ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:33
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป128
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
วิตก ๒ อย่างของพระพุทธเจ้า ๒
เขมวิตก วิเวกวิตก ๔
ข้อที่ควรถือเป็นหลักปฏิบัติประจำ ๕
กามสุขัลลิกานุโยค ๕
ความหมายของคำว่าสังเวช ๖
สังเวชวัตถุ ๘ ประการ ๖
วัฏฏะทุกข์ ทุกข์ในปัจจุบัน ๗
เหตุให้น้อมใจปฏิบัติได้ง่าย ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๗/๑ ( File Tape 128 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล
ให้ตรึกนึกคิดในส่วนที่เป็นกุศล อันเรียกว่ากุศลวิตก และก็ตรัสสอนต่อไป
ให้สงบความตรึกนึกคิดแม้ที่เป็นกุศล รวมจิตเข้ามาตั้งสงบอยู่ในภายใน
วิตก ๒ อย่างของพระพุทธเจ้า
และได้ตรัสแสดงถึงพระองค์เอง ในเวลาปรกติก็ได้ทรงวิตก
คือทรงตรึกนึกคิด ๒ อย่างอยู่เป็นประจำ คือ ๑ เขมวิตกความตรึกนึกคิดที่เกษม
อันหมายความว่าไม่เบียดเบียนใครอะไร อันเรียกว่าเขมวิตก
และความตรึกนึกคิดที่สงบสงัด โดยตรงก็คือสงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
อันเรียกว่าวิเวกวิตก
๒
โดยปรกติพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีความเกษม
คือความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียนอันเป็นความเกษม
เพราะฉะนั้นวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ จึ่งได้บังเกิดขึ้นเที่ยวไปกับพระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน
ว่าเราไม่เบียดเบียนอะไรใคร ด้วยความเป็นไป หรืออาการที่เป็นไปแห่งความตรึกนึกคิดนี้
อนึ่ง ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เอง
ทรงมีความสงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความสงบสงัด
วิตกคือความตรึกนึกคิดนี้จึงบังเกิดขึ้นเที่ยวไปกับพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีความสงบสงัดจากอกุศล เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงบสงัด
ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นอกุศล ทั้งหมดละได้แล้ว ดั่งนี้
พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสถึงพระองค์เองดั่งนี้แล้ว จึ่งได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย
อันรวมถึงผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าท่านทั้งหลายก็จงมีความไม่เบียดเบียน
อันเป็นความเกษม เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน
และวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ก็จักบังเกิดขึ้นเที่ยวไปแก่ท่านทั้งหลาย
ผู้มีความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ( เริ่ม ๑๖๗/๑ ) ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน
ว่าเราทั้งหลายจักไม่เบียดเบียนใครอะไร ด้วยอาการที่เป็นไปแห่งวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้
อนึ่ง ท่านทั้งหลายพึงมีความสงบสงัดจากอกุศลทั้งหลายเป็นที่มายินดี
ยินดีในความสงบสงัด ความตรึกนึกคิดนี้ก็จักมีแก่ท่านทั้งหลาย
ผู้มีความสงบสงัดจากอกุศลทั้งหลายเป็นที่มายินดี ยินดีในความสงบสงัด
ว่าอะไรเป็นอกุศล อกุศลที่ยังไม่ละแล้ว เราก็จะละอกุศลนั้น ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสถึงพระองค์เอง
ว่าโดยปรกติได้ทรงมีวิตกความตรึกนึกคิด ๒ อย่างอยู่เป็นประจำ
๓
คือตรึกนึกคิดไม่เบียดเบียนอันเป็นความเกษม ไม่เบียดเบียนใครอะไร
และมีความวิตกคือตรึกนึกคิดที่สงบสงัดจากอกุศลทั้งหลาย
ทรงละอกุศลทั้งหลายได้ ไม่ว่าอกุศลอะไรทั้งหมด
เขมวิตก วิเวกวิตก
และก็ตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
พยายามที่จะทำความยินดีในความไม่เบียดเบียน คือในความเกษม ใครอะไรทั้งหมด
คือไม่เบียดเบียนใครอะไรทั้งหมด ด้วยคิดว่าเราจะไม่เบียดเบียนใครอะไรทั้งหมด
คือสัตว์บุคคลอะไรทั้งหมด ทั้งที่เคลื่อนที่ได้ ทั้งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ทั้งหมดไม่มียกเว้น
เรียกว่าเขมวิตก หรือเกษมวิตก หัดให้มีวิตกคือความตรึกนึกคิดดั่งนี้อยู่เป็นประจำ
ถ้าหากว่าจะมีความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน
ด้วยเหตุแห่งโทสะความกระทบกระทั่งขัดใจโกรธแค้นขัดเคือง
ก็ให้หัดทำสติกำหนดรู้ตัวว่านี่เป็นอกุศลวิตก ไม่เกษมไม่สวัสดี ให้ละเสีย
ตั้งใจอยู่เสมอว่าเราจะไม่คิดเบียดเบียนใครอะไร
คือสัตว์บุคคลใครอะไรทั้งหมด ทั้งที่เคลื่อนที่ได้ ทั้งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ทั้งสิ้น
หัดให้มีเขมวิตกคือความตรึกนึกคิดอันเกษมดั่งนี้อยู่เป็นประจำ
กับหัดให้มีวิเวกวิตกคือความตรึกนึกคิดที่สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
คือตรึกนึกคิดว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรที่เป็นอกุศลนั้นที่ละไม่ได้ เราก็จะละอกุศลนั้น
ให้สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นความสงบสงัดทางใจ
ประกอบกันไปกับความสงบสงัดทางกาย ตามที่จะพึงเป็นไปได้
เรียกว่าเป็นการหัดปฏิบัติให้มีวิเวกวิตก ความตรึกนึกคิดไปในวิเวกคือความสงบสงัด
จากอกุศลจิตทั้งหลาย อกุศลกรรมทั้งหลาย ที่เป็นอกุศลทั้งหมด
หัดปฏิบัติควบคุมจิตใจของตนอยู่ดั่งนี้
๔
ข้อที่ควรถือเป็นหลักปฏิบัติประจำ
อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติที่ควรถือเป็นหลักปฏิบัติประจำ
สำหรับแก้ทางจิตใจของตนเองอีกประการหนึ่ง คือได้ตรัสไว้ว่าภิกษุ
ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์
เมื่อประกอบด้วยธรรมะ ๒ ประการย่อมมากด้วยสุขโสมนัสในทิฏฐธรรมคือในปัจจุบันนี้ทีเดียว
ย่อมเป็นผู้เริ่มปฏิบัติโดยแยบคาย เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ธรรมะ ๒ ประการนั้นคือ ประกอบด้วยความสังเวช
คือความสลดใจ ความรู้ซาบซึ้งในฐานะที่พึงสังเวชทั้งหลาย
ประการหนึ่งด้วยมีสังเวชตั้งความเพียรโดยชอบ เพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ตั้งความเพียรโดยแยบคาย เพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย อีกข้อหนึ่งดั่งนี้
กามสุขัลลิกานุโยค
ข้อแรกให้ประกอบด้วยสังเวช
คือความสลดใจ ความรู้ซาบซึ้ง ในที่ตั้งแห่งความสังเวชทั้งหลาย
ข้อนี้เป็นข้อที่พึงปฏิบัติให้บังเกิดขึ้นเป็นประการแรก
เพราะโดยปรกติจิตใจนี้ที่เป็นกามาพจรคือเที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกามทั้งหลาย
ย่อมประกอบด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในกาม อันเรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค
เป็นปรกติของจิตที่เป็นกามาพจร จึงเป็นจิตที่มากด้วยความประมาท
คือความเลิ่นเล่อเผลอเพลิน มีความติดใจมีความเพลินอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งปวง
เมื่อเป็นดั่งนี้หากไม่หัดปฏิบัติพิจารณาในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช
ก็ย่อมจะน้อมจิตมาปฏิบัติให้ยินดีในธรรมปฏิบัติได้ยาก
๕
ให้ตั้งอยู่ในสมาธิที่สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายได้ยาก
ให้เห็นไตรลักษณ์แห่งสังขารทั้งหลายได้ยาก
ความหมายของคำว่าสังเวช
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีปฏิบัติสำหรับพิจารณา เพื่อจะทำจิตให้สลด
คำว่าให้สลดนั้นหมายความว่าให้กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม
กามนันทิความเพลิดเพลินในกาม ความรู้สึกสดชื่นอยู่ในกามสลดลง คือลดลง
สลดก็คือลด ลดระดับแห่งความเพลิน ความติดใจ ความบันเทิง ความพอใจในกามลง
เรียกว่าสลดคือลด ลดระดับของจิตลง
เมื่อลดระดับของจิตลงจากความติดความเพลิดเพลินในกามได้
จิตก็จะน้อมมาปฏิบัติในสมาธิได้ หรือกล่าวรวบว่าในศีลในสมาธิในปัญญาได้
สังเวชวัตถุ ๘ ประการ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งสังเวชไว้ ๘ ประการ
สำหรับให้หัดพิจารณา คือให้พิจารณาถึงชาติความเกิด ชราความแก่
พยาธิความป่วยไข้ มรณะความตาย ที่จะมีแก่ชีวิตเป็นธรรมดา
คือเมื่อเกิดมาเป็นชาติความเกิด ชาติความเกิดเองก็เป็นทุกข์ เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ต่างๆ
ต้องพบชราความแก่ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ต้องพบพยาธิความป่วยไข้ ความป่วยไข้ก็เป็นทุกข์
ต้องพบความตาย ความตายก็เป็นทุกข์ นี้เป็น ๔ ข้อ
ข้อที่ ๕ คืออบายทุกข์ ทุกข์ในอบาย
คือในภพชาติที่ต่ำต้อย ไม่มีความสุข หรือมีความสุขน้อย
เช่นกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน กำเนิดในนรกหรือในนิรยะ กำเนิดเป็นเปรต กำเนิดเป็นอสุรกาย
เพราะเหตุแห่งอกุศลกรรม กรรมเป็นอกุศลที่ประกอบกระทำ
๖
เพราะว่าเมื่อมีความมัวเมาประมาทอยู่ในกาม ไม่ลดหรือไม่สลดลง
กามก็จะชักนำให้ประกอบอกุศลกรรมทั้งหลายเป็นบาป
เป็นอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ อกุศลกรรมนี้เองก็จะนำให้เกิดในอบาย
คือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องไปนรกไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกาย
อันเป็นอบายชาติอบายภพต่างๆ ต้องเสวยอบายทุกข์ ทุกข์ในอบาย นี้เป็นข้อที่ครบ ๕
วัฏฏะทุกข์
และอีก ๓ ข้อก็คือพิจารณาถึงทุกข์ที่มีวัฏฏะ
คือความเวียนว่ายตายเกิดเป็นมูลในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ว่าอดีตที่ผ่านมาแล้วนั้น
เมื่อประกอบอกุศลกรรมต่างๆ เพราะความมัวเมาประมาทอยู่ในกามทั้งหลาย
ก็ต้องเป็นทุกข์มาแล้วในอดีตเป็นอันมาก นี้ข้อหนึ่ง
และพิจารณาถึงทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต คือแม้ในอนาคต
ก็จะต้องพบทุกข์อีกเป็นอันมากในภายหน้า เพราะในเมื่อยังมัวเมาประมาทอยู่ในกาม
ก็จะต้องท่องเที่ยววนเวียน เกิดตายตายเกิดมีทุกข์ต่างๆในอนาคตสืบไปอีกยืดยาว
เป็นทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ก็เป็น ๗ ข้อ
ทุกข์ในปัจจุบัน
และอีกข้อหนึ่งคือในปัจจุบัน
บัดนี้ก็มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลให้เกิดทุกข์อยู่ทุกวันทุกเวลา
เพราะชีวิตร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร รวมเข้าก็เป็นปัจจัยทั้ง ๔
คือโภชนาหาร อาหารคือโภชนะสำหรับบริโภค ผ้านุ่งห่มสำหรับบริโภคใช้สอย
ที่อยู่อาศัยก็สำหรับบริโภคอาศัย ยาแก้ไข้ก็สำหรับที่จะบริโภคแก้ไข้ และสิ่งอื่นๆอีกเป็นอันมาก
ร่างกายอันนี้ต้องบริโภคอาหารทั้งปวงนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าต้องบริโภคทุกลมหายใจ
ก็คือต้องหายใจเข้าหายใจออก นำเอาลมหายใจนี้เข้าไปเป็นอาหารบำรุงเลี้ยง
๗
และเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว ก็ย่อยบำรุงเลี้ยงร่างกาย แล้วก็ถูกเผาไหม้หมดไป
ก็ต้องบริโภคใหม่ อาหารหยาบนั้นก็อาจจะวันละ ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง
อาหารละเอียดคือลมหายใจนั้น ต้องบริโภคกันอยู่ทุกลมหายใจ ขาดไม่ได้
ดั่งนี้ก็เป็นความทุกข์ในเพราะต้องแสวงหาอาหารอยู่เป็นปัจจุบัน อันเป็นข้อคำรบ ๘
รวมเป็นฐานะที่ตั่งแห่งความสังเวช ๘ หรือว่าสังเวชวัตถุที่ตั้งแห่งความสังเวช ๘ ข้อด้วยกัน
สำหรับพิจารณาเพื่อให้ใจสลดคือลดความติดใจเพลิดเพลินยินดีหลงระเริงอยู่ในกาม
ให้ใจสลดลงคือให้ลดลงจากกามคุณารมณ์
เหตุให้น้อมใจปฏิบัติได้ง่าย
เมื่อเป็นดั่งนี้ ใจสลดเพราะมีความรู้ซาบซึ้ง
ซึ่งเป็นศัพท์ของสังเวชโดยตรงคือความรู้ซาบซึ้ง อยู่ในสัจจะคือความจริง
คือความที่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเกิดแก่เจ็บตาย เพราะอบาย เพราะมีวัฏฏะ
คือความเวียนว่ายตายเกิดเป็นมูล ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ในอนาคตที่จะไปภายหน้า
และในปัจจุบันก็ต้องแสวงหาอาหารมาบำรุงเลี้ยงร่างกายชีวิตอยู่ทุกวันเวลา
ใจก็จะสลด คือลดความติดใจเพลินเพลินในกามลง
และน้อมใจมาปฏิบัติในสมาธิปัญญา หรือรวบยอดว่าในศีลในสมาธิในปัญญาก็สะดวกขึ้น
จิตนี้จะเป็นศีลขึ้น จะเป็นสมาธิขึ้น จะเป็นปัญญญาขึ้นโดยสะดวก
และจะพบกับความหลุดพ้นของจิต ซึ่งเป็นความหลุดพ้นชั่วคราว เป็นครั้งคราว
จนถึงถึงหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ตามควรแก่ความปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
อานาปานสติ ๔ ชั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อปฏิบัติในเบื้องต้น ๓
นิมิตของลมหายใจ ๔
กำหนดจุดเดียว ๕
ลมละเอียด ๖
วิธีกำหนดให้ลมหายใจยาวหรือสั้น ๗
อานาปานสติขั้นที่ ๓ ๗
กายทั้งหมด รูปกาย นามกาย ๘
กายทั้งหมดหมายถึงกองลม ๙
อานาปานสติขั้นที่ ๔ ๙
กายสังขารเครื่องปรุงกาย ๑๐
เป็นกัณฑ์เริ่มแรกในอานาปานสติในสติปัฏฐาน
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๗/๒ - ๑๖๘/๑ ( File Tape 128 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อานาปานสติ ๔ ชั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
ได้มีพระพุทธาธิบายไว้ในพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐาน ตั้งต้นแต่อานาปานปัพพะ
คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ในหมวดกายานุปัสสนา คือตั้งสติตามดูพิจารณากาย
และได้มีอีกพระสูตรหนึ่งที่ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
ด้วยยกเอาลมหายใจเข้าออกเป็นทางปฏิบัติตลอดทั้ง ๔ ข้อ
คือการปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวนี้
เป็นสติปัฏฐานได้ทั้ง ๔ ข้อ
เพราะฉะนั้น ( เริ่ม ๑๖๗/๒ ) ลมหายใจเข้าออกนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทุกคนสามารถกำหนดตั้งสติดูลมหายใจเข้าออกสำเร็จเป็นสติปัฏฐานได้ตั้งแต่ข้อกาย
ต่อไปข้อเวทนา ข้อจิต และข้อธรรม เป็นการปฏิบัติต่อเนื่อง
๒
เพราะฉะนั้น วันนี้จะได้จับอธิบายแนวปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้
โดยอาศัยตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นที่ตั้ง
ข้อปฏิบัติในเบื้องต้น
ทุกคนมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตนเองอยู่แล้วเป็นประจำ
จึงให้ปฏิบัติในเบื้องต้นตามที่ตรัสแนะนำไว้ในพระสูตร
คือเข้าสู่ป่า โคนไม้ เรือนว่าง อันเป็นที่เรียกว่ากายวิเวกสงบกาย
ข้อนี้เป็นจุดต้องการ แม้ว่าจะไม่อาจไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือเรือนว่างได้
ก็ปฏิบัติทำจิตนี้เองให้มีป่า มีโคนไม้ มีเรือนว่างในจิตใจ
ให้เป็นป่า เป็นโคนไม้ เป็นเรือนว่างในจิตใจ คือทำจิตใจให้สงบ ไม่กังวลถึงสิ่งต่างๆ
ถึงบุคคลต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นบ้าน หรือเป็นหมู่ชน แต่ให้ว่างจากสิ่งต่างๆ จากหมู่ชน
จะที่ไหนก็ได้อันเป็นที่ๆตนอาจจะหาได้ ในวัดก็ตามเช่นในที่นี้ หรือในบ้านของตนเองก็ตาม
แต่ว่าสร้างความเป็นป่า ความเป็นโคนไม้ ความเป็นเรือนว่าง ในจิตใจ
คือให้จิตใจนี้ว่าง ให้สงบสงัด ดั่งนี้ก็ใช้ได้
และนั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาด หรือเมื่อไม่สามารถ
จะนั่งในอิริยาบถไหน เช่นนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งบนเก้าอี้ก็ได้
แต่ว่าให้พยายามตั้งกายตรง ทำสติให้ตั้งอยู่จำเพาะหน้า
ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปข้างไหน โดยมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
๑ หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
๒ หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
อันลมหายใจเข้าออกนี้เมื่อยังมิได้ปฏิบัติย่อมเป็นไปโดยปรกติ เรียกว่าหายใจทั่วท้อง
คือหายใจถึงท้องที่พองขึ้นเมื่อหายใจเข้า และยุบลงเมื่อหายใจออก
ซึ่งพระอาจารย์ได้ตั้งจุดสำหรับกำหนดไว้ ๓ จุด
๓
เมื่อหายใจเข้าจุดแรกก็คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
จุดกลางก็คืออุระหรือทรวงอกภายใน และจุดที่ ๓ ก็คือนาภี
และในขณะหายใจออก จุดที่ ๑ ก็คือนาภี จุดที่ ๒ ก็คืออุระหรือทรวงอกข้างใน
จุดที่ ๓ ก็คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
นิมิตของลมหายใจ
สำหรับปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนนั้น
ทุกคนอาจรู้ได้ด้วยความกระทบของลมเมื่อหายใจเข้า และเมื่อหายใจออก
ลมจะกระทบที่จุดนี้ทำให้รู้ได้ เพราะฉะนั้น จึงกำหนดลมหายใจได้ที่การกระทบ
เมื่อหากจะจัดเป็นอายตนะภายในภายนอกที่มากระทบกัน ก็จัดได้ว่ากายและโผฏฐัพพะ
คือสิ่งที่กายถูกต้อง ริมฝีปากเบื้องบนหรือปลายกระพุ้งจมูกเป็นกาย
ลมหายใจเป็นโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง หรือสิ่งที่มาถูกต้องกาย
กายและโผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้องกาย มากระทบกันที่จุดนี้ในการหายใจ
ส่วนอุระกับนาภีนั้นไม่ทราบถึงความกระทบได้ เป็นแต่เพียงความรู้สึก
ว่านาภีที่พองขึ้น และยุบลงเท่านั้น
แต่อันที่จริงนั้นตามกายวิภาควิทยา ลมหายใจนั้นย่อมเข้าไปสู่ปอด
แต่ว่าไม่สามารถจะกำหนดรู้ได้ จะกำหนดรู้ได้ที่ความเคลื่อนไหวของนาภีที่พองขึ้นหรือยุบลง
เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติกรรมฐาน จำเป็นที่จะต้องมี นิมิต คือเครื่องกำหนดหมาย
จึงต้องกำหนดเอาที่นาภีที่พองหรือยุบ ว่าเป็นจุดที่สุดของการหายใจเข้า
และเป็นจุดตั้งต้นของการหายใจออกและก็กำหนดอุระสมมติเอาว่าเป็นจุดกลางของการหายใจ
ส่วนที่ริมฝีปากเบื้องบนหรือปลายกระพุ้งจมูกนั้น เป็นจุดเดียวที่กำหนดลมหายใจเข้าออกได้
แต่ว่าก็ได้ด้วยกำหนดทางกายและโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องดังกล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น พระอาจารย์และนักปฏิบัติทางกรรมฐานข้อนี้
๔
จึงมีนิยมกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบนนั้นจุดหนึ่ง
หรือว่ากำหนดที่นาภีที่พองหรือยุบ หรือว่ากำหนดที่อุระเองคือที่ทรวงอกข้างใน
พระอาจารย์ทางปฏิบัติบางท่านก็กำหนดที่อุระคือทรวงอกข้างใน
ดั่งนี้ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติจะพอใจ หรือจะทำได้สะดวกในจุดไหน
กำหนดจุดเดียว
แต่ท่านก็สอนให้ว่าในเบื้องต้นนั้นให้กำหนดทั้ง ๓ จุด
คือให้ทำสติตามดูลมหายใจเข้า จุดแรกก็คือปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
จุดที่ ๒ ก็คืออุระหรือทรวงอกข้างใน จุดที่ ๓ ก็คือนาภี
และเมื่อหายใจออกก็ตามดูจากนาภีเป็นจุดที่ ๑ อุระเป็นจุดที่ ๒
ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นจุดที่ ๓
ให้ตามดูการหายใจเข้าหรือลมหายใจเข้า ตามดูการหายใจออกหรือลมหายใจออก
ดั่งนี้อยู่บ่อยๆ จนจิตรวมจึ่งยุติการตามดูทั้ง ๓ จุดนั้น ให้เหลือแต่จุดเดียว
เหมือนอย่างว่าในทีแรกนั้น เดินตามลมหายใจเข้าลมหายใจออกไปมา ไปมาทั้ง ๓ จุด
แต่ว่าเมื่อคุ้นเคยกับทางของการหายใจดีแล้ว ก็หยุดนั่งดูอยู่จุดเดียว
คือบางอาจารย์ท่านก็สอนให้นั่งดูที่จุดปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
บางอาจารย์ก็สอนให้นั่งดูที่นาภี บางอาจารย์ก็สอนให้นั่งดูที่อุระภายใน แต่เพียงจุดเดียว
ในการปฏิบัติทีแรกนั้น สติก็เหมือนอย่างเดินเข้าเดินออก ๓ จุด
แต่ว่าในขั้นต่อมานั่งดูอยู่จุดเดียว แต่ว่าให้รู้ทั้งหมด
เปรียบเหมือนอย่างว่า คนนั่งไกวเด็กที่นอนในอู่สำหรับไกว
หรือว่าคนนั่งที่โคนชิงช้าดูเด็กที่นอนในชิงช้า แล้วก็ไกวเด็กไปไกวเด็กมา
ก็มองเห็นชิงช้า หรือมองเห็นเปล อู่เปลที่แกว่งไปแกว่งมาได้ตลอด
เพราะฉะนั้นแม้จะนั่งดูอยู่ที่จุดเดียว ก็มองเห็นลมหายใจที่เข้าออกเข้าออกอยู่ตลอด
๕
เมื่อเห็นอยู่ตลอดดั่งนี้ จึงจะเรียกว่ามีสติตั้งอยู่เป็นสมาธิในลมหายใจในเบื้องต้นของการปฏิบัติ
และในชั้นต้นนั้น ลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็จะยาวเป็นปรกติ เรียกว่าหายใจจากต้นทาง
คือปลายจมูก ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน จนถึงนาภี
ขาออกก็จากนาภี จนถึงปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
ดั่งที่เรียกกันสามัญว่าหายใจทั่วท้อง อย่างนี้เรียกว่าเป็นหายใจยาว
เข้ายาวออกยาวโดยปรกติ
ลมละเอียด
แต่เมื่อได้ตั้งสติกำหนดจนถึงขั้นนั่งดูดังกล่าว
ร่างกายก็จะสงบเข้า จิตใจก็จะสงบเข้า เพราะสามารถที่รวมจิตใจได้
เมื่อเป็นดั่งนี้ลมหายใจก็จะละเอียดเข้าคือจะสั้นเข้า
ตั้งต้นแต่อาการของร่างกายในการหายใจคือนาภีที่พองหรือยุบ
เคลื่อนไหวไปโดยปรกตินั้น จะเคลื่อนไหวน้อยเข้า พองยุบน้อยเข้า
จนถึงการหายใจเข้าการหายใจออก ก็จะเป็นไปคล้ายๆกับครึ่งท้อง ไม่เต็มท้อง
และเมื่อร่างกายละเอียดจิตใจละเอียดสงบมากขึ้นอีก การหายใจหรือลมหายใจนั้น
ก็จะเป็นเหมือนไปจรดนาภี อาการเคลื่อนไหวของนาภีก็จะน้อยเข้าๆ จนถึงไม่เคลื่อนไหว
แต่ความจริงนั้นก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่ แต่ว่าอย่างละเอียด
อย่างนี้เรียกว่าสั้นเข้า เป็นไปเอง
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติขั้นนี้จึงปล่อยให้เป็นไปเอง
ไม่ตั้งใจจะทำให้ลมหายใจสั้นลมหายใจยาว แต่ให้เป็นไปโดยปรกติ
ซึ่งลมหายใจที่เป็นไปโดยปรกตินี้ทีแรกก็จะต้องยาว หายใจทั่วท้องตามปรกติ
และเมื่อได้มาปฏิบัติก็จะสั้นเข้าเองดังที่กล่าวนั้น
ฉะนั้นจึ่งให้ทำความรู้อยู่ตามเป็นจริง หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว
หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็นไปเองโดยปรกติ
๖
วิธีกำหนดให้ลมหายใจยาวหรือสั้น
อีกอย่างหนึ่งเป็นการทำการหายใจให้ยาวหรือสั้นในการปฏิบัติเบื้องต้น
เช่น ต้องการทำให้ยาว เวลาหายใจเข้าเริ่มตั้งแต่เมื่อลมถึงปลายกระพุ้งจมูก
หรือริมฝีปากเบื้องบน ก็นับ ๑ และเรื่อยไปจนถึง ๙ คือ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙
เมื่อถึง ๙ ก็ให้ถึงท้องพอดีที่พองขึ้น นี้ในการหายใจเข้า
ส่วนในการหายใจออกก็เริ่มนับ ๑ ตั้งแต่เมื่อเริ่มหายใจออกจากนาภีเรื่อยขึ้นมา
ให้ครบ ๙ เมื่อถึงปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
นับ ๑ ถึง ๙ ไปๆมาๆดั่งนี้ เป็นการทำขึ้น นี่เรียกว่าหายใจยาว
คราวนี้การทำให้หายใจสั้นก็นับอย่างนั้นแหละ แต่ว่าให้เหลือ ๖
๑ ถึง ๖ เมื่อหายใจเข้า ๑ ถึง ๖ เมื่อหายใจออก นี่เรียกว่าสั้น
ให้สั้นเข้าอีกนับเหลือแค่ ๑ ถึง ๓, ๑ ถึง ๓ หายใจเข้า ๑ ถึง ๓ หายใจออก
ปฏิบัติดั่งนี้ก็ได้ในการเบื้องต้น เป็นการทำการหายใจให้ยาวหรือให้สั้นตามต้องการ
แต่ว่าการทำการหายใจนี้ หากต้องการจะลองทำดู ก็อาจจะทำได้
แต่ในการปฏิบัติเป็นประจำนั้น ก็ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดาของการหายใจ
และก็ให้เป็นไปยาวตามธรรมดา และเมื่อปฏิบัติจนถึงรวมจิตรวมใจได้ดี ก็สั้นเข้ามาเอง
ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดาดั่งนี้จะดีกว่า
อานาปานสติขั้นที่ ๓
ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ดังกล่าวมานี้ คือขั้นที่ ๑ ยาวขั้นที่ ๒ สั้น เป็นการปฏิบัติในเบื้องต้น
( เริ่ม ๑๖๘/๑ ) และเมื่อสามารถรวมใจได้ดีพอสมควรแล้ว ก็เลื่อนมาเป็นขั้นที่ ๓
คือ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก
ข้อนี้ต้องมีการศึกษาคือความสำเหนียกกำหนด ด้วยเจตนาคือความจงใจ
๗
ว่าจักรู้กายทั้งหมด พร้อมไปกับหายใจเข้า พร้อมไปกับหายใจออก
กายทั้งหมด รูปกาย นามกาย
อันกายทั้งหมดนั้น ท่านอธิบายกันอยู่เป็น ๒ อย่าง
อย่างที่ ๑ เป็นคำอธิบายของพระอาจารย์ในชั้นเดิม ว่ากายนั้นมี ๒ อย่าง
คือรูปกายอย่างหนึ่ง นามกายอย่างหนึ่ง คือรูปนามนั้นเอง
รูปกายนั้น ก็คือกายที่เป็นส่วนรูป อันประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลมนี้
เหมือนอย่างทุกคนมีกายที่นั่งอยู่นี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบทั่วกาย นี้คือรูปกาย
นามกายนั้นได้แก่ใจ หากจำแนกออกก็เป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือพูดง่ายๆว่าใจ ประกอบด้วยความรู้ และความคิดอันเรียกว่าวิตก
คือความคิดนึกต่างๆ ความรู้ความคิดนึกต่างๆ นี้คือใจ
ให้รู้กายและใจนี้ทั้งหมด ว่าบัดนี้รูปกายนี้เป็นอย่างนี้
ดั่งในขณะนี้รูปกายนี้กำลังนั่งอยู่นี้ นามกายคือใจของตนในบัดนี้เป็นอย่างนี้
เช่นในบัดนี้ผู้แสดงก็กำลังแสดงอยู่ ผู้ฟังก็ตั้งใจฟังอยู่ ผู้แสดงก็ตั้งใจแสดง
หรือว่าใจคิดไปทางไหนก็รู้ แต่เมื่อใจคิดอยู่ในหน้าที่ อย่างในบัดนี้ผู้ฟังก็มีหน้าที่ฟัง
ใจตั้ง ใจฟัง ก็แปลว่าใจกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ผู้แสดงก็ตั้งใจแสดง ใจก็มีหน้าที่แสดง
ก็ให้รู้ใจของตนทั้งหมด คิดไปอย่างไรก็รู้ และหากว่าคิดออกไปข้างนอกผิดหน้าที่
ก็นำใจกลับเข้ามา ตั้งไว้ เพื่อที่จะแสดง เพื่อที่จะฟัง ไปตามหน้าที่
พร้อมทั้งกายนี้ บัดนี้ก็กำลังนั่งอยู่ในอิริยาบถนี้
คือว่าศึกษา คือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมด
ทั้งรูปกายทั้งนามกายนี้ หายใจเข้าหายใจออก
เป็นอันว่าในขั้นนี้ให้รู้ ๒ อย่างพร้อมกัน อย่างหนึ่งก็คือว่ากายทั้งหมด
๘
อย่างหนึ่งก็คือว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก ให้รู้ ๒ อย่างพร้อมกัน
การรู้อย่างนี้จะให้บังเกิดผล ทำให้ใจไม่ไปไหน เพราะว่า มีหน้าที่จะต้องรู้อยู่ถึง ๒ อย่าง
คือต้องรู้กายทั้งหมดด้วย และต้องรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกด้วย
พระอาจารย์ในชั้นเดิมท่านอธิบายอย่างนี้
กายทั้งหมดหมายถึงกองลม
พระอาจารย์ในภายหลังต่อมาท่านอธิบายแคบเข้ามาว่า
คำว่ากายทั้งหมดนั้นหมายถึงกองลม เพราะกายแปลว่ากอง แปลว่าหมู่ แปลว่าประชุม
เพราะฉะนั้นจึงหมายถึงกองของลมหายใจ หมู่ของลมหายใจ หรือประชุมของลมหายใจ
เพราะฉะนั้น จึ่งให้ทำความรู้ลมหายใจทั้งหมดโดยวิธีที่ได้อธิบายมาในเบื้องต้นแล้ว
คือให้เดินตามดูลมหายใจทั้ง ๓ จุด และเมื่อเดินไปเดินมาด้วยสติ ดูลมหายใจทั้ง ๓ จุดนี้
จนจิตรวมตัวเข้าได้ดีพอสมควรแล้ว ก็ลงนั่งดูลมหายใจทั้ง ๓ จุด
นั่งดูให้รู้ให้เห็นทั้ง ๓ จุด ในขณะหายใจเข้า ในขณะหายใจออก
อธิบายดั่งนี้เป็นการอธิบายที่แคบเข้ามา
เพราะลมหายใจนี้ก็ถือว่าเป็นกายอย่างหนึ่งเหมือนกัน
จึงจัดเข้าในหมวดกาย ก็เป็นการอธิบายที่ใช้ได้
เพราะฉะนั้น หากถือตามอธิบายนี้ ก็ปฏิบัติดั่งที่กล่าวนั้น คือด้วยสตินี้เอง
เดินดู นั่งดู ลมหายใจเข้าลมหายใจออกทั้ง ๓ จุด ให้ครบทั้ง ๓ จุด
ให้สติอยู่ทั้ง ๓ จุด ในการหายใจเข้า และในการหายใจออก ไม่ตกหล่น
ให้ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก
อานาปานสติขั้นที่ ๔
ข้อ ๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักสงบรำงับกายสังขารหายใจเข้า
๙
เราจักสงบรำงับกายสังขารหายใจออก
กายสังขารเครื่องปรุงกาย
กายสังขารนั้นแปลว่าเครื่องปรุงกาย ท่านอธิบายว่าได้แก่
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี้เองได้ชื่อว่ากายสังขาร คือเป็นเครื่องปรุงกาย
เพราะร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก ชีวิตของกายนี้จึงดำรงอยู่
ถ้าดับลมเสียเมื่อใด ก็สิ้นชีวิตเมื่อนั้น กายก็แตกสลาย
เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดเอาลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ว่า เป็นกายสังขารเครื่องปรุงกาย
ปรุงแต่งกายให้ดำรงอยู่ ให้มีชีวิตอยู่
แต่คราวนี้จะทำอย่างไรในการรำงับกายสังขาร ไม่ทำให้สิ้นชีวิตไปหรือ
ก็ตอบว่า ไม่ได้มุ่งให้กลั้นลมหายใจเข้าออก เพราะเป็นไปไม่ได้
ทุกคนต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ไม่มีใครที่จะหยุดได้
หยุดเมื่อใดร่างกายก็แตกสลายเมื่อนั้น สิ้นชีวิตเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ระงับกายสังขารนี้จึงมีความหมายว่า
ระงับการปรุงแต่งที่เป็นส่วนหยาบในการหายใจ
การหายใจนั้นก็ให้มีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าระงับอาการที่เป็นส่วนหยาบ
อาการที่เป็นส่วนหยาบนี้ก็มี ๒ อย่าง คือส่วนหยาบสำหรับคนปรกติที่ไม่ได้ปฏิบัติ
คือเมื่อยังไม่ได้ปฏิบัตินั้น การหายใจทั่วท้องโดยปรกติ ก็ชื่อว่าเป็นปรกติ ไม่ใช่หยาบ
แต่ว่าหยาบนั้นจะต้องมีในขณะที่ เช่นวิ่ง วิ่งเหนื่อยหอบ หายใจฮักๆๆ นั่นเรียกว่าหยาบ
นี่สำหรับคนปรกติ
แต่ว่าสำหรับผู้ที่ปฏิบัตินั้น
แม้การหายใจที่หายใจอยู่โดยปรกตินี้ ที่เรียกว่าหายใจทั่วท้อง ก็ยังหยาบ
๑๐
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติรำงับนั้น จึงหมายถึงว่าคอยคุมการหายใจในขณะปฏิบัติ
ให้เป็นไปโดยปรกตินี้เอง เป็นขั้นตอนขึ้นไป ไม่ไปบังคับให้หายใจสั้น ให้หายใจยาว
แต่ให้เป็นไปโดยปรกติ คือเมื่อลมหายใจละเอียดเข้า
เพราะเหตุว่าจิตละเอียด สงบ กายละเอียดคือสงบ หายใจก็สงบเข้า
อาการหายใจของร่างกายที่ปรากฏ เช่นท้องที่พองหรือยุบก็จะน้อยเข้าๆ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น
และในขั้นนี้ก็จะต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า
เมื่อจิตสงบมากขึ้น ร่างกายสงบมากขึ้น อาจจะมีปฏิกิริยาอะไรบางอย่าง
ทำให้เกิดอาการ เช่นหอบ หรือว่าเกิดอาการอย่างอื่น
เช่นว่าร่างกายนี้เองที่โอนเอนไปข้างหน้าบ้าง โอนเอนไปข้างหลังบ้าง ข้างๆบ้าง
หรือว่าเกิดอาการเมื่อยเจ็บต่างๆของร่างกาย เป็นเหน็บบ้างอะไรบ้างเป็นต้น
เหล่านี้ เป็นเรื่องของกายสังขาร คือปรุงแต่งทางกายทั้งนั้น
อันเกิดจากการปฏิบัติทางกรรมฐานข้อนี้ หรือข้ออื่นก็ตาม
ต้องตั้งใจรำงับไม่ให้มีอาการเช่นนั้น
เมื่อมีอาการเช่นนั้นบังเกิดขึ้น ก็ให้ทำความรู้
รู้แล้วก็ให้จัดร่างกายของตน เช่นว่ามีการโอนเอนไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างๆ
ก็ให้ร่างกายของตนตั้งตรง ให้สงบเป็นปรกติ
หอบก็ให้ทำจิตให้เป็นปรกติ ไม่ให้หอบ หรือไม่ให้ขัดข้อง อึดอัดก็เหมือนกัน
หรือว่าเมื่อยเจ็บก็จะต้องจัดการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
หรือว่ารำงับความเมื่อยเจ็บด้วยการเพ่งดูเวทนา เป็นต้น
ให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่โดยปรกติ ไม่ให้มีอาการแทรกซ้อนอะไรเข้ามา
และให้สงบไป สงบไป ลมหายใจก็จะสั้นเข้าเอง สั้นเข้าเอง
จนถึงรู้สึกว่าท้องเอง ก็ไม่พองไม่ยุบ รู้สึกว่าหายใจแค่ถึงอุระ จากอุระออกเท่านั้น
แล้วต่อไปก็ไม่ถึงอุระ เหมือนอย่างหายใจอยู่แค่ปลายจมูก
๑๑
แล้วต่อไปก็จะรู้สึกเหมือนอย่างว่า ที่ปลายจมูกก็ไม่ปรากฏ
แต่ความจริงหายใจ หายใจเข้าหายใจออกอยู่โดยปรกตินั้นเอง แต่ว่าอย่างละเอียดมาก
ทำไมจึงละเอียด เพราะว่าร่างกายละเอียด และจิตใจก็ประณีตละเอียดด้วยความสงบ
หรือด้วยสมาธิ จิตรวมเป็นหนึ่ง ไม่ว่อกแว่กไปข้างไหน
ดั่งนี้แหละจึงจะถึงขั้นที่สุดของของข้อกายานุปัสสนา
อันเกี่ยวแก่ลมหายใจเข้าออกนี้ อันเป็นขั้นที่ ๔
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*