ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:14
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป107
อปัณณกปฏิปทา (๗)
อัปปมัญญาพรหมวิหาร
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
พรหมวิหารปฏิบัติได้ถึงอัปปนา ๓
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อากาสานัญจายตนะ ๕
ทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้นที่รูป ๕
วิญญาณัญจายตนะ ๖
อากิญจัญญายตนะ ๖
ยอดของเมตตาคือสุภะความงาม ๗
อนุปุพพปฏิบัติ การปฏิบัติไปโดยลำดับ ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม
ม้วนที่ ๑๓๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๘ /๒ - ๑๓๙/๑ ( File Tape 107 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อปัณณกปฏิปทา (๗)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาโดยลำดับ
พรหมวิหารทั้ง ๔ นี้เป็นกรรมฐานหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรม
และก็ได้แสดงวิธีปฏิบัติอบรมมาโดยลำดับแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ
การอบรมจิตใจของตนนี้เอง คิดแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา ปรารถนาให้มีความสุข
ปราศจากทุกข์ ในสัตว์บุคคลนั้นๆโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยกรุณาปรารถนาให้สัตว์บุคคลนั้นๆที่ตกอยู่ในความทุกข์
ให้พ้นจากทุกข์นั้นๆ โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยมุทิตาความพลอยยินดีด้วยความสุขความเจริญ
คิดปรารถนาไม่ให้พ้นไปจากความสุขความเจริญ
อย่าให้ต้องเสียหายไปจากความสุขความเจริญ โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยอุเบกขาคือความมีจิตเป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
๒
ปลงจิตลงไปในกรรม ( เริ่ม ๑๓๘/๒ ) ว่าทุกสัตว์บุคคล ทั้งตนเองทั้งผู้อื่น
ต่างมีกรรมเป็นของๆตน เป็นทายาทรับผลของกรรม โดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง
พรหมวิหารปฏิบัติได้ถึงอัปปนา
การปฏิบัติแผ่จิตออกไปดั่งนี้ ก็เรียกว่าการปฏิบัติในกรรมฐานหมวดนี้
อันชื่อว่าพรหมวิหาร ที่แปลว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม
พรหมนั้นโดยกำเนิดก็หมายถึงผู้ที่เกิดเป็นพรหมในพรหมโลก
ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็แสดงว่า ผู้ที่ปฏิบัติในกรรมฐานหมวดนี้
จนจิตได้สมาธิถึงอัปปนาคือแนบแน่น
จิตที่เป็นสมาธิอันเกิดจากกรรมฐานหมวดนี้
แม้ไม่ถึงแนบแน่น เป็นสมาธิในขั้นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะก็ดี
อุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น เข้าเขตที่จะแนบแน่นก็ดี
ก็ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์จากพยาบาทและสิเนหา ด้วยเมตตา
เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากวิหิงสาความคิดเบียดเบียนและโทมนัสเสียใจ
ในเพราะความทุกข์ของผู้อื่น ด้วยอำนาจกรุณา เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากความริษยา
และโสมนัสคือความดีใจประกอบด้วยอิจฉา คือความปรารถนาใคร่ที่จะเป็นอย่างนั้นบ้าง
เป็นความปรารถนาที่เป็นความต้องการอยากได้
เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากราคะคือความติดใจยินดี ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง
และความไม่รู้อันหมายถึงว่าอุเบกขาชนิดที่ไม่รู้ ด้วยอำนาจของอุเบกขา
และในวิธีที่คิดแผ่ออกไปนั้น
เมื่อได้คิดแผ่ออกไปโดยไม่เจาะจงโดยไม่มีประมาณ คือไม่มีขอบเขต
ดั่งที่ตรัสเอาไว้ว่าแผ่จิตออกไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่ไพบูลย์
ที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ ตลอดโลกทั้งหมด
๓
โดยความเป็นเหมือนอย่างอัตตาคือตัวตนเดียวกันกับตัวตนของเราทั้งหมด
ไม่มีแบ่งแยกว่านี่เป็นมิตรนี่เป็นศัตรูเป็นต้น มีจิตแผ่เสมอกันออกไปหมด
ตลอดโลกทั้งสิ้นทั้งปวงดังกล่าว ในที่ทั้งปวง ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องหลัง
ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องขวา และโดยขวางคือในทิศน้อยทั้ง ๔ ของทิศใหญ่ทั้ง ๔ นั้น
คือในทิศน้อยของทิศเบื้องหน้า ในทิศน้อยของทิศเบื้องหลัง
ในทิศน้อยของทิศเบื้องซ้าย ในทิศน้อยของทิศเบื้องขวา เป็น ๘ ทิศ
และแผ่ขึ้นไปในเบื้องบน ในเบื้องล่าง หรือจะแผ่ไปในเบื้องล่างก่อน
และก็ในเบื้องบน ก็รวมเป็น ๑๐ ทิศ
ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงโดยไม่เจาะจงดังกล่าวนั้น จงมีความสุขไม่มีความทุกข์
จงพ้นจากทุกข์ จงอย่าเสื่อมจากสมบัติที่ได้ และทั้งหมดต่างมีกรรมเป็นของๆตน
เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย
จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
เมื่อคิดแผ่จิตออกไปดั่งนี้ จิตก็จะเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวงดังที่กล่าวนั้น
อัปปมัญญาพรหมวิหาร
และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ถึงยอดของพรหมวิหารทั้ง ๔
หรือของการแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ตลอดโลกทั้งสิ้นดังกล่าวทั้ง ๔
อันเรียกว่าอัปปมัญญาแปลว่าไม่มีประมาณ ว่ายอดของเมตตานั้นก็คือความงาม
อันหมายความว่าจะเห็นสัตว์ทั้งปวงต่างมีความงามด้วยอำนาจเมตตา
เพราะเมตตานั้นแผ่จิตออกไปด้วยความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข
จึงทำให้เกิดความรู้สึกเห็นว่างามในสัตว์บุคคลที่แผ่ไปนั้น
ไม่มีปฏิกูลสัญญาความเห็นว่าไม่งดงาม
แต่ว่าความเห็นว่างามที่เป็นยอดของเมตตาดังกล่าวนั้น
๔
ไม่เจือด้วยพยาบาท ไม่เจือด้วยราคะตัณหา เป็นความงามที่บริสุทธิ์
และยอดของกรุณานั้นตรัสไว้ว่าคืออรูปที่ ๑ อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ
ซึ่งอรูปฌานที่ ๑ นี้เป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน
ในขั้นเมตตานั้นเมื่อได้อัปปนาสมาธิก็ยังเป็นขั้นรูปฌาน เพราะยังมีรูปเป็นอารมณ์
แต่ว่าเป็นสมาธิที่เห็นในรูปว่าสมาธินั้นว่างาม
อากาสานัญจายตนะ
ส่วนกรุณานั้นสูงกว่ารูปฌาน
ที่ตรัสสอนให้ภาวนาบริกรรมว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะในอากาศไม่มีอะไร ไม่มีรูปอะไรเป็นความว่าง ว่างจากรูปทั้งสิ้น
กรุณานั้นมีอากาสานัญจายตนะ คืออรูปฌานที่ ๑ นี้เป็นยอด
เพราะเมื่อแผ่จิตออกไปด้วยกรุณาขอให้สัตว์ทั้งปวงพ้นจากทุกข์
ทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้นที่รูป
อันความทุกข์ต่างๆนั้นย่อมบังเกิดขึ้นที่รูป ปรากฏที่รูป
เมื่อสัตว์ทั้งปวงจะพ้นจากทุกข์ ก็จะต้องพ้นจากรูป
เมื่อไม่มีรูปนั่นแหละจึงจะพ้นจากทุกข์อันเกี่ยวกับรูปได้
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติแผ่จิตออกไปด้วยกรุณามากขึ้นๆ จนจิตไม่เห็นทุกข์ในรูป
ของสัตว์ทั้งปวง ก็จะปรากฏเป็นอากาศคือความว่างเปล่าไม่มีอะไร
เมื่อไม่มีรูปทุกข์ของรูปก็ไม่มี ความเจ็บป่วยของรูปก็ไม่มี
ก็พ้นจากทุกข์ได้ทั้งหมด อันเกี่ยวกับรูป
เพราะฉะนั้นกรุณานี้จึงนำให้ได้อรูปที่ ๑ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะจะต้องไม่เห็นรูปอะไร เป็นความว่างเปล่า จึงจะไม่เห็นทุกข์ของรูปทั้งหมด
เป็นกรุณาอย่างยอด
๕
วิญญาณัญจายตนะ
ยอดมุทิตานั้นก็ได้แก่วิญญานัญจายตนะ คืออรูปที่ ๒
ที่กำหนดวิญญาณคือตัวความรู้ว่าไม่มีที่สุด
เพราะว่าวิญญาณนั้นคือความรู้ ย่อมเกี่ยวกับจิตที่ประกอบด้วยมุทิตา
คือความที่จิตยินดีในความสุขความเจริญของใครๆทั้งโลก ไม่ริษยา ทั้งไม่โสมนัส
คอยกระหยิ่มอยากได้ด้วย จึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ และจิตที่บริสุทธิ์ดั่งนี้ย่อมเป็นตัวความรู้ที่บริสุทธิ์
เพราะว่าถ้ายังมีรูปอยู่ ของสัตว์บุคคลนั้นๆ ก็จะต้องมีความเสื่อมสิ้นไปของสมบัติที่ได้
เป็นธรรมดา ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปของชีวิตร่างกายอันนี้ ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายในที่สุด
เพราะฉะนั้นจะไม่ให้เสื่อมจากความสุขที่ได้นั้นก็เป็นไปไม่ได้
ในเมื่อยังเป็นโลกิยะสุขสมบัติ
ฉะนั้นเมื่อ กรุณานำให้ได้ถึงอรูปที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนะ
อากาศไม่มีที่สุด เป็นความว่างเปล่าไปทั้งหมด
มุทิตาก็ทำให้ได้วิญญาณัญจายตนะคือความรู้ อากาศไม่มีที่สุดเพียงไหนเพียงใด
ความรู้ก็ครอบคลุมไปถึงเพียงนั้น เพราะว่า ข้อว่าอากาศไม่มีที่สุดนั้น
ก็ปรากฏอยู่ในตัววิญญาณคือความรู้นี่เอง ความรู้ว่าอากาศไม่มีที่สุด
เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดดูอากาศซึ่งเป็นวัตถุหรือเป็นอารมณ์ของความรู้
สูงขึ้นมาจึงมากำหนดตัวความรู้เอง ความรู้ในอากาศนั้น ว่าตัวความรู้เองก็ไม่มีที่สุด
อันเป็นผลที่ได้จากมุทิตาคือจิตที่บริสุทธิ์ ก็ทำให้ความรู้แผ่ไปไม่มีที่สุด
เป็นความรู้ที่ไม่มีอะไร คือไม่มีรูปอะไรเป็นอารมณ์ทั้งหมด เป็นยอดของมุทิตา
อากิญจัญญายตนะ
ครั้นมาถึงอุเบกขาตรัสว่ามีอากิญจัญญายตนะเป็นยอด
อันหมายความว่าให้บรรลุถึงสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
๖
เพราะว่าในตัวอากาศเองที่เป็นความว่าง
ในตัวความรู้ในอากาศที่เป็นความว่างนั้น อากาศก็ว่าง ความรู้ก็ว่าง
เพราะฉะนั้น ในความว่างนั้นเมื่อมากำหนดให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก
ก็จะพบว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี คือไม่มีอะไรอยู่สักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง
เพราะถ้ามีอยู่ก็ยังไม่ว่างจริง เมื่อว่างจริงคือเป็นอากาศที่ว่างจริง
และเป็นวิญญาณคือความรู้ในความว่างที่ว่างจริง ก็จะต้องไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง
ก็มากำหนดดูว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนี้ ก็เป็นอรูปที่ ๓ ซึ่งเป็นยอดของอุเบกขา
เพราะเมื่อปฏิบัติในอุเบกขามีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง
เมื่อเป็นกลางจริงๆก็ต้องไม่เอียงไปทางโน้น ไม่เอียงไปทางนี้ แม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง
ถ้ายังเอียงไปทางโน้นทางนี้สักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง
หรือว่ายังมีทางโน้นทางนี้สำหรับให้เอียงไป ก็เป็นอุเบกขาที่เป็นยอดไม่ได้
เพราะยังมีน้อยหนึ่งนิดหนึ่งข้างนี้บ้างข้างนั้นบ้าง สำหรับที่จะให้เอียงไป ไม่เป็นกลาง
เพราะฉะนั้น เมื่อจะเป็นกลางกันจริงๆ ก็ต้องไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง
ต้องมัธยัสถ์เป็นกลางจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงให้ได้ถึงอรูปที่ ๓นี้
ยอดของเมตตาคือสุภะความงาม
เพราะฉะนั้น ยอดของเมตตาก็คือสุภะความงาม
ไม่ปรากฏความปฏิกูล ไม่ปรากฏสิ่งที่จะทำให้จิตใจนี้เกลียดชัง
เป็นความงามที่บริสุทธิ์ ไม่ปรากฏว่าน่าเกลียดชังสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งเหมือนกัน
ถ้าน่าเกลียดชังสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งแล้ว ก็จะต้องมีความชัง ซึ่งสงเคราะห์ในกิเลสกองพยาบาท
เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์จริงๆแล้ว ก็จะต้องงามบริสุทธิ์
ไม่มีน่าเกลียดน่าชังสักนิดหนึ่งน้อยหนึ่ง แต่ว่ายังต้องอาศัยเกาะอยู่กับตัวรูป
เพราะความงามนั้นปรากฏเกาะอยู่กับตัวรูป รูปของสัตว์บุคคลนั้นๆที่แผ่จิตออกไปถึง
แต่เป็นความงามที่บริสุทธิ์ ไม่เจือด้วยความเกลียดความชัง หรือแม้ด้วยความรัก
๗
เพราะเมื่อมีความรักที่เป็นตัวกามแล้ว ก็ยังเป็นความงามที่บริสุทธิ์ไม่ได้
ตามนัยนี้เมตตาก็ให้ถึงรูปฌาน ถึงขั้น ๔ ขั้น ๕ ได้
แต่กรุณาให้ถึงอรูปที่ ๑ ได้ มุทิตาให้ถึงอรูปที่ ๒ ได้ อุเบกขาให้ถึงอรูปที่ ๓ ได้
ตามนัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้นี้
อนุปุพพปฏิบัติ การปฏิบัติไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น พรหมวิหารธรรมหรืออัปปมัญญาทั้ง ๔ นี้
จึงเป็นกรรมฐานข้อสำคัญ ( เริ่ม ๑๓๙/๑ ) ทุกคนควรปฏิบัติ
แต่การที่จะปฏิบัติให้ถึงขั้นยอดนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
และหากว่าปฏิบัติขึ้นมาโดยลำดับแล้ว เหมือนอย่างบันไดที่ขึ้นไปทีละขั้น ก็ไม่ยาก
แม้จะสูงมากแต่ว่ามีบันไดขึ้นไปตั้งร้อยขั้นสองร้อยขั้น ขึ้นไปทีละขั้นแล้วก็จะไม่ยาก
แต่ว่าหากว่ายังไม่ได้ขึ้นสักขั้นหนึ่ง แหงนคอดูขั้นร้อยขั้นสองร้อยข้างบนสุดโน่น
ก็จะเห็นว่ายากขึ้นไม่ไหว เพราะจะขึ้นก้าวเดียวขึ้นไปนั้นไม่ได้
แต่ถ้าเริ่มขึ้นไปทีละขั้นตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งแล้ว ขั้นที่สองก็ขึ้นง่ายไม่ยาก ขั้นที่สามก็ไม่ยาก
จนถึงขั้นที่ร้อยขั้นที่สองร้อยก็ไม่ยาก ไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น จะคิดว่ายากไปไม่ได้ไม่ถึงเสียก่อนนั้น จึงไม่ถูกต้อง
เหมือนอย่างการที่จะขึ้นภูเขาสูง มีบันไดขึ้นไปสองร้อยขั้นสามร้อยขั้น
คือบนยอดนั้นมีทรัพย์ที่มีค่า มีสิ่งที่ประเสริฐอยู่ และมีบันไดขึ้นด้วย
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานบันไดไว้ให้ ก็ขึ้นไปทีละขั้น คือปฏิบัติเริ่มต้นไปโดยลำดับ
ดั่งนี้ก็ทำได้ แต่เมื่อยังไม่ได้ขึ้นเลย หรือขึ้นไปได้สองขั้นสามขั้น
แหงนขึ้นไปดูถึงขั้นที่สูงสุด ขั้นที่ร้อยขั้นที่สองร้อย ก็บอกว่าทำไม่ได้เสียแล้ว
ถ้าไม่ขึ้นไปก็ทำไม่ได้จริง แต่ถ้าขึ้นไปทีละขั้นแล้วก็ทำได้ แล้วก็ไม่ยาก
เพราะขึ้นไปทีละขั้นเป็น อนุปุพพปฏิบัติ ปฏิบัติไปโดยลำดับ
๘
หรือเรียกว่าก้าวไปทีละขั้น ทีละก้าว
ซึ่งการก้าวขึ้นไปทีละก้าวนี้ก็มีคำบาลีแสดงไว้แล้ว คือคำว่าสิกขาบทๆ
อย่างสมาทานสิกขาบท ว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ลักทรัพย์
คำว่าสิกขาบทนี้ก็แปลได้ว่าศึกษาไปทีละก้าว
บทะ นั้นแปลว่าก้าวก็ได้ แปลว่าถึงก็ได้ ศึกษาปฏิบัติไปทีละก้าว ทีละก้าว
อย่างการรักษาศีล ๕ นั้น จะให้เป็นศีล ๕ บริสุทธิ์จริงๆต้องเป็นพระโสดาบัน
แต่เมื่อยังเป็นผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงโสดาบัน จะให้ศีล ๕ บริสุทธิ์จริงๆก็ยาก
เพราะฉะนั้น ก็เมื่อไปดูถึงความบริบูรณ์สูงสุดแล้วบ่นว่ายาก ไม่ได้
ดั่งนี้ก็เป็นความจริง ในเมื่อยังไม่ได้ก้าวไปทีละก้าว
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่าให้สมาทานสิกขาบท
คือให้สมาทานศึกษาไปทีละก้าวทีละก้าว ว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น
และเมื่อได้สมาทานปฏิบัติไปดั่งนี้ ก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สอง
ก็จะต้องมีศีลขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง สมาทานกันใหม่บ้าง
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการสมาทานรับศีลกันอยู่บ่อยๆ ในเวลาที่จะทำกุศลทุกคราว
ถ้าหากว่าบริบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องสมาทานกัน หนเดียวก็พอ
นี่ไม่ๆเช่นนั้น ก็เพราะว่าจะต้องปฏิบัติกันไปทีละก้าวทีละก้าว ขาดตกบกพร่องไปบ้าง
ถูกบ้างผิดบ้าง ก็แก้ไขกันไปปฏิบัติกันไปโดยลำดับ
ดั่งนี้แล้วก็จะเป็นความบริบูรณ์ขึ้นทุกที จนถึงยอดในที่สุด
เหมือนอย่างการที่จะอบรมในพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้ อัปปมัญญาทั้ง ๔ นี้ ก็เช่นเดียวกัน
ก็หัดปฏิบัติไปทีละก้าว ทีละครั้งทีละคราว ได้บ้างเสื่อมบ้าง
มีกิเลสเข้ามาบ้าง ดับกิเลสได้บ้างไม่ได้บ้าง เสียเมตตาไปบ้าง ทำขึ้นใหม่บ้าง
ปฏิบัติอยู่บ่อยๆเสมอๆดั่งนี้แล้ว ก็จะสูงขึ้นไปสูงขึ้นไป จนถึงยอดในที่สุดได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
๙
อปัณณกปฏิปทา (๘)
สรุปอัปปมัญญาพรหมวิหาร โพชฌงค์ ๗
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อัปปมัญญาปฏิบัติในโพชฌงค์ ๔
อารมณ์แทรกในการปฏิบัติธรรม ๕
สุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน ๖
การหัดปฏิบัติไปโดยลำดับ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๑๓๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๙ /๒ ( File Tape 107 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อปัณณกปฏิปทา (๘)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพรหมวิหารธรรม หรืออัปปมัญญาทั้ง ๔ ทบทวนในทางปฏิบัติ
ในพระบาลีมีสอนให้แผ่โดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจง ซึ่งพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ประการ
และได้มีระบุสัตว์บุคคลที่คิดแผ่ใจออกไปถึงโดยเจาะจง
แต่ว่าโดยเจาะจงนั้นที่ยกเป็นคำสอนแนะไว้ในพระบาลีนั้นยกเป็นหมวดหมู่
แต่เป็นหมวดหมู่ที่เจาะจงจำเพาะหมู่ใดหมู่หนึ่ง
คือมีแสดงแนะไว้สำหรับปฏิบัติตั้งใจแผ่ออกไปโดยเจาะจงเป็น ๗ จำพวก
คือ สัพพาอิตถิโยสตรีทั้งปวง สัพเพปุริสาบุรุษทั้งปวง
สัพเพอริยาอริยะบุคคลทั้งปวง สัพเพอนะริยาบุคคลผู้มิใช่อริยะคือยังเป็นบุถุชนอยู่ทั้งปวง
สัพเพเทวาเทพทั้งปวง สัพเพมนุสสามนุษย์ทั้งปวง
สัพเพวินิปาตาสัตว์ที่เรียกว่าวินิบาต คือพวกที่ตกต่ำ อันหมายถึงสัตว์ที่เกิดในอบาย
หรืออบายภูมิทั้งปวง คือสัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย ต่างๆ รวมเป็น ๗ จำพวก
๒
ส่วนที่แสดงแนะไว้สำหรับแผ่จิตออกไปโดยไม่เจาะจง ก็เป็น ๕
คือสัพเพสัตตาสัตว์ทั้งปวง สัพเพปาณาสัตว์ที่มีปราณมีหายใจคือมีชีวิตทั้งปวง
สัพเพภูตาภูตะคือผู้ที่เกิดในภพชาตินั้นๆทั้งปวง สัพเพปุคคลาบุคคลทั้งปวง
สัพเพอัตตภาวะปริยาปันนาสัตว์โลกที่นับเนื่องในอัตภาพทั้งปวง
และก็มีแสดงสอนไว้ให้แผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ ตลอดโลกทั้งสิ้นในที่ทั้งปวง
ซึ่งทิศทั้ง ๑๐ นั้นก็คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องขวา
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง หรือจะล่างก่อน ก็ทิศเบื้องล่างทิศเบื้องบน ก็รวมเป็น ๖ ทิศ
และทิศเบื้องขวางโดยรอบ คือว่าทิศน้อยทั้ง ๔ ที่แทรกอยู่ในระหว่างทิศใหญ่ทั้ง ๔ นั้น
คือทิศน้อยของทิศเบื้องหน้า ทิศน้อยของทิศเบื้องหลัง
ทิศน้อยของทิศเบื้องซ้าย ทิศน้อยของทิศเบื้องขวา
หรือจะเรียงเป็น ๘ ทิศ อย่างที่เราใช้กัน ก็คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
ก็รวมเป็น ๘ ทิศ สำหรับทิศใหญ่กับทิศน้อย รวมทิศเบื้องบนเบื้องล่างก็เป็น ๑๐ ทิศ
และในการปฏิบัติแผ่จิตนี้ที่ตรัสสอนไว้ดั่งนี้
มุ่งถึงเป็นการแผ่จิตออกไปโดยไม่มีประมาณ อันเรียกว่าอัปปมัญญาคือโดยไม่เจาะจง
แต่คำว่าไม่เจาะจงในพรหมวิหารนั้นอาจจะมีความหมายว่าไม่เจาะจงใคร
แต่ว่ายังไม่มีกำหนดว่าให้แผ่ไปทั้ง ๑๐ ทิศ
อาจจะไม่เจาะจงไปในทิศใดทิศหนึ่ง หรือในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้
ส่วนที่เป็นอัปปมัญญาคือไม่มีประมาณนั้นก็แผ่โดยไม่เจาะจง
แต่ว่าแผ่ไปถ้วนทั้ง ๑๐ ทิศ ตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทุกแห่ง
โดยที่มีจิตเสมอกันทั้งหมด หรือว่าโดยที่เป็นมหาตมะหรือมหาตมัน
คือตนของตนนี้เหมือนอย่างว่าเป็นที่รวมของสัตว์โลกทั้งหมด เหมือนเป็นตนเดียวกัน
สม่ำเสมอกัน เป็นอัปปมัญญา เป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นมุทิตา เป็นอุเบกขา
ไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีทุกข์ มีสุขรักษาตนสวัสดี ทั่วถ้วนกันทั้งหมด
๓
จิตใจดั่งนี้ จึงเป็นจิตใจที่เรียกว่ามหัคตะ ที่แปลว่าขยายออกไปใหญ่
เป็นใจที่ใหญ่ครอบโลกด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
จึงเหมือนอย่างว่ามีตัวขยายออกไปใหญ่ครอบโลก เป็นอัตตาใหญ่
มีใจที่ใหญ่ด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาเสมอกันหมดทั่วทั้งโลก ดั่งนี้เป็นอัปปมัญญา
อัปปมัญญาปฏิบัติในโพชฌงค์
และในการปฏิบัติที่ตรัสสอนไว้นี้ ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยสตินี่แหละเป็นข้อสำคัญ
คือความระลึกนึกคิดปรุงใจแผ่ออกไป เป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นมุทิตา เป็นอุเบกขา ดังกล่าว
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติทางโพชฌงค์ทั้ง ๗
โพชฌงค์คือองค์แห่งความตรัสรู้
ตรัสสอนให้อบรมสติสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาทุกข้อ ไปโดยลำดับ
ฉะนั้น เมื่อปฏิบัติอาศัยโพชฌงค์ดั่งนี้ ก็เป็นอันได้ปฏิบัติในหมวดโพชฌงค์ด้วย
ในหมวดพรหมวิหารธรรมหรืออัปปมัญญาด้วย
เป็นพรหมวิหารด้วย เป็นอัปปมัญญาด้วย เป็นโพชฌงค์ด้วย ไปพร้อมกัน
คือจะต้องมีสติกำหนดใจระลึกถึงสัตว์บุคคลนั้นๆที่จะแผ่ออกไปถึง
และต้องปรุงความคิดระลึก ระลึกนึกคิดว่าให้มีความสุข ให้พ้นจากทุกข์
อย่าให้พลัดพรากจากสมบัติที่ได้แล้ว และทั้งหมดก็มีกรรมเป็นของๆตน
นี้เป็นสติทั้งนั้น จะต้องมีสติที่กำหนดนึก ปรุงคิดให้เป็นเมตตา เป็นกรุณา
เป็นมุทิตาอุเบกขา แผ่ออกไป ดั่งนี้ก็เป็นอันปฏิบัติในสติสัมโพชฌงค์
และก็ต้องคอยมีธรรมวิจัย คือความเลือกเฟ้นธรรมะในใจของตัวเอง
๔
ว่าอารมณ์ความคิดที่ผุดขึ้นในใจของตนเองนั้น ถูกหรือผิด
เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีคุณหรือมีโทษ
อารมณ์แทรกในการปฏิบัติธรรม
เพราะว่าวาระจิตของผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นย่อมมีอารมณ์แทรก
และก็มีภาวะจิตที่เป็นกิเลสแทรกอยู่มากบ้างน้อยบ้าง เสมอบ้างๆไม่เสมอบ้าง
ในการปฏิบัติทีแรกนั้นสติที่กำหนดปฏิบัติ เป็นสติที่เป็นเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
สตินี้ก็มักจะเผลอ จะมีอารมณ์และกิเลสแทรกเข้ามาเกิดอยู่เนืองนิจ
ต้องมีสติที่ระลึกได้แล้วก็นำจิตกลับเข้ามาใหม่ นี้ต้องอาศัยธัมวิจยสัมโพชฌงค์
คือต้องคอยเลือกเฟ้นธรรม ต้องจับอารมณ์ของจิตวาระของจิตให้ทันท่วงที
ว่านี่เป็นอารมณ์แทรก เป็นกิเลสแทรก เพื่อดับเสีย
แล้วก็นำจิตกลับเข้ามาสู่กระแสของเมตตาเป็นต้นใหม่ จึงต้องมีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม
คือความรู้นี่เอง รู้สิ่งที่ผุดขึ้นในจิตใจทันที รู้ว่าถูกหรือผิด เป็นเมตตา
หรือว่าเป็นกิเลสไปแล้ว ต้องแยกให้รู้ได้ทันที
แล้วจึงมาถึงวิริยะสัมโพชฌงค์ความเพียร
เมื่อเป็นส่วนที่เป็นอารมณ์แทรกเป็นกิเลสแทรก ก็ต้องเพียรละไปเสีย
ด้วยความรู้นี่แหละ เมื่อเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์เป็นต้นอยู่ ก็พอกพูนต่อไป
( เริ่ม ๑๓๙/๒ ) และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะรักษาสติ และวาระของจิต อารมณ์ของจิต
ที่เป็นเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาเอาไว้ได้มาก จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใสขึ้น
จึงบังเกิดปีติความดูดดื่มใจ
เพราะว่าจิตที่ไม่บริสุทธิ์ ยังมีเมตตาเป็นต้น ไม่เข้าไปตั้งอยู่มั่นคงนั้น
ยังเป็นจิตที่เร่าร้อนอยู่ด้วยอารมณ์และกิเลสต่างๆ
แต่เมื่อมีธรรมวิจัย และก็ละออกไปได้ ก็เหลือแต่จิตที่สัมปยุตด้วยเมตตา
๕
อันประกอบด้วยสติและอารมณ์ของสติคือเมตตานั้นอยู่มาก
จิตที่เคยเศร้าหมองกระสับกระส่าย ก็จะหายเศร้าหมอง หายกระสับกระส่าย
และจิตที่กระสับกระส่ายหรือเศร้าหมองนั้นก็คือเป็นจิตที่กระหายนั่นเอง
กระหายอารมณ์ กระหายกิเลส
ครั้นเมื่อได้มีเมตตาซึมซาบเข้าไปสู่จิตมากขึ้น
กรุณามุทิตาอุเบกขาก็เช่นเดียวกัน จิตก็ดื่มเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
เข้าไปแทนที่อารมณ์และกิเลส ที่ทำให้กระหาย ให้เศร้าหมอง ให้ทุรนทุราย
จึงบังเกิดความอิ่มเอิบ เหมือนอย่างกระหายน้ำได้ดื่มน้ำที่ใสบริสุทธิ์เย็น ก็อิ่มเอิบร่างกาย
จิตใจที่ดื่มเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาเข้าไป ก็ได้ความอิ่มเอิบก็เป็นปีติ ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์
เมื่อได้ปีติดั่งนี้แล้ว ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบใจก็มาได้ง่าย
สมาธิคือความตั้งใจมั่นอยู่ใน เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สถิตย์อยู่ในจิตใจได้มั่นคงขึ้น ก็เป็นสมาธิ
และเมื่อเป็นสมาธิดั่งนี้ อุเบกขาคือความที่เพ่งพินิจอยู่กับสมาธิจิตนั้น
อันทำให้มีความสงบยิ่งขึ้น ไม่ยึดถืออะไรๆอื่น นอกจากเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
ที่ปรากฏขึ้น และไม่วุ่นวาย มีลักษณะที่เพ่งดูสมาธิจิตนั้นสงบเฉยอยู่
สมาธิก็ตั้งมั่นยิ่งขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว สมาธิและอุเบกขาดังกล่าวนี้ก็เลื่อนขึ้น
จนถึงที่สุดของพรหมวิหารทั้ง ๔ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
คือเมตตานั้นก็ให้ถึงรูปฌานชั้นสูง แต่ว่าเป็นรูปที่ประกอบด้วยความงามอันบริสุทธิ์
เรียกว่าเป็น สุภกรรมฐาน ที่ให้ถึงฌานที่ ๔ คือเป็นรูป เป็นรูปที่งามบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นข้อนี้เองจึงที่ท่านแสดงว่า ในพระพุทธศาสนานั้นมีทั้ง อสุภกรรมฐาน
๖
มีทั้ง สุภกรรมฐาน และสุภะกรรมฐานนั้นก็คือเมตตานี้เอง
กรุณาก็ให้ไปอากาสานัญจายตนะ มุทิตาก็ให้ไปถึงวิญญาณัญจายตนะ
อุเบกขาก็ให้ไปถึงน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี ที่เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ ดังที่ได้แสดงแล้ว
การหัดปฏิบัติไปโดยลำดับ
แต่ว่าในเบื้องต้นนั้น การปฏิบัติก็ต้องหัดปฏิบัติไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น
เหมือนอย่างการขึ้นบันไดต้องขึ้นตั้งแต่ขั้นแรกดังที่ได้แสดงแล้ว
และเมื่อธรรมะได้ดำเนินติดต่อกันไปแล้ว การที่จะขึ้นชั้นสูงขึ้นไปโดยลำดับก็ไม่ยาก
แต่ว่าการปฏิบัติโดยมากนั้น มักจะปฏิบัติกันในขั้นต้น ขึ้นไปได้ขั้นสองขั้นสามขั้นของบันได
แล้วก็ลงมาคือเสื่อม แล้วขึ้นไปใหม่ได้หน่อยหนึ่ง ก็เสื่อมอีก
เรียกว่าล้มๆลุกๆกันอยู่ตั้งแต่ในขั้นบันไดสามสี่ขั้นข้างต้น
การปฏิบัติจึงไม่ก้าวหน้าไปมาก
แต่หากว่าถ้าได้ปฏิบัติติดต่อทำให้มากสม่ำเสมอไปแล้ว
ธรรมะก็จะดำเนินเข้ามาสู่จิตเอง และจิตนี้ก็จะเลื่อนภาวะขึ้นไปเอง
โดยไม่มีการเหน็ดเหนื่อย ขึ้นไปอย่างเป็นสุข เรียกว่ามีปีติมีความสงบกายสงบใจเป็นสุข
แล้วก็เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา ตามแนวโพชฌงค์นั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*