ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:48
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป145
ธรรมชาติของจิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ปรกติของคนเป็นอย่างนี้ ๓
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต ๔
บารมี อาสวะ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๗/๑ ( File Tape 145 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ธรรมชาติของจิต
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาการปฏิบัติอบรมจิตนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสั่งสอนไว้
โดยที่ได้ตรัสไว้มีใจความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง
แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา
แต่ว่าจิตนี้วิมุติหลุดพ้นจากอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้
อาศัยการปฏิบัติทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต
ทุกๆคนต่างมีกายกับจิตประกอบกันอยู่
จิตนั้นท่านเปรียบเหมือนอย่างคนพายเรือ กายนั้นเปรียบเหมือนอย่างเรือ
เรือจะไปทางไหนก็ต้องอาศัยคนพายเรือ พายเรือไป ฉันใด
ทุกคนก็ฉันนั้น ร่างกายจะไปทางไหนจะทำอะไร ก็จิตนี้เองเป็นผู้สั่ง เป็นผู้บงการ
เช่นโดยเจตนาคือความจงใจให้ทำนั่นให้ทำนี่ต่างๆ
จิตจึงเป็นส่วนสำคัญมากที่ทุกๆคนมีอยู่
๒
ปรกติของคนเป็นอย่างนี้
และจิตนี้เองที่ต้องเศร้าหมองไป
เพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาอาศัยอยู่ในจิต
ปรากฏเป็นกิเลสอย่างละเอียด อันเรียกว่า อาสวะ กิเลสที่ดองจิต
หรืออนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตบ้าง โดยเป็นกิเลสอย่างกลางคือเป็นนิวรณ์
คือกิเลสที่ปรากฏเป็นความโลภความโกรธความหลงต่างๆ บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมอยู่ในจิต
ที่ทุกคนก็รู้ว่าจิตของตนมีโลภบ้างมีโกรธบ้างมีหลงบ้าง
หรือที่เป็นกิเลสที่รุนแรง ก็คือโลภโกรธหลงนั้นเองที่รุนแรง
จนถึงก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมออกไปเป็นภัยเป็นเวรต่างๆ เช่นผิดศีล ๕
คือฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง
ซ้ำยังแถมดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยยาเสพติดให้โทษต่างๆ เพิ่มความมัวเมาประมาทให้มากขึ้น
ปรกติของคนเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น จิตเองที่เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง
จึงกลายเป็นจิตที่ไม่ผุดผ่อง แต่กลายเป็นจิตที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส
ทั้งจิตนี้เองนอกจากเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่องแล้ว ยังเป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ด้วย
ฉะนั้น เมื่อเศร้าหมองไปไม่ผ่องใส จึงกลายเป็นความมึนซึม โง่เขลา ไม่รู้
ซึ่งความไม่รู้นี้ก็หมายถึงว่าไม่รู้สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง
ความไม่รู้นี้ของคนสามัญที่มีกิเลสทั่วไป
ก็มีอวิชชาคือความไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นตัวการใหญ่
นำให้เกิดโมหะคือความหลงถือเอาผิดต่างๆ ถือเอาดีเป็นชั่ว ถือเอาชั่วเป็นดี
ถือเอาสุขเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นสุข ถือเอาเหตุเกิดทุกข์ว่าเป็นเหตุเกิดสุข
ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
๓
เพราะฉะนั้น จึงต้องประสบความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ความชั่วร้ายต่างๆ
จิตที่เป็นธาตุรู้ ก็กลายเป็นไม่รู้ กลายเป็นโง่เขลา จิตที่ปภัสสรก็กลายเป็นเศร้าหมอง
จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ทุกคนมีของดีอยู่แล้วติดตัวมาเป็นธรรมชาติคือจิตดังกล่าว
ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต
การที่จิตที่มีธรรมชาติอันดีอย่างยิ่งกลับกลายไปเช่นนั้น
ก็เพราะจิตนี้มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือว่าน้อมไปได้ น้อมไปดีก็ได้ น้อมไปไม่ดีก็ได้
หากน้อมไปไม่ดีบ่อยๆ ก็ทำให้เคยชินติดอยู่ในความไม่ดี
แต่ถ้าหากว่าหัดน้อมมาในทางดีบ่อยๆ ก็จะทำให้ติดอยู่ในทางดี อันตรงกันข้าม
แต่ก็เป็นเคราะห์ดีของทุกๆคนที่มีจิตเป็นธาตุรู้ดังกล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ประสบพบผ่านสุขทุกข์ต่างๆ มาบ่อยๆครั้งเข้า
ได้ทำดีทำชั่วต่างๆมาบ่อยครั้งเข้า และก็ได้รับผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์จากกิเลสในใจ
ที่เรียกว่าอุปกิเลสนั้น และจากกรรมที่ประกอบกระทำออกไปทางกายทางวาจาทางใจ
จึงทำให้จับเหตุจับผลได้บ้างตามสมควร ว่ากิเลสนั้นให้เกิดทุกข์ แต่ความสงบกิเลสให้เกิดสุข
กรรมชั่วนั้นให้เกิดทุกข์ กรรมดีนั้นให้เกิดสุข
และทั้งตนเองก็มีธรรมชาติของตนเองอยู่คือรักตน
ต้องการให้ตนเป็นสุขไม่เดือดร้อน และไม่ต้องการให้ใครมาก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง
ต้องการให้ใครๆมาเกื้อกูลตนเอง ( เริ่ม ๑๘๗/๑ ) และนอกจากตนเองแล้ว
ตนเองยังรักคนที่ควรรักทั้งหลาย เช่นว่ามารดาบิดารักบุตรธิดาของตน
เมื่อรักใครก็ต้องการให้คนที่รักนั้นเป็นสุขมีความเจริญ ไม่ต้องการให้มาทำลายล้าง
ต้องการให้ใครๆมาเกื้อกูลตนให้ตนมีความสุขความเจริญ
ไม่ต้องการให้ใครมาทำลายล้างเช่นเดียวกัน
๔
แต่ว่าเพราะโมหะคือความหลง เพราะอวิชชาคือความไม่รู้จริง
จึงทำให้ไม่นึกถึงจิตใจของคนอื่นว่าเป็นเช่นเดียวกัน
ยังไปทำร้ายคนอื่น ทั้งที่ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายตน
แต่ถ้าหากว่ารู้จักนึกเทียบเคียงดู ว่าตนเองต้องการฉันใด คนอื่นก็ต้องการฉันนั้น
ตนเองรักสุขเกลียดทุกข์ คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อตนเองต้องการสุข ไม่ต้องการให้ใครมาก่อทุกข์ให้
ตนเองก็ไม่ควรจะไปก่อทุกข์ให้แก่ใครๆ แต่ก่อสุขให้แก่ใครๆ
เมื่อคิดดั่งนี้ก็จะทำให้รู้สึกถึงการควรทำไม่ควรทำอันเกิดจากตนเองในทางที่ถูกที่ชอบ
บารมี อาสวะ
คนเรามีธาตุรู้ที่จะคิดได้ดั่งนี้
ทั้งเมื่อได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งสั่งสอนให้ละชั่ว ให้ทำดี ให้ชำระจิตใจของตนบริสุทธิ์ผ่องใส
ก็จะทำให้มีความสนใจนำมาใคร่ครวญ และปฏิบัติตาม
ก็จะเป็นเครื่องนำให้จิตใจนี้น้อมไปในทางดียิ่งขึ้น คือน้อมไปในทางที่ละชั่ว ทำดี
และชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ตามหลักพระโอวาทสำคัญของพระพุทธเจ้า
ก็จะเป็นเหตุให้จิตใจนี้น้อมไปในทางที่ละชั่ว ในทางที่ทำดี
และในทางที่ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสบ่อยๆ
ทำให้มีความคุ้นเคยในทางดี น้อมไปในทางดี เป็นความดีที่ประพฤติติดตัว
ความดีที่ประพฤติติดตัวนี้ก็เรียกว่าเป็นบารมีคือความดีที่เก็บไว้
อันตรงกันข้ามกับกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เก็บไว้ อันเรียกว่าอาสวะอนุสัยดังกล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เป็นสามัญชนจึงมีอยู่ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย
ฝ่ายดีก็คือบารมี ฝ่ายร้ายก็คืออาสวะหรืออนุสัย ประจำอยู่ในจิตใจของตนเอง
และทั้งเมื่อได้มาปฏิบัติจิตตภาวนาการอบรมจิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้
๕
ก็เป็นการปฏิบัตินำจิตให้น้อมไปในทางดี ให้ประทับอยู่ในทางดี
หรือพูดอย่างง่ายๆว่าติดอยู่ในทางดีมากขึ้น
และดีนี้เองก็จะลดชั่วให้น้อยลง ในเมื่อน้อมไปในทางดีมาก
และเมื่อลดชั่วได้ หรือว่าเก็บฝ่ายดีได้ไปโดยลำดับก็จะทำให้เป็นกัลยาณชนคือคนดี
จนถึงเป็นอริยชนคือเป็นบุคคลที่เป็นพระอริยะ หรือที่เรียกกันว่าผู้สำเร็จ
เมื่อลดชั่วได้หมดสิ้นเรียกว่าถึงที่สุดดีถึงที่สุดชั่ว ก็เป็นพระอรหันต์
ผู้เสร็จกิจในทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ก่อนที่จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ท่านก็ยังมีทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่ว คือทั้งส่วนที่เป็นอาสวะอันเป็นส่วนชั่วที่เก็บชั่วเอาไว้
ทั้งส่วนดีคือบารมีที่เก็บดีเอาไว้เช่นเดียวกัน แต่อาศัยที่ท่านได้น้อมจิตไปในทางดี
เก็บดีคือบารมีนี้ให้มากขึ้นๆ บารมีก็ละอาสวะที่เป็นส่วนเก็บชั่วนี้ให้น้อยลง
จนถึงสุดดีคือเก็บดีไว้เต็มที่สมบูรณ์ที่สุด ก็ละอาสวะได้หมดสิ้นเป็นสุดชั่ว
จึงเป็นผู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย
ที่ยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ทำดีเก็บดี และละอาสวะที่เป็นส่วนชั่วได้บางส่วน
ก็เป็นพระอริยะบุคคลที่ต่ำลงมา จนถึงเมื่อยังละไม่ได้แต่ว่าทำความดีเก็บดีเอาไว้ได้มาก
ลดเก็บชั่วลงไป ก็เป็นกัลยาณชนคือคนดี แม้ยังเป็นบุถุชนคือคนที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างเต็มที่
ยังละไม่ได้ แต่ก็เป็นกัลยาณชนคือคนดี
หากว่าจิตยังไม่น้อมมาในทางดี น้อมไปในทางชั่วมาก เก็บชั่วไว้มาก ก็เป็นพาลชนคือคนเขลา
และหากว่าน้อมไปในทางชั่วมากที่สุด เก็บชั่วไว้มากที่สุด ส่วนดีมีอยู่น้อยคล้ายกับไม่มี
ก็เป็นอันธพาลบุถุชน คือบุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาเหมือนอย่างตาบอด เป็นผู้มืด
ต้องประสบความทุกข์อยู่ในโลกเป็นอันมาก จนกว่าจะตาสว่างขึ้น รู้จักละชั่วทำดี
รู้จักชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส จึงจะค่อยประสบความสุขมากขึ้น
ก็จะเลื่อนขึ้นเป็นสามัญชนที่เป็นคนสามัญทั่วไป
๖
แล้วก็เป็นกัลยาณชนคนดี เป็นอริยชน ชนที่เป็นพระอริยะ จนถึงเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ก็แปลว่าทำดีถึงที่สุดเป็นสุดดี แล้วก็สุดชั่วคือว่าละชั่วได้หมด ละอาสวะกิเลสได้หมด
จิตนี้ก็ปภัสสรผุดผ่องขึ้นโดยลำดับ จนถึงผุดผ่องเต็มที่
และธาตุรู้ของจิตก็เป็นความรู้จักสัจจะคือความจริงขึ้นโดยลำดับ
จนรู้จักสัจจะเต็มที่ คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างสมบูรณ์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สมาธิ ๔ วิปัลลาส ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๒
สมาธิเพื่อญาณทัสสนะ ๓
สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ ๓
สมาธิเพื่อความสิ้นอาสวะ ๔
สมาธินิมิต สมาธิบริขาร สมาธิภาวนา ๕
สติปัฏฐาน ๔ ๕
จริต ๔ ๖
วิปัลลาส ๔ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๗/๒ ( File Tape 145 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สมาธิ ๔ วิปัลลาส ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สมาธิภาวนาคือการอบรมสมาธิ การปฏิบัติทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๔ อย่างคือ ๑ สมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒ สมาธิภาวนาเพื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็น
๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว
และ ๔ สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ประการแรกสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า
คือสมาธิที่เป็นจิตตเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
อย่างสูงถึงฌานคือความเพ่ง อันหมายถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น
เป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่เป็น รูปฌาน ที่สูงขึ้นไปก็ อรูปฌาน
๒
แต่ที่ต่ำลงมาก็คือไม่เป็นอัปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น
เป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น
หรือเป็นบริกัมมสมาธิ สมาธิในการปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
และเมื่อได้จิตตเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ก็ย่อมจะได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน
สมาธิเพื่อญาณทัสสนะ
ประการที่ ๒ สมาธิภาวนาเพื่อความรู้ความเห็นอันเรียกว่าญาณทัสสนะ
ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า ได้แก่การปฏิบัติเพ่งแสงสว่าง หรือความสว่าง
ทำ ทิวาสัญญา คือความกำหนดหมายว่ากลางวัน ให้ได้ความสว่างของจิตใจ
จิตใจสว่าง กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน
ก็จะรู้จะเห็นอะไรๆได้ตามควรแก่กำลังของสมาธิข้อนี้
สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
ประการที่ ๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว
คือกำหนดเวทนาความเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขที่รู้แล้ว
กำหนดสัญญาความจำได้หมายรู้ที่รู้แล้ว ความกำหนดวิตกคือความตรึกนึกคิดที่รู้แล้ว
ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้
ในข้อ ๓ นี้ ละเอียดไปกว่าข้อ ๒ และข้อ ๒ ละเอียดไปกว่าข้อ ๑
ข้อ ๑ นั้นสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่รู้ไม่เห็นอะไร
เพียงแต่จิตรวมนิ่งอยู่สงบอยู่เฉยๆ อันทำให้ได้ปีติได้สุข จากความสงบสงัด จากสมาธิ
แต่ประการที่ ๒ มีญาณทัสสนะรู้เห็นนั่นนี่ แต่เพียงแต่รู้เห็นนั่นนี่
มิได้กำหนดความรู้ความเห็นนั้น
๓
มาถึงประการที่ ๓ กำหนดความรู้ความเห็นนั้น
โดยลักษณะเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นวิตกความตรึกนึกคิด
โดยมีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ในความรู้ความเห็น
กำหนดลงมาว่าเป็นเวทนาสัญญาเป็นวิตกความตรึกนึกคิด
และมีสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว ในลักษณะเครื่องกำหนดหมายที่ปรากฏ
ของเวทนาสัญญาของวิตกความตรึกนึกคิดนั้นว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
สมาธิเพื่อความสิ้นอาสวะ
จึงมาถึงข้อ ๔ ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ
อันนับว่าเป็นสมาธิภาวนาอย่างสูงสุด อันเป็นที่มุ่งหมายของการทำสมาธิ
คือเพื่อปัญญารู้แจ้งแทงตลอด นำให้เกิด อุทยัพยานุปัสสนาญาณ
คือความรู้ที่ตามดูตามเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕
รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรือของนามรูปแต่ละข้อ ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้
อันจะนำให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด อันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะ
คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ฉะนั้น สมาธิภาวนาจึงมีหลายอย่าง
ตั้งแต่อย่างธรรมดาสามัญ คือประการที่ ๑ เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
และก็สูงขึ้นเป็นเพื่อรู้เห็นในความสว่างของจิตที่กำหนดทิวาสัญญา
ความสำคัญหมายว่ากลางวัน แม้ในเวลากลางคืน
กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน
และต่อไปก็เพื่อสติสัมปชัญญะระลึกรู้ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของเวทนาสัญญา
วิตกความตรึกนึกคิดของตนทั้งหมด และสูงสุดก็เพื่อความสิ้นอาสวะ ก็ทำสมาธิเพื่อปัญญา
คือทำสมาธิเพื่อเป็นมูลฐานของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงความเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือนามรูป
( เริ่ม ๑๘๗/๒ ) อันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
๔
สมาธินิมิต สมาธิบริขาร สมาธิภาวนา
อนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ถึงสมาธินิมิต สมาธิบริขาร และสมาธิภาวนา
สมาธินิมิตนั้นได้แก่ นิมิต คือเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ ตรัสว่าได้แก่สติปัฏฐานทั้ง ๔
ตรัสสมาธิบริขารคือเครื่องอาศัยแห่งสมาธิ ตรัสว่าได้แก่สัมมัปปธาน
ตั้งความเพียรชอบทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑ สังวรปธานเพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒ ปหานปธานเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓ ภาวนาปธานเพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔ อนุรักขณาปธานเพียรรักษากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ไม่ให้เสื่อม
และให้เพิ่มพูนมากขึ้นจนถึงความบริบูรณ์
และได้ตรัสสมาธิภาวนาคือการส้องเสพ อาเสวนาการส้องเสพ
ภาวนาการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พหุลีกรรมคือการที่กระทำให้มากซึ่งสมาธิ
ฉะนั้น จึงมาถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นว่าเป็นสมาธินิมิต
คือเป็นนิมิตเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ
สติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ได้ตรัสแสดงไว้โดยพิสดารในมหาสติปัฏฐานสูตร
ซึ่งตรัสไว้โดยเริ่มต้นมีใจความว่า ทางไปอันเอกคืออันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อก้าวล่วงโสกะปริเทวะคือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ
เพื่อดับทุกข์โทมนัสความไม่สบายกายไม่สบายใจ เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ
ธรรรมะที่พึงรู้ ท่านแสดงว่าได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อกระทำให้แจ้งนิพพาน
ซึ่งรวมความว่าเพื่อละ หรือตัดอุปัทวะคือเครื่องขัดข้อง ๔ อย่าง
อันได้แก่โสกะอย่าง ๑ ปริเทวะอย่าง ๑ ทุกข์อย่าง ๑ โทมนัสอย่าง ๑
เพื่อบรรลุผลที่ดีที่ชอบ ๓ อย่าง หรือเพื่อบรรลุถึงภูมิธรรม ๓ อย่าง
คือความบริสุทธิ์ ๑ อันเรียกว่าวิสุทธิ ญายธรรมธรรมะที่พึงกระทำที่พึงบรรลุ
อันได้แก่มรรคมีองค์แปด ๑ พระนิพพานที่พึงกระทำให้แจ้ง ๑ ดั่งนี้
๕
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ได้แก่
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิต
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรม
เป็น ๔ ข้อดั่งนี้
จริต ๔
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ท่านแสดงว่าย่อมเป็นไปเพื่อละจริตทั้ง ๔
อันได้แก่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละตัณหาจริตที่มีปัญญาอ่อน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละตัณหาจริตที่มีปัญญากล้า
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละทิฏฐิจริตที่มีปัญญาอ่อน
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละทิฏฐิจริตที่มีปัญญากล้า
อนึ่ง ท่านแสดงว่าเป็นการปฏิบัติที่เหมาะแก่ ยานิก
คือบุคคลผู้มีธรรมะเป็นยวดยานพาหนะสำหรับบรรลุถึงธรรมะ ที่แตกต่างกัน
คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับคนที่เป็น สมถะยานิก
คือผู้ที่มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ สมถะยานิก
ผู้มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก
คือผู้ที่มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก
คือผู้มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า
๖
วิปัลลาส ๔
อนึ่ง ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องละ วิปัลลาส คือความสำคัญหมายที่ผิด ๔ อย่าง คือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่างาม
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่าเป็นสุข
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่าเที่ยง
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่าเป็นอัตตา
คือเป็นตัวเป็นตน
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้
จึงเหมาะสำหรับบุคคลทุกๆคนจะพึงปฏิบัติเพื่อละจริตทั้ง ๔
ซึ่งทุกๆคนอาจจะมีจริตข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะมีทั้ง ๔ ก็พึงปฏิบัติไปได้โดยลำดับ
และสำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้ทั้งทางสมถะและวิปัสสนา
ที่เรียกว่าเป็น สมถะยานิก มีสมถะเป็นยาน คือยวดยานพาหนะ
วิปัสสนายานิก มีวิปัสสนาเป็นยาน และเป็นไปเพื่อละวิปัลลาสทั้ง ๔ ประการ
คือความสำคัญหมายที่ผิดทั้ง ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*