ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:34
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป129
อานาปานสติ ๔ ชั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
เครื่องประคองจิต ๓
ข้อควรปฏิบัติในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ๔
การกำหนดกองลม ๕
รูปกาย นามกาย ๖
อาการที่แสดงว่าได้อานาปานสติสมาธิ ๗
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานชั้นที่ ๔ ๘
เริ่มต้นอานาปานสติดีเยี่ยม
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๘/๒ ( File Tape 129 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อานาปานสติ ๔ ชั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงทางปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔
โดยอาศัยลมหายใจเข้าออก และได้แสดงในข้อกายานุปัสสนามาแล้ว
ซึ่งการปฏิบัติก็ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็น ๔ ชั้น
ชั้นที่ ๑ หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ ชั้นที่ ๒ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้
ชั้นที่ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า จักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก
ชั้นที่ ๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า จักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย
คือลมหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออก
ก่อนที่จะต่อไปก็จะขอเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ก่อนว่า
ทางปฏิบัติทั้ง ๔ ชั้นที่แสดงมาแล้วนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองในพระสูตร
มาในชั้นหลัง พระอาจารย์ได้อธิบายถึงวิธีปฏิบัติ และได้แนะวิธีปฏิบัติไว้ต่างๆกัน
๒
เช่นว่า ในการเริ่มปฏิบัตินั้น จิตยังไม่สงบ เปรียบเหมือนอย่างว่าน้ำเชี่ยว
การพายเรือ เมื่อผ่านน้ำเชี่ยว ใช้พายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถนำเรือไปได้
ต่อใช้ถ่อช่วย ค้ำจุนให้เรือผ่านที่น้ำเชี่ยวนั้น
เครื่องประคองจิต
ก็เปรียบเหมือนอย่างจิตที่ยังฟุ้งซ่าน
การนำจิตให้ตั้งกำหนดลมหายใจเข้าออกอาจสำเร็จยาก
ฉะนั้น ท่านจึงให้ใช้วิธีช่วยค้ำจุนจิตให้อยู่กับลมหายใจ ด้วยวิธีใช้นับ
หายใจเข้านับ๑ หายใจออกนับ๑ หายใจเข้านับ ๒ หายใจออกนับ ๒ เรียกว่านับช้า
๑-๑ , ๒-๒ ไปจนถึง ๕-๕ แล้วก็กลับมา ๑-๑ , ๒-๒ จนถึง ๖-๖
แล้วก็กลับมา ๑-๑ , ๒-๒ จนถึง ๗-๗ แล้วก็กลับต้นมาจนถึง ๘-๘
แล้วกลับต้นมาจนถึง ๙-๙ แล้วก็กลับต้นมาจนถึง ๑๐-๑๐
แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ ใหม่ แล้วก็เติมขึ้นอีกทีละจำนวน จนถึง ๑๐-๑๐
แล้วก็กลับใหม่ เรียกว่านับช้า
ก็เปรียบเหมือนอย่างว่า
การนับนี้เป็นถ่อสำหรับที่จะค้ำเรือให้ไปผ่านแม่น้ำเชี่ยวได้
คือให้จิตที่ฟุ้งซ่านนี้ได้มากำหนดในลมหายใจเข้าออก
เป็นอันว่าเหมือนอย่างมีอารมณ์ ๒ อย่างพร้อมกันไป
คือให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง และให้จิตอยู่กับการนับอีกอย่างหนึ่ง
เมื่อนับช้าดั่งนี้จนจิตสงบตามสมควรแล้ว ก็ให้เปลี่ยนจากนับช้าเป็นนับเร็ว
คือหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ ไม่ต้องนับคู่ แต่ในทีแรกพอถึง ๕ แล้วก็กลับใหม่
หรือว่าจะไม่ใช้นับเป็นตอนๆ แบบขยักขย่อนอย่างนั้น ทั้งนับช้านับเร็ว
จะนับ ๑-๑ ไปจนถึง ๑๐-๑๐ ทีเดียว หรือว่านับ ๑ ถึง ๑๐ ทีเดียว
หรือมากไปกว่านั้น ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติ
๓
( เริ่ม ๑๖๘/๒ ) แต่ว่าท่านอธิบายว่า ที่กำหนดไว้ไม่ให้นับเกิน ๑๐ นั้น
ก็เพื่อมิให้จิตต้องเป็นกังวลในการนับที่มีจำนวนมากๆ
เมื่อนับจำนวนน้อยๆ เพียงแค่ ๑-๑๐ ก็ไม่ทำให้ต้องกังวลในการนับมาก
เพราะจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก
ส่วนการนับนั้น กำหนดให้การนับเพื่อเป็นเครื่องประคองจิตให้อยู่เท่านั้น
แต่อาจารย์ผู้ปฏิบัติก็ใช้วิธีอื่น เช่นว่า หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ แทนนับ
ซึ่งวิธีกำหนด พุทโธ ดั่งนี้ ก็เป็นที่นิยมกันมาก
และก็ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น วิธีที่กำหนดท้องที่พองหรือยุบ
ก็เป็นวิธีประคองจิตไว้ เหมือนอย่างถ่อ เช่นเดียวกัน
และเมื่อดูตามอุปมาของท่าน ว่าการนับเหมือนอย่างถ่อค้ำเรือเมื่อผ่านน้ำเชี่ยว
ก็แสดงว่าเมื่อน้ำไม่เชี่ยวแล้ว ก็ไม่ต้องนับ กำหนดลมหายใจเข้าออกแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ต้องแบ่งไปกำหนด ๒ อย่างพร้อมๆกัน
ข้อควรปฏิบัติในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒
วิธีที่ท่านสอนไว้นี้ เมื่อไปพิจารณาเทียบกับที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
ก็จะเห็นว่า ควรใช้ได้ในขั้น ๑ ขั้น ๒ ตามที่ได้แสดงแล้ว
ขั้น ๑ หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ ขั้น ๒ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้
คือในขั้น ๑ ขั้น ๒ นี้ กำหนดลมหายใจแต่เพียงอย่างเดียว เพียงแต่ให้รู้ว่ายาวหรือสั้น
และในขั้น ๑ ขั้น ๒ นี้ ก็เป็นขั้นที่เริ่มปฏิบัติ อันกล่าวได้ว่าอยู่ในระยะที่จิตยังฟุ้งซ่าน
ยังกวัดแกว่ง ยังกระสับกระส่าย เหมือนอย่างน้ำเชี่ยว ยากที่จะรวมเข้ามาได้
ก็ใช้ถ่อช่วยอีกแรงหนึ่ง จึ่งเห็นว่าใช้ได้สำหรับในขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒
แต่เมื่อมาถึงขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้ว ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นั้น
ว่าขั้นที่ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า หายใจออก
๔
ก็เป็นการกำหนด ๒ อย่างเหมือนกัน คือว่าให้รู้กายทั้งหมด
ไปพร้อมกับรู้หายใจเข้า รู้หายใจออก จึงเป็นการกำหนดให้รู้ ๒ อย่างไปพร้อมกัน
แม้ในขั้นที่ ๔ ก็เช่นเดียวกันว่า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า
เราจักรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก
ก็เป็นอันปฏิบัติให้รู้ ๒ อย่างในขณะเดียวกัน คือว่าให้รู้รำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายด้วย
ให้รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกด้วย ไปพร้อมกัน ก็แปลว่ามี ๒ อย่าง
ฉะนั้น จะแถมการนับ หรือแม้การบริกรรมอย่างอื่นเข้ามาอีก
ก็กลายเป็น ๓ อย่าง ซึ่งเป็นการปฏิบัติยาก
เมื่อมาถึงขั้นที่ ๓ ที่ ๔ นี้แล้ว จึงเห็นว่าควรจะต้องงดการนับ
หรือการบริกรรมอย่างอื่น มาปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
อย่างขั้นที่ ๓ ก็ให้รู้กายทั้งหมด ไปพร้อมกับหายใจเข้าหายใจออก
ขั้นที่ ๔ ก็ให้รู้รำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย ไปพร้อมกับหายใจเข้าหายใจออก
แปลว่ารู้ ๒ อย่างพร้อมกัน
และในขั้นที่ ๓ ที่ตรัสสอนไว้นั้น เมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า
ความรู้ลมหายใจเข้าออกนั้น กว้างออกไปกว่าที่จะกำหนดเพียงแค่ปลายจมูก
หรือริมฝีปากเบื้องบน แต่ว่าออกไปจนถึงกายทั้งหมด ซึ่งได้แก่นามกาย รูปกาย
รูปกายนั้น เมื่อว่าถึงรูปกายทั้งหมด ก็ได้แก่รูปกายทั้งหมดของทุกๆคน
เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยที่สุด เป็นที่สุดโดยรอบนี้
และแม้ท่านอาจารย์จะอธิบายว่าหมายถึงกองลม ที่หายใจเข้า ที่หายใจออก
การกำหนดกองลม
แต่ว่ากองลมนั้น ก็กำหนดให้แคบก็ได้ ให้กว้างก็ได้
เพราะลมที่หายใจเข้าหายใจออกนั้น ย่อมเป็นลมที่ซาบซ่าน
๕
กำหนดให้ซาบซ่านไปทั่วร่างกายก็ได้ ทั้งเข้าทั้งออก
และจะกำหนดดูลมเดินเข้าเดินออก ทั้งหมดที่แบ่งเป็น ๓ จุด ดั่งที่ได้อธิบายแล้ว ดังนั้นก็ได้
แต่ว่าเมื่อกำหนดให้กว้างออกไปจนถึงกายทั้งหมดนี้ ก็เป็นการปฏิบัติครอบคลุมทั้งหมด
รูปกาย นามกาย
และนามกายนั้นก็คือดูใจนี้เอง ใจที่รู้ที่คิด ใจรู้ใจคิดอย่างไร ก็รู้
ใจรู้ใจคิดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ก็รู้ว่าเดี๋ยวนี้ใจรู้ใจคิดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก
แล้วก็ต้องการให้เป็นอย่างนั้น หากใจออกไปก็ต้องนำเข้ามาใหม่
แต่ก็ต้องให้รู้ใจ ว่าคิดอะไร รู้อะไรอยู่ ในขณะที่ปฏิบัติ
ก็เป็นอันว่าให้จิตอยู่ในขอบเขตของกายทั้งหมดนี้ ทั้งรูปกายทั้งนามกาย
รู้กายรู้ใจของตัวเอง และเมื่อรู้กายรู้ใจของตัวเอง ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าออกรวมอยู่ด้วย
เหมือนอย่างว่า เมื่อคนเลี้ยงเด็กไกวเปลเด็ก นั่งอยู่ที่โคนเสาข้างหนึ่งของเปล
แล้วไกว ก็มองเห็นเด็กที่นอนอยู่ในเปล เปลก็แกว่งไปแกว่งมา
เมื่อมองเห็นเปลทั้งหมด ก็ต้องเห็นเด็ก
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้กายทั้งหมด ก็ย่อมเห็นลมหายใจเข้าออก
ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ด้วย ย่อมรู้ว่าใจนี้คิดอยู่รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก
เป็นอันว่าใจรวมอยู่ในกายใจทั้งหมดนี้ของตนเอง ไม่ออกไปข้างนอก
ก็เป็นอันว่าจำกัดวงของจิตให้แคบเข้ามา ให้อยู่ในภายใน
ภายในกายภายในใจทั้งหมดนี้เอง ไม่ไปข้างไหน
ลองนึกดูว่า เรากำหนดเหมือนอย่างเห็นตัวเราเองทั้งหมดนี้นั่งอยู่
และก็นั่งหายใจเข้าอยู่ นั่งหายใจออกอยู่ คล้ายๆกับว่า ตัวเราเองนี้ออกไปยืนอยู่ข้างนอก
แล้วมองเข้ามาดูที่ตัวของเราที่กำลังนั่งอยู่นี้ ก็เห็นตัวเราทั้งหมด นั่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่
แล้วก็รู้ใจทั้งหมดที่คิดอยู่ที่รู้อยู่ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่า เป็นเหตุให้ใจรวมเข้ามา รู้ทั้ง ๒ อย่าง
รู้กายทั้งหมด ไปพร้อมกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ได้ในขั้นที่ ๓
๖
ในการปฏิบัติดั่งนี้ จะไปมัวนับอยู่นั้นไม่สะดวก
หรือมีกำหนดอย่างอื่นก็ไม่สะดวกเช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถจะแบ่งใจออกไปอีกได้
ต้องให้ใจอยู่ที่กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น
วิธีของพระพุทธเจ้านี้ให้เพ่งให้ดี ให้เข้าใจ แล้วจะเห็นว่าถูกต้อง และปฏิบัติได้
อันจะนำให้ถึงขั้นที่ ๔ คือขั้นที่ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า
เราจักรำงับสงบกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก
ก็เหมือนอย่างว่าเราออกไปนั่งดูกายของตัวเราเอง ซึ่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่
เมื่อเห็นว่ากายนี้โคลงไปโคลงมา ก็ต้องกำหนดทำให้กายนี้ไม่โคลง แต่ให้นั่งสงบเป็นปรกติ
และถ้าเห็นว่า อยากให้หายใจเร็วบ้างช้าบ้าง เบาบ้างแรงบ้าง
ก็ต้องระงับเสียอีก ก็จะไปอยากไม่ได้ ต้องปล่อยให้หายใจไปโดยปรกติ
และเมื่อเห็นว่ามีอาการเมื่อยบ้าง เป็นเหน็บบ้าง ก็ต้องดำเนินการระงับ ไม่ใส่ใจในการเมื่อย
แก้เมื่อเสียด้วยการอธิษฐานลมให้แผ่ไปในตรงที่เมื่อยนั้น
แต่ถ้าหากว่าเมื่อยเต็มที่ก็ต้องยอมที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นพลิกขาในการนั่ง
หรือขยับขาเล็กน้อยอะไรเป็นต้น เป็นการช่วย
และก็คอยประคับประคองใจ ให้ปล่อย ให้เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาที่สุด
โดยไม่ไปคิดตบแต่งให้เป็นอย่างโน้น ให้เป็นอย่างนี้
และเมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดั่งนี้แล้ว ใจก็จะรวมดีขึ้น กายเองก็สงบดีขึ้น
และหายใจเข้าหายใจออกก็จะมาปรากฏอยู่ทั่วตัวทั่วใจ
อาการที่แสดงว่าได้อานาปานสติสมาธิ
ความปรากฏของหายใจเข้าหายใจออก อยู่ทั่วตัว
อันหมายถึงส่วนกาย และทั่วใจนี้ เป็นการแสดงว่าได้อานาปานสติสมาธิ
คือสมาธิที่ได้จากสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
และกายก็จะสงบไปพร้อมกับใจที่สงบ อาการของร่างกายที่หายใจต่างๆก็จะสงบลงๆ
๗
แต่อันที่จริงหายใจอยู่ เพราะเมื่อจิตใจสงบ และเมื่อกายสงบ
อาการของร่างกายที่หายใจ ก็ไม่จำเป็นจะต้องหยาบเหมือนอย่างปรกติสามัญ
อาการที่หายใจเองก็ละเอียดเข้าๆ คือไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความเคลื่อนไหว
อาการเคลื่อนไหวของกายก็น้อยเข้า อาการเคลื่อนไหวของจิตใจก็น้อยเข้า
อาการเคลื่อนไหวของร่างกายที่หยาบ ก็เพราะว่าอาการเคลื่อนไหวของจิตหยาบ
เมื่ออาการเคลื่อนไหวของจิตละเอียด อาการเคลื่อนไหวของกายก็ละเอียดตาม
เพราะฉะนั้น จิตที่สงบอยู่กับลมหายใจเข้าออก
กายและใจหายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างละเอียด จึงเป็นกายและจิตที่ละเอียด
การหายใจก็เป็นไปอย่างละเอียด จนถึงแม้ว่าความเคลื่อนไหวของร่างกายสงบลงไป
เพราะเหตุว่าจิตละเอียดที่สุด กายก็ละเอียดที่สุด ตามกัน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานชั้นที่ ๔
เมื่อจิตละเอียดที่สุด กายละเอียดที่สุด
อาการเคลื่อนไหวในการหายใจอย่างปรกติสามัญก็หยุดลง
เหมือนอย่างไม่หายใจ ท้องไม่มีพองไม่มียุบ
และอาการที่ลมกระทบปลายจมูก ลงไปถึงทรวงอก ถึงท้อง ก็สงบลงหมด
จนถึงว่าแม้มากระทบแผ่วๆที่ปลายจมูกก็สงบหมด เหมือนอย่างไม่หายใจ
และในขณะที่เป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีความรู้สึกอึดอัด จะรู้สึกว่ามีความผาสุขสบายเป็นปรกติ
และการหายใจนั้นก็คงหายใจอยู่นั้นเอง หายใจเข้าหายออกอยู่นั้นเอง
แต่ว่าเป็นอย่างละเอียดที่สุด เป็นไปตามกายและจิตที่ละเอียดดังกล่าว
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้ในขั้นที่ ๔
ผู้ที่ได้ในขั้นที่ ๔ นี้ ถ้าคนอื่นมองก็รู้สึกตกใจว่าไม่หายใจ
หรือเมื่อตนเองใจออกมาดูกาย เห็นว่ากายไม่หายใจก็ตกใจ ดั่งนี้ก็มี
๘
บางคนก็มาแสดงยังงั้น ว่าตกใจ กลัวตาย
ก็ต้องถอนใจออกมา พอกายหยาบใจหยาบก็หายใจเป็นปรกติ
แต่ความจริงนั้นไม่ต้องตกใจไม่ต้องกลัวตาย เป็นลักษณะของธรรมชาติ ต้องเป็นดั่งนั้น
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทรงแสดงว่า
ลมหายใจเข้าออกนี่แหละ เป็นตัวกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ซึ่งจะพึงได้ในขณะที่จะต้องถึงขั้นที่ ๔ ระงับกายสังขาร
ถึงขั้นที่ว่ากายทั้งหมด และใจทั้งหมด หายใจด้วยกันอย่างละเอียดที่สุด
เป็นอันว่าได้ถึงขั้นที่ ๔ และขั้นที่ ๔ นี้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เอง
เป็นตัวกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานขั้นกาย หรือเป็นขั้นที่ ๑
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
อานาปานสติ ๔ ชั้นในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ปีติ ๕ ๓
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔
จิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ๔
ทุกขเวทนาในการปฏิบัติ ๕
ที่อยู่ของจิตที่เป็นกามาพจร ๖
เวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ๖
คุณและโทษของปีติสุข ๗
ข้อที่เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๙/๑ - ๑๖๙/๒ ( File Tape 129 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อานาปานสติ ๔ ชั้นในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ในชั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณากาย ๔ ชั้น แล้ว
และเมื่อถึงชั้นที่ ๔ นี้ จิตกับลมหายใจย่อมรวมกันอยู่
พร้อมกับกายทั้งหมดใจทั้งหมด ซึ่งสงบตั้งมั่น และละเอียดอ่อน
จิตได้สัมผัสกับสติและสมาธิอย่างดียิ่ง จึงเกิดปีติคือความอิ่มใจ
ก่อนแต่จะพบกับสติสมาธิ ดั่งนี้ จิตย่อมกระสับกระส่ายดิ้นรนไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ
ซึ่งก่อให้เกิดยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หลงสยบติดอยู่บ้าง ซึ่งอะไรๆในโลก
( เริ่ม ๑๖๙/๑ ) จิตจึงมีลักษณะที่เศร้าหมอง ประกอบด้วยความอยากความดิ้นรน
อันทำให้จิตใจแห้งแล้ง ไม่แช่มชื่น
แต่เมื่อมาพบกับสติกับสมาธิ รวมอยู่กับกายใจทั้งหมด กับลมหายใจ
๒
จิตได้พบกับความสงบ ความละเอียดอ่อน
อาการที่ดิ้นรนที่หิวระหาย กระสับกระส่ายก็สงบไป จิตจึงได้ดูดดื่มความสงบ
ความบริสุทธิ์ ซึ่งยังไม่เคยพบมาก่อน จึงได้ความดูดดื่มใจ อิ่มใจ สงบใจ
แต่ก่อนนั้นใจยังไม่เคยอิ่ม ยังกระหาย หิว ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกาม
แต่ครั้นสงบได้ด้วยสติสมาธิ กายใจลมหายใจ รวมกันอยู่ ได้ดูดดื่มความสงบ
จึงมีความอิ่มใจ ใจที่หิวระหายกระวนกระวายก็หาย ร่างกายที่เมื่อยขบต่างๆก็หายหมด
ปีติจึงบังเกิดขึ้น เป็นความอิ่มใจ
ปีติ ๕
ซึ่งปีตินี้ ท่านแสดงไว้ตั้งแต่อย่างหยาบไปหาอย่างละเอียด หรือน้อยไปหามาก
คือเบื้องต้นก็จะได้ ขุททกาปีติ ปีติอย่างน้อย อันทำให้น้ำตาไหลขนชัน
เมื่อแรงขึ้นก็เป็น ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันทำให้รู้สึกเสียวแปลบเหมือนอย่างฟ้าแลบ
ยิ่งขึ้นก็เป็น โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกซู่ซ่ามากยิ่งกว่าเสียวแปลบปลาบ
เหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง แรงขึ้นอีกก็เป็น อุพเพงคาปีติ ปีติอย่างโลดโผน ทำให้ใจฟู
จนถึงบางคราวทำให้เปล่งอุทานขึ้นมา โดยที่มิได้เจตนามาก่อน
หรือทำให้กายเบา กายลอย กายโลดขึ้น และอย่างแรงที่มีอาการดั่งนี้ แต่ไม่ละอียด
ที่ยิ่งกว่านั้น ก็เป็นปีติอย่างแรงแต่ละเอียดเป็น ผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน
ไปทั่วจิตใจและร่างกาย ทั่วสรรพางค์กาย
เมื่อปีติบังเกิดขึ้น ก็ให้ทำความรู้ทั่วถึงปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น
กำหนดดูให้รู้จักปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น ในขั้นนี้เป็นอันว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเต็มขั้น
ก็เลื่อนขึ้นมาเองเป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติที่พิจารณาเวทนากำหนดเวทนา
อันได้แก่ความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ปีตินี้ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน
หรือปฏิบัติสมาธิแม้ในกรรมฐานบทอื่น
๓
เมื่อจิตได้สมาธิ ก็จะได้ปีติบังเกิดขึ้นเอง ตามขั้นตอนเอง
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
พร้อมกับกำหนดเวทนาคือปีติที่บังเกิดขึ้นตามที่เป็นไปจริงอย่างไร
เป็นอันว่าตั้งสติกำหนดรู้ ๒ อย่าง ลมหายใจเข้าออกด้วย ปีติที่บังเกิดขึ้นด้วย
และเมื่อได้ปีติดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้สุขที่สืบเนื่องจากปีติ
เป็นการได้สุขที่สืบเนื่องกันขึ้นไปเอง คือความสบายกายความสบายใจ
ร่างกายก็สบาย ไม่มีเมื่อยขบเจ็บปวดอะไรหมด จิตใจก็สบาย
และสงบกายสงบใจประกอบอยู่ในสุขที่ได้
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนให้กำหนด ลมหายใจเข้าออกไปพร้อมกับกำหนดสุขที่บังเกิดขึ้น
เป็นอันว่าได้เลื่อนขึ้นสู่ขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา
ขั้นที่ ๑ คือปีติ ขั้นที่ ๒ คือสุข ซึ่งทั้งปีติทั้งสุขนี่บังเกิดขึ้นเอง บังเกิดขึ้นจริงตามลำดับ
และในการปฏิบัตินั้น ก็ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก
เราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก
เป็นอันว่าทั้ง ๒ ขั้นนี้ก็ให้ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าจักรู้ทั้งสอง
เวทนาขั้นที่ ๑ ก็ให้รู้ทั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออก และปีติที่บังเกิดขึ้นตามที่เป็นจริง
และเวทนาขั้นที่ ๒ ก็ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
พร้อมทั้งสุขที่บังเกิดขึ้นตามเป็นจริง
จิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
และปีติกับสุขนี้เมื่อบังเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตใจนี้เพลิดเพลินอยู่กับปีติ เพลิดเพลินอยู่กับสุขได้
เพราะว่าทั้งปีติและทั้งสุขนี้เป็นสุขเวทนาด้วยกัน
๔
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือสัญญาและเวทนา
เวทนานั้นมาก่อน สัญญาก็ตามเวทนา ตามลำดับในขันธ์ ๕
คือเมื่อเวทนาบังเกิดขึ้น เป็นเวทนา ก็จำได้หมายรู้ในเวทนา ก็เป็นสัญญา
แต่เรียกเอาสัญญาออกหน้าเป็นสัญญาเวทนา
ทั้ง ๒ นี้เป็นจิตตสังขารดังกล่าว
เครื่องปรุงใจ คือปรุงจิตใจให้ยินดีก็ได้ ให้ยินร้ายก็ได้
เมื่อเป็นปีติเป็นสุข ก็เป็นสุขเวทนาเหมือนกัน ก็ปรุงใจให้ยินดี
อันทำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี นันทิคือความเพลิดเพลินติดอยู่
และทำให้เกิดตัณหา ความอยากได้ความต้องการสุขเวทนา
แต่ถ้าหากว่าเป็นทุกขเวทนาที่ตรงกันข้าม ก็เป็นจิตตสังขารปรุงจิตใจให้ยินร้ายไม่ต้องการ
ทุกขเวทนาในการปฏิบัติ
ในการปฏิบัติกรรมฐานนี้
เมื่อเริ่มปฏิบัติจิตยังไม่ได้สติยังไม่ได้สมาธิ ย่อมเกิดทุกขเวทนาในการปฏิบัติ
ฉะนั้น ทุกขเวทนานี้จึงเป็นจิตตสังขารปรุงจิตใจให้ยินร้าย ทำให้ไม่ชอบ ไม่อยากทำ อยากเลิก
เพราะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ในการปฏิบัติ เป็นทุกขเวทนา จิตจึงใคร่ที่จะสลัดกรรมฐานออกอยู่เสมอ
จิตมักตกออกไปสู่กามคุณารมณ์ อันเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นกามาพจร หยั่งลงในกาม
ปรากฏเป็นนิวรณ์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น กลุ้มรุมจิตใจอยู่เป็นอันมาก
ระงับจิตใจจากนิวรณ์ได้ยาก จิตก็อยู่ได้ยาก
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบไว้
ว่าเหมือนอย่างจับปลาขึ้นมาจากน้ำ วางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นลงน้ำ
เพราะว่าบกไม่ได้เป็นที่อยู่ของปลา ส่วนในน้ำเป็นที่อยู่ของปลา
ปลาก็จะดิ้นไปหาที่อยู่ของตนคือน้ำ
๕
ที่อยู่ของจิตที่เป็นกามาพจร
จิตที่เป็นกามาพจรที่หยั่งลงในกามก็เช่นเดียวกัน
เมื่อยกจิตขึ้นมาสู่กรรมฐาน ซึ่งไม่ใช่เป็นที่อยู่ของจิตมาแต่ก่อน
จิตไม่มีความสุขในกรรมฐาน มีความทุกข์ในกรรมฐาน
เหมือนอย่างปลาที่ถูกวางไว้บนบก มีความทุกข์อยู่ในบนบก ไม่มีความสุขอยู่บนบก
จิตจึงได้ดิ้นรน ไม่ต้องการที่จะอยู่ในกรรมฐาน ต้องการที่จะกลับไปอยู่ในอาลัยคือน้ำ
อันได้แก่กามคุณารมณ์ อันเป็นที่อยู่ของจิตที่เป็นกามาพจร
หรือหยั่งลงในกามของสามัญชนทั่วไป เพราะไม่ได้สุขนั้นเอง
แต่ครั้นเมื่อมาได้ปีติได้สุข อันรวมกันเป็นสุขเวทนา จิตก็สบาย
เมื่อสบายก็ชอบ ก็ติดใจ ใคร่ที่จะอยู่กับปีติและสุขนี้เรื่อยไป ไม่อยากที่จะไปไหน
อาการที่ติดใจและติดอยู่นี้ คืออาการที่เป็นราคะความติดใจยินดี นันทิความเพลิน
และอาการที่สยบติดก็เป็นอาการของโมหะคือความหลง
ทำให้หลงอยู่ในสมาธิ คือหลงในปีติสุขในสมาธิ ติดในปีติสุขสมาธิ
เพราะเหตุที่ปีติและสุขเป็นจิตตสังขาร คือเครื่องปรุงจิตให้ติดให้ยินดี ดั่งนี้
เวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาต่อขึ้นไปอีกว่า
ให้ศึกษากำหนดสำเหนียก ว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขาร
คือให้รู้ทั่วถึงปีติสุขที่กำลังบังเกิดขึ้นอยู่ ว่าเป็นจิตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจเข้าหายใจออก
คือให้รู้จักปีติ ให้รู้จักสุข ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ให้ติดใจ ให้ยินดี
ให้รู้จักตามเป็นจริง เพื่อจะได้ไม่ให้ถูกปรุง ไม่ให้ติดใจ ไม่ให้สยบติด อยู่กับปีติกับสุข
ก็เป็นเวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ คือให้รู้จักจิตตสังขาร
และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดอีกขั้นหนึ่งเป็นขั้นที่ ๔ ว่า
๖
เราจักสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือปีติสุข หายใจเข้าหายใจออก
คือในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ให้ปฏิบัติพร้อมกันไปกับตั้งจิตสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
คือไม่ให้ปีติสุขมาปรุงจิตให้ติดยินดี ให้เพลิดเพลิน ให้ต้องการ
ปล่อยให้ปีติสุขนั้นเป็นไปตามธรรมดาของตนเอง
ปีติสุขแม้จะบังเกิดขึ้นอยู่ ก็ให้เป็นเรื่องของปีติ ให้เรื่องของสุข
จิตเพียงแต่รู้ ว่านี่ปีติ นี่สุข แต่ไม่ยึด ไม่ติดในปีติในสุข
และให้รู้ว่าปีติสุขก็เป็นสิ่งเกิดดับไปทุกขณะจิต ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน
แต่ว่าบังเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะจิต จึงเหมือนอย่างยืดยาว
แต่ความจริงนั้นปีติสุขบังเกิดขึ้นทุกขณะจิต ขณะจิตหนึ่งก็ปีติสุขหนึ่งไปพร้อมกัน
แต่ว่าต่อๆๆกันไปโดยรวดเร็ว จึงเหมือนเป็นอันเดียวกัน
ให้รู้จักว่าปีติสุขเป็นสิ่งที่เกิดดับ เพื่อไม่ให้ปีติสุขปรุงจิตดังกล่าว
ปีติสุขก็จะไม่ปรุงจิต แต่จะเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมดาของปีติสุขเอง
ก็ปล่อยให้ปีติสุขเป็นไป ไม่ต้องคิดดับปีติ ไม่ต้องคิดดับสุข
ให้ปีติสุขเกิดขึ้นนั่นแหละ ไปตามธรรมดาของปีติสุข
คุณและโทษของปีติสุข
เพราะว่าถ้าไม่มีปีติสุข จิตก็เป็นสมาธิไม่ได้
เพราะจิตไม่ต้องการอยู่กับความแห้งแล้ง จิตต้องการอยู่กับความชุ่มชื่น หรือความสุข
ตัวปีติสุขนี้จึงเป็นฐานของสมาธิด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษ
ถ้าปล่อยให้ปีติสุขนี้ปรุงจิตให้ติดใจยินดี ให้อยากได้
ก็จะทำให้หลงใหลติดอยู่กับปีติสุขเท่านั้น ไม่ต้องการจะปฏิบัติให้คืบหน้าไป
เหมือนอย่างเข้าหับ เข้านั่งพักในห้องเย็น สบาย ก็เลยนอนหลับสบายไปในห้องเย็นนั้น
งานอะไรที่จะต้องทำต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ทำ
๗
ปฏิบัติสมาธิก็เหมือนกัน จะปล่อยให้จิตสยบติดอยู่กับปีติสุขนั้นไม่ได้
แต่จะไม่มีปีติสุขก็ไม่ได้ จะต้องมีปีติสุข หรือต้องมีสุข
สมาธิจึงจะตั้งอยู่กับความสุขคือความสบาย ให้มีปีติสุขนั่นแหละ ตามที่จะมี
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ปีติสุขนั้นปรุงจิตใจให้ติดให้ยินดี
คอยระงับเสีย ด้วยความรู้ตามเป็นจริง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ และติดเข้าเป็นโทษ
ให้รู้ความเป็นจริงด้วย ให้รู้จักโทษด้วย ในการที่ติดปีติสุข ให้ปีติสุขปรุงจิต ก็เป็นขั้นที่ ๔
ในเมื่อถึงขั้นที่ ๔ นี้ ปีติสุขก็จะปรุงจิตไม่ได้
จิตก็จะเป็นจิตที่ได้สมาธิ ได้สติ ได้ลมหายใจเข้าออก
ได้ปีติได้สุขประกอบกันอยู่อย่างถูกต้อง ก็เป็นอันว่าเป็นเวทนานุปัสสนาในขั้นที่ ๔
( เริ่ม ๑๖๙/๒ ) ก็รวมความว่า จิตเลื่อนจากขั้นกายานุปัสสนา ขึ้นมาเป็นขั้นเวทนานุปัสสนา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า
เราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๑
ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๒
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือสุข คือปีติสุข
ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ปรุงให้ยินดีติดอยู่เมื่อเป็นสุขเวทนา
ให้ยินร้ายเมื่อเป็นทุกขเวทนา นี่เป็นขั้นที่ ๓
และเมื่อขั้นที่ ๔ ก็ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักหายใจเข้าหายใจออก
พร้อมทั้งรู้ทั่วถึงการสงบระงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
ข้อที่เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อสงบรำงับจิตตสังขารได้
สมาธิ สติ ลมหายใจเข้าออก ปีติ สุข ก็ประกอบกันอยู่อย่างถูกส่วน โดยไม่ปรุงกัน
แต่ว่าสนับสนุนในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ปฏิบัติสมาธินี้ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
๘
การมนสิการในลมหายใจเข้าออกในขั้นนี้ก็แนบแน่นยิ่งขึ้น
และพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การมนสิการลมหายใจเข้าออกอย่างดี
คือการใส่ใจลมหายใจเข้าออกไว้เป็นอย่างดี นี่แหละเป็นตัวเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันเป็นผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใน ๔ ขั้นนี้
จึงรวมเป็นกายานุปัสสนา ๔ ขั้น เวทนานุปัสสนา ๔ ขั้น เป็น ๘ ขั้นต่อกันขึ้นไปเอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*