ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:48
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป146
อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๑
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อานาปานสติ ๔ ชั้น ๓
อานาปานสติชั้นที่ ๑ ๔
กรรมฐานที่ปฏิบัติได้ทุกเวลา ๕
กำหนด ๓ จุด ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๘/๑ ( File Tape 146 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๑
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ เริ่มต้นแต่พระสูตรเบื้องต้นมาแล้ว
จักได้แสดงต่อไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น เราทั้งหลายก็คงจะระลึกกันได้ว่าได้แก่
ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นกาย ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา
ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นจิต ตั้งสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรมะ รวมเป็น ๔ ข้อ
ในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มี อาตาปี ความเพียร
สัมปชาโน ความรู้ตัวความรู้พร้อม หรือสัมปชัญญะ สติมา มีสติ
วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย
ซึ่งท่านอธิบายว่าคือกำจัดความยินดียินร้ายในกายเวทนาจิตธรรมนั้นเอง
อันคำว่า อาตาปี ข้อแรกนั้น แปลว่ามีความเพียรตามความมุ่งหมาย
แต่ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็แปลว่ามีเครื่องเผากิเลส ก็คือมีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสนั้นเอง
เพราะการปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อนั้นต้องการเผากิเลสทั้งนั้น
๒
อันกิเลสนั้นจะเป็นกองโลภก็ตาม กองโกรธก็ตาม กองหลงก็ตาม
หรือเรียกชื่ออย่างอื่นว่าตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องเผาจิตใจทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เพียรเผากิเลสเสีย กิเลสก็ย่อมบังเกิดขึ้นเผาจิตใจของบุคคลนั้นเอง
เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้มีอาตาปะคือความเพียรเผากิเลส
เพราะว่ากิเลสนี้เผาได้ คือทำลายได้ ละได้ ด้วยธรรมปฏิบัติ มีการปฏิบัติในสติปัฏฐานเป็นต้น
พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานธรรมะ สำหรับเป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐานไว้ด้วย
เป็น ๔ ข้อดังกล่าว คือมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชานะความรู้ตัว หรือสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดความยินดียินร้ายในโลก คือในกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้เสีย ดั่งนี้
อานาปานสติ ๔ ชั้น
ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสจำแนกแจกแจงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ไปทีละข้อ
ตั้งต้นแต่ข้อกาย ตรัสเริ่มข้อกายด้วย อานาปานสติภาวนา
คือการปฏิบัติอบรมสติที่เป็นไปในลมหายใจเข้าและออก อันนับว่าเป็นข้อเริ่มต้น
โดยได้ตรัสว่า ภิกษุเข้าไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาด
ตั้งสติ มีหน้าโดยรอบ หรือตั้งสติรอบหน้า หายใจเข้าก็มีสติรู้ หายใจออกก็มีสติรู้
และต่อจากนั้นก็ตรัสวิธีปฏิบัติในอานาปานสตินี้เป็น ๔ ชั้น หรือว่า ๔ ข้อ
ชั้นที่ ๑ หรือข้อที่ ๑ ตรัสสอนว่าภิกษุหรือผู้ปฏิบัติ
หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
ชั้นที่ ๒ หรือข้อที่ ๒
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
ชั้นที่ ๓ หรือข้อที่ ๓
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า
๓
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้จักกายทั้งหมดหายใจออก
ชั้นที่ ๔ หรือข้อที่ ๔
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก ดั่งนี้
วิธีปฏิบัติในอานาปานสติทั้ง ๔ ชั้นนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เอง พระองค์จึงทรงเป็นพระปฐมาจารย์
พระอาจารย์องค์แรกที่ได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติในอานาปานสติไว้
ซึ่งเราทั้งหลายควรจะกำหนดจดจำ และพิจารณาให้มีความเข้าใจ
จึงจะได้แสดงไปโดยลำดับที่ละข้อก่อน
อานาปานสติชั้นที่ ๑
คือชั้นที่ ๑ หรือข้อที่ ๑ ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิ
เมื่อได้ปฏิบัติตามที่ตรัสแนะนำไว้ในเบื้องต้นนั้นแล้ว คือเข้าไปสู่ป่าสู่โคนไม้หรือเรือนว่าง
ซึ่งคำว่าเรือนว่างนี้ก็คือว่าสถานที่ๆแม้จะเป็นบ้านเรือน
แต่ก็เป็นที่สงบจากเสียงทั้งหลายเป็นต้น เช่น จากเสียงคนที่พูดจากกันเอะอะ
แม้ว่าการมานั่งปฏิบัติอยู่ในที่นี้ซึ่งอยู่ด้วยกันมาก แต่จัดไว้สำหรับอบรมฟังกรรมฐาน
และปฏิบัติกรรมฐาน จึงสงเคราะห์เข้าในเรือนว่างได้
แม้ว่าจะมากคนด้วยกัน แต่ก็สงบจากเสียงพูดจากันเป็นต้น
( เริ่ม ๑๘๘/๑ ) เพราะต่างก็มีความสำรวมกายวาจาใจของตนให้เป็นศีล
ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น แม้การเข้ามาสู่สถานที่นี้ก็ชื่อว่าเป็นสถานที่อันสมควร
และก็นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาด หรือว่านั่งพับเพียบตามสะดวก
๔
ตั้งกายตรงคือไม่พิง และไม่ค้อมกาย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติให้มีหน้าโดยรอบ คือรอบหน้า
คือให้มีสติสมบูรณ์นั้นเอง ในการที่จะฟัง และในการที่จะปฏิบัติ
และให้ประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นอุปการะทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น
คือมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชานะความรู้ตัวหรือความรู้พร้อม มีสติ
กำจัดความยินดียินร้ายในโลก เจาะจงเข้ามาก็คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่ปฏิบัตินี้
เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมที่จะทำอานาปานสติสมาธิภาวนา
จึงเริ่มเป็นผู้มีสติคือความระลึกรู้ดังกล่าวรอบคอบ หายใจเข้าหายใจออก
จึงเข้าขั้นที่ ๑ ที่ว่าหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว
หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
กรรมฐานที่ปฏิบัติได้ทุกเวลา
ในตอนนี้ควรทำความเข้าใจประกอบในการปฏิบัติว่า
อันลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้น ทุกคนต้องหายใจกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้
แต่ปรกตินั้นไม่ได้ตั้งสติกำหนดรู้ จึงไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
หากได้ตั้งสติกำหนดเข้ามาดูเข้ามารู้ ก็จะรู้สึกในลมหายใจของตนได้อย่างถนัดชัดเจน
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ยกไว้เป็นกรรมฐาน
เพราะเป็นกรรมฐานที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลาที่ต้องการ
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงสมควรที่จะได้ปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้ในการเริ่มหัดปฏิบัติ
แต่ว่าลมหายใจนั้นเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นเพราะเป็นลม แต่ว่าอาจจะรู้ได้ด้วยสัมผัส
คือในการหายใจนั้นลมหายใจก็มากระทบเป็นสัมผัสที่ริมฝีปากเบื้องบน
หรือปลายกระพุ้งจมูก ทุกคนสังเกตุรู้สึกได้
หายใจเข้าลมหายใจก็จะเข้าไป ผ่านริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายกระพุ้งจมูกเข้าไป
ตามหลักสรีรวิทยาก็แสดงว่าเข้าไปถึงสู่ปอด
๕
กำหนด ๓ จุด
แต่ตามหลักปฏิบัติทางสมาธินี้
ในเบื้องต้นท่านแสดงไว้กลางๆว่า ให้รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
พระอาจารย์จึงมาจับอธิบายสำหรับกำหนดว่าในการหายใจเข้านั้น
ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นเบื้องต้น อุระคือทรวงอกเป็นท่ามกลาง
และนาภีที่พองขึ้นเมื่อหายใจเข้าเป็นที่สุด
ส่วนในขณะหายใจออกนั้น นาภีที่ยุบลงเป็นจุดที่ ๑ หรือเป็นเบื้องต้น
อุระคือทรวงอกเป็นจุดที่ ๒ ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นจุดที่ ๓
พระอาจารย์ท่านสอนดั่งนี้เพื่อสะดวกในการกำหนดจิต
เพราะฉะนั้น ก็ให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า จุดเบื้องต้น จุดท่ามกลาง จุดที่สุด
และกำหนดลมหายใจออก จุดเบื้องต้น จุดท่ามกลาง จุดที่สุด ให้รู้ทั่วถึงทั้งเข้าและออก
และเมื่อได้กำหนดรู้ดั่งนี้ทั่วถึงแล้ว
เมื่อจิตรวมเข้ามา จะไม่ส่งจิต ส่งสติเข้าออกตามลมดังกล่าวก็ได้
โดยให้ตั้งสติกำหนดอยู่เพียงจุดเดียว
ในจุดที่ตนจะกำหนดสัมผัสของลมหายใจเข้าออกได้ชัด เช่นกำหนดที่ปลายกระพุ้งจมูก
หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน ตั้งสติกำหนดอยู่เพียงจุดนี้ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
หรือบางคนชอบกำหนดหรือถนัดที่จะกำหนดตรงอุระคือทรวงอก
กำหนดอยู่เพียงจุดเดียวก็ได้ หรือบางคนสะดวกที่จะกำหนดที่นาภีที่พองหรือยุบ
ก็กำหนดอยู่ที่จุดนี้จุดเดียวก็ได้ แต่เมื่อมีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ก็ย่อมจะรู้ทั้ง ๓ จุด
ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างแม่ลูกอ่อนนั่งบนชิงช้า และมีคนแกว่งชิงช้า
คนแกว่งชิงช้านั้นก็กำหนดอยู่ที่ชิงช้า ซึ่งแกว่งไปแกว่งมาในที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว
เช่นกำหนดอยู่ที่โคนชิงช้า หรือกำหนดอยู่ที่กลางชิงช้า แม้เช่นนี้ก็ย่อมรู้ทั้งหมด
หรือเปรียบเหมือนอย่างคนเลื่อยไม้ คนเลื่อยไม้เมื่อเลื่อยไม้ก็กำหนดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง
๖
เช่นกำหนดอยู่ที่ตรงเลื่อยมาสัมผัสกับไม้ แต่ไม่ได้กำหนดที่ต้นเลื่อยหรือที่ปลายเลื่อย
แม้ดั่งนี้ก็เลื่อยไม้ได้ และก็ย่อมรู้ทั้งหมด ข้อสำคัญนั้นให้คอยตั้งสติกำหนด ไม่ให้สติตกไป
เมื่อสติตกไปก็ต้องนำสติกลับมามาตั้งไว้ใหม่ ดั่งนี้
และที่เรียกว่ายาวนั้น ก็คือหมายความถึง
กาลเวลาที่หายใจ กับสถานที่ๆหายใจ อันจะเรียกว่าเกี่ยวกับ กาละ กาลเวลา
เกี่ยวกับ เทศะ ที่ๆหายใจ ดั่งนี้ก็ได้ ที่นับว่าเป็นระยะยาว
หากพิจารณาดูแล้ว ทุกๆคนนั้นผู้ยังไม่ได้ปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิภาวนา
ก็กล่าวได้ว่าการหายใจของตนยาวโดยปรกติ ดังจะเรียกว่าหายใจทั่วท้อง
คือหายใจเข้าไปถึงท้องที่พองขึ้น ออกก็จากท้องที่ยุบลง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ายาวโดยปรกติ
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้กำหนดเบื้องต้นท่ามกลางที่สุดดังกล่าวมาข้างต้น จึงจะชื่อว่ามีสติรู้ทั่วถึง
และแม้จะทิ้งเสีย ๒ จุด ตั้งสติกำหนดแต่เพียงจุดเดียวดังกล่าว
เมื่อสติไม่ไปไหน และเป็นสติที่มีหน้ารอบ ที่มีหน้าโดยรอบ ก็ย่อมรู้ได้ทั้งหมดทุกจุด
เมื่อได้หัดปฏิบัติอยู่ดั่งนี้นานเข้าบ่อยเข้า ฉันทะคือความพอใจย่อมเกิด
และเมื่อฉันทะคือความพอใจเกิด หายใจเข้าหายใจออกก็สุขุมคือละเอียดยิ่งขึ้น
จึงหายใจเข้าหายใจออกสุขุมละเอียดยิ่งขึ้นด้วยอำนาจของฉันทะ
และเมื่อได้ปฏิบัติดั่งนี้มากขึ้นบ่อยเข้า ปราโมทย์คือความบันเทิงใจก็ย่อมเกิด
เมื่อปราโมทย์คือความบันเทิงใจเกิด หายใจเข้าหายใจออกก็ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก
ยิ่งกว่าที่ละเอียดด้วยอำนาจของฉันทะ เป็นไปเอง
และเมื่อหายใจเข้าหายใจออกละเอียดด้วยอำนาจของความปราโมทย์มากยิ่งขึ้น
จิตก็จะกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ คือจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ก็จะตั้งขึ้นมา
พระอาจารย์ชั้นเดิม ดังจะเรียกว่าทุติยาจารย์
อาจารย์ชั้นที่สองจากพระพุทธเจ้าได้อธิบายไว้ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด (มีสวดไหม) และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
๗
อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๒
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ภาวนามีลักษณะ ๔ ประการ ๒
อินทรีย์มีรสเป็นอันเดียวกัน ๓
ความเพียร ๔
อานาปานสติชั้นที่ ๒ ๔
วิธีปฏิบัติ ๙ ขั้น ๕
จิตกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๘/๒ ( File Tape 146 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๒
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิภาวนานั้น
พึงทราบคำว่า ภาวนา ซึ่งมีความหมายว่าการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
เมื่อใช้กับการปฏิบัติอานาปานสติสมาธิ สมาธิที่เกิดจากอานาปานสติ
สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็มีความหมายว่าทำอานาปานสติข้อนี้ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
ให้มีขึ้นก็คือให้มีอานาปานสติสมาธิ ให้เป็นขึ้นก็คือให้เป็นอานาปานสติสมาธิขึ้นมา
ดังนี้แหละเรียกว่าอานาปานสติสมาธิภาวนา หรือภาวนาอานาปานสติสมาธิ
หรือภาวนาสมาธิที่เกิดจากอานาปานสติ
ภาวนามีลักษณะ ๔ ประการ
ในการปฏิบัติภาวนาดังกล่าวนี้ ท่านได้แสดงการภาวนาไว้ในความหมายที่ว่า
ไม่ล่วงธรรมะที่เกิดขึ้นในภาวนานั้น โดยที่มีอินทรีย์ มีศรัทธาเป็นต้น มีรสเป็นอันเดียวกัน
๒
โดยที่มีการนำความเพียรที่ให้เข้าถึงภาวนานั้น และโดยที่มีการเสพคุ้น
คือการปฏิบัติบ่อยๆ ทำให้มาก
ประการแรกที่ว่า โดยที่ไม่ล่วงธรรมะที่เกิดขึ้นในภาวนานั้น
คำว่าไม่ล่วงก็คือไม่ข้ามพ้นไป ไม่ผ่านพ้นไป
ธรรมะที่เกิดขึ้นในภาวนานั้น ธรรมะก็คืออารมณ์ของสมาธิที่ปฏิบัติ
เช่น อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ลมหายใจเข้าออกก็ชื่อว่าเป็นธรรมะ คือเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติให้เกิดขึ้นในภาวนานั้น
คือตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
ถ้าทำสติกำหนดลมหายใจได้ติดต่อกันไป ก็ชื่อว่าไม่ล่วงคือไม่ข้ามพ้น
แต่ถ้าสติที่กำหนดฟุ้งซ่านออกไปในบางครั้งบางคราว
สติจึงไม่มีกำหนดลมหายใจในเมื่อฟุ้งซ่านออกไปนั้น
ดั่งนี้ก็ชื่อว่าข้าม หรือว่าล่วงธรรมะที่เกิดในภาวนานั้น
เพราะฉะนั้น จะเป็นภาวนาคือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
ก็ต้องให้สติกำหนดอยู่ให้ติดต่อ ไม่ให้สติฟุ้งซ่าน หรือไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน
สติฟุ้งซ่านหรือจิตฟุ้งซ่านออกไปในเวลาใด ก็ตกหล่นในเวลานั้น
ข้ามไปในเวลานั้น ล่วงเลยไปในเวลานั้น ก็ไม่เป็นอานาปานสติ
เพราะฉะนั้น จึ่งต้องพยายามปฏิบัติ
ทำสติให้กำหนดอยู่กับลมหายใจเข้าออกทุกครั้งติดต่อกันไป
จึงจะชื่อว่าไม่ล่วงธรรมะที่เกิดขึ้นในภาวนานั้น
อินทรีย์มีรสเป็นอันเดียวกัน
ส่วนข้อต่อไปที่ว่าโดยที่อินทรีย์มีรสเป็นอันเดียวกัน
อินทรีย์นี้คือธรรมะที่เป็นใหญ่ หมายได้หมายถึงศรัทธาความเชื่อ วิริยะความเพียร
๓
สติความระลึกได้ สมาธิความตั้งใจมั่น ( เริ่ม ๑๘๘/๒ ) และปัญญาความรู้ที่กำหนดพิจารณา
อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้มีประชุมอยู่พร้อมกัน มีรสคือกิจที่พึงทำเป็นอันเดียวกัน
ข้อนี้หมายถึงธรรมะที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติทั้ง ๕ ข้อนั้น
คือต้องมีศรัทธาความเชื่อที่ตั้งมั่น อันมีกิจกำจัดความไม่เชื่อ
วิริยะความเพียรที่ดำเนินไปด้วยดี มีกิจกำจัดความเกียจคร้าน
สติความระลึกได้ มีกิจกำจัดความหลงลืม สมาธิความตั้งใจมั่น มีกิจกำจัดความฟุ้งซ่าน
ปัญญาความรู้พิจารณาถูกต้อง มีกิจกำจัดความรู้ชั่วรู้ผิด
ผู้ปฏิบัติทำภาวนาจะต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาดังกล่าว
พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกัน เรียกว่ามีรสเป็นอันเดียวกันในขณะที่ปฏิบัติ
ความเพียร
และข้อต่อไปที่ว่าโดยมีความเพียร หรือโดยนำความเพียรที่เข้าถึงภาวนานั้น
ก็คือมีความเพียรพยายามปฏิบัติให้เพียงพอที่จะบรรลุถึงภาวนานั้นได้
และข้อต่อไปก็คือมีการเสพคือปฏิบัติคุ้น อันหมายความว่าปฏิบัติบ่อยๆ ปฏิบัติให้มาก
รวม ๔ ประการ ภาวนามีลักษณะดัง ๔ ประการนี้
จึงจะให้สำเร็จเป็นอานาปานสติสมาธิภาวนาได้
แม้ในข้ออื่นก็จะต้องมีภาวนาเช่นนี้เช่นเดียวกัน จึงจะให้สำเร็จการภาวนาในข้อนั้นๆได้
อานาปานสติชั้นที่ ๒
ต่อจากนี้จะได้แสดงถึงอานาปานสติ ชั้นที่ ๒ หรือข้อที่ ๒
ที่ว่าหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น
ในชั้นนี้หมายถึงการหายใจของผู้ปฏิบัติเอง
ถ้าหากว่าในขณะที่ปฏิบัติ หายใจเข้าออกสั้น คือในกาละคือเวลา ในเทศะคือที่
ซึ่งกล่าวว่า คือนับว่าสั้น ก็เรียกว่าสั้น
๔
การหายใจเข้าสั้นนี้ หรือหายใจออกสั้นนี้ โดยปรกติก็อาจจะมีได้ในบางคราว
ในเมื่อได้พักผ่อนจากความเหน็ดเหนื่อย จึงไม่มีความเหน็ดเหนื่อย
ในขณะเช่นนี้ลมหายใจก็จะสั้นกว่าในขณะที่เหนื่อย
หรือแม้ว่าในขณะที่ปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิก็ดี หรือปฏิบัติทำสมาธิข้ออื่นก็ดี
จิตได้สมาธิบ้างแล้ว กายก็สงบ จิตก็สงบ
ในขณะที่จิตและกายสงบนี้ การหายใจก็ละเอียดเข้าคือว่าสั้นเข้า
ฉะนั้น ลมหายใจเข้าออกสั้น ก็ให้รู้ว่าสั้น
และแม้ในขั้นที่ ๒ นี้ ท่านก็ได้แสดงไว้เช่นเดียวกับในขั้นที่ ๑
คือเมื่อหายใจเข้าออกสั้น ก็รู้ว่าสั้น ปฏิบัติอยู่บ่อยๆเข้า หรือว่านานเข้า
ก็ย่อมจะเกิดฉันทะคือความพอใจ ลมหายใจที่สั้นนั้นก็จะละเอียดเข้า
และเมื่อกำหนดต่อไปบ่อยๆ ก็จะเกิดปราโมทย์คือความบันเทิง
ลมหายใจเข้าออกที่สั้นนั้น ก็จะสุขุมคือละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก
และเมื่อปฏิบัติต่อไป จิตก็จะกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ อุเบกขาก็จะตั้งขึ้น
วิธีปฏิบัติ ๙ ขั้น
เพราะฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจว่า
ขั้นตอนของการปฏิบัติในชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ นี้ ท่านแสดงไว้เช่นเดียวกัน
และท่านแสดงไว้โดยละเอียด สรุปความว่า ในขั้นที่ ๑ เมื่อเริ่มปฏิบัติก็ให้กำหนดดั่งนี้
หายใจเข้าออกยาว หายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว
หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว
ก็จะเกิดฉันทะ เมื่อเกิดฉันทะคือความพอใจขึ้น ก็ให้กำหนดสติเช่นเดียวกัน
คือหายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว
และชั้นนี้ ลมหายใจเข้าออกที่ยาวนั้น ก็จะละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นที่ไม่มีฉันทะ
และต่อไปเมื่อปราโมทย์ความบันเทิงใจบังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดเช่นดียวกัน
๕
หายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว
ลมหายใจในขั้นปราโมทย์นี้ ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าในขั้นฉันทะคือความพอใจ
และต่อไปจิตก็จะกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อุเบกขาก็ตั้งขึ้น ก็เป็นอันว่ามีวิธีปฏิบัติเป็น ๙
ในขั้นธรรมดา ๓ ในขั้นที่เกิดฉันทะ ๓ ในขั้นที่เกิดปราโมทย์ ๓ เป็น ๙
แล้วมาถึงชั้นที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน
ท่านสอนให้กำหนดทีแรก หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น
หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็น ๓ ก็จะเกิดฉันทะคือความพอใจ
เมื่อเกิดฉันทะขึ้นท่านก็สอนให้กำหนดเป็น ๓ อีกเหมือนกัน
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็น ๓
ต่อไปก็จะเกิดปราโมทย์คือความบันเทิง ก็กำหนดเป็น ๓ เช่นเดียวกัน
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็น ๓
และลมหายใจก็จะละเอียดขึ้นโดยลำดับ ในขั้นฉันทะความพอใจก็จะละเอียดกว่าขั้นปรกติ
ในขั้นเกิดปราโมทย์ก็จะละเอียดกว่าในขั้นเกิดฉันทะ
และเมื่อได้ปราโมทย์ ต่อไปก็จิตก็จะกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ อุเบกขาก็จะตั้งขึ้น
จิตกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ
คำว่าจิตกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ หรือลมหายใจเข้าออกนี้
หมายความว่าจิตไม่กำหนด แต่จิตจะมีอุเบกขาคือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ซึ่งเป็นขั้นที่ละเอียด
เข้าไปเพ่งซึ่งอะไร ก็เข้าไปเพ่งซึ่งนิมิตแห่งอัสสาสะปัสสาสะนั้นเอง นิมิตก็คือว่าเครื่องกำหนด
ฉะนั้น แม้ลมอัสสาสะปัสสาสะจะสงบ จิตกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ
แต่ว่านิมิตคือเครื่องกำหนดอันได้แก่ลมอัสสาสะปัสสาสะ
ที่เป็นนิมิตคือเครื่องกำหนดอยู่ในใจก็ยังมีอยู่
จะเป็นอุเบกขาคือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่กับนิมิตคือลมอัสสาสะปัสสาสะนั้น
๖
และที่แบ่งออกเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ ยาว ชั้นที่ ๒ สั้น ท่านไม่แสดงไว้ว่าต่อกันหรือไม่ต่อกัน
แต่ก็พิจารณาได้ตามแนวชั้นที่ท่านแสดงไว้เป็นอานาปานสติในขั้นกายนี้ ๔ ชั้น
แล้วยังมีต่อในขั้นเวทนา ในขั้นจิต และในขั้นธรรม อีกขั้นละ ๔ ชั้น ก็เป็น ๑๖ ชั้น
และมีแนวอธิบายทำนองที่ว่าต่อกันขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าแนวหนึ่งเป็นที่ต่อกันขึ้นไป
อันหมายความว่าเมื่อปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ลมหายใจย่อมละเอียดเข้า
เพราะว่ากายสงบจิตสงบ ที่เคยยาวโดยปรกตินั้นก็สั้นเข้า
และเมื่อลมหายใจสั้นเข้าจึงมาจับกำหนดลมหายใจที่สั้นนั้น อันนับว่าเป็นขั้นที่ ๒
แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า
ลมหายใจในเวลาเหนื่อยปรกติก็ต้องยาว
แต่ว่าในขณะที่หายเหนื่อย กายใจสงบ หายใจก็สั้นเข้า
เพราะฉะนั้น จึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ จะพึงพิจารณาในขณะที่ตนปฏิบัตินั้นเป็นเกณฑ์
ในขณะที่ตนปฏิบัตินั้นยาว ยาวก็จับขั้นยาว ถ้าสั้นก็จับขั้นสั้น
ทั้งตามอธิบายใน ๒ ชั้นนี้ อธิบายไปเช่นเดียวกัน ทั้งในชั้นยาว ทั้งในชั้นสั้น
ต่างก็มีฉันทะความพอใจ มีปราโมทย์ความบันเทิงใจเช่นเดียวกัน
และจิตจะกลับจากอัสสาสะปัสสาสะลมหายใจเข้าลมหายใจออกออก
อุเบกขาตั้งขึ้นเช่นเดียวกัน
ต่อไปนี้ก็พึงตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป
*