ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:37
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป131
สฬายตนะวิภังคสูตร (๑)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สัตตบถ ๓๖ ๔
เคหะสิตะโสมนัส เนกขัมมะสิตะโสมนัส ๕
เคหะสิตะโทมนัส เนกขัมมะสิตะโทมนัส ๕
เคหะสิตะอุเบกขา เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๗๐/๒ ครึ่งหลังต่อ ๑๗๑/๑ - ๑๗๑/๒ ( File Tape 131 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สฬายตนะวิภังคสูตร (๑)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงอธิบายสฬายตนะวิภังคสูตร
คือพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกอายตนะ ๖
ในพระสูตรนี้พระองค์ได้ตรัสบทอุเทศคือแม่บท เป็นหัวข้อกระทู้ที่จะทรงอธิบาย
ตั้งต้นแต่อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ประชุมหรือหมวดหมู่แห่งวิญญาณ ๖
ประชุมหรือหมวดหมู่ของผัสสะ ๖ มโนปวิจารคือความเที่ยวไปนึกคิดของใจ ๑๘
สัตตบถคือทางดำเนินของสัตว์คือผู้ข้องเที่ยวอยู่ ๓๖
และยังมีต่อไปอีก อันเป็นส่วนทางปฏิบัติสูงสุด ซึ่งจะกล่าวเมื่อถึง
จะได้แสดงอธิบายไปตามข้อกระทู้บทอุเทศ ที่ตรัสยกไว้นี้ไปโดยลำดับ
อายตนะภายใน ๖ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนหรือมนะคือใจ
อายตนะภายนอก ๖ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องและธรรมะคือเรื่องราว
๒
ประชุมหรือหมวดหมู่แห่งวิญญาณ ๖ ก็คือจักขุวิญญาณ รู้รูปคือเห็นรูปทางตา
โสตะวิญญาณ รู้คือได้ยินเสียงทางหู ฆานะวิญญาณ รู้คือทราบกลิ่นทางจมูก
ชิวหาวิญญาณ รู้คือทราบรสทางลิ้น กายวิญญาณ รู้คือทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย
มโนวิญญาณ รู้ก็คือรู้คิดเรื่องทางมโนคือใจ
หมวดหมู่แห่งผัสสะ ๖ ก็คือ
จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา โสตะสัมผัส สัมผัสทางหู
ฆานะสัมผัส สัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น
กายสัมผัส สัมผัสทางกาย มโนสัมผัส สัมผัสทางมโนคือใจ
มโนปวิจารความเที่ยวไปคิดนึกของใจ ๑๘ ก็คือ
เห็นรูปทางตา (เริ่ม ๑๗๑/๑ ) ก็เที่ยวไปคิดนึกถึงรูป
อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสคือความยินดีบ้าง เป็นที่ตั้งของโทมนัสความยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือความที่มีใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
ได้ยินเสียงทางหู ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกถึงเสียง อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขาเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
สูดกลิ่นทางจมูก ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกถึงกลิ่น อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขาเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
ลิ้มรสทางลิ้น ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไปถึงรส อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขาเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องทางกาย ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไปถึงสิ่งถูกต้อง
อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
รู้หรือคิดเรื่องทางมโนคือใจ ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไปถึงเรื่อง
อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
๓
นับรวมกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว
อันเป็นที่ท่องเที่ยวคิดนึกไปของใจ ทั้ง ๖ นี้
เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดี ๖ เป็นที่ที่ตั้งของโทนัสยินร้าย ๖
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้าย ๖
รวมเข้าก็เป็น ๑๘
สัตตบถ ๓๖
สัตตบถทางดำเนินไปของสัตว์คือผู้ข้องเกี่ยว ๓๖
ก็คือยกเอาโสมนัสยินดี โทมนัสยินร้าย และอุเบกขาความรู้สึกเป็นกลางๆไม่ยินดีไม่ยินร้าย
ซึ่งเป็นไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวทั้ง ๖ นั้น นั่นแหละ
โดยมาจำแนกว่าเป็นโสมนัสยินดีที่อาศัยเรือน อันเรียกว่าเคหะสิตะโสมนัส ๖
เป็นโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน เรียกว่าเนกขัมมะสิตะโสมนัส ๖
โทมนัสยินร้ายที่อาศัยเรือน อันเรียกว่าเคหะสิตะโทมนัส ๖
โทนัสที่อาศับเนกขัมมะคือการออกจากเรือน อันเรียกว่าเนกขัมมะสิตะโทมนัส ๖
อุเบกขาที่อาศัยเรือนอันเรียกว่าเคหะสิตะอุเบกขา ๖
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะการออกจากเรือน อันเรียกว่าเนกขัมมะสิตะอุเบกขา ๖
ฉะนั้น เมื่อรวมกันเข้าเป็นเคหะสิตะโสมนัส
ที่เป็นไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว ๖
เนกขัมมะสิตะโสมนัสที่เป็นไปในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ นั้น นั่นแหละ ๖
เคหะสิตะโทมนัสที่เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น
เนกขัมมะสิตะโทมนัสที่เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น
เคหะสิตะอุเบกขาที่เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น
เนกขัมมะสิตะอุเบกขาที่เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น
หกหกก็เป็นสามสิบหก จึงมี ๓๖
๔
เคหะสิตะโสมนัส เนกขัมมะสิตะโสมนัส
ครั้นทรงจำแนกดั่งนี้แล้ว ก็ตรัสอธิบายเป็นข้อๆไปว่า
เคหะสิตะโสมนัสยินดีที่อาศัยเรือนนั้นเป็นอย่างไร
คือว่าเมื่อนึกดูถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและเรื่องราว
ซึ่งจะพึงรู้ได้ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจ
แต่ละข้อ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เป็นที่รื่นรมย์ใจ ประกอบด้วยโลกามิส
คือเหยื่อซึ่งเป็นเครื่องล่อของโลก ก็เกิดโสมนัสคือความยินดี
มีอาการเป็นความติดใจความเพลิดเพลิน ดั่งนี้ เรียกว่าเคหะสิตะโสมนัส
เมื่อนึกดูถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและเรื่องราวที่รู้
คือเห็นทางตา ได้ยินทางหู ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้คิดทางมโนคือใจ
อันเป็นรูปที่เคยเห็นมาก่อนแล้ว หรือในปัจจุบันก็ดี
เป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะเป็นธรรมะคือเรื่องราว
ที่ได้ยินได้ทราบได้รู้มาในก่อนแล้ว หรือในบัดนั้นก็ดี
มีความรู้ว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว
ทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
อันนำให้เกิดความสำรอกใจจากความติดใจยินดี นำให้เกิดความดับความเพลิดเพลิน
ก็เกิดโสมนัสขึ้น จึงเรียกว่าเนกขัมมะสิตะโสมนัส
โสมนัสยินดีที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เคหะสิตะโทมนัส เนกขัมมะสิตะโทมนัส
ส่วนโทมนัสนั้นยินร้าย ที่อาศัยเรือนอันเรียกว่าเคหะสิตะโทมนัส
ย่อมมีเมื่อนึกดูถึงการไม่ได้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว ดังกล่าวในข้อแรก
หรือนึกถึงรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้นที่เคยไม่ได้มาก่อน
๕
ก็เกิดโทมนัสขึ้น ยินร้ายขึ้น เสียใจขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าเคหะสิตะโทมนัส
แต่ว่าเมื่อนึกดูถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้น
ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
นึกกระหยิ่มใจใคร่จะได้วิโมกข์คือความหลุดพ้น
หรือวิมุติคือความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยมที่พระอริยะทั้งหลายได้
แต่ว่ายังไม่สามารถจะได้ ก็เกิดความเสียใจคือโทมนัสขึ้น
ดั่งนี้เรียกว่าเนกขัมมะสิตะโทมนัส โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เคหะสิตะอุเบกขา เนกขัมมะสิตะอุเบกขา
ส่วนอุเบกขานั้นเล่า ที่อาศัยเรือนอันเรียกว่าเคหะสิตะอุเบกขา
ก็ได้แก่เมื่อนึกถึง หรือนึกดูถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้น
แต่ว่าใจก็เฉยๆเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายอะไร เหมือนอย่างบุถุชนทั่วไป
บางคราวเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็เฉยๆ จะชอบก็ไม่ใช่ จะชังก็ไม่ใช่
คือความชอบก็ไม่เกิด ความชังก็ไม่เกิด อาจจะเป็นเพราะยังไม่พอที่จะให้ชอบ
ยังไม่พอที่จะให้ชัง ใจก็เฉยๆ เฉยๆโดยที่ไม่ต้องปฏิบัติทางจิตทางใจอะไร
ไม่ต้องทำความรู้อะไร มันเฉยเพราะเหตุที่รูปเสียงเป็นต้นนั้นๆ ยังไม่พอจะทำให้ชอบ
หรือให้ชังเท่านั้น เฉยๆโดยที่ไม่รู้อะไรดั่งนี้เรียกว่าเคหะสิตะอุเบกขา
คนสามัญทั่วไปก็มีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน
เพราะว่าไม่ใช่ว่าเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น แล้วจะต้องชอบหรือชัง
ยินดีหรือยินร้ายไปทั้งหมด มีเป็นอันมากเหมือนกันที่ไม่มาสัมผัสใจให้ชอบหรือให้ชัง
ก็ดูผ่านไปก็ผ่านมา ฟังผ่านไปก็ผ่านมา ใจก็เฉยๆ
คนสามัญมีเป็นอันมาก เป็นอุเบกขาของคนสามัญทั่วไป ดั่งนี้ เป็นเคหะสิตะอุเบกขา
ส่วนความวางเฉย ความมีใจเป็นกลาง ชนิดที่ใช้ปัญญาพิจารณา
๖
คือเมื่อนึกดูถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวอะไร ก็นึกรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ก็วางใจเป็นกลางได้
ไม่เกิดความติดใจยินดี อุเบกขาดั่งนี้เป็นอุเบกขาที่เรียกว่าเนกขัมมะสิตะอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เพราะฉะนั้น อาการที่เป็นโสมนัสยินดีชอบใจ โทมนัสยินร้ายไม่ชอบใจ และอุเบกขาเป็นกลางๆ
ของชาวโลกทั้งหลายที่เรียกว่าสัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ คือหมู่แห่งชนที่ยังมีความข้องเกี่ยวอยู่
ติดอยู่ในโลก จึงเรียกว่าสัตตะ หรือสัตวะ ดังที่เรียกว่าสัตว์โลก ย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้
แต่ว่า แม้จะเป็นเนกขัมมะสิตะอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากกาม
ด้วยรู้จักพิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยง มีทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาก็จริง
แต่ยังเป็นขั้นที่ต้องอาศัย อาศัยเนกขัมมะอยู่
ท่านจึงแสดงว่า ยังไม่ล่วงอำนาจของรูปเสียง
กลิ่นรสโผฏฐัพพะคือธรรมะคือเรื่องราว คือว่ายังกลับไปกลับมา
แม้จะได้ความรู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง ทุกขตาความเป็นทุกข์
และความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นความรู้ความเห็นขั้นต้นของชาวโลก
ในขณะที่พิจารณา ก็เกิดอุเบกขา แต่เมื่อหยุดพิจารณาก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
แล้วก็อาจจะเปลี่ยนเป็นโสมนัสยินดีในคราวอื่นก็ได้ เปลี่ยนเป็นโทมนัสยินร้ายก็ได้
เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ล่วงอำนาจของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว
รูปเสียงเป็นต้นนั้นยังอาจครอบงำจิตใจได้ ยังไม่เป็นความหลุดพ้น
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงจัดว่าเป็นสัตตบถ
คือเป็นทางดำเนินแห่งความยินดี ความยินร้าย และความเป็นกลางๆของจิต
อนึ่ง ก็พึงพิจารณาเห็นได้ว่า โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่ตรัสแสดงไว้นี้
เทียบได้กับเวทนา (เริ่ม ๑๗๑/๒) คือเป็นขั้นเวทนา
คือเวทนานั้นมีจำแนกเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
๗
สุขเวทนานั้นเองเป็นโสมนัส ทุกขเวทนานั้นเองคือโทมนัส
เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นเองก็เป็นอุเบกขา
เพราะว่าเวทนาที่เป็นสุขนั้นย่อมมีอาการที่ทำให้ยินดี ประกอบอยู่
ทุกขเวทนาก็มีอาการที่ทำให้มีความยินร้ายเสียใจ ไม่ชอบใจ ประกอบอยู่
เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขก็มีอาการที่เป็นอุเบกขา นั้นเอง
เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นระดับจิตที่ในขั้นเวทนา
แต่ว่าแสดงในทางที่เจือด้วยยินดียินร้ายและอุเบกขา อันเป็นอาการของความติดใจที่เป็นราคะ
เป็นอาการของความไม่ชอบ ความระทม หรือความทุกข์ อันอยู่ในลักษณะของโทสะ
และเป็นอาการของโมหะคือความหลง ไม่รู้ และแม้ว่าจะรู้ใน อนิจตา ทุกขตา อนัตตา
ในลักษณะที่เป็นเนกขัมมะสิตะโสมนัส เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ก็ตาม
ก็ยังไม่แน่นอน จึงนับว่าอยู่ในขั้นเวทนา
แต่คาบเกี่ยวไปถึงเวทนาที่กลายเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ให้ยินดีให้ยินร้าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สฬายตนะวิภังคสูตร (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
เคหะสิตะโสมนัส ๔
เนกขัมมะสิตะโสมนัส ๔
เคหะสิตะโทมนัส ๕
เนกขัมมะสิตะโทมนัส ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๗๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๒/๑ ( File Tape 131 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สฬายตนะวิภังคสูตร (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสฬายตนะวิภังคสูตร พระสูตรที่ยกแสดงการจำแนกอายตนะ ๖ ต่อ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสบทอุเทศ คือบทกระทู้แห่งพระสูตรนี้ จำแนกออกเป็นหมวดละ ๖
ตั้งต้นแต่อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมู่หมวดแห่งวิญญาณ ๖
หมู่หมวดแห่งผัสสะ ๖ มโนปวิจารการเที่ยวคิดนึกไปของใจ ๑๘
ก็คือในอายตนะภายนอกที่เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดี ๖ โทมนัสยินร้าย ๖ อุเบกขา ๖
หกสามก็เป็น ๑๘
และสัตตบถการดำเนินไปของสัตว์โลก ๓๖ โดยยกเอาโสมนัสยินดี โทมนัสยินร้าย
และอุเบกขาขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นไป ในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ นั้น
โดยจำแนกออกเป็นเคหะสิตะโสมนัส ๖ เนกขัมมะสิตะโสมนัส ๖
เคหะสิตะโทมนัส ๖ เนกขัมมะสิตะโทมนัส ๖
๒
เคหะสิตะอุเบกขา ๖ เนกขัมมะสิตะอุเบกขา ๖
ซึ่งสัตตบถการดำเนินไปของหมู่สัตว์โลกทางจิตใจนี้
ก็เทียบได้กับขั้นเวทนาผสมกับกิเลส คือเวทนาก็ปรุงจิต สุขเวทนาก็ปรุงจิตให้โสมนัส
ทุกขเวทนาก็ปรุงจิตให้โทมนัส และอุเบกขาเวทนาก็ปรุงจิตให้สยบติดอยู่ หรือไม่รู้
จึงเป็นการดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลกโดยธรรมดา
คือความดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลกก็ย่อมเป็นดั่งนี้
แต่ว่าก็มีเจือการปฏิบัติทางปัญญาอยู่ด้วยในข้อที่เกี่ยวแก่อุเบกขา
กล่าวคือเนกขัมมะสิตะโสมนัส ก็เกี่ยวแก่ความรู้ความเห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง
แม้เนกขัมมะสิตะโทมนัสก็เช่นเดียวกัน เนกขัมมะสิตะอุเบกขาก็เช่นเดียวกัน
แต่ว่าก็เจือปัญญาในอนิจตาในขั้นไม่สูงมาก หรือในขั้นปฏิบัติของบุคคล
ผู้ได้ความรู้ความเห็นจากการปฏิบัติในเบื้องต้น ก็ได้เนกขัมมะสิตะโสมนัสได้
และเมื่อเจือด้วยความคิดจะได้อย่างยอดเยี่ยมที่เรียกว่า อนุตริยวิโมกข์
และเมื่อไม่ได้ ก็โทมนัส ก็เป็นเนกขัมมะสิตะโทมนัส
แต่ผู้ปฏิบัติได้ความรู้ความเห็นในอนิจจตาดังกล่าว ก็อาจได้อุเบกขา
อันเป็น ชลังคุเบกขา อุเบกขาในอารมณ์ทั้งหลาย คือในอารมณ์อันได้แก่รูป อันได้แก่เสียง
อันได้แก่กลิ่น อันได้แก่รส อันได้แก่โผฏฐัพพะ และอันได้แก่ธรรมะคือเรื่องราว
เพราะฉะนั้น จึงยังจัดอยู่ในขั้นการได้การถึงของสามัญชน
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสัตตบถคือทางดำเนินของสัตว์โลกรวมเป็น ๓๖ ข้อนี้แล้ว
จึงได้ตรัสต่อไปถึงว่าจะอาศัยอะไร ละอะไร เป็นทางปฏิบัติ
คือเมื่อได้ตรัสจำแนกสัตตบถทางดำเนินไปของสัตว์โลกทางจิตใจ อันเกี่ยวแก่เวทนา
และเกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตให้โสมนัส ให้โทมนัส และให้อุเบกขาแล้ว
จึงได้ตรัสสอนวิธี คือถึงวิธีปฏิบัติว่าจะปฏิบัติอย่างไร
จึงจะละการที่เวทนาปรุงจิตให้เป็นดั่งนี้ได้
๓
จึงเรียกว่า ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำสติปัฏฐานนี่แหละ
อันเกี่ยวแก่ข้อเวทนา และข้อที่เกี่ยวแก่จิต และสัมปยุตคือประกอบกับธรรมะในจิตด้วย
โดยที่ตรัสชี้ให้ปฏิบัติด้วยวิธีอาศัยข้อหนึ่งละข้อหนึ่งไปโดยลำดับ
ตั้งต้นแต่การให้อาศัยเนกขัมมะสิตะโสมนัส ละเคหะสิตะโสมนัส
คือเคหะสิตะโสมนัสความยินดีที่อาศัยเรือน ก็คืออาศัยกามคุณทั้ง ๕
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ
อันประกอบด้วยโลกามิสเรื่องล่อของโลก
เคหะสิตะโสมนัส
เมื่อจิตใจนี้ได้มองดูถึงกามคุณเหล่านี้ที่กำลังได้ หรือแม้ที่เคยได้มาแล้ว
ก็เกิดโสมนัสคือความยินดี คือว่าได้สุขเวทนา ความสุขใจ เป็นสุขเวทนา
สุขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้ให้ยินดีเป็นโสมนัส ก็เป็นเคหะสิตะโสมนัส
เมื่อเป็นเคหะสิตะโสมนัสขึ้นดั่งนี้ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติด้วยวิธีพิจารณาว่า
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แม้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้
ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา
จึงเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
เนกขัมมะสิตะโสมนัส
ให้พิจารณาดั่งนี้ และเมื่อพิจารณาไปจนเห็นได้ เห็นอนิจจตาคือความไม่เที่ยงได้
ก็ย่อมจะได้โสมนัสขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือโสมนัสอันเป็นความสุขใจ
เพราะปัญญาที่เห็นจริงในอนิจจตา ใจก็เบิกบานขึ้นเพราะเห็นจริงในอนิจจตา
ก็ย่อมจะละเคหะสิตะโสมนัส โสมนัสที่อาศัยกายและที่อาศัยกาม
ที่เปรียบเหมือนอย่างเรือน การตรัสว่าอาศัยเรือนหมายถึงว่าอาศัยกาม เสียได้
มาเป็นได้เนกขัมมะสิตะโสมนัส โสมนัสที่อาศัยการออกจากกาม
๔
เพราะว่าได้ปัญญารู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง
เห็นเกิดเห็นดับของกามทั้งหลาย เกิดโสมนัสขึ้นด้วยปัญญาที่รู้เห็นนี้
เพราะฉะนั้น จึงตรัสให้ปฏิบัติให้ได้เนกขัมมะสิตะโสมนัส ก็จะละเคหะสิตะโสมนัสได้
ดั่งนี้เป็นประการที่ ๑
เคหะสิตะโทมนัส
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมะสิตะโทมนัส ละเคหะสิตะโทมนัส
คือเคหะสิตะโทมนัสความยินร้ายหรือความเสียใจที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่ได้นึกเห็นการไม่ได้กาม
คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่รักใคร่ปรารถนาต้องการอยู่ในปัจจุบัน หรือที่เคยไม่ได้มาแล้ว
ก็เกิดเสียใจ ดั่งนี้เรียกว่าเป็นเคหะสิตะโทมนัส คือเกิดเป็นทุกขเวทนาขึ้นก่อน
ในเมื่อนึกเห็นถึงการไม่ได้กามที่ต้องการจะได้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่แล้วมา ก็เป็นทุกขเวทนา
ทุกขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้ให้โทมนัส คือให้เสียใจ ดั่งนี้ ก็เป็นเคหะสิตะโทมนัส
เนกขัมมะสิตะโทมนัส
เมื่อความดำเนินไปของจิตเป็นดั่งนี้ ก็ให้มาใช้วิธีปฏิบัติให้เกิดเนกขัมมะสิตะโทมนัส
ได้แก่ให้พิจารณาให้มองเห็นอนิจจตาคือความไม่เที่ยง ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
อันเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ หรือที่ไม่ได้มาแล้วนั่นแหละ ว่าทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง
เป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
แต่เพราะเหตุที่ยังปฏิบัติให้รู้ให้เห็นไม่ได้ จึงยังได้ไม่ประสบ อนุตรวิมุติ หรือ วิโมกข์
คือความหลุดพ้นอย่างยอดเหมือนอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย
เมื่อไม่ได้ดั่งนี้จึงยังต้องเป็นทุกข์อยู่ เป็นทุกข์อยู่เพราะเหตุที่ยังไม่เห็นอนิจจตา
จึงต้องการจะได้ และเมื่อไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ อันเป็นเคหะสิตะโทมนัสนั้น
ฉะนั้น ก็เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ
๕
ไม่ตั้งอยู่คงที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ทำไมเราจึงจะต้องมาเป็นทุกข์ ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้น
เพราะว่าถึงแม้จะได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้นมา สิ่งเหล่านั้นก็ต้องเกิดต้องดับ
ไม่เป็นของเราอยู่ตลอดไป ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่นั่นเอง
พิจารณาเตือนใจตัวเองให้รู้ดั่งนี้
แล้วก็กลับมาให้ใจตัวเองนี้กระหยิ่ม เพื่อที่จะได้อนุตรวิโมกข์หรือวิมุติ
( เริ่ม ๑๗๒/๑ ) อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้พ้นทุกข์กันเสียทีหนึ่ง ดีกว่า
ดีกว่าจะไปอยากได้ของที่ไม่เที่ยงคือกามทั้งหลาย
อยากได้ อนุตรวิมุติ วิโมกข์ หรืออยากเป็นพระอรหันต์ดีกว่า ให้ใจกลับมาอยากดั่งนี้
แต่ว่าในการที่จะบรรลุอนุตรวิโมกข์วิมุติ หรือที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น
หาสำเร็จได้ด้วยความอยากไม่ ต้องสำเร็จด้วยการปฏิบัติให้ได้ให้ถึง
คือต้องให้เห็นอนิจจตาความไม่เที่ยง ทุกขตาความเป็นทุกข์
อนัตตาความเป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลาย และปล่อยความยึดถือเสียได้ทั้งหมด
คราวนี้เมื่อคิดดั่งนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองยังมีบุญน้อย
ยังปฏิบัติมาน้อย ยังไปได้ไม่ถึง แต่ก็อยากจะได้อยากจะถึง
แต่ก็ไม่สามารถที่จะถึงได้เพราะยังมีบุญน้อย คือยังมีวาสนาบารมีน้อย
ก็เกิดความเสียใจ เพราะเหตุที่ไม่ได้ไม่ถึงอนุตรวิโมกข์วิมุติ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์
เสียใจขึ้นดั่งนี้แหละเรียกว่าเป็นเนกขัมมะสิตะโทมนัส
และเมื่อปฏิบัติให้เกิดความเสียใจขึ้นมาได้ดั่งนี้ ก็จะละเคหะสิตะโทมนัสได้
นับว่าเป็นการปฏิบัติก้าวขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้
อันเกี่ยวแก่วิธีปฏิบัติ เกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตของตน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*