ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป098

สังฆานุสสติ

สุปฏิปันโน ภวควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

โสตาปฏิยังคะ ๓

อะไรคือนิพพาน ๕

ธรรมานุธรรมะปฏิปัติ ๖

วิมุติชั่วคราว ๖

ธรรมะทุกระดับมีวิมุติเป็นรส ๗

การปฏิบัติที่บ่ายหน้าไปสู่นิพพาน ๙

การบวชทำได้ยาก ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๖/๑ ( File Tape 98 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

สุปฏิปันโน ภวควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระสังฆคุณเพื่อเป็นสังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์

อันเป็นรัตนะที่ ๓ ในพุทธศาสนา ในข้อ สุปฏิปันโน ภวควโต สาวกสังโฆ

สงฆ์คือหมู่แห่งสาวกคือผู้ฟัง คือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้ว

แม้จะได้แสดงมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่พระสังฆคุณบทนี้อันเป็นบทนำ

ก็มีทางที่พึงแสดงเพิ่มเติม ให้เป็นอนุสสติเป็นที่ระลึกถึงพระสังฆคุณได้อีก

 

ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้นก็ได้กล่าวแล้วว่า

ท่านปฏิบัติเสร็จแล้วตามขั้นตอนแห่งอริยสงฆ์ ตามที่เป็นพระสงฆ์ในพระรัตนตรัย

แต่ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยการปฏิบัติดีมาโดยลำดับ ซึ่งเราทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่

ดังเช่นปฏิบัติดีที่เป็น ทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน

และ สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้

อันนับว่ายังเป็นโลกิยะเกี่ยวอยู่กับโลก สำหรับผู้ที่ยังมีความเกี่ยวข้องอยู่กับโลก

และปฏิบัติดีที่ยิ่งขึ้นไปก็คือปฏิบัติดีที่เป็น ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง

อันหมายความว่าปฏิบัติมุ่งนิพพาน อันเป็นธรรมะเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์

 

และการปฏิบัตินั้น ก็ปฏิบัติเข้าทางแห่งมรรคมีองค์ ๘

คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ทั้งสองนี้นับเป็นปัญญาสิกขา

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สามนี้นับเข้าเป็นสีลสิกขา

สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติ สติคือความระลึกชอบ

สัมมาสมาธิ สมาธิคือความตั้งใจมั่นชอบ ทั้งสามนี้นับเป็นจิตตสิกขา หรือสมาธิ

 

การปฏิบัติเข้าทางดั่งนี้ ก็เพื่อโลกุตรธรรม

คือไม่ต้องการจะเกี่ยวข้องกับโลก ต้องการจะพ้นโลก ก็คือพ้นกิเลสและกองทุกข์

ก็ที่เรียกว่าโลกนั้นต้องประกอบด้วยกิเลสและกองทุกข์

เมื่อต้องการพ้นกิเลสพ้นทุกข์ ก็เป็นการพ้นโลก ที่เราเรียกว่าโลกุตระ

อันแปลว่าเหนือโลก หรือโลกอุดร

 

โสตาปฏิยังคะ

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัส โสตาปฏิยังคะ

คือองค์คุณที่สำหรับปฏิบัติให้บรรลุถึงกระแสแห่งธรรมะ อันเรียกว่า โสตาปฏิ

ถ้าเป็นบุคคลก็เรียกว่าโสดาบัน อันเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรก

นัยหนึ่งก็ตรัสเอาไว้ว่าประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธะ

ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม

ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

ประกอบด้วย อริยกันตศีล คือศีลที่พระอริยะต้องการ

อันได้แก่ศีลที่เป็น สีลวิสุทธิ คือศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ขาดเป็นท่อน ไม่ทะลุเป็นช่อง

ไม่ด่างไม่พร้อย เป็นไทไม่เป็นทาสแห่งความปรารถนา ไม่ถูกกิเลสรบกวน ลูบคลำ

อันทำให้เศร้าหมอง อันวิญญูคือผู้รู้สรรเสริญ เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นองค์คุณ ๔ ประการ

 

และอีกนัยหนึ่งได้ตรัสไว้ว่า สัปปริสูปสังเสวะ เสพคือคบหาสัตบุรุษคนดี

สัทธรรมมัสวนะ ฟังสัทธรรมของสัตบุรุษคือคนดี

โยนิโสมนสิการะ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้เข้าใจ

ธรรมานุธรรมปฏิปัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ในข้อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ ได้มีพระพุทธาธิบายไว้เป็นอย่างสูง

อันหมายความว่ามุ่งถึงเป้าหมายของพุทธศาสนา อันเป็นหลักใหญ่ของพระสังฆคุณโดยตรง

ซึ่งมีอยู่ทั้งในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ อันนับว่าเป็นวัตถุที่บริสุทธิ์ด้วยกัน

 

คือได้มีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

ชื่อว่า พระธรรมกถึก คือผู้แสดงธรรมผู้กล่าวธรรม ด้วยประการอย่างไร

ชื่อว่าเป็น ธรรมานุธรรมปฏิปันนะ ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยประการอย่างไร

ชื่อว่าเป็น ผู้บรรลุถึงนิพพาน คือความดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการอย่างไร

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า ชื่อว่าเป็นธรรมกถึกผู้กล่าวธรรมผู้แสดงธรรม

ก็ด้วยแสดงธรรมเพื่อนิพพิทาความหน่าย วิราคะความสิ้นติดใจยินดี

นิโรธะความดับความเพลิดเพลิน ความยึดถือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

แสดงธรรมดั่งนี้เรียกว่าธรรมกถึก

 

ปฏิบัติธรรมอย่างไรชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ก็คือปฏิบัติเพื่อนิพพิทาความหน่าย วิราคะความสิ้นติดใจยินดี

นิโรธะความดับความเพลิดเพลินความติดยึดถือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

และที่เรียกว่าผู้บรรลุทิฏฐะธรรมนิพพานคือนิพพานในปัจจุบัน

ก็ด้วยวิมุติคือหลุดพ้นเพราะหน่ายสิ้นติดใจยินดี

ดับ ไม่ยึดมั่นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ดั่งนี้

 

ตามพระพุทธพยากรณ์ที่ยกมาอ้างนี้ ตรัสยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง

ในที่อื่นก็ตรัสยกเอาอายตนะภายในภายนอกขึ้นเป็นที่ตั้งบ้าง

สังขารทั้งปวงขึ้นเป็นที่ตั้งบ้าง โลกทั้งปวงขึ้นเป็นที่ตั้งบ้าง ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา

ที่รวมอยู่ในคำว่า สัพเพธรรมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงไม่ควรเพื่อยึดมั่น ดั่งนี้

แต่ในการที่ตรัสแสดงยกขึ้นชี้นั้น ก็ตรัสยกเอาข้อนั้นบ้างข้อนี้บ้าง

และก็รวมเข้าในคำว่าธรรมทั้งปวงหรือธรรมทั้งหมดคือทุกสิ่งทุกอย่างไม่ควรเพื่อยึดมั่น

 

อะไรคือนิพพาน

 

และอะไรคือนิพพานนั้น

ก็ได้มีปริพาชกผู้หนึ่งถามท่านพระสารีบุตร ว่าที่เรียกว่านิพพานๆนั้นคืออะไร

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า ได้แก่ ราคัคคโย ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งราคะความติดใจยินดี

โทสัคคโย ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งโทสะความกระทบกระทั่งขัดเคืองโกรธแค้น

โมหัคคโย ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งโมหะคือความหลง ดั่งนี้

ปริพาชกนั้นก็ถามต่อไปว่ามีทางที่จะทำให้แจ้งนิพพานหรือไม่

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่ามี ปริพาชกก็ถามว่าทางไหน อะไร

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่าคือทางที่เป็นอริยะมรรคมีองค์ ๘

มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นดังที่กล่าวแล้ว

 

พราหมณ์ได้ถามว่าในธรรมวินัยนี้อะไรที่ทำได้ยาก

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า บรรพชา เป็นข้อที่ทำได้ยาก

พราหมณ์ก็ถามต่อไปว่าผู้ที่บรรพชาแล้วคือบวชแล้วจะมีอะไรที่ทำได้ยาก

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า อภิรติ คือความยินดียิ่งในการบวชทำได้ยาก

พราหมณ์ปริพาชกก็ถามต่อไปว่าผู้ที่มีความยินดียิ่งในการบวชแล้วยังจะมีอะไรที่ทำได้ยากอีก

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า ธรรมานุธรรมะปฏิปัติ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

 

ธรรมานุธรรมะปฏิปัติ

 

( เริ่ม ๑๒๖/๑ ) ในข้อนี้ก็หมายถึงว่าการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติทุกคน

ถ้าเป็นบรรพชิตก็คือการปฏิบัติอยู่ในศีลสมาธิปัญญาที่เป็นไตรสิกขาของผู้ปฏิบัติ

หรือแม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ก็เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในศีลสมาธิปัญญา

หรือไตรสิกขาที่ลดลงมาของตนๆ การปฏิบัติของตนๆดั่งนี้ที่จะให้สมควรแก่ธรรม

คือสมควรด้วยเป็นธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

สมควรตามความมุ่งหมายของธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

 

การปฏิบัติของทุกๆคนที่จะให้เหมาะให้สม

ให้ควรแก่ธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ เป็นการที่ทำได้ยาก

เพราะอะไร ก็เพราะว่าธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น

จะเป็นเบื้องต้นก็ตาม เบื้องกลางก็ตาม เบื้องสูงก็ตาม

ล้วนแต่มีธรรมรส รสของธรรมเป็นอย่างเดียวกัน

และรสของธรรมนั้นก็คือวิมุติความหลุดพ้น อันได้แก่ความพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

ก็หมายถึงจิตนี้เองที่พ้นจากกิเลสและกองทุกข์

 

วิมุติชั่วคราว

 

และวิมุติคือความหลุดพ้นนี้ก็ได้ตรัสไว้ทั้งอย่างสูง ทั้งอย่างปานกลาง ทั้งอย่างต่ำลงมา

คือแม้ว่าเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง

แม้ชั่วครั้งชั่วคราว อันเกิดจากการปฏิบัติธรรม ก็เป็นวิมุติได้

เช่นว่าเกิดความโกรธขึ้นมา ก็แผ่เมตตาจิตออกไปดับโกรธ

โกรธก็ดับได้ด้วยอำนาจของเมตตาที่แผ่นั้น ดั่งนี้ก็เป็นวิมุติได้คือพ้นโกรธ

หรือว่าเกิดราคะความติดใจยินดีขึ้นมา หรือโลภะความโลภอยากได้ขึ้นมา

ก็ปฏิบัติธรรมเช่นเจริญกายคตาสติ สติที่ไปในกายพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของที่ปฏิกูลไม่สะอาด

พิจารณาว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ให้บังเกิดประโยชน์เป็นความสุข

ก็ดับความโลภดับราคะลงได้ จิตสงบ ดั่งนี้ก็เป็นวิมุติอย่างหนึ่งชั่วคราวเฉพาะเรื่องๆ

ซึ่งต่อไปเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ก็เกิดราคะ โลภะ หรือเกิดโทสะขึ้นมาอีก

ก็ปฏิบัติธรรมะแก้ที่จิตใจของตนเอง ดับลงได้ก็เป็นวิมุติอย่างหนึ่งๆ ดั่งนี้ก็เป็นวิมุติ

 

ธรรมะทุกระดับมีวิมุติเป็นรส

 

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั้นทุกข้อทุกบท

จะเป็นระดับศีลก็ตาม ระดับสมาธิก็ตาม ระดับปัญญาก็ตาม

ทุกระดับทุกข้อล้วนมีวิมุติเป็นรสดั่งนี้เหมือนกันหมด ตรัสเทียบเหมือนอย่างว่า

เหมือนอย่างมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรมีความเค็มเป็นรสเหมือนกันหมด

เมื่อบุคคลยืนอยู่ที่ริมฝั่งทะเลเอามือแตะน้ำในมหาสมุทรมาแตะที่ลิ้นก็ย่อมจะได้รสเค็ม

หรือไปอยู่กลางมหาสมุทรอันลึก เอามือแตะน้ำมาแตะที่ลิ้นก็ย่อมจะได้รสเค็มเหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนย่อมมีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรสดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะเป็นขั้นสรณคมน์ ขั้นศีล ๕

หรือศีลข้อใดข้อหนึ่ง หรือศีล ๘ หรือศีลที่สูงขึ้นมา จะเป็นคฤหัสถ์เป็นบรรพชิต

จะปฏิบัติธรรมะข้อไหน ถ้าในนวโกวาทก็ตั้งแต่ทุกะหมวด ๒ เป็นต้น ทุกข้อทุกบท

หรือจบพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็ล้วนแต่มีวิมุติเป็นรสดั่งนี้เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น ทุกคนผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วได้รสของธรรมะดั่งนี้

คือวิมุติความหลุดพ้น คือใจพ้นจากราคะโทสะโมหะ พ้นจากโลภโกรธหลง

พ้นจากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากเป็นต้น ความทุกข์ก็ผ่อนคลายลงไป

เมื่อปฏิบัติได้ผลดั่งนี้จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ถ้าปฏิบัติยังไม่ได้ผลดั่งนี้ก็ยังไม่สมควรแก่ธรรม

 

ทุกคนสามารถจะปฏิบัติให้ได้รับผล คือความหลุดพ้นดังกล่าวนี้

ที่เป็นขั้นสามัญได้ทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติ บางอย่างก็อาจจะได้รับผลโดยที่ตนเองไม่รู้

เช่นว่าเมื่อปฏิบัติในศีล ก็ย่อมได้รับวิมุติคือความหลุดพ้นจากภัยเวรทั้งหลาย

และในการปฏิบัติศีลนั้นก็ย่อมจะได้รับความทุกข์เพราะการปฏิบัติอยู่ด้วย

ทั้งทางกายทั้งทางใจ เช่นเมื่อรับศีล ๘ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

หลังวิกาลไปแล้ว ตั้งหลังเที่ยงไปแล้วบริโภคไม่ได้ ร่างกายก็เกิดทุกข์เหมือนกัน

เช่นว่าหิวระหาย ก็เป็นทุกข์กาย

 

และต้องทุกข์ใจก็มีเหมือนกัน เช่นว่าจิตนั้นต้องการจะละเมิด

แต่ทำไม่ได้เพราะศีลห้ามอยู่ อยากจะทำนั่นทำนี่ก็ทำไม่ได้เพราะศีลห้ามอยู่

ยิ่งรักษาศีลมากมีข้อห้ามมาก ก็มีข้อที่ทำไม่ได้มากขึ้น อยากจะทำก็ทำไม่ได้

ก็ทำให้จิตกลัดกลุ้มเป็นทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็โทษศีล ว่าศีลไม่ให้สุข ศีลให้เกิดทุกข์

แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า อันที่จริงนั้นศีลไม่ได้ให้เกิดทุกข์

สิ่งที่ให้เกิดทุกข์นั้น คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในใจของตนเอง

เมื่อก่อนถือศีลนั้นก็อาจจะปล่อยกายปล่อยใจไปตามตัณหาได้

หรือว่าจะยกเอาโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะขึ้นมาก็ได้

เมื่อเกิดราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลงขึ้นมา ศีลก็ห้ามไว้

ไม่ให้ทำอย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างนี้ แต่เมื่อยังไม่ได้ถือศีลก็ทำได้

 

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นในขณะที่ถือศีลนั้น

ไม่ใช่โทษของศีล แต่โทษของกิเลสที่บังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ

อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นศีลที่ถูกกิเลสลูบคลำจับต้อง ลักษณะเป็นดั่งนี้เอง

เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้จักว่า ความทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

และเมื่อพิจารณาแล้วก็จะรู้ว่าไม่ใช่เกิดเพราะศีล แต่เกิดเพราะกิเลสดั่งที่กล่าวมานั้น

แต่ว่าศีลนั้นให้เกิดคุณ คือความที่เป็นวิมุติหลุดพ้นจากภัยเวรทั้งหลาย

และเป็นทางระงับดับตัณหาดับราคะโทสะโมหะ

ป้องกันไว้ไม่ให้บุคคลปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลส เป็นทาสของกิเลส ดั่งนี้เป็นต้น

นี้แหละคือตัวโยนิโสมนสิการ ที่แปลว่าทำไว้ในใจโดยแยบคาย อันเป็นสิ่งสำคัญมาก

ถ้าขาดข้อนี้เสียแล้วก็ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมได้

เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าไว้เป็นข้อที่ ๓ แต่ต้องมีกำกับอยู่แล้วจึงถึงข้อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

 

การปฏิบัติที่บ่ายหน้าไปสู่นิพพาน

 

และเมื่อสามารถปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้แล้ว

ได้รู้จริงถึงคุณและโทษของธรรมปฏิบัติกับของกิเลส ว่ากิเลสนั้นเองให้เกิดโทษเกิดทุกข์

แต่ธรรมปฏิบัตินั้นให้เกิดสุข ให้เกิดวิมุติความหลุดพ้น คือให้ใจผ่องพ้นได้โดยส่วนเดียว

ดั่งนี้แล้ว จะทำให้ทวีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ผลเป็นความหลุดพ้น

ทำให้ใจผ่องพ้นได้เมื่อนั้น และจะทำให้เกิดฉันทะความพอใจในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น

เพราะเห็นประโยชน์ ไม่ใช่เห็นโทษ แต่ถ้าขาดโยนิโสมนสิการแล้วจะเห็นโทษ

และจะทำให้ท้อถอยในการปฏิบัติธรรม

 

อันนี้แหละ คือเป็นการปฏิบัติที่เรียกว่าบ่ายหน้าไปสู่นิพพาน

คือความดับทุกข์ในที่สุด อันเป็นนิพพานที่เป็นดับทุกข์ ดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นเชิง

แม้จะอยู่ไกล คือแปลว่ายังไม่สามารถจะบรรลุถึงได้ในบัดนี้เมื่อนี้

แต่เมื่อหันหน้าไปสู่นิพพาน คือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมดั่งนี้แล้ว

ก็เรียกว่าเป็นการที่เดินใกล้นิพพานเข้าไปทุกที

ตามที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงไว้ว่า คือธรรมะเป็นที่สิ้นราคะโทสะโมหะ

นี่คือนิพพาน อันเป็นการแสดงอย่างให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด

การบวชทำได้ยาก

 

และผู้ที่ปฏิบัติมาดั่งนี้ คือเป็นผู้ที่ทำสิ่งที่ทำได้ยาก

ที่ท่านพระสารีบุตรท่านได้ตอบแก่ปริพาชกผู้นั้น ในธรรมวินัยนี้การบวชทำได้ยาก

และการบวชนั้นถ้าแปลตามศัพท์ก็การเว้น ก็หมายคลุมได้ตลอดจนถึงผู้ที่ถือศีล

ตั้งแต่ศีล ๕ ขึ้นมา ที่ว่าบวชได้เพราะเป็นผู้ที่เว้น เว้นจากภัยจากเวร

และเมื่อปฏิบัติในศีลได้ก็แปลว่าทำสิ่งที่ทำยากนั้นได้

 

คราวนี้ครั้นถือศีลได้ หรือว่าบวชได้แล้ว

ก็ยังมียากอีกที่จะให้มีความยินดียิ่งอยู่ในศีล หรือในบรรพชาการบวชนั้น

เพราะฉะนั้น จึงจะต้องมีโยนิโสมนสิการดังที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความระอาท้อถอยขึ้นก็ต้องจับให้ถูก

ว่าไม่ใช่เกิดจากศีล หรือธรรมปฏิบัติ แต่เกิดจากกิเลส

เพราะว่าการปฏิบัติธรรมะนั้นทวนกระแสกิเลส ทวนกระแสของตัณหาโลภโกรธหลง

ไม่ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายท้อถอย

เกิดความทุกข์เดือดร้อน แต่เมื่อรู้ว่านี่เกิดจากกิเลส

ส่วนธรรมปฏิบัตินั้นเกิดสุข เกิดวิมุติความหลุดพ้น อันเป็นคุณโดยส่วนเดียว

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะประคองความยินดียิ่งในการเว้นคือศีล

หรือการบรรพชาการบวชให้ดำเนินต่อไปได้

 

และแม้ว่าจะมีความยินดียิ่งในการบวชแล้วก็ไม่ใช่หมายความว่า

บวชแล้วก็กินนอนอยู่เฉยๆ หรือว่าถือศีลก็ถืออยู่แค่ศีลเท่านั้น ศีล ๕ เท่านั้น

ควรจะต้องต่อเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นไปด้วย คือปฏิบัติให้สูงขึ้นไป

เพื่อให้ได้วิมุติคือความหลุดที่จะทำให้ใจผ่องพ้นนั้นสูงขึ้นๆ อันเรียกว่าธรรมานุธรรมะปฏิบัติ

แม้บวชแล้วหรือเว้นเรียกแปลว่าถือศีลได้แล้ว ก็ยังมีข้อยาก

ก็คือการที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ยิ่งๆขึ้นไป

๑๐

เพราะฉะนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมที่ยิ่งๆขึ้นไป

รักษาศีลแล้วก็ต้องปฏิบัติในสมาธิปฏิบัติในปัญญาต่อขึ้นไปโดยลำดับ

แล้วหากว่าปฏิบัติให้เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติได้จริงๆแล้ว

 

พราหมณ์ปริพาชกผู้นั้นก็ยังถามท่านไปว่า กว่าจะเป็นพระอรหันต์ได้นั้นนานเท่าไหร่

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่าไม่นาน ถ้าสามารถปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมได้แล้ว ไม่นาน

ก็จะเป็นพระอรหันต์ได้ ก็หมายความว่าสามารถจะบรรลุถึงภูมิอันสูงสุดได้

แม้ในทิฏฐะธรรมคือในปัจจุบัน ที่เรียกว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพื่อให้ได้ธรรมรสขึ้นไปโดยลำดับ

ดั่งนี้ เป็นสุปฏิปัติปฏิบัติดี และเมื่อเป็นสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้วไปโดยลำดับ

ก็ย่อมจะได้ภูมิชั้นที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ จนเป็นอริยะบุคคลเข้าหมู่อริยะสงฆ์ในพุทธศาสนา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติสืบต่อไป

 

*

สังฆานุสสติ

อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ปฏิบัติตรงต่อประโยชน์ ๓ ประการ ๓

ปฏิบัติตรงต่อมรรคมีองค์ ๘ ๔

การปฏิบัติที่ไม่เนิ่นช้า ๕

ปฏิบัตินานเท่าไรจึงจะเป็นพระอรหันต์ ๖

ข้อว่าปฏิบัติตรง ๗

จิตตภาวนา ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๖/๒ ( File Tape 98 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระสังฆคุณนำสติปัฏฐานในบทว่า อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

สงฆ์คือหมู่แห่งสาวกผู้ฟัง คือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติตรงแล้ว

พระสังฆคุณบทนี้แสดงอุชุปฏิปัติ หรืออุชุปฏิบัติ ปฏิบัติตรง

คำว่าตรงนั้นมีความหมายที่ใช้ทั่วไป ก็คือตรงไม่คด

แต่ว่ามีความหมายจำกัดเข้ามาอีกว่าเป็นตรงดี คือตรงไม่คดนั้นในทางปฏิบัติดำเนิน

อาจจะตรงแน่วไปทางชั่วก็ได้ แต่ว่าในที่นี้ต้องเป็นตรงดี คือตรงไปในทางดี

และคำว่าตรงเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็มีใช้กันอยู่ในทางปฏิบัติทั่วไป

กับในทางตรงต่อผลที่ประสงค์

 

สำหรับประการแรก คือตรงในทางปฏิบัติทั่วไปนั้นก็เช่นซื่อตรง

อันได้แก่ไม่คิดคดหรือปฏิบัติคดทรยศ รักษาคำพูดรักษาสัญญา

และปฏิบัติภายนอกภายในตรงกัน เช่น พูดอย่างใดใจก็อย่างนั้น หรือใจอย่างใดพูดอย่างนั้น

ตรงที่เป็นความเที่ยงธรรมก็คือตรงต่อความถูกต้องเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงไปด้วยอคติทั้ง ๔

คือไม่ลำเอียงไปด้วย ฉันทาคติ คือลำเอียงไปเพราะรักชอบ

ไม่ลำเอียงไปเพราะ โทสาคติ คือลำเอียงไปเพราะโกรธชังไม่ชอบ

ไม่ลำเอียงไปเพราะ โมหาคติ คือลำเอียงไปด้วยโมหะคือความหลง

คือไม่สอบสวนให้รู้จริงถูกต้อง ปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิด ชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เป็นต้น

ไม่ลำเอียงไปเพราะ ภยาคติ คือความกลัว การปฏิบัติจึงเที่ยงธรรม

 

ปฏิบัติตรงต่อประโยชน์ ๓ ประการ

 

ส่วนตรงต่อผลที่ประสงค์นั้น ก็หมายถึงปฏิบัติตรงต่อผลที่ต้องการ

ซึ่งหมายถึงผลที่ถูกชอบ และโดยเฉพาะที่เหมาะที่ควรแก่ภาวะแห่งพระสงฆ์

สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่หมายความว่าตรงต่อผลที่ไม่เหมาะไม่ควร

ดังเช่นปฏิบัติตรงต่อปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่งอันได้แก่มรรคผลนิพพาน

ไม่ใช่ตรงต่อ ทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า

อันยังเป็น โลกิยะ เกี่ยวอยู่กับโลก

 

ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงว่าสอนเขา แต่ว่าหมายความถึงว่าปฏิบัติตนเอง

คือหมู่แห่งสาวกผู้ฟังของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระสงฆ์ในรัตนะ ๓ นี้ มุ่งถึงอริยสงฆ์

และแม้ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรแต่เดิมมาก็มุ่งต่อ อริยผล ที่เป็นโลกุตรมรรคผลนิพพานดั่งนี้

เพราะสำหรับประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้านั้น ไม่ต้องบวชเป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติได้

 

( เริ่ม ๑๒๖/๒ ) พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนประโยชน์ไว้ทั้ง ๓

เพราะการสอนนั้น ผู้ฟังก็มีทั้งผู้ต้องการบวช และผู้ที่ไม่ต้องการบวช

ผู้ต้องการบวชก็ทรงสอนตรงไปยังมรรคผลนิพพาน

ผู้ไม่ต้องการบวชก็ทรงสอนให้ตรงต่อประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า

สำหรับที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน โลกภายหน้า เป็นสุข

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะ

จึงปฏิบัติตรงต่อปรมัตถประโยชน์มรรคผลนิพพาน

จนถึงบรรลุถึงมรรคผลชั้นต้น จึงนับเข้าเป็นสงฆ์ในรัตนะทั้ง ๓ นี้

เมื่อยังปฏิบัติอยู่แม้เพื่อมรรคผลนิพพาน เมื่อยังไม่บรรลุก็ยังไม่นับเข้า

แต่เมื่อบวชเป็นภิกษุ เมื่อประชุมกันตามองค์กำหนด ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป

ก็เรียกว่าสงฆ์ตามพระวินัย เป็นพระสงฆ์ที่บวชกันอยู่

 

และพระสงฆ์ตามพระวินัยนี้ แม้ท่านผู้ที่ปฏิบัติตรงต่อมรรคผลนิพพาน

บรรลุมรรคผลขั้นแรกเป็นโสดาบันบุคคล ซึ่งนับเข้าในพระสงฆ์ในรัตนะทั้ง ๓

เมื่อยังไม่บวชเป็นภิกษุตามพระวินัย ก็ยังไม่เป็นภิกษุตามพระวินัย

และเมื่อรวมกันตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปก็ยังไม่นับว่าเป็นพระสงฆ์ตามพระวินัย

ยังปฏิบัติให้สำเร็จสังฆกรรมต่างๆตามพระวินัยไม่ได้

เมื่อบวชเข้ามาแล้วจึงจะเป็นภิกษุซึ่งจะเป็นสงฆ์ตามพระวินัยได้

ปฏิบัติสังฆกรรมต่างๆตามพระวินัยได้

 

ปฏิบัติตรงต่อมรรคมีองค์ ๘

 

อีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าตรงต่อมรรคมีองค์ ๘

เพราะมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน

ย่อเข้าก็คือตรงต่อศีล ต่อสมาธิ ต่อปัญญา

รวมเข้าคำเดียวก็คือว่าตรงต่อธรรมที่เป็นธรรมาธิไตย คือมีธรรมะเป็นใหญ่

ไม่ใช่มีโลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีตนเป็นใหญ่ แต่มีธรรมะเป็นใหญ่เป็นธรรมาธิปไตย

พระพุทธเจ้าเองแม้จะได้ตรัสรู้เองชอบ ทรงแสดงธรรมทรงบัญญัติวินัยด้วยพระองค์เอง

ไม่ได้ปรึกษาหารือใคร ทรงสอนทรงสั่งด้วยพระองค์เอง

แต่ก็ด้วยทรงมีธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย และทรงมีธรรมะเป็นที่เคารพ

คือทรงเคารพพระธรรม เพราะเมื่อมีธรรมะเป็นใหญ่ ก็เคารพสิ่งที่เป็นใหญ่นั้นคือพระธรรม

ฉะนั้นแม้ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป ซึ่งปฏิบัติตามหลักอธิปไตยทั้ง ๓ ในพุทธศาสนานี้

คือปฏิบัติมีธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย

ก็ย่อมจะมีความเคารพธรรมซึ่งเป็นใหญ่นั้น และปฏิบัติตามธรรม

 

ฉะนั้นเมื่อมีธรรมเป็นใหญ่มีความเคารพธรรมด้วยจิตใจ

อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญาหรือมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจตรง

คือตรงต่อธรรมที่เป็นใหญ่ที่เคารพนั้น

มีเจตนาตรง มีกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจตรง

จึงชื่อว่ามีกายตรงมีวาจาตรงและมีใจตรง ดั่งนี้จึงเป็น อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว

เมื่อกำลังปฏิบัติอยู่ ก็ชื่อว่ากำลังปฏิบัติอยู่ใน อุชุปฏิปัติ คือปฏิบัติตรง คือตรงต่อธรรม

จะยกเอามรรคมีองค์ ๘ ยกเอาไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญา หรือยกเอาข้อธรรมาธิปไตยก็ได้

ซึ่งเป็นหลักของการปฏิบัติ

 

การปฏิบัติที่ไม่เนิ่นช้า

 

และการที่ปฏิบัติตรงดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เนิ่นช้า

แต่ถ้าปฏิบัติไม่ตรงก็ย่อมจะเนิ่นช้า การปฏิบัติที่เนิ่นช้านั้นก็คือการที่ไม่ปฏิบัติตรงต่อธรรม

ที่เป็นธรรมาธิปไตย เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญา

แต่ว่ายังแวะเวียนไปใน กามสุขัลลิกานุโยค คือประกอบตนพัวพันด้วยความสุขในกาม

คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่น่าปรารถนาพอใจ

ด้วยอำนาจของกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ปรารถนาต่างๆ

หรือไม่เช่นนั้นก็ปฏิบัติไปในทางที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

คือปฏิบัติประกอบตนให้พัวพันในการทรมาณกายให้ลำบาก ดังที่เรียกว่า ทุกรกิริยา

เมื่อปฏิบัติแวะเวียนมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกาม

หรือว่าด้วยการทรมาณกายดังกล่าวนั้น ก็ทำให้เนิ่นช้าไม่บรรลุถึงผลที่มุ่งหมาย

จะเนิ่นช้าเท่าไรนั้นก็สุดแต่ความแวะเวียนนั้นจะเนิ่นช้าเพียงไร

ถ้ายังแวะเวียนอยู่นานเท่าไร ก็ไม่บรรลุถึงผลที่มุ่งหมายนานเท่านั้น

ต่อเมื่อละการแวะเวียนนั้นได้ ปฏิบัติเข้าทางตรง คือทางมรรคมีองค์ ๘ ทางไตรสิกขา

หรือทางธรรมาธิปไตยดังกล่าวนั้น ก็จะบรรลุถึงผลที่มุ่งหมายได้ไม่เนิ่นช้า

 

ปฏิบัตินานเท่าไรจึงจะเป็นพระอรหันต์

 

เพราะฉะนั้นในพระสูตรหนึ่งจึงได้มีกล่าวไว้ว่า

พราหมณ์ท่านหนึ่งที่ได้ถามท่านพระสารีบุตร ว่าเมื่อปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรม

อันเรียกว่าธรรมานุธรรมะปฏิปัติได้แล้ว นานเท่าไหร่จึงจะเป็นพระอรหันต์ได้

ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่าไม่นาน ดั่งนี้ เพราะปฏิบัติไม่แวะเวียน

ปฏิบัติให้เป็นธรรมานุธรรมะปฏิปัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ก็คือปฏิบัติดีปฏิบัติตรงนั้นเอง ตรงเพื่อนิพพิทาความหน่าย วิราคะความสิ้นติดใจยินดี

นิโรธะความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย

 

การปฏิบัติแวะเวียนนั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษา

เพิ่มพูนความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความดิ้นรนทะยานอยากในกามทั้งหลาย

และแม้ใน ทุกรกิริยา คือการทรมาณกายอันตรงกันข้าม อันเรียกว่าเป็นสุดโต่งสองข้าง

ยังไม่เข้าทางที่เรียกว่า มัชฌิมา คือทางกลาง อันไม่ข้องแวะกับทางสุดโต่งทั้งสองข้างนั้น

เพราะฉะนั้นจะชื่อว่าปฏิบัติตรง หรือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็คือปฏิบัติเพื่อนิพพิทา

คือหน่ายจากความเพลิดเพลิน เพื่อสิ้นติดใจยินดีคือไม่ติดใจไม่ยินดี

และเพื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ปล่อยวางกามทั้งหลาย

ปล่อยวางการทรมาณกายให้ลำบากทั้งหลาย

พ้นได้จากกามทั้งหลาย จากการทรมาณกายให้ลำบากทั้งหลาย

ซึ่งการทรมาณกายให้ลำบากนี้

ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน ท่านก็รวมเอาโทสะเข้าด้วย

เพราะว่าโทสะคือความโกรธนั้นตรงกันข้ามกับกามหรือราคะ

กามหรือราคะนั้นไปในทางชอบ โทสะไปในทางชัง

หรือกามราคะนั้นไปในทางที่เรียกว่ายินดี โทสะนั้นไปในทางที่เรียกว่ายินร้าย

 

และกามนั้นที่โลกยังติดใจยินดีก็เพราะว่ากามให้ผลเป็นความสุข

แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ความสุขความพอใจน้อย แต่ให้ทุกข์มาก

ถ้าหากว่ากามไม่ให้ความสุขความเพลิดเพลินเสียเลยแล้วคนก็จะไม่ติดในกามไม่ติดในโลก

แต่เพราะกามนั้นให้ความสุขให้ความเพลิดเพลิน คนจึงติดจึงยินดีไม่เหนื่อยหน่าย

 

แต่เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าให้ความยินดีน้อยให้ความสุขน้อย แต่ว่าให้ทุกข์มาก

และเมื่อพิจารณาเห็นตามที่ทรงสั่งสอนไว้ ก็คือทรงสั่งสอนให้เห็นอนิจจะไม่เที่ยง

ทุกขะเป็นทุกข์คือไม่ตั้งอยู่คงที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา คือเป็นอนัตตา

และเมื่อเห็นตามที่ทรงสั่งสอนนั้นจึงจะได้นิพพิทาคือความหน่าย

และเมื่อหน่ายก็จะได้วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดี และได้ความดับ

ดับความดิ้นรนทะยานอยาก จึงจะดับทุกข์ร้อน หรือดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้

 

ข้อว่าปฏิบัติตรง

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่ไม่แวะเวียน

แต่ปฏิบัติให้เกิดนิพพิทาวิราคะนิโรธะดังกล่าว จึงจะเป็นการปฏิบัติตรง

และการปฏิบัติตรงดั่งนี้ก็ชื่อว่าธรรมานุธรรมะปฏิปัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คือสมควรแก่มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา หรือว่าธรรมาธิปไตยดังที่กล่าวนั้น

ท่านที่ปฏิบัติตรงได้แล้ว บรรลุถึงมรรคผลนิพพานในขั้นต้นได้แล้ว

และตั้งแต่ขั้นต้นนั้นขึ้นไปจึงจะได้ชื่อว่า อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว

เมื่อกำลังปฏิบัติอยู่ก็เรียกว่ายังไม่แล้ว คือยังต้องทำอยู่ปฏิบัติอยู่

และแม้พระอริยสงฆ์ทุกท่านก่อนจะเป็นพระอริยสงฆ์ท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่

เหมือนอย่างที่นักปฏิบัติทั้งหลาย หรือเราทั้งหลายที่กำลังปฏิบัติกันอยู่นี้

และเมื่อปฏิบัติให้เป็น อุชุปฏิปัติ ปฏิบัติตรงแล้ว ก็จะบรรลุถึงภูมิชั้นที่สูงขึ้น

ไม่นาน แต่จะสูงแค่ไหนนั้นก็สุดแต่กำลังของการปฏิบัติตรงจะเป็นไปได้

 

จิตตภาวนา

 

การปฏิบัติจิตตภาวนาข้อปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตรง เป็นการปฏิบัติดีด้วย

แม้ผู้ปฏิบัติจะยังไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน แต่ว่าข้อปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตรง

เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นของสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นไป สัตตานังวิสุทธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย

โสกะปริเทวานัง สมติกมายะ เพื่อก้าวล่วงโสกะความโศก ความแห้งใจ

ปริเทวะความคร่ำครวญใจ จนถึงคร่ำครวญออกมาทางกาย

ทุกขโทมนัสานัง อัธทังกมายะ เพื่อดับทุกข์โทมนัส

ญายสะ อธิกมายะ เพื่อบรรลุญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุยิ่งๆขึ้นไป

นิพพานนัสะ สัจฉิ กิริยายะ เพื่อกระทำให้แจ้งพระนิพพาน ดั่งนี้

 

เหมือนอย่างว่าเมื่อปฏิบัติเดินทาง เช่นเมื่อหันหน้าเดินทางมาสู่วัดนี้

แม้จะไม่อยากมาวัดนี้ ไม่ประสงค์จะมาวัดนี้ แต่เมื่อทางที่เดินมานั้นมาสู่วัดนี้

ก็ย่อมจะต้องถึงวัดนี้ หรือใกล้วัดนี้เข้ามา ทีแรกจะอยู่ไกลแสนไกลก็ตาม

แต่เมื่อหันหน้ามาสู่วัดนี้แล้ว ถึงแม้จะไม่อยากมาถึง ก็ถึงเองหรือใกล้เข้ามาเอง

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐานของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น

ให้ตั้งใจปฏิบัติไปตามที่ตรัสสอนคือปฏิบัติทำสติ ตั้งสติคือตั้งใจกำหนด

ดังที่ได้เริ่มแสดงมาแล้วในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ตรัสสอนไว้

ยกเอาข้ออานาปานปัพพะ คือข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นข้อต้น

และยกภิกษุเป็นที่ตั้งว่า เข้าสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง อันหมายความว่าปลีกตนออก

ให้ได้กายวิเวกคือความสงัดกาย อาศัยสถานที่ที่สงบสงัด

และแม้การที่มาประชุมกันปฏิบัติในที่นี้มากคนด้วยกัน

แต่ว่าต่างก็ตั้งอยู่ในความสงบ ก็ชื่อว่าสงบสงัดด้วยกัน และก็อยู่ในที่สงบสงัดด้วยกัน

 

และให้นั่งขัดบรรลังก์คือขัดสมาธิ ตั้งกายตรงดำรงสติจำเพาะหน้า

คือตั้งใจกำหนดเข้ามาจำเพาะหน้าคือที่ตนเอง หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

หายใจเข้ายาวออกยาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาวออกยาว

หายเข้าสั้นออกสั้น ก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าสั้นออกสั้น

และหัดทำความรู้ตัวทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก

และหัดที่จะสงบตัวทั้งหมดนี้ หายใจเข้าหายใจออก

นี้เป็นการกล่าวถอดความมาอย่างสั้นๆในหัวข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เอง

อันเป็นหลักสำคัญเพราะเป็นพระพุทธพจน์ การที่จะอธิบายนั้นจะได้ทำต่อไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats