ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:50
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป149
ธาตุกรรมฐาน
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๒
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อาการ ๓๒ ๓
เพ่งกำหนดด้วยตาใจ ๔
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๒ ๕
กายิกสุข เจตสิกสุข ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๑/๒ ( File Tape 149 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ธาตุกรรมฐาน เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๒
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็นได้ตรัสแสดงทางไปอันเอก
เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์โทมนัส
เพื่อก้าวล่วงความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัส
เพื่อทำให้แจ้งญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ คือมรรค เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันได้แก่
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิต
และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน พิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรม
ในข้อกายานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย
ได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๒
ตรัสสอนให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔
ตรัสสอนให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถประกอบทั้งหลาย
และจากนั้นได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดพิจารณากายว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ปฏิกูลน่าเกลียด
โดยตรัสสอนให้พิจารณากายนี้เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ
อาการ ๓๒
เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น
อัฏฐิกระดูก อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ
กิโลมกังพังผืด ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังสายรัดไส้
อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า ปิตตังน้ำดี เสมหังน้ำเสลด
ปุพโพน้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตังน้ำเลือด เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา
วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย สิงฆานิกาน้ำมูก ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร
รวมเป็น ๓๑ และเติมมัตถเกมัตถลุงคังขมองในขมองศรีษะเป็น ๓๒
ตรัสสอนให้พิจารณาอาการทั้งหลาย ๓๑ หรือ ๓๒ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้
( เริ่ม ๑๙๑/๒ ) ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด กายนี้จึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดมีประการต่างๆ
อันความไม่สะอาดของกายนี้ย่อมมีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา
จึงต้องมีการอาบน้ำชำระกาย มีการตบแต่งกาย เพื่อให้สะอาด
และเพื่อให้งดงามมีประการต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้สะอาดให้งดงามจริงๆได้
เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ไม่งดงามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
เมื่อพิจารณารวมๆยังไม่ปรากฏชัด ก็ให้พิจารณาแยกออกไปอีก
โดยสี โดยสัณฐานคือทรวดทรง โดยกลิ่น โดยที่เกิด โดยที่อยู่ ของอาการทั้งปวงเหล่านี้ว่า
แต่ละอาการนั้นเมื่อพิจารณาดูโดยสีก็ไม่สะอาดไม่งดงาม
โดยสัณฐานคือทรวดทรงก็ไม่สะอาดไม่งดงาม โดยกลิ่นก็ไม่สะอาดไม่งดงาม
๓
โดยที่เกิดก็เกิดอยู่กับบุพโพโลหิตไม่สะอาดไม่งดงาม
โดยที่อยู่ก็อยู่กับบุพโพโลหิตน้ำหนองน้ำเหลืองน้ำเลือด ไม่สะอาดไม่งดงาม
เพ่งกำหนดด้วยตาใจ
และในการพิจารณานั้น ก็ให้เพ่งกำหนดดูอาการเหล่านี้แต่ละอาการ
ให้เห็นชัดด้วยตาใจ ว่านี่ผม นี่ขน นี่เล็บ นี่ฟัน นี่หนัง เป็นต้น
มีสีอย่างนี้ มีสัณฐานทรวดทรงอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้
มีที่เกิดอยู่กับบุพโพโลหิตอย่างนี้ มีที่อยู่กับบุพโพโลหิต เหล่านี้
ในเบื้องต้นต้องกำหนดพิจารณาให้เห็นชัดแต่ละอาการก่อน
ความไม่สะอาด ความไม่งดงามจึงจะปรากฏขึ้น
ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่า ไถ้หรือถุงที่บรรจุด้วยธัญชาติต่างๆ
มีข้าวสาลี ข้าวเปลือก เป็นต้น บุรุษที่มีจักษุเปิดไถ้ และมองดูเห็นธัญชาติแต่ละอย่าง
ว่าเหล่านี้ข้าวสาลี เหล่านี้ข้าวเปลือก เหล่านี้ถั่ว เหล่านี้ถั่วทอง เหล่านี้งา เหล่านี้ข้าวสาร
ตามที่มีอยู่ในไถ้ หรือในถุงที่มีปากสองปากนั้น
ฉันใดก็ดี ให้พิจารณากายนี้ให้รู้จัก มองเห็นด้วยตาใจแต่ละอย่าง
ว่านี้ผม นี้ขน เป็นต้นดังที่กล่าวแล้ว เมื่อเป็นดั่งนี้ความไม่สะอาดและความไม่งดงาม
โดยสีของสิ่งเหล่านี้ โดยสัณฐานทรวดทรงของสิ่งเหล่านี้ โดยกลิ่นของสิ่งเหล่านี้
โดยที่เกิดของสิ่งเหล่านี้ โดยที่อยู่ของสิ่งเหล่านี้ ก็ย่อมจะปรากฏ
เป็นเหตุทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายหลงยึดถือกายนี้ ว่าเป็นของสวยงามน่ารักน่าชม
เป็นการละราคะความติดใจยินดี ความหลงยึดถือได้
เพราะฉะนั้น การพิจารณากาย หรือสติที่ไปในกายดังกล่าว
จึงได้ตรัสยกเป็นสติปัฏฐานข้อกายประการหนึ่ง
อันนับว่าเป็นข้อสำคัญ สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรม
๔
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๒
อนึ่ง ได้แสดงอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
ในหมวดกายานุปัสสนา ๔ ชั้น ดังที่ได้อธิบายแล้วโดยลำดับ
และได้ตรัสข้ออานาปานสตินี้ต่อขึ้นไปถึงหมวดเวทนาอีก ๔ ชั้น
ซึ่งได้แสดงแล้วชั้นหนึ่ง คือศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้า
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจออก ซึ่งได้อธิบายแล้ว
จะได้อธิบายในเวทนานี้ข้อที่ ๒ ที่ตรัสสอนไว้ว่า
มีสติสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจออก ดั่งนี้
อันนับว่าเป็นอานาปานสติในข้อเวทนานุปัสสนา สติพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนาเป็นชั้นที่ ๒
กายิกสุข เจตสิกสุข
ท่านอธิบายไว้ว่าสุขนั้นมี ๒ อย่าง คือ
กายิกสุข สุขทางกาย ๑ เจตสิกสุข สุขทางใจ ๑
กายิกสุข สุขทางกายนั้นได้แก่ความสุขความสำราญ
อันเกิดจาก กายสัมผัส สัมผัสทางกาย เป็นความสุขทางกาย
ส่วนเจตสิกสุข สุขทางใจนั้นก็ได้แก่ความสุขความสำราญ
อันเกิดจาก เจโตสัมผัส ความสัมผัสทางใจ ก็เป็นความสุขทางใจ
เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยอำนาจของการหายใจเข้ายาว ด้วยอำนาจของการหายใจเข้าสั้น
ด้วยอำนาจของการหายใจเข้ายาว ด้วยอำนาจของการหายใจออกยาว
ด้วยอำนาจของการหายใจเข้าสั้น ด้วยอำนาจของการหายใจออกสั้น
ด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า
ด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก
๕
ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ สงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า
ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ กายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก
และด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้า
ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ทั่วถึงปีติหายใจออก
สติก็ตั้งมั่น เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่อธิษฐานจิตคือตั้งจิต
เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธาความเชื่อ เมื่อประคองความเพียร
เมื่อตั้งสติให้มั่น เมื่อตั้งจิตให้มั่นเป็นสมาธิ เมื่อรู้ด้วยปัญญา
เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่ควรละ
เมื่ออบรมทำให้มีให้เป็นขึ้นซึ่งธรรมะที่ควรอบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น
เมื่อกระทำให้แจ้งธรรมะที่ควรกระทำให้แจ้ง
สุขเหล่านั้นก็เป็นอันรู้จำเพาะ หรือว่ารู้ทั่วถึง
เวทนาด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงสุข หายใจเข้าหายใจออก ก็เป็นอุปปัฏฐานคือที่ตั้งของจิต
สติก็เป็นอนุปัสสนาญาณ ญาณความหยั่งรู้ ด้วยพิจารณาตามรู้ตามเห็น
เวทนาเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นตัวสติ
ส่วนสติเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ตั้งหรือเป็นความตั้งขึ้น และเป็นตัวสติด้วย
เวทนานั้นจึงเป็นอันรู้เห็น หรือรู้จักด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
พิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
ฉะนั้น จึงเป็นสติปัฏฐานภาวนา
อบรมสติปัฏฐานข้อตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายดั่งนี้
นี้เป็นอธิบายแห่งอานาปานสติในขั้นเวทนานุปัสสนาเป็นชั้นที่ ๒
ที่ตรัสเอาไว้ว่าศึกษาว่าเราจักตามรู้ตามเห็น จักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจออก ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
๖
ธาตุกรรมฐาน (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ธาตุปัพพะ ๒
สัตตสัญญา อัตตสัญญา ๓
ข้อว่าธาตุทางกรรมฐาน ๔
ปริเฉทรูป ๖
มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๖ ๗
ตัวตนเป็นสภาวะธรรม ๘
พิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๒/๑ ( File Tape 149 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ธาตุกรรมฐาน (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติในกรรมฐาน ให้ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
อันเป็นสติปัฏฐาน ตั้งต้นแต่ข้อกาย ให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
อันเป็นข้ออานาปานปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออก
ให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔ อันเป็นข้ออิริยาปถปัพพะข้อว่าด้วยอิริยาบถ
ให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถประกอบทั้งหลาย
อันเป็นสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะในอิริยาบถประกอบทั้งปวง
ตรัสปฏิกูลปัพพะข้อว่าด้วยปฏิกูล หรือกายคตาสติ สติที่ไปในกาย
ธาตุปัพพะ
ต่อจากนั้นจึงตรัสธาตุปัพพะข้อว่าด้วยธาตุ
คือตรัสสอนให้พิจารณาว่า กายนี้ประกอบด้วยธาตุต่างๆ
๒
คือ ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม
คือพิจารณาแยกกายนี้ออกไปเป็นธาตุต่างๆทั้ง ๔
ซึ่งมีอุปมาเหมือนอย่างคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโค ฆ่าแม่โคแล้วก็ชำแหละเนื้อขาย
แม่โคนั้นก่อนแต่ฆ่าก็เป็นแม่โคที่มีชีวิต มีร่างกายที่มีชีวิต
ครั้นถูกฆ่าแล้วก็มีร่างกายที่ไร้ชีวิต แต่ว่าก็ยังมีร่างกายคุมกันอยู่เป็นร่างของโค
แต่เมื่อชำแหละเนื้อขาย ชำแหละไปๆ รูปร่างที่มีลักษณะเป็นโคก็หายไป
กลายเป็นชิ้นเนื้อแต่ละชิ้น ประกอบด้วยโครงกระดูก
สัตตสัญญา อัตตสัญญา
ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน
เมื่อคุมกันอยู่เป็นร่างกายนี้สมบูรณ์ จึงเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา
เป็น สัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล
เป็น อัตตสัญญา สำคัญหมายว่าเป็นตัวตนเราเขา
เช่นเดียวกับขันธ์ ๕ ที่คุมกันอยู่ก็เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา
จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ มีอัตตสัญญา สัตตสัญญา
ความสำคัญหมายว่าตัวตนเราเขา หรือว่าสัตว์บุคคล
( เริ่ม ๑๙๒/๑ ) หรือว่ารวมเรียกกันว่ามีความสำคัญหมาย อันเป็นความยึดถือ
ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภบ้างกองโกรธบ้างกองหลงบ้าง
และเป็นที่ตั้งของความสงสัยลังเลใจต่างๆ เพราะว่าเมื่อมีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
ก็ย่อมมีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ว่าเราเขาในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ในอดีตที่ล่วงมาแล้วเป็นอย่างไร ในอนาคตเป็นอย่างไร
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ ให้มาหัดพิจารณากายอันนี้ที่รวมกันอยู่ดังกล่าว
ประกอบด้วยอาการต่างๆ พิจารณาแยกเป็นธาตุออกไป
๓
ว่าอันที่จริงนั้นประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาประกอบกันเข้า
และคำว่าธาตุในที่นี้ก็มีความหมายถึงสภาพหรือลักษณะอันเป็นที่รวม
กล่าวคือในกายอันนี้ส่วนที่แข้นแข็งก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ
ส่วนที่พัดไหวเคลื่อนไปได้ก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
ข้อว่าธาตุทางกรรมฐาน
ลักษณะหรือภาวะหรือสภาพอันเป็นที่รวมดั่งนี้เรียกว่าธาตุในที่นี้
และเมื่อธาตุมารวมกันเข้าก็เป็นสังขาร คือส่วนประสมปรุงแต่ง
ดั่งเป็นกายอันนี้ของทุกๆคน และแม้กายของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
และแม้ว่าทุกๆอย่างในโลกนี้ เช่นต้นไม้ภูเขาทั้งปวง แม่น้ำลำธารทั้งปวง
ที่เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา ก็ล้วนประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลายทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ทุกๆอย่างจึงสามารถแยกธาตุออกไปได้
แต่ว่าธาตุทางกรรมฐานนี้กำหนดแยกออกไปตามลักษณะดังกล่าว
เพราะสามารถพิจารณาได้
และก็ได้มีตรัสอธิบายไว้ในพระสูตรอื่น
ยกตัวอย่างขึ้นมาว่าธาตุทั้ง ๔ แต่ละธาตุนั้นมีอะไรบ้างในร่างกายอันนี้
ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นดิน มีลักษณะเอิบอาบเหลวไหลเป็นน้ำ
มีลักษณะอบอุ่นเป็นไฟ มีลักษณะพัดไหวเป็นลม
ในข้อกายคตาสติ สติที่ไปในกาย หรือในข้อปฏิกูลปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูล
ที่ตรัสให้พิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ นั้น ก็สรุปเข้าได้เป็น ๒ ธาตุ
คือเป็นธาตุดินซึ่งมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุน้ำซึ่งมีลักษณะเอิบอาบเหลวไหล
ฉะนั้น ในหมวดที่ว่าด้วยธาตุนี้ จึงจะได้ชักเอามาให้ครบทั้ง ๔ อีกครั้งหนึ่ง
๔
ปฐวีธาตุ ธาตุดินนั้น ที่เป็นภายในมีอยู่ในกายนี้ ที่มีผู้ครองคือยังมีชีวิตก็ได้แก่
เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก
อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม
ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า
เป็น ๑๙ และในบางพระสูตรได้เติม มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะเข้าอีก ๑ ก็เป็น ๒๐
ส่วนเหล่านี้ที่เป็นภายใน คือมีอยู่ในกายอันนี้ดั่งที่กล่าวมา หรือว่าส่วนอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้
ที่มีอยู่ในภายใน ก็รวมเรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดินทั้งหมด
อาโปธาตุ ธาตุน้ำนั้นที่เป็นภายในคือมีอยู่ในกายอันนี้ ก็ได้แก่
ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด
เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก
ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร รวมเป็น ๑๒ หรือแม้ส่วนอื่นจากที่กล่าวมานี้ที่มีอยู่ในภายใน
คือในกายอันนี้ ก็รวมเรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำทั้งหมด
เตโชธาตุ ธาตุไฟนั้นก็ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ร้อน อันมีอยู่ในกายนี้ได้แก่
ไฟที่ทำให้อบอุ่น ไฟที่ทำให้ทรุดโทรม ไฟที่ทำให้เร่าร้อน ไฟที่ย่อยอาหาร
ที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไปแล้ว รวมเป็น ๔ และไฟอื่นๆที่มีอยู่ภายในนอกจากนี้
ก็รวมเรียกว่าเป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ
วาโยธาตุ ธาตุลมนั้นก็ได้แก่สิ่งที่พัดไหวที่มีอยู่ในกายนี้ อันได้แก่
ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้
ลมที่พัดไปทั่วสารพางค์กายลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
และลมอื่นๆบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ก็รวมเรียกว่าเป็นวาโยธาตุ ธาตุลม
ในพระสูตรอื่นได้ตรัสเพิ่มอีก ๑ ธาตุ คืออากาสธาตุ ธาตุอากาศ
ได้แก่ส่วนที่มีลักษณะเป็นช่องว่างบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก
๕
ช่องคอที่กลืนอาหารลงไป ช่องที่บรรจุอาหารไว้ในท้อง
และช่องที่ถ่ายอาหารเก่าออกไปในภายนอก กับช่องอื่นๆในภายในกายอันนี้
บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ก็รวมเรียกว่าอากาสธาตุ ธาตุอากาศ
ปริเฉทรูป
อันอากาสธาตุ ธาตุอากาศนี้ไม่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรทั่วไป
เช่นในสติปัฏฐานสูตรนี้ก็ไม่ได้ตรัสอากาสธาตุไว้
เพราะว่าช่องว่างนี้ไม่มีอะไร แต่ว่าดินน้ำไฟลมมีภาวะที่ปรากฏเป็นที่กำหนดได้
แต่ว่าอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่างนี้ไม่มีอะไร
แต่ว่าก็มีอยู่ในกายอันนี้เป็นอันมาก
แม้แต่ไม่มีอะไรก็มีลักษณะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ปริเฉทรูป รูปเป็นที่กำหนด
ทำให้กำหนดได้ดั่งเช่น อวัยวะของคนที่เป็นภายนอก ยกตัวอย่างเช่นเกสาผม
ซึ่งมีอยู่เป็นอันมากบนศรีษะ เป็นเส้นๆไม่ติดกันแต่รวมกันอยู่
ลักษณะที่ผมเป็นเส้นๆนั้นก็เพราะว่ามีอากาสคือช่องว่างอยู่ในระหว่างๆ
จึงทำให้ผมเป็นเส้นๆ ถ้าหากว่าไม่มีอากาสคือช่องว่างในระหว่างแล้ว
เส้นผมก็จะติดกันเป็นผืนเดียวกัน เป็นอันเดียวกันทั้งหมด
นิ้วมือทั้ง ๕ นิ้วที่แยกเป็น ๕ นิ้ว ก็เพราะมีอากาสคือช่องว่างแยกกัน จึงเป็น ๕ นิ้ว
ถ้าไม่มีอากาสคือช่องว่างแยกกันแล้วก็จะรวมกันเป็นอันเดียวทั้งหมดแยกไม่ออก
แม้ว่าอวัยวะในภายในเช่นตับปอดหัวใจลำไส้ก็มีอากาสคือช่องว่างในระหว่างๆกัน
จึงแยกออกจากกันได้ ว่านี่เป็นหัวใจ นี่เป็นตับ นี่เป็นปอด นี่เป็นลำไส้
ถ้าหากว่าไม่มีอากาสคือช่องว่างในระหว่าง ก็จะติดกันเป็นพืดเดียวกันหมด
ฉะนั้น จึงเรียกว่าปริเฉทรูป รูปเป็นที่กำหนด หรือเป็นเครื่องกำหนด
ทำให้กำหนดได้ว่า อันนี้เป็นอันนี้ อันนั้นเป็นอันนั้น ดั่งที่กล่าวมาแล้ว
๖
และที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่างว่าช่องหูช่องจมูกเป็นต้น
ถ้าไม่มีช่องหูไม่มีช่องจมูก ก็รับเสียงไม่ได้ หายใจไม่ได้
ไม่มีช่องปากก็อ้าปากไม่ได้ ไม่มีช่องคอก็กลืนอาหารลงไปไม่ได้
ไม่มีช่องเก็บอาหารในท้องคือกะเพาะอาหาร อาหารก็ลงไปเก็บไม่ได้
ไม่มีช่องสำหรับถ่ายลงไปในภายล่างภายนอก ในตอนล่างภายนอกก็ถ่ายไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีช่อง นอกจากนี้ตามตัวของคนเราเรียกว่ามีช่องอยู่ทุกเส้นขน
ฉะนั้น นักปราชญ์ในปัจจุบันนี้จึงได้แสดงไว้ว่า ร่างกายของคนเราทั้งคนที่ใหญ่โตนี้
เพราะมีช่องว่างอยู่มาก ถ้าหากว่าจะยุบรวมกันเข้าไม่ให้มีช่องว่างทั้งหมด
ร่างกายอันนี้จะเหลือเล็กนิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่างนี้
จึงยกขึ้นเป็นธาตุอันหนึ่ง เพราะมีความสำคัญอยู่ในร่างกายของคนทุกคน
และมารวมกันเข้าแล้วทั้งอากาสธาตุก็เป็นธาตุ ๕
มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๖
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในพระสูตรหนึ่งว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖
คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดินส่วนที่แข้นแข็ง อาโปธาตุ ธาตุน้ำส่วนที่เอิบอาบเหลวไหล
เตโชธาตุ ธาตุไฟส่วนที่อบอุ่น วาโยธาตุ ธาตุลมส่วนที่พัดไหว
อากาสธาตุ ธาตุอากาศส่วนที่เป็นช่องว่าง และ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ จึงรวมเป็นบุคคล
และ ๕ ข้อข้างต้นคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ
เป็นส่วนกายไม่มีความรู้ในตัวเอง แต่วิญญาณธาตุ ธาตุรู้เป็นส่วนจิตมีความรู้ในตัว
คนเราจึงประกอบด้วยธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัวอันเป็นกาย
ประกอบด้วยธาตุที่มีความรู้ในตัวคือจิต จึงเป็นกายและจิต
และเมื่อกายและจิตนี้ยังมีชีวิตอยู่ ก็คือกายจิตนี้อาศัยกันอยู่
แต่เมื่อเกิดมาก็มีธาตุ ๖ มีกายมีจิต และเติบโตขึ้น แก่เจ็บตายไป
๗
ธาตุเหล่านี้ก็แตกสลาย ธาตุที่เป็นส่วนกายก็แตกสลายไป
ธาตุที่เป็นส่วนจิตก็เป็นวิญญาณที่ออกไป ถือภพชาติใหม่ต่อไปตามกรรมที่ได้กระทำเอาไว้
และเมื่อมาถือภพชาติเป็นมนุษย์เป็นต้น ก็มาประกอบเป็นธาตุ ๖ ดังกล่าวนี้อีก
ตัวตนเป็นสภาวะธรรม
เพราะเหตุที่ธาตุที่รวมกันอยู่เป็นกายนี้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เกิดดับดังกล่าว
จึงมิใช่ตน มิใช่เป็นของตนตามที่ยึดถือ เป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติว่าเป็นตัวเราของเราเท่านั้น
ซึ่งทางพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นสมมติสัจจะ สัจจะโดยสมมติ เป็นความจริงอย่างหนึ่ง
แต่โดยปรมัตถสัจจะความจริงโดยปรมัตถ์คืออย่างยิ่งแล้ว ไม่มีตัวเราไม่มีของเรา
เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นสภาวะธรรม
เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ธาตุดินน้ำไฟลมที่เป็นภายในก็ดี
ที่มีอยู่ในกายอันนี้ จะเป็นกายของมนุษย์ เป็นกายของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม
และธาตุทั้ง ๔ นี้ที่เป็นภายนอก เช่นเป็นแม่น้ำต้นไม้ภูเขาเป็นต้น
บรรดาที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่พึงพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง
ว่า เอตังมะมะ นี่ไม่ใช่ของเรา เอโสหะมัสมิ เราไม่เป็นสิ่งนี้
เอโสเมอัตตา นี่ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา
คือว่า นี่ ก็คือว่าธาตุดินน้ำไฟลมนี้ไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นสิ่งนี้ก็คือว่าเราไม่ได้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม
ธาตุดินน้ำไฟลมนี้ไม่เป็นอัตตาตัวตนของเรา พูดกันสั้นๆว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา
เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น เป็นธรรมชาติธรรมดาที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของตน
แล้วก็ต้องแตกสลายไปตามธรรมดา ถ้าเป็นตัวเราของเราแล้วก็จะต้องตั้งอยู่ดำรงอยู่
ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่แตกสลาย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่
๘
และเพราะเราไปยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
ด้วยตัณหาด้วยอุปาทาน ด้วยอวิชชาคือความไม่รู้
เราซึ่งเป็นผู้ยึดถือ หรือเราซึ่งเป็นตัวตัณหาอุปาทาน เป็นตัวอวิชชาคือความไม่รู้นี้
จึงต้องเป็นทุกข์ต่างๆ ต้องเดือดร้อนไม่สบายกายไม่สบายใจ
ต้องโศก ต้องร้องไห้คร่ำครวญต่างๆ เพราะไปยึดเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา
ครั้นสิ่งที่ยึดถือนั้นต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็จึงต้องโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์เดือดร้อน
พิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุ
เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ
สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน สักแต่ว่าเป็นธาตุน้ำ สักแต่ว่าเป็นธาตุไฟ สักแต่ว่าเป็นธาตุลม
สักแต่ว่าเป็นธาตุอากาศ มารวมกันเข้า ชั่วระยะเวลาอันหนึ่งแล้วก็ต้องแตกสลายเท่านั้น
เป็นไปตามกรรม เป็นไปตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นการพิจารณาแยกธาตุดังกล่าวมานี้
จึงเป็นประโยชน์ในด้านที่จะรำงับความหลงยึดถือว่าตัวเราของเรา
ในกายและในทุกๆสิ่งอันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้ หรือประกอบด้วยธาตุทั้ง ๕ นี้
ฉะนั้น ข้อธาตุปัพพะ อันข้อที่ว่าด้วยธาตุนี้จึงเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง
และเมื่อสามารถปฏิบัติพิจารณาแยกธาตุออกไป จนปล่อยวางความยึดถือว่าตัวเราของเราได้ ก็ย่อมจะตัดวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัย อันสืบเนื่องมาจากตัวเราของเราได้
เพราะฉะนั้นจึงได้มีแสดงว่าในการที่จะละ นิวรณ์ข้อวิจิกิจฉาอันเป็นข้อที่ ๕
ให้ปฏิบัติพิจารณาธาตุกรรมฐาน ด้วยกรรมฐานที่พิจารณาแยกธาตุในข้อธาตุปัพพะนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*