ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป087

อายตนะ สังโญชน์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ปัจจุบันธรรม ๓

นิวรณ์ ๕ สืบมาจากสังโญชน์ ๔

อะไรคืออารมณ์ ๕

อุปาทานขันธ์ ๖

เกิดดับ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๓/๑ ( File Tape 87 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อายตนะ สังโญชน์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

ได้กล่าวมาแล้วโดยลำดับว่าพระธรรมคุณทั้งบทนี้

ย่อมเป็นพระธรรมคุณของธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอน

เป็นพุทธศาสนาซึ่งเป็นปริยัติธรรม และที่ปฏิบัติเป็นปฏิบัติธรรม

และที่รู้แจ้งแทงตลอดเป็นปฏิเวธธรรมทั้งหมด

และก็ได้แสดงยกสติปัฏฐานมาอธิบายประกอบพระธรรมคุณทั้งหมด ๖ บทนี้

จนถึงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้แสดงสติกำหนดพิจารณาตามดูนิวรณ์ ดูขันธ์ ๕

และก็ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของนิวรณ์ และขันธ์ ๕ ถึงอายตนะ

ที่ตรัสแสดงเป็นอันดับไปจากขันธ์ ๕ คือตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป

ให้รู้จักสัญโญชน์ หรือสังโญชน์ ความผูกที่แสดงแล้วว่าความผูกใจ อาศัยตาและรูปบังเกิดขึ้น

ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักหู ให้รู้จักเสียง ให้รู้จักสังโญชน์ ที่อาศัยหูกับเสียงบังเกิดขึ้น

ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักจมูก ให้รู้จักกลิ่น ให้รู้จักสังโญชน์ที่อาศัยจมูกกับกลิ่นบังเกิดขึ้น

ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักลิ้นให้รู้จักรส ให้รู้จักสังโญชน์ที่อาศัยลิ้นและรสบังเกิดขึ้น

 

ตั้งสติกำหนดดูกาย กำหนดดูโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง

กำหนดดูสังโญชน์ที่อาศัยกายและโผฏฐัพพะบังเกิดขึ้น

ตั้งสติกำหนดดูมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราว

ให้รู้จักสังโญชน์ที่อาศัยมโนและธรรมะคือเรื่องราวบังเกิดขึ้น

และตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักประการที่สังโญชน์ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น

ให้รู้จักประการที่ละสังโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว

ให้รู้จักประการที่สังโญชน์ที่ละได้แล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกดั่งนี้

 

ปัจจุบันธรรม

 

ข้อที่เกี่ยวด้วยอายตนะนี้ทรงมุ่งแสดงให้รู้จักสังโญชน์คือความผูกใจ

ที่อาศัยอายตนะภายในและภายนอกที่คู่กันทั้ง ๖ บังเกิดขึ้น

คือเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น เกิดสังโญชน์ผูกใจขึ้นมา

ก็ทำสติดูให้รู้จัก รู้จักทั้ง ตา รูป หู เสียง เป็นต้น

และให้รู้จักสังโญชน์ที่อาศัยอายตนะเหล่านี้บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกัน

ด้วยหัดทำสติกำหนดดูเป็นปัจจุบันธรรม คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

เพราะว่าทุกๆคนนั้นก็ต้องเปิดตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

รับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา

และจิตนี้เองเมื่อน้อมออกไปรู้ทางตาหูเป็นต้น ซึ่งรูปเสียงเป็นต้น

ก็มีสังโญชน์คือความผูกใจอยู่ ที่กล่าวกันง่ายๆก็คือผูกใจอยู่ในรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน

กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ทราบ

และธรรมะคือเรื่องราวที่ใจมโนคือใจ ได้คิด ได้รู้

ก็พูดเข้าใจกันดั่งนี้ แต่ไม่ได้รวมเอาตาหูเป็นต้นเข้าด้วย

 

แต่อันที่จริงนั้นเมื่อจิตน้อมออกรับรูปทางตา

และเกิดสัญโญชน์ขึ้น คือความผูกใจ ก็กล่าวว่าผูกใจอยู่ที่รูปที่ตาเห็น

แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องผูกใจที่ตาด้วยเหมือนกัน เพราะรูปจะปรากฏขึ้นก็ด้วยตา อาศัยตา

เพราะฉะนั้นเมื่อผูกใจในรูป ก็ผูกใจอยู่ในตาด้วย คู่กันไป

เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูตาด้วยรูปด้วย

แล้วก็ให้รู้ด้วยว่าสังโญชน์คือความผูกใจนี้บังเกิดขึ้นอาศัยตารูปเป็นต้น

เป็นสติที่ให้รู้อยู่เป็นปัจจุบันธรรม

 

นิวรณ์ ๕ สืบมาจากสังโญชน์

 

อันความผูกใจนี้รู้ได้ด้วยสติ

เพราะว่าปรากฏเป็นอาการที่เป็น ฉันทะราคะ ความพอใจติดใจ

หรือความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ ปรากฏเป็นกามฉันท์

หรือว่าปรากฏเป็นความกระทบกระทั่งก็เป็นพยาบาท

ปรากฏเป็นความสยบติดหรือความไม่รู้ซึ่งเป็นโมหะ ก็เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความฟุ้งซ่านรำคาญ และความเคลือบแคลงสงสัย

เพราะฉะนั้นนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น จึงปรากฏบังเกิดขึ้นในจิต สืบจากสังโญชน์คือความผูกใจนี้เอง

 

และในข้อจิตตานุปัสสนาที่ตรัสสอนให้ดูจิต

ก็ตรัสย่อเข้าเป็นจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ

ครั้นมาถึงหมวดธรรมานุปัสสนา ก็ทรงขยายความออกเป็นนิวรณ์ ๕

เพื่อให้กำหนดพิจารณาอาการของราคะโทสะโมหะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

และทั้งหมดนี้ก็สืบมาจากสัญโญชน์นี่แหละ

ถ้าหากว่าใจไม่ผูกก็ปรากฏเป็นเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นอยู่แค่นั้น

รูปเสียงเป็นต้นก็ตกไปแค่ได้เห็นแค่ได้ยิน

และอาการที่รูปเสียงเป็นต้นซึ่งจิตน้อมออกรับ เป็นเห็นรูปทางตาได้ยินเสียงทางหูเป็นต้นนั้น

แต่ละครั้งก็แต่ละอย่าง และก็เกิดดับอยู่แค่นั้นทุกครั้งทุกอย่างไป

แต่ว่าที่ยังไม่ดับก็โดยที่เป็นสังโญชน์คือผูกใจ

หรือว่าใจผูกอยู่ในสิ่งที่ตาเห็นสิ่งที่หูได้ยินเป็นต้นที่ดับไปแล้ว นั้นเอง

แต่มาผูกอยู่ในใจเป็นสังโญชน์

 

อะไรคืออารมณ์

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกอยู่ในใจนี้ จึงเรียกว่าอารมณ์คือว่าเรื่อง

อะไรคืออารมณ์ได้มีพระพุทธาธิบายตรัสเอาไว้ว่าคือเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง

นี่แหละคืออารมณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกใจหรือใจผูกก็คืออารมณ์นี้เอง

เพราะว่า ตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้นที่ประจวบกันนั้นดับไปแล้ว

และรูปที่ตาเห็นนั้น เช่นเป็นบุคคล เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้

ก็ตั้งอยู่ในภายนอกทั้งนั้น จะเอามาใส่ไว้ในใจไม่ได้

สิ่งที่ใส่ไว้ในใจนั้นก็คืออารมณ์นี้เอง

 

แม้ว่าสิ่งที่เป็นสมบัติพัสถานของตนเองเช่นเป็นบ้านเรือน

เป็นทรัพย์สินสิ่งนั้น ทรัพย์สินสิ่งนี้ ทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่อยู่ในภายนอกทั้งนั้น

ส่วนที่เข้ามาว่าเป็นของเรา สิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา ก็โดยที่ยังเป็นสังโญชน์

คือที่ผูกใจหรือใจผูกนี้เอง ผูกเอามาตั้งไว้ในใจ ว่าเป็นสิ่งนั้น ว่าเป็นสิ่งนี้

ว่าเป็นเจ้าของสิ่งนั้นเป็นเจ้าของสิ่งนี้

แต่อันที่จริงนั้น ทุกๆอย่างนั้นอยู่ในภายนอกใจทั้งนั้น ไม่ได้เอามาใส่ไว้ในใจ

เพราะฉะนั้นความยึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ที่เรียกว่าอุปาทานนี้

จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่อาศัยอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี่แหละ

ซึ่งรวมเข้าก็เป็นกายและใจ หรือนามรูปดังที่ได้อธิบายแล้ว

 

อุปาทานขันธ์

 

และอุปาทานความยึดถือนี้ ก็ยึดถือทั้งขันธ์ ๕ หรือว่านามรูปเองด้วย ว่าเป็นเราเป็นของเรา

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสเรียกว่าเป็น อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

และตัวความยึดถือนี้เองก็อาศัยเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕

เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ ก็เนื่องกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกกันไม่ออก

จะแยกเอาสิ่งนั้นทิ้งเสีย สิ่งนี้ออกเสีย ดั่งนี้ไม่ได้ ต้องรวมกันอยู่เป็นขันธ์ ๕

เป็นก้อนเป็นกองอยู่ด้วยกัน บุคคลจึงยังดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งจะต้องมีทั้ง ๕

หรือว่าย่อลงเป็นนามรูป ก็ต้องมีทั้งนามทั้งรูป

มีแต่ส่วนรูปไม่มีนาม มีแต่นามไม่มีรูปนั้นก็ไม่ได้ ต้องอาศัยกัน

 

และขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นสิ่งเกิดดับ เมื่อแสดงโดยปัจจุบันธรรม

เมื่อตั้งต้นขึ้นที่อายตนะภายในภายนอก อายตนะภายในภายนอกนี้ก็เป็นรูป

เว้นแต่ข้อ มโน คือใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เนื่องอยู่ในส่วนที่เป็นรูป ๕ ข้อ หรือ ๕ คู่ข้างต้น

และก็อาศัยอายตนะที่เป็นรูปนี้เองพร้อมทั้งมโนคือใจด้วยประกอบกัน

คือตากับรูปประกอบกัน หรือประจวบกัน หูกับเสียงประกอบกันประจวบกันดั่งนี้เป็นต้น

ก็เกิดวิญญาณขึ้น คือเกิดความรู้ที่เรียกว่าเห็นที่เรียกว่าได้ยินเป็นต้นขึ้น

และทั้งอายตนะภายในภายนอกที่เป็นคู่กัน และวิญญาณที่บังเกิดขึ้นนี้

มารวมกันเข้าก็เป็นสัมผัส คือกระทบถึงจิตที่แรงขึ้นก็เป็นเวทนา

เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข แล้วก็เป็นสัญญาความจำได้หมายรู้

แล้วก็เป็นสังขารความคิดปรุงหรือปรุงคิด และเมื่อปรุงคิดหรือคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วย

ก็เป็นวิญญาณสืบต่อไปอีก หรือว่าจิตตกภวังค์สิ้นสุดลงแค่นั้นในอารมณ์อันหนึ่ง

และเมื่อรับอารมณ์อันใหม่ขึ้นมาก็บังเกิดเป็นวิญญาณ

เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ขึ้นมาอีก แล้วจิตก็ตกภวังค์

หรือว่าจะแสดงสืบเนื่องกันไม่กล่าวถึงจิตตกภวังค์คือเป็นของละเอียด

ก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก สืบต่อกันไปอยู่ดั่งนี้

 

เกิดดับ

 

เพราะฉะนั้น ความเป็นไปของขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ ซึ่งเมื่อแสดงโดยปัจจุบันธรรม

ก็มีความบังเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันธรรมสืบจากอายตนะ ซึ่งมาประจวบกัน

เกิดดับอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลาเป็นธรรมดา นิวรณ์เองก็เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายเป็นธรรมดา

สังโญชน์ก็เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายเป็นธรรมดา

 

แต่สังโญชน์นี้แยกออกไปเป็นกิเลส นิวรณ์ก็แยกออกไปเป็นกิเลส

สังโญชน์นั้นเองเป็นตัวต้น แล้วก็เป็นนิวรณ์ ดังที่แสดงแล้ว

ก็เป็นฝ่ายกิเลสที่อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละบังเกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าตรัสแยกมาแสดงจำเพาะอายตนะภายในภายนอก

ซึ่งเป็นต้นของความบังเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ในปัจจุบัน

หรือเป็นวิญญาณ แล้วก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ในอารมณ์นั้นๆ

ที่จิตออกรับอาศัยอายตนะภายในภายนอกเป็นคู่กันดังที่กล่าว

 

เพราะฉะนั้นความเกิดความดับของนิวรณ์ก็ดี ของขันธ์ ๕ ก็ดี ของอายตนะก็ดี

ตลอดจนถึงของสังโญชน์เอง จึงมีอยู่เป็นธรรมดาในอารมณ์ทั้งหลาย

เป็นแต่เพียงว่าหัดตั้งสตินี้เองให้ระลึกรู้ในปัจจุบัน คือให้ทัน

ให้ทันกับความเป็นไปของกระบวนจิต หรือว่าของกระบวนขันธ์อายตนะ

และเมื่อตั้งสติกำหนดดูให้ทันแล้ว ก็จะปรากฏความเกิดความดับ

( เริ่ม ๑๑๓/๑ )

ฉะนั้นในข้อที่ว่านิวรณ์ก็ดี ขันธ์ก็ดี สังโญชน์ก็ดี เกิดโดยประการใด ดับโดยประการใด

ละโดยประการใด ละแล้วไม่เกิดอีกโดยประการใด ก็โดยประการที่ทำสตินี้เอง

ให้รู้ทันต่อกระบวนการของความเกิดดับ ของนิวรณ์ ของขันธ์ ของอายตนะ

สิ่งที่ปกปิดก็คือว่าตัวโมหะคือความหลงนี้เอง ที่หลงยึดเข้ามาผูกพันจิตใจ

เพราะฉะนั้น จึงบังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นนิวรณ์ เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นสังโญชน์ในจิตใจ

และก็ตั้งอยู่ในจิตใจ นี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้บังเกิดเป็นตัวกิเลสขึ้น และเป็นทุกข์ขึ้น

ปกปิดความเกิดความดับซึ่งเป็นธรรมดา

 

เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดทำสตินี้ให้รู้ ให้ว่องไว ให้ทัน

และเมื่อรู้ว่องไวทันแล้วก็จะกั้นกิเลสไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ กั้นความผูกใจได้

กั้นสังโญชน์ได้ กั้นนิวรณ์ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเห็นเกิดเห็นดับขึ้นมา

เมื่อเห็นเกิดเห็นดับคู่กันขึ้นมาดั่งนี้แล้ว จึงไม่เห็นอะไรที่จะตั้งอยู่ให้รัก หรือให้ชังเป็นต้น

หรือว่าให้เป็นสังโญชน์คือผูกใจ หรือใจผูกเป็นต้น เพราะว่าเมื่อเห็นว่าดับแล้วจะผูกอะไร

 

ส่วนที่ไม่เห็นว่าดับนั้นจึงผูก

และที่เห็นว่าไม่ดับนั้นก็คือว่าเอามาตั้งไว้ในใจ ผูกอยู่ในใจ ให้เกิดขึ้นใหม่ในใจ

ก็เอาสิ่งที่ดับไปแล้วนั่นแหละ คือที่ประสบพบผ่านมาแล้ว ดับไปแล้วนั่นแหละ

มาผูกไว้ในใจ ตั้งขึ้นใหม่ในใจ เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นในใจ อยู่ในใจทั้งนั้น

ใจนี้เองเป็นตัวที่เก็บเข้ามา แล้วก็เป็นตัวที่ตั้งขึ้น ปลุกขึ้นมา ให้สิ่งที่ดับมาบังเกิดขึ้น

และให้ตั้งอยู่ แล้วก็ยินดียินร้ายหลงอยู่ในสิ่งที่ตั้งอยู่ในใจนี่แหละ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทั้งนั้น

 

เพราะฉะนั้นเมื่อหัดทำสติให้รู้เท่าทันแล้วจะได้ปัญญาที่รู้ความจริง

ว่านี่เป็นโมหะคือตัวหลงทั้งนั้น เป็นอวิชชาคือไม่รู้จริงทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นการหัดทำสติให้ว่องไวดั่งนี้จึงเป็นไปทั้งเพื่อสติ สมาธิ และเพื่อปัญญา

ซึ่งในหมวดธรรมานุปัสสนานี้เป็นหมวดที่ตรัสสอนไว้เพื่อเจริญทางปัญญาเป็นที่ตั้ง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์

โพชฌงค์ ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ธรรมานุปัสสนา ๓

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์ ๔

นามรูป ๔

อายตนะภายใน ภายนอก สัญโญชน์ ๕

นิวรณ์ ๖

องค์ของความรู้ ๗ ประการ ๗

โพชฌงค์ ๗ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๓/๒ ( File Tape 87 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์

โพชฌงค์ ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สวากขาโต ภควตาธัมโม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูได้ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน

และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

ทุกข้อทุกบทย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณครบถ้วน

ได้แสดงอธิบายมาถึงข้อที่ ๖ ธรรมะอันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน

โดยได้ยกสติปัฏฐานมาแสดงอธิบายโดยลำดับ ตั้งแต่ในพระธรรมคุณบทต้นๆ

และอันที่จริงนั้นสติปัฏฐานนั้นก็ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทุกบท

ฉะนั้น การที่มาจำแนกสติปัฏฐานเข้าในพระธรรมคุณบทต่างๆกัน

จึงเป็นเพียงแสดงเป็นสาธกคือยกขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เป็นนิทัศนะเพียงในบทใดบทหนึ่งเท่านั้น

เพราะจะแสดงอธิบายไปทุกบทพร้อมกันนั้น ย่อมเป็นการจะแจกแจงให้เห็นจำเพาะ

อรรถะเนื้อความ พยัญชนะถ้อยคำ แห่งพระธรรมคุณในบทใดบทหนึ่งให้ชัดเจนเป็นการยาก

ฉะนั้นในทางแสดงอธิบายจึงจะต้องยกขึ้นสาธกในบทใดบทหนึ่ง

และแม้ในการแสดงสติปัฏฐานขึ้นสาธกในพระธรรมคุณที่แสดงมาโดยลำดับก็เป็นเช่นเดียวกัน

ฉะนั้นจึงได้แสดงบ่อยๆว่าธรรมะทุกข้อทุกบทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

จะเป็นสติปกัฏฐานก็ตาม บทอื่นก็ตาม ก็ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทุกบททั้งนั้น

 

ธรรมานุปัสสนา

 

และก็ได้แสดงมาถึงข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ทำสติระลึกกำหนดธรรมะอันเป็นข้อที่ ๔

ได้ทรงแสดงธรรมะฝ่ายอกุศลคือนิวรณ์ ๕ ขึ้นเป็นหมวดแรก แล้วทรงแสดงขันธ์ ๕

แล้วทรงแสดงอายตนะ ๖ และสัญโญชน์ เป็นอันได้ทรงยกเอาหมวดธรรมเหล่านี้ขึ้นแสดง

โดยที่จิตใจของสามัญชนทั่วไปนั้นย่อมเป็นกามาพจร หยั่งลงในกาม ท่องเที่ยวอยู่ในกาม

จึงมักเป็นจิตที่มีราคะบ้าง มีโทสะบ้าง มีโมหะบ้าง ซึ่งกิเลสเหล่านี้ก็บังเกิดขึ้นในจิต

 

ฉะนั้นในข้อจิตตานุปัสสนาจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูจิต

ว่ามีราคะโทสะโมหะ หรือปราศจากราคะโทสะโมหะ

และเมื่อมาถึงธรรมานุปัสสนา ซึ่งได้ตรัสสอนให้กำหนดดูธรรมะซึ่งบังเกิดขึ้นในจิต

คู่กันไปกับจิตตานุปัสสนา จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูราคะโทสะโมหะซึ่งบังเกิดขึ้นในจิต

โดยที่ตรัสยกขึ้นเป็นนิวรณ์ทั้ง ๕ จำแนกออกไปเป็น ๕ ตามอาการ

ที่ปรากฏอยู่ของจิตสามัญชนทั่วๆไป

 

ครั้นตรัสสอนให้กำหนดดูจิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์ดังกล่าว มุ่งกำหนดดูตัวนิวรณ์ดังกล่าว

และตรัสสอนให้รำงับนิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ประกอบไปด้วย

เพราะว่านิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่านี้เอง ตรัสเรียกว่าเป็นนิวรณ์ ก็เพราะเป็นเครื่องกั้นจิตไว้

ไม่ให้ได้สมาธิ และทำปัญญาคือความรู้แจ้งเห็นจริงให้อ่อนกำลัง

ทำให้ไม่อาจจะรู้แจ้งเห็นจริงได้

 

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์

 

ฉะนั้นจึงได้ทรงยกขึ้นเป็นหมวดแรกในข้อธรรมะ

และเมื่อเพ่งดูนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นให้รู้จักว่าเป็นนิวรณ์

สติที่เป็นตัวเพ่งดู พร้อมกับญาณปัญญาซึ่งบังเกิดขึ้น

คือรู้จักตัวนิวรณ์ รู้จักโทษของนิวรณ์แล้ว นิวรณ์เหล่านี้ก็จะดับไป สงบไป

เพราะฉะนั้นวิธีที่จะทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น หรือเหตุที่จะทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น

จึงอยู่ที่ความขาดสติและขาดญาณปัญญา

เมื่อทำสติและญาณปัญญาให้บังเกิดขึ้นในนิวรณ์ได้ นิวรณ์จึงสงบไปได้

 

วิธีที่จะละนิวรณ์ดับนิวรณ์ เมื่อกล่าวโดยรวบรัดแล้วก็คือสติ และญาณปัญญานี้เอง

สติก็คือสติปัฏฐาน ปัญญาก็คือปัญญาที่บังเกิดขึ้นติดต่อกันไป

และเมื่อนิวรณ์สงบจิตก็ย่อมสงบตั้งมั่น ก็น้อมจิตที่สงบตั้งมั่นนี้มาพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕

อันย่อเข้าก็เป็นนามรูปหรือกายใจอันนี้ที่เป็นที่บังเกิดขึ้นของนิวรณ์

เพราะนิวรณ์ก็อาศัยกายใจอันนี้เองบังเกิดขึ้น และบังเกิดขึ้นที่จิตอันประกอบด้วยกายใจอันนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อนิวรณ์สงบ กายใจที่ปราศจากนิวรณ์อาศัย กายใจที่บริสุทธิ์ก็ปรากฏขึ้น

 

นามรูป

 

การตั้งสติกำหนดดูกายดูใจให้รู้จักว่านี่กายนี่ใจ หรือว่านี่นามนี่รูป

กายก็คือรูป ใจก็คือนาม ให้รู้จักว่านี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ

ย่อเข้ารูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม

หรือรูปก็เป็นกายนามก็เป็นใจ โดยย่อ ดั่งนี้ให้รู้จักหน้าตา

และให้รู้จักประการที่รูปนามหรือนามรูปบังเกิดขึ้น ให้รู้จักประการที่นามรูปดับไป

และเมื่อกล่าวโดยย่อนั้นนามรูปบังเกิดขึ้นก็สืบเนื่องมาจากวิญญาณ

วิญญาณเกิดนามรูปก็เกิด วิญญาณดับนามรูปก็ดับ

และวิญญาณนั้นก็รวมอยู่ในนามรูป ซึ่งนับในขันธ์ ๕ เป็นข้อ ๕

 

อายตนะภายใน ภายนอก

 

เพราะฉะนั้น ความที่จะกำหนดให้รู้จักเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือนามรูป

เมื่อกำหนดให้รู้จักตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เมื่อว่าตามระยะปฏิจจสมุปบาท

ก็มีวิญญาณเป็นปัจจัย เมื่อพิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาทดั่งนี้แล้ว

จึงต้องพิจารณาต่อไปถึงว่าอะไรเป็นประการที่ทำให้วิญญาณเกิดให้วิญญาณดับ

จึงสืบมาถึงอายตนะตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า

เมื่ออายตนะภายในประจวบกับอายตนะภายนอก ก็ย่อมเกิดวิญญาณ

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนหมวดอายตนะต่อไปให้รู้จักตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น

ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องที่ใจคิด เรื่องที่ใจรู้

 

สัญโญชน์

 

แต่ในสติปัฏฐานนี้ ในตอนนี้ยังมิได้ตรัสถึงวิญญาณ ตรัสถึงสัญโญชน์ทีเดียว

แต่ว่าจะอธิบายเพิ่มเติมว่าอายตนะภายในกับภายนอกเมื่อประจวบกันดังกล่าว

เมื่อแสดงตามสายของเบ็ญจขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ก็เกิดวิญญาณ

วิญญาณในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงวิญญาณหรือจิตดังที่พูดกันว่าวิญญาณไปเกิดเป็นต้น

แต่หมายถึงเพียงความรู้ที่เรียกว่าเห็น ความรู้ที่เรียกว่าได้ยิน เป็นต้นเท่านั้น

ซึ่งหากว่าอายตนะภายในกับภายนอกไม่มาประจวบกัน วิญญาณดังกล่าวก็ไม่เกิด

เช่นเมื่อตากับรูป เมื่อยังไม่มาประจวบกัน จักขุวิญญาณความรู้คือการเห็นทางตาก็ไม่เกิด

ต่อเมื่อตากับรูปมาประจวบกัน จักขุวิญญาณดังกล่าวจึงเกิด และเมื่อเกิดจักษุวิญญาณ

ก็เกิดเวทนาสัญญาสังขาร แล้วก็เวียนมาวิญญาณอีกดังที่ตรัสแสดงไว้ในขันธ์ ๕

 

เพราะฉะนั้น ในตอนที่ทรงแสดงข้อว่าหรือหมวดว่าอายตนะทั้ง ๖ นี้

ทรงละเอาไว้ถึงกระบวนของขันธ์ ๕ หรือนามรูปที่บังเกิดติดต่อกัน

แต่ได้ทรงแสดงโดยตรงไปถึงสังโญชน์คือความที่มีความผูกใจหรือใจผูก

อันเป็นกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตที่บังเกิดขึ้นทีเดียว

ดังที่ตรัสว่าอาศัยตาอาศัยรูปเกิดสัญโญชน์ดั่งนี้

เป็นการที่ได้ตรัสชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่บังเกิดขึ้น โดยที่ขาดสติระลึกกำหนดให้รู้จัก

ว่าย่อมเกิดสัญโญชน์ขึ้น คือความผูกใจหรือใจผูก อยู่กับเรื่องรูปที่ตาเห็นนั้น

 

นิวรณ์

 

เพราะฉะนั้นจึงได้แสดงว่าสัญโญชน์ที่ดังกล่าวนี้เอง

บังเกิดขึ้นนำหน้านิวรณ์ และก็เป็นตัวนิวรณ์เองโดยสรุปเข้ามา

เพราะฉะนั้นจึงได้มีอธิบายสัญโญชน์ว่าได้แก่ฉันทะราคะ

ความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ หรือว่าความพอใจติดใจอยู่ในอารมณ์

คือเรื่องรูปเป็นต้น ที่ได้ประจวบทางตาเป็นต้น ก็คือทางอายตนะ ๖ นั่นแหละ

และฉันทราคะซึ่งเป็นอธิบายของสังโญชน์เป็นประการแรกนี้

ก็มาเป็นนิวรณ์ข้อต้นคือกามฉันท์นั่นแหละ

 

และก็มาเป็นนิวรณ์ข้อพยาบาท ข้อถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

และข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ข้อวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

เพราะฉะนั้นสังโญชน์จึงเท่ากับเป็นต้นเดิม หรือจะกล่าวว่าเป็นสรุปของนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ได้

และก็ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักความเกิดความดับของสัญโญชน์

ตลอดจนถึงว่าสัญโญชน์ที่ละได้ ดับได้ จะไม่บังเกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

 

เมื่อมาถึงตอนนี้ก็อาจกล่าวสรุปได้โดยสังเขปอีกว่า

สัญโญชน์บังเกิดขึ้นก็เพราะขาดสติที่กำหนดให้รู้จัก กับขาดญาณปัญญานั่นแหละ

และสัญโญชน์จะดับได้ก็ด้วยความที่มีสติกำหนดให้รู้จัก พร้อมทั้งญาณปัญญานั่นแหละ

แต่ว่าเมื่อมาถึงขั้นสัญโญชน์นี้ อันนับว่าได้ตรัสแสดงถึงกิเลสที่ละเอียดเข้า

จะเรียกว่าละเอียดกว่านิวรณ์ก็ได้ แต่ว่าจะว่าก็รวมอยู่ในนิวรณ์ก็ได้

 

( เริ่ม ๑๑๓/๒ ) แต่นิวรณ์นั้นเป็นกิเลสที่ปรากฏชัดแจ้ง

อันทำจิตให้กลัดกลุ้ม รุ่มร้อน วุ่นวาย ทำจิตให้กระสับกระส่ายไม่สงบที่ปรากฏ

ดังเช่นที่ทุกคนก็รู้จัก เมื่อกามฉันท์บังเกิดขึ้น ก็ทำให้รุ่มร้อนวุ่นวาย ด้วยอำนาจของกาม

เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้นก็ทำให้จิตรุ่มร้อนวุ่นวายด้วยอำนาจของโทสะ

และเมื่อถีนมิทธะบังเกิดขึ้นก็ทำจิตให้ตกต่ำ ง่วงงุน เคลิบเคลิ้ม ไม่มีกำลังที่จะประกอบการงาน

เมื่ออุทธัจจะกุกกุจจะบังเกิดขึ้นก็ทำใจให้ฟุ้งซ่าน เดือดร้อนรำคาญ

เมื่อวิจิกิจฉาบังเกิดขึ้นก็ทำใจให้สงสัยเคลือบแคลง ขาดความแน่นอนใจ

ทั้งทางศรัทธา ทั้งทางปัญญา เป็นอาการที่ปรากฏอยู่แก่จิตใจ

 

และทั้งหมดนี้ก็มีสังโญชน์นี่แหละเป็นต้นเดิมอยู่

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าสังโญชน์นี่ละเอียดกว่า ซึ่งจับได้ยากกว่า

นิวรณ์นั้นกำหนดได้ง่าย หรือจับได้ง่าย รู้ได้ง่าย

แต่มาถึงสัญโญชน์คือความผูกใจหรือใจผูกนี้ กำหนดให้รู้จักได้ยากกว่า ละเอียดกว่า

 

องค์ของความรู้ ๗ ประการ

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนต่อไปในข้อโพชฌงค์ทั้ง ๗

คือองค์ของความรู้ทั้ง ๗ ประการ ซึ่งหนักไปในทางญาณปัญญา

ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ซึ่งหมายถึงเป็นปัญญาด้วยกัน

เพราะว่าจะต้องใช้ปัญญาในทางที่จะกำหนดพิจารณาให้รู้จัก

 

แต่ว่าก็ต้องตั้งต้นด้วยสติเช่นเดียวกัน ขาดสติไม่ได้

เพราะสตินั้นคือความระลึกกำหนด เท่ากับเป็นผู้เสนอเรื่องเหล่านี้แก่จิต

เพื่อกำหนดพิจารณาให้รู้จัก ซึ่งเป็นตัวปัญญา

ถ้าหากว่าสติไม่เสนอ หรือว่าเสนอบกพร่อง ปัญญาก็ไม่เกิด

หรือเกิดขึ้นก็เกิดอย่างบกพร่อง เพราะปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็โดยที่สตินี้เองเป็นผู้เสนอ

เหมือนอย่างบุคคลซึ่งเป็นผู้ทำงาน หรือเป็นหัวหน้างาน ซึ่งมีเลขานุการเป็นผู้เสนอเรื่อง

ถ้าหากว่าเลขานุการไม่เสนอเรื่อง ผู้ที่บัญชางานก็ไม่มีเรื่องจะบัญชา

หรือว่าถ้าผู้เสนอเรื่องเสนอผิด คือเสนอเรื่องราวข้อมูลต่างๆผิด

ผู้บังคับบัญชาก็จะต้องสั่งไปผิดๆ ต่อเมื่อสติเสนอถูกจึงจะบังคับบัญชาไปถูกต้องได้

 

เพราะฉะนั้นสติจึงมีหน้าที่สำคัญ คือเป็นผู้เสนอเรื่องแก่จิตเพื่อพิจารณา

และสตินี้เองย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดรู้ผิด หรือรู้ถูก ถ้าเสนอผิดก็ทำให้รู้ผิด เสนอถูกก็รู้ถูก

สติที่เสนอผิดนั้นเป็นมิจฉาสติ สติที่ผิด สติที่เสนอถูกนั้นเป็นสัมมาสติ สติที่ชอบ

และปัญญาที่รู้ผิดนั้นเป็นมิจฉาปัญญา เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ปัญญาที่รู้ถูกนั้นเป็นสัมมาปัญญา สัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นสติกับปัญญาจึงเนื่องกัน

 

โพชฌงค์ ๗

 

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงหมวดโพชฌงค์ ๗

จึงได้ตรัสแสดงสติเป็นข้อแรกคือสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสติ

ข้อ ๒ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือธรรมวิจัยความเลือกเฟ้นธรรม

ข้อ ๓ วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือความเพียร

ข้อ ๔ ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือปีติ

ข้อ ๕ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือปัสสัทธิความสงบกายสงบใจ

ข้อ ๖ สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม คือสมาธิ

และข้อ ๗ อุเบกขาสัมโพชงค์ องค์แห่งความรู้พร้อม

คืออุเบกขา ความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ในภายใน

เพราะฉะนั้น หมวดสัมโพชฌงค์นี้ จึงเป็นหมวดธรรมะอันสำคัญซึ่งจะได้แสดงต่อไป

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats