ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:50
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป148
อิริยาปถปัพพะ
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๑
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อิริยาบถเกิดจากวาโยธาตุ ๓
ข้อปฏิบัติในอิริยาปถปัพพะ ๔
เวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น ๔
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๑ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๐/๒ ( File Tape 148 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อิริยาปถปัพพะ
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๑
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔
มีสติปัฏฐานตั้งสติพิจารณากายเป็นต้น และในข้อกายนี้
ได้ทรงยกแสดงอานาปานปัพพะ คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นข้อแรก
และต่อจากข้อแรก ก็ได้ตรัสอิริยาปถปัพพะข้อว่าด้วยอิริยาบถ
ได้ตรัสสอนไว้ว่า เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน
เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน
ตามที่ตรัสสอนไว้นี้มีอธิบายไว้ว่า คำว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน
ไม่ได้หมายความถึงตัวเราที่ยึดถือกันอยู่ว่าตัวเรานี้ ซึ่งเป็นคำเพียงสมมติบัญญัติ
พูดกันให้เข้าใจเท่านั้น และไม่ให้หมายความในด้านความยึดถือว่าตัวเราเดินยืนนั่งนอน
เพราะเมื่อยึดถือว่าตัวเราก็ไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา การปฏิบัติอบรมสติปัฏฐาน
๒
จึงต้องมีความเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ นี้เอง หรือกล่าวโดยเฉพาะรูปขันธ์
คือกองแห่งธาตุดินน้ำไฟลมนี้เองที่มาประชุมกัน
และเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราตัวเขานี้ เป็นสิ่งที่เดินยืนนั่งนอน
อิริยาบถเกิดจากวาโยธาตุ
และกิริยาที่ทำให้เกิดอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนนี้ก็คือวาโยธาตุธาตุลม
ซึ่งกิริยาเดินยืนนั่งนอนเกิดจากวาโยธาตุธาตุลม
ซึ่งธาตุลมนี้เองก็ทำให้เกิด วิญญัติ คือความเคลื่อนไหว เช่นกายที่ก้าวไปก็เป็นเดิน
เมื่อเป็นการน้อมกายส่วนล่างลง และตั้งกายส่วนบนให้ตรงก็เป็นการนั่ง
เมื่อทรงกายให้หยุดอยู่เฉยๆก็เป็นยืน เมื่อทอดกายลงไปก็เป็นนอน ซึ่งเกิดจากวาโยธาตุ
เปรียบเหมือนอย่างเรือใบที่แล่นไปด้วยลม โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ
กายอันนี้ก็ฉันนั้นมีวาโยธาตุที่เกิดจากการกระทำของจิต ซึ่งเป็นผู้ก่อเจตนาคือความจงใจ
เครื่องบนคือกายอันนี้จึงอาศัยวาโยธาตุธาตุลมเคลื่อนไหว หรือกระทำอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน
โดยมีจิตเป็นสายชัก เหมือนอย่างเครื่องยนต์ที่เคลื่อนไหวก็มีสายชักนั่นเอง
อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนอย่างเกวียนที่ดำเนินไป
อันที่จริงนั้นความดำเนินไปของเกวียนก็อาศัยโคเทียม
และดึงหรือลากเกวียนไป โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ หรือเป็นผู้ควบคุม
กายอันนี้ก็เหมือนอย่างเกวียน คือลำพังเกวียนเองนั้นไปเองไม่ได้ ต้องอาศัยโคจูงไปลากไป
กายอันนี้ลำพังกายเองก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยวาโยธาตุธาตุลมเคลื่อนไหวไป
เป็นเดินยืนนั่งนอน โดยมีจิตเป็นผู้ควบคุม
เหมือนอย่างเกวียนที่มีโคลากไป โดยมีคนขับเกวียนเป็นผู้ควบคุม ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น จึงให้พิจารณาในทางปฏิบัติสติปัฏฐาน
ให้มีความรู้ในอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน ดั่งนี้
๓
เมื่อเดินก็รู้ว่ากายนี้มีวาโยธาตุดำเนินไป ให้เดิน อันเนื่องมาจากจิตที่ก่อเจตนาความจงใจ
ซึ่งให้ภาษาสมมติบัญญัติว่าเราเดิน ยืนนั่งนอนก็เช่นเดียวกัน ใช้สมมติบัญญัติว่ายืนนั่งนอน
แต่ให้รู้ซึ้งเข้าไปว่าอันที่จริงนั้นคือกายอันนี้มีวาโยธาตุนั้นเองนำไป
ให้เดินให้ยืนให้นั่งให้นอนโดยการกระทำของจิต เหมือนอย่างโคที่ลากเกวียนไป
โดยการกระทำของคนขับเกวียนควบคุม พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้
ข้อปฏิบัติในอิริยาปถปัพพะ
และความรู้ว่าเราเดินยืนนั่งนอนนั้น ก็เป็นสติความระลึกได้
สัมปชัญญะความรู้ตัว และเป็นญาณคือความหยั่งรู้
หยั่งรู้ตลอดจนถึงว่ากายที่เดินยืนนั่งนอนนั้นเป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์
ตัณหาที่มีนัยก่อนอันเป็นเหตุสืบเนื่องมาถึงการปฏิบัติทำสติในการปฏิบัติสติปัฏฐาน
เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ความสละหรือดับตัณหา ดับทุกข์ นี่เป็นนิโรธ
มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
กล่าวโดยเฉพาะก็คือสติสัมปชัญญะและญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็เป็นมรรค
เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และเมื่อมีสติความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัว
มีญาณคือความหยั่งรู้ในอิริยาบถทั้ง ๔ ที่รวมเข้าในคำว่าอาการ
ที่เป็นไปของกายโดยประการใดๆ ก็รู้ประการนั้นๆทั้งหมด ดั่งนี้
ก็เป็นการปฏิบัติในข้ออิริยาปถปัพพะคือข้อที่ว่าด้วยอิริยาบถนี้
เวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น
อนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้ออานาปานปัพพะ
คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออกไว้ในหมวดกายนี้เป็น ๔ ชั้น
๔
และยังได้ตรัสในข้อลมหายใจเข้าออกนี้สืบต่อไปในสติปัฏฐาน
หมวดเวทนานุปัสสนา ( เริ่ม ๑๙๐/๒ ) พิจารณาเวทนาอีก ๔ ชั้น
อันหมายความว่า การปฏิบัติยกเอาลมหายใจเข้าออกขึ้นมาเป็นอารมณ์
เป็นหมวดกายานุปัสสนา พิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย ๔ ชั้น
และคงอาศัยลมหายใจเข้าออกนี้เอง
เป็นอารมณ์สืบต่อในข้อเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอีก ๔ ชั้น
คือใช้อานาปานปัพพะนั้นเองสืบต่อขึ้นไปเป็นขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ดังที่ได้ตรัสสอนไว้ว่าผู้ปฏิบัติมีภิกษุเป็นต้น
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติความอิ่มใจ หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติความอิ่มใจ หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขความสบายกายสบายใจ หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขความสบายกายสบายใจ หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตสังขารคือสัญญาเวทนา หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจออก
ดั่งนี้ เป็น ๔ ชั้นเช่นเดียวกัน
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๑
สำหรับในข้อแรก ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจ หายใจเข้าหายใจออกนั้น
ปีติก็คือความอิ่มใจ ปราโมทย์ก็คือความบันเทิงใจ ความบันเทิงใจทั่ว
ความรื่นเริงใจ ความรื่นเริงใจทั่ว ความที่จิตมีปีติโสมนัสแอบแนบเบิกบาน นี้คือปีติ
และได้มีแสดงสอนไว้ว่า เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตาคือมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้ายาว ด้วยสามารถแห่งหายใจออกยาว
๕
ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้าสั้น ด้วยสามารถแห่งหายใจออกสั้น
ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก
ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ หายใจเข้า
ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ
หายใจออก ดั่งนี้ ปีติก็เป็นอันกำหนดรู้ หรือรู้จำเพาะ
และเมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น
ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก
ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย
คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ หายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้
สติย่อมตั้งมั่น ปีตินั้นย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้ว รู้จำเพาะแล้วด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
อนึ่ง เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธา
เมื่อประคองความเพียร เมื่อทำสติให้ตั้งมั่น เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อรู้ด้วยปัญญา
เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่พึงรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่พึงกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่ควรละ
เมื่ออบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น ซึ่งธรรมะที่ควรอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
เมื่อกระทำให้แจ้งธรรมะที่พึงกระทำให้แจ้ง
เวทนา ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจ หายใจเข้าหายใจออก
ก็เป็นอุปปัฏฐานคือเป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่ปรากฏของจิต
สติ ก็เป็นอนุปัสสนาญาณคือความรู้ที่ตามรู้ตามเห็น
เวทนาเป็นอุปปัฏฐานคือเป็นที่ตั้งของจิตสำหรับกำหนด
เป็นที่ปรากฏโดยเป็นอารมณ์สำหรับกำหนด แต่ไม่ใช่สติ
สติย่อมเป็นสติด้วย เป็นอุปปัฏฐานคือเป็นความปรากฏด้วย
ตามดู พิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
๖
ก็เป็นสติปัฏฐานภาวนาในข้อเวทนานุปัสสนา พิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
มีอธิบายเป็นข้อสำคัญไว้ต่างๆ ดั่งนี้
เมื่อปฏิบัติตามนัยนี้ก็ชื่อว่า
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจหายใจเข้าหายใจออกดั่งนี้
นับว่าเป็นข้ออานาปานสติ ที่ตั้งต้นแต่ในหมวดกาย ๔ ชั้น มาเข้าหมวดเวทนา
คือสูงขึ้นมาเข้าหมวดเวทนา อันนับว่าเป็นชั้นที่ ๕ ต่อจากหมวดกาย
แต่นับว่าเป็นชั้นที่ ๑ ในหมวดเวทนา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมปชัญญะปัพพะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สัมปชัญญะ ๔ ๓
วิญญัติคือความเคลื่อนไหว ๕
เกิดดับในอิริยาบถอย่างละเอียด ๖
คำสอนเพื่อฝึกปฏิบัติ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๑/๑ ( File Tape 148 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมปชัญญะปัพพะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสอานาปานปัพพะ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก
อิริยาปถปัพพะ ข้อว่าด้วยอิริยาบถ
แล้วก็ตรัสสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะคือความรู้ตัว
ซึ่งมีใจความว่า ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานทำสัมปชัญญะความรู้ตัว
ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลัง
ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวใจการแลไปข้างหน้า ในการเหลียวข้างซ้ายข้างขวา
ทำความสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการคู้อวัยวะเข้ามา ในการเหยียดอวัยวะออกไป
ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการทรงสังฆาติ บาตร จีวร
ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และในความนิ่ง ดั่งนี้
๒
สัมปชัญญะ ๔
คำว่าสัมปชัญญะนั้นแปลกันว่าความรู้ตัว คู่กับสติความระลึกได้
ดังที่แสดงในธรรมะมีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัว
ได้มีการแสดงสัมปชัญญะไว้เป็น ๔ ข้อ คือ
๑ สาตถกะสัมปชัญญะ สัมปชัญญะความรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์
๒ สัปปายะสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่เป็นสัปปายะคือสบาย
๓ โคจระสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในโคจรคือที่เที่ยวไป
หรืออารมณ์ของใจ ซึ่งเป็นที่เที่ยวไปของใจ
๔ อสัมโมหะสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวในความไม่หลง
ข้อแรก สาตถกะสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์
ยกตัวอย่างเช่น เกิดความคิดว่าจะก้าวไปข้างหน้า หรือจะเดินไป
ก็ให้มีความรู้ด้วยว่าที่ๆจะไปนั้น หรือการที่จะไปนั้น มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
เมื่อเป็นการไปที่มีประโยชน์ เช่นการไปฟังอบรมกรรมฐาน ปฏิบัติกรรมฐาน
การไปเพื่อฟังธรรม หรือการไปเพื่อประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ต่างๆในทางดำรงชีวิต
เมื่อรู้ว่าเป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์จึงไป แต่เมื่อไม่เป็นประโยชน์ไม่มีประโยชน์
เช่นคิดไปเล่นการพนัน หรือการไปประกอบกรรมชั่ว มีฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลักทรัพย์เป็นต้น
หรือแม้การไปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าให้เกิดโทษดั่งนี้ก็เว้นเสียไม่ไป
ดั่งนี้เรียกว่าสาตถกะสัมปชัญญะรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์
ข้อว่า สัปปายะสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นสัปปายะคือสิ่งที่สบาย
ก็คือรู้ว่าการไปนั้นเป็นสัปปายะคือเป็นสบาย ไม่มีอันตรายต่างๆ ดั่งนี้ก็ไป
เมื่อรู้ว่าเป็นอสัปปายะ คือไม่เป็นสบาย หรือไม่สบายเช่นมีอันตรายต่างๆก็ไม่ไป
แม้ว่ามุ่งจะไปทำประโยชน์ก็ตาม หรือมุ่งจะไปรับประโยชน์ก็ตาม
แต่เมื่อเป็นอสัปปายะคือไม่เป็นสบาย เช่นจะเกิดเป็นอันตรายต่างๆ ก็งดเสียไม่ไป
๓
ต่อเมื่อเป็นสบายไม่มีอันตรายต่างๆจึงไป
และยังมีความหมายในทางจิตใจอีกด้วย เช่น ในการไปที่ใดที่หนึ่งเป็นต้น
จะต้องไปพบกับอารมณ์ หรือสิ่งที่จะยั่วยวนให้เกิดราคะความติดใจยินดี
โลภะความโลภอยากได้ ให้เกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่ง หรือโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง
ให้เกิดโมหะคือความหลง ที่เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นอสัปปายะคือไม่เป็นสบาย
แต่ว่าถ้าเป็นที่ๆส่งเสริมให้เกิดความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ให้เกิดเมตตากรุณา
ให้เกิดบุญกุศลต่างๆ ที่นั้นก็นับว่าเป็นสบาย ( เริ่ม ๑๙๑/๑ ) ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจในทางดี
นี้ก็เป็นอธิบายในข้อสัปปายะสัมปชัญญะ
ข้อต่อไป โคจระสัมปชัญะ รู้ตัวในในโคจร คือที่เที่ยวไปของกาย
และในอารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิต โคจรคือที่เที่ยวไปของกายที่มีประโยชน์
และเป็นสบายดังกล่าวมาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นโคจระสัมปชัญญะได้
ส่วนอารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิตนั้น ก็หมายถึงว่าอารมณ์นั้นมี ๒ อย่าง
คืออารมณ์ที่เป็นที่ตั้งหรือนำให้เกิดโลภโกรธหลง
กับอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน อันเป็นเครื่องดับโลภโกรธหลง อารมณ์จึงมี ๒ อย่าง
อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโลภโกรธหลงนั้นไม่ควรดำเนินไป ไม่ควรรับเข้ามาไว้
เพราะจะก่อให้เกิดโลภโกรธหลง ก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ
แต่อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกุศลต่างๆเป็นเครื่องดับโลภโกรธหลง
เช่นอารมณ์ของกรรมฐาน ทั้งสมถะกรรมฐาน กรรมฐานเป็นเหตุให้ใจสงบ
ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
เป็นอารมณ์ที่ควรรับเข้ามา ควรไปสู่
ได้มีเรื่องแสดงถึงภิกษุโดยเฉพาะไว้ก็มี เช่น ที่มีแสดงถึงว่า
ภิกษุผู้บวชปฏิบัติเพื่อสิ้นกิเลสและกองทุกข์ โดยปรกติก็ย่อมอยู่กับอารมณ์ของกรรมฐาน
ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือเดินยืนนั่งนอน และแม้ว่าเมื่อเข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน
จำพวกหนึ่งก็นำไปและนำกลับ นำไปก็คือไปกับกรรมฐาน นำกลับก็คือกลับกับกรรมฐาน
๔
จำพวกหนึ่งนำกลับแต่ไม่นำไป ก็คือว่ากลับกับกรรมฐาน แต่เมื่อไปนั้นไม่ไปกับกรรมฐาน
จำพวกหนึ่งไม่นำไปไม่นำกลับ ก็คือไปก็ไม่ไปกับกรรมฐาน กลับก็ไม่กลับกับกรรมฐาน
จำพวกหนึ่งทั้งนำไปทั้งนำกลับ ก็คือว่าไปกับกรรมฐาน แล้วก็นำกรรมฐานกลับมาด้วย
ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับพวกที่ ๑
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในกรรมฐานจึงควรปฏิบัติ แม้ในการเที่ยวไปบิณฑบาตดังกล่าว
แต่ถ้าหากว่าจิตไม่มีกรรมฐาน ก็เป็นจิตที่ว้าเหว่ไม่มีหลักของใจ
แม้ผู้ปฏิบัติธรรมะทั่วไปที่ไม่ใช่ภิกษุก็ควรจะอยู่กับกรรมฐานตามสมควร
ดังเช่นมาฟังอบรมกรรมฐาน และปฏิบัติกรรมฐาน
อีกข้อหนึ่ง อสัมโมหะสัมปชัญญะ รู้ตัวในความไม่หลง หรือด้วยความไม่หลง
ซึ่งมีอธิบายว่าในข้อสัมปชัญญะปัพพะข้อว่าด้วยสัมปชัญญะนี้
ก็คือการทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลังเป็นต้น ดังที่ตรัสสอนไว้นั้น
แม้ในการทำความรู้ตัวนั้น ถ้านึกแล้วเข้าใจว่าตัวเราก้าวไปข้างหน้า ตัวเราถอยไปข้างหลัง
คือยังยึดมั่นอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้ ว่าตัวเราของเรา ดั่งนี้
ก็ยังเป็นโมหะคือความหลง
แต่เมื่อพิจารณาว่ากายกระดูก หรือร่างกระดูกนี้ ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น
หรือว่าธาตุดินน้ำไฟลมที่ประชุมกันอยู่เป็นกายนี้ ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น
จึงจะชื่อว่าไม่หลง อสัมโมหะคือไม่หลง ความรู้ตัวด้วยความไม่หลง
หรือความรู้ตัวด้วยความไม่หลง
วิญญัติคือความเคลื่อนไหว
และนอกจากนี้ก็ยังมีวิธีพิจารณา
เช่นว่าในการก้าวไปข้างหน้านั้น วาโยธาตุ ธาตุลมซึ่งเกิดมาจากจิต
๕
ทำให้เกิด วิญญัติ คือความเคลื่อนไหว ในกิริยาที่ก้าวไป หรือถอยมา
และความรู้ตัวด้วยความไม่หลงนี้ยังอาจพิจารณาให้ละเอียดเข้าอีก
เช่นว่า เมื่อยกเท้าขึ้น ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ อ่อนกำลัง
แต่เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม มีกำลัง
เมื่อวางเท้าลง ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ มีกำลัง
แต่เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม อ่อนกำลัง
เกิดดับในอิริยาบถอย่างละเอียด
และท่านสอนให้ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวด้วยความไม่หลงยิ่งขึ้นไปกว่านี้
คือให้รู้ถึงความเกิดดับของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด
เช่น เมื่อยกเท้าขึ้นก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอันหนึ่งที่เกิดดับ
เมื่อยื่นเท้าออกไปก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอันหนึ่งที่เกิดดับ
เมื่อหย่อนเท้าลงก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดดับ
และเมื่อจรดเท้าลงกับพื้นก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดดับ
เพราะฉะนั้น จึงพิจารณาให้เห็นความเกิดดับในความเคลื่อนไหวอิริยาบถทุกๆระยะดั่งนี้
ก็นับเข้าเป็นอสัมโมหะสัมปชัญญะความรู้ตัวด้วยความไม่หลง อยู่ในความไม่หลง
คำสอนเพื่อฝึกปฏิบัติ
แต่ก็พึงเข้าใจว่า คำสอนต่างๆเหล่านี้สำหรับฝึกหัดปฏิบัติด้วยตนเอง
เช่น ในขณะที่เดินไปเดินมาในเวลาจงกรม ไม่ใช่ประกอบธุระกิจการงานอย่างอื่น
จึงมีช่วงเวลาและสถานที่ที่จะหัดกำหนดทำสัมปชัญญะ
พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งญาณคือความหยั่งรู้ได้
แต่เมื่อจะไปไหนมาไหนในขณะปฏิบัติธุระกิจนั้น จะพิจารณาดั่งนี้ก็ย่อมไม่ทัน
แต่ว่าผู้ที่หัด ฝึกหัดปฏิบัติจนมีความชำนาญแล้ว ก็อาจจะมีความรู้ทัน
๖
ว่ารูปธรรมอรูปธรรม หรือนามรูปอันนี้เกิดขึ้นดับไปอยู่ทุกระยะ
สัมปชัญญะทั้ง ๔ ประการนี้ คือสาตถกะสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นประโยชน์
สัปปายะสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นสบาย
โคจระสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่ในโคจรคือที่เที่ยวไปของร่างกายและจิตใจ
และอสัมโมหะสัมปชัญญะ รู้ตัวในอสัมโมหะคือความไม่หลง หรือด้วยความไม่หลง
จึงเป็นข้อที่ควรจะศึกษาทำความเข้าใจ และถึงขั้นปฏิบัติในข้อสัมปชัญญะนี้
และแม้ในข้อสัมปชัญญะนี้ก็สรุปเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้
กายคือธาตุทั้ง ๔ ที่ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น
เป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์
ตัณหาที่มีอยู่ในก่อนที่เป็นเหตุให้กระทำสติสัมปชัญญะเป็นสติปัฏฐาน
เป็นสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
ไม่เกิดทุกข์ไม่เกิดตัณหา คือดับทุกข์ดับตัณหา
จึงเป็นนิโรธสัจจะ สภาพที่จริงคือนิโรธความดับทุกข์
มรรคมีองค์ ๘ หรือยกเอาเพียงข้อสติสัมปชัญญะ
สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว พร้อมทั้งญาณคือความหยั่งรู้
แม้ในข้อที่ตรัสสอนในปัพพะคือในข้อนี้ คือแม้สัมปชัญญะทั้ง ๔ ประการดังกล่าว
เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*