ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป132

สฬายตนะวิภังคสูตร (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

เคหะสิตะอุเบกขา ๒

อัญญาณุเบกขา ๓

เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ๔

เนกขัมมะสิตะโสมนัส ๕

เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ๖

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๒/๒ ( File Tape 132 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สฬายตนะวิภังคสูตร (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงสฬายตนะวิภังคสูตร พระสูตรที่แสดงการจำแนกอายตนะ ๖

มาจนถึงสัตตบถทางปฏิบัติดำเนินของสัตว์โลก ในข้ออาศัยเนกขัมมะสิตะโสมนัสคือความยินดี

อาศัยเนกขัมมะคือการออก ละเคหะสิตะโสมนัสคือความยินดีที่อาศัยเรือนคือกาม

และข้อที่ว่าให้อาศัยเนกขัมมะสิตะโทมนัสความยินร้าย ความไม่ยินดีที่อาศัยเนกขัมมะ

ละเคหะสิตะโทมนัส คือความยินร้ายไม่ยินดีที่อาศัยเรือน ซึ่งได้อธิบายมาแล้วทั้ง ๒ ข้อ

 

เคหะสิตะอุเบกขา

 

วันนี้จะอธิบายในข้อ ๓ ต่อไป ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมะสิตะอุเบกขา

ความวางใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากกาม

ละเคหะสิตะอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง อาศัยเรือนคือกาม

แต่ก็พึงเข้าใจความแห่งเคหะสิตะอุเบกขาก่อน

แม้ในข้อนี้จะได้อธิบายมาแล้ว แต่ก็จะต้องซ้ำความทบทวนความ ก่อน

อันอุเบกขาคือความที่มีใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายนั้น ของสามัญชน หรือของบุถุชน

หรือว่าของชาวโลกทั้งหลาย ในอารมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีอยู่มากเหมือนกัน

คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น ทางตาหูเป็นต้น ก็รู้สึกเป็นกลางๆ

ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ไม่ชอบไม่ชัง โดยปล่อยให้ผ่านไปๆ

ปราศจากการจับขึ้นมาพิจารณา เป็นความเฉยเมยอย่างเผลอๆ

 

อัญญาณุเบกขา

 

วันหนึ่งๆอาการของจิตดั่งนี้ในเรื่องทั้งหลาย

หรือในอารมณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็มีอยู่มาก

จะพึงเห็นได้ง่ายว่าช่วงระยะเวลาอันหนึ่งๆ เช่นช่วงเวลาที่เดินจากจุดนี้ไปสู่จุดโน้น

ก็ต้องลืมตาในการเดิน ก็มองเห็นอะไรต่ออะไรเป็นอันมาก หลายสิบหลายร้อยอย่าง

แต่ว่าสิ่งที่เห็นเหล่านั้น ที่ทำให้จิตใจชอบหรือให้จิตใจชังนั้น ก็มีอยู่ไม่ทั้งหมด

หรือว่าจะมีอยู่น้อยก็ได้ ส่วนที่มองผ่านไปเฉยๆนั้นมีมาก ไม่ติดใจอะไร

ไม่ใช่ว่าไม่เห็น เห็นแล้วก็รู้ด้วยว่าอะไร แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ

เว้นไว้แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ชอบหรือชัง เกิดโสมนัสยินดี หรือโทมนัสยินร้าย

จึงจะติดใจ เป็นชอบหรือเป็นชัง เป็นยินดีหรือเป็นยินร้าย

ส่วนที่ผ่านไปเฉยๆ เพราะไม่ให้เกิดสุขหรือทุกข์ ยินดีหรือยินร้ายนั้นมีมาก

แม้เสียงที่ได้ยินทางหูก็เช่นเดียวกัน กลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

แม้เรื่องราวที่ผุดขึ้นในใจก็เช่นเดียวกัน ผ่านๆไปๆ มีอยู่มาก

ฉะนั้น อุเบกขาเช่นนี้จึงเป็นปรกติของบุถุชน สามัญชน หรือชาวโลก

ไม่ต้องปฏิบัติธรรมะอะไรเพื่อให้จิตเป็นเช่นนั้น จิตเป็นไปเอง

ในเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

 

แต่อุเบกขาเช่นนี้ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อัญญาณอุเบกขา

อุเบกขาที่ประกอบด้วยความไม่รู้ คือไม่รู้สัจจะความจริงของสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้น

และอุเบกขาที่เป็นอัญญาณอุเบกขาดังนี้แหละ เรียกว่าเคหะสิตะอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเรือน

อันนับเนื่องอยู่ในกาม เป็นปรกติวิสัยของบุถุชน ของชาวโลกหรือสามัญชน

 

เนกขัมมะสิตะอุเบกขา

 

ส่วนเนกขัมมะสิตะอุเบกขานั้นหมายถึงอุเบกขาคือความมีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง

ด้วยการที่ใส่ใจพิจารณาว่าสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์

มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับทุกอย่าง

เรียกว่ามีความใส่ใจในอารมณ์ที่ประสบผ่าน และก็มีความรู้พิจารณาขึ้น ดั่งนั้น

ซึ่งอาจจะเห็นว่า จะเป็นการช้ากว่าปรกติธรรมดา

เพราะจะหยุดพิจารณาไปทุกสิ่งทุกอย่างนั้น น่าจะทำไม่ได้

จะเดินไปไหนสักทีหนึ่งก็ต้องหยุดชงักๆๆไปทุกคราว ไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น

แต่มีความหมายว่าสนใจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านรวมกันไป

จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม จะยืนก็ตาม หรือจะวิ่งก็ตาม

ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ทั้งนั้น โดยปรกตินั่นแหละ

 

แต่ให้มีความรู้ประจำใจอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านนั้นๆ

ตาจะเห็นอะไร สักกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่าง ก็ตาม

หูจะได้ยินอะไร มากน้อยเท่าไรก็ตาม เป็นต้น ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีเกิดมีดับเป็นธรรมดาเหมือนกันทั้งหมด

 

ให้มีความรู้ครอบอยู่ดั่งนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง

จึงรวมเอาสิ่งที่เป็นอุเบกขา อันเป็นอัญญาณุเบกขาดังกล่าวมาแล้วนั้นด้วย

ซึ่งเป็นอันว่า แม้จะให้เกิดชอบเกิดชัง เกิดโสมนัสโทมนัส

หรือว่าไม่เกิดโสมนัสโทมนัส ไม่เกิดชอบเกิดชังก็ตาม

ก็ล้วนเป็นของที่ไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับดังกล่าวเหมือนกันหมด

อุเบกขาที่บังเกิดขึ้นด้วยความรู้ดั่งนี้เป็นเนกขัมมะสิตะอุเบกขา

อุเบขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก

 

เพราะฉะนั้น จึงให้มาปฏิบัติดั่งนี้ ในเมื่อได้ประสบพบผ่านทุกสิ่งทุกอย่าง

ว่าสิ่งที่ประสบพบผ่านนั้นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับเหมือนกันหมด

และวางเฉยได้เพราะรู้เพราะเห็นดั่งนี้ ดั่งนี้เป็นเนกขัมมะสิตะอุเบกขา

ก็ให้อาศัยเนกขัมมะสิตะอุเบกขาดั่งนี้แหละ ละเคหะสิตะอุเบกขาเสีย

อันหมายความว่า อย่าให้เฉยเมยไปเฉยๆ โดยไม่รู้อะไร แต่ให้รู้อยู่ทุกขณะ ทุกสิ่งทุกอย่าง

แม้ที่เป็นอุเบกขานั้น ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ล้วนไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ

เคหะสิตะอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเรือนก็จะหายไป มาเป็นเนกขัมมะสิตะ

อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ อันนับว่าเป็นข้อปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง

 

เนกขัมมะสิตะโสมนัส

 

และต่อจากก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อไปเป็นข้อที่ ๔

คือให้อาศัยเนกขัมมะสิตะโสมนัส ละเนกขัมมะสิตะโทมนัส

อันเนกขัมมสิตะโสมนัสนั้น เป็นโสมนัสคือความยินดีที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก

ซึ่งได้อธิบายแล้วเหมือนกัน แต่จะซ้ำความสั้นๆว่า

คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น ก็พิจารณาว่าอารมณ์ที่ประสบทั้งปวงนี้

ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับ

ก็เกิดโสมนัสขึ้นมา เป็นความยินดี เพราะรู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง

ของสิ่งทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็เป็นเนกขัมมะสิตะโสมนัส

 

แต่ว่าสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะดังกล่าวนั้น

ในบางคราวเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆก็พิจารณามองเห็นอนิจจตา

แต่ว่าเกิดมีความกระหยิ่มใจใคร่จะได้อนุตรวิโมกข์ คือความหลุดพ้นอย่างยิ่ง

ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้สิ้นทุกข์ แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะได้อนุตริยวิมุติ

จึงมีความเสียใจว่าตนเป็นผู้ที่มีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ไม่ได้ไม่ถึงธรรมะอย่างยอด

ความเสียใจดั่งนี้เป็นเนกขัมมะสิตะโทมนัส ความโทมนัสที่บังเกิดขึ้นที่อาศัยเนกขัมมะ

คือการออกจากกาม อยากจะออก อยากจะได้ อยากจะบรรลุถึงสูงสุดทีเดียว ไม่ได้ก็เสียใจ

เพราะฉะนั้น หากเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึงเตือนตนเองว่าให้ปฏิบัติไป อย่ามีตัณหาในผล

เพราะความกระหยิ่มใจใคร่จะได้นั้นเป็นตัณหาในผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ย่อมจะไม่ได้

 

เหมือนอย่างการขึ้นบรรได พึงมีหลายขั้น

เมื่อขึ้นบรรไดมาถึงขั้นที่หนึ่งขั้นที่สอง ยังอยู่ข้างหน้าอีกสิบกว่าขั้น

หรือยี่สิบสามสิบขั้น ก็เกิดใคร่ที่จะได้ขึ้นถึงขั้นที่สุดทีเดียว ดั่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้

ต้องขึ้นไปทีละขั้นสองขั้นโดยลำดับ แล้วก็จะถึงขั้นที่สุดเอง

ให้เตือนใจของตนดั่งนี้ จนเห็นโทษของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ส่วนความกระหยิ่มซึ่งเป็นตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะสามารถระงับความกระหยิ่มใจใคร่จะได้ หรือระงับตัณหาได้

และเมื่อระงับตัณหาได้ดั่งนี้ ปฏิบัติพิจารณาในอนิจจตาเรื่อยไป

ได้ความรู้ความเห็นอนิจจตาชัดขึ้นมา ก็จะเกิดโสมนัสจากการรู้การเห็นนั้น

เป็นเนกขัมมะสิตะโสมนัส จึงให้อาศัยปฏิบัติดั่งนี้

คืออาศัยเนกขัมมะสิตะโสมนัส ละเนกขัมมสิตะโทมนัสเสีย ก็นับว่าเป็นขั้นที่ ๔

 

เนกขัมมะสิตะอุเบกขา

 

และอีกขั้นหนึ่งอันเป็นขั้นที่ ๕ นั้น

ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมะสิตะอุเบกขา ละเนกขัมมะสิตะโสมนัส

คือว่าเนกขัมมะสิตะอุเบกขานั้น ก็เป็นนักปฏิบัติเป็นผู้ปฏิบัตินั่นแหละ

เมื่อประสบอารมณ์ทั้งหลาย ก็พิจารณาให้รู้ให้เห็นในอนิจจตา

คือความไม่เที่ยงของอารมณ์เหล่านั้น ( เริ่ม ๑๗๒/๒ ) อันเป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนกว่า

ซึ่งทำให้จิตใจนี้สงบเป็นอุเบกขา คือวางเฉยๆได้โดยไม่มีโสมนัสคือความยินดี

ก็เป็นเนกขัมมะสิตะอุเบกขา

 

ส่วนที่เป็นเนกขัมมะสิตะโสมนัสนั้น ก็เป็นผู้ปฏิบัตินั่นแหละ

รู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง อาจจะเป็นว่าเพิ่งรู้เห็นขึ้นใหม่ก็ปลื้มใจ

ว่าเรารู้เราเห็นอนิจจตาความไม่เที่ยง ก็เป็นเนกขัมมะสิตะโสมนัส

เมื่อเป็นโสมนัสความยินดี จึงเรียกว่ายังเจือความยินดีอยู่ ความรู้ความเห็นก็ยังไม่ละเอียด

จึงไม่สนใจในความยินดี คือไม่มัวแต่ยินดีว่าเรารู้เราเห็น เพียงแค่นี้

แต่ว่าจับพิจารณาต่อไปในอนิจจตาคือความไม่เที่ยงของอารมณ์ทั้งหลาย

มุ่งให้รู้ให้เห็นในสัจจะคือความจริงนั้นชัดเจน ปล่อยวาง จิตก็สงบ

ด้วยปราศจากความยินดี วางความยินดีได้ มีความสงบเฉยอยู่เป็นปรกติ

ประกอบด้วยความรู้ความเห็นในอนิจจตาคือความไม่เที่ยง

ก็เลื่อนขึ้นเป็นเนกขัมมะสิตะอุเบกขา อันเป็นภูมิชั้นของการปฏิบัติที่สูงขึ้น

ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยเนกขัมมสิตะอุเบกขา ละเนกขัมมะสิตะโสมนัสอีกขั้นหนึ่ง

 

เพราะฉะนั้น ในขั้นที่ ๕ นี้จึงเป็นภูมิปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้น

และก็เป็นปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นมาโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นที่ ๕ นี้

วันนี้ยุติเท่านี้

 

*

สฬายตนะวิภังคสูตร (๔)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

อุเบกขา ๒ ๔

ตัมมยตา อตัมมยตา ๕

วุฏฐานคามินีวิปัสสนา ๖

ความเพลินในอรูปสมาบัติ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๓/๑ ( File Tape 132 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ฉฬายตนะวิภังคสูตร (๔)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงสัตบถคือทางดำเนินของสัตว์โลก ๓๖ ประการมาแล้ว

และได้แสดงถึงการละสัตบถเหล่านั้น ซึ่งอาศัยสัตบถที่ละเอียดกว่า ละสัตบถที่หยาบกว่า

อันเป็นทางปฏิบัติธรรมทางจิตใจใน สฬายตนะวิภังคสูตร มาโดยลำดับ

คืออาศัยเนกขัมมะสิตะโสมนัส ละเคหะสิตะโสมนัส

อาศัยเนกขัมมะสิตะโทมนัส ละเคหะสิตะโทมนัส

อาศัยเนกขัมมะสิตะอุเบกขา ละเคหะสิตะอุเบกขา

อาศัยเนกขัมมสิตะโสมนัส ละเนกขัมมะสิตะโทมนัส

อาศัยเนกขัมมสิตะอุเบกขา ละเนกขัมมะสิตะโสมนัส

 

สำหรับใน ๒ หมวดหลังนี้ จะได้อธิบายทบทวนในที่นี้

อัน เนกขัมมะสิตะโสมนัส ที่แปลว่าความยินดี อาศัยเนกขัมมะคือการออก

ได้แก่ เมื่อประสบอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์เป็นต้น ทั้ง ๖

ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมคลาย

ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความดับ ก็เกิดโสมนัสขึ้น

แต่ว่าบางทีมีความใคร่จะได้วิโมกข์คือความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม

ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้กัน ใคร่ที่จะได้ แต่ว่าไม่ได้ ก็เกิดโทมนัสขึ้นมา

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้พิจารณาว่าไม่ควรจะมีความปรารถนาต้องการ ซึ่งเป็นตัณหา

เมื่อมีความปรารถนาต้องการเป็นตัณหาก็เกิดทุกข์ เป็นโทมนัส

 

ฉะนั้น ให้ตั้งหน้าปฏิบัติพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง

ความต้องเสื่อมคลาย ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงต่อไปให้เห็นชัดขึ้น

และเมื่อการปฏิบัติเข้าถึงขั้นแล้ว ก็ย่อมจะได้ความหลุดพ้นขึ้นเองตามขั้นตอนที่ปฏิบัติถึง

ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งความปรารถนาอย่างแรง อันเป็นตัวตัณหา

และตัวตัณหานี้เองก็เป็นเครื่องกั้นเอาไว้ไม่ให้ประสบความหลุดพ้นได้

จะประสบความหลุดพ้นได้ ก็ต้องวางความกระหยิ่ม ความใคร่จะได้ อันเป็นตัณหาเสีย

 

เมื่อพิจารณาดั่งนี้ ความโทมนัสก็จะหายไป

เพราะจะดับความกระหยิ่มใคร่จะได้ อันเป็นตัณหาเสียได้

ก็จะเกิดโสมนัสขึ้นแทน อันเรียกว่าเป็น เนกขัมมะสิตะโสมนัส

คือเป็นความโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก

จึงชื่อว่าอาศัย เนกขัมมะสิตะโสมนัส ละ เนกขัมมสิตะโทมนัส

อันนับว่าเป็นขั้นที่ ๔

 

และต่อไปขั้นที่ ๕ ก็ให้อาศัย เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ละ เนกขัมมะสิตะโสมนัส เสีย

เนกขัมมะสิตะอุเบกขานั้น ก็คือเมื่อประสบอารมณ์ทั้งหลาย ก็พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง

ความดับ ความต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเสื่อมสลายดังกล่าว

ก็เกิดอุเบกขาคือความปล่อยวาง อันมีลักษณะที่เป็นความวางจิตใจเป็นกลาง

อันเรียกว่าวางเฉย คือไม่ปรากฏความยินดียินร้าย มีใจเป็นกลาง

กำหนดอยู่ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง อันเรียกว่าอุเบกขา

ดั่งนี้เรียกว่า เนกขัมมะสิตะอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ

 

แต่ว่าในบางคราวจิตไม่เป็นอุเบกขา

ในเมื่อได้เห็นความไม่เที่ยงเป็นต้นของอารมณ์ทั้งหลาย

แต่ว่าจิตเกิดโสมนัสคือความยินดีพอใจ อิ่มเอิบใจ ว่าเรารู้เราเห็น

ก็อิ่มเอิบใจ ซึ่งเรียกว่าเป็น เนกขัมมะสิตะโสมนัส

ฉะนั้น เมื่อได้โสมนัสดั่งนี้ก็ให้พิจารณาว่า จิตใจที่ยังยินดี พอใจ

อิ่มใจว่าเรารู้เราเห็น ยังเป็นจิตใจที่มีอาการขึ้นลงอยู่

เพราะว่าอันความยินดีที่เป็นความโสมนัสนั้น เป็นอาการของจิตที่เรียกว่าขึ้น อิ่มเอิบ

และเมื่อจิตขึ้นได้ ก็ลงได้

 

ฉะนั้น จึงควรที่จะสงบความยินดีอิ่มเอมใจ อันเป็นอาการของจิตที่ขึ้น

มาทำจิตใจให้เป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย อันเรียกว่าอุเบกขา เป็นความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่

พิจารณาให้เห็นประโยชน์เห็นคุณของอุเบกขาดั่งนี้ จิตก็จะสงบอาการที่อิ่มเอมใจ

ดีใจ พอใจนั้นเสียได้ มาเป็นอุเบกขา อันเรียกว่า เนกขัมมะสิตะอุเบกขา

อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก ออกจากกาม

ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยเนกขัมมะสิตะอุเบกขา ละเนกขัมมะสิตะโสมนัส อันเป็นขั้นที่ ๕

 

อุเบกขา ๒

 

ต่อจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้รู้จักอุเบกขาว่ามี ๒ อย่าง

คือ เอกัตตา เอกัตตติตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง ที่อาศัยความเป็นหนึ่งอย่างหนึ่ง

นานัตตา นานัตตะสิตะอุเบกขา อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆอีกอย่างหนึ่ง

และได้ตรัสอธิบายว่า นานัตตา นานัตตะสิตาอุเบกขา ที่เป็นอุเบกขาที่มีต่างๆ

อาศัยความมีต่างๆกันนั้น ก็ได้แก่อุเบกขาในรูปทั้งหลาย อุเบกขาในเสียงทั้งหลาย

อุเบกขาในกลิ่นทั้งหลาย อุเบกขาในรสทั้งหลาย อุเบกขาในโผฏฐัพพะ

คือสิ่งที่กายถูกต้องทั้งหลาย อุเบกขาในธรรมะคือในเรื่องราวทั้งหลาย

เพราะเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ หลักดั่งนี้ จึงเรียกว่า นานัตตา นานัตตะสิตาอุเบกขา

อุเบกขาที่มีต่างๆ อาศัยความมีต่างๆ

 

ส่วน เอกัตตา เอกัตตติตาอุเบกขา นั้น ได้แก่อุเบกขาที่มีอย่างเดียว

อาศัยความมีอย่างเดียว ได้แก่อุเบกขาในอรูปสมาบัติ หรือในอรูปฌานทั้งหลาย

อันเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ

อากิญจัญญายตนะบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง

อุเบกขาในอรูปสมาบัติที้ง ๔ นี้ เรียกว่า เอกัตตา เอกัตตติตาอุเบกขา

 

ตรัสสอนให้อาศัย เอกัตตา เอกัตตติตาอุเบกขา ละ นานัตตา นานัตตะสิตาอุเบกขา เสีย

โดยที่เมื่อได้อุเบกขาในอารมณ์ทั้ง ๖ อันเป็นนานัตตา นานัตตะสิตาอุเบกขา

อุเบกขาที่มีต่างๆ อาศัยความมีต่างๆ คือเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เหล่านั้น

อันจะพึงเรียกว่าเป็นอุเบกขาในรูปสมาบัติ หรือในรูปฌานก็ได้

 

หากได้ ก็พิจารณาว่า อุเบกขาอย่างนี้อย่างหยาบ

ยังมีอุเบกขาที่ละเอียดเป็นหนึ่ง ก็คืออุเบกขาในอรูปสมาบัติ

ให้หัดปฏิบัติทำอรูปสมาบัติ หรืออรูปฌานให้บังเกิดขึ้น

และหากบังเกิดขึ้นได้ ก็ชื่อว่าได้บรรลุ เอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีเป็นหนึ่ง

อาศัยความมีเป็นหนึ่ง ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าอาศัย เอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา

ละ นานัตตา นานัตตะติตาอุเบกขา อันนับว่าเป็นขั้นที่ ๖

 

ตัมมยตา อตัมมยตา

 

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็ยังไม่ถึงที่สุด จึงได้ตรัสสอนต่อไปว่า

ให้อาศัย อตัมมยตา ละ เอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา

ได้มีอธิบายในอรรถกถาว่า ตัณหานั้นเรียกว่า ตัมมยตา

( เริ่ม ๑๗๓/๑ ) ฉะนั้น จึงทำให้เข้าใจว่า อตัมยตา นั้นได้แก่ความที่ไม่มีตัณหา

คำว่าอตัมยตาคือความไม่มีตัณหา กับตัมมยตาอันเป็นชื่อของตัณหานี้ เพ่งดูถึงศัพท์แสงแล้ว

ก็ยากที่จะหาคำแปลได้ ค้นดูในตำราศัพท์ต่างๆ ก็ยังไม่พบคำแปลที่แปลไว้

 

หากว่าจะใช้ความคาดคะเนดูหน้าตาของคำ

คำว่าตัมมยตาก็ดูมีเค้าที่อาจจะแปลได้ว่า คือความเห็นยึดถือว่านั้นเป็นของเรา

ความเห็นยึดถือว่านั้นเป็นของเราเป็นลักษณะของตัณหา ของมานะ ของทิฏฐิ

ซึ่งเป็นกิเลสชั้นเดียวกัน ใช้ควบกันไป อย่างที่มีแสดงว่าความเห็นยึดถือว่านี้ของเรา

เรียกว่าตัณหาความเห็นยึดถือว่าเราเป็นนี่

เป็นมานะความเห็นยึดถือว่านี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เป็นทิฏฐิ

และความเห็นยึดถือที่มีลักษณะทั้ง ๓ นี้ ใช้เรียกไปด้วยกันทั้ง ๓ อย่าง

ทั้งในด้านยึดถือก็เห็นยึดถือว่านี่ของเรา ว่าเราเป็นนี่ ว่านี่เป็นตัวตนของเรา

หรือในด้านไม่ยึดถือก็แสดงว่า ไม่เห็นยึดถือว่านี่ของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา

 

เพราะฉะนั้น ดูหน้าตาของคำว่าตัมมยตา

ก็มีเค้าที่อาจจะแปลตามศัพท์หรือตามตัวว่า ความเห็นยึดว่านั้นเป็นของเรา จึงเป็นตัณหา

และเมื่อเป็นอตัมยตา ก็เป็นปฏิเสธ คือเป็นความที่ไม่เห็นยึดถือว่านั้นเป็นของเรา

เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงว่าตัมมยตาคือตัณหา ซึ่งส่องความว่าอตัมมยตา ก็คือความไม่มีตัณหา

 

วุฏฐานคามินีปฏิปทา วุฏฐานคามินีวิปัสสนา

 

และพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายอตัมมยตานี้ว่าได้แก่ วุฏฐานคามินีปฏิปทา

วุฏฐานคามินีวิปัสสนา วิปัสสนาคือความเห็นแจ้ง

ที่เป็นเหตุให้ออกจากความครอบงำของตัณหา

และย่อมละอุเบกขาที่เกิดจากอรูปสมาบัติทั้ง ๔

และวิปัสสนูเบกขา คืออุเบกขาที่ได้จากวิปัสสนา ได้ด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา

คือวิปัสสนาที่ให้ถึงการออกนี้ ก็คืออตัมมยตานั้นเอง เป็นตัววิปัสสนาในขั้นสูง

อันเป็นเหตุให้ออกจากความครอบงำของตัณหาได้ จึงเรียกว่าอตัมมยตา

ตรัสสอนให้ปฏิบัติอาศัยอตัมยตานี้ละ เอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา

คืออุเบกขาที่มี ๑ ที่อาศัยความมี ๑ คืออุเบกขาในอรูปสมาบัติ

 

ความเพลินในอรูปสมาบัติ

 

ตามที่ตรัสไว้นี้เป็นเครื่องแสดงว่า

แม้ปฏิบัติธรรมะจนได้ถึงอรูปสมาบัติ คืออรูปฌานแล้ว

อันได้ชื่อว่าได้เอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด

เพราะว่าในขั้นนี้ได้มีตรัสไว้ในโสฬสปัญหาว่า ยังมีนันทิคือความเพลินเป็นเครื่องผูกไว้

อันทำให้ติดอยู่ในอรูปสมาบัติ นันทิคือความเพลินนี้ ก็เป็นคำที่หมายถึงตัณหานั้นเอง

ฉะนั้น แม้ได้อรูปสมาบัติแล้ว เพียงเท่านั้น ก็ยังละตัณหาไม่ได้ ยังออกจากตัณหาไม่ได้

ตัณหายังครอบงำอยู่ตลอดเวลาที่ยังติดอยู่ในอรูปสมาบัติ

อันเป็นเอกัตตา เอกัตตะติตาอุเบกขา

 

จึงต้องพิจารณาให้รู้จักความจริงอันนี้ และละนันทิคือความเพลินติดอยู่เสีย

ด้วยการที่มาปฏิบัติทางวิปัสสนา มองให้เห็นความเกิดขึ้นและความดับไป อันเป็นอนิจตา

ประกอบทั้งความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความสิ้นความเสื่อม แม้ของอรูปสมาบัติ

คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปได้ จึงไม่เที่ยงต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

ให้เกิดปัญญามองเห็นไตรลักษณ์แม้ในอรูปสมาบัตินั้น จนจิตสละความเพลิดเพลิน

อันเป็นนันทิในอรูปสมาบัติเสียได้ ตัณหาในอรูปสมาบัตินั้นครอบงำจิตไม่ได้

จึงเป็นอตัมมยตา คือวิปัสสนา อันเป็นเหตุให้ออกจากความครอบงำของตัณหาได้

อันเรียกว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา ดังกล่าว

และเมื่อถึงอตัมยตาดั่งนี้แล้ว จึงเป็นอันปฏิบัติเข้าถึงมรรคผล

อันนับว่าเป็นที่สุดของการปฏิบัติ นำให้ได้อนุตรวิโมกข์คือความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม

 

ฉะนั้น อตัมมยตานี้จึงเป็นที่สุดของวิปัสสนาปัญญา เชื่อมต่อมรรคผล

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงไว้ ว่าให้อาศัยอตัมมยตาละ เอกัตตา เอกัตติตาอุเบกขา

อุเบกขาที่มีเป็น ๑ อาศัยความมีเป็น ๑ คืออุเบกขาในอรูปสมาบัติ

กับทั้งแม้อุเบกขาในวิปัสสนาเอง ที่ยังต่ำกว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา

วุฏฐานคามินีวิปัสสนานี้ จึงเป็นวิปัสสนาขั้นยอด ก็คืออตัมมยตานี้เอง

เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมสำหรับเป็นทางปฏิบัติ

เกี่ยวแก่การปฏิบัติทางจิตใจ กับอารมณ์ของจิตใจตั้งแต่เบื้องต้นในสัตบถทั้ง ๓๖ ประการนี้

อาศัยขั้นแรก และขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ให้ขั้นที่ ๒ ละขั้นแรก ขึ้นไปถึงขั้นที่ ๓

และให้ละกันไปโดยลำดับดั่งนี้ เป็น ๗ ขั้น ถึงอตัมมยตานี้เป็นที่สุดของการปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats