ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:24
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป118
การปฏิบัติอบรมจิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ธรรมชาติของจิต ๓
อาสวะ อนุสัย ๔
ข้อว่าจิตเศร้าหมอง ๔
มายาของรูปเสียงกลิ่นรส ๕
ความหลงอยู่ในมายา ๗
ทำไมจึงต้องปฏิบัติทำสมาธิ ๘
กรรมฐานเพิ่มพลังจิต ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๕๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๔/๒ - ๑๕๕/๑ ( File Tape 118 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติอบรมจิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การอบรมจิตนั้นมาจากภาษาบาลีว่า จิตตภาวนา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงจิตไว้ว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง
แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา
แต่ว่าจิตนี้เมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนา ก็วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาได้
เครื่องเศร้าหมองนั้นมาจากคำว่ากิเลส
( เริ่ม ๑๕๔/๒ ) และกิเลสนี้เป็นสิ่งที่จรเข้ามาดองจิต นอนเนื่องอยู่ในจิต
จึงหมายความว่ากิเลสไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต
แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามาดังกล่าว จึงเป็นเหมือนอย่างแขกหรือผู้มาหาที่เข้ามาสู่บ้าน
แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ยึดบ้านที่เข้ามานั้นเป็นที่อาศัย
ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตนี้ยังเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้
๒
ถ้าน้อมไปในฝ่ายชั่ว ก็จะคุ้นเคยอยู่กับความชั่ว
ถ้าน้อมไปในทางดีในความดี ก็จะคุ้นเคยอยู่ในความดี
จิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ดั่งนี้
ธรรมชาติของจิต
แต่ว่าจิตนั้นก็ยังมีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นธาตุรู้
อันเรียกว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ คือรู้อะไรๆได้
แต่ว่าเพราะจิตที่ยังมิได้อบรมนั้นแม้จะเป็นธรรมชาติรู้ ก็ยังเป็นรู้ผิด รู้หลงอยู่
เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้สิ่งใดก็เป็นความรู้ที่ไม่ทะลุปรุโปร่ง
แต่เป็นความรู้ที่ติดอยู่แค่มายาของสิ่งเหล่านั้น ยังไม่ทะลุถึงสัจจะคือความจริง
ฉะนั้น จึงมีความยึดถือติดอยู่ในมายาของสิ่งนั้นๆในโลก
เมื่อสิ่งที่ยึดนั้นเป็นเพียงมายา ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง
ความรู้ที่ยึดมายานั้นจึงเป็นความรู้ผิด เป็นความรู้หลง
ฉะนั้น จึงรับอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็นทางตา โดยเป็นรูปต่างๆ
ที่ได้ยินทางหูโดยเป็นเสียงต่างๆ ที่ได้ทราบทางจมูกโดยเป็นกลิ่นต่างๆ
ที่ได้ทราบทางลิ้นโดยเป็นรสต่างๆ ที่ได้ทราบทางกายโดยเป็นสิ่งถูกต้องต่างๆ
และที่ได้รู้ได้คิดทางใจ โดยเป็นธรรมะที่แปลว่าเรื่องราวต่างๆ
คือเรื่องราวต่างๆที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้วเป็นต้น
สิ่งที่รับทางตาหูเป็นต้นดังกล่าว เข้ามาคิดปรุงหรือปรุงคิดในจิตใจ เรียกว่าอารมณ์
และเมื่อความรู้ของจิตที่รับนั้นยังเป็นความรู้แค่มายาของสิ่งเหล่านั้น
ฉะนั้นจึงบังเกิดความยินดีในอารมณ์คือเรื่องอันเป็นที่ตั้งของความยินดี
ยินร้ายในอารมณ์คือเรื่องอันเป็นที่ตั้งของความยินร้าย
หลงติดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความหลงติด
๓
จึงปรากฏเป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้
เป็นโทสะความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง
เป็นโมหะคือความหลงอันเรียกว่ากิเลส
อาสวะ อนุสัย
อารมณ์และกิเลสเหล่านี้ก็ประกอบกันอยู่ หมักดองจิตอยู่ ทับถมทวีขึ้น
และมุ่งอาการที่หมักดองก็เรียกว่าอาสวะ มุ่งอาการที่นอนเนื่องก็เรียกว่าอนุสัย
อันเป็นที่ตั้งของอาการจิตที่เรียกว่า นิสสัย อุปนิสัย สันดานของบุคคลแต่ละคน
และเมื่ออารมณ์และกิเลสหมักดองนอนเนื่องอยู่ดั่งนี้
เมื่อจิตนี้รับอารมณ์คือเรื่องใหม่ๆเข้ามาทางตาทางหูเป็นต้น
ก็ทำให้อารมณ์และกิเลสที่หมักดองอยู่เป็นอาสวะ เป็นอนุสัยดังกล่าวนั้นฟุ้งขึ้นมา
ปรากฏเป็นความชอบบ้าง ในเมื่ออารมณ์ใหม่ๆเหล่านั้นเป็นพวกเดียวกันกับสิ่งที่ชอบ
เป็นความชังบ้างในเมื่ออารมณ์ใหม่ๆเหล่านั้นเป็นที่ตั้งของ ..
เป็นอย่างเดียวกัน เป็นพวกเดียวกันกับความชังที่หมักดองอยู่
บังเกิดความหลงบ้างในเมื่ออารมณ์ใหม่ๆเหล่านั้นเป็นที่ตั้ง
คือเป็นพวกเดียวกันกับความหลงที่นอนจมอยู่
ก็เพิ่มพูนราคะ หรือโลภะโทสะโมหะดังกล่าวนั้นทวีมากขึ้นไปอีก
ข้อว่าจิตเศร้าหมอง
เพราะฉะนั้น จิตของแต่ละบุคคลนี้จึงเป็นจิตที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส
เพราะยังมีเครื่องเศร้าหมองมาหมักดองนอนจมอยู่
มากำบังธรรมชาติของจิตที่ปภัสสรคือผุดผ่องนั้น ทำให้ไม่ผุดผ่อง
และมาปิดบังความรู้ที่เป็นธาตุรู้นั้นไม่ให้รู้จริง ให้รู้แค่มายาติดอยู่แค่มายาเท่านั้น
๔
อันสิ่งทั้งหลายที่เป็นอารมณ์ดังกล่าวนั้น ซึ่งทุกๆคนก็ชอบบางอย่าง ชังบางอย่าง
หลงอยู่บางอย่าง อยู่โดยปรกติ ก็เป็นเพราะเหตุดังที่กล่าวมา
มายาของรูปเสียงกลิ่นรส
และข้อที่เรียกว่ามายานั้น ถ้าพิจารณาก็พอเห็นได้ว่าเป็นมายาจริง
ดั่งรูปทั้งหลายที่ตาเห็น เช่นร่างกายนี้ของกันและกัน ก็เห็นแค่ผมขนเล็บฟันหนัง
ใต้หนังเข้าไปก็มองไม่เห็น และผมขนเล็บฟันหนังนั้นก็เป็นไปตามวัย
เมื่ออยู่ในวัยที่งดงามเปล่งปลั่ง ก็งดงามเปล่งปลั่ง เมื่อผ่านวัยที่งดงามเปล่งปลั่งไปแล้ว
ก็ทรุดโทรมชำรุด และก็ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่งดงาม
และที่สกปรกภายในผืนหนังที่หุ้มห่ออยู่นี้เป็นอันมาก
ถ้าเปิดออกมาดูแล้ว เจาะก็จะไม่ปรากฏเป็นสิ่งที่งดงามน่ารักน่าชม
แต่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ทั้งโดยสี ทั้งโดยสันฐาน ทั้งโดยกลิ่น ทั้งโดยที่เกิด ทั้งโดยที่อยู่
เพราะฉะนั้น ความงดงามที่ปรากฏอยู่จึงมีอยู่แค่ผมขนเล็บฟันหนังที่ตามองเห็น
และที่กำลังอยู่ในวัยที่เปล่งปลั่ง และที่ได้มีการตบแต่ง มีการชำระล้างตบแต่งไว้แล้ว
เสียงก็เช่นเดียวกัน ก็สักแต่ว่าเป็นเสียง
จะเป็นเสียงนินทาเสียงสรรเสริญ ก็เป็นแค่เสียง
ความเป็นเสียงนั้นจะเป็นนินทาก็ตาม จะเป็นสรรเสริญก็ตาม ไม่แตกต่างกัน
เหมือนอย่างลมที่พัดมากระทบตัวเองของทุกๆคน จะมาทางทิศไหนก็ไม่ต่างกัน
จะพัดเบาพัดแรงก็เป็นลม แต่ว่าเพราะมีภาษา คือเสียงนั้นเองเป็นภาษา
และก็มีสมมติภาษานั้นขึ้น บัญญัติภาษานั้นขึ้น สำหรับสื่อให้รู้จิตใจของกันและกัน
จึงทำให้ติดในสมมติบัญญัติตามที่เสียงแสดงออก
แต่ว่าเสียงที่แสดงออกไว้เป็นภาษานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นความจริง ทั้งสรรเสริญทั้งนินทา
๕
ในเมื่อสรรเสริญผิดนินทาผิด เช่นว่าทำชั่ว สรรเสริญว่าทำดี
ก็ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าดีนั้นดีขึ้นมาได้ ต้องชั่วตามที่ตนทำนั้นเอง
เมื่อทำดีแต่ถูกนินทาว่าชั่ว ก็ไม่ทำให้ความดีกลับเป็นความชั่วได้
เมื่อทำดีก็คงเป็นทำดีอยู่นั่นเอง
แต่ว่าบุคคลติดในสมมติบัญญัติของภาษา จึงได้มีนินทามีสรรเสริญ
ทำให้เสียงที่สักแต่ว่าเป็นลม หรือดังที่เรียกว่าลมปาก มีพลังอำนาจขึ้น
ด้วยการที่มายึดถือในสมมติบัญญัติ เป็นภาษาของเสียง
กลิ่นนั้นจะเป็นอย่างไรก็แค่ประสาทจมูก
พ้นประสาทจมูกไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร
รสนั้นก็เช่นเดียวกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็อยู่แค่ลิ้น
พ้นประสาทลิ้นไปถึงคอแล้ว ความอร่อยไม่อร่อยต่างๆก็ไม่ปรากฏ
สิ่งที่กายถูกต้องก็เหมือนกัน ก็ปรากฏว่าเป็นอย่างไรอยู่แค่กายประสาท
พ้นกายประสาทเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏเป็นความรู้สึกอย่างใด
ธรรมะคือเรื่องราวทางใจต่างๆที่จิตมาปรุงคิดหรือคิดปรุง
ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ที่ความปรุง
เหมือนอย่างพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จะปรุงให้มีรสเค็มก็เค็ม
จะปรุงให้มีรสเปรี้ยวก็เปรี้ยว จะปรุงให้เป็นมีรสหวานก็หวาน
จิตก็เหมือนกันจะปรุงให้ชอบก็ชอบ จะปรุงให้ชังก็ชัง จะปรุงให้หลงก็หลง
ถ้าจิตไม่ปรุงเสียอย่างเดียวชอบชังหลงก็ไม่ปรากฏ
สิ่งเหล่านี้เป็นมายาทั้งนั้น
แต่ว่าจิตนี้เพราะยังมีอวิชชาอยู่ จึงไม่รู้ถึงสัจจะคือความจริง
รู้แค่มายา ก็ติดอยู่แค่มายา และปรุงแต่งกันอยู่แค่มายา โลกเป็นดั่งนี้
๖
ความหลงอยู่ในมายา
เพราะฉะนั้น จึงได้มีความหลงอยู่ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ตั้งต้นแต่ความจริงทั่วๆไปที่เป็นเรื่องสามัญ จนถึงความจริงที่เป็นสิ่งละเอียด
ที่เป็นสิ่งสามัญนั้น ก็คือความจริงในกิจการทั้งหลาย
ในความติดต่อกันทั้งหลายของบุคคลนั้นๆ เมื่อจิตรู้แค่มายา ไม่รู้ถึงความจริง
จึ่งได้พากันเชื่อผิด คิดผิด ปฏิบัติผิด ทางกายทางวาจาทางใจกันอยู่ในเรื่องนั้นๆ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้จิตนี้เองพิจารณา โดยตรัสชี้ให้เห็นว่าโลกนี้มีมายาอย่างไร
เพื่อให้รู้จักว่านั่นเป็นมายา และให้รู้ทะลุเข้าไปถึงสัจจะความจริง
ตั้งต้นแต่กรรมที่กระทำ ตรัสสอนให้รู้จักว่า
อย่างไรเป็นอกุศลกรรม กรรมชั่ว อย่างไรเป็นกุศลกรรม คือกรรมดี
เพื่อที่จะได้ละกรรมชั่วประกอบกรรมดี
และการที่จะได้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริงดั่งนี้ด้วยตนเอง
ให้จิตใจของตนเองรับรองด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เชื่อพระวาจาตรัสเท่านั้น
จึงตรัสสอนให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส คือให้บริสุทธิ์จากกิเลสดังกล่าว
ราคะ หรือโลภะโทสะโมหะ และเมื่อสงบกิเลสเหล่านี้ลงได้อย่างหยาบด้วยศีล
คือด้วยการที่มาเชื่อพระพุทธเจ้า รับศีลของพระพุทธเจ้า
มาปฏิบัติงดเว้นใจของตัวเองจากโลภโกรธหลง ที่จะก่อให้เกิดเจตนาประกอบกรรม
อันเป็นอกุศลทุจริตทางกายวาจาใจต่างๆได้
คือว่าเมื่องดเว้นใจของตัวเองได้ ก็คือว่างดเว้นกิเลสกองโลภโกรธหลงเหล่านี้เองได้
สามารถที่จะรักษาศีลได้ ตั้งต้นด้วยศีล ๕ และงดเว้นใจของตัวเองจากกิเลสเหล่านี้
ที่เมื่อรับอารมณ์ต่างๆก็บังเกิดขึ้น และเมื่อยึดถืออยู่ก็ยังรักษากิเลสเหล่านี้ไว้ในจิตใจ
เป็นโลภเป็นโกรธเป็นหลงในจิตใจ แม้ไม่ก่อเจตนากรรมออกมาเป็นบาปอกุศลทุจริต
ก็ยังทำจิตใจให้ฟุ้งซ่านดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
๗
( เริ่ม ๑๕๕/๑ ) ถ้าหากว่าไม่ระงับเสีย กิเลสที่บังเกิดกลุ้มรุมจิตใจอยู่นี้ก็จะแรงขึ้นได้
ลุกลามขึ้นเป็นกิเลสอย่างหยาบ มาเป็นนายของจิตใจ
ก่อเจตนากรรมให้ประพฤติผิดศีลต่างๆ ก่ออาชญากรรมต่างๆ
ทำไมจึงต้องปฏิบัติทำสมาธิ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ปฏิบัติในสมาธิตั้งจิตมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
หัดน้อมจิตมาในกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของสมาธิที่เป็นกุศล
อาการที่เป็นสมาธินั้นคืออาการที่จิตตั้ง และเมื่อตั้งมั่น
ไม่ใช่ตั้งชนิดที่คลอนแคลน กวัดแกว่ง กลับกลอก แต่เป็นชนิดที่ตั้งมั่น
ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติทำกรรมฐานเพื่อสมาธิ
และเมื่อทำบ่อยๆเข้าแล้ว ก็จะทำให้จิตนี้ตั้งมั่นได้ดียิ่งขึ้น
เพราะว่าน้อมมาบ่อยๆ จิตก็จะมีความคุ้นเคยอยู่ในกรรมฐาน
ก็จะสละจากอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกิเลสได้ มาเอากรรมฐานเป็นอารมณ์
มาดูดดื่มในกรรมฐาน
และในการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อสมาธินี้
เป็นทางพิจารณาก็มี เป็นทางที่ทำจิตรวมเข้ามาไม่พิจารณาก็มี จึงจะรู้
ที่พิจารณานั้นก็เช่นพิจารณากาย ให้เห็นว่าผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น
ที่ยึดถือกันอยู่ว่าสวยงามน่ารักน่าชมสะอาด นั่นก็เป็นเพียงยึดในมายาของกาย
จึงตรัสสอนให้พิจารณาละมายาเสีย มองเข้าไปเห็นสัจจะคือความจริง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม เพื่อดับกิเลสกองราคะ
อันจะทำให้จิตสงบจากราคะ
และให้เจริญเมตตาแผ่จิตออกไป มุ่งให้บุคคลนั้นๆสัตว์นั้นๆโดยเจาะจง
และโดยไม่เจาะจงเป็นสุข ก็เป็นเครื่องดับโทสะพยาบาท
๘
และกำหนดพิจารณาธาตุกรรมฐาน
ซึ่งรวมกันอยู่เป็นก้อนนี้อันเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา โดยตรัสสอนให้แยกธาตุออกไป
ว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุดินน้ำไฟลม หรือเติมอากาศ มาประกอบกันเข้า สักแต่ว่าเป็นธาตุ
เมื่อ ธาตุสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นธาตุปรากฏขึ้น
อัตตสัญญา ความสำคัญหมายยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราก็หายไป
ก็เป็นการแก้โมหะดับโมหะ ในข้อนี้
กรรมฐานเพิ่มพลังจิต
เมื่อปฏิบัติกำจัดดับราคะหรือโลภะโทสะโมหะ
อันบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้ด้วยกรรมฐานเหล่านี้ จิตก็จะบริสุทธิ์สะอาด
และเมื่อต้องการเพิ่มพลังให้เป็นจิตในสมาธิ ก็กำหนดสมาธิที่รวมจิตเข้ามา
ให้มีอารมณ์เป็นอันเดียว เช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
หรือทำเพ่งกสิณตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จิตก็จะรวมเป็นเอกัคคตา
คือความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวกันของจิตได้ เป็นสมาธิได้ตั้งแต่ขั้นบริกรรม
คือกำลังขั้นที่ปฏิบัติกำหนด ขั้นอุปจารคือว่าใกล้ที่จะสงบแน่วแน่
จนถึงขั้นอัปปนาคือแน่วแน่
และก็น้อมจิตที่แน่วแน่นี้ กำหนดพิจารณานามรูป หรือขันธ์ ๕
ให้เห็นสัจจะคือความจริงว่าล้วนเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ
ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่ตัวเราของเรา
คือไม่ควรจะเห็นยึดถือว่าตัวเราของเรา
เพราะไม่มีตัวเราของเราอยู่ในนามรูป หรือในขันธ์ ๕ นี้
ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อลดอวิชชาโมหะ ทำลายอวิชชาโมหะ
ทำให้จิตนี้ปรากฏความปภัสสรคือผุดผ่องมากขึ้น หยั่งรู้ถึงสัจจะคือความจริงมากขึ้น
๙
เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมา ดั่งที่เรียกว่าจักษุคือดวงตาผุดขึ้น ญาณความหยั่งรู้ผุดขึ้น
ปัญญาความรู้ทั่วผุดขึ้น วิชชาความรู้แจ่มแจ้งผุดขึ้น โอภาสคือความสว่างผุดขึ้น
ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และทรงแสดงสั่งสอนไว้
การปฏิบัติโดยลำดับดั่งนี้เองคือสติปัฏฐาน ตั้งสติหรือสติตั้ง
สัมมัปปธานเพียรชอบ อิทธิบาทธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ
อินทรีย์ธรรมะที่เป็นใหญ่ พละธรรมะที่เป็นกำลัง
โพชฌงค์ธรรมะที่เป็นองค์ของความตรัสรู้
และมรรคมีองค์ ๘ ก็รวมอยู่ในทางปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
อันนำให้บังเกิดดวงตา บังเกิดญาณ บังเกิดปัญญา บังเกิดวิชชา บังเกิดแสงสว่าง
ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ของพระพุทธเจ้า ดับอวิชชาได้ ดับกิเลสทั้งปวงได้ ดับทุกข์ได้
เมื่อปฏิบัติยังไม่ถึง ก็ย่อมดับได้ไปโดยลำดับ
ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก บางอย่างจนถึงทั้งหมด
เพราะว่า ความบรรลุถึงผลดังที่กล่าวมานี้
ไม่ใช่จะบรรลุได้ด้วยความคิดว่าจะบรรลุ หรืออยากจะบรรลุ
แต่อยู่ด้วยการปฏิบัติมาโดยลำดับ ขึ้นไปโดยลำดับ
ธรรมะก็จะสนับสนุนส่งผู้ปฏิบัติขึ้นไปโดยลำดับเองด้วย
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจปฏิบัติทำความสงบสืบต่อไป
*
พรสำคัญของชีวิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กิจที่พึงทำทุกวัน ๓
ข้อที่ตรัสเตือนไว้ถึงกาลเวลา ๓
ชีวิตดีชีวิตชั่วเนื่องกับกาลเวลา ๔
ความไม่ประมาทในชีวิต ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม
ม้วนที่ ๑๕๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๕/๒ ( File Tape 118 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พรสำคัญของชีวิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกกาลเวลาขึ้นมาตรัสสั่งสอน
เป็นธรรมิกถาหรือถ้อยคำที่เป็นข้อธรรมะ หรือเรียกสามัญว่าเป็นสุภาษิตเตือนใจ
ดั่งเช่นว่าตรัสสอนภิกษุให้พิจารณาเนืองๆว่าวันคืนล่วงไปๆบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่
และได้ตรัสสอนไว้อีกว่าความเพียรควรเร่งรีบทำในวันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้ และได้ตรัสสอนถึงสภาพของกาลเวลาไว้ว่า
กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้มีสติพิจารณาถึงกาลเวลา
เพื่อที่จะได้เกิดปัญญารู้จักว่า จะใช้กาลเวลาอย่างไร
ดังที่ตรัสสอนบอกวันคืนล่วงไปๆเราทำอะไรอยู่ ก็เพื่อพิจารณาเข้ามาดูว่า
เราควรจะใช้กาลเวลาที่มาถึงจำเพาะหน้าประกอบกระทำอะไร
และคำว่า อะไร นี้ทุกคนเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า
๒
ทุกคนต่างต้องมีกิจที่พึงทำอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เช่นเมื่อยู่ในวัยเรียนก็คือตั้งใจเล่าเรียนศึกษา
เมื่อพ้นวัยเรียนถึงวัยทำการงาน ก็ประกอบการงานเป็นอาชีพ และการงานที่พึงทำอย่างอื่น
และโดยเฉพาะภิกษุนั้น ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ตราบเท่าบรรลุถึงนิพพาน หรือวิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง
เมื่อยังไม่บรรลุถึงวิมุตินิพพานก็ต้องปฏิบัติในไตรสิกขาเรื่อยไป จะหยุดว่าเพียงพอแล้วมิได้
แม้ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นฝ่ายฆราวาสก็มีหน้าที่ปฏิบัติธรรม
อันอาจรวมเข้าได้ในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นเดียวกัน
จนกว่าจะสิ้นกิเลสจึงจะเสร็จกิจแห่งการปฏิบัติในไตรสิกขา
เมื่อยังไม่สิ้นกิเลสก็ต้องปฏิบัติธรรมคือไตรสิกขานี้เรื่อยไปเช่นเดียวกัน
กิจที่พึงทำทุกวัน
เพราะฉะนั้น กิจที่พึงทำเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้คือในปัจจุบัน
และในโลกหน้าคือในภายหน้า ก็เป็นกิจที่พึงทำอยู่ทุกวัน
การปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ก็พึงปฏิบัติ พึงกระทำอยู่ทุกวันเช่นเดียวกัน เป็นกิจที่พึงทำ
เพราะฉะนั้น จึงพึงประกอบกระทำกิจเหล่านี้ให้งอกงามขึ้นทุกวันๆ
โดยไม่ให้กาลเวลาล่วงไปปราศจากประโยชน์ และได้ทรงกำชับอย่างหนักแน่นไว้อีกว่า
ควรกระทำความเพียรปฏิบัติกิจที่พึงทำดังกล่าวนั้นตั้งแต่ในวันนี้
ไม่ควรจะผลัดเพี้ยนว่าพรุ่งนี้ๆ เพราะใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้
ข้อที่ตรัสเตือนไว้ถึงกาลเวลา
และยังได้ตรัสเตือนไว้ถึงชีวิตอีกว่า
การที่ปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์อะไร
ย่อมทำให้ชีวิตนี้แม้ที่ดำรงอยู่เป็นชีวิตเปล่า
และถ้าซ้ำร้ายใช้ชีวิตนี้ประกอบกระทำการที่ชั่วผิดต่างๆ
๓
เป็นบาปอกุศลทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ทำให้ชีวิตนี้เป็น ทุชีวิตะ คือชีวิตชั่ว
แต่ถ้าใช้ชีวิตนี้ประกอบคุณงามความดีต่างๆ ประกอบกิจที่พึงทำต่างๆ
ตามหน้าที่ๆพึงกระทำของตน ให้บรรลุถึงความสำเร็จตามที่สามารถจะพึงบรรลุได้
ก็ชื่อว่าทำชีวิตนี้ให้เป็น สุชีวิตะ คือชีวิตที่ดี
ชีวิตดีชีวิตชั่วเนื่องกับกาลเวลา
การที่ใครจะมีชีวิตเปล่า หรือว่ามีชีวิตชั่ว หรือว่ามีชีวิตดี
ก็ย่อมเกี่ยวเนื่องกับกาลเวลา และการงานที่ไม่กระทำ หรือกระทำในกาลเวลานั้นๆ
และก็เป็นธรรมดาที่กาลเวลานั้นๆไม่ใช่ล่วงไปเปล่า ย่อมทำให้ชีวิตนี้ของทุกๆคนล่วงไปด้วย
แต่เมื่อยังมีสันตติคือความสืบต่อของชีวิต ชีวิตก็ดำเนินต่อไปตามกาลเวลา
แต่ในที่สุดเมื่อถึงกาลเวลา กายนี้ก็ต้องแตกสลายชีวิตนี้ก็ดับ
เพราะฉะนั้น จึงเรียกความดับของชีวิตดังกล่าวว่า กาละกิริยา
ที่แปลว่าทำ กาละ คือกาลเวลา อันหมายความว่าเป็นกาลเวลาที่สิ้นสุดของชีวิตในโลกนี้
เพราะฉะนั้น ทุกคนเมื่อระลึกถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสเกี่ยวแก่กาลเวลาดังกล่าวมานี้
มาถูกกาลเวลากินชีวิตอยู่ทุกวันให้ล่วงไป และกาลเวลานั้นก็ล่วงไปเองด้วย
จึงเรียกว่ากินตัวเองด้วย พร้อมกับกินสัตว์ทั้งหลาย
คือทำชีวิตของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาในโลกนี้ให้ล่วงไป
เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงสมควรที่จะน้อมระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมา
และปฏิบัติใช้กาลที่ล่วงไปนี้ไม่ให้เปล่าประโยชน์ ไม่ให้เป็นชีวิตเปล่า
และไม่ใช้ชีวิตประกอบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ อันทำให้เป็นชีวิตชั่ว
และใช้กาลเวลาประกอบกิจที่พึงทำตามหน้าที่ของตน
และกิจที่พึงทำคือกุศลสุจริตต่างๆ บุญต่างๆ
ตลอดถึงการปฏิบัติธรรม
๔
ความไม่ประมาทในชีวิต
และเพื่อให้เป็นความสำคัญของการใช้ชีวิตให้เป็นชีวิตดีดั่งนี้ จึงได้ตรัสเอาไว้อีกว่า
บุคคลที่ทุศีลมีจิตไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย ถึงจะดำรงชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
แต่ความดำรงชีวิตอยู่ของผู้มีศีล มีจิตเพ่งพินิจตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย
เป็นอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่า ( เริ่ม ๑๕๕/๒ ) ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่า
เมื่อทุกคนได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเกี่ยวแก่กาลเวลาดังที่กล่าวมา
และตั้งใจที่จะใช้กาลเวลาวันหนึ่งๆประกอบกิจที่เป็นประโยชน์
ปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ในศีล และมีจิตเพ่งพินิจตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือกล่าวโดยสรุปว่าเจริญศีลสมาธิปัญญาอยู่ทุกวันๆ
ถึงจะต้องสิ้นไปในวันนั้นก็ไม่ต้องเสียใจ และภูมิใจว่าเราได้ใช้กาลเวลาให้เป็นประโยชน์
ประกอบกระทำกิจที่พึงทำต่างๆ ปฏิบัติธรรมเจริญศีลสมาธิปัญญาต่างๆ
ถ้าหากว่าถึงจะมีอายุยืนนานตั้งร้อยปี
แต่ใช้ชีวิตให้เป็นโมฆะชีวิตคือชีวิตเปล่า ให้เป็นทุชีวิตะคือชีวิตชั่ว ก็ไม่ประเสริฐอะไร
เพราะเมื่อเป็นชีวิตเปล่า อายุยืนไปเท่าไหร่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร
และยิ่งซ้ำร้ายใช้ชีวิตชั่วร้าย ยิ่งมีชีวิตยืนนานก็เป็นโอกาสให้ยิ่งประกอบความชั่วร้ายมากขึ้น
สร้างบาปอกุศลธรรมมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้บังเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำความดีในวันหนึ่งๆ
ปฏิบัติเจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาในวันหนึ่งๆอยู่ทุกวัน
จะตายวันไหนก็ดีทั้งนั้น ประเสริฐทั้งนั้น
ประเสริฐกว่าคนที่มีอายุยืนๆตั้งร้อยแต่ว่าไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์
หรือซ้ำร้ายกลับใช้ชีวิตกระทำความชั่วร้ายดังกล่าว
๕
เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่ทุกๆคนจะมีความตั้งใจที่จะรับฟัง
และปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนนี้
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ทุกคนเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ไม่ประมาทในชีวิตเป็นต้น จะใช้ชีวิตทุกวันๆประกอบกิจที่เป็นประโยชน์
กิจที่เป็นหน้าที่ๆพึงทำ ปฏิบัติธรรม และเจริญศีลสมาธิปัญญา
แล้วก็ทำความสำนึกว่า เมื่อเราปฏิบัติอยู่ดังนี้เราก็จะมีความอุ่นใจ
มีความสบายใจ มีความสว่างใจอยู่ทุกวันๆ จะตายวันไหนก็ไม่ต้องกลัว
เพราะว่าในปัจจุบันเรามีคติคือการไปที่ดี เป็นสุคติ ดั่งนี้
ต่อไปก็ย่อมมีสุคติคือคติที่ดี การไปที่ดี การถึงที่ดีไม่ต้องสงสัย
จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่กลัวตาย จะทำให้เป็นผู้กล้า เป็นผู้ที่สามารถ
ที่จะกระทำกิจที่พึงทำ ที่จะทำความดี ที่จะปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันทุกเวลา
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ
วันนี้ก็เจริญด้วยอายุวรรณะสุขะพละ พรุ่งนี้ก็เจริญด้วยอายุวรรณะสุขะพละ
เป็นผู้ที่มีความสว่างไปอยู่ทุกวันๆ อันนี้เป็นพรสำคัญของชีวิต
เพราะฉะนั้น จึงขออำนวยพรนี้แด่ท่านสาธุชนทุกท่าน ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติทำความสงบสืบต่อไป
*