ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:16
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป110
การปฏิบัติเพื่อปัญญา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ธรรมธาตุ ๔
หลักธรรมดาที่เป็นอกาลิโก ๕
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ๖
อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไร ๗
ความเกิดดับทางกาย ๘
ความเกิดดับทางใจ ๑๐
ความเกิดดับในระยะยาว ๑๐
ความเกิดดับในระยะสั้น ๑๑
อนัตตา ๑๑
ตัณหาอุปาทานในธรรมปฏิบัติ ๑๒
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๔๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๓ /๑ ( File Tape 110 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติเพื่อปัญญา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติพระพุทธศาสนา
เป็นการปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสและกองทุกข์ในตนเอง
และการปฏิบัตินั้นก็ต้องปฏิบัติให้ถึงจิตใจ จิตใจที่มีสรณะ
คือที่แล่นไปสู่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
อันหมายความว่าแล่นไปสู่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
เป็นเครื่องนำการปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
พระพุทธคุณนั้นเมื่อสรุปโดยย่อแล้วก็ดังที่เราทั้งหลายได้สวดกันอยู่ว่า
พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว พุทโธพระผู้ตรัสรู้แล้วอันหมายถึงพระปัญญาคุณ
วิสุทโธ พระผู้บริสุทธิ์แล้วอันหมายถึงพระปาริสุทธิคุณ
๒
กรุณามหัณโว มีพระกรุณาคือช่วยให้พ้นทุกข์ ใหญ่หลวงดั่งห้วงทะเลหลวง เป็นพระกรุณาคุณ
พระพุทธคุณทั้งหมดนี้ย่อมรวมอยู่ในพระธรรมนั้นเอง
เพราะพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น
ก็เพื่อให้ได้ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดถึงธรรมะ ดังที่พระองค์ได้ตรัสรู้
เพื่อให้บรรลุความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ดังที่พระองค์ได้บริสุทธิ์แล้ว
เพื่อให้มีกรุณาช่วยสั่งสอนนำให้เวไนยนิกรคือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้
ให้พ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้นพระพุทธคุณทั้งหมดจึงรวมอยู่ในพระธรรม
และพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงพระธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ได้ทรงบรรลุนี้สั่งสอนเป็นพุทธศาสนา
ผู้สดับฟังตั้งแต่ในเบื้องต้นได้รู้ธรรม ดังที่เรียกว่ามีจักษุดวงตาเห็นธรรมตามพระพุทธเจ้า
เป็นปัญญา และด้วยอำนาจของปัญญานี้ ก็ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
ตามภูมิตามชั้น ก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ดั่งที่ แสดงไว้ในบทพระสังฆคุณว่าปฏิบัติดีแล้ว เป็นต้น
และก็มีกรุณาสั่งสอนสืบพระพุทธศาสนาต่อมาจนถึงบัดนี้ อันนับว่าเป็นนาบุญของโลก
คือตัวพระสงฆ์เองนั้นเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยบุญในองค์ท่านเอง
เหมือนอย่างชาวนาทำนาได้ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉางของตนเอง
แล้วก็แบ่งข้าวที่มีอยู่เต็มยุ้งเต็มฉางนั้นแจกจ่ายแก่ผู้อื่น ให้มีส่วนได้บริโภคข้าวของตนด้วย
นี้จึงเป็นพระสงฆ์ซึ่งเนื่องมาจากพระธรรมที่ทรงสั่งสอน และพระธรรมที่ทรงสั่งสอน
ก็เนื่องมาจากพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ อันเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวจริง
เพราะฉะนั้นจิตใจที่มีสรณะก็คือที่แล่นไปสู่น้อมไปสู่ พระพุทธคุณพระธรรมพระสังฆคุณ
อันจะพึงกล่าวรวมได้ว่าสู่พระธรรมที่ทรงแสดงสั่งสอนดังกล่าวนั้น
เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเป็นเหตุให้ปฏิบัติธรรมตามที่ทรงสั่งสอน
และการปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อปัญญา เพื่อปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์
และเพื่อกรุณาตามพระพุทธคุณนั้นเอง
๓
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาสดับตรับฟัง เพ่งพินิจพิจารณา ทำความเข้าใจให้รู้จัก
พระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณแม้โดยย่อ การปฏิบัติจึงเป็นการปฏิบัติธรรม
และการปฏิบัติธรรมนั้นเมื่อได้ปัญญาเป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
ก็ได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระวักกลิว่า
ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นการเห็นพระพุทธเจ้านั้น ในทางปฏิบัติจึงมิใช่หมายถึงเห็นรูปกายของพระองค์
แต่ว่าหมายถึงเห็นธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ และที่ทรงแสดงสั่งสอน อันเป็นสัจจะคือความจริง
ไม่ใช่เป็นรูปกาย เป็นตัวเป็นตน หรือเป็นกายอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์
และธรรมะที่เมื่อได้เห็นก็ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าดังกล่าวนี้ ก็หมายถึงสัจจะธรรม
ธรรมะที่เป็นตัวความจริง ( เริ่ม ๑๔๓/๑ ) ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้ทรงแสดงสั่งสอน
และธรรมะที่เป็นสัจจะธรรมคือตัวความจริงนั้น ที่ตรัสเอาไว้เองตรัสเรียกว่า ธาตุ นั้น
ธรรมธาตุ
คำว่าธาตุก็คือ ธา-ตุ ธ.ธงสระอา ต.เต่าสระอุ ธาตุ
ธาตุนั้นตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม
พระตถาคตทั้งหลายจะทรงอุบัติขึ้น หรือไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม
ธาตุนั้นคือธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม
ก็คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา ความกำหนดแน่แห่งธรรมดา ก็ตั้งอยู่
ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
พระตถาคตทั้งหลายได้ทรงพบธาตุนั้น ตรัสรู้ธาตุนั้น
ครั้นทรงพบตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนให้เวไนยนิกรชาวโลกได้รู้ด้วย
๔
ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นสัจจะธรรม ธรรมะอันเป็นตัวความจริง
อันเรียกว่า ธาตุ ที่แปลว่าทรงไว้ เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่าธรรม ที่แปลว่าทรงไว้เหมือนกัน
ก็คือทรงไว้ดำรงไว้ หรือทรงอยู่ดำรงอยู่ ไม่มีเปลี่ยนแปลงทุกกาลสมัย
หลักธรรมดาที่เป็นอกาลิโก
เพราะฉะนั้นนี้จึงเป็นหลักใหญ่ในพุทธศาสนา ที่แสดงให้รู้จักธรรมดา
อันเรียกว่าธรรมฐิติหรือธรรมนิยาม ซึ่งธรรมดานี้เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่
เป็นสิ่งที่กำหนดแน่คือกำหนดได้ไม่มีเปลี่ยนแปลง เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
จะเป็นครั้งใดสมัยใดก็ตาม ธรรมดานี้ก็ยังคงมีอยู่ดั่งนี้ ตั้งอยู่ดั่งนี้
และก็สามารถจะกำหนดได้
เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์คือพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ ซึ่งได้ทรงอบรมพระบารมี
มีพระปัญญาบารมีเป็นต้นมาโดยลำดับ จึงทรงกำหนดตรัสรู้ได้ และก็ทรงมาชี้แนะ
ให้เราทั้งหลายได้รู้ ดังที่เราทั้งหลายได้สวดอยู่ในบทสวดต่อท้ายทำวัตรเช้าว่า พหุลานุสาสนี
คือคำสั่งสอนเป็นอันมากของพระพุทธเจ้า ก็คือได้ทรงสั่งสอนว่า
รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา
สังขาราอนิจจา วิญญาณังอนิจจัง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลาย คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปังอนัตตา เวทนาอนัตตา สัญญาอนัตตา สังขาราอนัตตา วิญญาณังอนัตตา
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่อัตาตัวตน
สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ดั่งนี้
๕
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
บทสวดที่เราสวดกันนี้ก็เป็นบทที่แสดงว่าพระพุทธศาสนานั้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้มาก เพื่อให้ทำปัญญา ให้รู้จักขันธ์ ๕
หรือย่อลงเป็นนามรูปว่าไม่เที่ยงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
แต่ว่าในบทสวดนี้ไม่มีว่า สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
หรือ รูปังทุกขัง เวทนาทุกขา เป็นต้น รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นทุกข์
ก็เพราะเหตุ ๒ ประการ
คือประการที่ ๑ คำว่าทุกข์นั้นมีความหมายรวมอยู่ในคำว่าอนิจจะไม่เที่ยงแล้ว
เพราะว่าที่เรียกว่าอนิจจะไม่เที่ยงนั้นก็มีอธิบายว่าเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับ
มีเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา และที่เรียกว่าเป็นทุกข์นั้นก็มีอธิบายว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือต้องเกิดดับ
คำว่าทุกข์มิใช่หมายความถึงทุกขเวทนาอย่างเดียว
ดังที่เราเรียกกันว่าทุกข์สุขซึ่งเป็นเวทนา แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือต้องเกิดต้องดับ
เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายรวมอยู่ในคำว่าอนิจจะด้วยแล้ว
อีกประการหนึ่งในบทที่สวดนั้นได้ตั้งทุกข์ขึ้นไว้เป็นเบื้องต้น
ดังที่เราสวดกันนั้นว่ามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ประกอบไปด้วยความทุกข์
เป็นทุกข์ที่ใช้นำดั่งในคำว่าพ้นกิเลสและกองทุกข์
ซึ่งเป็นความหมายรวมได้ทั้งไม่เที่ยงด้วย ทั้งเป็นอนัตตาด้วย
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์
และในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์นั้น ก็จำที่จะต้องรู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์
๖
จึ่งได้มีแสดงไว้ในคำอธิบายทุกขอริยสัจจ์ อริสัจจข้อที่ ๑ คือทุกข์
ว่า สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธาทุกขา
กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็คือขันธ์ ๕ ดังกล่าวนั้นเอง
เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะชี้แจงว่าเป็นทุกข์อย่างไร
จึงได้อธิบายออกไปว่าก็เพราะเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
ไม่กล่าวถึงทุกข์ซ้ำเข้าอีกในที่นี้ เพราะเหตุว่ายกทุกข์ขึ้นไปเป็นหัวหน้า
ดั่งในอริยสัจจ์ ๔ ก็ยกทุกข์ขึ้นไว้เป็นข้อที่ ๑ และเพื่อจะอธิบายทุกข์อันนี้ออกไปอีก
ก็อธิบายว่า กล่าวโดยย่อก็คือว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้เป็นทุกข์
คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไร
ดังจะพึงเห็นได้ว่าชีวิตของเราทุกๆคนนี้ เป็นตัวทุกข์มาตั้งแต่เกิด
คือว่าเมื่อถือกำเนิดเกิดก่อขึ้น ตั้งแต่ในครรภ์ของมารดาแล้ว
ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ไม่มีหยุดแม้สักหนึ่งวินาที
หรือแม้จะแบ่งเวลาให้ละเอียดกว่าวินาทีออกไปอีกเท่าไรก็ตาม
ความที่ไม่ตั้งอยู่คงที่นั้นก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่มีว่างเว้นจนถึงบัดนี้
และเพราะความที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เพราะความที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ และต้องเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
จึงตรัสสอนเป็นการอธิบายขยายออกไปเป็นไม่เที่ยงเป็นอนัตตา
และในที่ทั่วไปที่ไม่ได้แสดงทุกข์นำดังกล่าวนี้ ก็ใส่ทุกข์ไว้เป็นที่ ๒ ด้วย
เพื่อให้เป็นที่ปรากฏชัด ไม่ทิ้งคำว่าทุกข์ซึ่งเป็นคำสำคัญ
อันความที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาดังกล่าวนี้
๗
ก็เทียบกันได้กับดวงอาทิตย์หรือเวลา เวลานั้นต้องเปลี่ยนไปไม่มีหยุด
ก่อนมาถึงก็เป็นอนาคต มาถึงก็เป็นปัจจุบัน แล้วก็เป็นอดีต เปลี่ยนไปทุกวินาที
นี่แหละคือลักษณะที่เป็นทุกข์ คือลักษณะที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเหมือนเวลา
เรียกว่าหยุดดวงอาทิตย์ได้เมื่อใดเวลาก็อาจจะหยุดได้
แต่นี่หยุดดวงอาทิตย์ไม่ได้ เวลาก็หยุดไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวินาที
หรือจะแบ่งให้ละเอียดออกไปอีกเท่าไหร่ก็ตาม ก็ต้องเปลี่ยนแปลง
ไปตามความละเอียดของเวลาที่แบ่งนั้น ไม่มีหยุดยั้ง
สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ก็เป็นดั่งนี้
คือต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดยั้ง
เหมือนอย่างชีวิตสังขารของเราทุกๆคนนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
ตั้งแต่เป็นการก่อกำเนิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็เปลี่ยนแปลง
เป็นการเพิ่มเติมให้บริบูรณ์เป็นสังขารร่างกาย มีอายตนะ
เมื่อคลอดออกมาก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นเด็กเล็กเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว
เป็นผู้ใหญ่ เป็นกลางคน เป็นคนแก่ แก่หง่อมจนถึงแตกสลาย อันเรียกว่าตายในที่สุด
เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้งตั้งแต่ต้นดังกล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดมาชีวิตร่างกายของทุกคนนี้จึงชื่อว่ารุกล้นเข้าหาความดับ
เดินเข้าสู่ความดับอยู่ทุกขณะไม่มีหยุดยั้ง ดั่งนี้แหละคือลักษณะที่เรียกว่าเป็นทุกข์
และเมื่ออธิบายออกไปแล้วก็ได้ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ
ความเกิดดับทางกาย
ความเกิดความดับนั้นเล่า ว่าถึงความเกิดความดับของร่างกาย
ก็มีอยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน ร่างกายส่วนที่เป็นธาตุมารวมกันเข้า
แม้แต่เป็นธาตุที่แข็งคือเป็นธาตุดิน ชนิดแข็งอย่างกระดูกที่เป็นโครงร่างในร่างกายนี้
แม้ทางแพทย์ในปัจจุบันนี้ก็รับรองว่าเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง คือมีเกิดมีดับ
๘
แต่ว่าเมื่อเกิดดับแล้วก็มีเกิดต่อ แล้วก็ดับแล้วเกิดต่อ แล้วก็ดับ
คือแปลว่าสิ่งที่ถูกเผาๆไหม้ไป สิ้นไป ก็มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา
โดยที่บุคคลจะต้องบริโภคอาหารเข้าไปเพิ่มเติม
และอาหารที่บริโภคเข้าไปเพิ่มเติมนี้ เมื่อเรามองอย่างเผินๆ
จะเห็นว่าเราบริโภคกันวันละหนึ่งมื้อ สองมื้อ สามมื้อ เป็นต้น
แล้วยังมีบริโภคหยุมหยิมต่างๆอีก รวมทั้งน้ำซึ่งต้องดื่มกันอยู่ให้พอเพียง
เหมือนอย่างว่าวันหนึ่งบริโภคเพียงสองครั้งสามครั้งสี่ครั้งเป็นต้น
แต่อันที่จริงนั้นบริโภคอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
โดยที่ต้องหายใจเอาอากาศอันประกอบด้วยธาตุทั้งหลายเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย
เพราะร่างกายที่เป็นส่วนสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่ต้องถูกเผาไหม้ไป สิ้นไปหมดไปทุกลมหายใจ
จึงต้องหายใจเอาอากาศที่ประกอบด้วยอาหารต่างๆ เข้าไปบำรุงเลี้ยงเพิ่มเติมไว้
และก็เป็นอยู่ดั่งนี้ตลอดชีวิต แปลว่าเราต้องกินอาหารกันอยู่เพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายนี้
ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่วันละสองมื้อสามมื้อเท่านั้น ต้องบริโภคอาหารเข้าไปเลี้ยงกันอยู่
ทุกลมหายใจเข้าออก หยุดเพียงสองนาทีสามนาทีชีวิตนี่ก็จะดำรงอยู่ไม่ได้แล้ว
คือหยุดหายใจสองนาทีสามนาทีชีวิตนี้ก็จะหยุดดำรงอยู่ไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้นความที่เกิดดับของร่างกายนี้จึงมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
และร่างกายทุกส่วนของเรานี้ทางแพทย์ในปัจจุบันนี้ก็บอกแล้วว่า
โครงกระดูกของเราในบัดนี้นั้นไม่ใช่โครงกระดูกเมื่ออดีตที่ล่วงมา
โครงกระดูกในอดีตที่ล่วงมานั้นถูกเผาไหม้ไปหมดแล้ว
แต่ว่าโครงกระดูกที่อยู่ในบัดนี้นั้นเป็นของใหม่ ที่ได้รับจากอาหารเข้าไปเสริมสร้างเอาไว้
ทุกส่วนในร่างกายก็เป็นเช่นนี้ เป็นความเกิดดับที่มีสันตติคือความสืบต่อ
อันทำให้ชีวิตดำรงอยู่ ถ้าขาดสันตติคือความสืบต่อเมื่อใด ชีวิตก็สิ้นสุดเมื่อนั้น
และสันตติคือความสืบต่อชีวิตของบุคคลนี้ก็มีระยะที่ต่างๆกันตามคติธรรมดา
ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ ส่วนมากก็ไม่เกินร้อยปี เกินร้อยปีไปบ้างก็มีน้อย
๙
ความเกิดดับทางใจ
ส่วนความเกิดดับของจิตใจนั้นยิ่งเร็วยิ่งกว่าร่างกาย
เพราะว่ากระแสจิตของบุคคลนี้ที่รับอารมณ์หนึ่งๆ มีจำนวนมากมาย
เพราะอารมณ์นั้นเข้าไปสู่จิตใจทางอายตนะทั้ง ๖ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
โดยเป็นอารมณ์คือรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ
และเป็นธรรมะคือเรื่องราว สลับซับซ้อนกันมากมาย
แต่จิตนี้รับอารมณ์ได้คราวละ ๑
เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์ที่ ๑ เกิดดับ อารมณ์ที่ ๒ จึงเข้ามา
เช่นว่าเห็นรูปทางตาเป็นอารมณ์ที่ ๑ เกิดดับ
และอารมณ์ที่ ๒ คือเสียงที่เข้าทางหูจึงเข้าสู่จิต แล้วเมื่ออารมณ์ที่ ๒ นี่เกิดดับ
แล้วอารมณ์ที่ ๓ ทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจจึงเข้าสู่จิตใจ
จิตใจรับอารมณ์คราวละ ๑ เท่านั้น แต่ว่าอารมณ์ตั้งหลายร้อยหลายพันหลายหมื่น
ซึ่งคนทั้งหลายได้เห็นอะไรกันก็เยอะแยะวันหนึ่งๆ ได้ยินอะไรก็มากมาย
ได้กลิ่นอะไรก็มาก ได้รสทางลิ้นก็มาก ถูกต้องอะไรทางกายก็มาก
ยิ่งใจคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกมากมาย อารมณ์จึงมีมากมาย
แต่ว่าจิตรับได้คราวละหนึ่งๆ ก็แสดงว่าอารมณ์นี้เกิดดับ เกิดดับ
เกิดดับ อย่างรวดเร็วมาก จิตจึงสามารถรับได้มาก
เพราะฉะนั้น ความเกิดดับของทางร่างกายและทางจิตใจดังกล่าวมานี้
จึงมีอยู่เป็นประจำ และมีอยู่อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าช้า
ความเกิดดับในระยะยาว
แต่ว่าในการสอนให้พิจารณานั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสอนให้พิจารณา
ในเรื่องความไม่เที่ยงนี้ในระยะยาวก่อน เช่นว่า ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
๑๐
ปฐมวัยก็เกิดเป็นปฐมวัย ปฐมวัยดับก็เป็นมัชฌิมวัย ก็เกิดเป็นมัชฌิมวัย
มัชฌิมวัยดับก็เป็นปัจฉิวัย ก็เกิดเป็นปัจฉิมวัย ตายก็เป็นสิ้นสุดของปัจฉิมวัย
เมื่อแบ่งเป็นระยะยาวดั่งนี้ก็เห็นได้ชัด
ความเกิดดับในระยะสั้น
แต่ว่าต้องหัดพิจารณาให้เห็นว่าอันที่จริงนั้นไม่ใช่ยาวอย่างนั้น
แต่ว่าเกิดดับๆคือสั้นมาก ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริง นี่เป็นอนิจจะ
และที่เป็นอนิจจะดั่งนี้ก็คือเพราะเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้
เหมือนอย่างเวลาที่เปลี่ยนไปไม่ตั้งอยู่คงที่ อาทิตย์ๆไม่มีหยุดเวลาก็ไม่มีหยุด
ความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีหยุด นี่แหละคือลักษณะที่เรียกว่าเป็นทุกข์
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่าอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
อนัตตา
และทางที่จะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนัตตาได้นั้น
ก็พิจารณาเช่นว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้
จะบังคับให้เที่ยงก็บังคับไม่ได้ จะบังคับไม่ให้เป็นทุกข์ดังกล่าวก็บังคับไม่ได้
หรือว่าจะบังคับให้เป็นสุขก็บังคับไม่ได้ ให้เป็นสุขยั่งยืนตลอดไปก็บังคับไม่ได้
เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ดั่งนี้ จนถึงจะต้องตายก็บังคับให้ไม่ตายไม่ได้
จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าเป็นตัวเราของเราจริงแล้วต้องบังคับกันได้
ให้เที่ยงก็ได้ ให้เป็นสุขก็ได้ แต่นี้บังคับไม่ได้จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน
แต่ว่าบรรดาสิ่งที่เป็นสังขารนั้น
ประกอบด้วยลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
ส่วนที่เป็นวิสังขารคือสิ่งที่ไม่ใช่เป็นสังขาร ที่ตรัสยกไว้คือนิพพาน
๑๑
เป็นอสังขตธรรม ธรรมะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นสังขาร
สิ่งที่เป็นวิสังขารไม่ใช่สังขารดังกล่าวนี้ ไม่มีลักษณะที่เรียกว่าไม่เที่ยง
ไม่มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นทุกข์ แต่ว่ามีลักษณะที่เรียกว่าเป็นอนัตตา คือไม่ใช่อัตตาตัวตน
( เริ่ม ๑๔๓/๒ ) เพราะว่าสิ่งที่เป็นอัตตาตัวตนนั้นย่อมเกิดจากอุปาทานคือความยึดถือ
ยึดถือเพราะเหตุว่ามีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงยึดถือ
ยึดถือว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา
ตัณหาอุปาทานในธรรมปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม หากไปยึดถือธรรมะปฏิบัติด้วยประการใด
ประการหนึ่งเข้าแล้ว ก็เรียกว่ายังมีตัณหาอยู่ในธรรมะปฏิบัติ
ยังมีอุปาทานคือความยึดถืออยู่ในธรรมะปฏิบัติ
เหมือนอย่างธรรมปฏิบัตินี้เป็นตัวเราเป็นของเรา ก็ปฏิบัติไปได้
และอาจจะต้องมีความยึดถือในขั้นปฏิบัติเบื้องต้นมาไปโดยลำดับ
แต่ว่าเมื่อจะบรรลุถึงนิพพานจริงๆแล้วต้องละความยึดถือดังกล่าวนี้ทั้งหมด
จึงจะบรรลุนิพพานได้ ถ้ายังมีความยึดถืออยู่แล้วก็บรรลุนิพพานไม่ได้
เพราะฉะนั้น วิสังขารคือนิพพานจึงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
ผู้ปฏิบัติจะต้องปล่อยความยึดถือในการปฏิบัติ กิเลสจึงจะสิ้นไป
เพราะเมื่อมีความยึดถืออยู่ก็ยังมีตัณหาอยู่ ก็ยังไม่สิ้นกิเลส กิเลสยังยึดอยู่
ต้องปล่อยตัวความยึดนั้นในที่สุดแล้วจึงบรรลุนิพพานได้
แต่ว่าในการปล่อยความยึดในที่สุดจะบรรลุนิพพานนั้น
จะต้องมีความยึดปฏิบัติในเบื้องต้นไปก่อน
เพราะจะไม่ยึดอะไรเสียเลยแล้วก็ปฏิบัติไม่ได้ เหมือนอย่างการขึ้นบันใด
ก่อนที่จะขึ้นถึงบันใดขั้นสุดท้ายนั้น ผู้ขึ้นบันใดจะต้องยึดบันใดไว้ก่อน
๑๒
แต่ต้องปล่อยต้องขึ้นไปทีละขั้น ขึ้นบันใดขั้นที่หนึ่ง เท้าก็ต้องเหยียบบนบันใดขั้นที่หนึ่งนั้น
แต่ว่าถ้าเท้ายังเหยียบอยู่ไม่ปล่อยขั้นที่หนึ่งแล้ว ก็จะขึ้นขั้นที่สองไม่ได้
จะต้องปล่อยขั้นที่หนึ่งขึ้นขั้นที่สอง ถึงขั้นที่สองแล้วเท้าเหยียบอยู่บนขั้นที่สอง
ถ้าเหยียบอยู่นั้นไม่ปล่อยก็ขึ้นต่อไปไม่ได้ ต้องปล่อยขั้นที่สองขึ้นขั้นที่สาม
จนถึงขั้นที่สุดแล้วก็ต้องเหยียบขั้นที่สุดอีกเหมือนกัน
แต่ว่าถ้ายังเหยียบอยู่ขั้นที่สุด ยังยึดอยู่ขั้นที่สุดแล้วก็เข้าห้องไม่ได้
ฉะนั้น ก็ต้องปล่อยขั้นที่สุดนั้นจึงจะเข้าห้องได้ ต้องมีความยึดและมีความปล่อยดั่งนี้
ไปโดยลำดับ จนถึงปล่อยในที่สุดจึงจะเป็นนิพพานได้
อันนี้แหละจึงเรียกว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน คือจะไปยึดถือไม่ได้
เพราะธรรมะนี้เป็นธรรมดา นิพพานก็เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติในทางปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕
ให้รู้จักอนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ดั่งนี้แล้ว
จะได้ปัญญาอันเป็นเครื่องปล่อยวางไปโดยลำดับ จะได้ดวงตาเห็นธรรม
ซึ่งเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วก็เห็นพระพุทธเจ้า ดั่งพระพุทธภาษิตตรัสไว้นั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป
*
สมมติบัญญัติ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความหมายของคำว่าสิกขา ๒
สมมติ บัญญัติ ๓
ที่ตั้งของสมมติบัญญัติ ๔
สมมติบัญญัติในภาษาธรรมะ ๕
ผู้มุ่งธรรมปฏิบัติอาจจะไม่ต้องเรียนมาก ๗
ปริยัติ ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความ
ม้วนที่ ๑๔๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๔ /๑ ( File Tape 110 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สมมติบัญญัติ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การอบรมจิตนั้นมาจากคำว่าจิตตภาวนา
จิตก็คือจิตใจ ภาวนาก็คืออบรม รวมกันเป็นจิตตภาวนาก็คือการอบรมจิต
คำนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้เอง และก็มีความหมายได้ทั้งสมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา
หรือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าจิตตภาวนา
หรือเรียกว่าบำเพ็ญสมาธิ หรือสมาธิภาวนาก็ได้ และก็ไม่ใช่สมาธิอย่างเดียว
หมายถึงวิปัสสนากรรมฐาน หรือปัญญาภาวนา อบรมปัญญาด้วย
ความหมายของคำว่าสิกขา
อันการศึกษาคือการเรียนและการปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้น
เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วก็คือไตรสิกขา ที่แปลว่าสิกขา ๓ คำว่า สิกขา เป็นภาษาบาลี
๒
ภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา ไทยเอาคำสันสกฤตมาใช้แต่ว่าเปลี่ยนเสียงเรียกว่า ศึกษา
เพราะว่าจะพูดกันว่า ศิกฺษา ก็ไม่ถนัดเหมือนพูดว่า ศึกษา จึงมาใช้คำว่าศึกษา
และความหมายเดิมของคำนี้ก็มีความหมายถึงทั้งทางด้านเรียนให้รู้
ดั่งที่เรียกกันว่าเป็นภาคทฤษฎี และหมายถึงการปฏิบัติ
สมมติ บัญญัติ
เพราะฉะนั้นคำว่าศึกษาหรือสิกขาดังกล่าวนี้จึงมีความหมายทั้งเรียนทั้งปฏิบัติ
เพราะว่าเบื้องต้นก็จะต้องมีการเรียนก่อน คือการเรียนให้รู้
และการเรียนให้รู้นี้ต้องการให้รู้ทั้งสิ่งที่มีอยู่ อันเรียกว่าสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง
และให้รู้ทั้งสมมติบัญญติ คือว่าชื่อที่เรียกที่แต่งตั้งขึ้นสำหรับเรียก สำหรับพูดให้รู้กัน
แต่ว่าสมมติบัญญติที่เป็นชื่อสำหรับเรียกสำหรับพูดให้รู้กันนี้
ก็จะต้องมีที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น เช่นว่า โบสถ์ บริเวณโบสถ์ ต้นไม้ต่างๆ
เมื่อไปโบสถ์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ หรือไปนมัสการพระ ก็จะต้องไปพบสิ่งต่างๆ
เช่นก่อนที่จะถึงโบสถ์ก็จะต้องพบต้นไม้หลายต้น เช่นต้นพิกุลและต้นไม้อย่างอื่น
จะต้องพบกำแพงแก้วที่ล้อมรอบโบสถ์เป็นกำแพงเตี้ยๆ แล้วก็จึงจะถึงตัวโบสถ์
ซึ่งจะต้องขึ้นบันใด ขึ้นบันใดแล้วก็จะต้องเข้าประตูโบสถ์เข้าไปข้างใน ก็จะพบพระพุทธปฏิมา
เช่นพระพุทธชินสีห์ และพระโตซึ่งอยู่ข้างหลัง ประดิษฐานอยู่เป็นประธาน
และพบสิ่งอื่นๆเช่นจะพบพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสองพระองค์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าหนึ่งพระองค์ พบโต๊ะบูชา เครื่องบูชา
และเบื้องบนขึ้นไปนั้นซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธปฏิมาใหญ่ทั้งสององค์
ก็ยังมีพระพุทธปฏิมาซึ่งเป็นพระพุทธรูปพระพุทธลีลา หรือพระห้ามญาติ
และพระปางรำพึง และยังมีสิ่งอื่นๆอีกเป็นอันมาก
สิ่งเหล่านี้จะต้องมีชื่อเรียก และชื่อที่เรียกนี้เรียกว่าสมมติบัญญัติ
๓
สมมตินั้นคือความที่รับรู้ร่วมกัน มาจากคำว่า สัง ที่แปลว่าร่วมกัน
กับ มะติ ที่แปลว่ามติหรือความรับรู้ รวมกันเป็น สมมติ คือรู้ร่วมกัน รับรู้ร่วมกัน
และคำว่ามตินี้ภาษาไทยก็นำเอามาใช้ ถึงการที่แสดงการรับรองร่วมกัน
ในทางรับก็ตาม ในทางปฏิเสธก็ตาม เมื่อเป็นมติ ดั่งที่เรียกว่ามติที่ประชุม
สัง ก็คือว่าร่วมกัน นี่เรียกว่า สมมติ
ดังเช่นต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นพิกุล
ก็จะต้องมีสมมติคือการที่จะต้องรับรู้ร่วมกัน ทำให้เรียกร่วมกันว่าต้นพิกุล
และเมื่อเรียกว่าต้นพิกุลแล้ว ก็เข้าใจ จะเป็นสมมติของคนเดียวไม่ได้
ถ้าเป็นของคนเดียวแล้วจะเรียกว่าร่วมกันไม่ได้ จะเป็นเฉพาะคน
เช่นใครจะไปตั้งชื่อต้นพิกุลว่าเป็นอย่างอื่น ผู้ใดตั้งขึ้นผู้นั้นก็อาจเรียกได้
แต่ว่ารู้คนเดียวคนอื่นไม่รับรู้ด้วย เพราะไม่เข้าใจกัน การที่รับรู้ร่วมกันดั่งนี้แหละคือสมมติ
ไม่ใช่หมายความว่า สมมติว่า หรือ ตี๊ต่างว่า ดั่งที่เราพูดกันในภาษาไทย
แต่มีความหมายดังกล่าวนั้น
บัญญัตินั้นก็คือแต่งตั้ง คือจะต้องแต่งตั้งว่าให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นพิกุล
แต่งตั้งให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นมะม่วง แต่งตั้งให้สิ่งนี้เรียกว่ากำแพงแก้ว
แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าบันใด แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าประตู แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าโบสถ์
เหล่านี้คือบัญญัติ คือบัญญัติขึ้นมา แต่งตั้งขึ้นมาให้เรียกว่าอะไร นี่คือบัญญัติ
และเมื่อบัญญัติขึ้นแล้ว รับรู้ร่วมกันก็เรียกว่าสมมติ
เพราะฉะนั้น เราจึงพูดควบกันว่าสมมติบัญญัติ
ที่ตั้งของสมมติบัญญัติ
การเรียนนั้นก็คือเรียนให้รู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติด้วย ให้รู้จักสมมติบัญญัติด้วย
ให้รู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้นก็คือให้รู้จักว่า นี่เป็นสิ่งนี้ นี่เป็นสิ่งนี้
๔
แล้วก็มีสมมติบัญญัติว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้
ที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้นตามตัวอย่างที่กล่าวมาก็คือ อย่างเช่นต้นไม้ดังกล่าว
กำแพงแก้วดังกล่าว บันใด ประตู และตัวโบสถ์ดังกล่าว และสิ่งต่างๆในโบสถ์ดังกล่าว
นั้นเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ จะต้องมีที่ตั้งเหล่านี้จึงจะมีสมมติบัญญัติขึ้นได้
ถ้าไม่มีที่ตั้งเหล่านี้ก็ไม่ต้องมีสมมติบัญญัติ
แม้บุคคลเรานี้เองก็มีสมมติบัญญัติ คือบุคคลเรานี้เองนั้นเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ
เช่นเป็นหญิงเป็นชายเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ นี่เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ
และก็ต้องมีสมมติบัญญัติ คือต้องแต่งตั้งว่าลักษณะอย่างนี้เป็นหญิง ลักษณะอย่างนี้เป็นชาย
แต่งตั้งขึ้นมาว่าให้เป็นหญิงเป็นชาย และเมื่อแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นหญิงเป็นชายแล้ว
ก็ยังมีแต่งตั้งชื่อสำหรับเรียกว่าคนนั้นชื่อนั้น คนนี้ชื่อนี้ นี้คือบัญญัติแต่งตั้งขึ้นมา
และจะต้องมีสมมติคือรับรู้ร่วมกัน เรียกร่วมกันว่าเป็นหญิงเป็นชาย
ว่าเป็นคนชื่อนั้น เป็นคนชื่อนี้ และเมื่อพูดกันแล้วก็รู้จัก ว่าเป็นคนนั้นเป็นคนนี้
ดั่งนี้เป็นสมมติ ต้องคู่กันดั่งนี้
สมมติบัญญัติในภาษาธรรมะ
และเมื่อมีที่ตั้งของสมมติบัญญัติขึ้น และมีสมมติบัญญัติขึ้นดังนี้ ทุกคนจึงต้องเรียน
คือหมายความว่าต้องรู้จัก ได้ฟัง คือรู้จักจากการฟัง รู้จักจากการเห็นด้วยตา
รู้จักจากการจำได้หมายรู้ นี่เป็นการเรียน ซึ่งทุกๆคนเรานี้ก็เรียนกันมาดั่งนี้ตั้งแต่เกิดขึ้นมา
รู้เดียงสาพ่อแม่ก็เริ่มสอนให้รู้จักเรียกพ่อเรียกแม่ ให้รู้จักสิ่งนั้นให้รู้จักสิ่งนี้
คือให้รู้จักสิ่งที่เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติด้วย ให้รู้จักตัวสมมติบัญญัติด้วย
เช่นว่าคนนั้นเป็นพ่อคนนี้เป็นแม่ สิ่งนั้นเรียกว่าอย่างนั้น สิ่งนี้เรียกว่าอย่างนี้
นี้คือการเรียน การเรียนให้รู้จักดั่งนี้เป็นการเรียนมาตั้งแต่รู้เดียงสาเป็นต้นมา
และมาถึงธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องเรียน
ต้องเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติที่เป็นภาษาธรรมะ
๕
เช่น คำว่าจิตตภาวนา คำว่าศีล คำว่าสมาธิ คำว่าปัญญา คำว่าขันธ์ ๕
คำว่านามรูป คำว่าสมถะ คำว่าวิปัสสนา ดั่งนี้เป็นต้น
จะต้องเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติของธรรมะ ดังชื่อที่กล่าวมานั้น
และจะต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติ เช่นเมื่อได้รู้จักคำว่าจิตตภาวนาซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ
ก็ต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าจิตนั้นคืออะไร ภาวนานั้นคืออะไร
และเมื่อรู้จักว่านามรูป จำได้ หรือรู้จักว่าขันธ์ ๕ ก็ต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติอันนี้
ว่านามคืออะไร รูปคืออะไร ซึ่งเป็นตัวที่ตั้งของสมมติบัญญัติ
ให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นคืออะไร หมายถึงอะไร ดั่งนี้
นี้แหละเรียกว่าเป็นการที่เรียนให้รู้จักธรรมะ ก็คือหัวข้อธรรม
คือที่เป็นสมมติบัญญัติ ให้รู้จักอรรถะคือเนื้อความของหัวข้อธรรมนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อฟังธรรมะได้ยินคำว่าจิตก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร
ได้ยินคำว่าภาวนาก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่านามรูปก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร
เมื่อได้ยินคำว่าขันธ์ ๕ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ดั่งนี้เป็นต้น เป็นข้อที่ต้องเรียนทั้งนั้น
คือจะต้องศึกษาอันเป็นการเรียน คือสำเหนียกกำหนดให้รู้จักหัวข้อ
หรือชื่ออันเป็นสมมติบัญญัติ แล้วต้องให้รู้จักความหมายอันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น
เหมือนอย่างที่เมื่อเรารู้จักชื่อว่าต้นมะม่วงเราก็นึกออกถึงว่า
ต้นมะม่วงนั้นมีต้น มีใบ มีผล เป็นยังไง ต้นพิกุลก็รู้จักว่ามีต้นเป็นอย่างไรมีดอกเป็นอย่างไร
เมื่อได้ยินคำว่ากำแพงแก้วก็รู้จักว่าหมายถึงอะไร ได้ยินคำว่าโบสถ์ก็รู้จักว่าหมายถึงอะไร
ได้ยินว่าผู้ชายได้ยินผู้หญิง ได้ยินว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ก็รู้จักหรือเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงใครผู้ใด
ธรรมะก็เช่นเดียวกัน จะต้องเรียนให้รู้จักชื่อธรรมะคือสมมติบัญญัติ
ที่เรียกว่าข้อธรรม ที่เป็นสมติบัญญัติ ให้รู้จักอรรถะคือเนื้อความว่าหมายถึงอะไร
ของชื่อธรรมะนั้นๆ อันนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียน เรียนให้รู้จัก
๖
ซึ่งต้องอาศัยความจำเป็นที่ตั้ง ถ้าจำไม่ได้แล้วก็เรียกไม่ถูก
บางทีอาจจะเข้าใจ เช่นเห็นต้นมะม่วงเข้าก็เข้าใจว่านี่ต้นมะม่วง แต่เรียกชื่อไม่ถูกว่าต้นอะไร
ดังนี้ก็มี และเมื่อเรียกชื่อไม่ถูกแล้ว การที่จะไปพูดจากับใคร หรือไปฟังใครพูด ก็รู้เรื่องกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นการเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติซึ่งเป็นข้อธรรมะ คือสมมติบัญญัติ
เป็นภาษาสำหรับเรียก และการเรียนให้รู้จักความหมายของสมมติบัญญัตินั้น
จึงเป็นข้อสำคัญเป็นเบื้องต้น ( เริ่ม ๑๔๔/๑ ) ทำให้มีความเข้าใจ
ผู้มุ่งธรรมปฏิบัติอาจจะไม่ต้องเรียนมาก
คนที่มุ่งปฏิบัติธรรมะนั้น
ถ้ามุ่งเพียงเพื่อปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา
อาจจะไม่ต้องเรียนให้รู้จักให้จำได้ซึ่งสมมติบัญญัติของธรรมะนี้มากมายนัก
ให้รู้แต่วินัย จำพระวินัยที่จะพึงปฏิบัติได้ ทำได้ถูก ไม่ผิดวินัย
แม้ว่าจะจำข้อไม่ได้ทั้ง ๒๒๗ ถ้าเป็นพระเป็นเณร หรือว่าจำไม่ได้ถึงศีล ๘
แม้ว่าศีล ๕ เองก็ตาม แต่ว่าเมื่อต้องการที่จะรักษาศีล
และเมื่อรักษาจิตอันนี้ไว้ให้ดีแล้ว ไม่ให้ลุอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ
รักษากายวาจาใจนี้ให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ก็เป็นศีลได้
แม้จะแจกไม่ถูกว่า ๕ ข้อ ๘ ข้อ ๑๐ ข้อ ๒๒๗ ข้อ ก็เป็นศีลได้
คือรักษาจิตใจนี้ให้ดีไว้อย่างเดียว
และแม้สมาธิก็เหมือนกัน
อาจารย์สอนให้ทำสมาธิเพียงวิธีเช่นว่า รวมใจเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออก
หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ควบคุมใจไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไป
หรือว่าพิจารณาว่ากายนี้เท่าที่ตามองเห็น ก็เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ก็กำหนดอาการทั้ง ๕ นี้ว่า ไม่ควรจะนิยมยินดีชื่นชม เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด
และไม่งดงามอยู่โดยธรรมชาติ จึงต้องมีการชำระ มีการตบแต่งกันอยู่เสมอ
๗
แต่ก็ไม่สามารถจะชำระให้สะอาด จะให้งดงามกันจริงๆได้
ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน ก็เป็นสมาธิได้
และเมื่อมองเห็นสัจจะคือความจริงว่า
สิ่งทั้งหลายที่ผสมปรุงแต่งกันเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ อันเรียกว่าสังขาร
เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงคือต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น
ถูกความเกิดดับนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นอนัตตาคือไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
เพราะเป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นของที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวนั้น
ก็กำหนดเข้ามาพิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ จนความจริงอันนี้ปรากฏขึ้นแก่ปัญญา
ที่เป็นตัวรู้ ว่าไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง เป็นอนัตตาจริง ดั่งนี้ก็ใช้ได้
ปัญญาที่รู้ดั่งนี้แหละเป็นตัววิปัสสนา หรือเป็นตัวปัญญา
ส่วนสมาธิคือความตั้งใจ ตั้งใจกำหนดดูสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตานั้น ก็เป็นตัวสมาธิ
อาการที่จิตใจเป็นปรกติมีความสำรวมระวัง มีความเป็นปรกติ
ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ อันมีลักษณะเป็นความสงบ ดั่งนี้ก็เป็นตัวศีล
ก็ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาได้ อาจารย์แม้บอกเพียงเท่านี้ก็นำไปปฏิบัติได้
ปริยัติ
แต่ว่าสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนให้รู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ เช่นในการเรียนธรรมวินัย
วินัยก็คือวินัยที่มาในพระปาติโมกข์สำหรับภิกษุสามเณร
สามเณรนั้นก็มีวินัยที่น้อยข้อเข้า แต่ก็ปฏิบัติอนุโลมทั้งภิกษุในวินัยอีกเป็นอันมาก
สำหรับฆราวาสนั้นก็เรียนให้รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ ซึ่งรับไปปฏิบัติ
ในส่วนธรรมะนั้นก็เรียนให้รู้จัก เช่นว่า ธรรมะที่เป็นหมวด ๒
ก็เรียนให้รู้จักตั้งแต่ธรรมะที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว
๘
ดังนี้เป็นต้นไปทุกๆหมวดโดยลำดับ ก็จะทำให้รู้จักสมมติบัญญัติ หัวข้อธรรมะ
คือสมมติบัญัติของธรรมะมากขึ้น ของวินัยมากขึ้น
แม้ว่าในข้อที่ยังปฏิบัติไม่ได้ไม่ถึง ก็รู้หัวข้อธรรมะซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ
และรู้จักความหมายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอธิบายไว้ เช่นว่า อริยสัจจ์ ๔
มรรคผลนิพพาน อันเป็นธรรมะที่เป็นธรรมปฏิบัติเพื่อผลที่มุ่งหมายในทางพระพุทธศาสนา
ก็จะจำข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญัตินี้ได้ และรู้ความหมาย สามารถที่จะไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง
ให้เข้าใจในสมมติบัญญัติดังกล่าวนั้น และสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมะเข้าใจ
ในเมื่อพระเทศน์หรือหนังสือธรรมะแสดง หนังสือธรรมะที่แสดงหรือที่เขียนไว้หรือที่เทศน์นั้น
ก็ต้องใช้ข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญญัตินี้ทั้งนั้น
และในการเทศน์กัณฑ์หนึ่งๆนั้น หรือในการแสดงคราวหนึ่งๆนั้นจะต้องใช้ข้อธรรม
ที่เป็นสมมติบัญญัติดั่งนี้มากมาย สมมติว่าจะต้องใช้ถ้อยคำเหล่านี้ถึงยี่สิบสามสิบคำ
ถ้าหากว่าผู้ฟังไม่ได้ศึกษา ให้รู้ข้อธรรมที่เป็นสมมติบัญญัติและความหมายแล้ว
จึงฟังเทศน์ไม่เข้าใจ และแม้ว่าจะใช้อย่างน้อยที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เพราะไม่มีภาษาไทย
ผู้ฟังก็จะไม่เข้าใจ เพราะว่าต้องใช้ภาษาธรรมะนี้มาเป็นภาษาไทยเป็นอันมาก
เช่นพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ นี่ก็เป็นภาษาธรรมะ จะต้องศึกษาให้จำได้ แล้วก็ให้เข้าใจ
ว่าพระพุทธะนั้นหมายถึงใคร อะไร ธรรมะ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เหมือนกัน
หรือแม้ว่าศีลธรรมก็เป็นภาษาธรรมะ จะต้องศึกษาให้รู้จัก
ให้จำถ้อยคำที่เป็นสมมติบัญญัติ และให้รู้ความหมาย
และในการที่จะเขียนหรือพูดกัน จะอธิบายไปทุกคำนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
การเทศน์หรือการแสดงทุกคราวนั้น ก็จะต้องพูดหรืออธิบาย
จำเพาะข้อใดข้อหนึ่งที่มุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังได้สดับในโอกาสนั้นๆ
แต่ว่าคำที่จะต้องพูดพาดพิงถึงไปนั้นมีมากมายหลายคำ ซึ่งเป็นคำที่ประกอบกัน
จะอธิบายไปทุกคำๆที่พูดนั้นหาได้ไม่ ไม่มีเวลา
๙
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รู้ดังกล่าวซึ่งเรียกว่าเป็นปริยัติ
นี่แหละคือเป็นปริยัติ คำที่แสดงออกมาเป็นปริยัติทั้งนั้น
พระดำรัสสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกคำที่ฟังก็เป็นปริยัติทั้งนั้น
คือจะต้องให้รู้จักข้อธรรมที่เป็นสมมติบัญญัติ และจะต้องให้เข้าใจในความหมาย
เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน
จึงได้ทรงนำเอาภาษาคือข้อธรรมะถ้อยคำที่พูดนั้น มาใช้ในคำสั่งสอนของพระองค์เป็นอันมาก
พระองค์จะทรงแต่งตั้งคำขึ้นใหม่เป็นข้อธรรม คือสมมติองค์ทรงสมมติคำขึ้นใหม่
แต่ว่าถ้าผู้ฟังไม่รับรู้ด้วย คำที่สมมติแต่งขึ้นใหม่นั้นก็ไม่เป็นสมมติ
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จึงต้องทรงใช้คำที่เป็นสมมติบัญญัติของโลกนั่นแหละ
มาแสดงเป็นภาษาธรรมะในพุทธศาสนา
คำว่ามรรคผลนิพพานก็ดี คำว่าอรหันต์ก็ดี คำว่าพระพุทธเจ้า
หรือพระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นคำที่โลกเขาใช้กันมาแล้วทั้งนั้น
แม้แต่คำว่า กรรมฐาน ก็เป็นคำที่โลกเขาใช้กันมา ซึ่งเขามีความหมายว่าการงาน
เช่นไทยเราเรียกว่ากสิกรรม กรรมคือการทำนา ไถหว่าน
แต่ว่าภาษาเดิมซึ่งเป็นโลกเขาเรียกว่า กสิกรรมฐาน
คือการงานทุกอย่างเป็นกรรมฐานทั้งนั้น พาณิชย์กรรมก็พาณิชยกรรมฐาน ดังนี้เป็นต้น
เมื่อเอาคำที่โลกใช้มาใช้ เขาจะต้องมีความเข้าใจทันที
เช่นว่ากรรมฐานเขาจะต้องมีความเข้าใจทันทีว่าหมายถึงการงานที่ทำ
แล้วจึงมาทรงอธิบายว่ากรรมฐานที่พระองค์ตรัสนี้ไม่ใช่หมายความว่าไปทำนาไปทำการค้า
แต่หมายความว่ามาทำจิตใจให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา กำจัดกิเลสและกองทุกข์
มาทรงอธิบายใหม่ให้มีความหมายมาในทางปฏิบัติเป็นธรรมปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นปริยัติคือการเรียนนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จำเป็นที่จะต้องมี
และการที่ปฏิบัตินั้นเมื่อฟังอธิบายเพียงสั้นๆ ก็นำไปปฏิบัติได้
๑๐
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่
จึงไม่ต้องการจะเรียนให้รู้สมมติบัญญัติหัวข้อธรรมะ
ต้องการที่จะเรียนเพียงข้อที่จะนำไปปฏิบัติเท่านั้น
เช่นว่าสำรวมกายวาจาใจ ให้เข้าใจว่าสำรวมยังไงเป็นศีลขึ้นมา
ตั้งจิตรวมเข้ามาให้สงบเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสมาธิ
รู้จักเกิดดับของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นปัญญา ให้มีความเข้าใจในหลักเหล่านี้พอสมควร
แล้วไปปฏิบัติได้ เรียกว่าอธิบายกันเพียง ๑๕ นาทีก็นำไปปฏิบัติได้
ปฏิบัติกันเจ็ดวันก็ไม่จบ เดือนหนึ่งก็ไม่จบ ปีหนึ่งก็ไม่จบ
และจะได้ความรู้จากการปฏิบัตินี้เองไปโดยลำดับ
แต่ว่าเมื่อไปพบธรรมะที่เป็นสัจจะขึ้นเองจากการปฏิบัติแล้ว จะไม่รู้สมมติบัญญัติ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นั่นคืออะไร ก็ไม่อาจจะมาอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้
หรือว่ามาอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้ ผู้ที่ฟังนั้นก็จะต้องรู้จักจับความ ว่าท่านหมายถึงอะไร
แล้วก็มาใส่สมมติบัญญัติ หรือเป็นข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญญัติเอาเอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*