งเวลาหนึ่งก็ตามที

เร้นก็คือว่าสงบสงัด ตลอดจนถึงจิตใจต้องวางสิ่งที่เป็นภาระธุระทั้งหลายอย่างอื่น

และการที่จะหลีกเร้นดั่งนี้ได้ ก็จะต้องมีข้อประกอบเช่นว่า ศีล

คือความสำรวมกายวาจาใจของตนเอง แม้ว่าจะมิได้คิดรับหรือสมาทานศีลห้าศีลแปด

หรือศีลที่ยิ่งไปกว่าก็ตาม แต่ว่าเมื่อจะปฏิบัติก็จะต้องเริ่มมีความสำรวมกายวาจาใจ

กายวาจาใจต้องมีความสงบ ไม่วุ่นวาย ดั่งนี้ก็เป็นศีล

และก็จะต้องมีความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรียกว่าอินทรียสังวร

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่มีความระลึกรู้ในอันที่จะปฏิบัติ

จึงจะชักนำให้เข้ามาสู่สถานที่หลีกเร้น และกายวาจาใจของตนเองก็สงบ

มีสติสัมปชัญญะ อันเป็นอาการหลีกเร้น ซึ่งเป็นอาการของศีล ของอินทรียสังวร

ของสติ ของสัมปชัญญะ แม้ว่าในขั้นเริ่มต้นก็ตามที

เพราะฉะนั้น ความที่มีความหลีกเร้นเป็นอาราม คือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น

อันหมายถึงทั้งสถานที่ ทั้งกายวาจาใจของตนเอง มีอาการที่สงบสงัด

สถานที่ก็สงบสงัดเท่าที่จะมีได้ กายวาจาใจของตนเองก็สงบสงัด เป็นศีล เป็นอินทรียสังวร

เป็นสติสัมปชัญญะ และก็รวมเข้าซึ่งข้อความรู้ประมาณในโภชนะด้วย

คือในการบริโภคซึ่งเหมาะแก่การที่จะปฏิบัติ ดั่งนี้แหละคืออาราม หรือที่แปลว่าวัด

หรืออารามอันควรเป็นสถานที่ที่หลีกเร้น

อารามนี้ย่อมตั้งอยู่บนดินอันเป็นภูมิประเทศก็ได้ ตั้งอยู่ที่กายวาจาใจก็ได้ หรือตั้งอยู่ที่จิตนี้ก็ได้

ต้องประกอบกันเป็นอารามหรือเป็นวัด อันมีลักษณะที่หลีกเร้น มีลักษณะที่สงบสงัด

มีลักษณะที่เป็นศีล เป็นอินทรียสังวร เป็นสติ เป็นสัมปชัญญะ

เป็นความรู้ประมาณในการบริโภค อันรวมเข้าในข้อว่า ชาคริยานุโยค ด้วย

คือการประกอบความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่

ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงต้องมีอารามดังกล่าวนี้เป็นประการแรก

เป็นวิหารคือเป็นที่อยู่ของทั้งทางกาย และทั้งของทางจิตใจ ศีลก็รวมอยู่ในอาราม

อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ ชาคริยานุโยคการประกอบความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่

ความรู้ประมาณในโภชนาหารในภัตตาหาร สติสัมปชัญญะก็รวมอยู่ในคำว่าอารามนี้

อันนี้เป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา หรือของวัดวาอารามทั้งหลาย

ข้อปฏิบัติข้อ ๒

จึงมาถึงข้อที่ ๒ ตามประกอบความสงบของใจในภายใน

คำว่าในภายในนี้ก็หมายถึงว่าใจของตน

และแม้ใจของตนเองนี้ก็ต้องหมายถึงว่าใจของตนที่เป็นภายใน

เพราะว่าใจของตนนี้ เมื่อไม่สงบประกอบด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย

อันเป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ไปในกามบ้าง

เป็นพยาบาทความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายปองร้ายบ้าง

เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่าน รำคาญใจบ้าง

เป็นวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง

รวมความว่าฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย

จึงฟุ้งซ่านไปด้วยราคะ หรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย ดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่ไม่สงบในภายใน

ฟุ้งออกไปในภายนอกคือในอารมณ์ทั้งหลาย ในกิเลสทั้งหลายดังกล่าวนั้น

ฉะนั้น แม้ว่าจะอยู่ในอารามดังกล่าวมาในข้อ ๑ กายเข้ามาอยู่ได้จริง แต่ว่าจิตไม่เข้ามาอยู่

จิตยังออกไปนอกอาราม ฟุ้งไปในอารมณ์ และในกิเลสทั้งหลาย กองราคะหรือโลภะโทสะโมหะ

หรือในนิวรณ์ดังกล่าวมานั้น ก็เป็นอันว่าจิตยังไม่สงบ จิตยังไม่เป็นอาราม

จึงต้องปฏิบัติทำจิตให้สงบในภายใน คือสงบจากการคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย

อันเป็นที่ตั้งของกิเลสดังกล่าวนั้น นำมากำหนดให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน

เช่นในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือในข้อใดข้อหนึ่ง

ให้จิตไม่ฟุ้งออกไปในภายนอก ให้ตั้งสงบอยู่ในภายใน คือภายในสมถกรรมฐาน

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าปฏิบัติสมาธิหรือสมถกรรมฐาน

ฌานในเบื้องต้น

ซึ่งการปฏิบัติในทางสมาธินี้ก็ต้องอาศัยฌานคือความเพ่งพินิจ

เพ่งพินิจอารมณ์ของสมถกรรมฐาน เช่นเพ่งพินิจกาย เวทนา จิต ธรรม

หรือเพ่งพินิจข้อใดหนึ่งเช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

กายคตาสติ สติที่ไปในกาย หรือธาตุกรรมฐาน เพ่งพินิจกายนี้

ว่าประกอบหรือแยกออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

ทำฌานคือความเพ่งพินิจนี้มิให้เสื่อม คือให้อยู่ในภายใน เพ่งพินิจอยู่ในภายใน

ดั่งนี้คือฌานตั้งแต่เบื้องต้น

และเมื่อเพ่งพินิจอยู่ในสมถกรรมฐาน จนจิตสงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ

ก็เป็นฌานแห่งสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นสมาธิอย่างสูง

ดังที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน แต่อันที่จริงนั้นก็เป็นฌานมาตั้งแต่เบื้องต้น คือเพ่งพินิจ

จะต้องเพ่งพินิจอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐานดังกล่าว จึงจะได้ความสงบของใจในภายใน

ฉะนั้น การที่จะได้ความสงบของใจในภายในนั้น จึงต้องทำฌานคือความเพ่งพินิจ

ไม่ให้เสื่อมด้วย และในการที่จะทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้เสื่อมนี้

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ให้ไปเพ่งพินิจในภายนอก

เมื่อไปเพ่งพินิจในภายนอก คือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส

เพ่งพินิจรูปเสียงเป็นต้นที่เข้ามาทางตาทางหู อันเป็นที่ตั้งของกิเลส ก็เกิดกิเลส

กองราคะบ้างโทสะบ้างโมหะบ้าง หรือโลภโกรธหลง หรือนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนั้น

ดั่งนี้ก็คือว่าเพ่งพินิจอารมณ์ข้างนอกอันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้น

ฉะนั้นก็ต้องรักษาความเพ่งพินิจนี้ไม่ให้ออกไปเพ่งพินิจข้างนอก

กระทำให้เพ่งพินิจอยู่ข้างใน คือในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน

ในกายเวทนาจิตธรรม หรือในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม

ดั่งนี้ก็คือว่าทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือไม่ให้เสื่อม

เมื่อออกไปข้างนอกก็เรียกว่าเสื่อม นี่เป็นหลักปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นฌานคือความเพ่งพินิจในที่นี้จึงหมายดั่งนี้ ตั้งแต่เพ่งพินิจสมถกรรมฐาน

จนถึงเพ่งพินิจที่เป็นอัปปนาสมาธิ และเมื่อประกอบกันดั่งนี้ คือประกอบ

ตามประกอบความสงบของใจในภายใน ทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก

ไม่ให้เสื่อม จิตก็จะได้สมาธิในภายใน ได้ความสงบในภายใน

ข้อปฏิบัติข้อ ๓

จึงถึงข้อที่ ๓ ที่ตรัสสอนให้ประกอบด้วยวิปัสสนา คือความเห็นแจ้ง

หรือปัญญาที่เห็นแจ้งน้อมจิตที่สงบนั้นกำหนดพิจารณา แม้ตามข้อที่แสดงในสัญญาทั้ง ๑๐

อนิจจสัญญา กำหนดพิจารณาอายตนะภายในภายนอก หรือขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง

อนัตตสัญญา กำหนดพิจาณาอายตนะภายในภายนอก

หรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

อสุภสัญญา กำหนดพิจารณาร่างกายอันนี้ อันประกอบด้วยผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

ว่าไม่งดงาม เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ

อาทีนวสัญญา กำหนดพิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมาย

ปหานสัญญา กำหนดพิจารณาจิตนี้คอยละอกุศลวิตก

คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อันได้แก่กามวิตก ตรึกนึกคิดในกาม

พยาบาทวิตกตรึกนึกคิดในทางพยาบาทปองร้าย วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดในทางเบียดเบียน

หากความตรึกนึกคิดนี้ผุดขึ้นมาก็ละเสียไม่รับเอาไว้ ทำให้สงบไป ให้หายไป

วิราคสัญญา กำหนดพิจารณาวิราคธรรม ธรรมะที่สำรอกจิตจากกิเลส

ตั้งแต่ในเบื้องต้นจนถึงเบื้องสูง คือสำรอกราคะโทสะโมหะเหล่านี้เอง

ไม่ให้ราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจ

(เริ่ม ๘/๑) เมื่อราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจได้ จิตใจนี้ที่เปรียบเหมือนว่าน้ำที่ใสสะอาด

ไม่มีสี ก็กลายเป็นมีสี เป็นสีเขียว สีแดง สีเหลืองอะไรเป็นต้น คือกิเลสต่างๆ

แต่เมื่อปฏิบัติฟอกจิตของตนมาโดยลำดับ แม้ในสายปฏิบัติที่ได้แสดงมา

คือมีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดีเป็นอาราม ตามประกอบความสงบของใจในภายใน

ทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือให้อยู่ในภายใน

เพ่งพินิจอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน และประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง

คือน้อมจิตที่สงบนี่แหละมากำหนดพิจารณา ตั้งต้นแต่อายตนะภายในภายนอก

ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ร่างกายนี่เป็นของไม่งดงาม เต็มไปด้วยของปฏิกูล

ประกอบไปด้วยโทษโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากมาย

ตรวจดูจิตหากอกุศลวิตกอันใดอันหนึ่งผุดขึ้นมาก็ไม่รับเอาไว้ สงบไปเสีย

ก็เป็นการปฏิบัติฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาดจากอารมณ์และกิเลสโดยลำดับ

วิปัสสนาปัญญา

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็กำหนดดูให้รู้จักจิตอันนี้เองที่บริสุทธิ์

คือเป็นจิตที่สำรอก ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภโกรธหลงไปได้โดยลำดับ น้อยหรือมาก

น้อยก็แปลว่าบริสุทธิ์น้อย มากก็บริสุทธิ์มาก เป็นตัววิราคะคือเป็นตัวความสำรอก

น้อยหรือมาก ดูให้รู้จักตัววิราคะคือตัวความสำรอกนี้ที่จิตเอง ก็เป็น วิราคสัญญา

ต่อจากนั้นก็ นิโรธสัญญา กำหนดหมายความดับ ก็ดับกิเลสดับทุกข์นี่แหละ

เพราะเมื่อสำรอกออกได้เท่าใด ก็ดับได้เท่านั้น ดับกิเลสได้เท่านั้น ดับทุกข์ได้เท่านั้น

ดูให้รู้จักตัวนิโรธคือตัวความดับ ดับกิเลสและดับทุกข์ในจิตนี้เอง จะน้อยก็ตาม

ก็ให้รู้จักว่าเมื่อปฏิบัติก็จะต้องได้ ได้ความดับกิเลสได้ดับทุกข์น้อยหรือมาก ให้รู้จักเอาไว้

และก็ปฏิบัติต่อไป คอยระวังจิตไม่ให้ยินดีในโลกทั้งหมด

และปฏิบัติต่อไปคอยระวังจิตมิให้พอใจยินดีในสังขารทั้งหมด

สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด และรวมเข้ามาก็กำหนดลมหายใจเข้าออก

ซึ่งเมื่อปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกประกอบด้วยสัญญาเหล่านี้

ก็ย่อมจะได้ข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรมไปโดยลำดับ

จิตก็จะพบกับความสำรอกและความดับยิ่งๆขึ้นไป ดั่งนี้

ก็ชื่อว่าเป็นการประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง หรือรู้แจ้งเห็นจริง

แต่ว่าการปฏิบัตินั้นจะไปมุ่งว่าจะต้องละกิเลสได้ จะต้องสำเร็จเมื่อนั่นเมื่อนี่นั้นไม่ได้

ผู้ปฏิบัติก็มีหน้าที่ปฏิบัติไป น้อยหรือมากก็ตาม ก็ย่อมจะได้ไปโดยลำดับ

และขั้นตอนของการปฏิบัติก็จะเลื่อนขึ้นไปเอง ไม่ต้องไปใช้ตัณหาอยากได้

ถ้าใช้ตัณหาอยากได้อยากถึงแล้วย่อมจะไม่ได้ เพราะนั่นเป็นตัณหา ซึ่งคอยขัดขวาง

ข้อปฏิบัติข้อสุดท้าย

เพราะฉะนั้น จึงถึงข้อสุดท้ายที่ตรัสสอนให้พอกพูนเรือนว่าง

อันหมายความว่า ให้ผู้ปฏิบัตินั้นพอกพูนคือกระทำอยู่บ่อยๆ

หาโอกาสที่จะหลีกเร้นเข้าไปสู่เรือนว่างคือที่ว่าง แล้วก็ทำกายวาจาใจนี้ให้ว่าง ทำจิตนี้ให้ว่าง

ว่างจากอารมณ์ ว่างจากกิเลส ว่างจากกองทุกข์ไปโดยลำดับ

ผลของการปฏิบัติก็ได้เอง ได้มาโดยลำดับ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

จิตตานุปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บ่วงของมาร ๓

สมาธิสงบบ่วงมาร ๔

ปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา ๕

จิตตานุปัสสนา ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๘/๑ ต่อ ๘/๒ ( File Tape 06 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

จิตตานุปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันจิตใจนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบุคคล

เป็นต้นเหตุหรือต้นทางของความดีความชั่วทุกอย่าง ของสุขทุกข์ทั้งปวง

ตลอดถึงของมรรคผลนิพพาน และของความสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

แต่จิตใจนี้ที่ยังมิได้อบรม ย่อมดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก

เหมือนดั่งที่ทุกๆคนย่อมได้ประสบอยู่ ซึ่งจิตใจของตนเองอันมีลักษณะดังกล่าว

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงลักษณะของจิตใจที่ยังมิได้รับอบรมไว้ดังกล่าวนั้น

แต่ก็ได้ทรงแสดงต่อไปอีกว่า บุคคลผู้ทรงปัญญาย่อมปฏิบัติกระทำจิตของตนให้ตรงได้

เหมือนอย่างนายช่างศรดัดลูกศร และได้ทรงแสดงต่อไปอีกว่าจิตย่อมดิ้นรน

แม้ว่าผู้ปฏิบัติจะยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน คือสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน

ก็ยังเป็นเหมือนอย่างปลาที่จับยกขึ้นจากที่อยู่คือน้ำ วางไว้บนบก

ปลานั้นก็ย่อมดิ้นรนเพื่อที่จะลงไปสู่น้ำ จิตก็เป็นเช่นนั้น

แม้ว่าจะยกจิตขึ้นจากอารมณ์อันเป็นบ่วงของมาร ซึ่งเป็นที่อยู่ของจิตอันยังมิได้รับอบรม

ขึ้นสู่กรรมฐานดังกล่าว เพื่อละบ่วงของมารนั้น ก็ย่อมดิ้นรนเช่นนั้น

แต่ก็ได้ตรัสแล้วว่าผู้ทรงปัญญาย่อมทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศร

เพราะแม้ว่าจิตขณะที่ยกขึ้นสู่กรรมฐาน ยังดิ้นรนอยู่

แต่เมื่อมีความเพียร มีความรู้ตัว มีสติที่ระลึกได้อยู่ และคอยกำจัดความยินดีความยินร้าย

หากมีธรรมะเหล่านี้ค้ำจุนอยู่ในที่สุดก็จะทำจิตให้สงบได้

เหมือนอย่างปลาที่จับยกขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก แม้ทีแรกปลาจะดิ้น

แต่เมื่อเหนื่อยแรงเข้าก็จะหยุดดิ้นไปโดยลำดับ จนถึงนิ่งสงบ จิตก็เป็นเช่นนั้น

บ่วงของมาร

การที่ยกจิตขึ้นสู่กรรมฐานนั้นก็เพื่อละบ่วงของมาร

อันบ่วงของมารนั้นก็ได้แก่อารมณ์ และกิเลสซึ่งตั้งอยู่บนอารมณ์ที่ปรากฏ

ก็เป็นกองกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ อันเป็นกิเลสที่กลุ้มกลัดอยู่ในจิต

หรือที่เรียกว่าทำจิตให้กลัดกลุ้ม จิตที่กลัดกลุ้มต่างๆก็เพราะมีนิวรณ์นี้เอง

อันแปลว่าเป็นเครื่องห้ามเครื่องกั้น คือกั้นจิตไว้ ห้ามจิตไว้มิให้สงบ และปิดทางของปัญญา

ทำให้เป็นผู้มีใจบอด คือมีใจที่ไม่รู้ตามเป็นจริง เป็นใจที่หลงถือเอาผิดต่างๆ

เพราะฉะนั้น อารมณ์และกิเลสเหล่านี้จึงเรียกว่าบ่วงของมาร

คือมารเหวี่ยงบ่วงอันได้แก่อารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลสเข้ามาสู่จิต

และมารก็เข้าสู่จิต ทรงจิตเอาไว้ คือซึมซาบอยู่ในจิต

พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่าบ่วงของมารนั้นได้แก่อารมณ์

คือเรื่องต่างๆที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ

จิตที่มิได้อบรมย่อมรับบ่วงของมารเข้ามาคล้องเอาไว้ คือรับเข้ามาเป็นสัญโญชน์

ผูกจิตไว้ ประกอบจิตไว้ และมารก็เข้ามากับบ่วงที่เหวี่ยงเข้ามาคล้องใจไว้นั้น

จึงปรากฏเป็นตัวกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะคือความหลงบ้าง

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานไปต่างๆ อันมีลักษณะดังกล่าวมาข้างต้น

ว่าจิตที่มิได้รับการอบรมย่อมดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

ความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์

ตามที่ใคร่ที่ปรารถนา จึงเรียกว่ากามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง

อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทะยานไปก็เป็นกามตัณหา อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ทะยานไปก็เป็นภวตัณหา

และเมื่อประสบความขัดข้อง ก็ดิ้นรนทะยานไปเพื่อไม่ให้เป็นนั่นเป็นนี่ ในสิ่งที่ไม่อยากจะได้

ไม่อยากจะเป็น ตลอดจนถึงในบุคคลและสิ่งที่ขัดขวางต่อการที่จะได้ต่อการที่จะเป็นทั้งปวง

ก็เป็นความดิ้นรนทะยานไปเพื่อทำลายล้างนั้นเอง ก็เป็นวิภวตัณหา

เหล่านี้คือมาร ซึ่งเข้ามากับบ่วงของมารอันได้แก่บรรดาอารมณ์ทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น

เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงเป็นจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก

แต่เมื่อผู้ทรงปัญญามาปฏิบัติทำจิตให้ตรง ก็คือให้สงบ และให้ดำเนินไปตรงทาง

ด้วยการปฏิบัติในสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

โดยตรงก็เพื่อจะละบ่วงของมารพร้อมทั้งมารโดยที่กล่าวนั้น

สมาธิสงบบ่วงมาร

โดยที่จิตซึ่งปฏิบัติในกรรมฐานดังกล่าวย่อมได้สมาธิ ได้ปัญญา

ตลอดจนถึงได้ศีลเป็นพื้นฐาน ได้สมาธิก็เพื่ออบรมปัญญา

เพราะเมื่อได้สมาธินั้นก็จะสงบจากอารมณ์ซึ่งเป็นบ่วงของมาร

พร้อมทั้งตัวมารคือบรรดากิเลสตัณหาดังกล่าว ซึ่งเรียกว่านิวรณ์บ้าง

เรียกว่าเป็นเครื่องทำจิตให้กลุ้มกลัดปล้นจิตบ้าง และเมื่อจิตสงบได้ดั่งนี้ก็จะเป็นจิตที่ผุดผ่อง

เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาคือความเป็นกลาง ไม่กระสับกระส่าย

ลำเอียงไปด้วยความชอบความชังความหลงทั้งหลาย จึงเป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงาน

เมื่อน้อมจิตนี้ไปเพื่อจะรู้ในเรื่องอะไร ก็ย่อมจะรู้ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงสามารถทำจิตให้ตรงได้

ที่เปรียบเหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศรดังกล่าวแล้ว สามารถที่จะทำจิตให้สงบไม่ดิ้นรน

เหมือนปลาที่ยกขึ้นมาวางบนบกใหม่ๆ ที่ดิ้นรนไปเพื่อจะลงน้ำ

และจิตที่ดิ้นรนไปนั้นก็ดิ้นรนไปเพื่อจะลงไปสู่น้ำคือบ่วงมารนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตมีความสงบ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา จึงเป็นจิตที่ชื่อว่าได้รับอบรม

ย่อมไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ไม่รักษายากไม่ห้ามยาก คือรักษาง่ายห้ามง่าย

ปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา

การปฏิบัติในสติปัฏฐานมาตั้งแต่ขั้นกายานุปัสสนา

ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อละบ่วงของมาร ทำให้จิตสงบขึ้น ผ่องใสขึ้น

และเมื่อมาปฏิบัติต่อไปในเวทนานุปัสสนา กำหนดรู้เวทนาที่บังเกิดขึ้น

ทั้งอย่างหยาบอย่างละเอียด หรือที่เรียกว่าภายในภายนอก

ตลอดจนถึงกำหนดเห็นเกิดเห็นดับของเวทนา เวทนาก็ไม่ปรุงจิต

เพราะว่าบ่วงของมารที่เรียกว่าอารมณ์นั้นก็แยกออกได้ว่า เป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนกาย

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงเรื่องของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านั้น

ซึ่งมารโยนเข้ามาจากภายนอก เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

ครั้นเมื่อจิตรับอารมณ์ก็ย่อมเกิดเวทนาขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เมื่อเป็นสุขเวทนาก็เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ทุกข์เวทนาก็เป็นที่ตั้งของโทสะ

อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆก็เป็นที่ตั้งของโมหะ

เพราะฉะนั้น ตัวเวทนานี้เองซึ่งนับเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ นี่แหละ จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

เป็นหัวต่อของกิเลสดังที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท กำหนดเห็นเกิดเห็นดับ

มีสติมิให้เวทนามาปรุงจิตได้ ก็เป็นอันว่าเป็นการป้องกันกิเลสตัณหามิให้บังเกิดขึ้น

อารมณ์เข้ามาทำให้เกิดเวทนา เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็สงบได้ เป็นอุเบกขาคือเป็นกลางได้

และเป็นจิตที่ปภัสสรคือผุดผ่อง เป็นจิตที่อ่อน เป็นจิตที่ควรแก่การงาน

คือควรแก่ที่จะปฏิบัติทางปัญญาให้สะดวกขึ้นต่อไป

จิตตานุปัสสนา

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงถึงขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ตรัสสอนให้ทำสติรู้ทั่วถึงจิต

จิตที่ได้อบรมมาแล้วในขั้นกายในขั้นเวทนาเป็นจิตที่สงบ

อารมณ์ไม่เข้ามาเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา

แต่ว่าจิตที่เครียดเกินไป ขาดความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ก็อาจจะเป็นจิตที่หดหู่ไปได้

เป็นจิตที่ไม่ผาสุข รู้สึกหดหู่ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องปฏิบัติทำจิตให้บังเทิง

โดยที่พิจารณาปฏิบัติให้จิตได้ปีติได้สุข แต่ว่าไม่ให้ปีติไม่ให้สุขนั้นมาปรุงจิตให้เป็นกิเลส

แต่ให้จิตได้ปีติได้สุข

เหมือนอย่างที่ปฏิบัติทำให้ร่างกายได้รับความผาสุขจากปัจจัยเครื่องอาศัย

คือที่อยู่อาศัย ผ้านุ่งห่ม อาหาร หยูกยาแก้ไข้เป็นต้น

แม้พระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเอง ก็ต้องทรงอาศัยปัจจัย ๔ นี้

เพื่อให้ร่างกายมีความผาสุข

จิตก็เช่นเดียวกันต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้ผาสุข

ที่ให้เกิดปีติสุขจากสมาธิ เพราะสมาธินั้นทำให้ได้ปีติได้สุข

จากวิปัสสนาก็ทำให้ได้ปีติได้สุขเช่นเดียวกัน แต่ละเอียดกว่า ก็ให้มีปีติมีสุขนี้หล่อเลี้ยง

แต่ไม่ให้ปีติให้สุขนี้มาเป็นเครื่องย้อมใจให้ติดให้ยินดี

ให้จิตบันเทิง จึงตรัสสอนให้ทำสติทำจิตให้บันเทิง

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้มีสติทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิยิ่งขึ้น จิตก็ย่อมจะได้ความสงบยิ่งขึ้น

ความปภัสสรคือผุดผ่องยิ่งขึ้น

อุเบกขาคือความที่มีจิตเป็นกลางวางได้ยิ่งขึ้น คือวางความยินดีความยินร้าย

วางอารมณ์ วางกิเลสทั้งหลายได้ยิ่งขึ้น และก็ให้ปฏิบัติทำสติคอยเปลื้องจิตไว้ด้วย

มิให้ติดอยู่ในสมาธิด้วย มีอารมณ์อะไรเข้ามาก็ต้องคอยเปลื้องออกไป

คือต้องคอยระมัดระวังบ่วงของมาร ที่คอยจ้องอยู่ ที่จะโยนบ่วงเข้ามาเกี่ยวจิต

ต้องคอยเปลื้องจิตไว้ไม่ให้บ่วงของมารเข้ามาเกี่ยวได้ ไม่ให้บังเกิดกิเลสดึงเอาไปได้

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำสติรู้ทั่วถึงจิตของตน

ปฏิบัติคอยรักษาจิตให้มีความบันเทิงชื่นบาน ปฏิบัติทำจิตให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้น

และปฏิบัติคอยเปลื้องจิตดังกล่าว ปฏิบัติดั่งนี้หายใจเข้าหายใจออกอยู่

ก็เป็นอันปฏิบัติในอานาปานสติในขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

 

 

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats