ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป116

อินทรีย์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สัทธินทรีย์ ๓

องค์คุณให้บรรลุโสดาบัน ๔

วิริยินทรีย์ ๔

สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ๕

ปัญญินทรีย์ ๕

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๒/๑ ( File Tape 116 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อินทรีย์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงโพธิปักขิยธรรมในหมวดอินทรีย์ ๕

สืบต่อจากอิทธิบาท ๔ และที่ได้แสดงมาแล้วก็คือสติปัฏฐาน ๔

สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ สามหมวด มาถึงหมวดที่สี่ คืออินทรีย์ ๕

อินทรีย์นั้นได้แก่ธรรมะที่เป็นใหญ่เหนือกิเลส หรืออธรรม อกุศลธรรมที่ตรงกันข้าม

และธรรมะที่เป็นอินทรีย์นี้เป็นข้อที่กล่าวว่า ผู้นั้นผู้นี้มีอินทรีย์อ่อน มีอินทรีย์แก่กล้า

 

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ฟัง

ซึ่งมีอินทรีย์คือธรรมะที่เป็นใหญ่ดั่งนี้ ตามควรแก่อินทรีย์ของเขา

เมื่ออินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงสอนให้ปฏิบัติทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้น

และก็ทรงแสดงธรรมะโปรดไปโดยลำดับ

แม้ผู้ที่เข้ามาบวชปฏิบัติเพื่อความพ้นกิเลสและกองทุกข์

พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมะโปรดให้พอเหมาะแก่อินทรีย์ของเขาเช่นเดียวกัน

ถ้าอินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงแสดงธรรมะที่เป็นธรรมดาสามัญที่เข้าใจง่าย

คือที่เขาอาจจะเข้าใจได้ หรืออาจจะปฏิบัติได้ และทรงแสดงขยับให้สูงขึ้นโดยลำดับ

จนถึงอินทรีย์แก่กล้า จึงทรงแสดงธรรมะโปรด เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์

ซึ่งเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็สามารถได้ปัญญาเห็นธรรม ตรัสรู้ธรรม

อันเป็นเหตุตัดกิเลสและกองทุกข์ ตั้งแต่บางอย่างจนถึงได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น อินทรียนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมให้เป็นพื้นฐาน

สำหรับที่จะได้รองรับธรรมะที่สูงขึ้นๆ

 

อินทรีย์ ๕ คือ

สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ๒ วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ

สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ ๔ สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ

และ ๕ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอธิบายอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ไว้ทุกข้อ

ทั้งที่เป็นอธิบายโดยทั่วไป และที่เป็นอธิบายอย่างสูงทุกข้อ

ดังจะได้นำมาแสดงไปทีละข้อ

 

สัทธินทรีย์

 

สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ข้อ ๑ ได้ตรัสแสดงไว้ว่า

อริยะสาวก สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะในพระธรรมวินัยนี้

เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า

ว่า อิติปิโส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้ๆ

อรหัง เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองชอบ

วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาคือความรู้ และสรณะคือความประพฤติ

สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้รู้โลก

อนุตโร ปุริสทัมสารถิ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

สัตถา เทวมนุสานัง เป็นศาสดาคือครูแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ เป็นผู้ตื่นด้วยความรู้ เป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่

ภควา เป็นผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน และเป็นผู้มีโชค

 

เมื่อมีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า

ดังพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทที่แสดงมานี้ ตั้งมั่น เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อ

คือมีความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ดั่งนี้ ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน

ก็ชื่อว่าสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา

 

องค์คุณให้บรรลุโสดาบัน

 

อีกอย่างหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้ถึงศรัทธา โดยยกเอา โสตาปัติยังคะ ทั้ง ๔

ได้แก่มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

มีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่างไม่พร้อย

อันเป็นอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยเจ้าต้องการปรารถนา

เป็นศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาส เป็นศีลที่ไม่ถูกกิเลสลูบคลำ คือเป็นศีลที่บริสุทธิ์

เป็นศีลที่ถึงจิตใจ ใจเป็นศีลด้วย ไม่ใช่ว่าใจคิดจะละเมิด แต่ว่าไม่กล้าละเมิด

ใจต้องไม่คิดที่จะละเมิดด้วย คือไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ

ทั้ง ๔ นี้เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ คือเป็นองค์คุณ องค์สมบัติ

ที่จะให้บรรลุถึงกระแสธรรม เป็นโสดาบันบุคคลได้

 

วิริยินทรีย์

 

วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะข้อ ๒ ตรัสอธิบายไว้ว่า

ปรารภคือเริ่มความเพียร เพื่อละอกุศลทั้งหลาย เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม

มีกำลังประคองความเพียร ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

และได้ตรัสแสดงอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า มีความเพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔

 

สตินทรีย์ สมาธินทรีย์

 

สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติข้อ ๓ ได้แก่เป็นผู้มีสติ

ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกนึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่ง คือมีสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

 

สมาธินทรีย์ อินทรียคือสมาธิ ข้อ ๔ ตรัสอธิบายไว้ว่า

เป็นผู้กระทำการสละละวางอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

อันเป็นอารมณ์ ประกอบไปด้วยโลภโกรธหลง ก็กระทำการสละวางอารมณ์เหล่านั้น

ได้สมาธิ ได้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์ในกรรมฐานที่ตั้งไว้เป็นอันเดียว

และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า คือมีสมาธิที่แนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ

สมาธิที่แนบแน่น บรรลุถึงรูปฌานทั้ง ๔

 

ปัญญินทรีย์

 

ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา ข้อ ๕ ตรัสอธิบายไว้ว่าเป็นผู้มีปัญญา

ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ทั่วถึงความเกิดความดับ ปัญญาที่ให้ถึง รู้เกิดดับ

หรือว่าปัญญาคือรู้ทั่วถึงเกิดดับ อันเป็นอริยะคือที่ประเสริฐ

อันเป็นปัญญาที่เจาะแทงกิเลส ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยชอบ

 

อนึ่ง ได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่า ได้แก่มีปัญญารู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

คือรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์

รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

( เริ่ม ๑๕๒/๑ ) ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ทั้ง ๕ นี้ที่ได้อบรมจนถึงเป็นใหญ่

คือศรัทธาก็เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อดังที่ได้กล่าวแล้ว

วิริยะก็เป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้านไม่พากเพียรปฏิบัติ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อวิริยะ

สติก็เป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ สมาธิก็เป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่านเป็นต้น

หรือจะเรียกว่าเหนือนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ได้ เหนือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม

พยาบาทความโกรธ จนถึงหมายล้างผลาญทำลาย

ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ

วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน

 

สมาธิอบรมให้เป็นใหญ่เหนือนิวรณ์เหล่านี้ ดังที่ตรัสไว้ว่าสงบสงัดจากกาม

จากอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตได้สมาธิได้เอกัคคตาคือความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว

และปัญญาก็อบรมจนถึงได้ปัญญาคือความรู้ที่เหนือความรู้ผิด หลงถือเอาผิดต่างๆ

เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง จนถึงขั้นที่เห็นเกิดดับ อย่างสูงก็ที่เป็นถึงเป็นอริยะ

ที่เจาะแทงอวิชชาความไม่รู้ หรือความรู้ผิด ความหลงถือเอาผิดต่างๆได้

ทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ ปัญญาดั่งนี้จึงเป็นปัญญินทรีย์

สมาธิดังที่กล่าวนั้นจึงเป็นสมาธินทรีย์ สติที่กล่าวนั้นจึงเป็นสตินทรีย์

ความเพียรที่กล่าวนั้นจึงเป็นวิริยินทรีย์ ศรัทธาที่กล่าวนั้นจึงเป็นสัทธินทรีย์

 

การอบรมปฏิบัติให้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญา ดั่งที่กล่าวมา

เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมไปโดยลำดับ ให้เข้าทางของศรัทธาเป็นต้น

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ และเมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดั่งนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว

ทั้ง ๕ ข้อนี้ก็จะมีความเป็นใหญ่เหนือกิเลสอกุศลธรรมที่ตรงกันข้ามได้ไปโดยลำดับ

ดั่งนี้แหละคืออินทรีย์อันเป็นข้อสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะพึงปฏิบัติ

ในธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ ให้เป็นใหญ่เหนือกิเลสในจิตใจของตน

ต่อไปนี้ก็นั่งทำความสงบสืบต่อไป

พละ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สัทธาพละ ๓

วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ๖

ปัญญาพละ ๗

สัทธานุสารี ธรรมานุสารี ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๒/๒ ( File Tape 116 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พละ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงโพธิปักขิยธรรมมาโดยลำดับ ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด

หมวดที่ ๑ สติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔

หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔ หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕

และจะได้แสดงหมวดที่ ๕ คือ พละ ๕

 

พละ ๕ นี้คือกำลังหรือพลัง ๕ ข้อ มีชื่อเช่นเดียวกันกับอินทรีย์ ๕ คือ

สัทธาพละ กำลังคือศรัทธา ๒ วิริยะพละ กำลังคือวิริยะความเพียร

สติพละ กำลังคือสติ ๔ สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ

ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา

 

และธรรมะ ๕ ข้อนี้ก็มีอธิบายเช่นเดียวกันกับอินทรีย์ ๕

สัทธาพละ

 

ศรัทธานั้นมีพระพุทธาธิบายว่า

ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า และตรัสอธิบายเพียงเท่านี้ก็มี

บางแห่งตรัสอธิบายว่าเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้นก็มี

จึงจะอธิบายเพิ่มเติมในข้อศรัทธาแต่เพียงว่า พระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้นเมื่อย่อลงก็เป็น ๓

คือ พระปัญญาคุณ คุณคือความตรัสรู้จริง พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง

พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง

 

พระคุณทั้ง ๓ นี้ได้มีในบทสวดหลังทำวัตรเช้า

คือหลังสวดสดุดีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คือบทว่า

พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว พุทโธพระผู้ตรัสรู้แล้ว แสดงถึงพระปัญญาคุณ

วิสุทโธ พระผู้บริสุทธิ์แล้ว แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ

กรุณามหัณโว มีพระกรุณาดั่งห้วงทะเลหลวง แสดงถึงพระกรุณาคุณ

 

และในบทนอบน้อมพระพุทธเจ้าที่สวดนำ หรือคิดพิจารณาทำภาวนาทางจิตใจ

ก็คิดนำด้วยบท นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ซึ่งทุกคนย่อมสวดกันได้ และถือเป็นบทสวดนำอันจะขาดมิได้

ที่แปลความว่า นะโม นอบน้อม ตัสสะ ภควะโต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ซึ่งมีคำแปลด้วยความหมายอันหนึ่งว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน

อรหะโต ผู้เป็นพระอรหันต์ ควรไหว้ควรบูชา เพราะเป็นผู้ไกลกิเลส

จึงเป็นผู้บริสุทธิ์กายวาจาใจสิ้นเชิง สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

 

ในบท นะโม นี้ยกพระพุทธคุณบทว่า ภคะวา ซึ่งเป็นบทที่ ๙ ขึ้นมานำหน้า

ซึ่งมีความหมายว่าทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ข้อนี้แสดงถึงพระกรุณาคุณนั้นเอง

และเพราะมีข้อนี้ชาวโลกจึ่งได้รับประโยชน์ จากความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ได้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน นำมาปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา

เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง อันเป็นฝ่ายโลกิยะเกี่ยวกับโลก

และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอันเรียกว่า ปรมัตถะประโยชน์ ที่นำให้พ้นโลกพ้นกิเลส

ก็เพราะพระคุณข้อนี้ คือทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน

ด้วยพระมหากรุณาดั่งห้วงทะเลหลวง จึงได้กล่าวนมัสการยกพระคุณข้อนี้ขึ้นเป็นข้อที่ ๑

เพราะเป็นข้อที่ทำให้ได้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน สามารถปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

เพื่อผลดีผลชอบตามที่ทรงสั่งสอน

 

และเพราะธรรมะที่ทรงแสดง และฟังแล้วก็มาปฏิบัติ

ย่อมได้พบกับความบริสุทธิ์กายวาจาใจ และทำให้ได้มองเห็นว่า

พระพุทธเจ้าผู้พระศาสดา ผู้ทรงสั่งสอนนั้น ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์กายวาจาใจ

ธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอนจึงเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ทำผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้บริสุทธิ์

และนำให้เกิดความเคารพบูชา นำให้ตั้งใจถึงหรือเปล่งวาจาถึง

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งของจิตใจ

เป็นผู้นำทางจิตใจให้ปฏิบัติในทางอันถูกต้อง

และเมื่อเป็นผู้ตามพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน

ก็ย่อมได้ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ นำให้เกิดความเคารพบูชา

 

จึงมาถึงบทที่ ๒ ว่า อรหะโต ที่มาจากคำว่า อะระหัง

อันเป็นบทที่ ๑ ในพระพุทธคุณ ๙ บท

แล้วจึงถึงพระพุทธคุณบทว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

บทว่า อรหะโต นั้นก็แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ

และบทว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบนั้น ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ

ซึ่งพระปัญญาคุณนี้เป็นความตรัสรู้ซึ่งเป็น สัพพัญญู เป็น สัพพัญญุตญาณ

คือความรู้ทั้งหมด จึงเป็นความรู้ที่ไม่มีประมาณ เพราะรู้จบ

เมื่อรู้จบก็ชื่อว่ารู้หมด รู้หมดก็คือรู้จบ

จึงเป็นข้อที่ลึกซึ้ง ยังไม่ปรากฏแก่ผู้เริ่มปฏิบัติทีเดียว

ผู้เริ่มได้พบเห็นพระพุทธเจ้า หรือว่าเริ่มได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ย่อมยังไม่สามารถจะเข้าไปในข่ายแห่งพระปัญญาคุณได้

ต้องฟังธรรมคือรับพระมหากรุณาจากพระองค์ และได้ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ

นั่นแหละจึงจะปรากฏถึงพระปัญญาคุณ หรือเข้าในข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า

ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริง ตรัสรู้เองด้วย ตรัสรู้ชอบด้วย

คือต้องอยู่ในขั้นเห็นธรรม จึงจะเห็นพระพุทธเจ้า ก็เห็นความตรัสรู้ของพระองค์นั้นเอง

ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้

จึงจะเข้าข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า

 

และเมื่อเข้าข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว

จึงจะได้ศรัทธาความเชื่อที่ตั้งมั่น ดังที่บังเกิดความรู้สึกสำนึกขึ้นในจิตใจตนเองว่า

อโห พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นพระผู้ตรัสรู้จริงหนอ

อโห ธัมโม ธรรมะเป็นธรรมที่ตรัสดีแล้วจริงหนอ

อโห สังโฆ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วจริงหนอ ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นในบท นะโม นี้ จึ่งได้เริ่มด้วยบทสุดท้ายคือ ภคะวา

แล้วจึงมาบทที่ ๑ อะระหัง แล้วมาบทที่ ๒ สัมมาสัมพุทโธ

ในพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้น ถ้าหากว่าไม่มีพระพุทธคุณบทว่า ภคะวา แล้ว

เราทั้งหลายก็จะไม่ได้ทราบไม่ได้รู้ธรรมะ และก็จะไม่รู้จักพระอรหันต์

ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธะ

 

( เริ่ม ๑๕๒/๒ ) ฉะนั้น แม้พิจารณาพระพุทธคุณที่ย่อเข้ามา

เป็นพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ

หรือตามบท นะโม พิจารณาในพระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ดั่งนี้

ก็จะทำให้บังเกิดศรัทธาในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เรียกอย่างง่ายๆว่าเชื่อความรู้ของครูอย่างไม่หวั่นไหว

เป็นสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา หรือสัทธาพละ กำลังคือศรัทธา

 

วิริยะพละ

 

ในข้อที่ ๒ อินทรีย์คือวิริยะความเพียร หรือว่า วิริยะพละ กำลังคือพละ

ก็ตรัสอธิบายไว้โดยมากว่า เริ่มความเพียรเพื่อละอกุศลทั้งหลาย

เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้เกิดขึ้น มีกำลังไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

ในบางครั้งก็ตรัสยกเอาว่าความเพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔

ในบางครั้งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง บางครั้งก็แยกกันอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ว่าก็มีอรรถะคือเนื้อความถึงความเพียรเพื่อละ เพื่อๆละอกุศล เพื่อทำกุศลให้เกิดขึ้น

หรือว่าความเพียรที่เป็นสัมมัปปธาน ๔ เช่นเดียวกัน

 

สติพละ

 

ข้อ ๓ อินทรีย์คือสติ และพละคือสติ

ก็ตรัสอธิบายทั่วๆไปว่ามีสติประกอบด้วยสติอันเป็นเครื่องรักษาตน

ระลึกนึกได้ถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ หรือตรัสชี้เอาสติปัฏฐานทั้ง ๔

บางแห่งก็ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่ง บางแห่งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง

แต่ว่า แม้ว่าจะตรัสโดยทั่วไป หรือว่าระบุเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔

ก็มีความอย่างเดียวกัน

 

สมาธิพละ

 

มาข้อ ๔ อินทรีย์คือสมาธิ และพละคือสมาธิ

ก็ตรัสอธิบายถึงสมาธิทั่วๆไป หรือสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิโดยตรงคือฌาน ๔

สมาธิทั่วๆนั้นก็คือตรัสแต่เพียงว่า จะทำการวางอารมณ์ ได้สมาธิได้ จิตเตกัคคตา

คือความที่จิตใจมียอดเป็นอันเดียว คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว

บางแห่งก็ตรัสแยกกัน บางแห่งก็ตรัสรวมกัน

ในข้อสมาธินี้ที่ตรัสโดยทั่วไปนั้น ก็อาจจะหมายถึงสมาธิเบื้องต้นรวมเข้าด้วย

แต่ที่ตรัสถึงอัปปนาสมาธินั้น ก็เจาะจงเป็นอัปปนาสมาธิคือถึงฌาน

 

ปัญญาพละ

 

ในข้อ ๕ อินทรีย์คือปัญญา กับพละคือปัญญานั้น

ตรัสอธิบายถึงปัญญาในพุทธศาสนาทั่วๆไป คือปัญญาในพุทธศาสนานั้น

มุ่งถึงปัญญาที่รู้ถึงความเกิดความดับแห่งสังขารทั้งหลาย

ทั้งภายในคือขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้ของทุกๆคน

และทั้งภายนอก ทั้งที่มีใจครอง ทั้งไม่มีใจครอง

เมื่อเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งหมด

จึงเป็นปัญญาที่เจาะแทงลงไปเห็นความเกิดดับ

เจาะแทงอะไร ก็เจาะแทงโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้

เมื่อเจาะแทงอวิชชาโมหะได้ ปัญญาก็ผุดขึ้นเห็นเกิดดับในสังขารทั้งหลาย

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นปัญญาที่ทำให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้

เป็นปัญญาที่มุ่งหมายในพุทธศาสนาทั่วไป ต้องการปัญญาดั่งนี้

และในบางแห่งก็ตรัสระบุปัญญาในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

บางแห่งก็ตรัสแยกกัน บางแห่งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง

 

เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ กับพละ ๕ นี้ จึงมีข้อธรรมะเป็นอย่างเดียวกัน

แต่ว่าหมวดหนึ่งนั้นมุ่งเป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ เป็นใหญ่เหนืออกุศลธรรมทั้งหลายที่ตรงกันข้าม

อีกหมวดหนึ่งคือพละ มุ่งถึงเป็นกำลังหรือเป็นพลังในอันที่จะปราบปรามกิเลส

หรืออกุศลธรรมที่ตรงกันข้าม

ดังเช่นว่าอินทรีย์คือศรัทธานั้นเป็นใหญ่เหนือความไม่เชื่อ

พละคือศรัทธานั้นเป็นพลังที่ปราบปรามความไม่เชื่อลงได้ กำจัดความไม่เชื่อได้

อินทรีย์คือวิริยะความเพียรเป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้าน

พละกำลังคือความเพียร เป็นพลังเป็นกำลังสำหรับปราบปรามความเกียจคร้าน

อินทรีย์คือสติเป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ ความเผลอสติ

พละกำลังคือสติเป็นเครื่องปราบปรามความหลงลืมสติ

อินทรีย์คือสมาธิเป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่านแห่งจิต

พละกำลังคือสมาธิเป็นเครื่องปราบปรามความฟุ้งซ่านแห่งจิต

อินทรีย์คือปัญญาเป็นเครื่องเป็นใหญ่เหนืออวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงถือเอาผิด

พละกำลังคือปัญญาเป็นเครื่องปราบปรามทำลายอวิชชาโมหะ

เพราะฉะนั้น จึงต้องแบ่งเป็น ๒ หมวด เป็นอินทรีย์หมวด ๑ เป็นพละหมวด ๑

เมื่อพิจารณาดูถึงบุคคลในโลกนี้ บุคคลผู้เป็นใหญ่ก็จะต้องมีพละคือกำลัง

ถ้าๆไม่มีพละคือกำลังก็เป็นใหญ่ไม่ได้ และถ้าไม่มีความเป็นใหญ่ก็มีพละกำลังไม่ได้

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งคู่นี้จึงได้ตรัสอธิบายไว้ว่าต่างอาศัยซึ่งกันและกัน

อินทรีย์คือศรัทธาก็อาศัยพละคือศรัทธา พละคือศรัทธาก็ต้องอาศัยอินทรีย์คือศรัทธา

อีก ๔ ข้อก็เช่นเดียวกัน

 

และได้ตรัสอุปมาไว้ถึงว่าทำไมจึงต้องแยกออกเป็น ๒ หมวดดังนี้

ด้วยแม่น้ำสายเดียวที่ไหลไปทางทิศตะวันออก และได้มีเกาะๆหนึ่งอยู่กลางแม่น้ำ

เมื่อน้ำไหลไปถึงเกาะนั้นก็แยกเป็นสองสาย เมื่อสุดเกาะนั้นแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ธรรมะ ๒ หมวดนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน

แต่เมื่อถึงเกาะก็แยกออกเป็นสองสาย เป็นซ้ายทางซ้ายสายหนึ่ง ทางขวาของเกาะสายหนึ่ง

ตั้งแต่เหนือเกาะจนถึงท้ายเกาะ แยกเป็นสองสาย คือแยกเป็นอินทรีย์สายหนึ่ง

เป็นพละสายหนึ่ง และเมื่อสุดเกาะแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน

ครั้นพบเกาะเข้าอีกก็แยกเป็นสองสาย พ้นเกาะแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมะ จะต้องต่อสู้กับกิเลสมาร มารคือกิเลสในจิตใจ

ด้วยธรรมะ ดังธรรมะในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้ ปฏิบัติในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลัก

โดยที่ต้องอาศัยสัมมัปปธานและอิทธิบาท เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

และเมื่อพบเกาะคือเครื่องขัดขวางการปฏิบัติ ซึ่งเปรียบเหมือนเกาะที่เกิดกลางแม่น้ำ

ทำให้แม่น้ำแยกเป็นสองสาย จึงต้องแยกธรรมะนี้ออกเป็นสองสาย สายอินทรีย์ที่เป็นใหญ่

คือต้องรักษาศรัทธาเป็นต้นให้เป็นใหญ่เหนือกิเลส และต้องมีพละคือกำลัง

หรือมีศรัทธาเป็นต้นนั้นเองเป็นกำลัง สำหรับที่จะบำราบกิเลสมารลงไป

เมื่อเป็นใหญ่ก็ชื่อว่ามีพละคือกำลัง และเมื่อมีพละคือกำลังก็ชื่อว่าเป็นใหญ่

 

เพราะฉะนั้นความเป็นใหญ่กับความมีพละคือกำลังต้องคู่กันไป

ในคราวที่พบกิเลสมารอันจะต้องปราบปราม ซึ่งขัดขวางการปฏิบัติธรรมะ

ก็ต้องมีความเป็นใหญ่ ต้องมีพละคือกำลัง คือต้องมีความเป็นใหญ่เหนือกิเลสมาร

ต้องมีพละกำลังที่จะปราบกิเลสมารลงไปได้ จึงจะสวัสดีจากกิเลสมารที่มาขัดขวาง

แล้วก็ดำเนินการปฏิบัติต่อไป คือต้องมีธรรมะ ๕ ข้อนี้เอง

ต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

 

สัทธานุสารี ธรรมานุสารี

 

พระพุทธเข้าได้ตรัสยกอินทรีย์ ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง

เพราะเมื่อได้สมาทานอินทรีย์ ๕ นี้ให้บริบูรณ์แล้ว ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระอนาคามี หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระสกทาคามี

หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระโสดาบัน หย่อนกว่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม

ที่เรียกว่า สัทธานุสารี มีศรัทธานำ หย่อนกว่านั้นก็หมายถึง

ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า ธรรมานุสารี มีธรรมะนำ ธรรมะก็เป็นธรรมะทางปัญญา

หย่อนกว่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า สัทธานุสารี มีศรัทธานำ

( ตามลำดับน่าจะเป็น สัทธานุสารี ธรรมานุสารี ปัญญานุสารี )

เพราะฉะนั้นธรรมะ ๕ ข้อนี้ จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะ

จะพึงอบรมให้มีขึ้นเป็นพื้นอยู่ในตนอยู่เสมอ ขาดไม่ได้ทั้ง ๕ ข้อ

จึงต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ตั้งแต่ต้นไปโดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats