ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:51
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป150
ป่าช้าข้อ ๑ - ๕
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๓ และ ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อพิจารณาสรีระศพ ๓
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๓ ๔
จิตสังขารเครื่องปรุงจิต ๕
สุขเวทนา ราคะแห่งสมาธิ ๖
กำหนดรู้จิตสังขารอย่างไร ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๓/๑ ( File Tape 150 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ป่าช้าข้อ ๑ - ๕
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๓ และ ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนสติปัฏฐานทั้ง ๔
ที่ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นกายเวทนาจิตธรรม
และในข้อแรกคือข้อกายนั้นได้แสดงตั้งแต่ข้อสติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาโดยลำดับ
จนถึงข้อสุดท้ายคือพิจารณาสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเทียบเข้ามาที่กายนี้
ว่ากายนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
โดยที่ตรัสสอนให้พิจารณาสรีระศพว่า เหมือนอย่างว่าสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ซึ่งใช้พิจารณาดูไปด้วยใจตามที่ตรัสสอนไว้นั้น หรือว่าได้ไปดูศพ
ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีการไปทิ้งไว้ในปาช้าเหมือนอย่างในสมัยโบราณ
ก็อาจจะไปดูศพที่หมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลก็ได้ หรือจะไปดูที่พิพิธภัณฑ์กรรมฐาน
ตึก ภปร. วัดบวรนิเวศวิหารนี้ก็ได้
๒
แม้ว่าจะไม่ตรงกันทีเดียวกับที่ตรัสไว้ ก็ไปดูพิจารณาโดยที่เป็นสรีระศพเหมือนกัน
หรือแม้เป็นส่วนต่างๆ เป็นอาการต่างๆในร่างกายอันนี้ที่ตรัสสอนให้พิจารณา
เป็นอาการ ๓๑ - ๓๒ ตรัสสอนพิจารณาด้วยว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด
ก็ดูได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เช่นเดียวกัน
ข้อพิจารณาสรีระศพ
และที่ตรัสเอาไว้ในพระสูตรนี้ ก็ตรัสไว้เป็นป่าช้า ๙ ประการ
อันหมายถึงว่าเป็นสรีระศพ หรือซากศพ ๙ ประการ
ตั้งแต่เมื่อเป็นซากศพที่ตายวันหนึ่งสองวัน จนถึงเป็นกระดูกผุป่น
จะได้แสดงทบทวนตามที่ตรัสไว้ในพระสูตรก่อน
ที่ตรัสสอนว่า เหมือนอย่างว่า จะพึงเห็นสรีระศพคือซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
คำว่า เหมือนอย่างว่า นั้นก็มีความหมายถึงเป็นคำเทียบเคียง
ต้องการที่จะให้ยกเอาสรีระศพตามที่ตรัสสอนนั้น
แม้ว่าจะไม่ได้เห็นจริงด้วยตาตนเอง ก็ให้พิจารณาเหมือนอย่างว่าเห็น
คือนึกถึงศพที่ตายแล้ววันหนึ่งสองวันสามวัน
ที่ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำหนองไหลน่าเกลียด
เทียบเข้ามาว่าแม้กายนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
เพราะว่ากายอันนี้ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วหากทิ้งเอาไว้ก็จะต้องเป็นเหมือนเช่นนั้น
คือจะต้องขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำหนองไหลน่าเกลียดเช่นเดียวกัน
อนึ่งตรัสสอนให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่าจะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
อันฝูงกาจิกกิน หรือฝูงแร้งจิกกิน หรือนกตะกรุมจิกกิน หรือสุนัขกัดกิน
หรือสุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือ ปาณกชาติ คือหมู่สัตว์เล็กน้อยทั้งหลายต่างๆชนิดกัดกิน
และให้พิจารณาน้อมเข้ามาที่กายอันนี้ว่า หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้วหากเขานำไปทิ้งไว้ในป่า
ก็จะต้องถูกสัตว์ทั้งหลายมาจิกกิน หรือมากัดกินเหมือนเช่นนั้น
๓
อนึ่ง ตรัสสอนให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่าจะพึงเห็น
สรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นซากศพที่มีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นรึงรัด
พิจารณาเทียบเข้ามาดูที่กายอันนี้ว่า หากถูกเขานำไปทิ้งไว้ในป่าช้าหรือในป่า
หลังจากที่ได้ถูกสัตว์ทั้งหลายจิกกินหรือกัดกินแล้ว
โครงร่างกระดูกก็ยังมีเนื้อมีเลือด ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด
อนึ่งตรัสสอนให้พิจาณาว่า เหมือนอย่างว่าจะพึงเห็นสรีระศพ
ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อยังเปื้อนเลือดยังมีเส้นเอ็นรึงรัด
น้อมเข้ามาพิจารณากายนี้ว่า หากสิ้นชีวิตแล้ว และถูกทิ้งไว้ในป่าหรือในป่าช้า
และหลังจากที่ได้ถูกสัตว์ทั้งหลายจิกกินกัดกิน ก็จะยังมีเนื้อมีเลือดมีเส้นเอ็นรึงรัด
และแล้วก็จะไม่มีเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือดและยังมีเส้นเอ็นรึงรัด
อนึ่ง ให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่าจะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อไม่มีเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัดเป็นโครงร่างกระดูกอยู่
เทียบเข้ามาที่กายอันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว หากถูกนำไปทิ้งไว้ในป่า
หรือในป่าช้า และหลังจากที่ได้ถูกสัตว์ทั้งหลายจิกกินกัดกินจนไม่มีเนื้อไม่มีเลือด
แต่เมื่อยังมีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่ก็ยังคงคุมกันเป็นร่างกระดูก หรือเป็นเป็นโครงกระดูกอยู่
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ว่าเหมือนอย่างว่าจะพึงเห็นสรีระศพดังที่กล่าวมา และน้อมเข้ามาที่กายอันนี้
พิจารณาดูว่าหลังจากที่สิ้นชีวิต หากถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าช้าหรือในป่า ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน
วันนี้แสดงเพียง ๕ ข้อในป่าช้า ๙
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๓
อนึ่ง จะได้แสดงอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นชั้นๆขึ้นไป
๔
อานาปานสติในข้อกายก็มี ๔ ชั้น ในข้อเวทนาก็มี ๔ ชั้น ในข้อต่อไปก็มีข้อละ ๔ ชั้น
และในข้อเวทนานั้นได้แสดงแล้ว ๒ ชั้น จึงถึงชั้นที่ ๓ ที่ตรัสสอนไว้ว่า
ให้ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจออก
ท่านอธิบายไว้ว่า
ด้วยสามารถแห่งการหายใจเข้ายาว ด้วยสามารถแห่งการหายใจออกยาว
ด้วยสามารถแห่งการหายใจเข้าสั้น ด้วยสามารถแห่งการหายใจออกสั้น
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้กายทั้งหมดหายใจเข้า
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้กายทั้งหมดหายใจออก
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้สงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า
ด้วยสามารถแห่งความสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้า
( เริ่ม ๑๙๓/๑ ) ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้ทั่วถึงปีติหายใจออก
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้า
ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้ทั่วถึงสุขหายใจออก
จิตสังขารเครื่องปรุงจิต
สัญญา คือความจำได้หมายรู้ เวทนา คือความรู้สึก
เวทนาทั่วไปนั้นก็คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
แต่ว่าในที่นี้มุ่งถึงปีติสุขรวมเข้าเป็นตัวสุขเวทนา
สัญญา เวทนา หรือ เวทนา สัญญา นี้ เป็นเจตสิกธรรม ธรรมะที่เกิดขึ้นในใจ
เจตสิกธรรมธรรมะที่เกิดขึ้นในใจคือสัญญาเวทนานี้เนื่องด้วยจิตผูกพันอยู่กับจิต
จึงเรียกว่าจิตสังขาร ที่แปลว่าเครื่องปรุงจิต นี้คือจิตสังขารเครื่องปรุงจิต
๕
สุขเวทนา ราคะแห่งสมาธิ
จิตสังขารคือเครื่องปรุงจิตนี้ เมื่อว่าถึงเป็นสัญญาเวทนาทั่วไป
หากเป็นสุขเวทนาก็ปรุงจิตให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี
หากเป็นทุกขเวทนาก็ปรุงจิตให้เกิดความยินร้ายโกรธแค้นขัดเคือง
หากเป็นอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข
ก็ปรุงจิตให้เกิดโมหะคือความหลงติดอยู่
แต่ว่าในที่นี้ ซึ่งในขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คืออานาปานสติซึ่งมาถึงขั้นนี้ รู้ทั่วถึงจิตสังขารหายใจเข้าหายใจออกนี้
เป็นปีติสุขซึ่งรวมเข้าก็เป็นสุขเวทนา จึงปรุงให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้ทำความรู้ทั่วถึงจิตสังขาร
คือให้รู้จัก สัญญา เวทนา ที่บังเกิดขึ้น อันปรุงจิตให้ยินดีนี้ว่าเป็นตัวสังขาร
กำหนดรู้จิตสังขารอย่างไร
และกำหนดรู้จิตสังขารอย่างไร ได้ตรัสอธิบายไว้ ได้มีท่านอธิบายไว้ต่อไปว่า
ด้วยสามารถแห่งการหายใจเข้าหายใจออกยาวเป็นต้น ดั่งที่กล่าวมาแล้วนั้นโดยลำดับ
จนถึงด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้รู้ทั่วถึงปีติสุขหายใจเข้าหายใจออก
เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน สติย่อมตั้งมั่น
จิตสังขารคือเครื่องปรุงจิตอันได้แก่ สัญญา เวทนา ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ก็กำหนดให้รู้จักด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น
และเมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต
เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธาความเชื่อ เมื่อประคองความเพียร
เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตให้เป็นสมาธิแล้ว เมื่อรู้ด้วยปัญญา
เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่ควรละ
๖
เมื่ออบรมทำให้มีขึ้นซึ่งธรรมะที่ควรอบรม เมื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมะที่ควรกระทำให้แจ้ง
จิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนาก็กำหนดรู้ ด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น
จิตสังขารย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้วอย่างนี้
เวทนา ด้วยสามารถแห่งความที่รู้ทั่วถึงจิตสังขารเครื่องปรุงจิต
หายใจเข้าหายใจออก เป็น อุปปัฏฐานะ คือเป็นอารมณ์ที่ปรากฏ
สติเป็น อนุปัสสนาสติ สติที่พิจารณาตามรู้ตามเห็น
เวทนาเป็นอุปปัฏฐานะคืออารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ใช่สติ
สติเป็นตัวความปรากฏด้วย เป็นสติด้วย
ย่อมพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น
เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสติปัฏฐานภาวนา อบรมสติปัฏฐาน
ข้อพิจารณาตามรู้ตามเห็นในเวทนา ท่านอธิบายไว้อย่างนี้
และในข้อนี้ก็เป็นความจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว
ก็จะต้องปฏิบัติศึกษาให้รู้ทั่วถึงจิตสังขาร หายใจเข้าหายใจออก
คือให้รู้ทั่วถึงว่าสัญญาเวทนาที่บังเกิดขึ้นนี้ เป็นเครื่องปรุงจิตได้ คือปรุงจิตให้ยินดีติดอยู่ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
ป่าช้าข้อ ๖ - ๙
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สรุปข้อพิจารณากาย ๓
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๓/๒ ( File Tape 150 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ป่าช้าข้อ ๖ - ๙
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔
เป็นหลักปฏิบัติใหญ่ เพื่อตั้งสติ เพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา
ในข้อกายได้ทรงแสดงจับแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
จนถึงข้อว่าด้วยป่าช้าทั้ง ๙ อันเป็นข้อสุดท้าย
และก็ได้แสดงมาแล้ว ๕ ป่าช้า ยังอีก ๔ ป่าช้า ก็จะครบ ๙
ในป่าช้าที่ ๖ นั้น ตรัสสอนให้ตั้งจิตตั้งสติพิจารณาว่า
เหมือนอย่างว่าซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า และเห็นซากศพนั้นเป็นร่างกระดูก
ซึ่งไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด จึงกระจัดกระจายไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย
กระดูกมือไปทางอื่น กระดูกเท้าไปทางอื่น กระดูกแข้งไปทางอื่น กระดูกขาไปทางอื่น
กระดูกสะเอวไปทางอื่น กระดูกหลังสันหลังไปทางอื่น กระดูกซี่โครงไปทางอื่น
กระดูกอกไปทางอื่น กระดูกแขนไปทางอื่น กระดูกไหล่ไปทางอื่น กระดูกคอไปทางอื่น
๒
กระดูกคางไปทางอื่น กระดูกฟันไปทางอื่น กระโหลกศรีษะไปทางอื่น
อันหมายความว่าเรี่ยราดกระจัดกระจายไปแต่ละทิศแต่ละทาง
ให้พิจารณาน้อมเข้ามาว่า เหมือนอย่างกายนี้ก็จะเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดา
จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่าเหมือนอย่างว่า
จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกซึ่งมีสีขาวเหมือนอย่างสังข์
พิจารณาน้อมเข้ามาว่าแม้กายนี้ ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา
จะต้องมีความเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่า
จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกที่เป็นกองๆเกินปีหนึ่งไป
น้อมเข้ามาพิจารณาว่า แม้กายนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น
มีอันเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่า
จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นกระดูกผุป่น
น้อมเข้ามาถึงกายนี้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
สรุปข้อพิจารณากาย
ก็เป็นอันว่าได้ตรัสสอนให้พิจารณา
เทียบกายนี้กับสรีระศพ ที่เหมือนอย่างว่าเห็นที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ดังกล่าวมาโดยลำดับเป็น ๙ ป่าช้าด้วยกัน หรือว่า ๙ สรีระศพด้วยกัน
ก็เป็นอันทรงแสดงจบข้อกายานุปัสสนา คือให้พิจารณากาย
๓
เพราะว่ากายอันนี้หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า
เดิมก็ไม่มี แต่เริ่มมีขึ้นตั้งต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา
แล้วจึงมาเริ่มเป็นสรีระตั้งแต่ยังไม่ปรากฏเป็นปัญจะสาขาในท้องแม่
คือยังไม่ปรากฏศรีษะ มือทั้งสอง เท้าทั้งสอง
แล้วจึงค่อยเติบใหญ่ขึ้น มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย
แต่ว่าจิตนั้นใจนั้นเริ่มมีตั้งแต่เป็นกลละ ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ
และเมื่อมีอายตนะครบถ้วนก็คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา
ได้รับทะนุบำรุงเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นโดยลำดับ
และก็ต้องล่วงไป แตกสลายไปในช่วงเวลาต่างๆกัน
ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดาก็มี ออกมาแล้วยังเล็กอยู่ก็มี โตขึ้นมาก็มี
เติบใหญ่ขึ้นเป็นเด็กใหญ่ก็มี เป็นหนุ่มเป็นสาวก็มี เป็นผู้ใหญ่ก็มี อยู่มาจนแก่ก็มี
แต่แล้วในที่สุดก็ต้องแก่ตายด้วยกันทั้งหมด ไม่มีใครจะอยู่ตลอดไปได้
ก็คือกายนี้แตกสลาย และเมื่อกายนี้แตกสลาย กายนี้ก็เป็นศพ
มีลักษณะตั้งแต่ตายวันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นตามที่ตรัสแสดงไว้
แล้วในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่น เป็นอันว่ากลับเป็นไม่มีเหมือนอย่างเดิม
กายอันนี้เมื่อเริ่มต้นมีขึ้น ตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณ
เป็นกลละคือเล็กที่สุดเหมือนอย่างน้ำมันที่ปลายขนทราย
ก็แปลว่าเริ่มมีเริ่มเป็นขึ้น เป็นกายเป็นจิตตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณ มีชีวิต
และเมื่อได้คลอดออกมาคือเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็ยังเล็ก แล้วก็เติบโตขึ้นโดยลำดับดังกล่าว
ในขณะที่กายยังดำรงชีวิตอยู่นี้ก็ย่อมหายใจเข้าหายใจออกได้
มีลมหายใจ ซึ่งต้องหายใจกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงเรียกลมหายใจว่าปาณะ
ปาโณที่เราแปลว่าสัตว์มีชีวิต ก็คือสัตว์ที่ยังหายใจอยู่
๔
ลมหายใจซึ่งเป็นตัวชีวิต ( เริ่ม ๑๙๓/๒ ) จึงเรียกว่าลมปราณ
เมื่อลมปราณซึ่งเป็นตัวชีวิตนี้หยุดไม่หายใจ ชีวิตนี้ก็ดับ
และเมื่อยังมีชีวิตมีลมปราณหายใจเข้าหายใจออก ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเดินยืนนั่งนอนได้
ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถประกอบต่างๆ เช่นการก้าวไปข้างหน้า การถอยมาข้างหลังเป็นต้นได้
อาการทั้งหลายในร่างกายอันนี้มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นที่เป็นภายนอก
และที่เป็นภายใน มังสังเนื้อ นหารูเอ็น อัฏฐิกระดูก อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต
หทยังหัวใจ ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด เป็นต้น
ก็มีอาการคือปฏิบัติหน้าที่ได้ และอาการทั้งปวงเหล่านี้ก็มีลักษณะที่เติบใหญ่ได้
มีสันตติคือความสืบต่อ มีความเสื่อมได้ มีความเกิดดับได้
แต่แม้ว่าเกิดดับ ดับแล้วก็มีสันตติคือเกิด อย่างเช่นผมที่หลุดแล้วก็กลับงอกขึ้นมาได้
ที่ตัดหรือโกนแล้วก็กลับงอกยาวขึ้นอีกได้ แล้วก็หลุดได้
และอาการทั้งปวงนั้นก็ต่างปฏิบัติหน้าที่ของตน ในอันที่จะรวมเข้าเป็นสรีรยนต์คือร่างกายอันนี้
และทั้งหมดเมื่อย่อเข้าก็เป็นธาตุทั้ง ๔
คือปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม
ประกอบกันอยู่ กายนี้จึงดำรงชีวิตอยู่ได้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้พิจารณากายนี้
จับเดิมแต่ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดอิริยาบถ
กำหนดอิริยาบถประกอบทั้งหลาย กำหนดอาการ ๓๑ ถึง ๓๒ กำหนดธาตุทั้ง ๔ โดยลำดับ
อันเป็นร่างกายที่ยังเป็นอยู่ ยังดำรงชีวิตอยู่ แต่ว่าร่างกายอันนี้ในที่สุดก็จะต้องแตกสลาย
อันหมายความว่าธาตุทั้ง ๔ ที่รวมกันนี้แตกสลายแยกกัน
วาโยธาตุธาตุลมที่เป็นลมปราณดับคือหยุดหายใจ
อิริยาบถก็หยุด จะผลัดเปลี่ยนเดินยืนนั่งนอนไม่ได้ นอกจากต้องนอนเป็นศพ
อิริยาบถประกอบทั้งหลายก็ต้องหยุดหมด ผลัดเปลี่ยนไม่ได้
อาการ ๓๑ ถึง ๓๒ ก็หยุดเป็นอาการ คือหยุดทำงานประกอบหน้าที่
๕
เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลายตั้งแต่ลมปราณ
เป็นศพดังที่ตรัสไว้ในป่าช้าทั้ง ๙ วาโยธาตุที่เป็นลมปราณดับ
เตโชธาตุที่เป็นธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นต้นก็ดับ ศพจึงเย็นชืด ไม่มีธาตุไฟ
และธาตุดินธาตุน้ำก็หยุดปฏิบัติงาน ก็ต้องแตกสลายย่อยยับไปโดยลำดับ
ดังที่ตรัสไว้ในป่าช้าทั้ง ๙ ในทีแรกก็ยังเป็นสรีระศพหรือซากศพที่ยังมีเนื้อมีเลือดอยู่บ้าง
แต่ต่อไปเนื้อก็จะหมด เลือดก็จะหมด เหลือแต่โครงกระดูกที่มีเส้นเอ็นรึงรัด
แล้วก็ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด เป็นกระดูกที่กระจัดกระจายไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย
ในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่น ก็เป็นอันว่ากลับไม่มีอย่างสมบูรณ์
เดิมก็ไม่มีอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีอย่างเต็มที่
เมื่อกลับมีขึ้นมา ในที่สุดก็กลับไม่มีอย่างสมบูรณ์คืออย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องมีเกิดมีดับ
เป็นทุกขะเป็นทุกข์คือต้องถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
และเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจจะยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราได้
เพราะต้องเป็นไปตามธรรมดาอย่างนั้น บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรที่จะถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
ฉะนั้น แม้ในข้อกายานุปัสสนาตั้งสติพิจารณากายนี้
จึงเป็นข้อที่ตรัสสอนให้ได้ทั้งสติเพื่อสมาธิ และให้ได้ทั้งสติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*