ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:03
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป094
การปฏิบัติที่จะทำให้เป็นผู้รู้
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
วิญญูผู้เห็นธรรม ๓
นิมิตอันเป็นที่ตั้งของกิเลส ๔
นิมิตที่ตั้งของกุศลธรรม ๕
สติปัฏฐานในข้อกาย ๖
สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ๖
เวทนา จิต ธรรม ๗
สติปัฏฐานเพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา ๘
การปฏิบัติทางปัญญาตามหลักโพชฌงค์ ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๒๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๑/๒ - ๑๒๒/๑ ( File Tape 94 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติที่จะทำให้เป็นผู้รู้
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
ทุกคนพึงเป็นวิญญูคือผู้รู้ด้วยการทำสติความระลึกได้ ปัญญาความรู้ทั่วถึง
ให้บังเกิดขึ้นที่จิตใจของตนเอง ให้จิตใจนี้ประกอบด้วยธรรมะคือสติและปัญญา
ก็จะทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ และวิญญูคือผู้รู้นี้ก็คือจิตนี้เอง
และจิตนี้เองเป็นวิญญูคือผู้รู้โดยที่มาประกอบด้วยธรรม คือสติและปัญญา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอบรมจิตอันเป็นจิตตภาวนานี้
โดยตรงก็คืออบรมให้ประกอบด้วยธรรมคือสติและปัญญา
๒
ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมนี้ก็เป็นวิญญูคือผู้รู้มิได้
และเมื่อเป็นวิญญูคือผู้รู้ดังกล่าวก็ย่อมจะเป็นผู้น้อมธรรมะเข้ามาสู่จิต
หรือน้อมจิตสู่ธรรมะที่เป็นกุศลทั้งหลาย
วิญญูผู้เห็นธรรม
และย่อมจะเรียกจิตนี้ให้มาดูธรรมะที่ปรากฏผุดขึ้นในจิต
และย่อมจะ ( เริ่ม ๑๒๑/๒ ) เป็นผู้ที่ได้เห็นได้รู้ธรรมะ
อันเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เป็นสัจจะคือความจริงที่แน่นอน
เที่ยงตรง เป็นความจริงที่ไม่เกิดไม่ดับ คือเป็นความจริงอยู่เสมอ
เป็นความจริงที่ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง และเป็นความจริงที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ปราศจากเครื่องยึดถือทั้งหลาย ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
นี้คือวิญญูซึ่งจะเป็นผู้ที่เห็นธรรมเอง คือสัจจะที่เป็นตัวความจริงนี้
และก็จะเห็นว่าธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น พุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้วจริง
ธัมโม ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้
และ สังโฆ หมู่แห่งผู้ฟังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
ตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติตามธรรมะ
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ได้ตรัสรู้แล้วทรงนำมาแสดงสั่งสอน
เพราะฉะนั้นวิญญูคือผู้รู้นี้ทุกคนจึงควรปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
คือเป็นผู้รู้ขึ้น ก็จะได้เห็นพระพุทธ ได้เห็นพระธรรม ได้เห็นพระสงฆ์
ด้วยการที่มาปฏิบัติทำสติและปัญญา ซึ่งเป็นธรรมะที่เป็นกุศลนี้ให้บังเกิดขึ้นในจิต
ให้จิตประกอบด้วยธรรมะที่เป็นกุศลนี้คือสติและปัญญา
๓
นิมิตอันเป็นที่ตั้งของกิเลส
การที่จะมาปฏิบัติธรรมให้เป็นวิญญูขึ้นดั่งนี้
ก็ด้วยทำสติในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้
แต่ก็จะต้องรู้จักตัวสติ และกับปัญญาที่ต่อกันไป ก็รู้ที่จิตนี้เอง
เพราะสติที่แปลว่าความระลึกได้นั้น ก็หมายถึงตัวความกำหนดของจิต
ในนิมิตคือเครื่องกำหนด
อันจิตนี้ย่อมมีนิมิตคือเครื่องกำหนดอยู่ด้วยกัน
ก็คืออารมณ์อันได้แก่เรื่องทั้งหลายที่จิตคิด ที่จิตดำริ ที่จิตหมกมุ่นถึง
เป็นเรื่องรูปที่ตาเห็นบ้าง เรื่องเสียงที่หูได้ยินบ้าง เรื่องกลิ่น เรื่องรส
เรื่องโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่จมูกลิ้นและกายได้ทราบบ้าง
เรื่องของเรื่องทั้งหลายอันเรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ที่มโนคือใจได้คิดได้รู้ต่างๆบ้าง
เรื่องเหล่านี้เรียกว่าอารมณ์มีอธิบายดังที่กล่าวแล้ว
และจิตนี้ก็รับอารมณ์คือเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ที่ประสบพบผ่านทางทวารทั้ง ๖
คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจดังกล่าว เมื่อเป็นเรื่องที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ก็บังเกิดราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้
เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่เป็นเรื่องที่กระทบกระทั่ง
ก็บังเกิดความกระทบกระทั่งหงุดหงิด ขัดใจโกรธแค้น จนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย
เมื่อเป็นเรื่องที่ชวนให้หลงใหลติดอยู่ก็เกิดโมหะคือความหลงใหลติดอยู่
เหล่านี้เรียกว่ากิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมองของใจ ที่เข้ามาสู่จิตใจ
เพราะเหตุที่จิตนี้เมื่อรับอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายแล้ว
ก็ยึดถืออารมณ์คือเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น บางส่วนบ้าง ทั้งหมดบ้าง
ว่าน่าชอบบ้าง ไม่น่าชอบบ้าง หรือเป็นกลางๆ แต่ก็ไม่ได้พิจารณาให้รู้ตามเป็นจริง
ก็เกิดความไม่รู้ตามเป็นจริง ก็ชื่อว่าเป็นโมหะคือความหลง
๔
ฉะนั้นจิตจึงประกอบอยู่กับอารมณ์และกิเลส
อารมณ์และกิเลสนี้ก็มาเป็นอกุศลธรรม ธรรมะฝ่ายอกุศลที่บังเกิดขึ้นในจิต
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พาให้เกิดความทุกข์ ซึ่งเป็นทุกขเวทนาต่างๆเพราะกิเลส
ทำให้กายนี้ก็ไม่สงบ แสดงไปต่างๆตามอำนาจของกิเลส
นิมิตที่ตั้งของกุศลธรรม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนสติปัฏฐาน
ที่มุ่งถึงตรัสสอนให้จิตนี้ละนิมิตคือเครื่องกำหนด อันเป็นที่ตั้งของกิเลส
คืออารมณ์ทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้น
มากำหนดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็คือกำหนดกายและใจของตนเองนั้นเอง
ปล่อยจิตเสียจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย
นิมิตที่เป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย ก็คืออารมณ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้น
แต่นิมิตที่เป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย อันตรงกันข้ามก็คือกายเวทนาจิตธรรม
มากำหนดกายเวทนาจิตธรรม กายเวทนาจิตธรรมก็ชื่อว่าเป็นนิมิต
คือเป็นเครื่องกำหนดของจิต จิตที่กำหนดนี้เองเรียกว่าสติ
และเมื่อจิตกำหนดเป็นสติขึ้นก็ย่อมจะระลึกได้นึกได้ถึงกายที่กำหนดนั้น
จึงได้แปลสติกันทั่วไปว่าระลึกได้ แต่ก็คือตัวกำหนดนั้นเองรวมอยู่ด้วย
ดังจะพึงเห็นได้เป็นตัวอย่างว่ากายนั้นก็คือกายอันนี้
ซึ่งประกอบด้วยลมหายใจเข้าออก อิริยบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
อิริยถประกอบ เช่นเดินก็ก้าวไปข้างหน้าบ้าง ถอยไปข้างหลังบ้าง เป็นต้น
อาการทั้งหลายในกายนี้มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔
ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม
ในที่อื่นมีแสดงอีกธาตุหนึ่งคืออากาสธาตุ ช่องว่าง
๕
ก็คือบรรดาช่องว่างทั้งหลายในกายนี้ ก็เป็นอากาสธาตุ ช่องว่าง
เมื่อธาตุเหล่านี้ยังคุมกันอยู่ อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ก็ปฏิบัติหน้าที่
เป็นอาการต่างๆมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น อิริยาบถต่างๆก็มีขึ้น
ลมหายใจเข้าออกก็มี หายใจเข้าหายใจออกกันอยู่
แต่เมื่อธาตุทั้งหลายนี้แตกสลาย ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ
ไม่มีลมหายใจ ไม่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถ
อาการทั้งหลายของผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นก็หยุดปฏิบัติหน้าที่
เพราะธาตุทั้ง ๔ ที่คุมกันก็แตกสลาย และร่างนี้เมื่อเป็นศพทีแรกก็ยังคุมกันอยู่
ก็เน่าเปื่อยไปในที่สุด เป็นกระดูกผุป่นไปหมด
สติปัฏฐานในข้อกาย
ถ้าหากว่าจิตไม่กำหนดดูกายนี้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ให้กำหนดดังที่กล่าวมาโดยย่อนี้ ก็นึกไม่ได้ถึงกายอันนี้ มีเหมือนไม่มี
เหมือนอย่างลมหายใจเข้าออกทุกคนไม่ได้กำหนด
ก็นึกไม่ได้ว่าเราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ หายใจก็เหมือนไม่หายใจ
แต่ถ้าหากว่านำจิตมากำหนดดู เช่นดูลมหายใจ กำหนดอยู่ที่ลมหายใจที่เข้าออก
แม้จะไม่เห็นลมหายใจก็กำหนดที่จุดที่ลมกระทบ หรืออาการของร่างกายหายใจที่เคลื่อนไหว
ก็ย่อมจะรู้ได้ว่าหายใจเข้าหายใจออก
สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว
ตัวรู้ที่กำหนด คือกำหนดรู้ นี่แหละคือสติ มีอาการที่นึกได้ระลึกได้
ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก และสติดังที่กล่าวมานี้ก็มีลักษณะเป็นกำหนด
มีลักษณะเป็นรู้ กำหนดอันใดก็รู้อันนั้น เมื่อกำหนดที่ตัวเองก็รู้ที่ตัวเอง คือรู้สิ่งนั้นที่ตัวเอง
๖
เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีจำแนกออกเป็น ๒ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว
แต่อันที่จริงนั้นก็รวมกันอยู่ เช่นว่าหายใจเข้า อันหมายถึงตัวเราเองหายใจเข้า
ก็ตั้งสติกำหนดการหายใจเข้าของตัวเอง
ฉะนั้นเมื่อหายใจเข้า ก็ตั้งสติกำหนดรู้ว่าเราหายใจเข้า
เราหายใจออก ก็ตั้งสติกำหนดรู้ว่าเราหายใจออก ตัวกำหนดเป็นสติ
เมื่อหายใจเข้ากำหนดว่าหายใจเข้า นี่เป็นสติ รู้ว่าเราหายใจเข้า นี่เป็นสัปชัญญะ
เมื่อหายใจออกกำหนดที่การหายใจออก ก็รู้ว่าเราหายใจออก
ตัวกำหนดเป็นสติ ตัวที่รู้ว่าเราหายใจออกนั่นเป็นสัมปชัญญะ คู่กันอยู่ดั่งนี้
ฉะนั้นในการเรียกแยกเป็น ๒
ก็เป็นสติหนึ่ง สัมปชัญญะหนึ่ง เมื่อเรียกรวมกันก็เป็นสติอย่างเดียว
แต่ก็หมายถึงมีสัมปชัญญะคือรู้ดังที่กล่าวนี้รวมอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นการที่มาตั้งสติกำหนดดูกาย ให้รู้กาย จะกำหนดกายส่วนไหนก็ได้
ก็ให้รู้กายส่วนนั้น ว่ากายมีอยู่ ดั่งนี้เป็นสติปัฏฐานในข้อกาย
เวทนา จิต ธรรม
และเมื่อกำหนดดั่งนี้ เวทนาก็ย่อมจะปรากฏต่อเนื่องกัน
ก็ให้กำหนดตัวเวทนาที่ปรากฏต่อเนื่องกันนี้ สุขก็ให้รู้ ทุกข์ก็ให้รู้
เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ให้รู้ ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และจิตก็ย่อมจะปรากฏต่อเนื่องกัน
เพราะเวทนานี้เองก็ปรุงจิต ปรุงจิตให้ชอบบ้าง ให้ชังบ้าง ให้หลงบ้าง
คือถ้าเป็นสุขเวทนา ก็ปรุงจิตให้ชอบ เป็นราคะติดอยู่
ถ้าเป็นทุกขเวทนา ก็ปรุงจิตให้ชัง ก็เป็นปฏิฆะหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้น
๗
จนถึงมุ่งทำลายล้างผลาญ
แต่เมื่อเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสิ่งเกิดดับ
ก็เป็นความหลงอยู่ในเวทนานั้น คือไม่รู้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้กำหนดจิต
เมื่อจิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น และธรรมะที่ในจิตก็เนื่องอยู่กับจิตนั้นเอง
เมื่อกำหนดจิตก็ย่อมจะเห็นธรรมะในจิตที่เป็นกุศลบ้างอกุศลอันเนื่องกันไป
จิตธรรมะนั้นเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น เป็นอกุศลก็ให้รู้เป็นอกุศล เป็นกุศลก็ให้รู้กุศล
ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ติดต่อกันไปโดยลำดับ
สติปัฏฐานเพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา
แต่ในเบื้องต้นนั้นกำหนดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง
ให้เป็นสมาธิอยู่ในข้อนั้น ดั่งนี้ก็เป็นการทำสติปัฏฐานเพื่อสมาธิ
และเมื่อกำหนดให้เห็นลักษณะของกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นไปอยู่ ให้เห็นเกิดดับ
ดั่งนี้ก็เป็นการเจริญสติปัญฐาน ปฏิบัติสติปัฏฐานเพื่อปัญญา
หรือวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง
การปฏิบัติทางปัญญาตามหลักโพชฌงค์
และในการปฏิบัติทางปัญญานั้น หากปฏิบัติตามทางโพชฌงค์
ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เป็นหลักในการปฏิบัติ ทั้งทางสมาธิ และทั้งทางปัญญา
ก็ย่อมจะได้สมาธิประกอบกับปัญญาไปโดยลำดับ คือตั้งสติกำหนดในกายเวทนาจิตธรรม
ให้ประกอบด้วยธรรมวิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม ให้รู้เหตุให้รู้ผลของอาการที่บังเกิดขึ้นในจิต
ธรรมะที่ปรากฏขึ้นในจิต ให้รู้เหตุให้รู้ผลในกายเวทนาจิตธรรม
๘
เมื่อมีธรรมวิจัยอยู่ดั่งนี้ โดยจับวิจัยอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ดังเช่นในบัดนี้ อารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าของผู้ที่มาอบรมกรรมฐาน
เมื่อตั้งใจฟังก็ย่อมจะได้รับอารมณ์อันเกิดจากเสียงที่แสดงธรรมทางหู
โสตะก็คือหู สัททะคือเสียงที่แสดงธรรม ก็คือเสียงสัมผัสกัน
ก็เกิดเป็นสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง
เมื่อกำหนด จิตกำหนดอยู่ในสัททารมณ์คือเสียงนี้
ก็วิจัยคือจำแนกธรรมว่า อารมณ์คือเสียงนี้ก็มาจากหูและเสียง
หูและเสียงนี้เป็นกาย เพราะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของกายมาประจวบกัน
จิตก็ออกรับเสียงเป็นอารมณ์อยู่ในใจ จิตกำหนดอยู่ที่เสียง
เสียงเป็นนิมิตคือเครื่องกำหนดของจิต ( เริ่ม ๑๒๒/๑ ) อย่างหนึ่ง
ก็ได้ความรู้ธรรมะที่แสดงนี้ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ว่าธรรมะที่แสดงนี้กำลังแสดงเรื่องสติปัฏฐาน
และก็แสดงชี้เข้ามาที่ตนเองของทุกคนนี้เอง กายก็คือหูกับเสียง
และหากจะกำหนดเวทนาตามลำดับกายเวทนาจิตธรรม
ก็คือความสุขหรือความทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขที่บังเกิดขึ้นในขณะที่ฟังนี้
บางทีกายนี้ก็มีทุกข์บ้างสุขบ้าง อากาศร้อนบ้างเย็นบ้าง เมื่อยบ้างไม่เมื่อยบ้าง
จิตเองก็มีสุขทุกข์มีเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข อึดอัดบ้างไม่อึดอัดบ้าง
โปร่งบ้างไม่โปร่งบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง หรือเป็นกลางๆบ้าง
และถ้าหากว่าพอใจในธรรมก็เป็นสุข ถ้าไม่พอใจในธรรมก็เป็นทุกข์
ก็มีทุกข์มีสุขเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่ดั่งนี้
ตัวที่กินสุขกินทุกข์กินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็คือจิตนี้เอง
ลำพังเวทนาที่บังเกิดขึ้นนั้น ก็สักแต่ว่าเวทนา แต่ว่าตัวที่กินเวทนาก็คือจิตนี้เอง
คือรับเวทนา รับสุขรับทุกข์รับกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
แล้วก็ยังมีความชอบใจไม่ชอบใจ ความชอบใจไม่ชอบใจนั้นก็คือธรรมะในจิต
๙
ซึ่งอาจจะเป็นชอบใจที่เป็นติด หรือไม่ชอบใจที่เป็นหงุดหงิด นั่นก็เป็นกิเลส
แต่ว่าชอบใจที่เป็นตัวปีติความอิ่มใจในธรรม ความชื่นบานในธรรม
ก็เนื่องมาจากกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นในจิต เช่นว่าได้สติที่เป็นความระลึกได้
หรือว่าได้เป็นธรรมวิจัยที่เลือกเฟ้นธรรมที่บังเกิดขึ้นในจิตของตัวเองนี้ที่เป็นไปอยู่
ที่เป็นสติที่เป็นปัญญา ดั่งนี้ก็เป็นกุศลธรรม นี้เป็นธรรมวิจัย ที่เลือกเฟ้นดู
จับเหตุจับผลที่บังเกิดขึ้น จับเข้าข้อกายข้อเวทนาข้อจิตข้อธรรม นี่เป็นธรรมวิจัย
แล้วมาถึงขั้นวิริยะความเพียรละ กับเพียรอบรม
ถ้าเป็นกิเลสก็ละเสีย เช่นเป็นราคะหรือเป็นโทสะหรือเป็นโมหะ ก็ละเสีย
แต่ถ้าเป็นสติเป็นสมาธิเป็นปัญญาก็อบรม รับเอาไว้ อบรมให้มากขึ้น
นี่ก็เป็นความเพียรวิริยะ
และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็จะได้สติได้สมาธิได้ปัญญามากขึ้น
ก็ขัดเกลาใจนี้เองให้ผ่องใส ปรากฏเป็นปีติความอิ่มเอิบใจในธรรม
ได้ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบใจมีความสุข จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิดีขึ้น
และสมาธินี้ก็กำหนดให้เป็นสมาธิตั้งจิตอยู่ในภายใน ไม่ฟุ้งออกในภายนอก
ก็เป็นอุเบกขาคืออาการที่จิตตั้งสงบอยู่ในภายใน ไม่ออกภายนอก เป็นอุเบกขา
ซึ่งอุเบกขาอันนี้สำคัญมาก
ถ้าไม่มีจิตก็จะฟุ้งออกภายนอก จิตจะออกไปตั้งอยู่ในภายนอก ก็เป็นจิตฟุ้งซ่าน
บางทีก็ไปเห็นโน่นเห็นนี่อะไรต่างๆ ถ้าสมาธิดี ก็ยิ่งจะฟุ้งซ่านไปภายนอกมากขึ้น
จึงต้องตั้งจิตให้เป็นสมาธิตั้งสงบอยู่ในภายใน อยู่กับความสงบ ไม่ฟุ้งออกภายนอก
กำหนดแน่วแน่อยู่ในภายใน อาการที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน สว่างอยู่ในภายใน ไม่ออกภายนอก
อาการที่ตั้งอยู่นั่นเป็นสมาธิ อาการที่สงบอยู่ในภายในนั่นเป็นอุเบกขา รวมกันอยู่
เพราะฉะนั้นก็เป็นโพชฌงค์ เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์
๑๐
เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เป็นเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ก็เป็นอันว่าได้ทั้งสติ ได้ทั้งปัญญา อยู่ในภายใน
และก็เป็นไปเพื่อปัญญาที่ยิ่งขึ้นไป
นี้แหละเป็นการปฏิบัติที่จะทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้
ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปก็ย่อมจะรู้เฉพาะตน ย่อมจะน้อมธรรมเข้ามาสู่ตน
คือน้อมธรรมเข้ามาในภายใน เป็นสติเป็นโพชฌงค์อยู่ในภายใน
และก็เป็นอันว่าเรียกจิตนี้เองให้มาดูธรรมะที่ปรากฏอยู่ในภายใน
ไม่ปรากฏกาลเวลา เพราะเป็นสัจจะคือความจริง
และก็รู้เองเห็นเอง คือวิญญูนี้เองรู้เองเห็นเอง ไม่ใช่ใครอื่น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งอยู่ในความสงบต่อไป
*
การปฏิบัติเพื่อเห็นทุกขสัจจะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อว่าจิตอ่อนควรแก่การงาน ๔
วิปัสสนาภูมิ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๒๒/๑ ครึ่งกลางจบในหน้าเดียว ( File Tape 94 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติเพื่อเห็นทุกขสัจจะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุ หรืออันวิญญูคือผู้รู้พึงเห็นเอง
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานอบรมสติในกายเวทนาจิตธรรม ย่อมจะได้สติเป็นสติปัฏฐาน
และย่อมจะได้ญาณคือความหยั่งรู้ หรือปัญญาความรู้คู่กันไปกับสติ
ทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม
และเมื่อปฏิบัติสติปัฏฐานถูกต้องก็จะมิใช่รู้ติด แต่ว่ารู้ปล่อยรู้วาง
คือรู้กายแต่ไม่ยึดกาย ปล่อยวางกาย
๒
รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ก็ไม่ติดไม่ยึด แต่ว่าปล่อยวาง เวทนา จิต ธรรม
และเมื่อสติตั้งเป็นสติปัฏฐาน
ได้ความรู้ซึ่งเป็นตัวญาณหรือปัญญา ที่ปล่อยวางในกายเวทนาจิตธรรม
ย่อมจะเป็นโพชฌงค์ขึ้นมา คือเป็นสติสัมโพชฌงค์ สติที่เป็นไปเพื่อรู้
จะได้ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรมที่จิตของตัวเอง อันเป็นไปเพื่อรู้
อะไรบังเกิดขึ้นก็จะรู้ทันทีว่านี่เป็นกุศลเป็นอกุศล นี่มีโทษไม่มีโทษ
นี่เป็นธรรมดำ นี่เป็นธรรมะขาวโดยเปรียบเทียบ จะรู้ทันที
เพราะมีวิจัยคือเลือกเฟ้นบังเกิดขึ้นที่จิต ด้วยอำนาจของสติที่บริสุทธิ์
แต่เพราะเหตุที่ยังมีกิเลสอยู่
เพราะฉะนั้นกิเลสจึงโผล่ขึ้นมาได้ แม้ในขณะที่กำลังปฏิบัติ
แต่เมื่อกิเลสโผล่ขึ้นมาก็รู้ทันทีว่านี่กิเลส วิริยะก็จะละได้
แต่เมื่อสติสมาธิโผล่ขึ้นมาก็จะรู้ทันทีว่านี่เป็นสตินี่เป็นสมาธิ และวิริยะก็จะรักษาเพิ่มพูน
ทำให้จิตนี้บริสุทธิ์เพราะถูกขัดเกลาให้ละส่วนเศร้าหมอง
ความปภัสสรคือผุดผ่องของจิตก็ปรากฏ
ก็จึงปรากฏเป็นปีติความอิ่มใจ เป็นธรรมปีติอิ่มใจในธรรม
คือในสติในปัญญาพร้อมทั้งในสมาธิที่บังเกิดขึ้น ปัสสัทธิสงบกายใจก็บังเกิดขึ้น
จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้น ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
แต่ก็ปล่อยวางกายเวทนาจิตธรรม ไม่ยึดถือ สงบอยู่ภายใน จึงได้อุเบกขา
จิตจึงว่างเพราะไม่ยึดกาย ก็ว่างจากกาย
ไม่ยึดเวทนา ไม่ยึดจิต ไม่ยึดธรรม ก็ว่างจากเวทนา จากจิต จากธรรม
ว่างสงบอยู่ภายใน สว่างอยู่ในภายใน ตื่นอยู่ในภายใน
ไม่ออกมาข้างนอกรับอารมณ์ทั้งหลาย
๓
ข้อว่าจิตอ่อนควรแก่การงาน
จิตที่ตั้งมั่นดั่งนี้เป็นตัวสมาธิที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยอุเบกขาที่บริสุทธิ์
ก็เป็นอันว่าวางกาย วางเวทนา วางจิต วางธรรม
จิตที่เป็นสมาธิ อุเบกขา สัมปยุตกันอยู่ดังนี้แหละที่เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน
คือควรแก่วิปัสสนากรรม กรรมคือวิปัสสนาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงต่อไป
ฉะนั้นจิตที่ประกอบด้วยสมาธิด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์นี้
จึงกำหนด ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ก็จะปรากฏสภาวทุกข์ขึ้นในความรู้
ว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าคือรูปกายอันนี้
เวทนาก็คือเวทนาที่อาศัยรูปกายอาศัยจิตบังเกิดขึ้น สัญญาคือความจำได้หมายรู้
สังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงคิด แต่ในขั้นนี้ก็คืออุเบกขากับสมาธิ และเป็นตัวสังขาร
วิญญาณก็คือตัวรู้ ตัวรู้ที่มโนคือใจ กับธรรมะ
คือสมาธิอุเบกขาที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ประกอบกันอยู่
ก็ย่อมจะได้วิญญาณคือตัวรู้ รู้อยู่ในภายใน
และก็ย่อมจะได้ความรู้ที่เป็นเวทนาสัญญาสังขารดังกล่าว
ทั้งหมดก็รวมเป็นนามธรรมซึ่งประกอบอยู่กับรูปธรรมอันนี้
ทั้งหมดนี้ต้องแก่ ต้องเกิดต้องแก่ต้องตาย ต้องประกอบกับต้องมีโสกะความโศก
ปริเทวะความคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจความคับแค้นใจ
ต้องประจวบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ต้องพบกับความปรารถนาไม่ได้สมหวัง
ทั้งหมดนี้ก็ปรากฏอยู่ที่รูปกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เอง ไม่ใช่ปรากฏที่อื่น
ก็รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี่แหละ เป็นสิ่งที่เกิดแก่ตาย เป็นสิ่งที่เป็นตัวโศกทุกข์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ประจวบ เป็นสิ่งที่พลัดพราก เป็นสิ่งที่ปรารถนาไม่สมหวังต่างๆ
๔
ก็อยู่ที่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้เอง
วิปัสสนาภูมิ
และอาการที่เป็นทั้งหมดนี้สรุปเข้ามาแล้ว ก็คือเป็นสิ่งที่เกิดดับ
เพราะฉะนั้น ภาวะเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ
ก็ปรากฏขึ้นว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้
ก็จะเห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน
และเมื่อขันธ์ ๕ นี้ปรากฏ อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา
เหมือนอย่างดูนาฬิกาเห็นหน้าปัทม์นาฬิกา เห็นตัวเลขบอกชั่วโมงนาที
เห็นเข็มยาวเข็มสั้นที่ชี้เวลาของชั่วโมงนาที หรือแม้ถึงวินาที
หน้าปัทม์ที่บอกเวลากับเข็มสั้นยาวเหล่านี้ ก็เท่ากับขันธ์ ๕
เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว ลักษณะที่เป็นไปของขันธ์ ๕ คือเกิดก็จะปรากฏ ดับก็จะปรากฏ
เหมือนดูนาฬิกาเมื่อพบหน้าปัทม์ดังกล่าว ก็จะเห็นเข็มสั้นยาวนั้นเคลื่อนไปอยู่เสมอตามเวลา
เป็นอดีตเป็นปัจจุบันเป็นอนาคต ที่ผ่านมาแล้วก็เป็นอดีต กำลังเป็นอยู่ก็ปัจจุบัน
ข้างหน้าก็เป็นอนาคต และอนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เป็นอดีต ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นความเกิดความดับของขันธ์ ๕ จึงปรากฏตามที่เป็นไปจริงของขันธ์ ๕
ดั่งนี้เรียกว่าเป็น การปฏิบัติเพื่อเห็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์
ทุกข์สัจจะก็จะปรากฏแจ่มชัดขึ้น ทั้งนี้จะต้องมีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์
๒ ข้อข้างหลังนั่นแหละ รวมกันอยู่เป็นหลัก และเมื่อได้โพชฌงค์ ๒ ข้อนี้
มีอุเบกขาประกอบด้วยสมาธิที่บริสุทธิ์ ที่ปล่อยวาง ไม่ยึดถือกายเวทนาจิตธรรม
ก็เป็นโอกาสที่จิตจะกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตรัสสอนมาแล้วในขันธปัพพะ
ข้อที่ว่าด้วยขันธ์นั้น
แต่ว่าข้อที่ตรัสสอนไว้ที่ได้เรียนได้ฟังมาแต่เดิมนั้นเป็นปริยัติ
แต่เมื่อมาปรากฏในขั้นที่ได้สมาธิอุเบกขา ขันธ์ ๕ ก็จะมาปรากฏตามที่เป็นจริง ที่ตนเอง
และลักษณะของขันธ์ ๕ ที่เกิดดับก็จะปรากฏตาม เหมือนอย่างเมื่อเห็นเข็มนาฬิกา
เห็นหน้าปัทม์ก็จะเห็นเข็มสั้นยาวนั้นเคลื่อนไปอยู่เสมอ
เวลาก็เป็นอดีตปัจจุบันอนาคตอยู่ตลอดเวลา ความเกิดความดับก็ปรากฏ
ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติที่ทำให้เห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๑
ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ จะเห็นได้ก็จะต้องได้อุเบกขาได้สมาธิในสัมโพชฌงค์นั้นก่อน
และการที่จะมาปฏิบัติกำหนดจิตพิจารณาขันธ์ ๕ จึงจะเป็นไปได้ ทุกขสัจจ์จึงจะปรากฏ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*