ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:04
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป096
ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อพึงปฏิบัติในปริยัติ ๓
นวังคสัตถุศาสน์ ๔
ปฏิบัติธรรมที่กายวาจาใจ ๖
ปฏิเวธธรรม ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๒๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๔/๑ ( File Tape 96 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุ หรืออันวิญญูคือผู้รู้พึงเห็นเอง
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู
โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
ธรรมะทุกข้อทุกบท ย่อมประกอบด้วยธรรมคุณทั้ง ๖ นี้
แต่ว่าธรรมคุณทั้ง ๖ นี้ จะปรากฏแก่วิญญูคือผู้รู้หรือผู้เห็นธรรม
และอันความรู้หรือความเห็นธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคล
ตั้งต้นแต่โดยปริยัติ โดยปฏิบัติ และโดยปฏิเวธ
โดยปริยัตินั้นก็หมายถึงโดยการรับเอาธรรมะคือคำสอนเข้ามาสู่จิตใจ
ด้วยทางที่ใช้กันตั้งแต่ก่อนมีหนังสือก็คือการฟัง เมื่อมีหนังสือแทนเสียงก็ด้วยการดูการอ่าน
๒
ข้อพึงปฏิบัติในปริยัติ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งใจฟังอันรวมถึงตั้งใจอ่าน
และทรงไว้คือกำหนดจดจำ และให้เพ่งด้วยใจอันหมายถึงพินิจพิจารณา
และให้ขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันได้แก่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี้เป็นปริยัติ
และปริยัตินี้ก็จำเป็นต้องมีเป็นเบื้องต้น จะไม่มีปริยัติไม่ได้
เพราะจะต้องฟังคำสอนหรืออ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า ของครูอาจารย์ที่สอนตามพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นคำสอนซึ่งต้องใช้หูฟังต้องใช้ตาอ่าน นั่นก็เป็นปริยัติทั้งนั้น จึงต้องมีปริยัติ
และต้นเดิมของปริยัตินั้นก็คือปาพจน์ที่แปลว่าคำที่เป็นประธาน
อันได้แก่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน วินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญญัติไว้
รวมเรียกว่าพุทธศาสนาที่แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า
หรือ สัตถุศาสน์ ที่แปลว่าคำสอนของพระศาสดา นี่เป็นต้นเดิม
และเมื่อได้ฟังได้อ่านพุทธศาสนาหรือสัตถุศาสน์ดังกล่าว
ก็จำทรงพิจารณาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ดั่งนี้จึงเป็นปริยัติธรรมที่แปลว่าธรรมะที่เรียน
และคำว่าปริยัติธรรมนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก
แต่อยู่ที่ข้างใน คืออยู่ที่ความทรงจำคำสั่งสอนเอาไว้ ความเพ่งพินิจพิจารณา
จนมีความเข้าใจอันถูกต้อง ดั่งนี้จึงเป็นปริยัติธรรม ตั้งขึ้นข้างในคือที่ตนเอง
ส่วนคำสอนที่เป็นถ้อยคำหรือที่เป็นหนังสือนั้น ก็เป็นหลักสำคัญข้างนอกซึ่งจะต้องมี
ในเมื่อยังไม่มีหนังสือนั้นคำสอนก็อยู่ที่ความจำของพระอาจารย์ทั้งหลายที่จำสืบต่อกันมา
แล้วก็บอกสั่งสอน เพราะฉะนั้นหลักสำคัญจึงอยู่ที่ความจำ ความเพ่งพินิจด้วยใจ
จนมีความเข้าใจอันถูกต้องดังที่กล่าว
แม้ว่าจะอยู่ในหนังสือก็ต้องนำหนังสือมาอ่าน และก็มากำหนดจำเพ่งพินิจทำความเข้าใจ
ถ้าลำพังมีอยู่ในหนังสือ หนังสือวางอยู่ในตู้สำหรับบูชาเป็นเจดีย์อย่างหนึ่ง
๓
ที่เรียกว่าธรรมเจดีย์ ก็ยังไม่เป็นปริยัติธรรม
หรือแม้เมื่อฟังก็สักแต่ว่าฟัง ไม่กำหนดจำ เพ่งพินิจทำความเข้าใจ ก็ยังไม่เป็นปริยัติธรรม
ต่อเมื่อกำหนดจำเพ่งพินิจทำความเข้าใจไว้ได้เท่าไหร่ ก็เป็นปริยัติธรรมเท่านั้น
กำหนดจำเพ่งพินิจทำความเข้าใจเอาไว้มาก ก็เป็นปริยัติธรรมมาก
แต่ว่าส่วนใหญ่นั้นไม่อาจที่จะกำหนดจำไว้ได้มาก
ไม่อาจที่จะเพ่งพินิจทำความเข้าใจได้มาก อาจกำหนดจำได้บางส่วน
เพ่งพินิจทำความเข้าใจไว้ได้บางส่วน และก็ต้องการให้กำหนดจำ
เพ่งพินิจทำความเข้าใจในข้อที่จะพึงปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นปฏิบัติธรรมต่อไป
แม้เพียงเท่านี้ก็สำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการปฏิบัติ
จึงพอใจที่จะกำหนดจำทำความเข้าใจให้ถูกต้องในข้อที่จะพึงปฏิบัติ
และพระอาจารย์ซึ่งสอนทางปฏิบัติจึงมุ่งสอนในข้อที่พึงปฏิบัติ
และในข้อที่พึงปฏิบัตินั้นต้องการปฏิบัติทางจิตใจเป็นข้อใหญ่ จึงเน้นสอนทางปฏิบัติทางจิตใจ
พระอาจารย์ทางปฏิบัติ ย่อมสอนแก่ผู้ต้องการปฏิบัติดั่งนี้
นวังคสัตถุศาสน์
ส่วนผู้ที่ต้องการกำหนดจำเพ่งพินิจทำความเข้าใจ
พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนคำสั่งของพระพุทธเจ้าอันมีอยู่เป็นอันมาก
ซึ่งเรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ คือแจกออกเป็น ๙ ดั่งนี้ก็มี
หรือแบ่งเป็นปิฎก ๓ ได้แก่ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ดั่งนี้ก็มี
หรือแม้ที่พระอาจารย์ผู้สืบศาสนาเลือกสรรค์มาจัดเป็นหลักสูตร
นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก สำหรับภิกษุสามเณร
หรือธรรมศึกษาตรี ธรรรมศึกษาโท ธรรมศึกษาเอก สำหรับคฤหัสถ์ดั่งนี้ก็มี
๔
ก็เป็นการเรียนพระพุทธศาสนาหรือพระธรรมวินัย เพื่อรู้พระพุทธศาสนาหรือพระธรรมวินัย
เพื่อรักษาพุทธศาสนาหรือพระธรรมวินัย ทั้งหมดหรือแม้บางส่วนให้ดำรงอยู่สืบไป
แม้ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้ แต่ก็ทรงจำเอาไว้ ทำความเข้าใจเอาไว้
( เริ่ม ๑๒๔/๑ ) เพราะฉะนั้น แม้การทรงจำพระพุทธศาสนา
อันเป็นปริยัติธรรมดังกล่าว เพื่อมุ่งรักษาพระพุทธศาสนา ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
และผู้ที่สามารถจะจำทรงไว้ได้มากดั่งนี้ โดยมากก็จะต้องเป็นพระภิกษุสามเณร
ซึ่งเป็นผู้ออกบวช ไม่ประกอบอาชีพการงานต่างๆ ไม่ตั้งครอบครัวเหมือนอย่างคฤหัสถ์
และได้รับอุปการะบำรุงจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยสัปปายะทั้งหลายในการดำรงชีวิต
คือด้วยอาหาร ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยที่อยู่อาศัย ด้วยยาแก้ไข้ เป็นต้น
จึงมีเวลาที่จะเรียนเพื่อจำทรงเพ่งพินิจทำความเข้าใจ
พระพุทธศาสนาที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวไว้ได้มาก
สามารถที่จะสืบดำรงพระพุทธศาสนาที่เป็นปริยัติธรรมดังกล่าว
และบอกกล่าวสืบต่อกันมา ดังที่พระพุทธศาสนาได้ดำรงอยู่จนถึงบัดนี้
อันเป็นส่วนปริยัติธรรมคือคำสั่งสอน
แต่สำหรับฝ่ายคฤหัสถ์นั้นไม่มีเวลาที่จะมาศึกษามาเรียนจำทรงดั่งนี้
แต่ต้องการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องการพระอาจารย์ที่สอนทางปฏิบัติ
ชี้ทางปฏิบัติอันอาจจะจำทรงได้ง่าย เพ่งพินิจด้วยใจเข้าใจได้ง่าย และปฏิบัติได้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ปริยัติธรรมจึงได้มีวงกว้าง และมีวงจำกัด เป็นไปอยู่ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงในปัจจุบัน
และก็จะต้องมีทั้งสอง ถ้าไม่มีฝ่ายเรียนจำทรงเพ่งพินิจทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งหมดได้ ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
และก็ปรากฏในประวัติพระพุทธศาสนา ว่าในเบื้องต้นพระเถระผู้เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า
ท่านได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงจำทรงไว้ เพ่งพินิจทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
และก็ได้บอกกล่าวสั่งสอนสืบต่อกันมาได้อย่างครบถ้วนหลายร้อยปี
๕
จนถึงเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่เข้าไปตั้งในลังกาทวีป
พระเถระผู้จำทรงพระพุทธศาสนาที่ตั้งมั่นแล้วในลังกาทวีป
ได้พิจารณาเห็นว่ากำลังความทรงจำของบุคคลในปัจจุบันนั้นและต่อๆไปก็จะเสื่อมลง
จึงได้ประชุมกันจารึกพระพุทธศาสนาไว้เป็นตัวอักษร
จึงปรากฏเป็นหนังสือพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรก และก็ได้คัดลอกสืบต่อกันมา
ในประเทศต่างๆที่นับถือพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อมีพระคัมภีร์ที่เป็นหลักดั่งนี้เกิดขึ้น การที่จะต้องทรงจำให้มากที่สุดหรือให้ทั้งหมดก็น้อยลง
ส่วนใหญ่จึงได้เรียนทรงจำทำความเข้าใจกันในส่วนที่ต้องการ
และก็มุ่งต้องการที่จะปฏิบัตินั้นเอง ในส่วนนั้นบ้าง ในส่วนนี้บ้าง
แต่แม้เช่นนั้นในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีบางประเทศที่นิยมเรียนทรงจำกันทั้งหมด
และก็สามารถทรงจำได้ แต่ก็มีน้อย
เพราะฉะนั้นแม้ปริยัติธรรมนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีไว้
ถ้าหากว่าไม่มีไว้แล้วพุทธศาสนาก็จะไม่ปรากฏ หรือว่าหายไปหรือว่าเสื่อมไป
ถ้าหากว่าพระอาจารย์ในอดีตทั้งหลายท่านไม่ทรงจำและบอกกล่าวสืบต่อกันมา
พุทธศาสนาก็ไม่ปรากฏในบัดนี้แล้ว แต่ที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ก็เพราะว่าท่านได้ทรงจำกันมา
จนถึงได้เป็นตัวหนังสือขึ้น แล้วก็คัดลอกขยายออกไปในที่ต่างๆ ดังเช่นในประเทศไทยเรานี้
และแม้ผู้ปฏิบัติจำเพาะตน ที่ต้องการเพียงปฏิบัติ ก็จำเป็นต้องอาศัยปริยัติธรรม
คือต้องฟังคำสอนของอาจารย์ หรือต้องอ่านตำรับตำราของอาจารย์ทางปฏิบัติ นั่นเป็นปริยัติ
และก็ต้องกำหนด จำ เพ่งพินิจด้วยใจทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่เป็นปริยัติ
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะปฏิบัติได้
ปฏิบัติธรรมที่กายวาจาใจ
ธรรมะที่ปฏิบัตินั้นเรียกว่าปฏิบัติธรรม
ธรรมะที่ปฏิบัติอันเป็นปฏิบัติธรรมนั้น ก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ
๖
และพระอาจารย์ได้สอนให้ปฏิบัตินั้นเอง ก็นำมาปฏิบัติ
ดังเช่นท่านสอนให้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา
ก็นำมาปฏิบัติให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ ให้เป็นปัญญาขึ้นตามที่ท่านสอน
ที่ไตรทวารคือ ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือที่จิตนี้เอง
เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงเป็นธรรมะที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
อันมีอยู่ที่กายที่วาจาที่ใจ หรือที่จิต
ท่านสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็ปฏิบัติตั้งสติกำหนด
กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เป็นสติที่เป็นกำหนดปรากฏขึ้นที่จิต
ให้จิตนี้เองมีความกำหนด ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
ให้รู้จักกายเวทนาจิตธรรม ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะมีอยู่
และข้อที่ว่ามีอยู่นี้ก็คือว่า มีอยู่ปรากฏอยู่ที่จิต ว่านี่คือกาย นี่คือเวทนา นี่คือจิต นี่คือธรรม
กายเวทนาจิตธรรมที่ปรากฏนี้ ก็ปรากฏลักษณะอันกำหนดได้ของทั้ง ๔ ข้อ
เพราะว่าทั้ง ๔ ข้อนี้มีลักษณะที่กำหนดได้ ให้รู้จักได้
ว่ากายเป็นอย่างไร เวทนา จิต ธรรม เป็นอย่างไร
และทั้ง ๔ นี้ ก็ไม่ต้องไปกำหนดที่ไหน กำหนดที่กายอันยาววาหนึ่ง
มีสัญญามีใจครองนี้ หรือที่กายใจอันนี้ก่อน กายที่นั่งอยู่นี้ ใจที่รู้ที่คิดอยู่นี้
กำหนดได้ที่นี่ ไม่ใช่กำหนดในภายนอกที่ไหน จึงสามารถกำหนดได้
เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกันทุกคนในปัจจุบัน จึงกำหนดได้
ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้กำหนดนั้น
ไม่ได้ทรงสั่งสอนให้กำหนดในสิ่งที่ไม่มี ในสิ่งที่กำหนดไม่ได้
แต่ทรงสั่งสอนให้กำหนดในสิ่งที่มี ที่กำหนดได้ กายก็มี เวทนาก็มี จิตก็มี ธรรมก็มี
แต่เมื่อไม่กำหนดก็ไม่รู้จัก ไม่ปรากฏ เมื่อกำหนดถูกที่ก็จะรู้จัก จะปรากฏ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนด นี่แหละเป็นตัวสติ
๗
และเมื่อกำหนดอาการของกายเวทนาจิตธรรมก็จะปรากฏเป็นเกิดเป็นดับ
เป็นเกิดเป็นดับสืบเนื่องกันไป ความเกิดดับที่ปรากฏขึ้นในจิตนี้เป็นตัวปัญญา
หรือเป็นตัวญาณที่หยั่งรู้ ดั่งนี้แหละคือปฏิบัติธรรม ธรรมะที่เป็นปฏิบัติ
ปฏิเวธธรรม
และเมื่อปฏิบัติให้ถูกต้องดั่งนี้ก็จะได้ปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอด
อันหมายความว่ารู้เจาะแทงถึงสัจจะคือความจริง เจาะแทงมายาที่หุ้มห่อสัจจะคือความจริงอยู่
คือเจาะแทงกิเลสทั้งหลายที่เป็นตัวอวิชชา ตัวโมหะ ตัวตัณหาเป็นต้น
ตัวอุปาทานความยึดถือเป็นต้น อันหุ้มห่อไว้ไม่ให้จิตนี้เห็นสัจจะคือความจริง
เพราะฉะนั้น เมื่อลักษณะคือเกิดดับนี้ปรากฏขึ้นเมื่อใด
ก็เป็นปฏิเวธ คือเจาะแทงได้สำเร็จเพียงนั้น
เมื่อยังไม่เห็นตัวของเวทนาจิตธรรม ก็จะไม่เป็นสัจจะของกายเวทนาจิตธรรม
จะต้องเห็นตัวที่มีอยู่ของกายเวทนาจิตธรรม
จึงจะเห็นลักษณะที่แท้จริงของกายเวทนาจิตธรรมคือเกิดดับ
เห็นเกิดดับเมื่อใดก็เป็นปฏิเวธขึ้นเมื่อนั้น ก็เป็นปฏิเวธธรรม
และเมื่อปฏิเวธธรรม ธรรมะที่เจาะแทงนี้ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติเมื่อใดเท่าใด
ความยึดถือก็จะลดลงหรือละได้เท่านั้นเมื่อนั้น เมื่อความยึดถือลดลงได้เท่านั้นเมื่อนั้น
ทุกข์ก็จะดับได้เท่านั้นเมื่อนั้น เป็นความดับทุกข์ สืบเนื่องกันไป
และผู้ที่ปฏิบัติในปริยัติในปฏิบัติมาถึงได้ปฏิเวธเห็นเกิดดับดั่งนี้
ก็ชื่อว่าเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้โดยลำดับ ธรรมคุณก็ปรากฏขึ้นในความรู้ทุกข้อทุกบท
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*