ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป092

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

หลักปฏิบัติทั่วไปในกรรมฐานทั้งปวง ๓

ธรรมดาของกายเวทนาจิตธรรม ๕

สติปัฏฐานก็คือสติกับสมาธิ ๖

อุปาทาน สัญโญชน์ นิวรณ์ ๗

นิวรณ์ อาการที่ปรุงใจ ๘

ปัญญาเห็นเกิดดับ ๙

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๙/๑ ครึ่งแรก ต่อ ๑๑๙/๒ ( File Tape 92 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

อันพระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้

ย่อมมีอยู่ในพระธรรมทั้งที่เป็น ปริยัติธรรม คือเป็นคำสั่งสอน

เป็น ปฏิบัติธรรม ธรรมคือปฏิบัติ เป็น ปฏิเวธธรรม ธรรมะคือรู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมด

และผู้ที่เริ่มตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจเพ่งด้วยใจ พินิจพิจารณาธรรมะที่ฟังและกำหนดไว้ จดจำไว้

และขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันได้แก่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ย่อมเริ่มได้พระธรรมคุณไปโดยลำดับ

และเมื่อน้อมนำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ก็ย่อมได้พระธรรมคุณจากปฏิบัติยิ่งขึ้น

และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมได้รับผลของการปฏิบัติขึ้นทันที เมื่อกำหนดให้รู้จักผลที่ได้รับนั้น

หรือแม้ยังกำหนดไม่ได้ ก็ย่อมได้พระธรรมคุณอันเป็นส่วนผลมากขึ้นโดยลำดับ

 

หลักปฏิบัติทั่วไปในกรรมฐานทั้งปวง

 

และดังที่ได้กล่าวแล้วว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในกรรมฐานทั้งปวง ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน

และแม้ในด้านปริยัติซึ่งเริ่มขึ้นด้วยการฟังหรือการอ่านดังที่ได้กล่าวแล้ว

พระพุทธองค์ก็ตรัสสอนให้ใช้แนวปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ เช่นเดียวกัน

 

ดังที่ได้ตรัสไว้โดยใจความว่า เมื่อได้ฟังธรรมและตั้งใจระลึกถึงธรรมที่ได้ฟัง

ดั่งนี้ ก็เป็นอันเริ่มปฏิบัติในสติสัมโพชฌงค์ องค์ของความรู้พร้อมคือสติ

คือความระลึก คือระลึกได้ถึงธรรมะที่ได้ฟัง ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ขึ้นมา

และเมื่อใคร่ครวญพิจารณาวิจัยเลือกเฟ้น ก็คือให้รู้จักว่านี้เป็นส่วนที่เป็นอกุศลมีโทษ

นี้เป็นส่วนที่เป็นกุศลไม่มีโทษ ดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นอันว่าได้เริ่มปฏิบัติในธัมวิจยะสัมโพชฌงค์

และเมื่อวิจัยเลือกเฟ้นได้ดั่งนี้ที่ใจของตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความเพียรละส่วนที่เป็นอกุศลมีโทษ

อบรมส่วนที่เป็นกุศลมีคุณ ก็เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ปีติความอิ่มใจ ปัสสัทธิความสงบใจและกาย สมาธิความตั้งใจมั่น

สงบ และอุเบกขาความเข้าเพ่งพินิจอยู่ในภายใน ในสมาธิที่ตั้งอยู่ในภายใน

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าได้โพชฌงค์ขึ้นไปโดยลำดับทั้ง ๗ ข้อ

 

ดังจะได้แสดงสติปัฏฐานเป็นตัวอย่างโดยสรุป

คือเมื่อได้ฟังสติปัฏฐานซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติ

หรือทำสติให้ตั้งในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม

เมื่อได้ฟังได้กำหนดตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมจะระลึกได้ถึงสติปัฏฐานที่ทรงสั่งสอนนี้

ในข้อกายกำหนดที่กายตามที่ทรงสั่งสอน กำหนดเวทนาที่เวทนาตามที่ทรงสั่งสอน

กำหนดจิตที่จิตตามที่ทรงสั่งสอน กำหนดธรรมที่ธรรมตามที่ทรงสั่งสอน

ก็ย่อมจะได้ธรรมวิจัยความเลือกเฟ้นธรรมขึ้นมาโดยลำดับ

คือจะรู้จักกายตามที่ทรงสั่งสอนที่กาย เวทนา จิตธรรม ก็เช่นเดียวกัน

และจะรู้จักกายเวทนาจิตธรรม ภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก

และธรรมดาของกายเวทนาจิตธรรมคือเกิดดับ และรวมกันทั้งเกิดทั้งดับ

เป็นอันว่าได้วิจัยที่จิตใจของตัวเองนี้เอง ให้รู้จัก กาย เวทนา จิต ธรรม

ตามที่ทรงตรัสสอนไว้ดั่งนี้ และให้มีสติกำหนดให้รู้จักดั่งนี้

แต่ให้พรากจิตออกเสียจากความยึดถือ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ว่าเป็นตัวเราของเรา อันเป็นตัณหาอุปาทาน

 

และเมื่อกำหนดพิจารณาลงไปแล้ว

เมื่อประมวลเข้าก็ย่อมจะได้ตัวสติที่เป็นตัวกำหนดนี้ พร้อมทั้งวิจัย

คือปัญญาที่เลือกเฟ้นนี้ว่า ย่อมรวมเข้ามาอยู่ที่ธรรมะ คือย่อมรวมเข้ามา

เป็นกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง อัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆบ้าง

ทั้งหมดสำหรับกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นกลางๆ ย่อมมีอยู่เป็นกลางๆ

เพราะตัวกายเอง เวทนาเอง จิตเอง ธรรมะส่วนที่เป็นกลางๆคือขันธ์ ๕ และอายตนะทั้ง ๖

ย่อมมีอยู่เป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นกุศลหรือ ไม่ใช่เป็นอกุศล รวมอยู่ในอัพยากตธรรม

ธรรมะที่เป็นกลางๆทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ตามเหตุตามปัจจัย

 

เหมือนอย่างดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ภูเขาอะไรทั้งหมด

เป็นธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยต่างๆ

แต่เพราะว่าบุคคลมีอุปาทานความยึดถือ หรือมีสัญโญชน์ความผูกพัน

จึงได้เป็นกิเลสขึ้นมาที่จิตใจนี้เอง ทำให้บังเกิดความยึดถือที่เป็นอุปาทานบังเกิดความผูกพัน

และเมื่อแสดงตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นก็สืบเนื่องมาที่มีอวิชชา

คือความที่ไม่รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริงนั้นเอง จึงทำให้บังเกิดโมหะคือความหลง

หลงอยากที่เป็นตัณหา หลงยึดที่เป็นอุปาทาน และหลงผูกพันที่เป็นตัวสัญโญชน์

และโดยเฉพาะก็คือ มีความหลงยึดถืออยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

โดยตรงก็คือขันธ์ ๕ และอายตนะซึ่งเป็นกลางๆนี้แหละ

มีความหลงยึดถืออยู่ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

 

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้บังเกิดความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติ

และเมื่อมีความเกิดก็มีชราความแก่ มีมรณะความตาย มีโสกะ มีปริเทวะ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สติกำหนดและวิจัยไปในสิ่งที่ยึดถือเหล่านี้

ตั้งต้นแต่กาย มาเวทนา มาจิต และมาถึงธรรมเอง

 

ธรรมดาของกายเวทนาจิตธรรม

 

เพราะว่าทั้ง ๔ นี้ก็เป็นสิ่งที่รวมกันอยู่ประกอบกันอยู่

เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ จึงปรากฏเป็นอัตภาพภาวะเป็นตัวเราเป็นของเรา

ที่เรียกกันว่าอัตภาพ หรืออัตตาตัวตน หรือตัวเราของเรา โดยที่ใช้สติกำหนดดู

ให้รู้จัก กายเอง เวทนาเอง จิตเอง และธรรมะคือขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เอง

ดูให้รู้จักภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก

และเมื่อดูให้รู้จักดูให้เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ดั่งนี้

ธรรมดาของกายเวทนาจิตธรรมก็ย่อมจะปรากฏ คือเป็นความเกิดเป็นความดับ

 

ทั้งนี้จึงสุดแต่สติ สติที่กำหนดทันหรือไม่

เมื่อกำหนดทันเป็นความรู้ทัน เกิดดับของกายเวทนาจิตธรรมจึงจะปรากฏ

และปัญญาก็จับรู้ ญาณคือความหยั่งรู้ ก็จับรู้ รู้จักเกิดรู้จักดับ เป็นความรู้เท่า

และสติที่กำหนดตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้จะกำหนดได้ทันได้

ก็ต้องอาศัยสตินี้เองนำจิตให้ตั้งมั่น ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่

ธรรมคือขันธ์ ๕ อายตนะมีอยู่

และข้อที่ว่ามีอยู่นี้ก็คือว่ากำหนดให้รู้จักได้ว่า

นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม ที่ตัวเอง ที่กายจิตนี้เอง

เมื่อจับได้ดั่งนี้จึงจะเป็นสติ ที่กำหนดได้ว่ากายมีอยู่ เวทนาจิตธรรมมีอยู่ ไม่หายไปไหน

ถ้าหากว่ากายเวทนาจิตธรรมหายไปจากสติ ก็แปลว่าสติกำหนดไม่ได้

เมื่อสติกำหนดไม่ได้จึงไม่อาจที่จะจับเกิดดับของสิ่งเหล่านี้ได้

 

เหมือนอย่างการดูนาฬิกา ตาจะต้องจับ

คือเห็นเข็มนาฬิกา เห็นตัวเลขบอกเวลา เท่ากับว่ารู้ว่านาฬิกามีอยู่

คือนี่นาฬิกา และคำว่านี่นาฬิกานั้นก็คือว่า นี่เป็นเข็มสั้น นี่เป็นเข็มยาว

นี่เป็นตัวเลขบอกเวลานั้นเวลานี้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะรู้เวลาว่าเวลาเท่าไร

ถ้าหากว่านาฬิกาไม่มี คือว่าไม่พบนาฬิกา ไม่เห็นนาฬิกาดังที่กล่าวแล้ว

การรู้เวลาก็มีขึ้นไม่ได้

 

สติปัฏฐานก็คือสติกับสมาธิ

 

เพราะฉะนั้น อันนี้จึงต้องอาศัยสติกับสมาธิรวมกัน

คืออาการที่สติกำหนดจับอยู่ ตั้งอยู่ ตัวตั้งนี่แหละคือเป็นสมาธิ กำหนดก็คือตัวสติ

อย่างสติปัฏฐานนี่ต้องรวมกัน สติคำหนึ่ง ฐานะหรือฐานคำหนึ่ง

สติก็คือสติกำหนด ฐานตั้งก็คือสมาธิ

เพราะฉะนั้น สติตั้ง ก็คือสติประกอบด้วยสมาธิ ตั้งสติ ก็คือสมาธิอันประกอบด้วยสติ

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า สติคือ สติ ฐานก็คือ สมาธิ

สติปัฏฐานรวมกันเข้าก็คือสติกับสมาธิ จะต้องประกอบกันดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินั้นเมื่อจับปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่ง

เอาเพียงข้อกายเท่านั้น ข้อใดข้อหนึ่ง แต่ให้สติกับสมาธิรวมกันอยู่ดังที่กล่าวเป็นสติปัฏฐานแล้ว

ข้ออื่นก็จะตามมาเองเป็น เอกีภาพ คือความที่มีเป็นอันเดียวกัน เป็นทางเดียวกัน

กายเวทนาจิตธรรมรวมกันอยู่ก้อนเดียวกันทั้งหมด

เหมือนกับอัตภาพนี้ กายใจนี้ หรือแม้กายเองก็ดี ใจก็ดี

หรือรวมกันเป็นกายใจก็ดี ก็รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องลังเลสงสัย แต่การอธิบายนั้นก็ต้องพูดกันไป จำแนกกันไป

แต่การปฏิบัตินั้นจับเอาที่ตั้งอันหนึ่ง แล้วก็รวมข้ออื่นเข้ามาเอง ไม่ต้องไปสงสัยลังเลว่าจะยุ่ง

จับขึ้นมาอันหนึ่งแล้ว ขอให้สติกับสมาธิรวมกันเท่านั้นในอันหนึ่งนั่นแหละ

อันอื่นจะรวมเข้ามาหมด และเมื่อรู้ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ ดั่งนี้

ทุกอย่างก็จะปรากฏตลอดจนถึงเกิดดับ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะจับได้ว่าธรรมดาเป็นอยู่ดั่งนี้

 

อุปาทาน สัญโญชน์ นิวรณ์

 

แต่ว่าเพราะเหตุที่มีอุปาทานความยึดถือว่าตัวเราของเรา

มีสัญโญชน์คือความผูกพันใจบังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

และกายเวทนาจิตธรรม มาถึงข้อขันธ์ ๕ ก็เป็นอุปาทาน เป็นสิ่งที่ยึดถือขึ้นมาทั้งหมด

อายตนะก็เช่นเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ยึดถือขึ้นมาทั้งหมด

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้รู้จัก

ว่าข้อที่ตรัสสอนมาโดยลำดับในสติปัฏฐานนั้น ข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรม

ซึ่งเริ่มด้วยนิวรณ์และมาขันธ์ ๕ นั้น ก็เพราะเหตุว่ามีอุปาทานคือความยึดถือนี้เอง

จึงได้บังเกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นมาเป็นอกุศลธรรมขึ้นในจิต

คนเราจึงต้องมีจิตใจที่มีนิวรณ์ประจำอยู่ อันทำให้ทำสมาธิได้ยาก

และทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ยาก ก็เพราะนิวรณ์นี้เอง

 

( เริ่ม ๑๑๙/๒ ) ทำไมจึงต้องมีนิวรณ์ก็เพราะเหตุว่ามีอุปาทานคือความยึดถือ

และอุปาทานความยึดถือนี้เมื่อประมวลทุกๆอย่างเข้ามาแล้ว

ที่ตรัสมาทั้งหมด ข้อกายก็ดี ข้อเวทนา ข้อจิตก็ดี มาจนถึงข้อนิวรณ์นั้นก็ดี

ก็ประมวลเข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ

คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นที่ยึดถือ

 

นิวรณ์ อาการที่ปรุงใจ

 

นี่ประมวลเข้ามาทั้งหมดที่ตรัสมาตั้งแต่เบื้องต้น กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี

ธรรมะข้อนิวรณ์ก็ดี ก็รวมเข้ามาในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

คือเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร วิญญาณ อันเป็นที่ยึดถือ

ตัวนิวรณ์นั้นเองก็เป็นตัวสังขารในขันธ์ ๕ นี้เอง อาการที่ปรุงใจหรือใจปรุง

และจึงได้ตรัสชี้ให้ชัดต่อไปว่า มาจากอายตนะภายนอก และภายในมาประจวบกัน

ของทุกๆคนนี้แหละ จึงได้เกิดสัญโญชน์คือความผูกพันใจขึ้น

เป็นการเริ่มต้นของอุปาทาน ตัณหาอุปาทาน นี่แหละคือตัวสัญโญชน์

ถ้าหากว่าอายตนะทั้งสองนี้ไม่มาประจวบกัน สัญโญชน์ก็ไม่บังเกิด ตัณหาอุปาทานก็ไม่บังเกิด

แต่เพราะเหตุที่อายตนะภายในภายนอกนี้มาประจวบกัน ตัณหาอุปาทานจึงบังเกิดขึ้น

คือเป็นตัวสัญโญชน์

 

เพราะฉะนั้นคนเราจึงได้มีการเพิ่มสัญโญชน์ความผูกพันใจ

ซึ่งเป็นตัณหาอุปาทานในสิ่งทั้งหลาย หรือเรียกรวมว่าในโลกนี้ หรือในโลกทั้งสิ้นนี้

อยู่เสมอๆ เป็นประจำๆ เป็นการเพิ่มพูนกิเลส คือตัวตัณหาอุปาทานเอง

สัญโญชน์เอง ตลอดถึงอวิชชา ให้มากขึ้นไปโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น จึงทำให้คนเรานั้นมีจริตต่างๆ เป็นตัณหาจริตบ้าง ทิฏฐิจริตบ้าง

อย่างหยาบบ้าง อย่างละเอียดบ้าง หรือแม้ที่จำแนกโดยประการอื่น

 

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนสติปัฏฐานนี้นี่แหละ ให้ใช้สติใช้สมาธิ

สติซึ่งเป็น สติ ฐานก็คือ สมาธิ รวมเป็นสติปัฏฐาน กำหนดให้รู้จักกายเวทนาจิตธรรม

รวมลงที่เกิดดับซึ่งเป็นธรรมดา ให้สตินี้รู้ทัน ทันกาย ทันเวทนา ทันจิต ทันธรรมะ

ทันอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน ที่ว่าทันนั้นก็คือว่ากำหนดได้ด้วยจิตตั้ง

ว่านี่เป็นนี่ เช่นนี่เป็นกาย นี่เป็นเวทนา นี่เป็นจิต นี่เป็นธรรม

คือนี่เป็นนิวรณ์ นี่เป็นขันธ์ ๕ นี่เป็นอายตนะ นี่เป็นสัญโญชน์ และเป็นสิ่งที่เกิดดับ

 

ปัญญาเห็นเกิดดับ

 

ความเกิดดับนั้นเป็นธรรมดาที่ปรากฏอยู่เองของสิ่งเหล่านี้

ไม่ใช่ไปสร้างให้บังเกิดขึ้น บังเกิดอยู่เอง เป็นปัญญาที่เป็นความรู้เท่าดั่งนี้แล้ว

เมื่อสติกับปัญญาดังกล่าวบังเกิดขึ้นเมื่อใด สัญโญชน์ก็ไม่บังเกิด

อุปาทานในสิ่งนั้นๆก็ไม่บังเกิด หรือที่บังเกิดแล้วก็ดับไป

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงเหลืออยู่แต่ที่เป็นส่วนธรรมชาติธรรมดา

ที่เป็นไปอยู่ตามเหตุตามปัจจัยของตัวเอง เช่นเมื่อตากับรูปมาประจวบกันก็เกิดการเห็น

ก็เป็นวิญญาณ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ไปตามเรื่อง

เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต ไปตามเรื่อง และก็ไม่เป็นนิวรณ์ขึ้นมาเพราะเหตุเหล่านี้

เพราะว่าเกิดความปล่อยวางได้ เกิดความดับได้ ด้วยอำนาจของสติปัญญาดั่งที่กล่าว

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้มีสติกำหนดตั้งในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ให้มีธรรมวิจัยใช้พินิจพิจารณาขบเจาะให้มีความเข้าใจ

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเกิดปหานะคือการละขึ้น เกิดภาวนาคือการอบรมขึ้นมา

คือจะละสัญโญชน์ ละตัณหาอุปาทานได้ ละนิวรณ์ได้

การละและการอบรมนี้ก็จะเจริญยิ่งขึ้น เป็นการขัดเกลาจิตใจนี้เองให้สะอาดบริสุทธิ์

 

เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มต้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์

และบังเกิดเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ขึ้น จึงจะได้ปีติความดูดดื่มใจ ปีติสัมโพชฌงค์

ได้ความสงบกายสงบใจ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

ได้สมาธิสัมโพชฌงค์คือได้ความตั้งมั่นของจิตในกุศลธรรมยิ่งขึ้น

ทำให้ได้อุเบกขาคือความเข้าเพ่งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปดูภายนอก

รู้การละฝ่ายอกุศล การอบรมฝ่ายกุศลอยู่ภายในใจ

เป็นการสงบอยู่ในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตจึงบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตเป็นธาตุรู้

ก็จะทำให้ความกำหนดรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุแห่งทุกข์ รู้จักความดับทุกข์

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันเป็นอริยสัจจ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

ความจริงที่ครอบโลก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สภาพธรรมดาของชีวิต ๓

จิตในขั้นที่เพ่งรู้อยู่ในภายใน ๔

ความรู้ในข้อทุกขสัจจะ ๕

ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นทุกข์ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๐/๑ ( File Tape 92 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ความจริงที่ครอบโลก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม เพื่อให้รู้ธรรมะที่พึงรู้ยิ่งเห็นจริงได้

เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจฟังธรรมะทรงแสดง และปฏิบัติตามหลักสัมโพชฌงค์

ดังที่ได้แสดงมาแล้ว คือตั้งสติความระลึกกำหนด

ตั้งต้นแต่ระลึกกำหนดไปตามธรรมะที่แสดง เป็นสติ

และตั้งสติก็คือตั้งสมาธินั้นเองในการฟัง รวมเป็นสติปัฏฐานดังที่แสดงแล้ว

สติก็เป็นสติ ฐานะตั้งก็คือสมาธิ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์

และพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมให้รู้จักธรรมะ ว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล

นี่เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ นี่มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว

เป็นธัมวิจยะสัมโพชฌงค์ และต่อๆไปก็ย่อมจะเป็นอันปฏิบัติในสติปัฏฐานโดยโพชฌงค์

 

สภาพธรรมดาของชีวิต

 

และเมื่อปฏิบัติโดยโพชฌงค์ดั่งนี้ ตั้งแต่สติและธัมวิจยะ แม้เพียงสองข้อนี้

ก็จะทำให้รู้จักสภาพธรรมดาของอัตภาพหรือของชีวิตนี้ กาย เวทนา จิต ธรรม

และข้อธรรมนั้นโดยเฉพาะคือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นสภาพธรรม

คือธรรมะที่เป็นสภาพมีภาวะของตนตามเหตุและผล ตามเหตุปัจจัย

เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล

แต่เพราะมีตัณหาอุปาทาน มีสัญโญชน์ จึงได้เป็นอกุศลขึ้นมา

ดังที่ตรัสในข้อนิวรณ์ที่ได้กล่าวแล้ว

 

จึงได้ตรัสสอนให้ทำสติปัฏฐานคือตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม

และกำหนดถึงกิเลสที่บังเกิดขึ้น อันอาศัยทั้ง ๔ ข้อนี้ที่ประกอบกันเป็นไปอยู่

และก็ตรัสสอนให้กำหนดในทางที่เห็นง่ายถึงความเกิดขึ้นของกิเลส

ก็คือให้กำหนดอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน ที่ทุกคนมีอยู่เป็นปรกติ

จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูกใจในอายตนะ และเมื่อยกขึ้นมาชี้ให้เห็นชัด

ก็คือผูกใจอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว

จึงได้เป็นอุปาทานขึ้น เป็นตัณหา เป็นอุปาทานขึ้น เป็นนิวรณ์ที่ปรากฏอยู่ในใจ

อันปล้นใจ กลุ้มรุมใจ ปรากฏอยู่

 

แต่เมื่อได้มีสติตั้งกำหนดให้รู้ทัน

ก็ย่อมจะได้กำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรมดังกล่าว ว่ามีอยู่เป็นไปอยู่อย่างนี้ๆ

สภาพธรรมดาของสิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏเป็นความเกิดความดับ

เพราะฉะนั้น จึงได้มีปหานะคือการละสัญโญชน์ขึ้นเอง จากสติที่กำหนดรู้นี้

และก็ละตัณหาอุปาทานได้

 

และก็ทำสติ สมาธิ ที่ตั้งกำหนด และตัวความรู้ที่เป็นปัญญานี้ให้เจริญยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะละสังโญชน์อันเป็นกิเลส พร้อมทั้งตัณหา อุปาทาน นิวรณ์

ที่บังเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน คือในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

และก็ละทุกข์ได้ อันเนื่องมาจากกิเลสเหล่านี้

 

จิตในขั้นที่เพ่งรู้อยู่ในภายใน

 

จิตจึงบริสุทธิ์จากกิเลสจากทุกข์ ก็ได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิยิ่งขึ้น

และได้อุเบกขาคือความที่เพ่งรู้อยู่ในภายใน ไม่หวั่นไหวไปด้วยความยินดีด้วยความยินร้าย

ละความยินดีละความยินร้ายได้ จิตก็ตั้งกำหนดอยู่ในตัวความสงบ

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตได้อุเบกขาดั่งนี้ที่มีอาการตั้งสงบอยู่ในภายใน

อันสืบเนื่องมาจากสมาธิ ไม่หวั่นไหวด้วยความยินดี ไม่หวั่นไหวด้วยความยินร้าย

 

แต่ว่ามีความรู้ที่สว่าง ความรู้ที่แจ่มแจ้ง ความรู้ที่โพลงขึ้น

ไม่เจือปนด้วยถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ไม่เจือปนด้วยความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ความสงสัยเคลือบแคลง อันสืบเนื่องมาจากที่ละยินดีละยินร้ายได้

คือละกามฉันท์ ละพยาบาทได้ จิตก็สว่างโพลงแจ่มใสปราศจากความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

มีสติที่รู้ตัวอยู่ทั้งหมด และมีปัญญาคือตัวความรู้ที่แจ่มแจ้ง

 

เหมือนอย่างเป็นไฟที่สว่างแจ่มใสอยู่ในภายใน

จิตที่ประกอบด้วยสมาธิอุเบกขาดังที่แสดงมานี้ อันเป็นสัมโพชฌงค์

ย่อมเป็นจิตที่พร้อมที่จะรู้ เป็นจิตที่ได้รับการซักฟอกมาแล้วโดยลำดับ

เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาดควรที่จะรับน้ำย้อมได้

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสัจจะปัพพะ

ข้อที่ว่าด้วยสัจจะคือความจริง อันได้แก่อริยสัจจ์ต่อเข้าในตอนนี้

ก็เป็นอันว่าสติปัฏฐานที่ทรงแสดงมาตั้งแต่ต้นทั้งหมด

ในข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรม ก็มาประมวลเข้าในสัจจะทั้ง ๔ นี้ทั้งหมด
ได้ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์ อันเรียกว่าทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

สมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

นิโรธสัจจะสภาพที่จริงคือนิโรธความดับทุกข์

และมรรคสัจจะสภาพที่จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

ความรู้ในข้อทุกขสัจจะ

 

กล่าวเฉพาะในข้อทุกข์นั้น ได้ตรัสสอนให้รู้จักจับแต่สภาวทุกข์

ทุกข์ที่เป็นไปตามสภาพคือตามภาวะของตน ตามเหตุปัจจัยของตน

ดังที่ตรัสว่า ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์

ทั้ง ๓ นี้เป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ คือตามภาวะของตน ตามเหตุปัจจัยของตน

คือของตน คือของธรรมชาติธรรมดา

 

สังขารคือเบ็ญจขันธ์นี้ หรืออายตนะทั้งปวงนี้ หรือที่สรุปเรียกว่านามรูป

และแม้สิ่งที่เป็นสังขารทั้งหมด แต่ว่ายกเอาจำเพาะที่มีใจครองก่อน คือที่มีจิตวิญญาณ

เป็นขันธ์สังขารของมนุษย์ก็ตาม ของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม จำพวกที่เป็นกายเนื้อ

หรือแม้จำพวกที่เป็นกายทิพย์คือเทพพรหมทั้งหลาย

หรือที่บังเกิดในอบายภูมิเป็นพวกโอปปาติกะคือเกิดขึ้นมาเป็นกายละเอียด

เช่นเป็นผู้เกิดในนรก หรือเป็น เปรต อสุรกาย ทั้งหมดรวมเรียกว่าเป็นจำพวกที่เป็นโอปปาติกะ

เช่นเป็นกายทิพย์ หรือเป็นกายนรก กายเปรต อสุรกาย ก็เป็นสังขารทั้งหมด

ซึ่งเมื่อเกิดคือมีชาติความเกิดเป็นเบื้องต้น ก็ต้องมีชราความแก่ มรณะความตายในที่สุด

คือต้องดับเหมือนกันหมด

( เริ่ม ๑๒๐/๑ ) แม้สังขารร่างกายของพระอรหันต์ พระสรีระของพระพุทธเจ้าเอง

ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ซึ่งเรียกว่านิพพานดับขันธ์

เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ

 

จากนี้ก็ตรัสทุกข์ที่เกิดทางจิตใจ อันสืบเนื่องมาจากตัณหาอุปาทาน

รวมเรียกว่ากิเลส คือความโศกเป็นทุกข์ ความรัญจวนคร่ำครวญเป็นทุกข์

และแถมความไม่สบายกายเข้าในที่นี้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เรียกว่าปกิณกะทุกข์

ทุกข์เบ็ดเตล็ดที่บังเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว เช่นอาพาธป่วยไข้เป็นทุกข์

ความไม่สบายใจเป็นทุกข์ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์

 

ต่อจากนี้ก็ตรัสสรุปเข้าเป็นความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์ คือเมื่อมีตัณหามีอุปาทาน ก็ต้องมีรัก มีไม่รัก

ซึ่งเป็นลักษณะรักก็กามฉันท์ ไม่รักก็เป็นพยาบาทหรือไม่ชอบ

และต่อจากนี้ก็ตรัสสรุปเข้าอีกเป็นหนึ่ง ก็คือว่าปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์

อันนี้ชี้ชัดว่ารวมเข้าแล้วก็เพราะอุปาทาน ตัณหาอุปาทาน อันทำให้ปรารถนา

ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ และความปรารถนาที่เป็นส่วนใหญ่นั้นก็ย่อมจะไม่สมหวัง

 

ดังเช่นเมื่อมีชาติความเกิดเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้เกิดก็ไม่ได้

เมื่อมีความแก่ความตายเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้แก่ไม่ให้ตายก็ไม่ได้

เมื่อมีโศกเป็นต้นเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้มีโศกก็ไม่ได้

และการที่จะต้องมีทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้มีทุกข์ดั่งนี้ก็ไม่ได้นั้น

ก็เพราะเหตุว่ามีตัณหามีอุปาทาน

 

เพราะฉะนั้นในที่สุดก็ได้ตรัสสรุปเข้าทั้งหมด ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

ก็ได้ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อเป็นนามรูป

ซึ่งคำนี้ก็มีเน้นอยู่ที่ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

เมื่อไม่ยึดถือก็ย่อมไม่เป็นทุกข์ คือหมายความว่าผู้ไม่ยึดถือนั้นไม่เป็นทุกข์เพราะขันธ์ ๕

และขันธ์ ๕ เองนั้นเมื่อมีอยู่ ก็ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา

คือต้องเป็นไปตามหมวดของสภาวทุกข์ มีเกิดก็ต้องมีแก่มีตาย

แต่ว่าผู้ที่ไม่ยึดถือก็ย่อมไม่เป็นทุกข์ เพราะเหตุที่ขันธ์ ๕ เมื่อเกิดต้องแก่ต้องตาย

เพราะว่ามีความรู้แจ่มแจ้งว่าเป็นธรรมดา ไม่ยึดถือ

เมื่อไม่ยึดถือก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปในสิ่งที่ไม่ได้ยึดถือนั้น

ต่อเมื่อยึดถือจึงต้องเป็นทุกข์ไปในสิ่งที่ยึดถือนั้น

จึงได้ตรัสเน้นเข้ามาว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือเป็นทุกข์

ก็เป็นอันว่าได้ทรงชี้ให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ โดยเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ

ดังที่ตรัสจำแนกนั้น อันเรียกว่า ทุกขทุกข์ ทุกข์ที่โดยเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ

 

ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นทุกข์

 

เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดฟังด้วยจิตใจที่ได้รับการฟอกด้วยการปฏิบัติมาโดยลำดับ

ฟังอริยสัจจ์ จึงจะเข้าใจอริยสัจจ์ ดังเช่นฟังทุกขสัจจะ จึงจะเข้าใจทุกขสัจจะนี้ซาบซึ้ง

จนถึงเห็นทุกข์ได้ดังธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

เห็นทุกสิ่งที่เกิดดับดั่งนี้ชื่อว่าเห็นทุกข์ เพราะทุกข์นั้นก็คือเกิดดับ

เห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ และต้องเป็นดั่งนี้ครอบโลกไปหมด

จึงเห็นสัจจะคือความจริงที่ครอบโลกทั้งหมด ไม่มียกเว้น

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats