ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป137

นิวรณ์ ๕

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

นิวรณ์ ๕ ๓

ความวางเฉยในสัตว์สังขาร ๔

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๕

ญาณต้องมีอุเบกขานำ ๖

รู้ตามเป็นจริงคือรู้อย่างไร ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๗/๒ ( File Tape 137 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

นิวรณ์ ๕ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงแก่พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าสัคคารวะ

ซึ่งได้เข้าเฝ้าและได้กราบทูลถามว่า เพราะเหตุอะไรมนต์ที่ได้สาธยายได้แล้ว

ในบางคราวก็หมดปฏิภาณคือความแจ่มแจ้งที่จะสาธยายได้ ต้องขัดข้องติดขัด

ไม่จำจะต้องกล่าวถึงมนต์ที่สาธยายไม่ได้

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบเป็นข้อๆไปว่า

เพราะกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามบังเกิดขึ้น จึงทำให้จิตนี้เศร้าหมอง

ไม่รู้จักประโยชน์ตน ไม่รู้จักประโยชน์ผู้อื่น ไม่รู้จักประโยชน์ทั้งสอง

เปรียบเหมือนอย่างน้ำที่ปนด้วยสีต่างๆ ไม่สามารถที่จะมองเห็นเงาหน้าได้ถนัดได้

อนึ่ง เพราะเหตุแห่งพยาบาทคือความโกรธแค้นขัดเคือง

คิดมุ่งร้ายปองร้ายบังเกิดขึ้น จึงทำให้จิตนี้เศร้าหมอง

( เริ่ม ๑๗๗/๒ ) ไม่รู้จักประโยชน์ตน ไม่รู้จักประโยชน์ผู้อื่น ไม่รู้จักประโยชน์ทั้งสอง

เหมือนอย่างน้ำที่ต้มเดือดในไฟ จึงเป็นน้ำที่เดือดพล่านมีควัน ไม่อาจจะส่องดูเงาหน้าได้

อนึ่ง เพราะเหตุที่ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น จึงทำให้จิตนี้เศร้าหมอง

ไม่รู้จักประโยชน์ตน ไม่รู้จักประโยชน์ผู้อื่น ไม่รู้จักประโยชน์ทั้งสอง

เหมือนอย่างน้ำที่ถูกสาหร่ายจอกแหนปกคลุม ไม่อาจจะส่องดูเงาหน้าได้

อนึ่ง อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจบังเกิดขึ้น จึงทำให้จิตนี้เศร้าหมอง

ไม่รู้ประโยชน์ตน ไม่รู้ประโยชน์ท่าน ไม่รู้จักประโยชน์ทั้งสอง

เหมือนอย่างน้ำที่ถูกลมพัดไหวกระเพื่อมเป็นคลื่น ไม่อาจที่จะส่องดูเงาหน้าได้

อนึ่ง วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยบังเกิดขึ้น ทำให้จิตนี้เศร้าหมอง

ไม่รู้จักประโยชน์ตน ไม่รู้จักประโยชน์ท่าน ไม่รู้จักประโยชน์ทั้งสอง

เหมือนอย่างน้ำที่ขุ่นมัว ทั้งตั้งอยู่ในที่มืด ไม่อาจจะส่องดูให้เห็นเงาหน้าได้

เพราะเหตุที่นิวรณ์เหล่านี้บังเกิดขึ้นจึงทำให้สาธยายมนต์ที่เคยสาธยายได้ ไม่ได้ ต้องติดขัด

 

นิวรณ์ ๕

 

อนึ่ง เมื่อจิตมีนิวรณ์ครอบงำดังที่กล่าวมานี้

จึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ได้ด้วย

ต่อเมื่อปฏิบัติสงบรำงับนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ได้ คือสงบกามฉันท์ได้

จึงจะรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ทั้งสองได้

เหมือนอย่างน้ำที่ใสสะอาดปราศจากสีต่างๆ อาจส่องดูเงาหน้าได้

ปฏิบัติสงบรำงับพยาบาทได้ จึงจะทำให้รู้ประโยชน์ดังกล่าว

เหมือนอย่างน้ำที่ไม่ถูกต้มเดือด เดือดพล่านเป็นควัน อาจส่องดูเงาหน้าได้

เมื่อปฏิบัติรำงับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จึงจะรู้ประโยชน์ดังกล่าวได้

เหมือนอย่างน้ำที่ไม่มีสาหร่ายจอกแหนคลุม ส่องดูเงาหน้าได้

และเมื่อปฏิบัติสงบอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญได้

จึงจะรู้ประโยชน์ทั้งสองได้ดังกล่าว

เหมือนอย่างน้ำที่ไม่ถูกลมพัดให้ไหวกระเพื่อมเป็นคลื่น ส่องดูเงาหน้าได้

และเมื่อปฏิบัติสงบวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยได้ จึงจะรู้ประโยชน์ดังกล่าวได้

เหมือนอย่างน้ำที่ไม่ขุ่นมัว และวางอยู่ในที่สว่าง ส่องดูเงาหน้าได้ฉะนั้น

 

ความวางเฉยในสัตว์สังขาร

 

และจิตที่ปฏิบัติสงบนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ดังกล่าวนี้

ก็ทำให้สาธยายมนต์ได้สะดวก เพราะจิตจะผ่องใสไม่เศร้าหมอง

และจิตที่ไม่มีนิวรณ์ดั่งนี้ ย่อมสามารถปฏิบัติในโพชฌงค์ได้

และโพชฌงค์นี้เมื่อปฏิบัติได้จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมจะวางเฉยในสัตว์และสังขารได้

วางเฉยในสัตว์ก็คือ วางเฉยในสัตว์ทั้งหลายด้วยการพิจารณาปลงใจลงไปในกรรม

ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

แต่ละสัตว์บุคคลทั้งตนเอง แต่ละคนย่อมต้องเป็นไปตามกรรมของตน ตามที่ตนได้กระทำไว้

และยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็พิจารณาจนถึงโดยปรมัตถ์ คือโดยเนื้อความที่ละเอียดลุ่มลึก

ว่าที่เรียกว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั้นเป็นสมมติบัญญัติ

แต่โดยปรมัตถ์แล้วไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

เมื่อพิจารณาดั่งนี้จะทำให้จิตใจปล่อยวางความยึดถือในสัตว์

หรือโดยความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาได้

 

อีกอย่างหนึ่ง วางเฉยในสังขารคือในพัสดุทั้งหลายในสิ่งทั้งหลาย

เช่นเมื่อเป็นบรรพชิตก็วางเฉยในปัจจัยทั้ง ๔ คือใน จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยาแก้ไข้

และสิ่งอื่นๆบรรดาที่มีอยู่ ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ชั่วคราว และเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง

เพราะความเป็นเจ้าของนั้นย่อมมีอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น สิ่งทั้งหลายที่มาถึงเข้า

ก็จะต้องพลัดพรากไป หรือไม่เช่นนั้นชีวิตนี้ก็จะต้องแตกดับต้องพลัดพรากไป

ทุกๆอย่างที่ยึดถือว่าเป็นของเรานั้น แม้ว่าจะมีสิทธิอยู่ แต่ก็เป็นสิทธิชั่วคราวเท่านั้น

ไม่เป็นสิทธิที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นสิทธิที่แท้จริงแล้ว ก็จะต้องไม่มีความพลัดพราก

แต่เมื่อมีความพลัดพราก ก็ไม่ใช่เป็นสิทธิที่แท้จริง

พิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ จนปลงใจเห็นว่าไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่เจ้าของ

เป็นสิ่งที่มีอยู่สำหรับใช้สอยชั่วคราวเท่านั้น เหมือนอย่างของขอยืมเขามา

แล้วก็ต้องส่งคืนเจ้าของ ก็จะทำให้ใจนี้ปล่อยวางจากสังขารคือสิ่งปรุงแต่ง

คือพัสดุทั้งหลายได้

 

อุเบกขาในโพชฌงค์ ท่านอาจารย์แสดงไว้ดั่งนี้

แม้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในข้อ ๔ คือธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ก็แสดงว่าขั้นสุดของธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น

ย่อมเห็นการละความยินดียินร้ายด้วยปัญญา เป็นอุเบกขาคือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ซึ่งการละนั้น

ดั่งนี้ อันแสดงว่าแม้ในสติปัฏฐานก็ต้องมีอุเบกขาเป็นที่สุด

 

ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ท่านแสดงรวบยอดว่า

ข้อกายก็คือลมหายใจเข้าออก โดยยกเอาลมหายใจเข้าออกเป็นที่ตั้ง

ข้อเวทนาก็คือมนสิการใส่ใจลมหายใจเข้าออกนั้น

คำนึงถึงลมหายใจเข้าออกนั้นไว้ในใจ กระทำลมหายใจเข้าออกนั้นไว้ในใจ

ข้อจิตก็คือสติสัมปชัญญะแม้ในลมหายใจเข้าออกนั้น

และข้อธรรมนั้นก็คือเห็นการละความยินดียินร้ายด้วยปัญญา เข้าไปเพ่งการละนั้น

ก็ด้วยปัญญานั่นแหละ สงบเฉยอยู่

นี้เป็นที่สุดแห่งสติปัฏฐาน ก็ลงด้วยอุเบกขาเหมือนกัน

 

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

 

และมาถึงโพชฌงค์ ๗ ก็ลงด้วยอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ซึ่งท่านอธิบายว่า วางเฉยในสัตว์สังขารดังกล่าวนั้น

และเมื่อพิจารณาดูโดยลำดับธรรมะในโพชฌงค์ ก็อาจเข้าใจได้ว่า

โพชฌงค์นั้นสืบมาจากสมาธิสัมโพชฌงค์

และสมาธินั้นที่เป็นสมาธิชั้นสูง ก็ย่อมประกอบด้วยเอกัคคตา

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และอุเบกขาคือความวางเฉย

ฉะนั้น แม้ในสมาธิเองที่เป็นสมาธิชั้นสูง ก็ต้องมีอุเบกขารวมอยู่ด้วยโดยลำดับ

จนถึงสมาธิที่สูงมากเช่นในฌานที่ ๔ ก็เป็นอุเบกขาที่สงบโสมนัสโทมนัส

สงบสุข สงบทุกข์ อทุกขมสุขทั้งหมด เป็นอุเบกขาที่ประกอบกันอยู่กับเอกัคคตา

แม้สมาธิเองก็ต้องเป็นดั่งนี้

 

ญาณต้องมีอุเบกขานำ

 

และในโพชฌงค์ได้แยกเอาอุเบกขาขึ้นไปอีกข้อหนึ่ง

เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นข้อที่ ๗ ก็เพื่อเป็นการที่ตรัสแสดงเน้น

ให้เห็นความสำคัญของอุเบกขา อันจะนำไปสู่ญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์

ที่ตรัสไว้เป็นอันดับไปในข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แห่งมหาสติปัฏฐานสูตร

แสดงว่าญาณในอริยสัจจ์นั้นจะต้องมีอุเบกขานำ แต่ก็ต้องเป็นอุเบกขาที่ประกอบด้วยสมาธิ

ดังที่แสดงไว้ในองค์ฌานที่ ๔ ว่าเอกัคคตาและอุเบกขาดังกล่าว

 

และเพราะเหตุที่ปริยายแห่งการแสดงธรรมนั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสโดยปริยายนี้บ้าง โดยปริยายนั้นบ้าง

ยกเอาอุเบกขาออกมา เพื่อให้เชื่อมกับอริยสัจจญาณ

ดั่งตามแนวธรรมะในหมวดธรรมานุปัสสนา ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้บ้าง

ไม่ตรัสยกอุเบกขาออกมา ตรัสเพียงสมาธิบ้าง เช่นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า

สมาธึ ภิกขเว ภาเวถะ ภิกษุทั้งหลายท่านทั้งหลายจงอบรมสมาธิ

สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริง

ตามพระพุทธภาษิตนี้ตรัสแสดงปัญญาเชื่อมกับสมาธิทีเดียว

ตามลำดับในไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญา

 

รู้ตามเป็นจริงคือรู้อย่างไร

 

และยังได้ตรัสแสดงไว้อีกว่า รู้ตามเป็นจริงนั้นคือรู้อย่างไร

ก็ตรัสเป็นพระพุทธาธิบายต่อไปว่า ก็คือรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์

นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ก็คือตรัสอธิบายว่าอริยสัจจญาณ หรืออริยสัจจปัญญานั้นเอง

 

ฉะนั้น เมื่อตรัสยกเอาโพชฌงค์ขึ้นมาสืบต่อจากสติปัฏฐาน

ก็ตรัสอุเบกขาสัมโพชฌงค์สืบต่อขึ้นมาจากสมาธิ ก็เป็นอันแยกสมาธิออกเป็น ๒ ข้อ

เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นเอง แต่ก็อาจรวมเป็นข้อเดียวกันได้

เพราะเหตุดังกล่าวมาข้างต้น ว่าสมาธิอย่างสูงนั้นมีองค์ก็คือเอกัคคตา

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และอุเบกขา

 

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมน้อมสมาธิ น้อมจิตที่เป็นสมาธิและอุเบกขา ไปเพื่อรู้

โดยจับยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนา เพื่อรู้ในอริยสัจจ์

คือจับพิจารณาขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยนัยยะว่า

รูปอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปอย่างนี้

เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาอย่างนี้

สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาอย่างนี้

สังขารอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารอย่างนี้

วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณอย่างนี้

ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

อันเป็นอริยสัจจ์ข้อแรก ซึ่งสืบต่อไปจนถึงข้อที่สอง ข้อที่สาม ข้อที่สี่

เป็นอริยสัจจญาณ ความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์อย่างสมบูรณ์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

สัจจธรรม อริยสัจจ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ญาณความหยั่งรู้คือวิชชา ๓

ธรรมะในพระพุทธวัจนะ ๔

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ๕

อริยสัจจ์ ๔ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๘/๑ ต่อ ๑๗๘/๒ ( File Tape 137 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัจจธรรม อริยสัจจ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗

และได้ทรงแสดง วิชชาวิมุติ ต่อขึ้นไปทีเดียว ไม่ตรัสถึงอริยสัจจ์ ๔ ก็มี

ตรัสโพชฌงค์ ๗ แล้ว ตรัสอริยสัจจ์ ๔ ต่อก็มี

นี้เป็นความต่างกันแห่งธรรมปริยาย คือทางแห่งการแสดงธรรม

 

แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นอันเดียวกัน

คือในปริยายคือทางที่ทรงแสดงโพชฌงค์ต่อด้วยวิชชาวิมุติ

ผู้ปฏิบัติก็พึงเข้าใจว่า วิชชา นั้นก็คือความรู้ในอริยสัจจ์นั้นเอง

ฉะนั้น แม้ไม่ตรัสถึงอริยสัจจ์โดยตรง ก็ต้องหมายถึงอริยสัจจ์นั้นเอง

ต่อขึ้นไปด้วยในข้อวิชชาคือความรู้ ซึ่งหมายถึงความรู้จริงแจ่มแจ้ง ดังที่เรียกว่าตรัสรู้

ส่วนที่ตรัสโพชฌงค์แล้วต่อด้วยอริยสัจจ์นั้นก็เป็นนัยยะที่ทรงแสดง

ยกอริยสัจจ์ขึ้นต่อ ก็หมายถึงวิชชาในอริยสัจจ์นั้นเอง

ญาณความหยั่งรู้คือวิชชา

 

เพราะอริยสัจจ์นั้นจะบังเกิดขึ้นเองไม่ได้

ต้องอาศัยญาณคือความหยั่งรู้ วิชชาคือความรู้แจ้งจริง หรือความรู้จริงแจ้ง

จึงได้มีตรัสอธิบายในข้ออริยสัจจ์ว่า ญาณคือความหยั่งรู้

ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ญาณคือความหยั่งรู้นั้นก็คือวิชชานั้นเอง เป็นอันเดียวกัน

ฉะนั้น ปริยายแห่งธรรมทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นอย่างเดียวกัน

 

และผู้ปฏิบัติก็พึงเข้าใจด้วยว่า

ญาณในอริยสัจจ์ หรือวิชชาในอริยสัจจ์ ก็ต้องมาจากโพชฌงค์

และเมื่อกล่าวถึงสติปัฏฐานด้วย ก็กล่าวได้ว่าโพชฌงค์ก็มาจากสติปัฏฐาน

และสติปัฏฐานนั้นเองก็ยังมีตรัสว่า อาศัยสุจริต ๓ หรือศีล

ฉะนั้น จึงเข้าในหลักของ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักของการศึกษาปฏิบัติธรรมทั้งปวง

จะต้องปฏิบัติทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ด้วยกัน จึงจะไปถึงวิชชาวิมุติ

คือวิชชาหรือญาณในอริยสัจจ์ และวิมุติความหลุดพ้น

 

ในอริยสัจจ์ ๔ นั้นเริ่มต้นด้วย ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์

แต่ก็พึงเข้าใจคำว่าอริยสัจจ์ก่อน คำว่าอริยสัจจ์นั้นประกอบด้วยคำ ๒ คำ

คืออริยะศัพท์หนึ่ง สัจจะอีกศัพท์หนึ่ง อริยะนั้นแปลกันว่าประเสริฐเจริญ

และสัจจะนั้นแปลกันว่าความจริง เป็นการแปลตามความหมาย

คืออริยะหมายความว่าประเสริฐ หมายความว่าเจริญ สัจจะหมายความว่าความจริง

ก็เป็นที่เข้าใจกัน สัจจะคือความจริงนั้นมักจะพูดคู่กับธรรมะ ว่าสัจจะธรรมในภาษาไทย

ก็แปลว่าธรรมะคือสัจจะ ธรรมะคือความจริง

 

คำว่าธรรมะนั้นจะแปลว่าอะไร กล่าวโดยความก่อน

โดยความนั้น ธรรมะแปลเป็นกลางๆว่าทรงไว้ คือดำรงอยู่

เมื่อแปลเป็นกลางๆดั่งนี้ ธรรมะจึงมีความหมายเป็นกลางๆ

ดีก็เรียกว่าธรรมะ ชั่วก็เรียกว่าธรรมะ เป็นกลางๆก็เรียกว่าธรรมะ

ดังในอภิธรรมว่า กุสลาธรรมา ธรรมะเป็นกุศลคือดี อกุสลาธรรมา ธรรมะเป็นอกุศลคือชั่ว

อัพยากตาธรรมา ธรรมะเป็นอัพยากฤต คือไม่พยากรณ์ว่าดีหรือชั่วอันหมายถึงเป็นกลางๆ

 

ธรรมะในพระพุทธวัจนะ

 

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมะแปลว่าความดี ดั่งเช่นมีพระพุทธวัจนะตรัสไว้ว่า

นหิธัมโม อธัมโม จะ ธรรมคือความดี อธรรมคือสภาพที่ไม่ใช่ความดี

อุโพสมะ วิปากิโน ทั้งสองหามีวิบากคือผลเสมอกันไม่

อธรรมโม นิรยัง เนติ อธรรมย่อมนำไปสู่นิรยะคือนรก

ธัมโมปาเปติ สุคติง ธรรมะย่อมให้บรรลุถึงสวรรค์ ดั่งนี้

 

ในพระสูตรนั้นโดยมากแสดงธรรมะเป็นความดี ดังเช่นที่ยกมานั้น

ส่วนในอภิธรรมแสดงธรรมะเป็นกลางๆ ตามศัพท์ของธรรมะที่แปลว่าทรงไว้ หรือดำรงอยู่

ก็เพราะว่า ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งที่เป็นกลางๆนั้น ย่อมทรงตัวอยู่ ดำรงอยู่

เป็นความดี หรือเป็นความชั่ว หรือเป็นกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว

ตามภาวะของตน จึ่งได้มีดี มีชั่ว มีกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว

ถ้าหากว่าไม่มีความทรงตัวอยู่หรือดำรงอยู่ ดีก็จะไม่มี ชั่วก็จะไม่มี กลางๆก็จะไม่มี

เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงมีความหมายทั่วๆไปดังที่กล่าวมานี้

 

และธรรมะที่พูดกันนั้นมักจะหมายถึงตัวสัจจะคือความจริง

ดั่งที่เรียกว่าสัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง

เพราะความจริงนี้เป็นสภาพที่ทรงตัวอยู่ดำรงอยู่ คือเมื่อเป็นความจริงก็ทรงตัวเป็นความจริง

แม้เมื่อเป็นความชั่วก็ทรงตัวอยู่เป็นความชั่ว เป็นกลางๆก็ทรงตัวอยู่เป็นกลางๆ

ตามเป็นจริง ความจริงย่อมทรงตัวอยู่ หรือดำรงตัวอยู่ดั่งนี้

คือจริง เป็นความจริง ไม่แปรเป็นชั่ว หรือเป็นอย่างอื่นไปได้

ไม่แปรเป็นเท็จ คือไม่แปรเป็นอย่างอื่นไปได้ คือจริงต้องเป็นจริง

ไม่กลายเป็นเท็จหรือเป็นอื่นไปได้

 

ส่วนที่บุคคลเข้าใจกัน หรือที่บุคคลพูดกันนั้นอาจจะผิดได้

แต่ไม่ทำให้สัจจะคือความจริงนั้นผิดไป เช่น ตามความจริงเป็นความดี

ใครจะไปพูดว่าดีหรือชั่ว ก็เป็นเรื่องของคนพูดกันไปเข้าใจกันไป

จริงดีก็เป็นดีจริงอยู่นั่นเอง จริงชั่วก็เป็นชั่วจริงอยู่นั่นเอง จริงกลางๆก็เป็นกลางๆจริงอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น จริงจึงต้องเป็นจริงอยู่ตลอดไป ไม่เปลี่ยนเป็นเท็จไปตามคนพูด หรือตามคนเข้าใจ

สัจจะคือความจริงจึงหมายความดั่งนี้ และอันนี้แหละคือตัวธรรมะด้วย

ตัวธรรมะจริงๆนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ ก็ต้องเป็นของจริงของแท้

ธรรมะที่แท้จริงนั้นจึงเป็นสัจจะคือความจริง

 

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

 

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็กล่าวกันว่าตรัสรู้ธรรม ก็หมายถึงตรัสรู้สัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง

หรือที่เป็นตัวความจริงดังกล่าว แต่มักจะพูดกันในภาษาไทยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม คือตรัสรู้พระธรรมอย่างที่พูดกัน และเมื่อพูดให้ชัดขึ้นอีก

อาศัยปฐมเทศนาเป็นต้น ก็กล่าวว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔

แต่แม้จะพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม หรือตรัสรู้ธรรม ก็คือตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ นั้นเอง

เพราะฉะนั้นคำว่าสัจจะคือมีความหมายดังกล่าว และธรรมะก็มีความหมายดังกล่าว

และทั้งสองคำนี้ก็เป็นคำที่นำมาใช้กันในภาษาไทย

เพราะฉะนั้น จึงควรเข้าใจความหมายของคำทั้ง ๒ นี้ให้ถ่องแท้

 

อริยสัจจ์ มีคำแปลได้หลายอย่าง

ตามที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายได้แสดงกันไว้ คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔

หรือพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔

ฉะนั้น คำว่าอริยสัจจ์จึงแปลได้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้

หรือยกพระพุทธเจ้าขึ้นพระองค์เดียวเพราะตรัสรู้เป็นพระองค์แรก พระสาวกนั้นตรัสรู้ตาม

ก็กล่าวได้ว่าสัจจะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

 

อนึ่ง พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึ่งได้เป็นพระอริยะ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นขึ้น

ฉะนั้น อริยสัจจ์ จึงอาจที่จะแปลความหมายได้อีกว่า

สัจจะที่ทำให้พระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ตรัสรู้ขึ้นเป็นพระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นขึ้น

อนึ่ง คำว่าอริยะสัจจ์ที่แปลมาประการหลังนี้ ก็อาจจะแปลให้สั้นขึ้นว่า

สัจจะที่เป็นเหตุให้ผู้รู้เป็นพระอริยะ

 

อริยสัจจ์ ๔

 

อนึ่ง อริยะแปลตามความได้ว่าประเสริฐ คือจริงถ่องแท้

อริยะสัจจ์จึงอาจแปลได้ว่า สัจจะที่ประเสริฐคือจริงถ่องแท้ ไม่ผิดพลาด

และอริยสัจจ์นี้ก็มี ๔ ได้แก่ อริยสัจจ์คือทุกข์ คือทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์

คือทุกขนิโรธความดับทุกข์ คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats