ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป104

อปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติที่ไม่ผิด (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

กุศลกรรมบถ ๓

ธรรมสมาธิ จิตตสมาธิ ๓

โลกธรรม ๘ ๔

กฏะคาหะ กฏเกณฑ์อันถูกต้อง ๖

วาทะต่างๆยากจะรู้ตามเป็นจริง ๗

โลกนี้โลกหน้า ๗

ความเห็นผิดแม้ระลึกชาติได้ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๔/๒ ( File Tape 104 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติที่ไม่ผิด

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเป็น อปัณณกปฏิปทา

คือการปฏิบัติไม่ผิดในที่ทุกสถาน ดังเช่นที่ตรัสไว้แก่นายบ้านผู้หนึ่งซึ่งเมื่อกราบทูลถามว่า

ได้มีสมณะพราหมณ์หลายจำพวกผ่านมาที่หมู่บ้านนั้น และก็ได้แสดงวาทะสอนต่างๆกัน

เช่นจำพวกหนึ่งก็สอนว่าทานที่ทำแล้วไม่มีผล การบูชาที่บูชาแล้วไม่มีผล

ผลของบาปบุญที่ทำแล้วไม่มี มารดาบิดาไม่มี สมณะพราหมณ์ที่ชื่อว่าผู้ปฏิบัติชอบไม่มี

อีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนตรงกันข้ามว่าทานที่ให้แล้วมีผล การบูชาที่บูชาแล้วมีผล

ผลของบาปบุญมี มารดาบิดามี สมณะพราหมณ์ที่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบมี

อีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนว่า บุญบาปที่ทำไม่ใช่ว่าเป็นบุญไม่เป็นบาป

คือไม่มีการกระทำที่เป็นบุญเป็นบาป ส่วนอีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนว่าบุญบาปที่ทำมี

คือทำบุญก็เป็นบุญ ทำบาปก็เป็นบาป เมื่อเป็นดั่งนี้จะปฏิบัติอย่างไร

กุศลกรรมบถ

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์

คือว่าให้เว้นจากการฆ่า ให้เว้นจากการลัก ให้เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

ก็เป็นอันประพฤติทำกายกรรมให้บริสุทธิ์ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด

เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ก็เป็นอันทำวจีกรรมให้บริสุทธิ์

ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทมุ่งร้ายหมายทำลายผู้อื่น

ไม่เห็นผิดแต่มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ก็เป็นอันทำมโนกรรมให้บริสุทธิ์

และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ ก็ปฏิบัติตั้งสติ ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว มีจิตไม่ฟั้นเฟือน

ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ถูกต้อง ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ผิด ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติถือเอากฏได้

หรือถือเป็นกฏเกณฑ์ได้ ว่าจะประสบความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน

โดยไม่ต้องคำนึงถึงวาทะต่างๆของสมณะพราหมณ์ทั้งหลายดังกล่าว

เพราะว่าทานที่ให้แล้วจะมีผลหรือไม่มีผลก็ตาม ผลของบุญบาปจะมีหรือไม่มีก็ตาม

บุญบาปที่ทำแล้วจะเป็นบุญบาป หรือไม่เป็นบุญบาปก็ตาม

แต่ผู้ที่ปฏิบัติตนดั่งนี้จะต้องไปดีเสมอ ไปดีในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีก็ไปดีในโลกหน้า

แม้ว่าถ้าโลกหน้าไม่มีก็ชื่อว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติตนไว้โดยชอบ เป็นการปฏิบัติไม่ผิด

ธรรมสมาธิ จิตตสมาธิ

และเมื่อเป็นดั่งนี้พิจารณาดูเข้ามาที่ตน ได้เห็นตนเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด

อันจะทำตนให้ประสบความสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

ก็ย่อมจะบังเกิดความปราโมทย์บันเทิงใจ

เมื่อมีความปราโมทย์บันเทิงใจก็ย่อมจะมีปีติ คือความอิ่มใจ ดูดดื่มใจ

เมื่อมีปีติก็ย่อมจะมีปัสสัทธิคือความสงบ สงบกายสงบใจ

และเมื่อมีความสงบกายสงบใจก็ย่อมจะมีสุข

คือความสบายปลอดโปร่งกาย สบายปลอดโปร่งใจ

เมื่อมีสุขดั่งนี้ก็ย่อมจะได้สมาธิคือความตั้งจิตมั่นไม่หวั่นไหว เรียกว่า ธรรมสมาธิ

สมาธิในธรรม หรือสมาธิที่เกิดจากธรรมปฏิบัติ อันไม่ผิด

และผู้ที่ได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต คือจิตจะตั้งมั่น

ไม่หวั่นไหวไปเพราะวาทะของใครๆ จะตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรม คืออบรมธรรมสมาธิ และจิตตสมาธิดั่งนี้

อันเป็นอปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดนัย เพราะวาทะทั้งหลายที่กล่าวกันอยู่ในโลก

โลกธรรม ๘

อันวาทะทั้งหลายที่กล่าวกันอยู่ในโลกนี้ย่อมมีอยู่เป็นอันมาก

เป็นการกล่าวถึงเรื่องนั้นถึงเรื่องนี้ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

เป็นการกล่าวถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ ว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้

และเมื่อกล่าวออกไปก็ต้องเข้าหูใครๆ และผู้ที่ฟังก็กล่าวต่อกันไป

ก็แพร่หลายกันออกไป ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นก็ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงของเรื่องที่กล่าวกันนั้นๆ

วาทะที่กล่าวกันอยู่ในโลกย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะเป็นโลกธรรม ธรรมะสำหรับโลก

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงโลกธรรมทั้ง ๘

คือลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ นินทาสรรเสริญ และสุขทุกข์ ๔ คู่ด้วยกัน

สามคู่แสดงถึงส่วนที่น่าปรารถนานำ คือลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ สุขทุกข์

ลาภ ยศ และสุข เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา

ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ กับทุกข์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

ใน ๓ คู่นี้แสดงอารมณ์ที่น่าปรารถนาไว้หน้า

ส่วนคู่นินทาสรรเสริญนั้น แสดงนินทาไว้หน้าสรรเสริญ

นินทาเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ส่วนสรรเสริญเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา

พระอาจารย์อธิบายว่า

เพราะนินทานั้นเป็นไปมากในโลก ส่วนสรรเสริญนั้นเป็นไปน้อยกว่า

และบุคคลทุกคนในโลกนี้จะต้องถูกนินทามากกว่าถูกสรรเสริญ

แม้ว่าในเวลาต่อหน้ามักจะได้รับคำสรรเสริญมากกว่านินทา

แต่ว่าถ้าลับหลังแล้วมักจะนินทากันมากกว่าสรรเสริญ โลกธรรมเป็นไปอยู่ดังนี้

เพราะฉะนั้นวาทะที่กล่าวกันต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องที่นินทาแล้วก็มักจะทำให้เกิดความสนใจที่จะฟัง และที่จะพูดต่อกันไป ส่วนที่เป็นสรรเสริญแล้วมักจะไม่ค่อยพูดต่อกันไปเท่าไร

ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตใจของชาวโลกนั้นมักจะสนใจในทางร้ายของผู้อื่นหรือว่าสิ่งอื่น

มากกว่าสนใจในทางดี เช่นในเวลาที่ไฟไหม้บ้านก็ไปสนใจดูกันเป็นอันมาก

แต่เวลาสร้างบ้านนั้นไม่มีใครสนใจที่จะดู อัธยาศัยของชาวโลกทั้งปวงมักจะเป็นไปดั่งนี้

เพราะฉะนั้นจึงสนใจในคำนินทากันยิ่งกว่าที่จะสนใจในคำสรรเสริญ

และมักจะพูดต่อกันไป แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว

โดยที่ส่วนใหญ่นั้นก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง โลกเป็นดั่งนี้

และแม้วาทะของอาจารย์ทั้งหลายที่สอนกัน

แม้ในวาทะของอาจารย์ผู้สอนในพุทธศาสนาเอง ก็ยังสอนกันไปในแนวต่างๆ

ซึ่งดูจะขัดแย้งกันบ้างก็มี เป็นไปด้วยกันได้ก็มี

เมื่อเป็นคำสอนของศาสนาอื่นก็ย่อมจะเป็นไปกันคนละอย่างเป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่เป็นธรรมดาสามัญก็อาจจะคล้ายคลึงกัน

( เริ่ม ๑๓๔/๒ ) แต่ส่วนที่เป็นหลักใหญ่นั้นอาจจะต่างกัน

ดังเช่นวาทะของอาจารย์ ๔ จำพวก ที่ชาวบ้านหมู่นั้นได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า

จำพวกหนึ่งสอนว่าทานไม่มีผล มารดาบิดาไม่มีเป็นต้น

อีกจำพวกหนึ่งสอนว่ามี จำพวกหนึ่งสอนว่าทำบาปไม่เป็นบาปทำบุญไม่เป็นบุญ

อีกจำพวกหนึ่งสอนว่าทำบาปก็เป็นบาปทำบุญก็เป็นบุญ

เมื่อเป็นหลักสำคัญแล้วก็มีวาทะต่างๆกันดั่งนี้

กฏะคาหะ กฏเกณฑ์อันถูกต้อง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน

ไม่ให้สนใจในด้านรับหรือในด้านปฏิเสธ แห่งวาทะที่ต่างๆกันเหล่านี้

แต่ให้สนใจในการที่ปฏิบัติตัวเอง นี่แหละเป็นข้อสำคัญ

ในข้อปฏิบัติที่เป็นอปัณณกปฏิปาคือการปฏิบัติที่ไม่ผิด ก็ดังที่ได้แสดงแล้ว

ให้มาปฏิบัติทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์

ทำสติให้ตั้งมั่น ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว ให้มีจิตไม่ฟั้นเฟือน

มั่นปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้อง

 และก็นำเอาวาทะเหล่านี้เข้ามาพิจารณาว่า

ถ้าวาทะเหล่านี้จริง จริงในด้านว่ามี หรือจริงในด้านว่าไม่มี

และเมื่อตนเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดแล้ว ก็มีความเกษมสวัสดีทั้งนั้น

ทานไม่มีผล มารดาบิดาไม่มี โลกหน้าไม่มี ตนก็มีความสวัสดีอยู่ในโลกนี้

หรือว่าทานมีผล มารดาบิดามี โลกหน้ามี ตนไปโลกหน้าก็มีความสวัสดี เพราะทำดีไว้

หรือว่าบุญบาปไม่มี แต่ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นข้อที่ไม่ผิด ก็มีความสวัสดี

ถ้าบุญบาปมีตนก็ได้ทำบุญไม่ทำบาป เพราะไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน

ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงให้เดือดร้อน จึงมีความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน

นำเอาวาทะเหล่านี้มาพิจารณาดั่งนี้ ในทางที่เป็นอปัณณกคือไม่ผิด

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงชื่อว่า กฏะคาหะ คือถือเอากฏเกณฑ์ ที่พระอาจารย์ท่านแปลว่าเป็นผู้ชนะ

คือเข้ากฏเกณฑ์อันถูกต้อง ได้กฏเกณฑ์อันถูกต้อง

เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดความปราโมทย์

ให้เกิดปีติความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ให้เกิดปัสสัทธิความสงบกายความสงบใจ

ให้เกิดความสุขความสบายปลอดโปร่งกายปลอดโปร่งใจ จึงทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ไม่ต้องพะวักพะวนในวาทะของใครๆทั้งนั้น เป็นธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม

และเมื่อได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ก็ย่อมได้จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต

จิตย่อมสงบเป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วคราว หรืออุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะสงบแน่วแน่

หรืออัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จะสามารถที่จะน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อปัญญา

ที่เป็นตัววิปัสสนาเห็นแจ้งรู้จริงยิ่งๆขึ้นไป

วาทะต่างๆยากจะรู้ตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้จึงเป็นการปฏิบัติไม่ผิด

เพราะว่าวาทะที่พูดกัน จะเป็นนินทาสรรเสริญของโลกทั่วๆไปดังกล่าวก็ดี

หรือแม้ว่าจะเป็นวาทะของสมณะพราหมณ์ หรือของศาสนา

ที่สอนในหลักสำคัญต่างๆกันดังกล่าวมาก็ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะรู้ตามเป็นจริง

เมื่อว่าถึงนินทาสรรเสริญทั่วๆไป ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ไม่เห็นด้วยตัวเอง

และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องไปสืบสวนให้รู้ว่าเป็นจริงอย่างไร

ถึงแม้ว่าสืบสวนก็ไม่อาจจะสืบสวนให้รู้เป็นจริงได้ นอกจากพูดๆกันไปเท่านั้น

ถ้าหากว่าพูดผิดก็เป็นบาปเป็นอกุศล เชื่อผิดก็ยิ่งเป็นบาปเป็นอกุศล

แม้ว่าจะพูดถูกเชื่อถูกแต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ไม่ให้เกิดเป็นความดีอะไรของตนขึ้นมา

 โลกนี้โลกหน้า

และเมื่อว่าถึงหลักที่อาจารย์ทั้งหลายสอนในศาสนาต่างๆ

ดังเช่นคำสอนของสมณะพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น

ทุกคนที่เป็นสามัญชนนี้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้โลกนี้โลกหน้า

ไม่ต้องกล่าวถึงโลกหน้า โลกนี้เองของตนเองก็ไม่รู้

เช่นว่าพรุ่งนี้ตนเองจะเป็นอย่างไร มะรืนนี้ตนเองจะเป็นอย่าง ก็ย่อมไม่รู้

เพราะฉะนั้น คนที่ตายกันอยู่ทุกๆวัน ด้วยเหตุต่างๆ ในวันหนึ่งๆ

ก่อนวันตายของตนส่วนใหญ่ก็ย่อมไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ตนจะตายแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องกล่าวถึงอนาคตในโลกหน้า อนาคตในโลกนี้เองทุกคนก็ไม่รู้

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการที่จะไปกังวลวุ่นวายอยู่ด้วยว่าโลกนี้โลกหน้า

มีจริงหรือไม่จริงอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

และก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนอย่างไม่รู้ว่าตัวเองพรุ่งนี้จะเป็นยังไง

นอกจากที่กำหนดใจเอาไว้ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะไปคิดค้นวุ่นวายในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้

ที่ไม่อาจจะรู้ได้ หรือว่าถึงรู้ได้ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดความดีความชั่วได้

ความเห็นผิดแม้ระลึกชาติได้

และบางทีแม้จะระลึกชาติได้ แต่ว่าระลึกได้เพียงชาติเดียว เช่นว่าในชาติหน้า

หรือในชาติอดีตถอยหลังไปเพียงชาติเดียว ก็ทำให้เกิดความเห็นผิดได้

ดังที่มีแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ว่าบางท่านระลึกในชาติอดีตได้เพียงชาติเดียว

ว่าได้ทำไม่ดีไว้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทำไมในชาตินี้จึงเกิดมาดี

ก็ทำให้เกิดความสงสัยในกรรมและผลของกรรม ว่าที่สอนว่าทำดีได้ดีนั้นน่าจะไม่จริง

เพราะเมื่อชาติที่แล้วตัวทำไม่ดี มาชาตินี้ทำไมถึงดี

เพราะฉะนั้น แม้การระลึกชาติได้เพียงชาติเดียวก็เป็นโทษได้ดั่งนี้

จะต้องระลึกชาติย้อนหลังไปได้มากมายดังที่พระพุทธเจ้าทรงได้บุพเพนิวาสญาณ

ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อยู่ รู้ ระลึกรู้ถึงขันธ์เป็นที่อยู่ในชาติก่อนได้ ย้อนหลังไปมากมาย

จึงได้ทรงจับได้ถึงกรรมและผลของกรรม ที่การให้ผลของกรรมนั้น

กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า

กรรมบางอย่างให้ผลในชาติถัดๆไป เพราะคนเรานั้นทำกรรมซับซ้อนไว้เป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น การมามุ่งในข้อว่าชาติหน้ามีหรือไม่ หรือชาติหน้าไม่มี เป็นต้น

จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เสียเวลาที่จะคิดค้น

และแม้ว่าจะทราบได้ระยะสั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ อาจจะเกิดความเข้าผิดได้ดังกล่าวแล้ว

ยกตัวอย่างถึงในชาติย้อนหลังไปนั้น ก็เหมือนอย่างว่าย้อนหลังไปเมื่อวานนี้

บางคนที่ทำดีเมื่อวานนี้มากมาย มาถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีผลอะไร

ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าทำดีไม่ได้ผลดี

หรือว่าคนที่ทำไม่ดีไว้เมื่อวานนี้เป็นอันมาก

แต่ในวันนี้ก็ยังเป็นสุขอยู่ ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่ากรรมชั่วไม่ให้ผลชั่ว

แต่อันที่จริงนั้นยังมีวันข้างหน้าอีกเป็นอันมาก มีปีข้างหน้าอีกเป็นอันมาก

กรรมชั่วหรือกรรมดีที่ยังไม่ได้ผลนั้นก็เพราะว่า ในปัจจุบันนี้ยังมีกรรมเก่าอื่นๆให้ผลอยู่

ที่เป็นกรรมดีก็ให้มีสุข ที่เป็นกรรมชั่วให้มีทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงต้องมองกันไปในระยะไกลๆ ต้องมีญาณที่หยั่งรู้ไปไกลอย่างพระพุทธเจ้า

จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ตามเป็นจริง

 ฉะนั้น ทุกคนจึงควรมาปฏิบัติในอปัณณกปฏิปทา คือทางปฏิบัติที่ไม่ผิด

คือไม่ผิดในทุกด้าน ในด้านว่าทานมีผลหรือไม่มีผล ก็ไม่ผิด

ในด้านว่าบุญบาปที่ทำไม่เป็นบุญบาปหรือเป็นบุญบาป ก็ไม่ผิด

ไม่ผิดในทุกทาง ทำตนให้มีความสวัสดีได้ในทุกๆทาง

เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้

จะทำให้ได้ธรรมสมาธิ ได้จิตตสมาธิ เจริญในสัมมาปฏิบัติ

เจริญในอปัณณกปฏิบัติ คือการปฏิบัติที่ไม่ผิด

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไx 

*

อปัณณกปฏิปทา (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

กาลามะสูตร ๓

ความปลอดโปร่งใจ ๔ ประการ ๔

ทุกคนต้องรับผิดชอบความเชื่อของตนเอง ๕

ความเชื่อถือทำพูดคิด ๖

ความเชื่อด้วยปัญญา ๗

ทุกคนรู้โลภโกรธหลงในใจตนเอง ๘

การเบียดเบียนผู้อื่นคือการเบียดเบียนตน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๓๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๕/๑ ( File Tape 104 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเป็นอปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติไม่ผิด

อันเกี่ยวแก่วาทะคือถ้อยคำต่างๆไว้หลายแห่ง และในที่อีกแห่งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่ เกสปุตติกนิคม อันเป็นที่อยู่ของชาวกาลามะทั้งหลาย

ชาวกาลามะได้เข้าเฝ้า และก็ได้กราบทูลว่าได้มีสมณะพราหมณ์ทั้งหลายเข้ามาสู่แคว้นนี้

ก็ได้แสดงวาทะสอน สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งก็สอนอย่างนี้

สมณะพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็สอนอย่างนั้น

 และชาวกาลามะก็ได้กราบทูลถึงวาทะที่สมณะต่างๆได้แสดงสอน

ก็เช่นเดียวกับที่ได้เสด็จไปในบ้านแห่งหนึ่ง และชาวบ้านแห่งนั้นก็ได้กราบทูลเหมือนอย่างนี้

และก็ได้กราบทูลถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติตน

ในทางที่ไม่ผิดด้วยการปฏิบัติอบรมธรรมสมาธิ และจิตตสมาธิ

ส่วนในเกสปุตติกนิคมนี้ ชาวกามลามะก็ได้กราบทูลถามเช่นเดียวกันว่าจะปฏิบัติอย่างไร

กาลามะสูตร

 พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่า เพราะเหตุนั้น

คือเพราะเหตุที่สมณะพราหมณ์พวกต่างๆที่เข้ามา ต่างแสดงวาทะสอนต่างๆกัน

ฉะนั้น จึงอย่าเชื่อถือเอาโดยฟังต่อกันมา อย่าเชื่อถือเอาโดยนำสืบๆกันมา

อย่าเชื่อถือโดยตื่นข่าว อย่าเชื่อถือโดยอ้างตำรา อย่าเชื่อถือโดยนึกเดาเอา

อย่าเชื่อถือโดยคาดคะเน อย่าเชื่อถือโดยตรึกเอาตามอาการ

อย่าเชื่อถือโดยพอใจว่าต้องกันกับทิฏฐิคือความเห็น อย่าเชื่อถือโดยพอใจว่าควรเชื่อได้

อย่าเชื่อถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

แต่ว่าให้ชาวกาลามะทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาดูตามเหตุผลว่าธรรมเหล่านี้

หรือสิ่งเหล่านี้เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ

อันวิญญูคือผู้รู้ ติเตียนหรือสรรเสริญ พระองค์ก็ได้ตรัสถามชาวกาลามะเป็นข้อๆไป

และชาวกาลามะก็ได้ตอบเป็นข้อๆไป

สรุปความเข้าว่า ตรัสถามว่าโลภะคือความโลภอยากได้

โทสะคือความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะคือความหลง มีคุณหรือมีโทษ

เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน

ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียน

พระองค์ก็ตรัสถามว่าบุคคลที่โลภแล้ว โกรธแล้ว หลงแล้ว จึงฆ่าเขาบ้าง

ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งของความประมาทบ้าง เป็นกุศลหรืออกุศล

มีคุณหรือมีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน

ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียน

 พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามในด้านตรงกันข้ามว่า

ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง และบุคคลที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

จึงเว้นจากการฆ่าเขาบ้าง เว้นจากการลักของๆเขาบ้าง

เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง เว้นจากพูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาทบ้าง

เป็นกุศลหรืออกุศล มีคุณหรือมีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน

( เริ่ม ๑๓๕/๑ ) ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นกุศล มีคุณ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญ ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสย้ำว่าเพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้ตรัสสอนว่า

อย่าได้เชื่อถือโดยฟังตามกันมา โดยนำสืบๆกันมา โดยตื่นข่าวลือเป็นต้น

 ความปลอดโปร่งใจ ๔ ประการ

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประทานพระพุทธโอวาทต่อไปว่า

บุคคลที่มีจิตไม่โลภเพ่งเล็งอยากได้ของใครมาเป็นของตน

ไม่พยาบาทมุ่งร้าย เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ไม่ฟั้นเฟือน

มีสัมปชานะคือความรู้พร้อม มีสติอยู่เฉพาะหน้า ย่อมแผ่พรหมวิหารธรรม

คือเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ไปในทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา

ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ที่ตรัสว่าทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔

ในเบื้องบน ในเบื้องล่าง ในเบื้องขวางโดยรอบ ทั่วโลกทั้งสิ้น โดยความที่เป็นที่รวมกันเข้า

เหมือนอย่างเป็นอัตตาตัวตนคนเดียวกันทั้งหมด ใหญ่ครอบโลกทั้งหมด

เมื่อปฏิบัติแผ่พรหมวิหารธรรมไปดั่งนี้ ย่อมจะได้ความภูมิใจ

ความปลอดโปร่งใจ ๔ ประการ

คือถ้าโลกอื่นมี ผลของบุญบาปที่ทำไว้แล้วมี

ตัวเราเองเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกทำลาย ก็ย่อมจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์

ถ้าโลกอื่นไม่มี ผลของบุญบาปที่ทำแล้วไม่มี ตัวเราเองก็จักรักษาตนให้เป็นสุขอยู่ได้ในโลกนี้

ถ้าบาปมีคือทำบาปก็เป็นอันทำบาป ทุกข์ก็จะไม่ถูกต้องเรา เพราะว่าเรามิได้ทำบาปแต่ที่ไหน

ถ้าบาปไม่มีคือทำบาปไม่เป็นอันทำบาป เราก็จักเป็นผู้ที่รักษาตนให้บริสุทธิ์โดยส่วนทั้งสอง

คือว่า บาปจะมีก็ตาม บาปจะไม่มีก็ตาม เราก็รักษาตนให้บริสุทธิ์ได้ ดั่งนี้

 ทุกคนต้องรับผิดชอบความเชื่อของตนเอง

พระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่ชาวกาลามะนี้ ได้เป็นที่นับถือของบุคคลเป็นอันมาก

และโดยเฉพาะแสดงลักษณะของพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสั่งสอนบังคับให้เชื่อ

แต่ให้เชื่อด้วยปัญญา แม้คำสั่งสอนของพระองค์เอง ก็ทรงสอนให้เชื่อด้วยปัญญา

ให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เพราะฉะนั้น ทุกๆคนจึงสมควรที่จะได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนี้

จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทปัญญา คือไม่ประมาทหมิ่นปัญญา

ใช้ปัญญาที่มีอยู่เพ่งพินิจพิจารณา ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะพูด

ก่อนที่จะคิดอ่านในเรื่องอะไรๆ ตามที่ได้เห็นด้วยตา ได้ฟังด้วยหูหรืออ่าน

ได้ทราบด้วยจมูกด้วยลิ้นด้วยกาย และได้คิดรู้ด้วยใจต่างๆ

ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนที่จะเชื่อจะถือปฏิบัติ ในสิ่งนั้นๆทุกอย่าง

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติไม่ประมาทปัญญา ไม่หมิ่นปัญญา

คือมีสติเฉลียวใจระลึกได้ ตรวจตราไตร่ตรองให้รู้จักในสิ่งที่จะเชื่อ จะทำจะพูดจะคิดต่างๆ

ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล มีคุณหรือมีโทษ อันวิญญูคือผู้รู้พิจารณาแล้วสรรเสริญหรือติเตียน

คือพิจารณาเข้ามาถึงตนเองในการที่จะเชื่ออะไร ในการที่จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร

เป็นการโต้ต่อสิ่งที่ได้เห็นได้ยินเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น อันมีประจำอยู่ทุกวัน

ว่าการที่ตัวเราเองจะเชื่อจะทำจะพูดจะคิดนั้น ก็เป็นความเชื่อของตัวเราเอง

เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตัวเราเอง

เพราะฉะนั้น บรรดาสื่อภายนอกต่างๆที่ผ่านเข้ามานั้น

โดยเป็นรูปที่ตาเห็น เป็นเสียงที่หูได้ยิน ดังเป็นวาทะต่างๆเป็นต้นนั้น

จะมาก่อให้เกิดความเชื่อถือของตัวเราเอง

ก่อให้เกิดกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตัวเราเองต่างๆ

เราจะต้องรับผิดชอบต่อความเชื่อของตัวเราเอง

ต่อการถือปฏิบัติที่เป็นการทำการพูดการคิดต่างๆของตัวเราเอง

ความเชื่อถือทำพูดคิด

อันนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพราะบรรดาสื่อต่างๆที่เป็นภายนอกนั้น ก็เป็นสิ่งที่เห็นเป็นรูปต่างๆ

เป็นเสียงที่ได้ยิน เป็นวาทะต่างๆ ตลอดถึงเป็นเรื่องที่ใจคิด และที่ใจรับรู้

และบรรดารูปที่เห็นเหล่านั้น บรรดาเสียงต่างๆที่พูดกันนั้น

ตลอดจนถึงบรรดาเรื่องที่ใจเรารับรู้ และคิดต่างๆนั้น เห็นแล้วก็ผ่านไป ได้ยินแล้วก็ผ่านไป

ตลอดจนถึงได้คิดได้รับรู้แล้วก็ผ่านไป ก็เป็นอยู่ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นคนเรานั้น วันหนึ่งๆไม่รู้ว่าเห็นรูปอะไรกี่ร้อยกี่พันอย่าง

ได้ยินเสียงอะไรกี่ร้อยกี่พันเสียง ได้คิดรับรู้อะไรต่างๆกี่ร้อยกี่พันเรื่อง

และก็ล้วนผ่านไปๆๆ เท่านั้น

แต่ว่าการที่เราทุกคนนั้นจะเก็บเอามาเชื่อถือทำพูดคิด

เหล่านี้ล้วนเป็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง

ถ้าหากว่าความเชื่อความถือคือการปฏิบัติต่างๆ เป็นการทำการพูดการคิดต่างๆ

หรือเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมต่างๆ นั่น เราจะต้องรับผิดชอบ

ถ้าหากว่าเป็นความเชื่อผิดถือผิด ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เป็นอกุศลเป็นโทษ

เป็นสิ่งที่วิญญูคือผู้รู้ติเตียน ติเตียนตัวเราเองนั่นเอง เป็นโทษแก่ตัวเราเองนั่นเอง

เป็นอกุศลต่อตัวเราเองนั่นเอง บรรดาสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยินต่างๆนั้นไม่ได้เกี่ยวข้อง

คือว่าไม่พลอยรับเป็นอกุศลเป็นโทษ และเป็นสิ่งที่วิญญูติเตียนด้วย

ตัวเราเองต่างๆที่รับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามา ก่อเป็นความเชื่อถือทำพูดคิด

และเป็นฝ่ายผิดไม่ถูกต้อง ก็เป็นอกุศลเป็นโทษแก่ตัวเราเอง

วิญญูคือผู้รู้ก็ติเตียนตัวเราเอง

 เพราะฉะนั้น การที่ตัวเราเองนั้นไปพลอยรับเป็นอกุศลเป็นโทษ

และถูกผู้รู้ติเตียน เพราะเหตุแห่งสิ่งที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยินเป็นต้นดังกล่าว

ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้วดั่งที่กล่าวมานั้น เป็นความโง่หรือเป็นความฉลาด

ก็จะต้องตอบว่าเป็นความโง่ ไม่ใช่เป็นความฉลาด อยู่เฉยๆยังเป็นสุขกว่า

หรือแปลว่าคนหูหนวกตาบอดยังเป็นสุขกว่า

 แต่การที่หูดีตาดี และใจก็ดีเป็นปรกติ

แต่ยังมีความโง่ไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้ว มาก่ออกุศล

ก่อโทษทุกข์ ก่อความถูกติเตียนจากผู้รู้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร สู้คนที่หูหนวกตาบอดไม่ได้

เพราะฉะนั้น การประมาทหมิ่นปัญญาของตน เพราะเหตุที่ไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ

มาก่ออกุศลโทษทุกข์แก่ตนเองดังกล่าวนั้นจึงเป็นความโง่ ไม่ใช่ความฉลาด

 ความเชื่อด้วยปัญญา

 พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลไม่ตกจมไปในความโง่

แต่ว่าให้ถอนจากความโง่มาสู่ความฉลาด ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา

ดูที่ตัวความเชื่อถือ ดูที่ตัวกรรมคือสิ่งที่กระทำลงไปของตัวเอง

ทางกายทางวาจาทางใจ จากสิ่งแวดล้อมต่างๆในโลกนี้

ถ้าหากว่ากรรมคือการงานที่กระทำของตัวนั้นเป็นกุศล เป็นสุข คือให้เกิดสุข

ไม่เป็นโทษทุกข์ เป็นคุณ และผู้รู้สรรเสริญ ดั่งนี้ จึงประกอบกระทำออกไป

โดยที่ให้มีศรัทธาคือความเชื่อนั้นเป็นไปในทางที่ถูกต้อง

คือไม่ได้เชื่ออันเป็นเหตุให้ถือปฏิบัติ ด้วยฟังตามๆกันมา ด้วยนำสืบๆกันมา

ดั่งที่ตรัสสอนไว้ข้างต้นนั้น แล้วมาใช้ปัญญาพิจารณา คือให้เชื่อด้วยปัญญา

และข้อที่ให้เชื่อด้วยปัญญานั้น

ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องไปรู้ลึกซึ้งถึงโลกนี้โลกหน้าเป็นต้น

เพราะว่าสามัญชนนั้น ยังไม่มีญาณที่จะหยั่งรู้ถึงโลกนี้โลกหน้าได้

เพราะฉะนั้น จึงให้รู้ในปัจจุบันธรรมนี้เอง คือให้รู้ด้วยปัญญาที่ใจของตัวเอง

และให้รู้ที่กรรมที่จะประกอบกระทำออกไปของตัวเอง

คือดูให้รู้จักว่าใจของตัวเองนี้ประกอบด้วยโลภโกรธหลงหรือเปล่า

และกรรมที่กระทำออกไปนั้นเป็นการฆ่าเขาหรือเปล่า เป็นการลักของๆเขาหรือเปล่าเป็นต้น

อันสืบเนื่องมาจากโลภโกรธหลง

 ทุกคนรู้โลภโกรธหลงในใจตนเอง

เพราะทุกคนนั้นสามารถรู้ได้ โลภโกรธหลงที่บังเกิดขึ้นที่ใจของตัวเอง

โลภโกรธหลงก็ตะโกนอยู่ในใจของตัวเองแล้ว ว่าโลภมาแล้ว โกรธมาแล้ว หลงมาแล้ว

และใจที่ถูกโลภโกรธหลงครอบงำก็ตะโกนอยู่แล้วว่า ใจของเราโลภแล้ว

ใจของเราโกรธแล้ว ใจของเราหลงแล้ว ทุกคนได้ยินทั้งนั้น ได้รู้ทั้งนั้น

และกิเลสเหล่านี้ถ้าเกิดน้อย ก็ตะโกนเบา หรือกระซิบๆให้รู้ ว่าจะโลภจะโกรธจะหลง

หรือเริ่มโลภเริ่มโกรธเริ่มหลง

ในเมื่อกิเลสเหล่านี้แรงมากขึ้นแล้วจะตะโกนดังมาก

เราโลภแล้ว เราโกรธแล้ว เราหลงแล้ว โลภมาแล้ว โกรธมาแล้ว หลงมาแล้ว

แต่ทุกคนทำตนให้เป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่ยอมที่จะรับฟังคำตะโกนของกิเลสดังกล่าวมานั้น

เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้หลงเป็นผู้โง่ ที่เรียกว่าพาลอันแปลว่าโง่ หรือแปลว่าเขลา

มีตาก็เหมือนไม่มีตา มีหูก็เหมือนไม่มีหู ที่จะรับรู้เสียงของกิเลส อาการของกิเลสที่ปรากฏขึ้น

เพราะฉะนั้น กิเลสจึงจูงบุคคลเช่นนี้ไปเป็นทาส ให้ประกอบกรรม ที่เป็นเครื่องเบียดเบียนตน

และผู้อื่นให้เดือดร้อนต่างๆ และการฆ่าเขาก็ดี การลักของเขาก็ดี

ก็เป็นกรรมที่บอกตัวเองว่าเบียดเบียน เบียดเบียนผู้อื่น

การเบียดเบียนผู้อื่นคือการเบียดเบียนตน

แต่ว่าการเบียดเบียนผู้อื่นนี้ ก็คือเบียดเบียนตนเองนั้นเอง

เพราะว่าทำให้ตนเองนั้นเป็นคนชั่ว และทำให้ตนเองนั้นเป็นทุกข์เพราะกิเลส ถูกกิเลสเผา

แต่ว่าไฟคือกิเลสที่เผานี้ ในตอนแรกจะรู้สึกคล้ายกับไฟเย็น หรือเป็นไฟร้อน ก็รู้สึกว่าร้อน

แต่ว่าเพราะเหตุที่ยังไม่ยอมรับรู้ คนเราจึงได้ทำชั่วต่างๆ แต่ถ้าหากว่ามีสติเฉลียวใจ

มาดูที่ใจตัวเอง มาดูที่กรรรมตัวเองแล้ว ก็จะรู้ว่าเป็นบาปเป็นอกุศล มีโทษมีทุกข์

และผู้รู้ก็ติเตียน พระพุทธเจ้าก็ติเตียน พ่อแม่ก็ติเตียน ครูบาอาจารย์ก็ติเตียน

ก็จะนึกขึ้นมาได้ เฉลียวใจเป็นตัวสติ

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว หากว่าอบรมสตินี้ คือความเฉลียวใจนี้ให้มีขึ้นบ่อยๆ

ก็จะทำให้ไม่ประมาทหมิ่นปัญญา ปัญญาก็จะโผล่ขึ้นมาเองว่า

นี่อะไรเป็นอะไร นี่เป็นบาปอกุศล มีโทษทุกข์ ผู้รู้ติเตียน

ส่วนว่าการกระทำที่ตรงกันข้าม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นกุศล มีคุณ

ให้เกิดความสุข บัณฑิตคือผู้รู้สรรเสริญ ปัญญาจะเป็นผู้ที่บอกเอง

เสียงของปัญานี้จะดังขึ้นๆ เสียงของสติก็ดังขึ้นๆ

แต่ในตอนแรกเมื่อยังเป็นผู้ที่โง่เขลาอยู่มากนั้น เสียงกิเลสตะโกนก็ไม่ได้ยิน

หรือไม่ยอมรับฟัง เพราะว่าปัญญานั้นถูกประมาทหมิ่นไปเสียแล้ว ไม่โผล่ขึ้นมา

แต่เมื่อมีความเฉลียวใจที่เป็นตัวสติ คอยหมั่นนึกตรวจตราอยู่พอสมควรแล้ว

ก็เป็นโอกาสให้ปัญญานี้โผล่ขึ้นมาในใจได้

และปัญญานี้เองจะได้ยินเสียงกิเลสร้องตะโกนบอกตัวเอง

และปัญญานี้เองก็จะเป็นผู้บอก ว่านี้ดี นี้ชั่ว เป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น

และเมื่อนั้นแหละก็จะได้เป็นผู้ที่สามารถชนะกิเลสได้

สามารถที่จะทำความเชื่อความถือคือการปฏิบัติต่างๆให้ถูกต้องได้

ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

เพราะฉะนั้น ความที่เป็นผู้ที่มีสติคอยเฉลียวใจอยู่เสมอ ไม่ประมาทหมิ่นปัญญาของตน

ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้นี้

จึงเป็นทางตรงอันถูกต้องที่สุด คือตรงเข้ามาที่ตัวเราเอง จัดการกับตัวเราเองให้ดี

พระพุทธเจ้าตรัสสอนดังนี้ และตรัสสอนเป็นกลางๆ ไม่ว่าในวาทะของใคร

วาทะของพระองค์เอง หรือวาทะของสมณะพรหมณ์ หรือของผู้อื่นก็ตาม

ก็ให้ปฏิบัติใช้ปัญญาเช่นเดียวกัน

และเมื่อปัญญาของตัวเราเองบังเกิดขึ้นแล้ว

ปัญญาก็จะรับรองเอง ว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง

ธรรมะนั้นก็เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกดีแล้วจริง

พระสงฆ์คือศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้ว

ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีแล้วจริง ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats