ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป165

การปฏิบัติในจิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สมถะ วิปัสสนา ๓

ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิปัญญา ๔

สติปัฏฐาน ๕

ความมุ่งหมายของคำว่าสติ ๖

ที่ตั้งของสติ ๗

กัณฑ์เริ่มต้น ดีเยี่ยม

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย ไม่เสียความ

ม้วนที่ ๒๐๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐๙/๒ ( File Tape 165 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติในจิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

วันนี้เป็นวันเริ่มแสดงอบรมปฏิบัติทางจิตในพรรษกาลคือในพรรษานี้

จึงขอให้เราทั้งหลายได้ตั้งใจปฏิบัติอบรมจิตกันให้มากตลอดพรรษกาล

ทั้งที่มาฟังและปฏิบัติกันในที่นี้ตามกำหนด ทั้งที่อยู่ที่บ้าน หรือที่อยู่ที่กุฏิของตนๆ

การปฏิบัติอบรมจิตนี้เรียกตามภาษาบาลีว่าจิตตภาวนา แปลว่าการอบรมจิต

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่จิตนี้เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา

แต่ว่าจิตนี้ก็ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรมาได้

บุถุชนคือผู้ที่มีกิเลสหนา ซึ่งมิได้สดับตรับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้อริยะคือผู้ประเสริฐ

ย่อมไม่รู้จักจิตนั้นตามความเป็นจริง จึงปล่อยให้จิตเศร้าหมอง

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงกล่าวว่าจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ย่อมไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับนั้น

ส่วนอริยบุคคลคือบุคคลผู้ประเสริฐ หรือบุคคลผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ

ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักจิตนั้นตามเป็นจริง

ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตที่จรเข้ามาทั้งปวงได้

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่าจิตตภาวนาการอบรมจิต

ย่อมมีแก่อริยบุคคลผู้ที่ได้สดับตรับฟังแล้ว ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

จึงสมควรที่จะสดับตรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ที่พระอาจารย์ทั้งหลายได้สั่งสอน

หรือที่เขียนเป็นหนังสือ ก็จับอ่านให้มีความเข้าใจในวิธีปฏิบัติอบรมจิตอันเรียกว่าจิตตภาวนา

และปฏิบัติให้สม่ำเสมอด้วยกันทุกๆวัน วันละช้าบ้างเร็วบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง

ซึ่งแม้จะน้อยก็ยังดีกว่าไม่ปฏิบัติเสียเลย 

สมถะ วิปัสสนา

จิตตภาวนาการอบรมจิตนั้น

พระอาจารย์ได้อธิบายว่าได้แก่การปฏิบัติในสมถะกับวิปัสสนา

การปฏิบัติในสมถะนั้นก็คือการปฏิบัติทำจิตให้สงบด้วยสมาธิ

คือความตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว หรือว่าการใช้พิจารณาเพื่อทำจิตให้สงบ

ส่วนวิปัสสนานั้นก็ได้แก่การอบรมให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในเบ็ญจขันธ์ ที่ย่อลงเป็นนามรูป

และวิปัสสนาภูมิ คือข้อที่เป็นที่ตั้งเป็นภูมิของวิปัสสนาตามที่ได้ตรัสสอนไว้ต่างๆ

ก็จะรวบรวมเข้าในขันธ์อายตนะธาตุเป็นต้น 

สมถะและวิปัสสนานี้ ก็ได้สมาธิและปัญญาในไตรสิกขานั้นเอง

ไตรสิกขานั้นก็ตามที่ทราบกันอยู่แล้วว่าได้แก่ สีลสิกขา สิกขาคือศีล

จิตตสิกขา สิกขาคือจิต อันหมายถึงการอบรมจิตให้เป็นสมาธิ

หรือการอบรมจิตให้สงบอันเรียกว่าสมถะ

ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา ก็ได้แก่วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าว

และเรียกกันทั่วไปก็คือศีลสมาธิปัญญานั้นเอง ทั้ง ๓ นี้พึงปฏิบัติไปด้วยกัน

ตั้งต้นแต่ปฏิบัติในศีล ดังที่ศีลของคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๘

ศีลของบรรพชิตคือผู้บวชก็คือศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุ

จำนวนตามที่กล่าวมานี้เป็นการยกขึ้นตามจำนวนในหมวดของศีลที่เป็นตัวหลักสำคัญ

แต่ที่จริงนั้นการปฏิบัติในศีล ยังมีข้อปลีกย่อยออกไปอีกมาก ซึ่งล้วนแต่ทำให้กายวาจา

พร้อมทั้งจิตใจสงบ เรียบร้อยดีงาม เป็นปรกติ จากกิเลสทั้งหลายนั้นเอง

อันอาจจะกล่าวสรุปเข้ามาเป็นคำสั้นๆ ซึ่งใช้ได้ทั้งบรรพชิตและทั้งคฤหัสถ์

ก็คือความสำรวมกายวาจาใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ซึ่งเป็นลักษณะของศีล

ศีลดังที่กล่าวมานี้พึงปฏิบัติให้เป็นเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของกุศลธรรมอื่นๆยิ่งๆขึ้นไป

ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิปัญญา

ท่านจึงเปรียบศีลเหมือนอย่างแผ่นดิน

อันเป็นที่ยืนของคนสัตว์ทั้งหลายในโลก เป็นที่ตั้งของทุกๆสิ่งในโลก

แม้ของคนสัตว์ทั้งหลายเอง ก็เป็นที่รองรับความดำรงอยู่ของร่างกายในอิริยาบถทั้งปวง

เพียงแต่ยกยืนเข้ามาเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่ที่จริงนั้นเป็นที่รองรับทั้งหมด

เมื่อมีแผ่นดินเป็นที่รองรับดั่งนี้ สิ่งทั้งหลายจึงได้เกิดขึ้นตั้งอยู่ในโลกได้ มีขึ้นในโลกได้

ทั้งที่เป็นไปโดยธรรมชาติเช่นภูเขาต้นไม้ หรือทั้งที่ก่อสร้างขึ้นเช่นบ้านเรือน

ตลอดจนถึงบ้านเมืองเป็นต้น

ฉันใดก็ดี เมื่อปฏิบัติมีศีลเป็นภาคพื้นอยู่

ก็เป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายที่จะปฏิบัติต่อไป คือสมาธิและปัญญา

ตลอดจนถึงวิมุติความหลุดพ้น ยกมาเป็นตัวอย่างที่เป็นข้อที่เป็นหลักๆ

เพราะฉะนั้นบัดนี้ก็กล่าวได้ว่าเราทั้งหลายต่างได้มีศีลที่ปฏิบัติกันอยู่

สำหรับเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส ก็ปฏิบัติอยู่ในศีลสำหรับคฤหัสถ์ฆราวาส

เป็นภิกษุสามเณร ก็ปฏิบัติอยู่ในศีลของภิกษุสามเณร

ซึ่งรวมเข้ามาก็คือความสำรวมกายวาจาใจให้สงบเรียบร้อยดีงาม

ดังที่เราทั้งหลายได้พากันนั่งอยู่อย่างสงบในขณะนี้ ซึ่งมีความสงบทั้งทางกาย

ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ จึงเป็นที่ตั้งของสมาธิและปัญญาที่จะปฏิบัติกันต่อไป

และในการปฏิบัติอบรมจิตนี้ ก็มุ่งถึงสมาธิและปัญญาดังกล่าวนั้น

สติปัฏฐาน

ในวัดนี้ได้แสดงธรรมะที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางจิต

อันเรียกว่าจิตตภาวนาดังกล่าว ทั้งทางสมาธิและทางปัญญา

โดยปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในสติปัฏฐานสูตร หรือในมหาสติปัฏฐานสูตร

อันเป็นที่รวมหลักปฏิบัติไว้เป็นอันมาก ทั้งฝ่ายสมถะและทั้งฝ่ายวิปัสสนา

คำว่าสติปัฏฐานนั้น สติก็ได้แก่สติ ที่ท่านให้คำแปลไว้ที่ใช้ทั่วไปว่าความระลึกได้

คือความตั้งจิตระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า สัญญา คือจำได้

และระลึกได้ถึงการที่จะทำคำที่จะพูดเรื่องที่จะคิดในปัจจุบัน คือ ก่อนที่จะทำ

ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิดอะไร ก็นึกได้ว่าจะทำอะไรจะพูดอะไรจะคิดอะไร

กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ก็ระลึกได้ว่ากำลังทำกำลังพูดกำลังคิด

ทำพูดคิดแล้ว ก็นึกระลึกได้ว่าทำพูดคิดไปแล้ว

และมิใช่เพียงระลึกได้ดังกล่าวนี้เท่านั้น ยังระลึกได้ หรือว่าระลึกรู้ด้วยว่า

การที่จะทำจะพูดจะคิด การที่กำลังทำกำลังพูดกำลังคิด หรือการที่ทำพูดคิดไปแล้วนั้น

ดีหรือชั่ว เป็นกุศลคือเป็นส่วนดี เป็นความดี เป็นกิจของคนฉลาด

หรือเป็นอกุศล เป็นความชั่ว เป็นส่วนชั่ว เป็นกิจของคนไม่ฉลาด

และก็ระลึกได้ว่าควรทำ หรือไม่ควรทำ อย่างถูกต้อง

เมื่อระลึกได้อย่างนี้ สิ่งที่จะทำจะพูดจะคิด ถ้าเป็นส่วนชั่วก็เว้นเสียไม่ทำ ถ้าเป็นส่วนดีก็ทำ

ถ้ากำลังทำพูดคิดอยู่ระลึกได้ว่าเป็นส่วนชั่วก็ต้องหยุด ไม่ทำไม่พูดไม่คิดต่อไป

ถ้าเป็นส่วนดีก็ทำพูดคิดต่อไป

หรือว่าเมื่อระลึกได้ภายหลัง ว่าที่ทำที่พูดที่คิดไปแล้วเป็นส่วนชั่วก็ไม่ทำต่อไป

ถ้าเป็นส่วนดีก็ทำต่อไป 

ความมุ่งหมายของคำว่าสติ

ความระลึกได้อย่างนี้รวมอยู่ในคำว่าสติ

เพราะฉะนั้น สตินี้จึงต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย คือความรู้ ซึ่งต้องอาศัยความระลึก

หรือความนึกคิดนำ ก็จะได้ปัญญาประกอบไปด้วยกัน แต่ก็รวมเข้าในคำว่าสติ

เพราะฉะนั้น สติในความหมายดังกล่าวนี้ ท่านจึงเรียกว่าเป็น ...

( เริ่ม ๒๐๙/๒ ) ระลึกได้เป็น สติเนปักกะ คือเป็นสติที่เป็นธรรมะ เขาเรียกรักษาตนให้สวัสดี

จากความชั่วร้ายผิดพลาดทั้งหลาย จึงเป็นความมุ่งหมายของคำว่าสติ

ซึ่งทุกคนจะต้องมีสติอยู่ด้วยกันดังกล่าวนี้ มากหรือน้อยทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงสามารถละชั่วทำดีได้ สามารถที่จะประกอบกิจการทั้งหลายให้ถูกต้องได้

และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติทางสติที่กล่าวมานี้ไว้

ในพระสูตรที่เรียกว่าสติปัฏฐานสูตร โดยให้ปฏิบัติหัดตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม

คำว่าตั้งนั้นมาจากคำว่า ปัฏฐาน รวมกับสติเป็น สติปัฏฐาน

ก็แปลว่าตั้งสติ หรือการตั้งสติ มุ่งถึงการปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก็แปลว่า ตั้งสติ ถ้าหมายถึงตั้งสติได้ก็แปลว่า สติตั้ง

เพราะฉะนั้น คำว่าสติปัฏฐานเมื่อมุ่งถึงทางปฏิบัติ

หรือการปฏิบัติเพื่อตั้งสติ สติปัฏฐานก็แปลว่า ตั้งสติ

แต่ถ้าหมายถึงสติตั้งได้ ปฏิบัติได้สำเร็จตั้งสติได้ สติปัฏฐานก็แปลว่า สติตั้ง

เพราะฉะนั้นคำนี้จึงมีคำแปลง่ายๆดั่งนี้

ที่ตั้งของสติ

และในการที่จะปฏิบัติตั้งสตินั้นก็จะต้องมีที่ตั้งของสติ ว่าจะตั้งสติไว้ที่ไหน

สติที่เป็นตัวกำหนดคือเป็นตัวระลึก เป็นตัวกำหนดหรือกำหนดนั้น จะตั้งไว้ที่ไหน

จะกำหนดอะไร ถ้ามุ่งถึงที่ตั้งของสติดั่งนี้ สติปัฏฐานก็แปลว่า ที่ตั้งสติ

ที่ตั้งสติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่ามีกี่ข้อ

คือกายนี้ข้อหนึ่ง เวทนาข้อหนึ่ง จิตข้อหนึ่ง ธรรมะอีกข้อหนึ่ง

และมีอธิบายที่ทรงอธิบายไว้ ขยายความออกไปอีกมากประการ

สำหรับในครั้งแรกนี้ ก็ขอให้กำหนดลมหายใจเข้าออกก่อน อันนับว่าเป็นกายข้อหนึ่ง

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ และจะใช้วิธีง่ายๆที่ท่านสอนกันมา และปฏิบัติกันอยู่มาก

ก็คือหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ให้จิตรวมกำหนดอยู่ที่หายใจเข้าหายใจออก

พร้อมกับหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

จริต ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ตัณหาจริต ๒ ๒

ทิฏฐิจริต ๒ ๓

ทางไปอันเอก ๔

ข้อปฏิบัติที่ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก ๕

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๒๐๙/ ครึ่งหลัง จบในหน้าเดียว ( File Tape 165 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

จริต ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐาน ๔ ก็คือตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตและธรรม ที่มี ๔ ข้อ

พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายว่า เพราะจริตอันหมายถึงความประพฤติที่เป็นพื้นของจิตใจ

ดังที่เรียกชื่ออื่นว่า อัธยาศัย นิสสัย ย่อมมี ๔ อย่าง คือ

๑ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ๒ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง

๓ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ๔ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อ เพื่อผู้มีจริตทั้ง ๔ นั้น จักได้ยกขึ้นปฏิบัติ

กำหนดพิจารณาให้เหมาะแก่จริตของตน

ตัณหาจริต ๒

บุคคลจำพวกที่เรียกว่าตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น

ก็คือมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

เพื่อที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อที่จะให้สิ่งและภาวะที่ไม่ชอบใจไม่พอใจหมดสิ้นไป

ดั่งที่เรียกว่าที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือไม่เป็นในภาวะที่ไม่พอใจไม่ชอบใจ

บุคคลที่เป็นตัณหาจริตดั่งที่กล่าวมานี้อย่างหยาบ ดังที่ติดอยู่ในกาย

ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในกาย ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณากาย

ส่วนบุคคลที่เป็นตัณหาจริตคือมีความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้นอย่างละเอียด

ก็ติดในเวทนา เช่นต้องการสุขเวทนาเป็นสำคัญ

ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณาเวทนา

ทิฏฐิจริต ๒

ส่วนบุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตนั้น ทิฏฐิก็คือความเห็น

อันหมายถึงความเห็นยึดถือที่ไม่ถูกต้อง

ดั่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา อย่างหยาบ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต

ส่วนที่มีทิฏฐิคือความเห็นอย่างละอียด ยึดถืออย่างละเอียด

แต่ว่าเป็นความยึดถือมั่นในธรรมะที่ผิด เช่นยึดถือในขันธ์ ๕ หรือนามรูป

ว่าตัวเราของเราเป็นต้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณาในสติปัฏฐานหมวดธรรมะ

พระอาจารย์ได้แสดงว่า เพราะบุคคลในโลกมีจริตต่างๆกันเป็น ๔ อย่างดังกล่าวมานี้

พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ

สำหรับให้เหมาะแก่ผู้ที่มีจริตทั้ง ๔ นี้ ได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะแก่จริตของตน

อีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้โดยทั่วๆไปว่า ทุกๆคนย่อมมีจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน

เพราะต่างก็มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างก็มีความเห็นเป็นเหตุยึดถือต่างๆ

จึงอาจที่จะจับปฏิบัติได้ทั้ง ๔ ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือข้อกาย

ต่อมาข้อเวทนา ต่อมาข้อจิต ต่อมาข้อธรรม

อีกอย่างหนึ่งได้มีพระพุทธภาษิตแสดงถึงการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้เนื่องกัน

เช่น ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกเมื่อกำหนดได้

ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองสู่ขั้นเวทนา ก็จับกำหนดเวทนา

ต่อไปก็เลื่อนขึ้นไปสู่ขั้นจิต ก็จับกำหนดจิต

ต่อไปก็เลื่อนเข้าไปสู่ขั้นธรรม ก็จับพิจารณาธรรม คือละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ

แม้จะตั้งต้นด้วยข้อใดข้อหนึ่ง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าว

ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองตามลำดับ

ทางไปอันเอก

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงอาจที่จะปฏิบัติ จับปฏิบัติตั้งแต่ขั้นต้นตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ได้มีแสดงไว้ในต้นพระสูตรว่าเป็นทางไปอันเอก หรือทางไปอันเดียว

ที่แม้จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ย่อมเป็นทางอันเอก หรือทางไปอันเดียว

เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกความปริเทวะร่ำไรรำพันหรือระทมใจ

เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม หรือธรรมะที่พึงบรรลุ เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดั่งนี้

นี้เป็นอานิสงส์ของการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

ต่อจากนั้นก็ได้ทรงจำแนกสติปัฏฐานว่ามี ๔ ข้อ

คือตั้งจิตพิจารณากาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้

กำจัดอภิชฌาคือความโลภอยากได้ หรือความดีใจติดใจ โทมนัสความเสียใจในโลกได้

แล้วก็ตรัสข้อที่ ๒ คือตั้งจิตกำหนดพิจารณาเวทนา

ข้อที่ ๓ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาจิต ข้อที่ ๔ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาธรรม

โดยตรัสธรรมะอันเป็นอุปการะในการปฏิบัติไว้เช่นเดียวกัน

คือมีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้

กำจัดอภิชฌาความอยากได้ความยินดี โทมนัสความเสียใจในโลกได้ ดั่งนี้

 ข้อปฏิบัติที่ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก

และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสข้อแรก โดยยกภิกษุขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้

และพระอาจารย์ได้อธิบายคำว่าภิกษุไว้ว่า ภิกษุในที่นี้หมายถึงผู้ที่ฟังคำสั่งสอน

ของพระพุทธเจ้า เช่นฟังคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตร และรับมาปฏิบัติ ชื่อว่าภิกษุ

ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งชายทั้งหญิง ก็คือหมายถึงผู้ที่รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เช่นคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตรนี้มาปฏิบัตินั้นเอง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หรือผู้ปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง

ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่านั่งขัดสะหมาด

หรือแม้นั่งตามผาสุขของตน ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า

หายใจเข้าก็ให้มีสติรู้ หายใจออกก็ให้มีสติรู้

หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว

หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น

ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดไว้ว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า

ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก

ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย

อันหมายถึงลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า

ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรำงับ สงบรำงับกายสังขาร

คือลมหายใจเข้าออก หายใจออก ดั่งนี้

นี้เป็นข้อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก

ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนดพิจารณากาย

เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะหัดปฏิบัติตามที่ตรัสสอนไว้ด้วยพระองค์เอง

อันนับว่าเป็นหลักปฏิบัติตามพระบาลีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองโดยตรง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats